หลายคนอาจคุ้นหน้าและรู้จัก ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว หรือ ดร.จุ๋ง ในฐานะ ‘นักวิ่ง’ แต่ในอนาคตอันใกล้ – ถ้ามีการเลือกตั้ง – เราอาจได้รู้จักเขาในฐานะนักการเมือง
ดร.ชุมพล ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าห้องปฏิบัติการพัฒนามาตรฐานและการทดสอบ ศูนย์เทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หลังจากทำงานมา 16 ปี เพื่อการแข่งวิ่งที่เนปาลซึ่งกินเวลาร่วม 2 เดือน ระหว่างนั้น รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการวิ่งให้บริษัทเอกชน และที่ปรึกษาด้านไอทีให้กับ สสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) และ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ)
วัยเด็กของเขาดูข่าวมากกว่าดูการ์ตูน และแม้จะพุดคุยเรื่องการเมืองต่างประเทศกับพ่อมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่เคยคิดอยากเกี่ยวข้องกับการเมือง ในด้านการเรียน เขาจัดว่าเป็นหัวกะทิ
ช่วง ม.ปลาย เขาสอบได้ทุนของโครงการ พสวท. (โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) เรียนต่อปริญญาตรีที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะชิงทุนไปเรียนต่อปริญญาโทและเอกที่ญี่ปุ่น และกลับมาทำงานที่เนคเทค
ความเจ็บป่วยทางร่างกายทำให้เขาหันกลับมาดูแลตัวเองด้วยการวิ่ง การวิ่งถูกฝังในกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าก่อนเข้างานหรือหลังเลิกงาน ทั้งยังกลายเป็นกิจกรรมการแข่งขันหนึ่งที่จัดขึ้นทุกปีใน สวทช.
หลังจากวิ่งจนอิ่มตัว เขาเริ่มมองว่าจะวิ่งอย่างไรให้ยั่งยืน จึงตัดสินใจว่า ทุกหนึ่งปี จะตั้งเป้าที่เรียกว่า เป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลยสักเรื่องหนึ่ง ปีแรกสุด เริ่มที่วิ่ง 100 กม. ตามมาด้วย แข่ง Ironman, วิ่งระยะ 170 กม. บนภูเขาไฟฟูจิที่ญี่ปุ่น, 300 กม. ที่ฮ่องกง, 350 กม.ที่อิตาลี และวิ่งจากชายแดนตะวันออกสุดของเนปาลไปชายแดนตะวันตกสุด 1,600 กม.
พร้อมๆ กับที่เตรียมตัวไปแข่งที่เนปาล เขาสมัครเข้าร่วมโครงการไปขั้วโลกใต้ กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งต่อมาประกาศตั้งพรรคอนาคตใหม่ นั่นทำให้เขาเริ่มคิดว่าอาจจะไม่ได้ไปขั้วโลกใต้แล้ว เพราะทั้งการทำพรรคการเมืองและการเตรียมตัวไปขั้วโลกใต้ล้วนแต่ต้องการเวลาทั้งสิ้น นั่นทำให้เขาเริ่มมองหาว่า เขาเองจะทำอะไรได้บ้าง
หลังพ้นความตายจากยอดเขาหิมาลัย เขาเริ่มไม่ได้อยากพิสูจน์ตัวเองต่อ เพราะก้าวข้ามลิมิตทุกปีๆ มาตลอด และเห็นว่าสุดท้ายก็ชนะธรรมชาติไม่ได้ เป้าหมายใหม่ครั้งนี้ของเขาไม่ใช่รายปีอีกต่อไป เขาหวังเปลี่ยนประเทศไทยผ่านการตั้งพรรคของตัวเอง ในชื่อ ‘พรรคกลาง’ (Moderate Party) ร่วมกับ สุขทวี สุวรรณชัยรบ เพื่อนร่วมทางทริปขั้วโลกใต้อีกคน แม้ชุมพลจะนิยามตัวเองว่าเป็นคนกลัวการเมืองก็ตาม
คุณเคยพูดว่าคุณไม่ชอบการเมืองและกลัวการเมือง ความ ‘กลัวการเมือง’ ที่ว่าเป็นอย่างไร
เหมือนกับที่ทุกคนเบื่อหน่ายการเมืองในปัจจุบัน ผมคิดว่าเราทุกคนก็เป็นอย่างนั้น
ไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะรู้ว่าเข้าไปก็จะเจ็บตัว ภาพพจน์ก็จะแย่ลง
แต่ถ้ายกตัวอย่างถึงการผจญภัยที่ผ่านมา ว่าเรา ‘กลัว’ อะไรต่างๆ เรายังกล้าตัดสินใจ เรากลัวความสูง ก็ยังกล้าไปเนปาล เรากลัวความหนาว ก็ยังกล้าสมัครไปขั้วโลกใต้ อันนี้เรากลัวเพราะภาพพจน์มันไม่ดี มันแปดเปื้อน สมัยก่อนเราคิดอย่างนั้นจริงๆ เหมือนกับคนในสังคมตอนนี้ แต่เราก็คิดว่าเราไม่มีเหตุผลที่จะอ้างความกลัว อยากจะทำตัวอย่างว่า คนแบบเรานี่แหละ คนที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมที่มัวแต่บ่นเรื่องการเมือง แต่ไม่กล้าเข้ามายุ่ง ถ้าเราต้องทำ ทำอย่างไร เราก็เปรียบเทียบกับเรื่องที่เราต้องทำที่ผ่านๆ มา ก็คือ เราต้องมีแพสชั่นที่จะทำจริง เราจะเป็นอย่างนั้นได้เราต้องคอนโทรลให้ได้ว่าเราจะทำแบบไหน
นั่นเป็นเหตุผลที่ยิ่งแน่นไปอีกว่า เราไม่ควรจะไปกับพรรคอื่น ก็เลยตัดสินใจว่า เราต้องตั้งพรรคเอง
เราจะต้องตั้งพรรคการเมืองโดยมีแนวทางที่เราทำแล้วเรามีความสุข เราจะต้องไม่เป็นนักการเมืองอย่างที่เรากลัว อะไรที่เรากลัวการเมืองเพราะอำนาจ เราต้องไม่หวังตำแหน่ง-อำนาจ เราจะต้องโปร่งใส พูดง่ายๆ คือ สิ่งที่เรากลัวเราจะไม่ทำ
ตอนที่ตัดสินใจว่าจะทำพรรค เห็นความหวังอะไรในการเมืองไทย
อย่างที่บอกว่า เราอยากกลับไปทำอะไรบางอย่าง หลังจากที่เราทำให้ตัวเองมาเยอะมาก เราอยากกลับไปทำอะไรบางอย่างที่มันเป็นรูปธรรมมากขึ้น คือที่เราทำอยู่ เราก็มั่นใจว่ามีประโยชน์แล้ว แต่ว่าตอนนี้เราก็ไม่ได้ทำงาน ประกอบกับเห็นตัวอย่างของคุณเอก (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) และกฎหมายพรรคการเมืองที่เอื้อว่า คุณรวบรวมคน 15 คน คุณก็สามารถตั้งพรรคได้
ที่สำคัญที่สุด เหตุผลอย่างที่คุยกับคุณสุขทวีนี่แหละว่า ด้วยบุคลิกของเรา เราไม่ได้บอกว่าเราจะไปแก้ปัญหาหรือเปลี่ยนแปลงการเมืองได้ด้วยตัวคนเดียว แต่เรายังรู้สึกว่าในประเทศไทยมีคนแบบเราอีกเยอะมาก ที่อึดอัด ที่เบื่อ กับตรงนี้ อยากจะทำอะไรบางอย่างแต่ไม่มีโอกาส ไม่กล้า ไม่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เราอยากจะเป็นตัวนำร่องตรงนั้น
นั่นคือความหวัง ถึงคนอื่นจะบอกว่าจะเปล่าประโยชน์หรือเปล่า แต่เป้าหมายของเรา คือเราต้องการเปลี่ยนสังคม เปลี่ยนการเมือง เพื่อให้คนที่หันหลังให้การเมืองหันกลับมาพร้อมๆ กัน มันทำได้ยาก แต่เราอยากจะทำเป็นเชื้อไฟไว้เรื่อยๆ เมื่อวันหนึ่งที่เขาหันกลับมาพร้อมๆ กันมันก็จะเกิด impact ที่ใหญ่
มันกลายเป็นเป้าซึ่งมันยาวนานมาก ไม่ใช่เป้าปีต่อปี อาจจะตลอดชีวิตของเราเสียด้วยซ้ำไป มันก็เลยเป็นแพสชั่นหนึ่งซึ่งดึงให้เรามาทำ เหลือแต่ว่าเราต้องทำ เราต้องมีความสุข เราพยายามทำให้มันเกิดความสุข เหมือนที่เราบอกว่า จะไปแข่งที่เขาฟูจิ เราไปซ้อมเชียงใหม่ทุกเดือน คือความสุขของเรา จะทำอย่างไรให้สภาพแวดล้อมตรงนี้มันเกิดความสุข ทำให้มันเป็นกลางจริง
คำว่า ‘กลาง’ คือกลางจากอะไร
มีคนมาต่อว่าว่ามันไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง แต่เราจะเป็นนวัตกรรมของพรรคการเมือง ที่คุณบอกว่าไม่มีความเป็นกลาง เพราะคุณยังเชื่อในระบบความคิดแบบเก่า
เรานิยามอย่างนี้ว่า ‘กลาง’ คือการมารวมกันจากทุกทิศทุกทาง เพราะเราตั้งใจจะเป็นเวทีกลาง รวมคนที่พร้อมจะมาร่วมกันพัฒนา มาก้าวหน้าด้วยกัน เราเคารพในความเป็นปัจเจกบุคคลของแต่ละคน ซึ่งย่อมแตกต่างในความคิด แต่ต้องพร้อม ถ้าจะต้องทำงาน เราสามารถวางความเห็นส่วนตัวมาทำงานเพื่อประเทศได้ เราแตกต่างได้แต่ไม่แตกแยก
จุดเด่นของเราตอนนี้ อาจจะเป็นจุดเด่นที่ตัวเองมาจากงานด้านไอที ทำงานด้านเทคโนโลยี กับกระทรวงวิทยาศาสตร์ เลยตั้งแนวทางว่า เราจะเปลี่ยนแปลงการเมือง หรือ ‘disrupt การเมืองด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม’ นี่คือแนวทางสั้นๆ ชัดๆ แต่ว่าเราไม่ได้บอกว่าเรากีดกันคนนอกวงการเทคโนโลยี เพราะในการทำงานจริงๆ เราต้องใช้ศิลปะ คำว่า นวัตกรรม มันก็รวมหลายอย่างมาก ภูมิปัญญาท้องถิ่น อะไรต่างๆ เต็มไปหมด
ตอนนี้ใครก็เข้าถึงนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีแล้ว พรรคอื่นก็ใช้ได้ด้วย พรรคกลางจะเด่นกว่าเขาอย่างไร
ใช่ แต่เราชูประเด็นนี้ พรรคอื่นรู้ประเด็นนี้ แต่ไม่ได้ยกประเด็นนี้เป็นประเด็นหลัก แต่เราไม่กลัวที่จะยกประเด็นนี้เป็นประเด็นหลัก
มีคนพูดว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่เป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด แย่น้อยที่สุด แม้มีข้อจำกัดในการปฏิบัติ แต่ทุกคนก็ยอมรับประชาธิปไตยเพราะมันฟังความเห็นของทุกคน แต่ในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ เพราะอะไร ในสมัยกรีก มีคนอยู่ไม่กี่คน ทุกคนออกความเห็น คุย discuss กันแล้วก็ลงความเห็นเป็นฉันทามติ เรื่องโหวตเป็นเรื่องสุดท้ายด้วยซ้ำไป ผมไม่เห็นด้วยกับการโหวตทั้งหมด ทีนี้ กรีกทำได้ เพราะคนมีจำนวนจำกัด อยากคุยกับทุกคนก็มาคุยกันได้ แต่เมื่อสังคมมันโตขึ้น ตอนนี้ประเทศไทยมีประชากร 70 ล้านคน จะเรียกคนทั้งหมดมาคุย ให้ความรู้ พร้อมกัน เห็นข้อมูลเดียวกันได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ จึงเกิดประชาธิปไตยตัวแทนขึ้นมา แต่มันเป็นข้อจำกัด พอมีตัวแทน เกิดพรรคการเมือง เกิดผู้แทน เลือกตั้งไปครั้งเดียวแล้วเขาก็ไม่ได้มาสนใจ คือถ้าเขาสนใจจริง ตามอุดมคติมันได้ แต่พอเป็น ส.ส.ปุ๊บ ไม่มีอะไรคอนโทรลเขาได้ เลือกปุ๊บเขาก็ไม่ได้ฟังเสียงประชาชนจริงๆ แล้ว ถ้าพูดตรงๆ มันไม่ใช่ประชาธิปไตย มันคือระบบตัวแทน มันมีข้อจำกัด ทำแบบนี้ต้องมีพรรคการเมือง ต้องมีนายทุนมาหนุนหลัง
สิ่งเหล่านี้สมัยก่อนทำไม่ได้ แต่ตอนนี้เทคโนโลยีมาถึงแล้ว ไม่ต้องพรรคกลางหรอก ทั่วโลกเริ่มเห็นแล้วว่า เทคโนโลยีมันแก้ข้อจำกัดตรงนี้ได้ อย่างเมื่อกี้เราจ่ายตังค์ด้วยมือถือ เขายังเชื่อถือมือถือได้ เรื่องการทำธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ทำไมจะเอาไปโหวตไม่ได้
เรื่องโหวตไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะก่อนจะโหวตจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ให้ความรู้ คำปรึกษา ให้เขามามีส่วนร่วม เสนอความเห็น สุดท้ายมันอาจจะไม่ต้องโหวตก็ได้ เพราะมันเป็นฉันทามติแล้ว เพราะเรารู้ว่าโหวตมันต้องมีคนแพ้นะ คนแพ้เตรียมตัวหรือยัง คนที่จะชนะเตรียมตัวที่จะชดเชยคนแพ้หรือยัง มันต้องคิดก่อนถึงจะไปโหวต กลไกเหล่านี้ต้องสร้างด้วย พรรคกลางชูประเด็นนี้ และเราเรียกว่า ‘ประชาธิปไตยทางตรง’
ถ้าเราสามารถใช้เทคโนโลยีมาชดเชยได้ จำเป็นต้องมี ส.ส.ไหม ส.ส.ตั้งขึ้นเพื่อแก้ข้อจำกัดนั้น ที่ทุกคนมาประชุมไม่ได้ แต่ถ้าเราสามารถทำให้ทุกคนประชุมได้ รู้ข้อมูลพร้อมๆ กันได้ เพราะเทคโนโลยีมาแล้ว ระบบ ส.ส. ระบบพรรคการเมืองอาจจะไม่จำเป็นด้วยซ้ำไป
เราจะเอาเทคโนโลยีมาช่วย ทำให้เกิดการนำร่องของประชาธิปไตยทางตรง โดยจะทำในพรรคก่อน
แล้วมองประชาธิปไตยบนท้องถนนอย่างไร
นั่นเพราะเขาถูกบีบ เพราะเรากำลังหาทางออกที่มันสร้างสรรค์ แต่เราเรียกมันว่าประชาธิปไตยหรือเปล่าก็ไม่รู้ ที่ออกไปตามท้องถนนคือเขาก็มีสิทธิที่ voice ที่จะเสนอ เพราะฝ่ายบริหารไม่ฟัง แต่ประชาธิปไตย เราต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น คือเราเห็นด้วยกับการที่แสดงเสียง-ความไม่เห็นด้วย ถ้าข้างบนฟัง ก็จบ ฟังแล้วก็หาทางออกร่วมกันอย่าง win-win กันทุกฝ่าย กับประเทศ แต่ผลที่ออกมามันไม่ win-win มันเป็น lose-lose ประเทศเสียหาย ทั้งสองฝ่ายเสียหาย นี่คือวนลูปของการที่เราไม่เคารพ ผู้บริหารไม่เคารพเสียงประชาชน ประชาชนก็แอนตี้อย่างเดียว ไม่เปิดโอกาส ไม่เปิดทางออกให้เลย แต่พรรคกลาง เราไม่เน้นเรื่องความแตกแยก เราจะเคารพทุกเสียง เราจะเคารพเรื่องปัจเจกบุคคล
ฉะนั้น สิ่งที่จะทำให้ดีขึ้น อย่างที่บอกไปแล้ว มันไม่ได้จบที่การโหวต เพราะเราโหวตปุ๊บฝ่ายที่แพ้ก็ไม่เห็นด้วย เพราะเราไม่ได้เตรียมกระบวนการรองรับเอาไว้อย่างที่บอก
แล้วบทประยุกต์ที่จะไปเชื่อมต่อกับประชาธิปไตยทางตรงได้ ก็คือสิ่งที่เราเรียกว่า liquid democracy คือ liquid มาจากศัพท์ทางการเงิน คือ สภาพคล่อง ส่วนตัวมองว่ามันเป็นบทประยุกต์อีกขั้นหนึ่งของประชาธิปไตยทางตรงที่ให้คนโหวตได้เพื่อแก้ข้อจำกัดบางอย่าง ที่ให้เทคโนโลยีไปคนอาจจะยังไม่มีเวลา บางคนไม่มีความรู้ ไม่มีเวลาอ่าน เทียบกับบางประเทศมีประชามติ อย่างสวิตเซอร์แลนด์ทำปีละสี่ครั้ง ไม่ต้องมี ส.ส.หรอก ทุกคนลงประชามติได้ แต่ก่อนจะทำ มันต้องมีกระบวนการ อย่างที่เล่าไป ให้ความรู้จนเขาเข้าใจ แต่บางคนถึงให้ความรู้ ให้เปเปอร์ไปเยอะ อ่านไม่เข้าใจ ไม่มีเวลาอ่าน นั่นเป็นข้อจำกัดบางอย่างอีกเหมือนกัน liquid democracy จะมาช่วยตรงนี้อีก
ยกตัวอย่าง ประชาชนคนนึงต้องลงประชามติเรื่องหนึ่งแต่เขาไม่มีเวลา ไม่มีความรู้ สมมติเป็นเรื่องของรถไฟฟ้าความเร็วสูง มีข้อมูลทางวิศวกรรมมาเต็มไปหมดเลย เขาอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ไม่มีเวลา เขาขอโอนสิทธิเขาไปให้วิศวกรที่เป็นเพื่อนเขาที่เขารู้จักและไว้ใจได้ กดโอนสิทธิไป คนนั้นสามารถโหวตแทนคนนี้ หลายคนอาจจะโอนสิทธิให้เขา แต่สิทธิตรงนั้นไม่ถาวรนะ เฉพาะเรื่องนี้
เราเสนอทางแก้ไขแบบนี้ กับอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือการแก้อย่างยั่งยืน อะไรก็ตามที่เป็นข้อขัดแย้งซึ่งหาข้อยุติไม่ได้ ต่างคนต่างไม่ยอม เราจะยังไม่แตะ แต่เราจะมุ่งพัฒนา มุ่งสร้างความโปร่งใส โดยเอาเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความโปร่งใสให้กับการทำงานของพรรคการเมือง ของข้าราชการที่ถูกตำหนิเรื่องคอร์รัปชันสูง ทำยังไงให้มันโปร่งใสขึ้น เปิดเผยข้อมูลได้มากขึ้น โปร่งใสไม่จำเป็นต้องเปิดเผยอย่างเดียว แต่ขั้นตอนมันสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ แล้วทุกส่วนที่เรากังวล ต่อต้าน ต้องการเอาชนะเขาให้ได้ เดี๋ยวเขาจะต้องปรับตัวเอง นึกออกไหม แต่ถ้าเรามัวแต่มุ่งเอาชนะกัน ฝ่ายแพ้เดี๋ยวก็อยากชนะ อยากจะแก้แค้น อยากจะกลับมา ไม่จบสิ้น มันจะวนลูปอย่างนี้ตลอด เพราะฉะนั้นถึงบอกว่าเราจะลองนำร่อง เน้นเรื่องที่ทำได้จริงและไม่ส่งผลกับความแตกแยก
คือผมเห็นด้วยเรื่องการที่ต้องเอาคนผิดมาลงโทษ แต่ด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ที่ทำยังไงให้คนผิดรู้ตัว ประชาชนรับรู้ข้อมูลแล้วไป force เขา แล้วเขาก็ต้องปรับตัวของเขาเอง แน่นอนว่ามีกลไกทางโครงสร้างกฎหมายที่ต้องทำก็ทำตามหน้าที่ของแต่ละคนไป
คุณมักบอกว่านโยบายของพรรคจะไม่สุดโต่ง ขึ้นกับสถานการณ์ ซึ่งมันฟังดูเหมือนจะปรับตัวเข้าทางไหนก็ได้ ถ้าเช่นนั้นแล้ว มีแนวทางไหนไหมที่ไม่ใช่เราแน่ๆ
ที่บอกไปแล้วว่า เราเน้นการมีส่วนร่วมในทุกๆ ระดับ หมายความว่า แม้แต่นโยบาย เราก็อยากจะให้ทุกคนมีส่วนร่วม แน่นอน นโยบายขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ถ้าเราได้รับฉันทามติให้มีอำนาจในการตัดสินใจแล้ว เราก็ต้องทำตามแนวทาง แต่ว่าเราวางกรอบไว้ว่า ต้องมีความยั่งยืน เที่ยงธรรม และมีส่วนร่วม
ส่วนถามว่า แล้วจะเป็นแนวทางไหน เราไม่ได้สนใจแนวทางที่มีคนนิยามเอาไว้ เพราะเห็นว่า พอคนนิยามเป็นซ้ายเป็นขวา เป็นลิเบอรัล เป็นสังคมนิยม เป็นประชาธิปไตย มันก็มีอะไรที่มันไม่เป๊ะตามนั้นอยู่ดี ถูกไหม
เพราะฉะนั้น เราควรจะต้องยืดหยุ่น แน่นอนว่าเราสนับสนุนการมีส่วนร่วม สนับสนุนการเป็นประชาธิปไตย เห็นด้วยกับอิสระเสรี แต่จะทำอย่างที่เราพูดมาได้ ก็ต้องมีการควบคุมจากรัฐบางส่วน จะให้เปิดเสรี มีการแข่งขัน แล้วปรากฏว่าคนไม่เสียสละ คนที่ได้ๆๆๆ มีกลุ่มเดียว แต่ไม่เสียสละให้คนที่ด้อยโอกาส มันก็จะเกิดความห่างไปเรื่อยๆ ก็ต้องควบคุมตรงนั้น เพราะฉะนั้นถึงบอกว่า เราไม่ได้สนใจกับคำพูดว่า เราจะต้องเป็นซ้าย เป็นขวา เป็นสังคมนิยม แต่ถ้าจะพูดนิยามกลางๆ เราก็อาจจะเรียกว่าเป็น social democracy
ยกตัวอย่าง บางช่วง ถ้าเป็นช่วงสงคราม เราก็ต้องแบ่งปันกัน ในช่วงที่เสรี ทุกคนมีความพร้อม เราอาจจะเปิดเสรีก็ได้ แต่เราต้องมั่นใจว่าไม่มีคนด้อยโอกาส ไม่มีคนเสียเปรียบ เพราะฉะนั้นเรื่องนโยบายพวกนี้ เรามีแนวทางสามหลักที่พูดไปเมื่อกี้นี้ แต่โดยดีเทล เราเปิดกว้างรับฟังความเห็น หลายคนบอกยังไม่ชัดสักที เราก็บอกแล้วว่า ที่เราชัดเจนคือสามแนวทางหลัก และเราก็เน้นในเรื่องของการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม
ตอนนี้เห็นพันธมิตรทางการเมืองบ้างหรือยัง
ส่วนตัวไม่ได้มองใครเป็นศัตรูทางการเมืองเลย ขอแค่เขาหวังดีกับประเทศชาติ เราเคยคิดกำหนดเป็นค่านิยมพรรคขึ้นมาว่า ถ้าเราตั้งขั้วรัฐบาลได้ จะขอหน่วยงานมาบริหารอย่างสร้างสรรค์ ถ้าเป็นฝ่ายค้าน จะเป็นฝ่ายถ่วงดุลอำนาจเพื่อความสมดุล เราพร้อมสนับสนุนรัฐบาลเต็มที่ถ้าเราตรวจสอบแล้วว่าเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่ค้านอย่างเดียว เรื่องที่ดีก็ต้องสนับสนุนด้วย หรือช่วยด้วยซ้ำไป
คือเราไม่ได้มองว่าพรรคไหนเป็นศัตรู เรื่องนโยบายก็เหมือนกัน ทำไมต้องคิดว่าเราต้องมาแข่งกัน นโยบายที่ดีของพรรคต่างๆ เราเอามาใช้ก็ได้ ทำไมเราต้องบอกว่ามันเป็นของใครๆ มันเป็นเรื่องเสรีด้านนโยบาย สมมติพรรคกรีนเน้นธรรมชาติ ถ้าเขาไม่ได้เป็นรัฐบาล ทำไมเราจะเอานโยบายที่ดีของเขามาใช้ไม่ได้ เพราะเราก็เห็นด้วยกับการอนุรักษ์ธรรมชาติเหมือนกัน บางอย่างเราก็เสนอให้เขา
สถานะพรรคตอนนี้ไปถึงไหน
นั่นล่ะความยาก ถ้าจะวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง เราไม่มีเงิน มันไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดแต่ก็จำเป็น เราต้องการเงินจากทุกคน คนละน้อย เราไม่ต้องการให้ใครเป็นเจ้าของพรรค แล้วเราก็ไม่หานายทุนด้วย แต่เราอาจจะต้องหาผู้บริจาครายใหญ่บ้าง โดยมีพื้นฐานว่า ผู้บริจาคไม่สามารถเรียกร้องใดๆ จากพรรคได้ นอกจากความภาคภูมิใจที่ได้มา contribute ให้ประเทศด้วยกัน อันนั้นคืออนาคต
แต่ว่า โอเค ถ้าตามหลัก กกต. ให้หาสมาชิก 500 คน ทุกคนต้องบริจาคอย่างน้อย 1,000 บาท มันก็เป็นพื้นฐานที่ดีนะ ในแง่ความเป็นเจ้าของ ผมมองแง่บวก มีนักการเมืองพรรคใหม่บ่นเรื่องนี้เยอะ ว่าตั้งมาทำไม หาคนไม่ได้เลย ใครจะมายอมจ่ายหนึ่งพันบาท ก็เห็นด้วยว่ามันยากมาก บางคนบอกอยากร่วม พอรู้ว่า ต้องจ่ายพันนึงเขาก็ถอยแล้ว เงินพันนึงสำหรับบางคนอาจน้อย สำหรับบางคนมันเยอะมาก และมันต้องเห็นด้วยอย่างจริงจัง เราก็เข้าใจ แต่เราก็ต้องไฟท์ แสดงจุดยืนให้เขาเห็นด้วยกับเราจริงๆ
แต่จุดอ่อนที่บอกมาทั้งหมด บางคนบอกว่าเป็นจุดเด่น เพราะความที่เรามีจุดอ่อนตรงนี้ คนที่เข้ามาหรือคนที่สนใจมาด้วยใจจริงๆ เพราะฉะนั้น เราคัดคนโดยธรรมชาติได้เลย
แต่นี่ก็ยังเป็นจุดเริ่มต้น ที่ผ่านมา กกต. เขาให้เรารอสองเดือนกว่า เราไม่กล้าขยับอะไรมาก เพราะยังไม่มีความแน่นอน เพิ่งได้รับจดหมายว่าให้ดำเนินการได้แล้วก็ประมาณเดือนเดียวเอง เพราะฉะนั้น เราก็เพิ่งเริ่มหาสมาชิก ตั้งแต่คนช่วยงาน อาสาสมัคร ผู้ประสานงาน แม้แต่หัวหน้าพรรค ที่ปรึกษาพรรค มาได้เลย
แล้วก็ตั้งแต่ช่วงแรกที่ขายไอเดีย นักข่าวที่มาถามก็จะบอกว่า เงินทุนก็ไม่มี มีแต่เทคโนโลยีมาเสนอ จะเข้าถึงคนรากหญ้าของประเทศได้อย่างไร อันนั้นไม่ได้ตอบไปทันทีนะ แต่รู้ว่าตอบไปแล้วจะตอบไม่ดี ไม่สามารถตอบคำถามที่ดีได้เลย ก็เลยกลับไปคิดและตัดสินใจว่า เวลาครึ่งหนึ่งของเราต่อจากนี้จะทุ่มเทให้กับโปรเจกต์ “ห้องเรียนประเทศไทย” เราต้องยอมรับว่าเราละเลยคนส่วนใหญ่ของประเทศจริง เราจะเดินเท้าทั่วประเทศไทย 77 จังหวัด เพื่อไปขอเรียนรู้จากคนที่สื่อเรียกว่าคนรากหญ้าเหล่านั้น ตอนนี้ทำไปได้ 16 จังหวัดแล้ว ตอนแรกว่าจะเดินไปเคาะประตูชาวบ้านเหมือนที่ไปเนปาลอย่างนั้นเลย แต่ในความเป็นจริงก็ลำบาก เลยใช้วิธีให้คนแนะนำต่อ ว่าจะไปเจอใคร ส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำชุมชน เอ็นจีโอ พระ นักการเมืองท้องถิ่นยังไม่ค่อยเจอนะ ก็อยากเจอบ้างเหมือนกัน
คุยอะไรกันบ้าง
คุยทุกเรื่อง ถามทุกเรื่อง ได้ความรู้เยอะมาก เล่าไปอาจจะเขินๆ หน่อย มีหลายอย่างที่เราไม่รู้เรื่อง เช่น เราไปคุยกับเกษตรกรที่จันทบุรี มีสิ่งที่เรียกว่า “แปลงใหญ่” คือการรวมตัวกันของเกษตรกร เพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับผู้รับซื้อ เช่น มังคุด เอามารวมกันแล้วคัดให้ด้วย แต่ก่อนมังคุด มีคนมารับซื้อไปคัดๆๆ บรรจุคอนเทนเนอร์ส่งต่อต่างประเทศ ไม่รู้กี่ต่อ ช้ำหมดแล้ว เกษตรกรก็ถูกกดราคา แต่การรวมเป็นแปลงใหญ่ มานั่งคัดมาตรฐาน คนที่มารับส่งเข้าคอนเทนเนอร์ ส่งออกได้เลย ชาวบ้านได้ราคาดีขึ้น คุณภาพของมังคุดก็ดีขึ้น ตัดพ่อค้าคนกลางออกไปได้เยอะ ชาวบ้านแฮปปี้ เป็นโครงการที่ภาครัฐทำทั่วประเทศ แต่เราไม่รู้เรื่องได้อย่างไร หรือลงใต้ได้ไปเจอเปอร์มัส (สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี – PerMAS)
แล้วหลังๆ ก็แอบเพิ่มว่าไหนๆ ไปแล้วทำไมเราไม่ไปให้ความรู้กับชาวบ้านกลับคืนบ้าง แต่ให้ความรู้มันก็เฉพาะเจาะจงไป เลยทำโครงการสอนวิ่ง 77 จังหวัดควบคู่ไปด้วย
ทั้งหมดที่พูดมาเป็นแค่โครงการส่วนตัวแต่มันก็เชื่อมโยงกัน เพราะเราสามารถเอาที่เราเรียนรู้มามาปรับในการเขียนนโยบายที่จะนำเสนอ
จากสภาพการเมืองตอนนี้ คิดว่าอะไรเป็นปัญหาในการทำพรรคที่สุด
ทัศนคติต่อการเมืองของสังคมยังเป็นแง่ลบ ยิ่งพรรคกลางเน้นเรื่องการมีส่วนร่วม เราต้องการคนเข้ามามีส่วนร่วมเยอะๆ ถ้าทัศนคติของสังคมยังปิดกั้นตรงนั้นอยู่ เอาแค่ว่าผมจะไปชวนคนมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เขาจะติดนู่นติดนี่ กลัวว่าสังคมจะมองยังไง ครอบครัวมองยังไง มันไม่เอื้อ ทั้งที่มันควรจะเป็นสิทธิพื้นฐานของคนที่จะแสดงออก
กับการเมือง ถ้าทุกคนมาสร้างแรงกดดัน เอื้อให้คนที่ประสงค์ดีที่จะช่วยการเมืองให้เข้ามาช่วยได้มากขึ้นก็จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือเราไปโทษโน่นโทษนี่อยู่ คอร์รัปชันเป็นปัญหาจริง แต่ถ้าเราแก้ที่ทัศนคติของคนทั้งชาติได้ เชื่อว่ามีความหวัง อาจเกิดเหตุการณ์อะไรบางอย่างให้คนเห็นและเปลี่ยนอะไรบางอย่างพร้อมกันได้ ก็จะ disrupt ได้ทันที หรือถ้าไม่ใช่ทันที ก็เชื่อว่าเทคโนโลยีนี่แหละที่จะเข้ามาช่วย เพราะเทคโนโลยีมาแล้ว
ผมมองว่า ผู้มีอำนาจอาจกลัวด้วยซ้ำไป พยายามไม่ให้เทคโนโลยีเข้ามา เพราะเดี๋ยวมันจะทำให้เราล่วงรู้อะไรบางอย่าง ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ อีกไม่ช้า มองในแง่ดี ว่ามันน่าจะค่อยๆ เปลี่ยน แต่มันอาจจะช้าเกินไป เราจะเข้ามานำร่อง ให้คนเห็นว่าเทคโนโลยีมันมาแล้ว เราต้องพร้อมจะเปลี่ยนแล้ว
Fact Box
ชุมพล ครุฑแก้ว จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ปริญญาตรีจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาเอกจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมสารสนเทศ) จากมหาวิทยาลัย Kyushu Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.)
แม้จะภูมิใจกับการนำหลักวิชามาปรับใช้ในการวิ่ง แต่เขาก็เคยพลาดบาดเจ็บ หมอแนะนำให้ตัดเส้นประสาททิ้ง แต่เขาทดลองถอดรองเท้า ฝึกวิ่งใหม่ จนหายจากอาการบาดเจ็บด้วยตัวเอง โดยใช้เวลาร่วมปีจึงกลับมาวิ่งได้เร็วเท่าตอนใส่รองเท้าอีกครั้ง เขาเปิดเพจเฟซบุ๊ก เรื่องวิ่งเรื่องกล้วย และ บันทึกสองเท้า เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การออกกำลังกาย
เขาเป็นนักวิ่งอัลตร้ามาราธอนคนแรกของไทยที่พิชิตเทือกเขาหิมาลัย และเตรียมจะออกหนังสือเรื่อง "ผู้ซึ่งหิมาลัยไว้ชีวิต"