ไม่ว่าการเลือกตั้งรอบหน้านี้คุณตั้งใจจะกาให้พรรคไหนหรือแอบมีใจให้พรรคอะไร ความจริงข้อหนึ่งที่ไม่รู้ไม่ได้ก็คือ กติกามีผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบของผู้เข้าแข่งขัน ไม่ต่างจากกติกาในกีฬาสากล

ที่ท้าทายก็คือ กติกาเลือกตั้งกลับไม่ได้มีหน้าตาแบบเดียวกันในทุกประเทศ ทุกช่วงเวลา และรายละเอียดเพียงนิดเดียวก็อาจพลิกเกมไปมาก เพราะนี่คือการตัดสินอนาคตประเทศจากคะแนนเสียงหลายล้านเสียง อีกทั้งผลลัพธ์จำนวน ส.ส. ที่แปรจากคะแนนเสียง ก็มาจากกลไกของกติกาอีกที

และดูเหมือนว่ากติกาครั้งใหม่นี้จะเปลี่ยนไปหลายข้อ อย่างเช่น การกำหนดให้ทุกพรรคต้องทำ ‘การเลือกตั้งขั้นต้น’ (Primary Vote) เพื่อเลือกตั้ง ‘ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง’ ตัวแทนพรรคไปเข้าสู่สนามการเลือก ส.ส. อีกที ไม่อย่างนั้นก็อดลงสนาม (หากไม่นับข้อยกเว้นต่างๆ ที่อาจอะลุ้มอล่วยให้ตามมาภายหลัง)

หรือการเพิ่มจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ แล้วลดจำนวน ส.ส. เขต ซึ่งต้องรอดูกันอีกว่าเขตไหนที่จะถูกลด

หรือการเสกให้บัตรเลือกตั้งที่เดิมทีมีสองใบ หายวับไปเหลือแค่ใบเดียว

ไม่ต้องสงสัย ผู้ชมก็รู้ได้ว่ากำลังมีมายากลเกิดขึ้น แต่ผู้กำหนดกติกาใหมนี้เขาทำไปทำไม ผลที่ตามมาน่าจะเป็นอย่างไร และใครจะได้เปรียบ-เสียเปรียบใต้กติกาใหม่นี้

เรื่องแบบนี้คุยกันสั้นๆ ไม่ได้ แต่ต้องย้อนไปดูไทม์ไลน์ระบบการเลือกตั้งอันยาวนานในสนามการเมืองไทย โดยอาจจะแวะไปคุยเรื่องประเทศอื่นๆ เล็กน้อย กับ รศ.ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่เทใจให้กับเรื่องระบบการเลือกตั้ง เรื่องที่เธอย้ำหลายครั้งว่า ‘มีเสน่ห์สุดๆ’

1. ระบบเลือกตั้ง กลไกแสนมีเสน่ห์ ที่ควบคุมปรากฏการณ์สังคม

ระบบการเลือกตั้งหรือกติกาการเลือกตั้งสำคัญอย่างไร

ถ้าเราพูดถึงสถาบันทางการเมืองทั้งหมด ระบบเลือกตั้งเป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด เพราะว่าประชาชนจำนวนมากไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ดังนั้น อิทธิพลของระบบเลือกตั้งที่มีความเป็นสถาบัน มันเกี่ยวโยงประชาชนเข้ากับระบบการเมืองและกับสังคมได้มากที่สุด

ความมหัศจรรย์ของมัน ที่เป็นเสน่ห์มากๆ เลยก็คือ เราจะไม่มีทางคาดการณ์การตัดสินใจของประชาชนได้ 100% เพราะในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เราไม่รู้ว่าประชาชนคาดหวังอะไร มีความฝันอะไร มีแรงบันดาลใจอะไรในแต่ละครั้ง อย่างการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งหน้า มันไม่มีมา 7 ปีแล้ว เราไม่รู้เลยว่าในช่วงเวลา 7 ปีนี้ ประชาชนคิดอะไรอยู่ แล้วถามว่าใครจะมาบงการให้ประชาชนเลือกแบบนั้นแบบนี้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนกติการะบบเลือกตั้งมากมาย มีใครรู้ไหมว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครคาดเดาได้ ไม่มีใครจับอุณหภูมิของอารมณ์ของประชาชนได้เลยในช่วงระยะเวลานั้น

กลับมาที่คำถามที่ว่า แล้วตัวระบบเลือกตั้งและกติกาสำคัญอย่างไร ระบบเลือกตั้ง [ที่แตกต่างกัน] สามารถเปลี่ยนพรรคที่ ‘ชนะคะแนนเสียง’ ให้เป็นพรรคที่ ‘ไม่ได้เสียงข้างมากที่สุด’ ในสภาก็ได้ สามารถโน้มน้าวให้ประชาชนอยากออกไปใช้สิทธิ หรือไม่ก็ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ผลการเลือกตั้งไม่มีความหมายก็ได้ กติกาการเลือกตั้ง ‘เอื้อประโยชน์’ ให้บางพรรรค แล้วก็ ‘ลดทอน’ ชัยชนะของบางพรรคการเมืองได้ ระบบเลือกตั้งและกติกาการเลือกตั้งมีผลอย่างมากต่อความชอบธรรมของรัฐบาลและสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

จริงๆ แล้วระบบเลือกตั้งและกติกาการเลือกตั้งมีความสำคัญมากกก (ลากเสียงยาว) กว่าที่คนไทยส่วนใหญ่จะเข้าใจ

ทำไมอาจารย์ถึงสนใจเรื่องระบบการเลือกตั้ง

มันเป็นการเมืองที่มีข้อมูลและข้อเท็จจริงมาอธิบายปรากฏการณ์ ไม่ใช่ความอยากให้เป็นในเชิงปรัชญา แต่พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างที่มันเกิดขึ้น มีตัวเลข สถิติ มารองรับคำอธิบาย เราจึงรู้สึกว่าสิ่งที่เราพยายามทำความเข้าใจนี่มันจับต้องได้ เป็นเหตุเป็นผลมากกว่าแค่การโน้มน้าวด้วยชุดความคิดที่ขึ้นอยู่กับความแหลมคมในการอธิบาย

และความสนใจที่เหมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดให้เราอยู่กับการศึกษาเรื่องนี้ ก็เพราะว่า หนึ่ง ในสังคมไทยมีคนศึกษาเรื่องนี้น้อย และเมื่อเริ่มศึกษาไป ข้อมูลที่เราสะสมในแต่ละครั้งที่เราศึกษาก็ยิ่งมีพลังในการอธิบายและทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมมากขึ้น

ส่วนในเชิงวิชาการ มันสามารถเชื่อมโยงกับงานวิชาการของต่างชาติได้ค่อนข้างมาก และเอามาใช้ในการเปรียบเทียบได้ ช่วยให้เราเข้าใจว่า สังคมไทยอยู่ในจุดไหนของโลก บริบทโลกเป็นอย่างไร

ในประเทศไทยที่ผ่านมา มีปัจจัยอะไร หรือใคร ที่กำหนดระบบการเลือกตั้งแต่ละครั้ง

ของไทย มันน่าเสียดายตรงที่ระบบเลือกตั้งถูกนำไปบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ แล้วเราเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อย ดังนั้น ทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ก็มีการแก้ไขระบบและกติกาเลือกตั้งอยู่เป็นช่วงๆ นะคะ แล้วเราก็ทราบอยู่ว่า ที่มาของรัฐธรรมนูญ ก็คือการรัฐประหาร ดังนั้นส่วนใหญ่ กติกาของระบบการเลือกตั้งของไทยก็มาจากคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารเป็นหลัก จะมีข้อยกเว้นบ้างก็อย่างเช่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่เป็นคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากกระบวนการรัฐสภา

แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นคณะรัฐประหารแต่งตั้ง และคนที่เป็นผู้ออกแบบระบบเลือกตั้งจริงๆ ก็คือคณะกรรมการยกร่างฯ ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการสายกฎหมายมหาชนเป็นส่วนมาก นักรัฐศาสตร์จำนวนเล็กน้อย ซึ่งก็ร่างภายในการกำกับของคณะรัฐประหารเป็นส่วนใหญ่

ในขณะที่พรรคการเมืองและประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กลับมีพื้นที่น้อยมากในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและการออกแบบระบบเลือกตั้ง

 

2. ทุกครั้งที่รัฐประหาร รัฐธรรมนูญก็เปลี่ยน ระบบเลือกตั้งก็เปลี่ยน

การที่เราเอาระบบเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญ ประเทศอื่นเขาทำแบบนี้กันไหม

มีน้อยประเทศมาก เพราะเขาถือว่าระบบเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ควรจะยืดหยุ่นและสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

เมื่อนำไปไว้ในรัฐธรรมนูญ การจะแก้รัฐธรรมนูญมันแก้ยากกว่ากฎหมายทั่วไป ระบบเลือกตั้งมีความเป็นสถาบันทางการเมืองในแง่ที่ว่ามันควรเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานตลอดการมีระบบการเมือง แต่ว่ามันก็ควรจะสามารถแก้ไขได้ง่ายด้วย

ทหารได้รับดอกไม้จากประชาชนผู้สนับสนุนการทำรัฐประหาร ภาพเมื่อ 30 พฤษภาคม 2014 โดย REUTERS/Chaiwat Subprasom

การแก้ไขระบบเลือกตั้งแต่ละครั้งของไทย แก้ด้วยเป้าหมายอะไร แล้วส่งผลอย่างไรต่อมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

โดยภาพรวม ถึงแม้เราจะใส่ระบบเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญถูกฉีกบ่อย แต่ในขณะที่ระบบเลือกตั้งในโลกมีถึง 12 แบบ ระบบเลือกตั้งที่ใช้ในประเทศไทยกลับมีแค่สองระบบเท่านั้น คือระบบเขตกับระบบบัญชีรายชื่อ

ในระบบเขต เดิมทีตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2489 จนมาถึงรัฐธรรมนูญ 2540 เราใช้ระบบเลือกตั้งแบบเขต และในแบบแบ่งเขตนี้ก็แบ่งเป็น ทั้งจังหวัดเป็นหนึ่งเขตหรือบางครั้งก็เป็นหนึ่งเขตสามคน แต่หลังรัฐธรรมนูญ 2540 เราเปลี่ยนระบบเขตให้กลายเป็นหนึ่งเขตหนึ่งคน และเป็นระบบเสียงข้างมากธรรมดามาบวกกับระบบบัญชีรายชื่อ

กลับมาที่คำถามว่า แต่ละครั้งที่เปลี่ยน เปลี่ยนเพราะอะไร จุดพลิกผันในทางการเมืองไทยและการศึกษาระบบเลือกตั้ง ก็คือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ เรียกว่าระบบผสม รวมกันระหว่างระบบเขตกับระบบบัญชีรายชื่อ จุดมุ่งหมายหลักที่ชัดเจนคือ ต้องการให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะว่าในระบบหนึ่งเขตหลายคน ข้อเสียของมันคือพรรคจะแข่งขันกันเอง

อย่างเช่น เราสามคนอยู่พรรคเดียวกัน แทนที่เราจะแข่งกับพรรคอื่น เราสามคนก็ต้องแข่งกันเองด้วย เพราะว่าคนเลือกอาจจะเลือก ก. เบอร์เดียว แล้ว ข. กับ ค. ไม่ได้รับเลือก อีกสองเบอร์เขาจะไปเลือกพรรคอื่นก็ได้ คือในความเป็นทีม ดูเหมือนสามคนนี้จะหาเสียงด้วยกัน แต่ในทางปฏิบัติ ก็อาจจะตัดแข้งตัดขากันเอง พรรคก็จะไม่เข้มแข็ง

นอกจากนั้น เมื่อประชาชนมีสิทธิเลือกได้สามเสียง โอกาสที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะได้ที่นั่งเป็นกอบเป็นกำนี่ยาก เพราะคะแนนมันกระจัดกระจาย ฉะนั้น ระบบเลือกตั้งสัมพันธ์กับพรรคการเมือง จะเห็นว่าตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งหลังสุดก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็คือปี 2538 มีพรรคการเมืองในสภาประมาณ 12-13 พรรค และพรรคที่ร่วมรัฐบาลก็จะมีราวๆ 5-6 พรรค พอพรรคร่วมรัฐบาลเยอะ ประสิทธิภาพในการบริหารก็จะลดลง เพราะมันหาคนรับผิดชอบไม่ได้

พอพรรคร่วมรัฐบาลเยอะ ประสิทธิภาพในการบริหารก็จะลดลง เพราะมันหาคนรับผิดชอบไม่ได้

ดังนั้นคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ‘40 ตอนนั้น ต้องการแก้ปัญหาในสามประเด็นหลักก็คือ

หนึ่ง คือความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง ต้องการให้มันเข้มแข็งขึ้น

สอง ต้องการให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยวิธีคิดตอนนั้นคืออยากเห็นประเทศเป็นระบบสองพรรค หรือมีพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นพรรครัฐบาลเลย

สาม ซึ่งถือเป็นจุดพลิกทางการเมืองเลยก็คือ ต้องการให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง เพื่อลดทอนการแทรกแซงทางการเมืองโดยทหาร เพราะว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นผลพวงจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ตอนนั้นทหารเข้ามาแทรกแซง และพลเอกสุจินดา คราประยูร  เป็นนายกฯ ที่ไม่ได้จากการเลือกตั้ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ‘ยอมให้’ มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลก็เป็นรัฐบาลผสม เลือกมาทีก็มีตั้งหลายพรรค พูดง่ายๆ ว่าก็มาฮั้วกันในสภา เลือกนายกฯ คนนอกเข้ามา

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นี้มีเป้าหมายที่ชัดเจนอย่างน้อยก็สามประการนี้ พอเราใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในการเลือกตั้งสองครั้งต่อมา คือปี 2544 กับ 2548 เกิดอะไรขึ้น? พรรคไทยรักไทยเข้มแข็งเกินไป นายกรัฐมนตรีเข้มแข็งเกินไป มีรัฐบาลพรรคเดียว ทหารถูกลดทอนลงมา อ้าว! จริงๆ ก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ใช่ไหม แต่ชนชั้นนำรู้สึกว่ามันมากเกินไป เลยเกิดรัฐประหาร 2549

ชนชั้นนำรู้สึกว่ารัฐบาลที่เข้มแข็งนั้นท้าทายอำนาจของพลังอนุรักษนิยม อาจจะเพราะว่า รัฐบาลที่เข้มแข็งสามารถมีนโยบายหลายอย่างที่ดูเหมือนจะไปเป็นภัยคุกคามต่อระเบียบสังคมแบบเดิมที่พลังอนุรักษนิยมคุมอยู่หรือได้ประโยชน์อยู่

พรรคไทยรักไทยเข้มแข็งเกินไป นายกรัฐมนตรีเข้มแข็งเกินไป มีรัฐบาลพรรคเดียว ทหารถูกลดทอนลงมา อ้าว! จริงๆ ก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ใช่ไหม แต่ชนชั้นนำรู้สึกว่ามันมากเกินไป เลยเกิดรัฐประหาร 2549

 

3. จริงไหมที่พรรครัฐบาลไม่ควรเข้มแข็งเกินไป?

หรือว่าชนชั้นกลางเองก็รู้สึกไม่พอใจ แล้วกลายเป็นกระแสต่อต้านคุณทักษิณขึ้นมา

อันนี้มันยากที่จะระบุไปแบบนั้น ไม่แน่ใจว่าชนชั้นกลางเองไม่พอใจอำนาจของรัฐบาลที่เข้มแข็ง หรือไม่พอใจความเชื่อที่ว่าคุณทักษิณโกง เพราะถ้าบอกว่าชนชั้นกลางไม่ชอบรัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่ก็ชอบรัฐบาลคุณประยุทธ์ที่ก็ตรวจสอบไม่ได้ มันมีความเหลื่อมกันตรงนี้

ถ้าเราตัดตัวละครชนชั้นนำออกไป การที่พรรคหนึ่งเข้มแข็งมากๆ ในรัฐสภามันส่งผลเสียไหม

ถ้าพูดอย่างแฟร์เลยนะคะ ก็คือรัฐบาลที่เข้มแข็งไม่ได้เป็นปัญหา แต่ระบบตรวจสอบต้องเข้มแข็งด้วย รัฐธรรมนูญ​ ’40 มีปัญหาเรื่องระบบตรวจสอบจริงๆ เพราะว่าตอนนั้นเป้าหมายของคนร่างรัฐธรรมนูญคือต้องการรัฐบาลเข้มแข็ง ดังนั้นการตรวจสอบ อย่างเช่นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลก็ทำได้ยากมาก ต้องใช้คะแนนเสียงเกินครึ่งถึงจะอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้

ตอนนั้น เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านคือพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนไม่ถึงสองในสามของสภา ก็เลยต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลแล้วค่อย ‘กระทบชิ่ง’ คุณทักษิณ โดยไม่สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจคุณทักษิณได้ ซึ่งนี่ก็กลายเป็นเหตุที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ใช้เป็นข้ออ้างว่า เมื่อไม่สามารถตรวจสอบในกระบวนการรัฐสภาได้ เราก็ต้องมาตรวจสอบบนท้องถนน นำมาสู่รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร บนท้องถนน และการชุมนุมบนสะพานมัฆวานฯ

ดังนั้น จุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ ’40 คือระบบตรวจสอบที่ให้อำนาจและเสถียรภาพของรัฐบาลมากเกินไป นี่คือจุดที่มันยังไม่กลมกล่อม ถ้าถามนักวิชาการก็จะบอกว่า งั้นเราแก้รัฐธรรมนูญ ’40 สิ แล้วก็เพิ่มการตรวจสอบ

แต่ถ้ามามองในตอนนี้ ก็จะมีแนวคิดอีกมุมว่า รัฐบาลผสมก็มีประสิทธิภาพได้  อย่างเช่นประเทศแถบสแกนดิเนเวียเป็นรัฐบาลผสมทั้งนั้น มองในอีกแง่หนึ่ง รัฐบาลผสมก็เปิดช่องให้คนหลากหลายกลุ่ม หลากหลายตัวแทนเข้ามามีส่วนร่วมได้ แล้วก็ลดการผูกขาดทางการเมือง

ถ้ามองผ่านประสบการณ์ 20 ปีที่ผ่านมา บางทีการที่มีรัฐบาลเข้มแข็งแล้วทำให้คน ‘รู้สึก’ ว่า… ขอเน้นคำว่ารู้สึกนะคะ รู้สึกว่าระบบการเมืองถูกผูกขาด ก็อาจจะไม่ถูกจริตคนในสังคมไทยเท่าไรนัก

ที่จะพูดก็คือว่า มันไม่ได้มีแค่กลไกเดียวที่เราจะเอามาใช้ บางประเทศอย่างเช่นอังกฤษหรืออเมริกา มีรัฐบาลเดียวพรรคเดียวแล้วเข้มแข็ง ในอดีต นักวิชาการไทยบอกว่าแบบนั้นดี เราอยากใช้เป็นโมเดล แต่เมื่อใช้แล้วพบว่าอาจจะไม่สอดคล้องกับสังคมไทย มันก็น่าจะปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งบางทีก็ต้องลองให้ธรรมชาติของสังคมเป็นคนกำหนด มากกว่าที่คนร่างรัฐธรรมนูญหรือนักวิชาการเป็นคนหยิบมาให้ เหมือนที่ผ่านมา

รัฐบาลที่เข้มแข็ง ดูเหมือนจะไปเป็นภัยคุกคามต่อระเบียบสังคมแบบเดิมที่พลังอนุรักษนิยมคุมอยู่หรือได้ประโยชน์อยู่

หากย้อนไป การแก้ไขระบบการตรวจสอบให้เข้มแข็งภายในรัฐบาลคุณทักษิณ จะมีความเป็นไปได้จริงๆ หรือ

นั่นก็เป็นคำถามหลักที่ดีว่า รัฐบาลก็จะไม่ยอมให้แก้ แม้ว่าถ้าเทียบกันแล้ว การแก้รัฐธรรมนูญตอนนั้นใช้เสียงข้างมากในรัฐสภา ซึ่งจะแก้ง่ายกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

แต่ในเวลานั้น นักวิชาการก็ผลักดัน หรืออย่างอาจารย์เองก็ผลักดันเรื่องการแก้ระบบเลือกตั้ง ให้ยกเลิกเกณฑ์ขั้นต่ำ 5% ด้วย หมายความว่าถ้าพรรคเล็กๆ มีคะแนนไม่ถึง 5% คุณจะไม่มีที่นั่งใน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ซึ่งก็ทำให้พรรคเล็กถูกตัดสิทธิ์ไป พรรคใหญ่ก็ยิ่งได้เปรียบหนักเข้าไปอีก แต่รัฐบาลก็ไม่ยอมแก้เพราะว่ารัฐบาลได้เปรียบ อันนี้ก็เหมือนกับงูกินหาง

พอย้อนกลับไป รัฐบาลเองก็ไม่ยอมที่จะปรับกติกาเพื่อลดทอนความได้เปรียบของตัวเอง …แต่ว่า มันก็ยังไงล่ะ ในเมื่อสังคมมันก็เดินมาถึงตอนนี้แล้ว พูดไปมันก็ไม่เกิดขึ้น แต่ใช่ อย่างที่คุณว่า เขาก็ไม่แก้ ในแง่นี้ มันก็เป็นบทเรียนเหมือนกันว่าสังคมที่ระบบการเมืองถูกผูกขาดแล้วก็กินรวบ มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เปรียบมากเกินไป อาจจะไม่เหมาะกับสังคมไทย

ย้อนกลับมาพูดถึงไทม์ไลน์ของการแก้ระบบเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีรัฐบาลพรรคเดียวเข้มแข็ง พอมีรัฐประหาร ปี 2549 คณะรัฐประหารก็พยายามจะลดอิทธิพลของระบบเลือกตั้งภายในรัฐธรรมนูญ ’40 ด้วยการออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ โดยยังคงไว้ซึ่งระบบผสมระหว่างระบบเขตกับบัญชีรายชื่อ แต่เปลี่ยนจาก ‘หนึ่งเขตหนึ่งคน’ มาเป็น ‘หนึ่งเขตหลายคน’ เพราะเขาคิดว่า ถ้าเป็นหนึ่งเขตหลายคน โอกาสที่พรรคเล็กเข้ามาแทรกจะมีมากกว่า แล้วก็ลดเกณฑ์ขั้นต่ำ 5% ลง เปลี่ยนการแบ่งเขตเลือกตั้งบัญชีรายชื่อ จากเดิมที่ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียว 100 ชื่อ แบ่งออกมาเป็น 8 เขต เขตละ 10 คน เพื่อหวังจะลดอิทธิพลของพรรคใหญ่

แต่ถามว่าพอรัฐธรรมนูญ ’50 ออกมา เรามีการเลือกตั้งปี 2550 พรรคไหนชนะ ก็พรรคคุณทักษิณ คือพรรคพลังประชาชน

คือในช่วงระยะเวลา 6-7 ปี ภายใต้รัฐธรรมนูญ ’40 ตัวกติกาการเลือกตั้งมันได้เปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชนไปแล้ว ในเมื่อความคาดหวังของคนต่อพรรคการเมืองเปลี่ยนไป ถึงคุณเปลี่ยนระบบเลือกตั้งใหม่นิดหน่อย เหมือนเอาน็อตสองตัวออก แล้วหวังว่าพฤติกรรมของคนจะเปลี่ยน มันไม่เปลี่ยน ดังนั้นระบบเลือกตั้งมันฝังรากลึกมากกว่าที่คนจะตระหนัก พอมันไม่ได้ผล…ก็เกิดรัฐประหารอีก

ที่จริง ถ้าจำได้ก็คือ มันเกิดการเปลี่ยนรัฐบาล คุณสมัครถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากกรณี ‘ชิมไป บ่นไป’ คุณอภิสิทธิ์ขึ้นมา แล้วคุณอภิสิทธิ์กับพรรคประชาธิปัตย์ก็แก้ระบบเลือกตั้งอีกรอบหนึ่ง นี่รอบที่ 3 โดยเปลี่ยนจากหนึ่งเขตหลายคนกลับมาเป็นหนึ่งเขตหนึ่งคนอีก แล้วบัญชีรายชื่อก็เปลี่ยนจาก 8 เขตกลับมาเป็นทั้งประเทศเป็นหนึ่งเขต และเพิ่มบัญชีรายชื่อมาเป็น 125 รายชื่อด้วย ประเด็นนี้ก็เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ตอนนั้นได้คะแนนบัญชีรายชื่อใกล้เคียงกับพรรคพลังประชาชนมาก คือประมาณ 48% ก็เลยคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะได้ ส.ส. จากบัญชีรายชื่อ ถ้าเพิ่มจำนวนจาก 80 เป็น 125 แต่ปรากฏว่า ผลการเลือกตั้งปี 2554 คุณยิ่งลักษณ์ซึ่งนำพรรคเพื่อไทยหาเสียงอยู่ประมาณ 45 วัน กลับได้ชัยชนะในระบบเขตและบัญชีรายชื่อรวมกันเกินครึ่งของสภา

การเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ถ้ารวม 2560 ด้วย ก็เกิดขึ้นมาแล้ว 4 ครั้งในรอบ 20 ปี ไฮไลต์ตรงนี้เลย มันชี้ให้เห็นว่า นี่คือความสำคัญของระบบเลือกตั้ง ถ้ามันไม่สำคัญ ชนชั้นนำไม่เปลี่ยนหรอก แต่ถามว่าเปลี่ยนแล้ว เป็นไปตามความคาดหวังของคนร่างฯ และออกแบบระบบเลือกตั้งไหม …ไม่เป็น

คำถามคือว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ด้วยระบบเลือกตั้งใหม่เอี่ยมถอดด้าม ไม่มีประเทศไหนในโลกใช้อีกแล้ว จะเป็นไปตามความคาดหวังของคนร่างรัฐธรรมนูญไหม โจทย์นี้ไม่มีใครตอบได้เลย ประชาชนที่จะเลือกตั้งครั้งหน้านี่แหละที่จะเป็นผู้บอกว่ากติกาที่เปลี่ยนจะส่งผลยังไง

 

ร่างรัฐธรรมนูญ  ฉบับสภาปฏิรูปแห่งชาติ จาก REUTERS/Athit Perawongmetha

4. จุดประสงค์ที่แท้จริงของระบบ ‘บัตรใบเดียว’

ไหนๆ เราก็เดินทางมาถึง ’60 แล้ว อาจารย์พอจะอธิบายได้ไหมว่า กติกาที่เกิดขึ้นนี้มาจากแนวคิดอะไร

กติกาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จริงๆ แล้วเป็นผลพวงของการตอบโต้กติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เพราะปี ’40 ต้องการรัฐบาลเข้มแข็ง ต้องการนายกฯ ที่มาจากสภา และต้องการระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง นี่คือสามประเด็นหลักทางการเมือง

รัฐธรรมนูญ ’60 ทำลายทุกอย่างที่รัฐธรรมนูญ ’40 ตั้งใจเอาไว้ นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง มาจากคนนอกก็ได้ สองคือ กติกาการเลือกตั้งต้องการทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ อันที่สามคือรัฐบาลมีแนวโน้มจะเป็นรัฐบาลผสม แทบจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวไม่ได้ และก็น่าจะเป็นรัฐบาลผสมแบบที่ค่อนข้างอ่อนแอและขาดประสิทธิภาพ

ทำไมถึงบอกว่ากติกาของระบบเลือกตั้ง ’60 จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เรามาดูในรายละเอียด ในระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญปี ’60 เราจะมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว ต่างจากรัฐธรรมนูญ ’40 ที่มีบัตรเลือกตั้งสองใบ แบ่งเป็นเลือกตั้ง ส.ส.เขตใบหนึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อใบหนึ่ง ตอนนั้นบางคนก็เลือกบัญชีรายชื่อเป็นพรรคหนึ่ง เลือก ส.ส.เขต ที่เป็นผู้สมัครของอีกพรรคหนึ่ง หรือถ้าชอบพรรคใดมากๆ ก็เลือกไปทั้งสองใบ

แต่ในรัฐธรรมนูญ ’60 เรามีบัตรเลือกตั้งใบเดียว ไว้เลือก ส.ส. เขตเท่านั้น เราจะไม่มีสิทธิเลือกพรรคการเมือง

แล้ว ส.ส. บัญชีรายชื่อจะมาจากไหน ในเมื่อเราไม่ได้เลือก

นั่นไง ก็คือคะแนนบัญชีรายชื่อของพรรคจะถูกคำนวณโดยการนำเอาคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. เขต ทั้งหมดของพรรคมารวมกัน สมมติว่าประชาธิปัตย์รวมกันแล้วได้ 8 ล้านคะแนน ก็นำมาคำนวณกับคะแนนโหวตทั้งประเทศ ว่าเป็นสัดส่วนว่าเป็นเท่าไรของ 500 ที่นั่ง

สมมติว่าคำนวณแล้วได้ 250 ที่นั่ง ถ้าประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. เขตไปแล้ว 100 ที่นั่ง ก็จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเข้าไปอีก 150 คน เพื่อเติมให้ครบ 250 ที่นั่ง [ตามสัดส่วนที่คำนวณได้]

ดังนั้นในระบบนี้ พรรคการเมืองจะไม่มีแรงจูงใจที่จะหาเสียงในนามของพรรคในเชิงนโยบาย แต่ยุทธศาสตร์หลักก็คือการไปดึง ส.ส. หรือผู้สมัครที่มีอิทธิพลอยู่เดิม เพราะว่าคะแนนบัญชีรายชื่อของพรรคมาจากคะแนนตัวบุคคลอีกที

เท่ากับว่าการเลือก ส.ส. เขต ทำให้การตัดสินใจของเราอิงกับตัวบุคคล ต่อให้คุณอยากเลือก ก. แต่ว่า ก. ไปสมัครพรรคที่คุณไม่ชอบเลย เพราะถูกดูดไปแล้ว ถามว่าคุณจะเลือกไหม อันนี้มันจะทำให้เจตจำนงของประชาชนขัดแย้งกันเอง และถ้าในที่สุดคุณเลือก ก. เพราะคุณชอบ ก. มันก็จะเป็นการเลือกตัวบุคคล พรรคแทบจะไม่มีความสำคัญเลย

ขณะเดียวกัน การแปรคะแนนของพรรคออกมาเป็นสัดส่วนบัญชีรายชื่อ ซึ่งมีสัดส่วนเยอะด้วย คือมี ส.ส. เขต 350 คน ส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน ในรายชื่อ 150 คนนี้ เนื่องจากไม่ได้มีบัตรให้เลือกพรรค พรรคก็จะมีแนวโน้มไปลงทุนกับการดึงผู้สมัครที่มีชื่อเสียง

และคราวนี้ พรรคการเมืองแต่ละเขตจะมีเลขบัตรไม่เหมือนกัน การที่ประชาชนจะแอบอิงหรือเลือกเพราะพรรคนั้นก็จะลดลง เพราะว่าจำไม่ได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ในเขตนี้กับอีกเขตหนึ่งต่างกัน มันก็จะทำให้พรรคหาเสียงในระดับประเทศยากขึ้น แต่ละพรรคก็จะต้องหาเสียงโดยผู้สมัครของตัวเอง นอกจากนโยบายจะหายไปแล้ว ยุทธศาสตร์ของพรรคในการหาเสียงทั้งประเทศที่เคยบอกว่า ประชาธิปัตย์เบอร์ 10 เพื่อไทยเบอร์ 1 น่ะ ทำไม่ได้แล้ว

ย้อนกลับไป ตัวกติกาการเลือกตั้งสมัยปี ’40 [ที่แยกบัตรเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อออกมาอีกใบ และใช้เบอร์เดียวทั้งประเทศ] อาจารย์มองว่าตรงนี้แหละมันเป็นแรงจูงใจให้คุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยตอนนั้นสร้างสรรค์นโยบาย เพราะคุณต้องหาเสียงให้ประชาชนเลือกบัญชีรายชื่อ 100 ชื่อ คุณจะหาเสียงด้วยวิธีไหนล่ะ จะให้ ส.ส. เขตไปขายนโยบายให้คุณเหรอ คุณก็หาเสียงโดยการสร้างนโยบายเป็นหลัก เพราะดูว่าถ้าลงทุนกับการสร้างนโยบาย คุณจะได้ ส.ส. มาครั้งนึงเป็นกอบเป็นกำ 50-60 คนเลย

กติกาการเลือกตั้งส่งผลต่อยุทธศาสตร์ของพรรค ส่งผลต่อมุมมองที่ประชาชนมีต่อพรรคการเมือง และผู้นำพรรคด้วย ทีนี้พอมาถึง ’60 เขาไม่ต้องการให้มีความสัมพันธ์แบบเดิมที่ประชาชนผูกพันกับพรรคหรือผู้นำพรรคผ่านนโยบาย เขาถึงตัดการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่คำนวณจากบัตรเลือกตั้งอีกใบโดยตรงออกไปเลย แล้วหันมาใช้ระบบที่เชื่อมโยงผู้สมัครแต่ละคนกับประชาชนแทน ในแง่นี้มันจะเป็นการทำลายความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ทำลายความสร้างสรรค์ในเชิงนโยบายของพรรคการเมือง นี่คือความพยายามในการล้างอิทธิพลของรัฐธรรมนูญ ’40 และกติกาการเลือกตั้ง

การเลือก ส.ส. เขต ทำให้การตัดสินใจของเราอิงกับตัวบุคคล ต่อให้คุณอยากเลือก ก. แต่ว่า ก. ไปสมัครพรรคที่คุณไม่ชอบเลย เพราะถูกดูดไปแล้ว ถามว่าคุณจะเลือกไหม อันนี้มันจะทำให้เจตจำนงของประชาชนขัดแย้งกันเอง

มันเหมือนเราถอยหลังหรือเปล่า เพราะพรรคควรจะขายนโยบาย?

ใช่ คือเรายิ่งกว่าถอยหลังอีกนะ เราถอยไปมากกว่า ’40 อีก

ในความเป็นจริง พรรคควรจะขายนโยบาย ในระบอบประชาธิปไตย ถ้าพรรคการเมืองไม่เข้มแข็งแล้วใครจะเป็นตัวแทนประชาชน จะเป็นระบบราชการ? จะเป็นทหารกันเหรอ? ต่อให้เราเกลียดพรรคการเมืองแค่ไหน แต่นักรัฐศาสตร์ทั่วโลกมองว่าพรรคการเมืองหรือนักการเมืองเป็น necessary evil คือเป็นปีศาจร้ายมากเลย แต่ว่าจำเป็นต้องมี เพราะเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับระบบการเมือง

ทีนี้ถ้าเกิดเราทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ประชาชนก็อ่อนแอตาม เพราะฉะนั้น มุมคิดของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ’60 เป็นมุมคิดที่ไม่ให้ความสำคัญกับพลังของประชาชนเลย ผลพวงของมันจะยิ่งทำให้ประชาชนอ่อนแอ เพราะคุณไปทำให้สถาบันพรรคการเมืองอ่อนแอและไม่มีทางเติบโตได้

ที่อยากจะเน้นก็คือว่า ในระบบนี้ เจ้าพ่อเจ้าแม่ผู้มีอิทธิพลจะกลับมา ทุกพรรคพยายามดูด ส.ส. เก่า หรือผู้มีอิทธิพลอยู่เดิม เพราะว่าในทางปฏิบัติ ต่อให้คุณไม่ชนะ แต่คะแนนที่ได้มาประมาณ 5,000-7,000 คะแนน ก็จะถูกนำมารวมกับคะแนนของคนอื่นๆ ในพรรค แล้วถูกแปรให้เป็นคะแนนบัญชีรายชื่อ เขาไม่จำเป็นต้องชนะ ส.ส. เขต แต่เขาเอาคะแนน ส.ส. เขตมารวมกัน แล้วกลายเป็นบัญชีรายชื่อ ซึ่งมันเป็นระบบที่ไม่เป็นธรรม เป็นการให้คะแนนเติมให้กับพรรคที่แพ้ ถือเป็น loser bonus system ซึ่งพรรคขนาดกลางจะได้เปรียบ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงคะแนนประชามติเมื่อ 7 สิงหาคม 2016 ภาพโดย REUTERS/Jorge Silva

แต่ระบบนี้มันก็ทำให้ไม่มี ‘คะแนนสูญเปล่า’ ซึ่งหมายถึงคะแนนที่ประชาชนเลือกเข้าไป แต่ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนไม่ได้เป็น ส.ส. คะแนนเหล่านี้จึงกลายเป็นคะแนนที่ไม่มีความหมาย

ครั้งนี้เขาบอกว่าจะไม่มีคะแนนสูญเปล่า อันนี้เป็นข้อดีที่สุด ต้องมองว่าเป็นข้อดีข้อเดียวของการแก้ไขปัญหาระบบเลือกตั้งในอดีต

แต่ถามว่า เราจะแก้ปัญหาเรื่องคะแนนสูญเปล่าแล้วยอมเสียสละมือทั้งมือ เพื่อจะเก็บนิ้วก้อยเอาไว้หรือ เพราะถ้าเราประเมินผลเสียอื่นๆ ที่จะตามมา มันมหาศาลมากกว่าคะแนนสูญเปล่า แล้วทุกประเทศมันก็มีคะแนนสูญเปล่าทั้งนั้น

แล้วพอเราจะชดเชยคะแนนสูญเปล่า แต่กลับทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เจ้าพ่อเจ้าแม่กลับมา เจตนารมณ์ของประชาชนก็บิดเบือน ความเป็นสถาบันพรรคการเมือง หรือแรงจูงใจที่จะเสนอนโยบาย ก็หายไป ถามสิ มันคุ้มกันไหม พูดแล้วก็เจ็บใจมาก

ในทางปฏิบัติ ต่อให้คุณไม่ชนะ แต่คะแนนที่ได้มาประมาณ 5,000-7,000 คะแนน ก็จะถูกนำมารวมกับคะแนนของคนอื่นๆ ในพรรค

5. การซื้อเสียงจะเข้มข้น ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นจะกลับมา ส่วนการขายนโยบายจะเงียบงัน

แล้วประเด็นเรื่องการซื้อเสียง กติกาใหม่นี้จะส่งผลอย่างไร

ระบบนี้จะยิ่งมีการซื้อเสียง เพราะมันเน้นตัวบุคคล ไม่ใช่นโยบาย ถามว่าการซื้อเสียงเป็นส่วนหนึ่งของการต่อรองไหม ก็เป็น เรากำลังพูดถึงการต่อรองในเชิงการโหวต

ภายใต้รัฐธรรมนูญปี ’40 การต่อรองมันถูกผันแปรให้เป็น คะแนนเสียง กับ นโยบาย ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนนะ แต่รัฐธรรมนูญ ’60 กติกานี้ถอยหลัง แล้วทำให้การต่อรองนั้นเป็นเรื่องของเงิน

แต่อาจารย์ยังศรัทธาในระบบเลือกตั้งอย่างมากนะคะ และศรัทธาประชาชนด้วย เชื่อว่าพลังของประชาชนจะสั่งสอนนักการเมืองที่ซื้อเสียงและไม่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย โอเค คุณย้ายพรรค คุณซื้อเสียง แต่คุณอาจจะไม่ได้รับเลือก เพราะว่าที่ผ่านมาประชาชนไม่โง่ นี่คุยกับทั้งกับฝ่ายเหลืองฝ่ายแดง คนในพื้นที่ ประชาชนรู้นะว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วเขาจะให้บทเรียนคุณเอง

ยกเว้นว่าคุณตุกติกการเลือกตั้ง โกงการเลือกตั้งโดยวิธีอื่น อย่างเช่นโกงการนับคะแนน อันนั้นประชาชนควบคุมไม่ได้ จึงอยากให้ครั้งหน้านี้ ประชาชนไปสอดส่องตั้งแต่การนับคะแนน ขนย้ายหีบบัตรเลือกตั้ง การประกาศผล ฯลฯ เพื่อจะตรวจสอบให้มากที่สุด

ในเมื่อเขาออกแบบระบบเลือกตั้งมาขนาดนี้ แล้วเรายังจะศรัทธาการเลือกตั้งได้หรือ

อ้อ! เรายังต้องศรัทธาการเลือกตั้ง (ตอบทันที) เราทิ้งไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือและเป็นอาวุธเดียวที่เราจะมีโอกาสอ้าปากหายใจในระบบ ทำให้ประชาชนมีอำนาจต่อรอง ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง เราจะไม่มีอำนาจต่อรองเลย ลองดู 7 ปีที่ผ่านมาเราทำอะไรได้บ้าง

พลังของประชาชนจะสั่งสอนนักการเมืองที่ซื้อเสียงและไม่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย โอเค คุณย้ายพรรค คุณซื้อเสียง แต่คุณอาจจะไม่ได้รับเลือก เพราะว่าที่ผ่านมาประชาชนไม่โง่

6. ใช่ไหม!?! ระบบเลือกตั้งพังแล้ว

คุยมาขนาดนี้แล้ว อาจจะมีคนแย้งว่า การเลือกตั้งไม่ได้เท่ากับประชาธิปไตยสักหน่อย

อ้ะถูก! เห็นด้วย มันไม่เท่ากับประชาธิปไตยแน่นอน ไม่ได้ปฏิเสธเลย แต่ไม่มีระบอบประชาธิปไตยไหนที่ไม่มีการเลือกตั้ง ดังนั้นโจทย์ของสังคมไทยก็คือ ทำให้การเลือกตั้งเป็นสถาบัน และทำให้การเลือกตั้งได้มาซึ่งตัวแทนของประชาชนที่เข้าไปทำหน้าที่ ‘แทน’ ตามความต้องการของประชาชนมากที่สุด อาจจะไม่ได้เต็มร้อย และด้วยกระบวนการนี้ ประชาธิปไตยถึงจะตามมา

ในหลายประเทศ อย่างกัมพูชาที่เพิ่งเลือกตั้งไป เราก็รู้ว่าไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่จุดยืนของอาจารย์ก็คือ ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ประชาชนได้เรียนรู้ในสนามที่เป็นประสบการณ์จริงทางการเมือง และทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ประชาชนฉลาดขึ้น เรียนรู้มากขึ้น ถ้ามันมีการเลือกตั้งสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เชื่อว่าประชาชนจะรู้ทันนักการเมือง รู้ทันชนชั้นนำทางการเมือง และผลของการเลือกตั้งก็จะเอื้อต่อการเกิดประชาธิปไตยมากขึ้น

โอกาสที่ประชาชนจะได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจกับผลการตัดสินใจของตัวเอง มันเป็นบทเรียนที่มีคุณค่ามากกว่าเครื่องมืออื่นใดทางการเมือง ดังนั้น ต่อให้เราเข้าใจดีว่าระบบเลือกตั้งไม่ได้เท่ากับประชาธิปไตย แต่เราไม่สามารถขาดศรัทธาหรือว่าหันหลังให้กับการเลือกตั้งได้

ปัญหาที่ทำให้ระบบการเลือกตั้งของไทยมันไม่เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะว่าเราไม่เคยมีการเลือกตั้งที่สม่ำเสมอเลย หรือไม่ก็เป็นการเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศที่ถูกกำกับโดยรัฐบาลเผด็จการ

หลายประเทศที่มีการเลือกตั้งซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างชิลี ที่ระบบเลือกตั้งของเขาก็เอื้อประโยชน์ให้พรรคอันดับ 2 แต่พอเลือกตั้งใหม่หลายๆ ครั้ง ผลของการเลือกตั้งมันก็จะไปเปลี่ยน ส.ส. ในสภา แล้ว ส.ส.ในสภาก็จะไปเปลี่ยนกติกาการเลือกตั้ง จนทุกวันนี้ชิลีก็มีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก

คือมีหลายประเทศมากที่ประสบการณ์ชี้ว่า การเลือกตั้งอาจไม่เป็นประชาธิปไตยในช่วงแรก แต่พอเลือกตั้งไปนานๆ เช่น 6-7 ครั้งต่อกัน ประชาธิปไตยมันจะเกิดขึ้นเอง

ต่อให้เราเข้าใจดีว่าระบบเลือกตั้งไม่ได้เท่ากับประชาธิปไตย แต่เราไม่สามารถขาดศรัทธาหรือว่าหันหลังให้กับการเลือกตั้งได้

อย่างของประเทศไทย การเลือกตั้งหยุดชะงักไป บางครั้งก็ด้วยการขัดจังหวะว่า เห็นไหม เสียงมวลชนส่วนมากดันไปเลือกคนไม่ดีขึ้นมา หรือการอ้าง ‘ปีศาจทักษิณ’ ทำให้ไม่ควรเลือกตั้งกันต่อ

(หยุดคิด) ง่ายๆ ดูมาเลเซีย เขาก็สามารถก้าวข้ามพรรคของนาจิบได้ ทั้งที่เขาใช้กลไกแบ่งเขตเลือกตั้งที่เอื้อพรรครัฐบาลจะตาย ดังนั้น ทักษิณชนะเลือกตั้งสองครั้ง โดยส่วนตัวมองว่า จิ๊บๆ มากเลย ถ้าเกิดทุกวันนี้ทักษิณยังอยู่นะ หมายถึงว่าไม่มีรัฐประหาร ’49 ทักษิณคงหายไปแล้ว เพราะคนไทยไม่ยอมรับการผูกขาดทางการเมือง

มาเลเซียอยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคเดียวมา 58 ปี ในที่สุดก็สามารถหลุดพ้นจากระบบอำนาจนิยมโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว ผ่านอะไร? ก็ผ่านการเลือกตั้ง มาเลเซียทำได้ ทำไมไทยจะไม่เกิดขึ้น

ชัยชนะของประชาชนในมาเลเซียนี้ ไม่ได้เป็นเพราะการกลับมาลงสนามของมหาเธร์อย่างเดียวใช่ไหม

ไม่ใช่มหาเธร์คนเดียว ถ้ามองย้อนกลับไปที่การเลือกตั้งก่อนหน้านี้ พรรคฝ่ายค้านก็ชนะคะแนนเสียงมาตั้งแต่ครั้งนั้น เพียงแต่รัฐบาลเขาแบ่งเขตเลือกตั้งให้พรรครัฐบาลได้เปรียบ ได้จำนวน ส.ส. ในสภามากกว่า แต่ครั้งนี้ที่มหาเธร์เข้ามา ถามว่าเป็นปัจจัยสำคัญไหม สำคัญ แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียว มันไปบวกกับพลังที่ต่อต้านรัฐบาลมาเลเซียตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

ถ้ามองด้วยตรรกะชุดเดียวกัน มันง่ายมากเลยที่จะทำความเข้าใจว่า พลังของประชาชน ผ่านระบบการเลือกตั้งนี่แหละ ที่จะเป็นตัวเปลี่ยนระบบการเมือง ที่จะหยุดยั้งอำนาจนิยมได้ดีกว่าการเข้ามาแทรกแซงทางทหาร ด้วยรถถังและอาวุธ เพราะว่าการแทรกแซงทางทหารมันจะไม่สามารถยั่งยืน เพราะในระบบการเมืองใหม่ของโลกในปัจจุบัน ในที่สุดแล้ว ทหารก็ต้องถูกบีบด้วยทั้งพลังภายนอกให้ต้องมีการเลือกตั้งอยู่ดี ทำไมคุณไม่ปล่อยให้การเลือกตั้งมันดำเนินอย่างต่อเนื่อง แล้วให้พลังของประชาชนเป็นตัวหยุดยั้งนักการเมืองโกง นักการเมืองคอร์รัปชัน? แล้วในกระบวนการนี้ ประชาชนก็จะได้เรียนรู้ด้วย เพียงแต่ต้องอดทนและเคารพในกติกา ไม่ใช่เล่นเกมนอกกติกา

เพราะฉะนั้น กรุณาศรัทธาในระบบเลือกตั้ง และศรัทธาในประชาชนรอบๆ ตัวคุณ เพื่อนร่วมชาติของคุณน่ะเป็นพลังที่ใครจะมากำกับก็อาจจะได้แค่สักระยะเวลานึง แต่ไม่ใช่จะกำกับได้ตลอด

แม้ว่าเพื่อนร่วมชาติเหล่านั้นจะมีผลประโยชน์แตกต่างจากเรา

ผลประโยชน์ที่แตกต่างนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ กระบวนการเลือกตั้งนี่แหละที่ทำให้ผลประโยชน์เหล่านั้นถูกจับมาอยู่ในตะกร้าเดียวกัน เพื่อประนีประนอม เพื่อต่อรอง เพื่อดูว่าในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ผลประโยชน์ของใครจะถูกจัดอันดับให้มีความสำคัญมากที่สุด และแก้ไขปัญหานั้น ในตะกร้าการเลือกตั้งนี่แหละ ที่มันจะทำให้ผลประโยชน์ของทุกคนถูกนับรวม ไม่ใช่แค่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

กรุณาศรัทธาในระบบเลือกตั้ง และศรัทธาในประชาชนรอบๆ ตัวคุณ เพื่อนร่วมชาติของคุณน่ะเป็นพลังที่ใครจะมากำกับก็อาจจะได้แค่สักระยะเวลานึง แต่ไม่ใช่จะกำกับได้ตลอด

7. คนธรรมดาทำอะไรได้ นอกจากไปลงคะแนนเลือกตั้ง

นอกจากการไปกาบัตรเลือกตั้งแล้ว มีกิจกรรมอื่นๆ ที่คนรุ่นใหม่จะทำได้อีกไหม เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมกับระบบพรรคการเมือง เช่นการสังกัดสมาชิกพรรค

พอถามอย่างนี้ก็เลยทำให้นึกถึงการดูด ส.ส. กับการทำลายพรรคการเมือง คือมันมี ‘ความพยายามอย่างเป็นสถาบัน’ เพื่อทำลาย ‘ความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง’ มันไม่ใช่แค่ทำลายโดยอุบัติเหตุ หรือเกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ ครั้งนี้รัฐธรรมนูญใส่มาตรการที่จะลดทอนความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง ซึ่งมันก็คือการทำลายสถาบันพรรคการเมืองอย่างเป็นสถาบัน

ทีนี้พอพูดถึงเรื่องสมาชิกพรรค คำถามก็คือว่า ถ้าเกิดพรรคการเมืองยังเป็นสถาบัน คนก็ต้องอยากเป็นสมาชิกพรรคใช่ไหมคะ แต่ว่าโดยตัวรัฐธรรมนูญเอง มันทำให้คนจำนวนมากไม่อยากเป็นสมาชิกพรรค เพราะถ้าเกิดเป็นสมาชิก คุณก็สมัคร ส.ว. ไม่ได้ อาจจะเป็นองค์กรอิสระไม่ได้ ดังนั้นตัวมาตรการของรัฐธรรมนูญเองมันย้อนแย้ง ถ้าเกิดคุณรุ่นใหม่อยากเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งตามกฎหมายก็กำหนดให้ต้องเสียค่าสมาชิก อาจจะทำให้คนตั้งคำถามว่า “เป็นแล้วจะได้ประโยชน์อะไร”

ดังนั้นคำถามที่ว่าคนรุ่นใหม่จะมีส่วนร่วมอะไรได้บ้าง ส่วนร่วมที่สำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจกติกาของระบบเลือกตั้ง แล้วก็ติดตาม ‘จุดยืน’ ทางการเมืองของพรรคการเมืองให้มากที่สุด เพื่อที่จะเข้าใจว่าพรรคการเมืองนี้ เมื่อเราเลือกไปแล้วเขาจะทำอะไร เขาจะโหวตเลือกนายกฯ แบบไหน นโยบายพรรคเป็นอย่างไร

เราเห็นว่ากติกาใหม่นี้จะไปลดทอนแรงจูงใจเชิงนโยบายของพรรคการเมือง แต่ก็จะมีบางพรรคการเมืองที่ยังเน้นนโยบายอยู่ เพราะเขารู้ว่ากติกาเดิมที่มีมาตั้งแต่ปี ’40 มันได้ฝังความเคยชินเรื่องนโยบายไปแล้ว ก็ยังให้ความสำคัญอยู่

ส่วนเรื่องเราจะเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ โดยส่วนตัว อาจารย์ไม่เป็น เพราะฉะนั้นก็จะไม่ไปบอกว่าเด็กรุ่นใหม่ต้องไปเป็นสมาชิกพรรค

มันมี ‘ความพยายามอย่างเป็นสถาบัน’ เพื่อทำลาย ‘ความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง’

อย่างประเทศไทย การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้มีความสำคัญ แต่อย่างอเมริกา สัดส่วนคนเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเยอะไหม

เดี๋ยวนี้มันก็ลดลง แต่การเป็นสมาชิกพรรคของไทยกับต่างประเทศมันต่างกัน อย่างของต่างประเทศ ถ้าคุณเป็นสมาชิกพรรคก็คือคุณเป็นส่วนหนึ่งของพรรค ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์การสมัครเป็น ส.ว. หรือองค์กรอิสระอื่นๆ แต่ของเรามันถูกทำให้เหมือนเป็นตราบาปบางอย่าง ซึ่งอันนี้ควรจะไปแก้ ไม่ควรทำให้การเป็นสมาชิกพรรคกลายเป็นต้นทุนในชีวิตในอนาคต

อย่างการเป็นสมาชิกพรรคในอเมริกา หรือในประเทศอื่นๆ หมายความว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของพรรค คุณเป็นเจ้าของพรรค แต่ความเป็นเจ้าของพรรค ทำให้คุณต้องบริจาคเงินให้พรรค เป็นการอุทิศบางอย่างให้ ประเทศในยุโรปหลายประเทศกำหนดให้หักจากเงินเดือนคุณไปเลย เช่น หัก 5% ถามว่าคุณพร้อมจะเป็นสมาชิกพรรคในลักษณะนั้นไหม คิดว่าสังคมไทยยังไม่พร้อม เพราะว่าพรรคการเมืองยังไม่ได้ตอบโจทย์ให้กับสังคมมากเท่ากับในต่างประเทศ และยิ่งนับวันก็ยิ่งถูกทำให้ลดความเป็นสถาบันลง

ในต่างประเทศ ทำไมเขาถึงเป็นสมาชิกพรรคกัน เป็นแล้วได้อะไร ทำไมถึงยอมขนาดนั้น

โอกาสที่วันหนึ่งเขาจะสามารถสมัครรับเลือกตั้งหรือเป็นรัฐมนตรีของพรรค จะดูจากความยาวนานของการเป็นสมาชิก โครงสร้างนี้มันเลยทำให้พรรคมีความเป็นสถาบัน เป็นการให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดโครงสร้างและทรัพยากรของพรรค พอเป็นสมาชิกมายาวนานก็ผูกพันผ่านอุดมการณ์ของพรรค สนับสนุนจุดยืนของพรรค เมื่อนั้นคุณก็มีความเหมาะสมที่จะลงสมัครในนามพรรค มันก็ไปตามตรรกะและขั้นบันได

ทีนี้ของไทย เราเป็นสมาชิกพรรค เราบริจาคเงินไป แต่เวลาสมัครรับเลือกตั้ง คุณก็ไปเอาญาติพี่น้อง หรือเครือข่ายในระบบอุปถัมภ์ของคุณมาลงรับเลือกตั้ง ดังนั้น ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพรรคมันก็ไม่เกิดขึ้น มันไม่มีขั้นบันไดของความสัมพันธ์

คนรุ่นใหม่จะมีส่วนร่วมอะไรได้บ้าง ส่วนร่วมที่สำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจกติกาของระบบเลือกตั้ง แล้วก็ติดตาม ‘จุดยืน’ ทางการเมืองของพรรคการเมืองให้มากที่สุด

8. การเลือกตั้งขั้นต้น เครื่องมือสวยหรูในวันที่ยังไม่พร้อม

แล้วอาจารย์คิดอย่างไร ที่กติกาการเลือกตั้งใหม่นี้ได้กำหนดให้ทุกพรรคต้องทำไพรมารีโหวต หรือระบบเลือกตั้งขั้นต้น เพื่อกำหนดตัวผู้สมัครไปเป็นตัวแทนพรรคในการลงแข่งขันเลือกตั้ง ส.ส. ในแต่ละเขต

ไพรมารีโหวตเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้วในตัวหลักการเอง เพราะว่ามันลดอำนาจการตัดสินใจและการควบคุมพรรคโดยเจ้าของพรรคและชนชั้นนำในพรรค ในประเทศไทย ส่วนใหญ่พรรคมันมี ‘เจ้าของ’ ระบบนี้จะทำให้สมาชิกพรรคมีโอกาสได้มีส่วนร่วมตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบอกว่าเราจะเลือกสมาชิกคนไหนในพรรคไปลงสมัครแทนเรา

แต่ปัญหาของรัฐธรรมนูญ ’60 คือการนำไปใช้ เพราะว่ามันโยงกับเรื่องสมาชิกพรรคนี่แหละ ทุกวันนี้พรรคไม่ได้มีสมาชิกมากพอที่จะทำหน้าที่เลือกตั้งขั้นต้น (primary election) แทนประชาชนทั่วไป สมมติอย่างในอเมริกา เมื่อมีการเลือกตั้งขั้นต้นทีหนึ่ง เขามีคนไปใช้สิทธิประมาณ 30% (เลือกตั้งทั่วไปอยู่ที่ 60%) ก็ไม่ได้มากนะคะ แต่ก็นับเป็นจำนวนหมื่นคนในแต่ละเขต มันก็ justified (มีความชอบธรรม)

ส่วนของไทย ตอนนี้พรรคการเมืองที่สมาชิกพรรคมากที่สุดคือประชาธิปัตย์ แล้วพอมีการกึ่งเซตซีโร่ ที่ให้สมาชิกทุกคนต้องมาแสดงเจตจำนงใหม่ ไม่แน่ว่าใจประชาธิปัตย์เหลือสมาชิกกี่แสน ทีนี้พอเข้าไปดูในเขตเลือกตั้ง การเลือกตั้งขั้นต้นใน 350 เขต ทุกพรรคจะต้องเลือกตั้งขั้นต้นของตัวเองในทุกเขต

อย่างเขตที่เราอยู่ตอนนี้คือปทุมวัน ยกตัวอย่าง พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคนี้มีสมาชิกกี่คนที่จะมาลงคะแนนให้กับผู้สมัครของพรรค ในกติกาเขาบอกว่า ถ้ามีสาขาพรรค ต้องใช้สมาชิก 500 คน แต่ถ้าพรรคนั้น มีแค่ 100 คน เขาบอกว่าใช้แค่ 50 คนก็ได้ ถามว่า โหวตกันมา 50 คน คนที่ได้ 25 คะแนนก็ชนะแล้วใช่ไหม ถ้าได้รับเลือกจากคะแนนที่น้อย จะถือว่ามีความชอบธรรมมากพอที่จะเป็นตัวแทนของพรรคหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น ภายใต้ระบบไพรมารีของไทย ด้วยความไม่พร้อมในเชิงสมาชิกพรรค เพราะว่าเราไปยกเลิกรัฐธรรมนูญบ่อย ความเป็นสมาชิกพรรคไม่ต่อเนื่อง แล้วพอจะมาใช้กติกาที่เข้มข้นอย่าง primary election มันก็ไม่สามารถจะปฏิบัติได้จริง

และปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือ พรรคขนาดเล็กไม่มีเงินจัดการเลือกตั้งขั้นต้น เพราะว่าเป็นภาระของพรรคที่จะต้องจัดเอง ค่าสถานที่จะเอาที่ไหน บัตรเลือกตั้งใครจะทำ ใครจะเป็นคนนับคะแนน

คือสร้างไพรมารีโหวตเป็นเงื่อนไข แต่ต้องไปรับผิดชอบกันเอง

ใช่ กำหนดไว้แล้วให้พรรคไปทำเอง อีกอย่างคือ ถ้าเกิดพรรคทำผิดกติกา ใครจะเป็นคนมาดูว่าที่ทำเลือกตั้งขั้นต้นอยู่นี่มันถูกหรือมันผิด แล้วถ้าสมมติว่าคุณได้รับเลือกตั้งขั้นต้นมาภายใต้พรรคประชาธิปัตย์ แล้วอาจารย์ไม่ชอบหน้าคุณขึ้นมา ไปฟ้องว่าการเลือกตั้งขั้นต้นครั้งนั้นผิดกติกา คุณได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ไปแล้วก็จะถูกสอยลงมาอีก ได้ใบส้ม ใบแดง ภายหลัง คือมันเป็นยวงของกติกาที่จะทำให้เกิดความผิดพลาด

ถ้าสมมติว่าคุณได้รับเลือกตั้งขั้นต้นมา แล้วอาจารย์ไม่ชอบหน้าคุณขึ้นมา ไปฟ้องว่าการเลือกตั้งขั้นต้นครั้งนั้นผิดกติกา คุณได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ไปแล้วก็จะถูกสอยลงมาอีก มันเป็นยวงของกติกาที่จะทำให้เกิดความผิดพลาด

เหมือนเพิ่มเป็นสองขั้น เดิมทีมีการเลือกตั้ง ส.ส. เพียงอย่างเดียว ก็มีการให้ใบเหลืองใบแดงกันอยู่แล้ว แต่พอมาเล่นกันถึงขั้นไพรมารีโหวต ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสเล่นงาน

ใช่ๆ มันเป็นช่องทาง เพิ่มโอกาสที่จะตัดคู่แข่งทางการเมือง แม้ว่าจะได้รับเลือกตั้งแล้วก็ตาม และแม้ว่าจะอยู่คนละพรรคด้วย คือมันมีจุดอ่อนเยอะไปหมด

เลือกตั้งครั้งหน้าเราจะมี 350 เขต ทุกพรรคที่ส่งในแต่ละเขตจะต้องทำไพรมารี และต้องทำเอง สมมติว่ามีพรรคสมัครรับเลือกตั้ง 10 พรรค ใน 350 เขต เท่ากับจะมีไพรมารีโหวต 3,500 ครั้ง ถามว่า กกต. จะส่งคนไปสังเกตการณ์เพื่อดูว่าการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคนั้นเป็นไปตามกติกาได้ทุกครั้งหรือเปล่า? และจริงๆ เรามีพรรคการเมืองมากกกว่า 10 พรรค ใครจะมาควบคุมการเลือกตั้งของพรรคที่จัดโดยพรรคเองให้เป็นไปตามกติกา อันนั้นก็เป็นปัญหาที่ยากที่สุดในเชิงปฏิบัติ

ทีนี้ถามว่าต่างประเทศเขาทำยังไง เขาไม่ได้นำไพรมารีโหวตมาใส่ใน พ.ร.บ. พรรคการเมือง เขาให้เป็นทางเลือกหรือข้อชี้แนะว่าถ้ามีมันก็ดีนะ คือมีมันดีแน่ๆ เพราะถ้าพูดถึงพรรคใหญ่ๆ การทำการเลือกตั้งขั้นต้นให้ประชาชนเป็นคนตัดสินว่าในเขตนี้ ผู้สมัครคนไหนของพรรคเป็นคนที่ประชาชนชอบมากที่สุด เมื่อส่งไปแข่งกับพรรคอื่นก็มีแนวโน้มที่จะชนะ เพราะประชาชนที่ชอบพรรคนี้จะเลือกคนนี้อยู่แล้ว

ที่ผ่านมา พรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ก็ใช้วิธีจ้างสถาบันการศึกษาหรือบริษัทเอกชนมาทำโพลล์ ซึ่งก็ใช้เงินเยอะ เพราะฉะนั้น หากพรรคใหญ่ทำการเลือกตั้งขั้นต้นโดยสมัครใจและเขาพร้อมที่จะทำ มันก็เป็นประโยชน์ต่อพรรค

การทำการเลือกตั้งขั้นต้นมีข้อดี คือมันเป็น grassroot democracy ที่แท้จริง เพราะประชาชนเป็นคนเลือก ไม่ใช่หัวหน้าพรรคหรือแกนนำชี้ใครมาลงสมัคร แต่มันควรจะทำเมื่อ 1. พรรคการเมืองมีสมาชิกมากพอ 2. ไม่ควรบังคับ ควรทำเมื่อสมัครใจ ถ้าพรรคเห็นความสำคัญ ทำแล้วเกิดประโยชน์ พรรคก็จะทำเอง 3. เมื่อประชาชนกระตือรือร้นอยากมีส่วนร่วม มีความต้องการจะเป็นสมาชิกพรรคมากขึ้น อยากจะเดินเข้าไปบอกพรรคว่าในเขตของฉัน อยากจะได้นาย ค. ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่ทำให้ประชาชนมีบทสนทนากับพรรคในทางอ้อมได้

แต่ถ้าทำโดยที่ยังไม่ครบองค์ประกอบ มันก็จะกลายเป็นการเล่นปาหี่ เปิดช่องให้นักการเมือง หรือ ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปถูกสอยตกลงมาได้ ซึ่งไม่เป็นธรรม เหมือนนำเครื่องมือที่ดูดีมาใช้ผิดวิธี

9. ประชาธิปไตยไม่มีจริง มีไว้แค่บังหน้าเผด็จการ?

นักวิชาการรัฐศาสตร์บางคนมองว่า สถานการณ์โลกตอนนี้ รัฐเผด็จการหลายแห่งนำรูปแบบระบอบประชาธิปไตยหรือระบบการเลือกตั้งมาใช้บังหน้า เพื่อต่ออายุรัฐบาลตัวเอง อันนี้อาจารย์คิดว่าจริงไหม

อันนี้ใช่ ถ้าพูดถึงในช่วงทศวรรษนี้ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกที่ประชาธิปไตยเพิ่งเริ่มตั้งไข่ และเมื่อพูดถึงประชากรโลก มีเพียง 20% เท่านั้นที่อยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตยจริง ทีนี้ปรากฏการณ์นี้มันเป็นภาพสะท้อนสองด้านนะคะ

ด้านหนึ่งคือมันชี้ให้เห็นว่า ระบอบอำนาจนิยมเด็ดขาดหรือเบ็ดเสร็จในตัวเอง มันอยู่ไม่ได้ในโลกสมัยใหม่ มันถึงต้องอาศัยกลไกบางอย่างของระบอบประชาธิปไตยมาเป็นฉากบังหน้า ถ้ามองในแง่ดีก็คือ แสดงว่าระบอบประชาธิปไตยมันเป็นระบอบที่มีความชอบธรรม ได้รับการยอมรับมากที่สุด แต่ด้านลบก็คือว่า ระบอบอำนาจนิยมเหล่านั้นใช้หน้ากากประชาธิปไตยขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการสืบทอดอำนาจและการอยู่รอดของตัวเอง ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น ตุรกี รวมทั้งประเทศไทยด้วย

แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ มันมีหลายพื้นที่ที่ผู้นำอำนาจนิยมใช้การเลือกตั้งมาเพื่อสืบทอดอำนาจ แต่พอเลือกตั้งไปหลายๆ ครั้ง ประชาชนก็ไม่เลือกผู้นำอำนาจนิยมนั้น หันไปเลือกพรรคการเมืองหรือผู้นำที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่มันต้องเกิดการเลือกตั้งหลายครั้งต่อเนื่อง แล้วประชาชนจะยุติการสืบทอดอำนาจด้วยกลไกการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกลไกที่ผู้นำอำนาจนิยมหยิบยื่นให้นั่นแหละ

ดังนั้นมันอยู่ที่ว่า สังคมไทยและประชาชนไทยสามารถจะใช้การเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาท้าทายและยุติการสืบทอดอำนาจของผู้นำอำนาจนิยมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่

การออกแบบระบอบเลือกตั้ง มีทั้งออกแบบเพื่อให้สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุด กับอีกด้านก็คือเพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง ถ้าเรามองเฉพาะกรณีแรก ทำไมเราต้องออกแบบ ในเมื่อใครได้คะแนนเสียงมากกว่าก็น่าจะชนะไปเลย

(ยิ้ม) มันไม่ได้อย่างนั้น คือระบบเลือกตั้งมันจะต้องสอดคล้องกับสังคมด้วย เป้าหมายของระบบเลือกตั้ง ไม่เชิงว่าจะให้สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนนะคะ แต่ระบบเลือกตั้งเป็นเครื่องมือเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มมีตัวแทนให้มากที่สุด

ทีนี้ แต่ละสังคมไม่เหมือนกัน ถ้าเกิดเป็นสังคมที่มีลักษณะพหุวัฒนธรรมมากๆ (มีผู้คนจากหลายวัฒนธรรมมารวมกัน) ระบบเลือกตั้งต้องออกแบบมาเพื่อให้คนในแต่ละกลุ่มที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมเข้ามามีตัวแทนได้มาก ถ้าเป็นระบบเลือกตั้งที่ใครชนะได้เสียงข้างมาก ประชากรส่วนใหญ่ อย่างเช่น 50% ก็จะชนะเลือกตั้งตลอด คนอีก 50% ที่เป็นคนอีกหลายๆ กลุ่มก็จะไม่มีโอกาสชนะเลย ดังนั้นสังคมแบบนี้อยู่ไม่ได้นะ เพราะชนกลุ่มน้อยจะไม่มีโอกาสมีตัวแทนได้เลย

มันก็เลยเป็นเรื่องที่ต้องปรับไปตามแต่ละสังคม

ใช่ การเลือกตั้งมันจึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องออกแบบให้สอดคล้องกับธรรมชาติและองค์ประกอบของสังคมนั้นๆ ถ้าเป็นประเทศที่คนไม่ค่อยมีความแตกต่างในเชิงวัฒนธรรม อาจจะเป็นระบบเลือกตั้งที่เน้นพรรคใหญ่พรรคเดียว เน้นรัฐบาลพรรคเดียวได้

แต่ถ้าเป็นสังคมอย่างสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีคนหลายชาติ หลายภาษา หลายวัฒนธรรมมาก ถ้าคุณให้พรรคที่ชนะเป็นตัวแทนอย่างเดียว มันก็จะมีพรรคที่ชนะอยู่พรรคใหญ่พรรคเดียว คนกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นคนกลุ่มน้อยไม่มีโอกาส สังคมแบบนี้ ยังไงสักวันหนึ่งก็ต้องทะเลาะกัน ดังนั้นระบบเลือกตั้งมันถึงต้องออกแบบและปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม ธรรมชาติ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมนั้นด้วย

ทีนี้เราจะแก้ปัญหานักการเมืองเข้ามาแก้กติกาการเลือกตั้งได้อย่างไร ก็คือถ้านักการเมืองกลุ่มหนึ่งเข้ามาแก้กติกาที่ประชาชนไม่ชอบ ครั้งหน้าประชาชนก็ต้องเลือกนักการเมืองอีกกลุ่มกลับเข้ามา ดังนั้นกระบวนการของการเลือกตั้งมันจึงเป็นการต่อรองระหว่างประชาชนกับรัฐ กับผู้ใช้อำนาจ

สังคมทุกสังคมมันต่อสู้กันบนช่องนี้ตลอดเวลา บางช่วงเวลา เจตนารมณ์ของประชาชนก็ชนะ บางช่วงเวลา ผลประโยชน์ของชนชั้นนำก็ชนะ แต่อันนี้คือข้อเท็จจริงในทางการเมือง และระบบเลือกตั้งก็เป็นกลไกหนึ่งของการต่อรองของสองช่องนี้ คือไม่ได้พูดให้สวยหรูว่าออกแบบดีแล้วมันจะจบอยู่ตรงนั้น แต่ระบบเลือกตั้งมันเป็นพลวัต มีความเปลี่ยนแปลง และเป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลมากที่สุดที่ประชาชนจะใช้ได้

อีกประเด็นก็คือ ในยุคนี้ บางคนที่ไม่ได้ทำมาหากินอยู่ในภูมิลำเนาของตัวเอง ก็อาจจะไม่ได้นิยามว่าตัวเองเป็นคนของเขตนั้นในเชิงพื้นที่ แต่นิยามตัวเองว่าเป็นคนวัยนี้ มีความสนใจนี้ และทำอาชีพนี้มากกว่า เมื่อต้องไปเลือก ‘คน’ ที่ลงสมัครในเขตซึ่งเป็นภูมิลำเนาของเรา อาจจะเลือกไม่ถูก

ใช่ ประเด็นนี้เคยพูดไว้เหมือนกันว่าอยากให้มีระบบ registration vote คือหากเราทำงานอยู่ที่ไหน เช่น ทำงานมานาน 10 ปี เราควรจะมีสิทธิเลือกตั้งในเขตที่เราใช้ชีวิตอยู่ ไม่ใช่ตามทะเบียนบ้านที่เราอยู่ ซึ่งมันจะทำให้พรรคมีนโยบายเพื่อตอบโจทย์ของกลุ่มคนชั้นกลางที่เป็นคนทำงานมากขึ้น คือทุกวันนี้นโยบายต่างๆ จึงกลายเป็นนโยบายในภาคเกษตรกรรมหรือการท่องเที่ยวที่ยึดอยู่กับพื้นที่มากกว่า

แต่ระบบลงทะเบียนก็มีข้อเสียคือต้องมีค่าใช้จ่าย และการจัดทำระบบลงทะเบียนก็ต้องมีประสิทธิภาพ แต่ในแง่ที่พรรคกับประชาชนจะสามารถเชื่อมโยงกันแล้วมีนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชนได้ ระบบนี้จะทำได้มากกว่า ถ้าเกิดเรามีเป้าหมายอยากให้พรรคเป็นสถาบัน ให้พรรคเป็นตัวแทนประชาชน ระบบ registration vote จะดีกว่า

ถ้ามองให้ครอบคลุมคือ การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองจำนวนมากให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยเลือกตั้ง การเลือกตั้งครั้งที่แล้วคือ 7 ปีที่แล้ว ดังนั้นนับย้อนไป คนอายุ 24-25 ยังไม่เคยเลือกตั้งเลย ซึ่งเยอะมาก สถิติประชากร 8 ล้านคนเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ได้เลือกตั้งเลย

คำถามคือ คนเหล่านี้มีความคาดหวัง ความต้องการ ความปรารถนา หรือเป้าหมายอะไรในระบบการเมือง ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ ถึงแม้เราจะเห็นการดูด ส.ส. หน้าเก่าเจ้าของพื้นที่จำนวนมาก แต่ความท้าทายที่จะตอบโจทย์ของคนกลุ่มใหญ่ที่เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นเสน่ห์อย่างมากเลย

แล้วคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ความข้ดแย้งของเสื้อสี มากเท่ากับคนวัยกลางคน

แล้วก็อิน BNK48 มากกว่า

อ้า ใช่ กงยูด้วย (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นไม่มีใครคาดเดาได้นะว่าผลจะออกมาเป็นแบบไหน อันนี้น่าสนใจ

คำถามก็คือ คนรุ่นใหม่สนใจที่จะตามการเมืองแค่ไหน สนใจมากพอที่จะตัดสินใจอย่างมีเหตุผลบนความต้องการของตัวเองหรือเปล่า อันนี้ต้องฝากถึงคนรุ่นใหม่ด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าคืออนาคตของคุณ อย่าปล่อยให้คนแก่คนชรากำกับทิศทางของประเทศ มันถึงเวลาแล้วที่คุณจะเข้ามากุมการตัดสินใจ แล้วบอกว่าสังคมไทยควรจะไปทางไหน สำคัญมาก เพราะมีจำนวนถึง 8 ล้านคนเลยนะ นับเป็น ส.ส. หลายที่นั่งจากจำนวน 500 ที่นั่ง ที่จะกำหนดว่าตัวแทนของคุณจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

 

Fact Box

รองศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบการศึกษารัฐศาสตร์บัณฑิต การปกครอง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทด้านการเมืองเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) และปริญญาเอกด้านสังคมและการพัฒนาจากมหาวิทยาลัยเกียวโต

อาจารย์สิริพรรณ์มีความสนใจด้าน ‘การเมืองเปรียบเทียบ’ และ ‘พรรคการเมืองและระบบการเลือกตั้ง’ และเพิ่งตีพิมพ์ผลงานหนังสือเล่มล่าสุดชื่อ ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ สำนักพิมพ์ศยาม

Tags: , , , , , , , ,