หลังจากที่ ‘บีมบีม’ – กมลพร โกสียรักษ์วงศ์ นักแสดงหนังโฆษณาและแอร์โฮสเตสสาว ได้เริ่มอีกหนึ่งบทบาทสำคัญอย่างการเป็นไอดอลวง ‘FEVER’ ที่คอยมอบความสุขให้แก่แฟนคลับ ผ่านเสียงเพลงและท่าเต้นมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เธอจึงมองเห็นถึงระบบและวัฒนธรรมที่เป็นเหมือน ‘สุญญากาศ’ สำหรับเมืองไทย
“วัฒนธรรมญี่ปุ่นเขาแข็งแรงมาก แต่ของไทยอย่างที่บอก คือยังอยู่ในสถานะที่ตกค้างกับวัฒนธรรมนี้อยู่ รับก็รับมาไม่หมดหรือรับมาหมดก็ปรับใช้แค่บางส่วน ซึ่งผลลัพธ์ก็ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมและธรรมเนียมที่เหมาะกับประเทศไทย เลยกลายเป็นความผิดแปลกไปจากสังคม”
“อาจไม่ถึงขั้นต้องยกเลิก แต่ก็ต้องเริ่มแก้ไขได้แล้ว เรื่องไหนจะเหมาะหรือไม่เหมาะกับสังคมไทยต้องมาพูดคุยกัน ต้องทำให้ชัดเจน อย่างน้อยก็เพื่อความเป็นธรรมให้กับไอดอลภายในวง”
ในวันสบายๆ The Momentum ชวนบีมบีมมาถ่ายรูปเล่นบนดาดฟ้าของตึกแห่งหนึ่ง พร้อมพูดคุยเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวงการไอดอลหลากหลายแง่มุม ทั้งกฎระเบียบที่จำกัดเสรีภาพไอดอล ความแตกต่างของวงไอดอลญี่ปุ่นและไอดอลไทย จนถึงเรื่องราวทางการเมืองที่เธอเน้นย้ำตลอดการพูดคุยว่า ไม่ว่าจะเป็นไอดอลหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถแสดงออกได้
ย้อนกลับไปวันแรกที่ฝันอยากเป็นไอดอล เป้าหมายจริงๆ ของคุณคืออะไร
ตอนแรกเราก็ไม่ได้รู้จักวัฒนธรรมไอดอลของญี่ปุ่นมากขนาดนั้น เราเป็นคนที่ติดตามวัฒนธรรมเกิร์ลกรุ๊ป บอยแบนด์ มากกว่า แต่พอประเทศไทยมีประกาศรับสมัครก็เลยลองไปศึกษาดูว่าเพลงเขาเป็นอย่างไร การแสดงเขาเป็นอย่างไร
สำหรับเรา วงไอดอลญี่ปุ่นเป็นวัฒนธรรมที่แปลก เพราะย้อนกลับไปสมัยก่อน เราจะรู้จักญี่ปุ่นในฐานะวงดนตรีร็อกมากกว่า แต่พอเป็นไอดอล เป็นสาวๆ ออกมาเต้นกันหลักสิบคนมันเลยดูใหม่สำหรับเรามากๆ สุดท้ายเราก็ลองสมัครดู เพราะเป็นคนที่ชอบแสดงออกอยู่แล้ว ไม่ได้มองว่าวัฒนธรรมแบบนี้แปลกจนรับไม่ได้ เรามองเป็นอีกหนึ่งความท้าทายมากกว่า
ถึงแม้กฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ จะเป็นสิ่งที่ไอดอลตัดสินใจเลือกเอง แต่ก็น่าคิดต่อเช่นกันว่า กฎระเบียบเหล่านี้จำเป็นกับเหล่าไอดอลมากน้อยแค่ไหน
แน่นอนว่ามันคือการจำกัดเสรีภาพของมนุษย์ มันคือการพรากตัวตนบางอย่างไป ทั้งการห้ามมนุษย์รักกัน ห้ามแสดงออกในหลายๆ ด้าน หรือแม้กระทั่งห้ามถ่ายรูปคู่กับคนอื่น
แต่ถ้าพูดกันตามตรง วิธีดังกล่าวก็คือเส้นทางที่มนุษย์คนหนึ่งได้ ‘เลือก’ และใช้ในการ ‘ไล่ล่า’ ความฝันจนกลายเป็นไอดอลที่สมบูรณ์ ดังนั้นถ้ายังมีคนที่ยอมรับและภูมิใจกับการอยู่ภายใต้กฎระเบียบแบบนี้อยู่ มันก็น่าตั้งคำถามต่อเหมือนกันว่า กฎระเบียบเหล่านี้มันลิดรอนเสรีภาพจนถึงขั้นรับไม่ได้เลยไหม
และถ้าจะยกเลิกและเปลี่ยนกฎระเบียบจริงๆ ก็ทำได้ แต่มันคงไม่ใช่วัฒนธรรมไอดอลที่เป็นอยู่ เราอาจจะต้องมาจำกัดความคำว่า ‘ไอดอล’ กันใหม่
อย่างเรื่องการห้ามมีแฟน ถ้าไอดอลสามารถผลิตผลงานที่ดีตามมาตรฐาน สามารถเอาใจแฟนคลับโดยไม่ขาดตกบกพร่อง การมีแฟนก็คงไม่ใช่เรื่องสำคัญใช่ไหม
ใช่ แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าแฟนคลับจะพอใจ เพราะมีแฟนคลับที่ไม่เข้าใจอยู่เหมือนกันนะ เขาอาจตามพวกเราในฐานะไอดอลที่รับวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ดังนั้นถ้าเราปรับเปลี่ยนกฎบางอย่างให้เข้ากับไทยทันทีเลยมันเสี่ยงเกินไป เราในฐานะไอดอลคือสร้างความสุขให้เหล่าแฟนคลับ ซึ่งถ้าตัวแฟนคลับเองมีหลากหลายความคิด หลากหลายมุมมอง เราก็ต้องเลือกวิธีที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับทุกคนมากที่สุด
เป้าหมายของคุณในฐานะไอดอลคืออะไร
เราอยากได้ประสบการณ์ใหม่ๆ บ้าง แค่นั้นเลย สมัยก่อนเราทำงานในวงการโฆษณา ก็เป็นอีกอาชีพที่สนุกและน่าสนใจเสมอ แต่พอทำมาได้ 3 ปี อยู่ในช่วงที่อิ่มตัว ก็อยากลองอะไรใหม่ๆ ดูบ้าง ซึ่งก็กลายมาเป็นไอดอลอย่างที่เห็น
แน่นอนว่าอนาคต เราต้องขยับไปทำอย่างอื่นต่อแน่ ด้วยอายุและเงื่อนไขของการเป็นไอดอล แต่เราก็ไม่ได้มองว่าตำแหน่งตรงนี้เป็นเหมือนโรงเรียนฝึกสอน แต่เป็นอีกหนึ่งเส้นทางชีวิตที่เราเคยสัมผัส เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่เคยพบเจอ และมีความสุขกับมัน
คุณบอกว่าวง FEVER ให้อิสระกับไอดอลค่อนข้างมากจนคุณรู้สึกพึงพอใจ คำว่า ‘อิสระ’ ที่พูดถึงนั้นมันมากขนาดไหน
ต้องบอกก่อนว่าวง FEVER ไม่ใช่วงที่ให้ไอดอลทำอะไรก็ได้ตามใจอยาก ก็ยังมีกฎระเบียบอยู่บ้างเหมือนกันเช่นการห้ามถ่ายรูป
แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกแตกต่าง คือการที่ทางวงจะมาบอกและให้เหตุผลเสมอว่าทำไมถึงออกกฎแบบนี้ การถ่ายรูปเขาห้ามเพราะทางวงมีกิจกรรม 2-shot (กิจกรรมที่แฟนคลับสามารถเข้ามาถ่ายรูปคู่กับไอดอลได้) เขาจึงต้องออกกฎเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจของเขา กลับกันในบางเรื่องที่เราไม่เห็นด้วยและมองว่าพอมีทางแก้ไขได้ ก็จะพูดคุยกับทางวงตรงๆ เช่น เรื่องเสื้อผ้า ทรงผม
ซึ่งวิธีคิดและการเปิดโอกาสแบบนี้ทำให้เราไม่รู้สึกอึดอัดเท่าไหร่ เราเข้าใจว่าตัวเองทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้เพราะมีเหตุผลมารองรับ ที่สำคัญเราไม่ได้รู้สึกถูกบีบบังคับหรือกดขี่เลย เพราะสามารถเขาไปพูดคุยและหาทางออกร่วมกันได้อยู่เสมอ
“เราเชื่อว่ากฎระเบียบออกแบบมาเพื่อให้คนอยู่ร่วมกันได้ จึงไม่ควรจะเริ่มบังคับใช้ด้วยการคิดเพียงฝ่ายเดียว”
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือวง FEVER ไม่ได้มีการห้ามไอดอลดื่มแอลกอฮอล์ เคยคุยกับเขาไหมว่าทำไมถึงมีนโยบายที่ให้อิสระขนาดนี้
เขาบอกว่าก็พวกเราโตแล้ว อายุถึงกันแล้ว จะไปห้ามกันทำไม เวลาหลังเลิกงานพวกเราก็เป็นคนธรรมดา เขาก็อยากให้เราออกไปใช้ชีวิตกันบ้าง
คุณไม่กลัวแฟนคลับบางคนรับไม่ได้ แล้วเลิกติดตามคุณหรือ
ไม่เลย เพราะเราไม่ใช่คนที่มาคอยนั่งเอาใจแฟนคลับ ถ้าอยากทำอะไรก็ทำทันที และเราเชื่อว่าถ้าแสดงความเป็นตัวเองออกมาเต็มที่ แล้วยังมีคนติดตามอยู่ คนเหล่านี้เราถึงจะเรียกว่า ‘แฟนคลับ’ จริงๆ
ปลายปีที่ผ่านมาคุณคือหนึ่งในเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง คิดว่าไอดอลมีสิทธิที่จะแสดงออกทางการเมืองไหม
ไม่ว่าจะเป็นใคร สถานะไหน บทบาทใด ก็ต้องสามารถพูดได้ เพราะการเมืองมันคือเรื่องของทุกคน เราไม่รู้ว่าวงอื่นๆ มีกฎระเบียบเรื่องการแสดงออกทางการเมืองไหม แต่ถ้ามี เราคิดว่ามันไม่ถูกต้อง มันคนละเรื่องกับการห้ามถ่ายรูปคู่กับคนอื่น เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องธุรกิจ แต่เป็นเรื่องของสังคมและประชาชน
ในวง FEVER มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันบ้างไหม
มีอยู่แล้ว แต่ก็อยู่ร่วมกันได้ แค่ไม่ต้องคุยเรื่องนี้กัน เราอยู่กับคนหมู่มาก ก็เป็นเรื่องปกติที่เห็นต่างกัน แต่ที่สำคัญคือเราจะหาวิธีปรับตัวและอยู่ร่วมกันอย่างไรต่างหาก
เท่าที่ฟังดูเหมือนปัจจุบันไอดอลกำลังอยู่ในสภาวะ ‘สุญญากาศ’ ที่ไม่ได้ห้าม แต่ก็ไม่ได้ให้อิสระในการทำบางอย่าง เป็นสถานะที่ก้ำกึ่งจนน่าอึดอัด
ใช่ มันพูดยากมากเลย วัฒนธรรมที่รับมาจากญี่ปุ่นบางทีมันก็ยากที่จะปรับในไทย
คิดว่าสิ่งที่วงไอดอลในประเทศไทยกับวงไอดอลในประเทศญี่ปุ่นแตกต่างกันคืออะไร
ก็เรื่องสุญญากาศที่พูดไป เพราะย้อนกลับไปญี่ปุ่น วัฒนธรรมเขาแข็งแรงมาก แต่ของไทยอย่างที่บอกคือ อยู่ในสถานะที่ตกค้างกับวัฒนธรรมนี้อยู่ รับก็รับมาไม่หมดหรือรับมาหมดก็ปรับใช้แค่บางส่วน ซึ่งผลลัพธ์ก็ไม่ได้กลายเป็นวัฒนธรรมและธรรมเนียมที่เหมาะกับประเทศไทย เลยกลายเป็นความผิดแปลกไปจากสังคม
เราเคยคิดเล่นๆ ว่าถ้าตัวเองเป็นเจ้าของวงไอดอล คงมีหลายอย่างที่ต้องปรับเปลี่ยนเลย อย่างแรกเลยคือเรื่องการเมืองที่จะไม่มีการปิดกั้น เปิดโอกาสให้พูดได้อย่างเต็มที่ แต่ก็จะคอยพูดคุยคอยแลกเปลี่ยนให้เขาแสดงออกอย่างถูกต้องและมั่นใจที่สุด ส่วนเรื่องการมีแฟน เราจะอธิบายให้ชัดเจนเลยว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ เรื่องไหนจะเหมาะหรือไม่เหมาะกับสังคมไทยต้องมาพูดคุยกัน ต้องทำให้ชัดเจน อย่างน้อยก็เพื่อความเป็นธรรมให้กับไอดอลภายในวง
ในวันที่ไอดอลไม่ได้อยู่ในกระแสหลักอีกต่อไป จุดแข็งที่วงไอดอลต้องหยิบมาใช้เพื่อความอยู่รอดในวงการบันเทิงเมืองไทยคืออะไร
พูดตามตรง ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เราก็ไม่ได้มองว่าวงไอดอลอยู่ในกระแสหลัก เพราะที่ดังจริงๆ คือเพลงมากกว่า เห็นลูกเด็กเล็กแดงเต้นกันเต็มบ้านเต็มเมือง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเพลงสนุกดี แต่ถ้ามานั่งถามกันจริงๆ ว่าคนร้องคือใคร เชื่อว่าเขาไม่ได้สนใจขนาดนั้น กลับกันเรามองว่า ตอนนั้นคนก็ให้ความสนใจไอดอลเพราะความแปลกมากกว่า วงอะไรมีคนเต็มไปหมด จะจับมือก็เสียตังค์ จะถ่ายรูปก็ต้องเสียตังค์
ดังนั้นทุกวันนี้ ถ้าจะเอาให้อยู่รอด ก็ต้องกลับมาขายความแปลกใหม่เช่นเดิม หาอะไรที่แตกต่าง สร้างความโดดเด่นในวงการบันเทิงให้ได้
ทุกวันนี้ในฐานะไอดอล คุณมีความสุขมากขนาดไหน ถ้าให้คะแนนเต็ม 10
คงได้ประมาณ 8-9 เต็ม 10 หักเรื่องกฎระเบียบบางอย่างไป แต่ที่เหลือต้องบอกว่ามีความสุขมาก เราแสดงออกทางการเมืองได้ สามารถไปเที่ยวได้ แค่นี้ก็ดีมากแล้วสำหรับการเป็นไอดอลและวัยรุ่นคนหนึ่ง สมาชิกในวงเองก็ดี พวกเราไม่มีระบบเซ็มบัตสึหรือคามิเซเว่น เรามี 12 คนที่คัดมาแล้วว่าพร้อมใช้งาน ทุกคนมีสถานะเท่าเทียมกันหมด จะมีก็คงแต่ตำแหน่งเซ็นเตอร์ (นักร้องหลัก) ในแต่ละเพลงที่เราใช้วิธีโหวตกันระหว่างไอดอลและทีมงานมากกว่า ไม่ได้วัดจากค่านิยมในตัวไอดอลคนนั้น
ที่เป็นอยู่ในฐานะไอดอลทุกวันนี้ก็ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าวันไหนเป็นไอดอลที่พูดการเมืองไม่ได้ หนูเป็นบ้าแน่ (หัวเราะ)
Tags: ไอดอล, บีมบีมFever, Fever