พรรคสามัญชน เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงคนทำงานเกี่ยวข้องกับภาคประชาสังคม แต่สำหรับคนในแวดวงอื่นๆ แล้ว อาจจะเพิ่งเคยได้ยินชื่อเมื่อไม่นานมานี้ หรืออาจไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อนเลยในชีวิต ถูกแล้ว..มันเป็นพรรคการเมืองที่ไม่เหมือนพรรคการเมืองใดก่อนหน้านี้

พรรคสามัญชนเพิ่งจัดประชุมพรรคครั้งแรกและจัดตั้งโครงสร้างภายในพรรคอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาที่จังหวัดเลย และเลือก ‘เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์’ เป็นหัวหน้าพรรรค

เขาพิสูจน์ความเป็น ‘สามัญชน’ ด้วยบุคลิกเรียบนิ่งแต่หนักแน่น แต่งตัวเรียบง่ายด้วยเสื้อยืดสีชมพู และปฏิเสธการเปลี่ยนเสื้อแม้เราจะทักถาม

“พี่เปลี่ยนเสื้อหน่อยดีไหม”

“อ๋อ มันเป็นเสื้อเพื่อนที่โซแอส (SOAS-วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน) เขารณรงค์เรื่องแรงงานนอกระบบ สภานักศึกษาเคลื่อนไหวกันตอนนั้นเพื่อช่วยเหลือแม่บ้าน ภารโรงของมหาวิทยาลัยที่มีระบบจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม” เขาปฏิเสธแบบสุภาพ ดูเหมือนรูปแบบจะไม่สำคัญเท่าเนื้อหาสำหรับเขา และแนวคิดนี้ดูจะเป็นเนื้อเดียวกับพรรคสามัญชนซึ่งเกี่ยวพันกับคนชายขอบ คนที่ถูกกดขี่

กล่าวอย่างย่นย่อ พรรคสามัญชนก่อเกิดบนพื้นฐานของนักกิจกรรมทางการเมืองและเอ็นจีโอที่ทำงานด้านฐานทรัพยากร แต่พวกเขาเป็นเสียงส่วนน้อยในแวดวงเอ็นจีโอ เพราะมีแนวคิดต่อต้านรัฐประหารและอำนาจนอกระบบ ไม่กระมิดกระเมี้ยนที่จะวิพากษ์วิจารณ์คนกันเอง สิ่งที่น่าจับตายิ่งกว่านั้นคือ การผนึกกำลังกับชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ที่คัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความคิดทางการเมืองกันต่อเนื่องหลายปี ที่ในภาษาฝ่ายซ้ายอาจเรียกง่ายๆ ว่า ‘จัดตั้ง’ (ทางความคิด) จนสุกงอมออกมาเป็นพรรคการเมือง เพื่อหาช่องทางผลักดันนโยบายด้วยตัวเอง ไม่ยืมมือคนอื่น แม้จะไร้นายทุน ไร้ประสบการณ์ มีแต่จิตใจมุ่งมั่นและความฝันสว่างไสว

นับเป็นการเดินทางอีกก้าวหนึ่งบนหนทางที่ยาวไกล และเป็นก้าวที่น่าจับตาอย่างยิ่งกับการแสวงหาทางออกใหม่ในทางการเมืองของคนตัวเล็กๆ

 

 

ขอเริ่มที่ตัวหัวหน้าพรรคก่อนว่ามีเส้นทางชีวิตอย่างไร

จบชีววิทยา ที่ ม.รามคำแหง ในปี 2539 แล้วทำงานกับองค์กรที่รณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่น้ำสงคราม จังหวัดนครพนมและสกลนคร ทำอยู่ 4 ปี ก็มีหัวข้อเกี่ยวกับการแพร่กระจายของดินเค็มจากการผันน้ำโขงเข้ามา เพราะแผ่นดินอีสานมีเกลือใต้ดินเยอะ เราก็ศึกษาเรื่องเกลือและการทำเหมืองเกลือซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ไปจนถึงเรื่องโปแตช

พอศึกษาเรื่องโปแตชก็เลยไปกันใหญ่ จับเรื่องโปแตชที่อุดรธานีจริงจังในปี 2547 อยู่อุดรฯ ได้ 4 ปี ความรู้เรื่องเหมืองแร่เยอะขึ้นเรื่อยๆ อ่านกฎหมายเยอะ ก็เลยมีชุดความรู้ที่คิดว่าน่าจะขยายได้ พอดีมีเรื่องเหมืองทองที่จังหวัดเลยกำลังเริ่มผลักดันก็เลยไปที่นั่น และทำงานในพื้นที่อื่นๆ ด้วย โดยทำโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ รวมทั้งทำเครือข่ายชาวบ้าน

จะว่าเป็นเหมือนนักวิชาการของภาคประชาชน ก็ไม่กล้าเรียกตัวเองแบบนั้นเท่าไร เพียงแต่เป็นคนศึกษาอะไรจริงจังและมีเวลาอ่านหนังสือ

 

เริ่มให้ความสำคัญกับการทำงานกับชาวบ้านตอนไหน

ตอนอยู่อุดรฯ ผมทำหน้าที่ด้านวิชาการ ย่อยและสังเคราะห์ข้อมูล แต่พอออกมาทำเรื่องเหมืองแร่จริงๆ บางพื้นที่ไม่ได้ต้องการเพียงข้อมูลที่เราไปย่อยไปสกัดมา มันต้องการการจัดตั้งชาวบ้านด้วย จึงเริ่มทำงานจัดตั้งชาวบ้านเองราวปี 2550-2551  ก็แบ่งชีวิตตัวเองเป็นสองส่วน ครึ่งหนึ่งคือ อ่านหนังสือ ย่อยข้อมูล คิด วิเคราะห์ อีกครึ่งหนึ่ง ต้องทำงานลงพื้นที่ แบ่งแบบนี้มาตลอด สิบปีหลังนี้ได้ลงหลายพื้นที่เพื่อจัดตั้งชาวบ้านหลายพื้นที่ เช่น ที่วังสะพุง จ.เลย ที่บ้านแหง จ.ลำปาง ที่บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ที่วานรนิวาศ จ.สกลนคร เป็นต้น

 

แนวคิดด้านเศรษฐกิจการเมืองของคุณ คือไม่เอาเสรีนิยมใหม่และต่อต้านการพัฒนาในแนวนั้นใช่หรือไม่

ช่วงวัยหนุ่มสาว มันมีช่วงเวลาหนึ่งที่คนเรามักต่อต้านทุนนิยม รู้สึกขวางโลก ถ้าถามว่า ขณะนี้ผมมีแนวคิดแบบไหน ผมก็ยังรู้สึกว่า เรายังต่อต้านความคิดแบบลัทธิเสรีนิยมใหม่อยู่ เพราะมันมีกลไก มีเครื่องมือสำคัญที่ทำให้รัฐออกนโยบายที่ไม่เป็นธรรมและสร้างความเหลื่อมล้ำต่อสังคมอะไรก็ตามที่สร้างนโยบายลักษณะนี้เราไม่โอเค

สิ่งที่เราพยายามต่อสู้กับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่นั้นเรากำลังต่อสู้กับอาณานิคมภายใน มันก่อรูปก่อร่างจากรัฐบาลศูนย์กลางแล้วไปกดทับพื้นที่อื่นที่ต้องแบกรับกับต้นทุนการพัฒนา ผลกระทบการพัฒนา เราเห็นว่าการพัฒนาแบบนี้ไม่เป็นธรรมและชุดความคิดแบบนี้ยังคงอยู่

 

แล้วไปเจอกับคนอื่นๆ จนมารวมตัวกันเป็นพรรคสามัญชนได้อย่างไร ?

ช่วงความขัดแย้ง 10 ปีให้หลัง ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ถึงก่อนรัฐประหารปี 2557 ผมคิดมาก เพราะผมเป็นคนหนึ่งที่ก่อรูปก่อร่างเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จังหวัดอุดรธานีร่วมกับเพื่อน เมื่อราวๆ ปี 2548 ประสบการณ์มันก็เป็นไปตามวัย สมัยนั้นผมมองปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับเหมืองโปแตช เห็นกลุ่มทุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทักษิณ ชินวัตร ผมคิดว่าการประสานกับคนชั้นกลางจะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนไม่ให้เกิดโครงการเหมืองแร่โปแตช ซึ่งก็เป็นตามนั้น เมื่อทักษิณออกไปก็ทำให้เหมืองหยุด แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะไม่ว่าทุนหรือรัฐบาลไหนก็ตามก็ต้องการการพัฒนา เรามองเห็นความผิดพลาดที่เราเข้าไป วิธีคิดแบบนี้มันไม่ถูกต้อง

การเริ่มคิดเรื่องพรรคการเมืองกันจริงจังขึ้นในช่วงปี 2552-2553 ที่เขาฆ่าคน มันรู้สึกแตกสลาย เรารับไม่ได้กับการฆ่าคนกลางถนน แล้วหลังจากนั้นเอ็นจีโอส่วนหนึ่งก็ยังเข้าไปร่วมการปฏิรูปกับคณะกรรมการปฏิรูปที่มีอานันท์ ปันยารชุน กับหมอประเวศ วะสี เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่งตั้ง เรารู้สึกว่าคนตายขนาดนั้นแทนที่จะตั้งคำถามว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์กับทหารจะต้องออกมารับผิดชอบกับความตายเหล่านั้นอย่างไร แต่กลับไปร่วมกับรัฐบาลเพื่อปฏิรูปต่อ ค้ำจุนรัฐบาลต่อ ความรู้สึกตอนนั้นมันเริ่มเปลี่ยนแปลงสูงมาก และไม่ยอมรับขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมที่เรารู้จัก

ที่สำคัญ ผมมีประสบการณ์อีกอย่างน้อย 2 เรื่องที่ทำให้คิดเรื่องพรรคการเมือง

เรื่องแรกคือ ประสบการณ์ไปเยี่ยมภรรยาที่ออสเตรเลียแล้วเจอพรรคกรีน ออสเตรเลีย เราเห็นนักกิจกรรมไปร่วมกิจกรรมต่อต้านการตัดป่าโบราณ แอคติวิสต์พวกนี้เหมือนพวกเราที่ต่อต้านเขื่อนต่างๆ ส่วนหนึ่งเขาส่งคนไปทำพรรคกรีน ทำงานการเมืองในสภา แต่ตัวตนของพวกเขาก็ยังออกมาเป็นแอคติวิสต์ด้านสิ่งแวดล้อมอยู่

ตอนนั้นกำลังหาทางออกของตัวเองด้วย หลังจากเหตุการณ์ปี 2553 ถ้าเรายังทำงานอยู่อย่างนี้กับเพื่อนๆ เรา กับเอ็นจีโอที่แกว่งไปแกว่งมา พร้อมจะสนับสนุนรัฐประหารอยู่อย่างนี้ มันจะไปไม่ถึงไหน จะย่ำอยู่กับที่

แล้วเอ็นจีโอไทยส่วนใหญ่คิดอย่างไร

พื้นฐานความคิดของขบวนการเคลื่อนไหวประชาชนที่ผมรู้จัก เขาคิดว่าประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แบบเลือกตั้ง แบบทักษิณ หรือแบบอะไรก็ตาม มันมีข้อจำกัดในการจะต่อสู้ให้ประเด็นของตัวเองชนะ เพราะเวลาเสนออะไรเข้าไปในสภา เช่น ร่างกฎหมายป่าชุมชน มันจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขเละเทะไปหมด ไม่เห็นเจตนารมณ์เดิม เพราะเราไม่มีตัวเองอยู่ในสภา เราไปยืมมือเขา กลุ่มนี้จึงคิดว่าอะไรก็ตามที่มันล้มรัฐบาลแล้วทำให้อำนาจถูกเขย่าใหม่ จะเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสที่ต่อท่อไปถึง ซึ่งจริงส่วนหนึ่ง แต่ก็เสียหายด้านอื่น

ที่ว่าจริง คือแง่ที่ว่า ทำให้เอ็นจีโอส่วนหนึ่งเข้าไปเป็นกรรมการชุดนั้นชุดนี้ในโครงสร้างของรัฐบาลรัฐประหาร แล้วก็ผลักดันประเด็นตัวเองมากมาย แต่สิ่งที่เสียหายเขาไม่คิด เขาทำให้อำนาจประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาถูกเขย่าใหม่ แต่ขณะเดียวกัน ประชาธิปไตยนอกสภา การเมืองบนถนนมันถูกทำลายลงไปด้วย เพราะมันถูกควบคุม คุกคาม ถูกจำกัดการใช้สิทธิและเสรีภาพ

เราเริ่มคิดว่า ถ้าเรายืมมือเขาใช้แบบนี้มันไม่จีรังยั่งยืน มองเห็นแต่ประโยชน์เฉพาะหน้าเป็นครั้งๆ คราวๆ ไป พรรคกรีนที่ออสเตรเลียทำให้คิดว่า ทำไมเราไม่ทำพรรคการเมืองของเราเอง เอาพวกเราเองไปอยู่ในสภาแล้วทำการเมืองทั้งสองด้านคือ การเมืองบนท้องถนนและการเมืองในสภา

 

กลับมาที่ประสบการณ์เรื่องที่สอง ที่ทำให้สนใจตั้งพรรคการเมือง

เรื่องที่สอง ผมเรียกมันว่าแก่งเสือเต้นโมเดล การที่ชาวบ้านเขาเข้าไปมีตำแหน่งในการเมืองในระดับท้องถิ่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. ทำให้กระบวนการอนุมัติอนุญาตในการสร้างเขื่อนที่ต้องได้รับอนุมัติจากท้องถิ่นไปต่อไม่ได้ เป็นการปิดพื้นที่ท้องถิ่นที่ทำให้การเมืองส่วนกลางไปต่อไม่ได้ เขาทำงานหนักจนสร้างฉันทามติในพื้นที่ได้ด้วย นี่เป็นโมเดลที่ทำให้ขบวนการประชาชนคิดเรื่องของตัวเองมากขึ้น โดยไม่ต้องไปพึ่งอำนาจนอกระบบ ถ้าเราจะขยายการเมืองท้องถิ่นแบบแก่งเสือเต้นให้เป็นระดับประเทศจะได้ไหม

เราคิดว่าการเมืองในสภาเป็นสิ่งสำคัญ อย่างน้อย ถ้ามีคนของเราบ้าง กฎหมายที่เสนอเข้าไปก็อาจไม่โดนแก้ไขเละเทะไปหมด ยังพอมีเค้าเดิม หรือเราอาจตั้งกระทู้ถาม แปรญัตติ ได้  สิ่งเหล่านี้เราต้องสร้างเอง

 

อันที่จริงภาคประชาชนมีความคิดจะจัดตั้งพรรคกันมาก่อน เช่นในสายของ สมศักดิ์ โกศัยสุข (นักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน อดีตแกนนำพันธมิตรฯ) หรือ สุริยะใส กตะศิลา (อดีตนักเคลื่อนไหว และอดีตแกนนำพันธมิตรฯ) ฯลฯ

ตัวหลักคือ สุวิทย์ วัดหนู (เสียชีวิตแล้ว) สมศักดิ์ โกศัยสุข โมเดล น่าจะคล้ายพรรคแรงงานในอังกฤษหรือยุโรปเป็นหลัก ส่วนสุวิทย์อาจจะอยากจำลอง พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) มาใช้กับกระบวนการชาวบ้านที่ทำงานด้วย

ตอนนั้นผมก็ยังอ่อนด้อยประสบการณ์ ยังรู้สึกว่าประชาสังคมไม่น่าไปถึงจุดนั้น เพราะความแตกต่างหลากหลายในประเด็นการทำงาน ไม่รู้จะรวมตัวได้ขนาดไหน ตอนที่สมศักดิ์คิดนั้น เขามีเจตนาดี อยากให้สหภาพแรงงานรวมตัวเป็นพรรคการเมืองให้ได้ สหภาพแรงงานจะเข้มแข็งได้ต้องมีพรรคการเมืองของตัวเอง แต่พอเกิดรัฐประหาร 2549 เกิดพรรคการเมืองใหม่ เจตนารมณ์แบบเดิมแทบไม่เหลือแล้ว เป็นพรรคที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม บิดเบือนไปรับใช้ทหาร

 

หลังจากเริ่มคิดเรื่องพรรคของตัวเอง แล้วทำอย่างไรต่อ เจอกับเลขาธิการพรรค อ้วน – กิตติชัย งามชัยพิสิฐ ได้อย่างไร

มันไม่ได้มีผมคนเดียวในประเทศไทยที่คิดเรื่องพรรคการเมือง ผมมาจากแนวทางแบบกรีน อ้วนและน้องๆ เขาก็อยากทำพรรค และคำอธิบายส่วนใหญ่ก็ไม่ต่างกันที่เห็นว่าขบวนการประชาชนไปพึ่งการเมืองนอกระบบ การมีพรรคของตัวเองจะทำให้ลดการคิดเช่นนั้น เขาคิดและริเริ่มทำพรรคสามัญชน ส่วนผมเป็นอีกแขนงหนึ่ง แต่พอได้คุยกันทำความเข้าใจกัน ชุดความคิดนี้มันไปด้วยกันได้ เขาเลยชวนให้มาอยู่กับพรรค ผมไม่ได้ก่อตั้งพรรคนะ แต่กว่าจะใช้เวลาจับคู่กันได้ก็ใช้เวลานาน

มันอาจเริ่มจาก ‘อีสานใหม่’ ในปี 2557 ที่เกิดรัฐประหาร ตอนนั้นเราไม่ได้ตั้งคำถามเรื่องการตั้งพรรคการเมือง เราตั้งคำถามกับขบวนการประชาชนโดยเฉพาะในภาคอีสานว่ามันจะไปต่อยังไง เพราะเอ็นจีโอในภาคอีสานไม่ตื่นตัวทางการเมือง มีการผลิตซ้ำความผิดพลาด ปี 2557 ก็ยังมีท่าทีนิ่งเฉยและยังสนับสนุนรัฐประหาร เราคิดว่ามันน่าจะพอได้แล้ว ก็เลยตั้ง ‘อีสานใหม่’ ขึ้น ประสานการพัฒนาชุมชนกับการเมืองไปด้วยกัน

ต้องเข้าใจว่าเอ็นจีโอมีชุดความคิดอย่างหนึ่งคือ จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แล้วทำให้ขบวนการประชาชนที่เข้าไปสัมพันธ์ด้วยไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่จริงๆ แล้วก็ฉวยโอกาสอยู่ตลอดเวลากับพวกคณะรัฐประหาร เราเลยอยากทำให้ชัดขึ้นเสียเลย อีสานใหม่สร้างวิธีคิดใหม่โดยการพัฒนาชุมนุมกับการต่อสู้ทางการเมือง ทำให้มันไปด้วยกัน

ในอีสานใหม่ นอกจากคนในแวดวงคนทำงานในภาคอีสาน ก็มีพวกอ้วน กลุ่มดาวดิน ทำให้ความคิดทางการเมืองของผมและสามัญชนดึงเข้าหากันมากขึ้น

 

แสดงว่าตัวเองกับพรรคสามัญชนก็มีช่องว่างกันอยู่

จริงๆ ผมก็ไม่ค่อยอยากจะเข้าพรรคสามัญชน เพราะผมคิดว่าผมอาจจะเป็นพวกกรีน แต่สามัญชนเขามีบริบทในเรื่องรัฐประหารสูงมากกว่าผม หลายอย่างผมไม่ได้คิดแตกต่างจากเขา แต่ผมอยากจะสร้างพรรคการเมืองที่มีพื้นที่อื่นด้วย คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะความขัดแย้งเรื่องโครงการพัฒนาที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานที่เราทำงานมาตลอด 20 ปี ผมไม่แน่ใจว่าสามัญชนคิดแบบนี้ เพราะสามัญชนมีความโกรธแค้นสูงกับสิ่งที่ประชาสังคมเอ็นจีโอทำกับรัฐประหาร แล้วเขาก็เน้นสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมเป็นธรรม ประชาธิปไตยฐานราก ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจมากนักว่าจะไปกันได้ไหมกับความคิดแบบกรีนๆ ของผม ผมอาจจะเป็นพวก eco-socialism  นิเวศสังคมนิยม ส่วนสามัญชนเป็นส่วนผสมของพรรคไพเรท (Pirate Party) สปาติสต้า (Zapatista) และอนาคิสต์ (Anarchist)

 

แล้วอะไรทำให้เปลี่ยนความคิดไปร่วมกับเขา

อีสานใหม่มีชาวบ้านที่เราทำงานด้วยมาเกี่ยวข้องสูง โครงสร้างของอีสานใหม่คือ นักกิจกรรม นักศึกษา ชาวบ้าน ชาวบ้านของเรามีพัฒนาการทางความคิดร่วมกับอีสานใหม่สูง ชาวบ้านก็ไม่ได้รังเกียจพรรคสามัญชน ทำให้เราลดทอนสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นความแตกต่างลง ทำงานร่วมกันได้ ไปด้วยกันได้ จึงคิดว่าน่าจะลองดู เพราะแนวคิดก็ไม่ต่างกัน แต่บุคลิกอาจจะต่าง

แล้วแวดวงเอ็นจีโอล่ะ สิบสองปีที่ผ่านมา เอ็นจีโอเปลี่ยนแปลงไหม และมีเป้าหมายจะทำงานกับเอ็นจีโอด้วยไหม

เอาจริงๆ ภาคประชาสังคมจะเปลี่ยนแปลงแค่ไหน ผมไม่มั่นใจ มันไม่นิ่งเลย แต่ถ้าให้มองมุมส่วนตัว คิดว่าเปลี่ยนแปลงน้อย แต่ภาคอีสานเปลี่ยนเยอะพอควร ผมเองไม่แคร์เอ็นจีโอเท่าไร คนที่เปลี่ยนมากๆ และเป็นตัวชี้วัดอย่างดีคือชาวบ้านที่ผมทำงานด้วย

ที่ผ่านมา เอ็นจีโอไม่เคยพูดเรื่องการเมืองกับชาวบ้านตรงไปตรงมา แต่พวกเราคุยเรื่องการเมืองกับชาวบ้านตรงไปตรงมา แล้วมันมีเหมือนฉันทามติ มีความรู้สึกนึกคิดร่วมกันว่า เราไม่เอาคสช. ไม่เอาอำนาจนอกระบบ เราอยากจะสร้างการเมืองบนท้องถนนที่ไม่พึ่งพาอำนาจนอกระบบ

ผมว่าแบบนี้ มันเปลี่ยนแล้วเรารู้สึกสนุก เราลงมือทำด้วยตัวเองแล้วเห็นผล แม้จำนวนเยอะเป็นแค่เรือนร้อยเรือนพัน แต่เราก็มีความสุข

 

ชาวบ้านเขากลัว ‘ผีทักษิณ’ ไหม

เขาไม่เคยกลัว ไม่เคยคิดเรื่องแบบนี้ ชาวบ้านทั้งนิยมชมชอบทักษิณและทั้งไม่นิยม ทำงานด้วยกันปนเปกันหมด แต่ไม่ได้กลัวผีทักษิณแบบคนชั้นกลาง ชาวบ้านเขาคิดตรงไปตรงมาว่า นโยบายแบบทักษิณเป็นชุดนโยบายที่ดี เพราะเงินมันไปถึง ไม่ได้รู้สึกว่าประชานิยมเลวร้าย

 

เวลาทำงานกับชาวบ้าน ต้องตีกันกับเอ็นจีโออื่นๆ ที่คิดต่างกันไหม

ตีกันตลอดเวลา มีทั้งไม่คบหาและทั้งพยายามคบหา

บางส่วนที่ไม่คบหาเพราะไม่อยากเสียเวลา แต่บางส่วนที่คิดว่าเป็นเพียงการก่อรูปร่างความคิดใหม่ในสมอง คิดว่ายังพูดคุยได้ ก็แลกเปลี่ยนกัน แต่ผมไปในพื้นที่ที่ท้าทายตลอดเวลา พื้นที่ที่เขาเกลียดชังผม ไปกระแทกเขา ตั้งคำถามไม่ปกปิด จริงๆ เขารู้สึกว่าผิดกันนะ แต่เขาไม่รู้จะไปยังไงต่อ เขามีประสบการณ์มาตลอด ไม่ว่าสมัชชาคนจน สมัชชาเกษตรกรรายย่อย หรืออะไรก็แล้วแต่

ข้อเสนอของเรา พอตั้งกรรมการปุ๊บ ข้อเสนอก็ถูกเปลี่ยนหมด แล้วบางทีก็ตั้งกรรมการวนอยู่อย่างนั้นเป็นสิบปี และเพราะเป็นแบบนี้ เลยชอบอำนาจนอกระบบที่จะเปิดหน้าต่างเปิดช่องให้ แต่พอเราวิเคราะห์ให้เห็นว่า หน้าต่างแห่งโอกาสที่คุณได้มามันแลกด้วยอะไรบ้าง เขารู้ เขาเข้าใจ แต่มันไม่สามารถหาโมเดลแบบอื่นได้ เท่าที่สัมผัส มีน้อยคนที่จะไม่รู้สึกผิด

 

ในความขัดแย้งทางจุดยืนทางการเมืองของหลายขั้ว เราควรจะจัดการอย่างไร รวมถึงกรณี เอกชัย อิสระทะ (อดีตรองหัวหน้าพรรค ซึ่งโดนสมาชิกวิจารณ์รุนแรงจากการเข้าร่วม) ที่วิพากษ์วิจารณ์กัน ก็เป็นคำถามเช่นกันว่า ควรจะปฏิสัมพันธ์กันอย่างไรระหว่างสองขั้วความคิด

สิ่งที่เอกชัยทำกรณีร่วมกับพันธมิตรฯ และ กปปส.เป็นการละเมิดหลักการประชาธิปไตย แต่เอกชัยก็เป็นคนหนึ่งที่รู้สึกผิดและมีความเปลี่ยนแปลงในตัวเองสูงใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ สิ่งที่เขาแถลงการณ์ก็มีข้อผิดพลาด คำขอโทษเสียหายไปจากการเขียนข้อเท็จจริงไม่ครบ แต่คำถามใหญ่ของพรรคสามัญชนคือ เราจะวางพรรคเราให้มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องแค่ไหนกับจุดยืนทางการเมือง

มันเหมือนมีสองชุดความคิดในพรรค คือ ชุดความคิดของปัญญาชน กับชุดความคิดของชาวบ้าน ชาวบ้านไม่ได้อยากให้เอกชัยออก เขารู้ว่าสิ่งที่เอกชัยทำในอดีตนั้นผิด แต่เขาให้โอกาสแก้ตัว แล้วพร้อมจะดูความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ คำถามสำคัญคือ เราจะรักษาสมดุลกับสองชุดความคิดนี้อย่างไร

ผมยังยืนยันในจุดที่ว่า ปัญญาชนต้องลงไปจัดตั้งชาวบ้าน เปลี่ยนแปลงรูปการณ์จิตสำนึกชาวบ้านด้วยตัวเอง คนถามกันว่า ทำไมเอกชัยไม่ลาออก (สัมภาษณ์ก่อนเอกชัยแถลงลาออกจากพรรคสามัญชน) คนที่ต้องรับผิดชอบคือผม ผมบอกเอกชัยเองว่าไม่ต้องลาออก เขาอยากลาออกทุกวัน เขารู้สึกว่าไปต่อไม่ได้ โดนโจมตีเยอะ แต่ผมเห็นว่า คนที่โจมตีจะทำให้ชาวบ้านรู้เรื่องเอกชัยและคิดแบบที่ตัวเองคิดได้ยังไงล่ะ ชาวบ้านต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินด้วย ถ้าไม่สามารถทำให้ชาวบ้านถกเถียงได้ในโลกออนไลน์ของคุณแล้วใช้ปัญญาชนหยิบมือกดดันให้เอกชัยลาออก ผมไม่เห็นด้วย แล้วมันยังมีคำถามชุดใหญ่ตามมา คนที่อยากสมัครสามัญชนอีกหลายสิบคนในภาคใต้ที่เคยเกี่ยวข้องกับ กปปส.จะสมัครสมาชิกได้ไหม

ผมก็ไม่แน่ใจว่าผมถูกทั้งหมด แต่ผมต้องคำนึงหลายส่วน และอยากให้พรรคไม่มีเรื่องเฉดสี แต่พูดกันถึงหลักการที่พรรคยึดถือ ถ้าใครมีคุณสมบัติเหล่านี้ก็มาได้ ไม่ว่าเขาเคยเป็นอะไรมาก็ตาม แล้วถ้าอนาคตเขาไม่เป็นแบบนั้นเราค่อยให้เขาออก

 

แปลว่าฐานของพรรค แก่นแกนของพรรคจริงๆ คือชาวบ้าน

ผมยังคิดว่ามันต้องผสมผสานทั้งสองส่วน และปัญญาชนต้องพิสูจน์ตัวเองโดยการลงไปทำความเข้าใจกับชาวบ้าน

 

จุดยืนของพรรคหรืออุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคคืออะไร

หลักการสำคัญของพรรคคือประชาธิปไตยจากฐานราก สิทธิมนุษยชน เท่าเทียมเป็นธรรม ในส่วนของชาวบ้าน พวกเขาเอาประชาธิปไตยอย่างแน่นอน แต่ประชาธิปไตยฐานรากที่เป็นหลักการข้อหนึ่งของสามัญชนมันแค่ไหน ผมคิดว่าเรากำลังทำความเข้าใจร่วมกันอยู่ เรากำลังทำงานประสานกันอยู่ระหว่างชาวบ้านกับปัญญาชน การเรียนรู้นี้ต้องใช้เวลา สามัญชนมันเปราะบางมาก ก่อรูปจากประชาสังคมแค่เพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ การผสมผสานซึ่งกันและกันกับชาวบ้านเป็นสิ่งสำคัญมาก

 

แผนต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร

พรรคสามัญชนจะรอดไหมถ้ายังหา 1 ล้านบาทไม่ได้ (หัวเราะ) เราจะอยู่ด้วยกันจนถึงประมาณ 26 พ.ย. จะครบกำหนดที่เราต้องยื่น 500 รายชื่อและ 1 ล้านบาท ถ้าเราไม่มีเงิน พรรคเราก็หมดอายุไปโดยปริยาย เพราะกฎหมายพรรคการเมืองเป็นแบบนั้น น่าหนักใจเพราะมันก่อรูปก่อร่างแบบไม่มีนายทุนพรรค ทุกคนทำงานแบบอาสาสมัคร ทำงานโดยเงินของตัวเอง มาด้วยใจจริงๆ 1 ล้านบาทเป็นเรื่องยากสำหรับเรา คิดว่าน่าจะอาศัยการระดมทุนการบริจาคกันในหมู่สมาชิกพรรคสามัญชน

หลังจากนั้นจะดำเนินกิจกรรมอย่างไร ในเมื่อไม่มีเงินในการบริหารจัดการ

เมื่อเราเป็นพรรคการเมืองแล้ว เราก็สามารถเขียนโครงการพัฒนาประชาธิปไตยในพรรคโดยขอเงินสนับสนุนจากคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ แต่อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งตามกฎหมายก็คือ ตอนนี้เป็นการรวมบัตร ไม่แยกบัตรปาร์ตี้ลิสต์ ถ้าแบบเดิมก็สบาย ลงแค่ปาร์ตี้ลิสต์ ชื่อเสียงของสามัญชนอาจส่งผลให้คนเล็กคนน้อยเลือกเราอาจจะได้สัก 3-4 เสียง แต่ตอนนี้ต้องลง ส.ส.เขตเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ แต่เราไม่มีเงิน เราจะทำยังไงกับการลงส.ส.เขต อาจมุ่งมั่นจริงๆ 1-2 เขตไปก่อน แต่หลังจากนั้นพรรคสามัญชนจะขยายมวลชนยังไง

สิ่งที่จะทำคือ ‘คาราวานสามัญชน’ เป็นคาราวานนโยบาย เหมือนเราไปประชุมชาวบ้าน ถามความต้องการ ความปรารถนาของชาวบ้านว่าต้องการอะไร แล้วเอาตรงนั้นมาผลิตเป็นชุดนโยบาย คาราวานสามัญชนจะเป็นเครื่องมือสำคัญให้เราไปหาชาวบ้านข้างล่าง แล้วฐานมวลชนจะขยายตัวขึ้น แล้วเราจะก่อเกิดจริงๆ ในการเลือกตั้งอีกฤดูกาลหนึ่ง

สิ่งสำคัญคือ พรรคสามัญชนน่าจะต้องตั้งสถาบันที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยทางตรงขึ้นมาให้ได้ เพื่อรับรองการเมืองบนท้องถนนขึ้นมาเป็นอีกขาหนึ่งของพรรค เราเห็นชาวบ้านที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็ยังมีพลังสูงเกี่ยวกับประชาธิปไตยทางตรง แม้จะโดนอุปสรรคขัดขวางจากคำสั่งที่ 3/58 หรือพ.ร.บ.ชุมนุม เรายังเห็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยเต็มไปหมดที่ยังให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยทางตรงอยู่ตลอดเวลา มันยังมีพลังสูงมาก สามัญชนจะทำการเมืองทั้งสองขา ขาหนึ่งในสภา และอีกขาหนึ่งที่เรามีความเชื่อมั่นตลอดคือ การเมืองบนท้องถนน

 

รู้สึกอย่างไรกับตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ผมไม่มั่นใจนักหรอกว่า ผมอยู่ในตำแหน่งที่ถูกหรือเปล่า ผมยังมีความรู้สึกแบบเก่า อยากเคลื่อนไหวกับชาวบ้าน ความสำคัญของพรรคสามัญชนคือการหามวลสมาชิกจากข้างล่าง และเป็นงานที่ผมถนัด แต่อะไรที่คิดระดับประเทศ ต้องห่วงใยกังวลระดับประเทศ มีชุดนโยบายที่ตอบสนองคนหลายๆ กลุ่มเป็นเรื่องใหม่ที่ท้าทาย แต่เรามีทีม มีความหลากหลาย มีความเชี่ยวชาญมากกว่าผมเยอะ เหตุที่รับตำแหน่งในช่วงนี้เพราะในการก่อตั้งพรรคมีชาวบ้านเป็นสมาชิกเยอะและผมรู้สึกว่าผมต้องดูแลส่วนนี้ รักษาสมดุลส่วนนี้ให้ได้ ถ้าผ่านด่าน 1 ล้านบาทแล้วหาส.ส.ลงสัก 1-2 เขตผมอาจจะถอยออกไปเป็นกลไกสำคัญในการทำคาราวานสามัญชนในการขยายมวลชนข้างล่างซึ่งเป็นงานที่ผมถนัดก็ได้

จริงๆ มันก็มีพรรคการเมืองหลายแบบ ยกตัวอย่างพรรคไพเรตของยุโรป เขาก็ชัดเจนว่าก่อตั้งมาเพื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต ไม่มีการปิดกั้นใดๆ  ทำไมสามัญชนต้องมีนโยบายสำหรับคนทุกกลุ่ม อันนี้ก็ความเห็นส่วนตัวนะ ยังไม่ได้คุยกัน เรากำลังหาทิศทางกันอยู่ สำหรับผมพรรคสามัญชนไม่มีทางเป็นพรรคที่ตอบสนองทุกกลุ่มคน เวลาถามว่านโยบายทางเศรษฐกิจจะเป็นยังไง จีดีพีจะโตเท่าไร เราอาจตอบเพียงว่า การพัฒนาต้องคำนึงถึงฐานราก โครงการพัฒนาต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและความเท่าเทียมเป็นธรรม ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ พรรคสามัญชนจึงจะตรวจสอบการพัฒนาทุกอันที่มีแนวโน้มสร้างความเหลื่อมล้ำ ใช้กระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในการเดินหน้าโครงการ นี่แหละคือ ภารกิจของพรรคสามัญชน

ในส่วนนโยบายทางการเมือง ก็เคยมีการพูดกันไปแล้วว่า เราสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ แก้กฎหมายพรรคการเมือง ยกเลิกคำสั่ง คสช. เราจะปลดอาวุธ คสช.ด้วยการรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ฯลฯ

 

Tags: ,