“ผมอยากให้เราทำงานโดยเอาหลักพรหมวิหาร 4 มาใช้ในการดูแลพนักงาน”
ประโยคหนึ่งในบทสนทนาที่เกิดขึ้นในการเจอกันครั้งแรกระหว่าง ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานบี.กริม (B.Grimm) และ สุดคนึง ขัมภรัตน์ ที่ทำให้สุดคนึงประทับใจและตัดสินใจมาร่วมงานกับบี.กริม ในฐานะ HR Director ที่รับผิดชอบดูแลด้านงาน People กลุ่มบริษัท บี.กริม
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ สุดคนึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรบี.กริม กลุ่มธุรกิจสัญชาติเยอรมันยักษ์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อายุเก่าแก่กว่า 141 ปี ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงาน, ระบบภายในอาคารและอุตสาหกรรม, สุขภาพ, ไลฟ์สไตล์, อสังหาริมทรัพย์, คมนาคม และเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นปีที่ 3 แล้ว ซึ่งเธอบอกว่า การทำงานของเธอในทุกๆ วันเปรียบได้กับการเดินทางบนเส้นทางที่เป็นไปตามปรัชญาของบริษัท นั่นคือการทำธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี “Doing Business with Compassion”
การนำแนวคิดที่บริษัทยึดมั่นมาใช้ในการดูแลและพัฒนาบุคลากรในองค์กรจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของสุดคนึงตั้งแต่วันแรกที่เริ่มงานที่นี่
หน้าที่ของ HR ในบริษัทที่มีความโอบอ้อมอารีเป็นปรัชญาในการทำธุรกิจเป็นอย่างไร
เราพยายามจะนำปรัชญานี้ออกมาใช้และดูว่าวิถีปฏิบัติงานของคนในองค์กรเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งที่สรุปออกมาได้คือ 4Ps ซึ่งก็คือ Core Values หรือวัฒนธรรมองค์กรของเรา เริ่มจาก P แรก คือ Positivity หมายถึงการเปิดใจ มองโลกในแง่ดี เพราะการมองแบบนี้จะทำให้เราเห็นโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการมองคนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ลูกค้า supplier ชุมชน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน มองวิถีการทำงาน มองโลก มองสังคม เราก็จะมองในแง่ดี
ตัวถัดมาก็คือ Partnership เรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจนมากเพราะว่าเราไม่ได้ทำธุรกิจด้วยตัวเราเองคนเดียว แต่เราจะหาพันธมิตรที่เก่งมาร่วมมือด้วยกัน โครงการต่างๆ ที่ออกไปสะท้อนให้เห็นเรื่องนี้อย่างชัดเจน รวมทั้งในการทำเพื่อสังคม ซึ่งพวกเราเชื่อว่าการทำงานเพื่อสังคม ทำให้เราได้รับความสุขอย่างแท้จริง บี.กริมทำงานเพื่อสังคมหลากหลายด้าน เช่น การศึกษา ศิลปะวัฒนธรรม ศาสนา กีฬา และสิ่งแวดล้อม แล้วเราก็พัฒนาพนักงานของเราไปในแนวทางนี้ด้วย
P ตัวที่สามก็คือ Professionalism หรือเรื่องความเก่งและการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งเรื่องนี้พิสูจน์ด้วยผลงานของ
ตลอด 141 ปีที่ผ่านมา บี.กริม มุ่งทำธุรกิจบนพื้นฐานการสร้างชีวิตให้สังคมและสิ่งแวดล้อม ประเทศดีขึ้นเริ่มต้นจากร้านยาในรูปแบบแพทย์สมัยใหม่แห่งแรกในไทย จนทำให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับ ตลอดจนการบุกเบิกธุรกิจที่ช่วยพัฒนาประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเราต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เป็นมืออาชีพ
สุดท้ายคือ Pioneering spirit หมายถึงการคิดริเริ่มอะไรใหม่ๆ การเรียนรู้และพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งอันนี้ก็เห็นได้จากแนวคิดในการนำธุรกิจที่ต้องการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น เราทำธุรกิจที่ช่วยในการพัฒนาประเทศ นับตั้งแต่อดีตธุรกิจที่ทำจะมีตั้งแต่การสาธารณสุข เช่น การผลิตยาและนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์ ตลอดจนการสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งการร่วมขุดคลองรังสิตของห้างบี.กริม ซึ่งเป็นโครงการชลประทานที่ใหญ่ที่สุดในเอเซียอาคเนย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 การติดตั้งระบบโทรเลขและโทรศัพท์ต่างประเทศ รวมถึงการติดตั้งระบบรางของรถไฟฟ้า BTS, MRT และ Airport Link เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่บี.กริมมีมาตั้งแต่ต้นแล้วเช่นกัน
ที่จริงทั้งสี่คำเป็นสิ่งที่อยู่ในตัวตนในการทำธุรกิจของคนบี.กริมอยู่แล้ว บทบาทของ HR ก็คือการเป็น Business Partner ที่สนับสนุนกลยุทธ์ของแต่ละธุรกิจให้บรรลุเป้าหมาย ร่วมคิด ร่วมพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้ทำงานร่วมกันตามแนวทางนี้ เพื่อสร้างประโยชน์ทั้งในด้านธุรกิจ และการพัฒนาพนักงานเพื่อให้เป็นมืออาชีพที่มีความโอบอ้อมอารี (Compassionate Professional) ตัวอย่างธุรกิจโรงไฟฟ้า Vision ของเราคือ “Empowering the World Compassionately” นั่นหมายถึง การ empower คนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ พนักงานของเรา ลูกค้า คู่ค้า ธุรกิจ สังคม ให้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับโลกนี้
แล้วการพัฒนาพนักงานในแบบของบี.กริมเป็นแบบไหน
นอกจากเราจะพัฒนา working skills ซึ่งเป็นเรื่องปกติของทุกบริษัทแล้ว เรายังพัฒนาด้าน life skills ด้วย เพราะเราเชื่อว่าในเรื่องความโอบอ้อมอารี คำว่า โอบอ้อมอารี ก็คือการสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่น เรานำเเนวคิดเรื่อง GNH หรือ Gross National Happiness เข้ามาใช้ในระดับองค์กรซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนและประยุกต์ให้เหมาะสม โดยหลักการมี 3 ข้อ ได้แก่ 1) การเชื่อมโยงกับตัวเอง (Connect to Self) 2) การเชื่อมโยงกับผู้อื่น (Connect to Others) และ 3) การเชื่อมโยงกับธรรมชาติ (Connect to Nature)
เริ่มจากการเชื่อมโยงกับตัวเองก่อน เราต้องมีสติเข้าใจตัวเอง ที่นี่เราจะมีวัฒนธรรมในการทำงานอย่างหนึ่งก็คือก่อนที่จะเริ่มประชุมกัน เราจะมีการทำสมาธิกันก่อน 5 นาที การทำ mindfulness ไม่ได้เป็นเรื่องศาสนาพุทธ ทั่วโลกยอมรับว่าเรื่องนี้ส่งผลถึงสมองและอารมณ์ ซึ่งมันจะส่งต่อไปถึงความสัมพันธ์กับผู้คนด้วย นอกจากการทำสมาธิแล้ว เรายังมีการให้พนักงานเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติในเรื่อง soft skills อีกหลายเรื่องเพื่อพัฒนาด้านสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น
เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ตั้งแต่แรกเข้า เรามี Onboarding Camp 3 วัน 2 คืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้เข้าใจประวัติความเป็นมา ธุรกิจของบี.กริม วัฒนธรรมองค์กรและเรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย
การพัฒนาคนของบี.กริม เราเน้น soft skills ควบคู่กันไปกับ working skills โดยไม่ทิ้ง leadership skills กับ managerial skills รวมถึง technical skills
ส่วนหลักการสุดท้าย การเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เรื่องนี้ที่บี.กริมเราให้ความสำคัญมากเช่นกัน เพราะ บี.กริมชัดเจนว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและรักประเทศไทย อยากสร้างสิ่งดีๆ ให้กับประเทศอย่างจริงใจและจริงจัง เราไม่ใช้คำว่า CSR นะ แต่เรามีสิ่งที่เรียกว่า social engagement เพราะเราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสิ่งที่ดีให้กับสังคมทั้งกับชุมชนที่เราอยู่ ในหลายๆ ด้าน
เช่น ด้านการศึกษา เราให้การสนับสนุนโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เป็นหนึ่งในโครงการที่เราภาคภูมิใจ เป็นโครงการที่เรานำต้นแบบมาจากมูลนิธิบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศเยอรมนี ปลูกฝังนิสัยรักวิทยาศาสตร์ให้เด็กระดับปฐมวัย เรามุ่งหวังที่จะส่งเสริมระบบการศึกษาให้มีคุณภาพ และการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของเด็ก บี.กริม ยังให้การสนับสนุนโครงการการศึกษาทวิภาคีไทย เยอรมันเพราะคุณลิงค์เชื่อเรื่องของการสร้างวิชาชีพเนื่องจากที่เยอรมนีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากและถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของบริษัทเอกชนที่จะต้องช่วยสร้างคน mindset ของเขาคือไม่ได้เอาเรื่องการศึกษาไปฝากไว้ที่รัฐบาลอย่างเดียว แต่ภาคเอกชนต้องมีส่วนร่วมด้วย เพราะเอกชนต้องใช้คนเพื่อทำให้เกิดผลผลิต
นอกจากนี้ เรายังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงทุนร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยนำมหาวิทยาลัย Harbour.Space มหาวิทยาลัยแถวหน้าทางด้านการบริหารธุรกิจ เทคโนโลยี และการออกแบบ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน มาเมืองไทย โดย Harbour.Space เป็นมหาวิทยาลัยเชิงใหม่ มีรูปแบบการศึกษาที่ออกแบบเพื่อโลกอนาคตและคนเจนเนอเรชั่นใหม่ มีทั้งเรื่องของดิจิทัลมาร์เก็ตติง เรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล เรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และอีกหลายเรื่อง
โดยกำลังจะเปิดเทอมแรกในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้วิธีการสอนของที่นี่จะไม่ได้ให้คนลงเรียนตามหลักสูตรแล้วมีอาจารย์มาสอน แต่คนที่จะเรียนจะต้องมาพร้อมกับโปรเจกต์ แล้วมหาวิทยาลัยก็จะหาคนเก่งในด้านนั้นๆ จากทั่วโลกมาช่วยดูโปรเจกต์และเป็นที่ปรึกษา ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีบริษัทใหญ่ๆ ส่งคนมาเรียนที่นี่ในเทอมที่จะเปิดเรียนแล้ว เราลงทุนนำการศึกษาเพื่อธุรกิจดิจิทัลที่ดีที่สุดเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาในประเทศไทยและระบบนิเวศของการทำธุรกิจในเอเชีย
ด้านดนตรีและกีฬา เรื่องดนตรี บี.กริมให้การสนับสนุนดนตรีคลาสสิคในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เรื่องดนตรีไม่ได้มีผลต่อธุรกิจของเราเลยแต่เราทำเพราะเชื่อว่าดนตรีส่งผลในด้านการสร้างความเจริญทางจิตใจให้กับคนในประเทศ และยังเป็นการทำให้ต่างชาติได้รู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้นจากการที่เราสนับสนุนนักดนตรีคลาสิคคนไทยให้ได้มีโอกาสแสดงความสามารถ
ส่วนเรื่องกีฬา คุณลิงค์เป็นคนรักม้า ทั้งยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย ท่านเป็นแรงผลักดันสำคัญในการยกระดับการแข่งขันกีฬาขี่ม้าของเมืองไทยจนได้รับการยอมรับในระดับสากล จนล่าสุดประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาขี่ม้าครั้งยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรกในทวีปเอเซีย “FEI Asian Championships Pattaya 2019” ในเดือนธันวาคมนี้ นี้คือบางส่วนของ social engagement ของบี.กริม
อยากให้ช่วยเล่าถึง การที่บี.กริมนำหลักพรหมวิหาร 4 มาใช้ ในการบริหารคน และ ยกตัวอย่างการทำงานโดยยึดถือหลักพรหมวิหาร 4
ข้อแรกเลยคือ เมตตา ถ้ามองโดยทั่วไปเมตตาก็คือความรัก เราต้องให้พนักงานของเรารักตัวเองก่อนและภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองมี รวมถึงรู้ว่าเราขาดอะไรเพื่อพัฒนาตัวเอง นี่คือพื้นฐานของการรักตัวเอง และในที่ทำงานนอกจากรักตัวเองแล้ว เราต้องรักเพื่อนร่วมงาน รักเจ้านาย รักองค์กร ไปจนถึงการรักสังคมที่เราอยู่ เพราะเราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราต้องมี partnership ที่ดี เพราะฉะนั้นความรักนี่มันเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับสังคม ระดับโลกเลยทีเดียว
พรหมวิหารข้อที่ 2 ก็คือ กรุณา สำหรับคำนี้เราตีความว่าหมายถึงการอยากทำให้คนอื่นดีขึ้น ซึ่งก็คือการพัฒนาคนนั่นเอง เราอยากทำให้แต่ละคนมีชีวิตที่ดีขึ้น อยากให้เขาได้ค้นพบศักยภาพของตัวเอง ได้ทำงานที่ท้าทาย ตรงกับความสามารถของเขา ดังนั้น นอกจากพัฒนาพนักงานแล้ว เรามีกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ ด้วย
มาที่มุทิตา หรือการชื่นชมยินดีกับคนอื่น ในทีนี้ก็คือวัฒนธรรมการทำงานของเราที่ต้องมีความ positivity คือเราชื่นชมคนอื่นได้ พูดถึงคนอื่นในทางที่ดี เราให้เกียรติ เคารพ และเป็นมิตรกับทุกคน
สุดท้ายคืออุเบกขา หรือการวางเฉย บางคนมองว่าการวางเฉยก็คือนิ่งๆ ไม่ต้องทำอะไร แต่เราไม่ได้มองแบบนี้ อุเบกขาของเราหมายถึงสติ การนิ่งคือการใช้สติในการตัดสินเรื่องต่างๆ ที่เข้ามา พอเรามีสติแล้วปัญญาก็จะเกิด ตรงกันข้าม ถ้าเราไม่มีสติ ถ้าไม่เรานิ่ง เวลาสังคมเกิดอะไรหรือมีการเปลี่ยนแปลง เราก็จะตามกระแสไปหมด โดยไม่ดูตัวตนของเรา อย่างยุค digital disruption หลายคนอาจตื่นตระหนกกัน ซึ่งจริงๆ แล้วเราต้องตระหนัก แต่ต้องไม่ตระหนก กลับมามองที่ธุรกิจและตัวตนของเราก่อนว่าคืออะไร
เราไม่ได้จำเป็นต้องตามคนอื่นหมดทุกเรื่อง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราทวนกระแสนะ คือเราเรียนรู้อยู่ตลอด อัปเดตตัวเองเสมอ แต่ต้องใช้สติก่อนตัดสินใจ อย่างจะเอาระบบใหม่ๆ เข้ามา เราจะต้องถามตัวเองว่าเราจะทำระบบนี้เพื่ออะไร ไม่ใช่เอาเข้ามาใช้แค่เพราะว่ามันอินเทรนด์อยู่แล้วก็เลยอยากมี โดยส่วนตัวทุกวันนี้ใช้ข้อนี้เยอะนะ เพราะโลกทุกวันนี้มันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สรุปแล้วทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มันสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้หมดเลย
ถ้าอย่างนั้น เราสามารถสรุปได้ไหมว่าแนวทางในการบริหารทรัพยากรบุคคลในยุคดิจิทัลแบบนี้ต้องใช้อุเบกขามากๆ หรือใช้สติเยอะๆ
แน่นอน ไม่อย่างนั้นมันจะแห่ทำตามๆ กัน ซึ่งจริงๆ มันก็คือการที่เรายังไม่เข้าใจ (connect) ตัวเองนะ ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร
จริงๆ แล้วความเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นทุกวันเลยนะ ไม่ใช่แค่เฉพาะในยุคดิจิทัลอย่างตอนนี้ เพียงแต่ในยุคนี้ความเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นเร็วกว่าเมื่อก่อน แต่ถ้าเรามองความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ เราจะไม่ตื่นตระหนกและจะรู้วิธีรับมือกับมัน เพราะตั้งแต่ทำงาน HR มากว่า 25 ปี มันก็มีเรื่องต่างๆ ที่ต้องปรับตัวตลอดเลยนะ เนื่องจากการบริหารคนแต่ละยุคไม่เหมือนกัน แต่หลักการต่างหากที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
นอกจากเรื่องความเร็วในการเปลี่ยนแปลงแล้ว มันยังมีความเฉพาะเจาะจงในแต่ละคนมากขึ้น เพราะฉะนั้น HRที่ดีต้องสนใจเรื่องเหล่านี้ต้องพัฒนาใฝ่หาความรู้อยู่ตลอดเวลา และรู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี อย่างเช่นใช้ในการอบรมต่างๆ ในยุคดิจิทัลมีแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้เลือกหลายอย่าง คอร์สออนไลน์ก็เยอะ ในฐานะ HR เราก็ต้องดูว่ามันมีประโยชน์อะไรกับพนักงาน ยกตัวอย่างเช่นการพัฒนาคนของเรา เราใช้หลัก 70-20-10 โดย 70 เปอร์เซ็นต์เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง 20 เปอร์เซ็นต์เป็นเรียนรู้จากผู้อื่น และอีก 10 เปอร์เซ็นต์เป็น formal learning หรือการเรียนในห้องเรียน
ซึ่งตรงนี้เราก็เปลี่ยนรูปแบบ เอาแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้ ซึ่งมันได้ผลมากกับคนรุ่นใหม่ ทั้งในแง่ของการเข้าใจความต้องการของพนักงานอย่างแท้จริง รวมถึงเรายังสามารถพัฒนาพนักงานจำนวนมากได้ในระยะเวลาอันสั้น อย่างในปีนี้เองที่บี.กริม นำ Digital Learning Platform ของ SkillLane เข้ามาพัฒนาศักยภาพพนักงานของเรา ให้แต่ละคนสามารถเรียนรู้ได้แบบ On-demand คือเรียนรู้ผ่านออนไลน์ได้เลยทันที ไม่ต้องรอ เพราะสมัยก่อนเรามีข้อจำกัดในการจัดอบรมพนักงานในแต่ละครั้ง ทั้งในเรื่องของเวลา สถานที่ รวมถึงปัญหาส่วนบุคคลเองที่แต่ละคนนั้นมีพื้นฐานไม่เท่ากัน บางคนอาจจะบอกว่าวิทยากรพูดช้า ในขณะที่บางคนรู้สึกว่าสอนเร็วไป รูปแบบการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลก็ช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้
เพราะพนักงานเองสามารถเข้าไปเรียนผ่านโน้ตบุ๊ค หรือสมาร์ทโฟน และควบคุมจังหวะความเร็วในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากความสะดวกในการเรียนที่ได้แล้ว ความหลากหลายของเนื้อหาก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราให้ความสำคัญ ดังนั้นสิ่งที่เขาจะได้เรียนจากแพลตฟอร์มตรงนี้ก็ควรเป็นทักษะจำเป็นที่คนทำงานต้องรู้ และสามารถเลือกเรียนได้ตามใจ
ที่ผ่านมาเราได้เริ่มให้พนักงานเข้าไปเรียนแพลตฟอร์มตรงนี้ในช่วงกลางปี 62 ผลตอบรับถือว่าเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เขาเลือกเรียนมีทั้งเสริมทักษะการทำงาน และเสริมทักษะในการใช้ชีวิตได้ด้วย ผลตอบรับตรงนี้มันสะท้อนถึงความสุขของพนักงานที่เขาสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่ต้องการได้อย่างอิสระจากแพลตฟอร์มที่เราคัดสรรมาให้แล้ว
บี.กริมเป็นบริษัทที่อยู่มาอย่างยาวนาน มีทั้งพนักงานที่อยู่มาหลายสิบปีและพนักงานรุ่นใหม่ อยากทราบว่ามีวิธีดูแลพนักงานอย่างไรในบริษัทที่เรนจ์อายุของพนักงานมีตั้งแต่เพิ่งจบใหม่ไปจนถึง 70 กว่าปี
ที่นี่ความหลากหลายสูงมากจริงๆ เรามีคนอายุ 70 กว่าที่ทำงานกับเรามาตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว ยังมาทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นเวลาทำงานเราจะมองในเรื่องของความเหมือนและความต่าง
ความเหมือนก็คือคนเราทุกคนอยากมีคุณค่า อยากใช้ศักยภาพในตัวเอง และอยากนำศักยภาพในตัวเองไปสร้างประโยชน์ให้คนอื่น แต่ในความเหมือนนั้นก็จะมีความต่างทั้งเรื่องเพศ เชื้อชาติ อายุ ความเชื่อ ซึ่งความต่างนี้เป็นเสน่ห์ที่ทำให้จำเป็นต้องมีงาน people management เพราะเป็นงานที่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ความเหมือนและความต่างสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้ และองค์กรก็สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ให้กับประเทศและโลกได้อีกต่อ
ในบี.กริม เรามีความหลากหลาย นอกจากอายุแล้วยังมี เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา แต่เราสามารถทำงานร่วมกันได้โดยเรา respect กัน อย่าไปมองว่าคนต้องเหมือนกันทุกเรื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็อย่ามองว่าทุกคนต่างกันหมดเลย ต้องมองทั้งมิติความเหมือนและความต่าง
ตั้งแต่ทำงานที่นี่มา มีเรื่องอะไรที่ทำให้ HR อย่างคุณสุดคนึงประทับใจบ้าง
ประทับใจในการพูดแล้วทำของเจ้าของและผู้บริหารที่นี่ จริงๆ มันตั้งแต่ครั้งแรกที่คุยกันแล้วเรารู้สึกว่าองค์กรนี้ทำธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี มันเป็นการสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า Partner ชุมชน สังคม รวมทั้งพนักงานซึ่งจะทำให้เราเติบโตไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ที่โดยส่วนตัวชอบและก็คิดว่า ถ้าตัวเรากับองค์กรมีความเชื่อในแบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน เราก็จะมีความสุขในการทำงานและมีความสุขกับชีวิตด้วย
คนที่นี่เรามีความสุขที่มาจากข้างใน เราไม่ได้มีความสุขจากการแข่งขัน องค์กรเรามีจุดประสงค์ที่ใหญ่กว่าตัวเองและเน้นการให้โอกาสคน ที่สำคัญ ผู้บริหารทุกคนเป็นคนดีและเก่งในงาน อยู่กันแบบพี่น้อง พอทำงานด้วยก็เลยทำให้เรารู้สึกมีพลัง อยากจะทำ อยากจะพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นตามเเนวทางขององค์กรให้ได้ตามที่คิดไว้ เพราะมันคือแนวทางเดียวกันกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา) และจะทำให้เกิดความสุขที่ยั่งยืนด้วยการทำงานของพวกเราทุกคนที่เป็น Compassionate Professionals ในแบบบี.กริม
Tags: Interview, สุดคนึง ขัมภรัตน์, B.Grimm, HR Director, Doing Business with Compassion