ปีนี้เป็นปีที่ธุรกิจแบบ O2O (Online-to-Offline) มีการแข่งขันรุนแรงและมีความเคลื่อนไหวตลอดทั้งปี ทั้งเจ้าเดิมในตลาด และเจ้าที่มาที่หลัง ต่างสร้างอีโคซิสเต็มส์ของตัวเองให้สมบูรณ์พร้อม ขยายบริการ จับมือพาร์ทเนอร์ต่างๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจ

หนึ่งในนั้นคือ GET น้องใหม่ที่เปิดตัวไปในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ด้วยคาแรกเตอร์ของแบรนด์ที่ดูเข้าถึงได้ง่าย และการเลือกใช้สีเขียวสะท้อนแสงยังส่งผลให้ดูโดดเด่นสะดุดตา 

ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET บอกกับเราว่าการเป็นน้องใหม่ในธุรกิจนี้ ทำให้ Get ต้องทำธุรกิจด้วยความเร็วกว่าปกติและมองไปข้างหน้าอย่างเดียว เพื่อให้แข่งขันกับเจ้าใหญ่ในตลาดได้

หากเปรียบเป็นมวยแล้ว GET อาจเป็นนักมวยดาวรุ่งที่กำลังมาแรง มีเชิงชกสวยงาม แม้จะต้องมาเจอกับเจ้าของแชมป์โลกเดิม แต่ก็กล้าขึ้นเวทีสู้แม้รู้ตัวว่าเป็นมวยรอง แต่สวมหัวใจสิงห์พร้อมกระชากเข็มขัดแชมป์โลกมาครอง

ผู้บริหาร GET มักย้ำคำนี้เสมอว่า ‘ต้องคิดต่าง สู้แบบอันเดอร์ด็อก ด้วยหัวใจแบบแชมเปี้ยน’

วันนี้ของ GET มีอยู่ 3 บริการ ได้แก่ บริการเรียกวินมอเตอร์ไซค์ บริการส่งอาหารเดลิเวอรี และบริการรับส่งพัสดุ ด้วยจำนวนตัวเลขคนขับรถร่วม 2 หมื่นคน 

ภิญญาบอกว่าในไม่ช้า GET จะก้าวขึ้นไปเป็นที่หนึ่งในธุรกิจนี้อย่างแน่นอน ด้วยแพสชั่นและความมุ่งมั่นของผู้บริหารหนุ่มคนนี้ที่มีความเชื่อว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้น

ทำไมคุณสนใจธุรกิจแบบ O2O

ทำไมเราถึงทำตรงนี้ขึ้นมา คือผมสนใจเรื่องเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็ก แม้ผมไม่ได้เรียบจบด้านทางคอมพิวเตอร์แบบนี้มานะ ผมเรียนจบทางด้านบริหารธุรกิจ แต่มีโอกาสเข้าไปทำบริษัทเทคโนโลยี ด้วยความเชื่ออย่างหนึ่งว่าเทคโนโลยีกับ social impact ไปด้วยกันได้ เราจะเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดผลบวกในตลาดได้อย่างไร และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีในสังคม เป็นสิ่งที่ผมสนใจมานานแล้ว 

ก่อนหน้านี้ผมมีโอกาสได้ทำแอป หนึ่ง และสิ่งที่ผมได้จากแอป นั่นคือ ตอนปล่อยออกไปในตลาด คนขับแท็กซี่มาบอกผมว่า “ขอบคุณมาก ผมหารายได้ได้มากขึ้น ดูแลครอบครัวและตัวเองได้ดีขึ้น” จากการที่เขาไม่มีงานทำเลย มันทำให้ผมภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ แม้กระทั่งร้านอาหาร บางร้านเปิดมาตั้งนาน แต่ไม่สามารถต่อยอดธุรกิจของตัวเองได้ พอเราทำแอป นี้ขึ้นมา ร้านอาหารบางร้านมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3-4 เท่าภายในหนึ่งเดือน แล้วฝั่งผู้ใช้ก็มีทางเลือกในการซื้ออาหารมากขึ้น ไม่ว่าจะอาหารจีน อาหารไทย พอมองธุรกิจในภาพรวม ผมก็รู้แล้วว่าผมตกหลุมรักในธุรกิจประเภทนี้

แอป ที่ว่าก็คือ LINE MAN ใช่ไหมครับ

ใช่ครับ ตอนทำ LINE MAN เป็นช่วงบุกเบิก เมืองไทยยังไม่ค่อยมีคอนเซ็ปต์แบบ O2O (Online to Offline) ก็คิดว่าโอกาสยังมีอีกเยอะ เลยทำขึ้นมา ก็ไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือเปล่านะ แต่พอทำมาแล้วประสบความสำเร็จ ได้รับการตอบรับที่ดีก็เลยเป็นแรงบันดาลใจให้ผมต้องการทำอะไรที่มันเน้น social impact มากๆ

อะไรทำให้ธุรกิจแบบ O2O ประสบความสำเร็จในเมืองไทย

จริงๆ ธุรกิจตรงนี้หัวใจของมันคือการทำเพื่อสังคม เช่นเรามีความเข้าใจอย่างสูงว่าคนที่จะมาใช้บริการเราไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหน ร้านอาหาร คนขับรถ หรือคนใช้งาน การที่เราเข้าใจเขาในระดับหนึ่งจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า   win-win situation คือเราชนะในมุมธุรกิจ และเขาก็ชนะในมุมที่มีผลประกอบการที่ดีขึ้น มันคือหัวใจธุรกิจประเภท O2O แล้วยังสามารถช่วยลดอัตราการว่างงาน สร้างธุรกิจใหม่ให้กับประเทศ นำเทคโนโลยีมาประยุกต์กับการใช้ชีวิต

นั่นคือเหตุผลที่คุณตัดสินใจออกมาทำสตาร์ตอัปที่ชื่อ GET หรือเปล่า 

ฟังดูคลีเช่มากๆ ถ้าผมตอบว่า เพราะแพสชั่น คิดว่าเราเกิดมาหนึ่งครั้งก่อนจะลาจากโลกนี้ ก็อยากทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น แต่จะให้ทำแบบไม่แสวงหากำไรเลย ก็ดูเป็นโมเดลธุรกิจที่ไม่ทันสมัย และไม่สามารถสร้างอิมแพ็คที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืนได้ มันต้องมีองค์ประกอบทางธุรกิจบางอย่างใส่เข้ามา ผมว่าโมเดลแบบ O2O ตอบโจทย์ตรงนี้ได้ ผมกับพาร์ทเนอร์ผู้ร่วมก่อตั้ง เรามีการแชร์วิชั่นกันว่า เมืองไทยติดคำกับว่า ‘disruption’ ธุรกิจหลายเจ้าที่เข้ามาในเมืองไทย มักเอาโมเดลแบบที่ทำอยู่มาใช้กับประเทศไทย และบอกว่านี่เป็นโมเดลธุรกิจที่ประสิทธิภาพดีที่สุด และจะดิสรัปของเดิมอย่างแน่นอน แต่ผมว่าประเทศไทยและชาติอื่นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจยังไม่พร้อมกับการดิสรัป ถ้าภาพสุดท้ายไม่ได้เป็นประโยชน์กับทุกคน 

ผมเลยเชื่อว่าดิสรัปมันต้องเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ไม่ควรเอาเป้าหมายสุดท้ายเป็นตัวตั้ง แล้วบอกให้คุณวิ่งไปสิ เพราะจะมีคนที่วิ่งไม่เป็น สุดท้ายเขาก็จะหายไป ผมว่ามันไม่เหมาะกับประเทศไทย ควรเป็นทีละขั้นตอนโดยการสร้างความเข้าใจกับเขามากกว่า

ยกตัวอย่าง GET Win กว่าจะเราจะมั่นใจจริงๆ เปิดใช้บริการ เราต้องทำความเข้าใจพวกเขาอย่างถ่องแท้ ว่าเขาต้องการอะไร แล้วอะไรคือจุดที่จะทำให้เขามาใช้แอป เรา ก็ต้องใช้ทีมงานเข้าไปหาวินมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ เพื่อทำความรู้จักพวกเขา และสร้างคอมมูนิตี้ขึ้นมา รู้ว่า pain point คืออะไร และข้อจำกัดที่ทำให้เขาไม่ใช้แอป ทำความเข้าใจว่าแอป มันจะไปช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้อย่างไร ที่ไม่ได้เป็นการทำลายธุรกิจเขา

ทราบมาว่า GET ได้เงินลงทุนจาก Go-jek แอปเรียกรถเจ้าใหญ่ในอินโดนีเซีย 

ผมว่าด้วยความโชคดีส่วนหนึ่ง คือเรารู้จักกับคนของทาง Go-jek แล้วก็เป็นจังหวะที่ Go-jek ต้องการหาทางเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ผมก็ไปคุยกับ นาดีม (นาดีม มาคาริม – ซีอีโอของ Go-jek) ซึ่งเราก็มีแพสชั่นและความเห็นตรงกันว่า สิ่งที่เขาทำให้โกเจ็กประสบความสำเร็จในอินโดนีเซียคือการที่เข้าใจความต้องการของคนในประเทศ และทำแพลตฟอร์มที่มันโลคอลไรเซชั่นจริงๆ ผมก็เลยเชื่อว่าถ้าได้ทำตรงนี้ด้วยกันก็น่าจะไปได้ดี ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเราว่าจะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับประเทศไทยอย่างไร

ทาง Go-jek มีแพลตฟอร์มพร้อมอยู่แล้ว และการ localization ได้กลายมาเป็นจุดยืนของเรา มันไม่ใช่แค่แปลภาษาแอปเหมือนเจ้าอื่นๆ แต่เราคิดว่าเราควรเข้าใจตลาดจริงๆ คือการเข้าใจคนขับ ร้านอาหาร และคนใช้งานว่าพวกเขาต้องการอะไรกันแน่ เราใช้เวลาทั้งปีในการทำรีเสิร์ช เพื่อที่จะบอกว่านี่คือแอปพลิเคชันที่เหมาะกับคนไทยมากที่สุด

คุณคิดว่าอะไรทำให้ Go-jek ประสบความสำเร็จอย่างมากในอินโดนีเซีย

สิ่งที่เขาเด่นจริงๆ คือวัฒนธรรมองค์กร ทุกคนจะมีแพสชั่นที่จะทำเพื่อสังคม เขาสามารถสร้างงานให้คนขับหนึ่งล้านคนในประเทศ สร้างธุรกิจที่มีมูลค่า 6 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ทุกคนดูสนุกและมีแพสชั่นตั้งแต่ซีอีโอจนไปจนถึงพนักงานทั่วไป 

ที่สำคัญแพลตฟอร์มเขาก็ดีจริง อันนี้ต้องยอมรับ ผมว่าน่าจะป็นแพลตฟอร์มที่เกี่ยวกับ O2O ดีที่สุดในโลกแพลตฟอร์มหนึ่ง เพราะเขาเข้าใจลูกค้า ความต้องการของลูกค้าต้องมาก่อน สังเกตเลยว่าแอป Go-jek จะมีปุ่มไม่เยอะ เน้นใช้งานง่าย 

ซึ่งทาง Go-Jek ก็มองว่าเมืองไทยเป็นตลาดที่ยากและมีความท้าทายอยู่ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ Go-jek เข้าไปแล้วทำธุรกิจได้เลย เราก็อธิบายไปว่าโดยหลักการ เราต้องทำงานกับหลายฝ่ายพอสมควร ประเทศอื่นอาจมี pain point ที่ชัดเจนกว่าประเทศไทย ทำให้อัตราการยอมรับสูงกว่าบ้านเรา

คาดหวังว่า GET จะเข้ามาเปลี่ยนตลาดนี้อย่างไรบ้าง

บอกก่อนว่า GET เป็นไลฟ์สไตล์แอปพลิเคชัน ไม่ใช่แค่เรื่องการเรียกรถ หรือเดลิเวอรีอาหาร แต่มันจะมีบริการอื่นตามมาที่จะทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น คราวนี้่ในมุมธุรกิจต้องยอมรับว่าแค่หน้าแอปไม่ต่างจากคนอื่นหรอกที่เน้นใช้งานง่าย แต่สิ่งที่ต่างคือประสบการณ์ที่ดีจากการที่เราเข้าใจคนขับจริงๆ การที่เรามีชุมชนคนขับ และทีมงานของเราก็อยากทำเพื่อสังคมจริงๆ ทุกเช้าผมก็นั่ง GET ตลอดเวลา ทีมงานก็สั่งอาหารตลอดเวลา เราใช้ของตัวเองทุกวัน เรามีความเข้าใจมากขึ้นว่าคนขับต้องการทำอะไร แล้วเราจะทำอย่างไรให้มันดีขึ้น ทำให้ผู้บริโภคจะเจอคนขับที่น่ารัก คนขับที่พร้อมจะทำงาน เรียกรถก็ได้เร็ว สั่งอาหารก็ได้อาหารเร็วและมีคุณภาพ

ผมคิดว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่จะทำให้มีคนใช้มากขึ้น ก่อนหน้านี้เรามีผู้เล่นไม่กี่เจ้าในตลาด ทำให้ตลาดไม่โต คนก็ได้รับภาพมุมเดียว แต่เข้ามาในตรงนี้ คือหนึ่งเราใช้พี่วินมอเตอร์ไซค์ถูกกฎหมาย 100% มันเป็นการเปลี่ยนตลาดระดับหนึ่งแล้ว เพราะวินมอเตอร์ไซค์ปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีประมาณหนึ่งแสนคน ซึ่งส่วนมากยังไม่เข้าแอป แล้วเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับเราเลย เวลาว่างเขาเยอะนะ ทำงานตอนเช้า 8-10 โมงเสร็จ นั่งว่างถึงเย็น เราเข้ามาเพื่อทำให้เขาทำงานแล้วได้เงินมากกว่าในปัจจุบัน 

ถ้าถามว่าทำไมตลาดไม่โต เพราะว่าคุณไม่ใช้สิ่งที่ตลาดมีอยู่แล้ว คุณไปเจาะตลาดใหม่ ก็จะเจอแรงต้านจากรัฐหรือตลาดปัจจุบันเอง ที่มีคนหาเช้ากินค่ำกับธุรกิจตรงนี้อยู่แล้ว ถ้าคุณไม่ช่วยเขา ก็ต้องถูกต่อต้าน ซึ่งผมเข้ามาแล้วชัดเจนว่าเทคโนโลยีต้องช่วยคน แล้วการที่ได้ไปคลุกคลีกับวินมอเตอร์ไซค์ เขานิสัยดีและทำงานด้วยได้ ผมพยายามทำความเข้าใจเขาเยอะๆ แล้วให้เขาเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มของเรา เขาก็ทำงานด้วยความสบายใจ ไม่ต้องกลัวว่าไปตรงไหนแล้วจะโดนใครตีหัว ผู้ใช้งานก็สบายใจว่าเขาคือพี่วินนะ เขาคือคนที่ไม่มีประวัติอาชญากรรม คนที่โดนฝึกมาว่าทำงานยังไง ผมอยากสร้างเรื่องดีๆ ในตลาดนี้

ปฎิเสธไม่ได้ว่า GET เข้ามาทีหลังเจ้าอื่น เราจะมีวิธีมัดใจลูกค้าได้อย่างไร

จริงๆ ต้องขอบคุณผู้เล่นรายอื่นที่เข้ามาแล้วทำได้ดี อย่างที่บอกว่าตลาดไทยเป็นตลาดที่ยาก ทั้งเรื่องการให้ความรู้และความเข้าใจ ซึ่งสำคัญมากๆ กับประเทศไทย ยิ่งมีผู้เล่นมากยิ่งดี มันทำให้ตลาดไปได้ คนก็ใช้แอปแบบนี้มากขึ้น สร้างโอกาสอีกเยอะในตลาดนี้ การที่เราเข้ามาก็ช่วยขยายตลาดให้ดียิ่งขึ้น เป็นการสานต่อให้ผู้ใช้งานมีตัวเลือกมากขึ้น เรายังเชื่อว่าวิธีทำธุรกิจตรงนี้ของเราเน้น social impact เป็นหลัก แล้วมันจะนำอะไรใหม่ๆ มาสู่ตลาดไทยมากกว่า 

ปีนี้ดูมีเรื่องน่าตื่นเต้นมากสำหรับ GET ทั้งการขยายตัวขององค์กรและการจับมือกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ เป็นการเติบโตที่รวดเร็วมากๆ

ใช่ครับ เรามองไปข้างหน้าอย่างเดียว ด้วยความที่เราเป็นน้องใหม่ในตลาด คุณแตกต่างจากที่อื่นอย่างไร เราพยายามตอบคำตอบกับตลาดนี้เยอะ อย่างในแอปเรามีหลายฟีเจอร์ที่คนอื่นไม่มี เราเป็นเจ้าแรกในตลาดที่มีฟีเจอร์แนะนำร้านเฉพาะทาง บนพื้นฐานว่าในอดีตคุณสั่งร้านตามสั่งร้านนี้ เรารู้เลยว่าคุณชอบสั่งเมนูแบบไหน เราแนะนำได้ เป็นอะไรที่ภูมิใจมาก 

ถึงวันนี้คนมองเราไม่เหมือนเจ้าอื่นในตลาด คนพูดว่าค่าส่งเราถูก ร้านหลากหลาย และเราคิดราคาตามจริง ทำให้มีการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ส่วนคนขับ เมื่อก่อนคิดว่าอย่างมากได้สองหมื่นต่อเดือน แต่คนขับเราทำจริงได้ 7-8 หมื่นต่อเดือน เป็นรายได้ที่เราไม่คาดหวังว่าจะทำให้คนขับได้กลายเป็นดีกว่างานประจำเยอะมาก เป็นอาชีพทางเลือกใหม่ในตลาด 

สุดท้ายฝั่งร้านอาหาร ก็มีการเปลี่ยนแปลงเยอะ มีคนเดินเข้ามาหาเราเยอะมาก แล้วบอกว่าอยากประสบความสำเร็จ อยากขายออนไลน์ได้บ้าง บ้านเรามีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างลาซาด้าและช้อปปี้ ซึ่งมันได้รับความนิยมมากๆ แต่พอเป็นอาหาร เราก็อยากสร้างมาร์เก็ตเพลสด้านนี้ขึ้นมาจริงๆ เปิดร้านอาหารโดยที่คุณลงทุนไม่กี่หมื่นบาท เป็นเจ้าของธุรกิจได้ ซึ่งไม่ใช่แค่อาหารอย่างเดียว อาจมีแพลตฟอร์มสำหรับบริการด้านอื่น เช่น ล้างรถ นวด ทำความสะอาด ที่เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนกลุ่มที่เป็นฟรีแลนซ์

ความเร็วจำเป็นอย่างไรในธุรกิจนี้

ผมว่าต้องมองเป็นเฟส ถ้าย้อนกลับไปช่วง 5-6 ปีที่แล้ว สตาร์ตอัปแนว ride hailing คงไม่มีใครกล้าวิ่งเร็วเหมือนทุกวันนี้ เพราะความต้องการของคนใช้ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ ทำให้สตาร์ตอัปในเฟสแรกต้องทำให้ชัดเจนว่ามันไปได้ แต่วันนี้ทำไมสตาร์ตอัปแบบเราต้องวิ่งเร็ว เพราะเป็นโมเดลธุรกิจที่พิสูจน์แล้วว่ามันอยู่ได้ ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ในต่างประเทศด้วย เวลานี้ที่เราเป็นสตาร์ตอัป เราต้องวิ่งเลย เพราะรู้ว่าเป้าหมายข้างหน้า ค่อนข้างชัวร์แล้ว ไม่ต้องวิ่งจากหนึ่งไปสองแล้วมานั่งประเมินว่ามันใช่ไหม

ride hailing มีมาสิบปีแล้ว นับจากที่ Uber เกิดขึ้น บนความวิ่งเร็ว มันก็มีเอกลักษณ์แบบไทย คือก่อนหน้านี้เหมือนประเทศไทยหลับอยู่ ธุรกิจแบบ O2O เข้ามาแต่วิธีการทำงานเข้าถึงคนไทยไม่ได้ ปีนี้เรามาสร้างความตื่นตัวให้ทุกเจ้าในตลาด เราชัดเจนว่าเอาจริง และให้ความสำคัญกับเรื่อง localization ทำให้การตัดสินใจบางอย่างเกิดขึ้น เราปรับตัวให้เข้ากับคนไทยมากที่สุด 

การแข่งขันในธุรกิจนี้ ชนะกันด้วยราคาเป็นสำคัญหรือเปล่า 

การรับรู้ของคนใช้งานก็คงใช่ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ แต่ผมว่าการแข่งขันกันเอาใจคนขับและร้านอาหาร ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะคนใช้เห็นแค่ค่าส่งราคา 10 บาท ก็ใช้กันมากขึ้น แต่ข้างหลังที่มันเปลี่ยนจริงๆ คือพฤติกรรมคนขับ ก่อนหน้านี้คนจะมองว่านี่คืออาชีพเสริม แต่ตอนนี้เห็นเลยว่าหลายคนออกมาทำเป็นงานประจำเลย เป็นคลื่นที่กำลังเปลี่ยนประเทศไทย คือมีงานประเภทใหม่เกิดขึ้น อย่างร้านอาหาร ก็ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านก็ได้ เปิดขึ้นมาเพื่อขายออนไลน์อย่างเดียว เด็กจบใหม่มีเงินในกระเป๋า 5-6 หมื่นบาท เปิดร้านเกี๊ยวซ่าแล้วก็ดังขึ้นมา แค่ค่าส่ง 10 บาท เป็นตัวดึงคนเข้ามาใช้มากกว่า แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือคนขับและร้านอาหาร

ผมไม่อยากให้มองที่ราคาอย่างเดียว มันคงชนะกันด้วยหลายอย่าง ผู้บริโภคต้องการทางเลือกในการเดินทางสั่งอาหารได้ราคาถูกและรวดเร็ว เพราะฉะนั้นราคากับคุณภาพของการบริการสำคัญอยู่แล้ว แต่ราคาเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง สุดท้ายคุณได้ราคาถูก แต่รอรถนาน ผมก็ว่าไม่โอเค 

ทิศทางของ GET นับจากนี้จะเป็นอย่างไร

ผมมองความกว้างในธุรกิจ ปีหน้าคงมีบริการใหม่เกิดขึ้น แต่ยืนยันว่าต้องเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างอาชีพใหม่ๆ และเรื่องการขยายพื้นที่ไปยังปริมณฑลและต่างจังหวัด ส่วนความลึกของการบริการ เช่น การส่งอาหารจะมีนวัตกรรมเข้ามา เพื่อให้คนรับอาหารได้เร็วขึ้น น่าจะมีเรื่องตื่นเต้นอีกเยอะมาก เพราะเรารู้ว่าผู้บริโภคต้องการราคาที่แม่นยำ ไม่ต้องต่อรองราคา เรียกแล้วต้องได้ ซึ่งเราก็พยายามทำงานกับพี่วินมอเตอร์ไซค์อยู่เรื่อยๆ

เวลาคิดบริการใหม่ อยู่บนพื้นฐานของอะไร 

ความต้องการของผู้บริโภค และดาต้าที่มีในระบบ เราเป็นอีกบริษัทหนึ่งละกัน ที่เชื่อเรื่องบิ๊กดาต้า (หัวเราะ)เรารู้ว่าสั่งในระยะทางเท่าไร อาหารประเภทอะไร ถ้าจะมีบริการใหม่ ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานว่ามีความต้องการของคนมากน้อยแค่ไหน กลุ่มคนใช้จะเป็นใคร แล้วระบบของเรามีศักยภาพที่จะทำได้ดีไปตลอดและต่อเนื่องไหม โมเดลธุรกิจมันคุ้มกับการทำหรือไม่ เราก็ต้องทดลองกันทุกอยู่วันว่าคนใช้ต้องการอะไร เพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

คุณเพิ่งจัดงานเปิดบ้าน GET พาสื่อมวลชนเยี่ยมชมออฟฟิศ เราสังเกตว่าบรรยากาศการทำงานเต็มไปด้วยคนหนุ่มสาวไฟแรง การทำงานกับพวกเขาเป็นอย่างไร

เราเจอหลายแบบมาก บางคนทำงานอยู่ในสตาร์ตอัปอื่น ที่อาจจะทำงานเพียงแค่เป็นพนักงานทั่วไป แต่ของเราจ้างมาคิดเพื่อขับเคลื่อนองค์กรด้วย การทำงานที่นี่มาด้วยแพสชั่นและความสนุกในการทำงาน แต่ที่น่าแปลกใจคือเรามีคนอายุเยอะเข้ามาทำงานกับเรา เพราะเขาเบื่อการทำงานกับองค์เดิมที่เคลื่อนไหวช้า พอเขามาทำงานที่นี่คือมีความสุขมาก เจอความท้าทายอยู่ตลอด 

แล้วเราก็ไม่ตัดสินคนด้วยอายุ ถ้าคุณมีความสามารถแม้จะอายุน้อย คุณก็เติบโตขึ้นมาได้ เราพร้อมจะผลักดันให้คุณก้าวไปข้างหน้า เราสร้างองค์กรแบบนั้น เพราะพนักงานเราเป็นเด็กเยอะ เป็นคนรุ่นใหม่ที่กระหายความสำเร็จแบบรวดเร็ว

ผมให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กร ทุกคนต้องวิ่งไปในทิศทางเดียวกัน มันคือจิตวิญญาณของเราเลยว่าต้องเอาเทคโนโลยีมาสร้างประโยชน์ให้กับคนได้มากที่สุด ถ้าการมาทำงานที่นี่เพราะต้องการได้เงินเดือนสูง มันก็ใช่ แต่แค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งคุณต้องเชื่อในสิ่งที่ทำ มีความตื่นตัวเพื่อจะพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เราเป็นองค์กรที่ยืดหยุ่นมากๆ มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน มีความสนใจคล้ายกัน ทุกวันเราจะเดินไปด้วยกัน คนที่นี่จะต้องห้ามบอกว่านี่คือผลประโยชน์ของฉัน เพราะมันคือไปด้วยกันเป็นกลุ่ม

ถ้าให้สรุปคือ เรามีทัศนติแบบแชมเปี้ยน แต่สู้แบบอันเดอร์ด็อก ในใจมีความกระหายที่อยากพิสูจน์ว่าคนที่เริ่มจากศูนย์อย่างเรา จะเป็นที่หนึ่งในตลาดได้ เราแค่ต้องการเวลา ซึ่งผมเชื่อว่าปีหน้าจะเป็นไปได้ เพราะจิ๊กซอว์ของเราเข้าที่แล้ว ทำให้เราวิ่งได้เร็วมาก 

การทำธุรกิจแบบ O2O สำคัญกับประเทศไทยอย่างไร

ผมคิดว่าประโยชน์กับประเทศไทยค่อนข้างชัดเจนว่าคือธุรกิจใหม่ ช่วยให้คนเมืองเดินทางได้ดีขึ้น แต่ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมาคือดาต้า ที่สามารถปักหมุดได้เลยว่าตรงไหนรถติด ตรงไหนรถไม่ติด แพทเทิร์นของดีมานต์และซัพพลายของผู้ใช้เป็นอย่างไร ถ้าเอามาประยุกต์ใช้กับหน่วยงานภาครัฐ เช่น หน่วยงานที่ดูแลเรื่องผังเมือง ก็สามารถเอาข้อมูลมาช่วยซัพพอร์ตในการปรับโครงสร้างประเทศได้มากๆ

ยกตัวอย่าง Lyft คู่แข่ง Uber เขาเองก็ทำงานกับภาครัฐเหมือนกัน โดยบอกได้ว่าจุดไหนสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้รัฐบาลได้ข้อมูลตรงนี้ไปปรับปรุงถนนตรงนั้นให้มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยมากขึ้น 

อีกมุมหนึ่งคือบริการทางการเงิน ปกติแล้ว คนที่เป็นแรงงานนอกระบบจะไม่มีสลิปเงินเดือน ถ้าเกิดเดือดร้อนเรื่องเงิน หรือต้องการไปกู้เงินจากธนาคาร ก็กู้ไม่ได้ ถ้าไปช่องทางอื่นที่ไม่ใช่ธนาคาร ก็โดนดอกเบี้ยแพง เมื่อเขามาอยู่ในธุรกิจแบบ O2O ก็จะทำให้ธนาคารมีข้อมูลของเขา ซึ่งอาจช่วยให้เขาทำธุรกรรมทางการเงินได้ง่าย

Tags: ,