‘112’ อาจเป็นเพียงเลข 3 ตัว แต่สำหรับคนที่มีความหลังกับมัน ตัวเลขนี้เป็นที่รู้กันว่าคือ มาตรา 112  หนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 

สมยศ พฤกษาเกษมสุข วัย 59 อดีตนักต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน อดีตนักสื่อสารมวลชน มีสถานะอีกอย่างหนึ่งคือเป็น ‘อดีต’ นักโทษคดี ม.112 ในขณะผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูงส่วนใหญ่ ‘ยอมรับผิด’ เพื่อแลกกับอิสรภาพ สมยศกลับเลือก ‘ต่อสู้คดี’ อย่างถึงที่สุด 

หลังถูกจองจำอยู่ในคุกนาน 7 ปี สภาพสังคมไทยเปลี่ยนไปหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ ‘อุดมการณ์’ ของเขา สมยศยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป ด้วยความเชื่อว่านี่คือ ‘สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน’ ที่ประชาชนหนึ่งคนพึงมี

จากอดีตนักโทษ ม.112 วันนี้ เขาเป็น ‘ผู้ต้องหา’ ตามหมายเรียกด้วยความผิดตาม ม.112 อีก 2 ใบ และ ม.116 หรือ ‘ยุยง ปลุกปั่น’ และความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมในที่สาธารณะอีก ซึ่งหมายความว่า มีสิทธิ์ที่เขาจะต้องกลับไปเป็น ‘นักโทษ’ อีกรอบ จากการเลือกเส้นทางปรากฏตัวพร้อมกับการชุมนุมของนักศึกษาคณะราษฎร ซึ่งทำให้ฝ่ายความมั่นคงประเมินเขาว่าเป็น ‘ตัวเชื่อม’ ระหว่างคนรุ่นใหม่ และ ‘คนเสื้อแดง’ รุ่นเก่า

เพราะในขณะที่แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปช.) คนอื่น เลิกเคลื่อนไหวหลังพ้นจากพันธนาการ และบ่วงคดีอันมากมายสมยศกลับเลือกเส้นทาง ‘ลงถนน’ อีกครั้ง ซึ่งแน่นอน ผลพลอยได้ก็คือโดนคดีร้ายแรงอีกรอบ

ชีวิตของสมยศ จึงน่าสนใจมากว่าในวัย 59 ปี คนคนนี้ คิดอย่างไรกับการโดน ม.112 อีกรอบ การเป็นแนวร่วมของคณะราษฎรที่อายุมากที่สุดที่โดนคดี และตัวเขาเตรียมใจอย่างไร กับการต่อสู้ทั้งบนท้องถนนและการต่อสู้คดี ซึ่งหากว่า แพ้ ก็แน่นอนว่าเขาต้องกลับเข้าคุกอีกรอบ กลายเป็นนักโทษที่ต้องติดคุกจนแก่ หรือในคำที่สมยศยอมรับเองว่า ก็อาจจะ ตาย ในคุก

แม้ ม.112 จะ ‘พัง’ หน้าที่การงานและครอบครัวของเขาจนแทบไม่มีอะไรเหลือ ทว่าตลอดการสนทนา ใบหน้าของสมยศกลับพูดถึงความขมขื่นเหล่านั้นด้วยรอยยิ้ม ราวกับชีวิตนี้ไม่มีสิ่งใดสามารถทำร้ายเขาได้อีกแล้ว

หลังออกจากเรือนจำมา เห็นว่าคุณต้องปรับตัวอยู่หลายเรื่อง ตอนนี้เริ่มเข้าที่เข้าทางแล้วหรือยัง

ในการใช้ชีวิตปกติ โดยรวมเข้าที่เข้าทาง แต่ปัญหาเดียวคือเราติดคุกตอนอายุ 50 ปี และอยู่ในคุก 7 ปี พอออกมาก็แก่แล้ว ฉะนั้นการเริ่มต้นชีวิตใหม่จึงเป็นศูนย์ และเป็นการเริ่มต้นที่ทุกข์ทรมาน ไปสมัครงานที่ไหนเขาก็ไม่รับ เคยขอไปขับรถยนต์ส่วนตัว ตอนแรกเขาจะให้ขับ รายได้ดีด้วยนะ แต่พอรู้ข่าวว่าเราเคยโดนคดีนี้ เขาก็ปฏิเสธ ฉะนั้นในแง่การทำงานถือว่าลำบาก

7 ปีที่อยู่ในคุกมันทำลายเศรษฐกิจของครอบครัว ทำลายอาชีพ ทำลายรายได้ต่างๆ เงินที่เราเก็บสะสมไว้ก็ถูกนำมาใช้หมดระหว่างที่อยู่ในคุก พอออกมาก็ไม่มีตังค์ จึงต้องดิ้นรนทำทุกอย่างเพื่อดำรงชีพ 

ครอบครัวผมก็พังตอนติดคุก พอยึดอำนาจ ทหารก็มาจับทั้งเมียทั้งลูกไปปรับทัศนคติ และห้ามรณรงค์การเคลื่อนไหวให้ปล่อยตัวเรา อันนี้ก็กระทบจนครอบครัวแตกสลาย เลยเป็นภาวะที่ทุกข์ทรมาน ออกจากคุกมาอย่างเดียวดาย รายได้ไม่มี ครอบครัวก็ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ทำให้ต้องมาปรับตัวอีกระยะหนึ่งในการใช้ชีวิตคนเดียว 

ม.112 เหมือนเป็นการตีตราให้คนโดนคดีนี้ไม่สามารถอยู่ในสังคมได้เลยหรือเปล่า

นักโทษรุ่นแรกๆ ที่เข้าไปในคุกก่อนผมมักจะโดนทรมาน โดนบังคับให้ทำงานหนัก หรือโดนทำร้ายร่างกาย แต่ขณะเดียวกันการที่พี่น้องประชาชนช่วยกันเรียกร้องให้ปล่อยตัว ทำให้ความทรมานในเชิงทำร้ายร่างกายหายไป อย่างรุ่นผมนี่ยังล่ามโซ่นักโทษกันอยู่ ตอนนี้ไม่มีแล้ว เพราะมีการต่อสู้ให้ยกเลิกการล่ามโซ่ ตอนนี้จึงอาจจะเห็นแค่ใส่กุญแจมือกับกุญแจข้อเท้า 

พอออกมา สังคมก็เปลี่ยนไปเยอะ ช่วงแรก มีคนโจมตีว่านักโทษ ม.112 เป็นภัยต่อสังคม เป็นคนมีปัญหาที่ไปมีเรื่องมีราวกับสถาบันกษัตริย์ ครอบครัวพี่น้องของผมก็ปฏิเสธที่จะใช้นามสกุลร่วมกัน จนต้องเปลี่ยนนามสกุล แต่ปัจจุบันถือว่าสถานการณ์ดีขึ้น กลายเป็นว่าการที่ผมใช้ชีวิตในเรือนจำด้วยข้อหานี้และต่อสู้เพื่อยกเลิก ม.112 เป็นเรื่องที่สังคมพยายามจะเข้าใจและเรียนรู้มากขึ้น กลายเป็นประเด็นที่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน และภาวะป่าเถื่อนของการใช้กฎหมายนี้มากขึ้น 

คิดว่า ม.112 เป็นเครื่องมือเอาผิดคนเห็นต่างไหม

 ไม่ใช่เป็นการเอาผิดคนเห็นต่าง เราต้องเข้าใจว่าตามรัฐธรรมนูญ กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ก็เหมือนกับนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา แล้วมีประมุขเป็นหัวหน้าว่างั้นเถอะ ประมุขของรัฐกินเงินเดือน กินภาษีอากรของประชาชน มีหน้าที่ที่แน่นอน และเป็นที่คาดหวังของคนในสังคม เพราะฉะนั้นคุณไม่สามารถที่จะปฏิเสธการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่สามารถปฏิเสธความเห็นของประชาชน และไม่สามารถปฏิเสธการพูดคุยของประชาชนทุกระดับชั้นที่มีต่อกษัตริย์ได้ เพราะกษัตริย์ถูกคาดหวังจากประชาชนและสังคมสูงมาก คุณอยากเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน คุณจะต้องมีความประพฤติไม่ว่าจะต่อสาธารณะหรือต่อชีวิตส่วนตัวให้เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง 

ด้วยเหตุนี้มาตรา 112 จึงเป็นกฎหมายที่ไม่สะท้อนความจริง ไม่สามารถเป็นตัวแทนเจตนารมณ์หรือสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่มีประมุขเป็นกษัตริย์ เพราะรัฐ ไม่ว่าจะรัฐสภา รัฐบาล ศาล ประชาชน มันมีมิติความสัมพันธ์ มีบทบาทที่เชื่อมโยงกัน คุณปฏิเสธลอยๆ ไม่ได้ นี่เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นอยู่แล้ว ไม่ว่าใครก็ตาม ฉะนั้นใครอ้างว่าต้องปกป้องประมุขของรัฐมันไม่ใช่ คุณจะปกป้องประมุขของรัฐก็ต้องทำให้อยู่ในบทบาทหน้าที่และความสัมพันธ์ในสังคมร่วมกับทุกฝ่ายอย่างเหมาะสม 

“เราต้องตั้งคำถามว่าเราอยู่ในรัฐแบบไหน คุณจะอยู่ในรัฐแบบอยุธยาไหม ที่ไม่พอใจใครก็จับไปตัดหัว 7 ชั่วโคตร อยากจะได้ลูกเมียใครมาเป็นภรรยา มาเป็นสมบัติส่วนตัว คุณก็ไปหยิบมาได้ คุณต้องการรัฐแบบนั้นใช่ไหม”

หรือคุณต้องการให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เราต้องถามคนทุกฝ่ายว่าต้องการกษัตริย์แบบไหน แบบที่เป็นอยู่ แบบอยุธยา หรือแบบข้อเสนอให้ปฏิรูปของเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์, แกนนำกลุ่มราษฎร) นั่นก็ยังเป็นกษัตริย์อยู่นะ แต่เขาคาดหวังบทบาทหน้าที่ในครรลองประชาธิปไตย กษัตริย์ที่วิจารณ์ได้ อยู่ในประชาธิปไตย อยู่ในสิทธิเสรีภาพ ฉะนั้นคำพูดว่าปกป้องกษัตริย์หรือต้องการธำรงรักษาไว้ คุณต้องทำให้กษัตริย์อยู่ในครรลองของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เดี๋ยวนี้โลกสื่อสารกันแบบสมัยใหม่ ยังไงก็โดนเขาถ่ายรูปและเอามาวิจารณ์อยู่ดี 

ขณะที่ผู้โดนคดี ม.112 คนอื่นยอมรับสารภาพผิดเพื่อแลกกับเสรีภาพที่เร็วขึ้น แต่คุณกลับเลือกต่อสู้คดีถึง 16 ครั้ง อะไรทำให้ตัดสินใจแบบนั้น

มันเป็นเรื่องการมองหน้าที่ชีวิตของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน แน่นอนว่าเสรีภาพเป็นความปรารถนาของทุกคน เสรีภาพคือลมหายใจของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว การที่คุณถูกจองจำเพราะเหตุที่ว่าคุณกำลังใช้เสรีภาพ นี่คือปัญหาที่เราต้องมาคิดทบทวนกัน ผมจึงเลือกที่จะถูกจองจำเพื่อจะต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ผมไม่ได้อยู่ในคุกเพื่อความสงสารหรือเพื่อความเมตตาของใคร ผมอยู่เพื่อจะต่อสู้กับความอยุติธรรมของกฎหมายนี้ แต่ถ้าผมรับว่าผมผิด มันเหมือนกับผมต้องติดคุกไปตลอดชีวิต อาจจะได้เสรีภาพทางกายเดินออกจากคุกขึ้นมา แต่มันเหมือนผมติดคุกตัวเองทางมโนธรรม 

ผมมานั่งถามตัวเองว่า เอ๊ะ ตกลงเราผิดใช่ไหม ไอ้เรื่องถูกกล่าวหา ม.112 เนี่ย แน่นอนว่าบ้านเมืองหรือกฎหมายก็จะบอกว่าคุณแหละผิด เพราะกฎหมายบอกว่าไม่ให้คุณหมิ่นประมาท ดังนั้น อย่าให้ผมพูดว่าผมผิด ผมอยากให้รัฐพูดว่าคุณผิด มันเป็นประโยคง่ายๆ ของชีวิต คำว่าผิดกับถูก อยุติธรรมกับยุติธรรม เสรีภาพกับการถูกจองจำ

“เพราะฉะนั้น ตรงนี้มันแลกมาด้วยความเจ็บปวด ด้วยความทุกข์ทรมาน แต่มันมีความหมายต่อชีวิตของผม”

ซึ่งผมก็ได้ผลตอบรับที่ดี ประชาชนให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านการเงินไม่ให้ชีวิตผมต้องพังทลาย ผมเองก็สามารถออกมาผลิตเรื่องราวในหนังสือของผมได้และมีคนอุดหนุน ชีวิตไม่ถึงกับพินาศย่อยยับ แล้วเราได้ความหมายของชีวิต ได้เสรีภาพที่เราพูดได้อย่างเต็มภาคภูมิ 

สำหรับคนจำนวนมาก เพื่อเสรีภาพชั่วครู่ชั่วยามในขณะนั้น เขายินยอมที่จะสารภาพผิดเพราะเขาทรมานในคุก สารภาพผิดว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ สารภาพผิดว่าคึกคะนอง หรือสารภาพผิดว่าได้ข้อมูลผิดๆ แต่ผมจะอธิบายตัวเองยังไงว่าผมทำความผิดในฐานะทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ ผมอธิบายไม่ได้น่ะ แล้วผมก็ไม่ได้ทำเองด้วย คนอื่นเขาแสดงความคิดเห็นผ่านหนังสือของผม ผมอธิบายไม่ได้และผมก็ไม่ยอมที่จะอธิบายด้วย เพราะฉะนั้นผมยอมอยู่ในคุกเพื่อรักษาความเป็นสื่อมวลชนเพื่อบอกว่ามันไม่ผิด แต่ไอ้ความผิดเช่นว่านี้ขอให้คุณเป็นฝ่ายพูด ซึ่งรัฐในนามของศาลก็ต้องบอกว่าผิด และคุณต้องติดคุกไปตามโทษของความผิดนั้น 

ตอนนี้สังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมว่าคดีฆ่าคนตายยังได้รับโทษน้อยกว่า ม.112 อีก คุณมองอย่างไรกับเรื่องนี้

จริงๆ เป็นปัญหาตรรกะทางกฎหมายมาก เราต้องดูโทษของกฎหมายที่กระทำต่อปัจเจกชนคนหนึ่งซึ่งกระทำความผิดตามกฎหมายนั้น ถ้าดูความร้ายแรงก็วัดกันที่ปริมาณปีที่ถูกจองจำ ต่ำกว่า 3 ปีอาจจะเป็นโทษที่เบาบาง  3-5 ปีก็หนักขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง เกิน 10 ปีถือว่ารุนแรง เป็นโทษหนัก และความรุนแรงสูงสุดของกฎหมายคือประหารชีวิต คุณไม่สามารถเป็นมนุษย์ได้อีกแล้ว สมควรถูกฆ่าตายตัดออกไปจากสังคม

คดีของผมตอนแรกยังไม่เกิดโทษด้วยนะ แต่โทษอยู่ระหว่างแค่ 3-15 ปี และเราก็รู้ว่าเกณฑ์มาตรฐานที่เขาใช้ลงโทษอยู่ที่ประมาณ 5 ปีสำหรับคนที่ต่อสู้คดี ไม่ยอมรับผิด ถ้ารับผิดก็ลดลงมาเหลือ 2 ปีครึ่ง มันก็น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ใช่โทษร้ายแรง ถ้าเราพิจารณาจากจำนวนการลงโทษต่อปีที่ต้องถูกจองจำ แต่ว่ามีหลายคดีมากในตอนนั้นที่ได้รับสิทธิประกันตัวในโทษฆ่าคนตาย เช่น คดีบ่อนอกที่ยิงนายเจริญ วัดอักษร (แกนนำต่อต้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์) ก็ได้รับการประกันตัว หรือกรณีหมอนิ่ม (แพทย์หญิงนิธิวดี ภู่เจริญยศ อดีตภรรยาของเอ็กซ์ จักรกฤษณ์ อดีตนักยิงปืนทีมชาติไทย) ศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิตในฐานะบงการฆ่าสามี แต่ศาลอุทธรณ์ให้ประกันตัว โดยอธิบายว่าเป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาถ้าคดียังไม่สิ้นสุด ก็ดี ผมเห็นด้วยว่าเป็นการให้สิทธิการต่อสู้คดีสำหรับผู้ถูกกล่าวหา แต่ทำไมพวกที่โดน 112 กลับไม่ได้รับสิทธิแบบนั้น ทั้งที่โทษไม่เกิน 15 ปีอยู่แล้ว หรืออาจสะสมไปเต็มที่ไม่เกิน 50 ปีตามกฎหมายสูงสุด ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นโทษรุนแรง ควรที่จะให้การประกันตัว 

เรื่องนี้ทำให้ภาพพจน์ของกระบวนการยุติธรรมบ้านเราเสียหาย เมื่อความยุติธรรมได้รับความเสียหายในเชิงภาพลักษณ์ มันก็ไปกระทบเศรษฐกิจ กระทบความมั่นใจของผู้คนในการลงทุนว่ารัฐจะใช้กฎหมาย ใช้กระบวนการยุติธรรมตามอำเภอใจด้วยการใช้ดุจพินิจที่ไม่มีมาตรฐาน ดุจพินิจเป็นเรื่องแล้วแต่เขาพินิจ คือระบบกระบวนการยุติธรรมบ้านเราเขาเรียกว่าชั่งน้ำหนักพยาน มันไปได้หมดเลย ศาลอาจจะชั่งน้ำหนักดูแล้วสมควรปล่อย ชั่งน้ำหนักดูแล้วสมควรรอการลงอาญา มันจึงเกิดปัญหา  

เราจึงต้องมีการแก้ไขกระบวนการยุติธรรมให้น่าเชื่อถือ ลดการใช้ดุจพินิจเพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงของคดีให้มากที่สุด ม.112 ก็เช่นกันที่ต้องนำมาสู่การแก้ไข มันผิดตั้งแต่หลักการเสรีภาพแล้ว ประมุขของรัฐ องค์กรของรัฐควรอยู่ในสายตาประชาชน ประชาชนควรมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น เพราะเกี่ยวเนื่องกับการใช้ภาษีอากร เกี่ยวเนื่องกับการใช้นโยบายของรัฐ เกี่ยวเนื่องกับแนวปฏิบัติของสังคมทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้นคุณต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ หนีไม่พ้นหรอก

ในฐานะเป็นคนที่โดนคดี ม.112 ยุคแรกๆ จนถึงวันนี้เห็นการใช้ ม.112 หรือท่าทีของศาลแตกต่างไปตามบริบทของสังคมไหม

เบื้องต้น ผมคิดว่ามีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อย่างเรื่องการประกันตัว ศาลก็อาจจะเข้าใจมากขึ้นตามบริบทของสังคมแบบใหม่ เราจะเห็นได้ว่าแม้มีการขอหมายจับ ศาลก็ไม่อนุมัติหมายจับให้ผ่าน ซึ่งกระบวนการยุติธรรมตามปกติคือ การออกหมายเรียก การส่งตัวไปยังอัยการ อัยการตรวจสำนวน แล้วมีคำสั่งหรือมีความเห็นฟ้องหรือไม่ฟ้อง ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายเมื่อไปสู่กระบวนการยุติธรรมขั้นสุดท้ายของศาลจะเป็นยังไง แต่ผมคิดว่าจากการต่อสู้ในอดีตของนักโทษ ม.112 ช่วยทำให้ศาลจะต้องอำนวยความยุติธรรมมากขึ้น 

เราจะเห็นตัวอย่างของการพิจารณาคดีคุณบัณฑิต อานียา (นักเขียนอิสระผู้ถูกฟ้องร้องคดี ม.112 หลายครั้ง) ซึ่งศาลตีความไปอีกแบบ ถ้าในแบบรุ่นผมก็ต้องใช้การตีความ ถ้าตีความได้ไม่ชัดเจนต้องยกผลประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ซึ่งเป็นหลักกฎหมาย แต่ว่าการลงโทษคดีของคุณอัญชัญ ปรีเลิศ (อดีตข้าราชการระดับซี 8 กรมสรรพากร ผู้ต้องหาคดี ม.112 ที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุกมากที่สุดในประวัติศาสตร์) ก็เป็นคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะว่าก่อนหน้านี้คนที่สารภาพอย่างคุณทอม ดันดี (ศิลปินที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มคนเสื้อแดง และอดีตผู้ต้องโทษคดี ม.112) พอส่งตัวไปที่ศาล แกสารภาพทันทีเลย ศาลบอกว่าถึงไม่สารภาพ ศาลก็ยกฟ้องนะ เป็นเรื่องที่น่าดีใจนะครับ เพราะว่าศาลอาจจะมองว่าคดีแบบนี้มันไม่ควรจะเอามาฟ้องด้วย ไม่มีประโยชน์ต่อสังคมเท่าไหร่ ก็เป็นธรรมดาที่คนอาจจะตำหนิติเตียนหรือไปรับข้อมูลผิดแล้วแสดงความคิดเห็น หรือแม้กระทั่งแชร์ ก็สมควรยกฟ้อง 

ช่วงหลังมานี้ ตัวเลขผู้โดนคดี ม.112 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี แต่ในส่วนขององค์กรสิทธิมนุษยชนสำหรับให้ความช่วยเหลือนั้น ยังถือว่าน้อยไปไหม

 องค์กรสิทธิมนุษยชนและนักการเมืองจำนวนมากยังขาดความกล้าหาญด้านจริยธรรม ทุกคนรู้ว่านี่คือปัญหาที่มีอยู่ในสังคม และทุกคนรู้ด้วยว่าวันใดวันหนึ่งจะเกิดปัญหานี้ขึ้นกับตัวเขา เพื่อนเขา องค์กรเขา แต่กลับไม่ยอมเผชิญหน้ากับความจริง ดังนั้นปัญหานี้ไม่จบหรอกครับ เพราะมันเกิดขึ้นนับตั้งแต่มีกฎหมายนี้แล้ว

คุณวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ไปหาเสียงพูดปราศรัยก็โดน ซึ่งถ้าจะเอากันแบบนั้นนะ โดนกันทุกคน กฎหมายนี้มันใช้เหวี่ยงแห ใช้ปิดกั้นเสรีภาพ แต่ว่าองค์กรต่างๆ เหล่านี้ ยังขาดความกล้าหาญ เขาก็เลี่ยงไปทำอย่างอื่น โดยละเลยที่จะมองสิทธิมนุษยชนของคนเหล่านี้ รวมถึงนักการเมืองด้วย การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะถูกสกัดกั้นไม่ให้อภิปรายเรื่อง ม.112 แล้วก็มีนักการเมืองประเภทที่เรียกว่า ‘ตะไคร่น้ำ’ ยิ่งกว่าไดโนเสาร์เต่าพันปี (หัวเราะ) ตะไคร่น้ำอยู่ยังไงก็อยู่อย่างนั้น ไม่ตาย แต่ไม่มีประโยชน์ต่อบ้านเมือง 

ก่อนหน้านั้น รัฐเคยบอกว่าจะไม่มีการใช้ ม.112 แล้ว แต่สุดท้ายก็นำกลับมาใช้อีก คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

(หัวเราะ) สังคมไทยเราควรจะอยู่กันแบบไหนล่ะ ประมุขพูดอย่าง ผู้บริหารพูดอีกอย่าง แต่คุณต้องเข้าใจนะครับ ผู้บริหารอย่างนายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เขายึดอำนาจโดยอ้างเหตุปกป้องสถาบันกษัตริย์ แล้วคุณประยุทธ์ประกาศแม้กระทั่งว่าตัวเองเป็นศาสตร์พระราชา ออกทีวีสอนประชาชนเป็นศาสตร์พระราชา สิ่งที่คุณประยุทธ์ทำนี่บอกได้ไหมว่าคือการกระทำแบบเดียวกันในฐานะสถาบันกษัตริย์ ดังนั้นมันเป็นความย้อนแย้งในสังคมไทยมาตลอด 

รัชกาลที่ 9 บอกว่าอย่าทำเลย คนเดือดร้อนคือกษัตริย์ กษัตริย์วิจารณ์ได้ จากพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน นายทักษิณ ชินวัตรจึงรีบถอนฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล เพื่อจะน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมนำเอาพระราชดำรัสมาปฏิบัติใช้ ต่อมารัชกาลที่ 10 บอกว่าอย่าเลย อย่าใช้ คนที่ยืนยันได้คือ สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ แกยืนยันว่าพระองค์ไม่อยากใช้ ถึงขั้นมีหนังสือไปถึงศาลและอัยการสูงสุดว่าไม่ให้ใช้กฎหมายนี้ ในทางกฎหมายถือว่าสละสิทธิ์ เราจึงคาดหวังคำว่า ‘ไม่ประสงค์จะมีการบังคับใช้ ม.112’ เป็นพระราชดำรัสอันควรที่คนจงรักภักดีพึงน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมนำมาปฏิบัติ

“ถ้าเกิดคุณกำลังจงรักภักดี การกระทำแบบนี้มันสะท้อนความไม่จงรักภักดี เพราะจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย อาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่ากษัตริย์ตรัสแล้วคืนคำอย่างนั้นหรือ” 

แน่นอนว่าคุณประยุทธ์คือคนที่ต้องรับผิดชอบคำพูดของตัวเอง เพราะเขาบอกเองว่าพระองค์ทรงมีเมตตาไม่ใช้ ม.112 แต่วันดีคืนดีคุณประยุทธ์กลับมาบอกว่าต้องใช้ คุณอยากได้ผู้บริหารประเทศเช่นนี้ในสังคมแบบนี้หรือ อะไรคือความแน่นอนของการบริหารราชการแผ่นดิน อะไรคือมาตรฐานที่เราจะไว้เนื้อเชื่อใจในกระบวนยุติธรรม 

สรุปแล้วปัญหาของ ม.112 คือตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์

หมดเลย ตัวกฎหมายเป็นถ้อยคำที่ถูกตีความได้อย่างกว้างขวาง คลุมเครือ ตีไปซ้าย ตีไปขวา ตีไปข้างหน้าได้หมด การกระทำทุกชนิดของคุณที่เอ่ยคำว่า ‘กษัตริย์’ มีสิทธิ์โดนได้หมด เพราะฉะนั้น ตัวกฎหมายนี้เป็นปัญหาแน่นอน แล้วมันไปผูกคำว่า ‘อาฆาตมาดร้าย’ จึงทำให้โทษหนัก เพราะต้องตีความว่าการแสดงความคิดเห็นของคุณนั้น อะไรคือดูหมิ่น อะไรคือหมิ่นประมาท อะไรคืออาฆาตมาดร้าย ก็เลยทำให้มีปัญหาในการตีความ 

สอง มันมีปัญหาที่น่าหนักใจในทางกระบวนการยุติธรรม ผู้พิพากษาเป็นตัวแทนพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ที่จะต้องตัดสินในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ เบื้องหลังของผู้พิพากษาคือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ จำเลยกำลังดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และเป็นผู้มีข้อพิพาทกับพระมหากษัตริย์ในทางภาษากฎหมาย แล้วศาลจะตัดสินอย่างไรล่ะ ในเมื่อคุณเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ และเด็กพวกนี้เขากำลังมีปัญหากับพระมหากษัตริย์ เขากำลังพูดเรื่องทรัพย์สิน เขากำลังพูดถึงเรื่องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นที่มีต่อพระมหากษัตริย์ เขากำลังพูดเรื่องกำลังพลที่ถูกย้ายไปสังกัดพระมหากษัตริย์แทนที่จะอยู่กับกระทรวงกลาโหม หรือกองทัพ แล้วศาลจะตัดสินยังไง

ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามแน่ว่าจะอำนวยความยุติธรรมแค่ไหน จะยอมรับได้ยังไง ในเมื่อคุณเป็นตัวแทนของฝ่ายข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ในทางปฏิบัติจำเลยมีสิทธิจะช่วยโต้แย้งว่าผมไม่ยอมรับผู้พิพากษาท่านนี้นะ เพราะผู้พิพากษาท่านนี้เป็นญาติกับโจทก์ผู้กล่าวหาที่เอาผิดผม ศาลก็ต้องเปลี่ยนคน แต่ว่าถ้าเป็น ม.112 จะเปลี่ยนยังไง 

 สาม อุดมการณ์และทัศนคติ ทุกคนถูกบ่มเพาะให้เชื่อเรื่องความจงรักภักดี ให้เชื่อเรื่องหน้าที่ที่มีต่อพระมหากษัตริย์และปฏิญาณตน เขาก็จะมองการกระทำของเด็กในทางที่ว่าเป็นคนดูหมิ่น ไม่ยอมรับสถาบันกษัตริย์ อุดมการณ์และทัศนคติเช่นนี้ทำให้เกิดความโน้มเอียงในทางปฏิบัติ เช่น ผมไม่ปฏิบัติไม่ได้ เดี๋ยวโดนเขาสอบสวนว่าไม่จงรักภักดีหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ก็รีบทำคดีส่งไป คุณจะสู้ยังไงกับอุดมการณ์ทางสังคมที่ถูกบ่มเพาะและสร้างขึ้นมากมายว่าใครวิจารณ์สถาบันกษัตริย์เป็นพวกชังชาติ มันเลยกลายเป็นปัญหา ฉะนั้นดีที่สุด ยกเลิกไปก็ไม่มีใครว่าอะไร 

ความศรัทธาในสถาบันกษัตริย์จะเป็นอย่างไร หากยังไม่มีการแก้ไขหรือยกเลิก ม.112

 ก็จะเป็นอย่างนี้แหละ จะมีคนติดคุกแล้วเขาจะสะสมความโกรธแค้นไว้ในใจ จะมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างซี้ซั้วเยอะแยะไปหมด ซึ่งโทษเขาไม่ได้ และผมบอกเลยว่ามันไม่เป็นผลดีนะ เพราะคุณแก้ข่าวไม่ได้ คนเขาจะไปเชื่อข่าวนั้น แล้ววันหนึ่งเมื่อเขาเชื่อแล้ว เรื่องจะไปกันใหญ่ แล้วคุณจะยิ่งเสื่อมลง 

จะมีอนาคตไหมล่ะประเทศไทย จะมีทางเลือกอะไรให้สังคมมันก้าวหน้าไหม คิดก็ผิดแล้วเรื่อง ม.112 เพราะคุณมองสังคมแบบหยุดนิ่ง คุณมองแบบศูนย์ คุณมองเป็นวัตถุที่ไม่เปลี่ยนเลยหรือ มันขัดกับความจริง วิวัฒนาการของสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง ล้วนเคลื่อนไหว มีเกิด มีเสื่อม มีดับ มีสูญ มีเกิดใหม่ คุณจะให้มันหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง เป็นไปไม่ได้ ความตายก็มาเยือนอยู่ดี สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยน

อะไรที่ทำให้คุณตัดสินใจร่วมขึ้นเวทีกับกลุ่มราษฎร

(นิ่งคิด) จริงๆ ไม่ได้คิดว่าต้องไปเป็นส่วนหนึ่งของเวทีนะ คิดแค่ว่าอยากจะสนับสนุน เหมือนเรามีภารกิจ มีอุดมการณ์แบบหนึ่ง ในอีกยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งตรงกับที่คนรุ่นใหม่เขาคิด และเขากล้ากว่าเรา มีความสามารถมากกว่าเราเท่านั้นเอง เราก็แค่สนับสนุน แต่เขาคาดหวังให้เราสนับสนุนมากไปกว่าการสนับสนุนแบบมวลชน 

เพราะฉะนั้นเมื่อเขาเสนอมาว่าให้ผมช่วยเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้หน่อย ช่วยอธิบายหน่อยว่าทำไมต้องยกเลิก ม.112 ผมก็ยินดีไปช่วยเขา แต่ไม่ได้ออกไปเคลื่อนไหวทุกครั้ง เพราะผมก็มีข้อจำกัดเรื่องรายได้ สุดท้ายก็โดนคดีว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม เพราะคนเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมจำนวนมากและมาถ่ายรูปกับเรา นิยามแกนนำจึงเกิดขึ้นในทางกฎหมาย แต่ผมไม่ได้เป็นแกนนำ เขาแค่เชิญขึ้นไปพูด จะปฏิเสธได้ยังไง ผมก็ต้องไปกล่าวบนเวที ยินดีกับคนรุ่นใหม่ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อเสรีภาพ ผมจะไม่เห็นด้วยได้ยังไง ผมไม่ทิ้งอุดมการณ์และยินดีที่จะสนับสนุนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

รอบนี้โดนคดีอะไรบ้าง

 มี ม.112  ม.116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมแล้ว 4 คดี แต่ผมเชื่อว่าคงจบด้วยดี ถ้าจะต้องเข้าคุกอีกรอบ สำหรับผมไม่มีปัญหานะ กินข้าวฟรี ดีกว่าอยู่ข้างนอก ตอนนี้ข้าวจานละ 50 บาท จะหาตังค์ที่ไหนไปซื้อกิน เงินเดือน 3 หมื่นไม่พอกินแล้วตอนนี้ 

ที่ผ่านมา มีแกนนำหลายคนถูกจำคุกและเมื่อได้รับการปล่อยตัวออกมาก็เลือกจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก อะไรที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจวางมือ

 ส่วนใหญ่ก็คือเข็ด สองคือหลังออกจากคุกแล้วเผชิญกับปัญหาครอบครัว ปัญหาการทำงาน ปัญหารายได้ในการดำรงชีวิต ก็จะหลีกเลี่ยงในการกระทำผิด แน่นอนว่าคนที่กระทำผิดแล้วทำผิดซ้ำจะโดนเพิ่มโทษโดยอัตโนมัติ และถ้าเข้าไปในคุก การทำผิดซ้ำหมายความว่าคุณจะถูกยกเว้นไม่ให้ได้รับสิทธิ์เท่ากับนักโทษอื่นๆ คุณกลายเป็นนักโทษชั้นเลว ในขณะที่คนอื่นเข้าไปเป็นนักโทษชั้นกลาง ไต่ไปเป็นนักโทษชั้นดี นักโทษชั้นดีมาก นักโทษชั้นเยี่ยม ซึ่งจะได้สิทธิพิเศษต่างๆ ลดหลั่นลงมาเพื่อจูงใจให้นักโทษทำความดี แต่พอคุณโดนคดีแบบนี้และทำผิดซ้ำอีก เขาจะลงโทษคุณหนักขึ้น คนก็เลยหลีกเลี่ยงไม่ทำ 

กรณีของผม ออกจากคุกมาก็ยังใช้สิทธิเสรีภาพของผมตามปกติ  ผมไม่สามารถเอาหูไปนา เอาตาไปไร่กับเหตุการณ์บ้านเมืองได้ เพียงแต่ว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่ไม่ปกติสุข คือไม่ยอมรับสิทธิของผม ถ้ากฎหมายบอกว่าไม่ได้ ห้ามแสดงความคิดเห็นต่อเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ ไม่งั้นจะเอาเข้าคุก ก็เอาเข้าคุกไป ผมไม่ได้รู้สึกเข็ดหลาบอะไร เพราะผมคิดว่านี่คือเสรีภาพและเป็นความปรารถนาดีของผมที่มีต่อสถาบันทางการเมือง ผมไม่อยากให้เกิดสงคราม ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ไม่อยากให้ใครถูกจองจำ ผมก็ต้องออกมาพูด ผมกับพี่น้องประชาชนมันแยกกันไม่ได้ พูดง่ายๆ คือมีบุญคุณต่อกัน ฉะนั้นผมจะทำหน้าที่ของผมต่อไป 

ตั้งใจจะต่อสู้ไปตลอดชีวิตเลยไหม

ผมคิดว่าตัวเองก็ทำหน้าที่ตามปกติ ไม่รู้ว่าสู้หรือไม่สู้ แต่นี่เป็นชีวิตที่มีคุณค่าสำหรับผม การทำอะไรเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น ไม่ว่าจะเล็กน้อย จนถึงทำเพื่อประเทศชาติ ผมถือว่าผมได้ทำหน้าที่เป็นพลเมืองดีของประเทศนี้ ผมกินข้าวเพราะมีชาวนาให้ข้าวกิน กรรมกรสร้างบ้านให้ผมอยู่ ผมก็ต้องทำงานรับใช้พวกเขาตามโอกาส ตามเงื่อนไข ผมควรที่จะใช้ความรู้ที่เรียนมาแสดงความคิดเห็นต่อบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ เป็นรัฐบาล เป็นทหาร เป็นตุลาการ เป็นอะไรก็แล้วแต่ ผมปฏิเสธว่าผมไม่เห็น ไม่รับรู้ไม่ได้ ผมมีความห่วงใยคนรุ่นใหม่ซึ่งเขาก็มีความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นสังคมก้าวหน้า อยากเห็นรัฐสวัสดิการ อยากเห็นคนเท่าเทียม แล้วผมจะอยู่เฉยได้ยังไง เพราะผมไม่ได้เป็นคนที่โดดเดี่ยวออกจากสังคม ผมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม 

ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองต่อสู้อะไรมากมายนะ ผมถือว่าผมทำหน้าที่ตามความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ในการใช้ชีวิตของผมเท่านั้นเอง แล้ววันหนึ่งกฎหมายก็มาจัดการผม ตำรวจมาจับกุมผมก็จับไป คนเห็นว่าไม่ยุติธรรมก็สู้กันไป ส่วนผมก็ต้องรับสภาพแบบนี้ แต่ถือว่าได้ทำหน้าที่แล้ว ไม่ได้จบชีวิตไปอย่างไร้สาระ กิน นอน เที่ยว เยี่ยว สืบพันธ์ุ โดยไม่สนใจว่าใครจะจน ใครจะรวย

คุณดูเป็นคนที่ยึดมั่นในอดุมการณ์มาโดยตลอด ขณะที่บางคนอุดมการณ์อย่างจะหล่นหายไประหว่างทาง อุดมการณ์สำคัญต่อการมีชีวิตอยู่ของคนๆ หนึ่งยังไง

 อุดมการณ์มันเป็นคุณค่าอย่างหนึ่ง มันกินไม่ได้ แต่มันให้ความหมายต่อชีวิต ถ้าเราใช้ชีวิตปกติธรรมดา มันก็คือสัตว์ทั่วๆ ไป เป็นสิ่งมีชีวิตทั่วๆ ไป  การมีอุดมการณ์หรืออุดมคติ พูดง่ายๆ คือศีลธรรมที่ทำให้คุณได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่แท้จริง

“อุดมการณ์มันช่วยเติมสีสันของชีวิตและทำให้คุณเป็นคน ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีอะไรน่าเชื่อถือในสังคม ไม่ใช่บอกว่าผมจะสู้จนตัวตายเพื่อเสรีภาพ เพื่อพี่น้องประชาชน แต่วันดีคืนดีได้เป็นนักการเมืองก็ลืมหมดเลย”

ฉะนั้นเราจะไม่เป็นมนุษย์ที่มีศีลธรรม ถ้าคุณไม่แม้กระทั่งจะเชื่อถือตัวเอง อันนี้จึงเป็นหลักการใช้ชีวิตที่เคารพตนเอง 

จากปี 2549 จนถึง 2564 คิดว่าที่ผ่านมามีความหวังไหมว่า บ้านเมืองจะเปลี่ยนไป

มีความหวังตลอด เพราะมันเปลี่ยนตลอด บางทีการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้น ไม่สามารถเห็นได้ทันทีทันใด แต่เริ่มเห็นแล้ว เช่น อยู่ดีๆ มีกลุ่มนักเรียนเลวมาบอกว่าขอเสรีภาพในการไว้ทรงผม นั่นแหละครับคือการเปลี่ยนแปลง 

ความคิดของกลุ่มนักเรียนเปลี่ยนไป เขาอยากเห็นเสรีภาพในการเลือกเพศ อยากทำแท้งเสรี นี่คือการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเลย เหมือนเมื่อก่อนมีการคลุมถุงชนใช่ไหม แต่ตอนนี้เลิกแล้ว หรือเมื่อก่อนต้องยืนในโรงหนัง เดี๋ยวนี้มีคนไม่ยืนแล้ว นี่คือการเปลี่ยนแปลง อาจเป็นเพราะมนุษย์คิดในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น แทนที่จะคิดถึงพิธีกรรมหรือความศักดิ์สิทธิ์ เขาโตมาด้วยอาชีพ ด้วยเงินของตัวเอง ไม่ได้เกี่ยวกับใครสักหน่อย เพราะฉะนั้นไม่มีองค์กรนี้ ไม่มีสถาบันนี้ เขาก็ยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจได้และเติบโตได้ 

ทุกวันนี้มันคือการเปลี่ยนแปลงและมันก็วิวัฒนาการไป ผมไม่เคยคิดว่าอยู่ดีๆ จะมีคนแบบเพนกวิน คนแบบรุ้ง เข้ามา คนแบบใครก็ตามเกือบ 60 คน ที่โดนคดี ม.112 ที่เขากล้ายิ่งกว่าผมอีก นี่คือการเปลี่ยนแปลงโดยอัตโนมัติและคุณไม่สามารถปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงได้ สำหรับคนที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ในอนาคตคุณแพ้แน่นอน เพราะสมมติเด็กอายุ 16 ปี ติดคุก 20 ปี ออกมา 36 ปี ชนะครับ และคนจำนวนมากที่อยู่รุ่นราวคราวเดียวกันมันจะเปลี่ยนไปโดยอัตโนมัติ 

คิดว่าใกล้เห็นตอนจบของเรื่องนี้หรือยัง

เราเห็นอยู่ข้างหน้าแล้วครับ ผมจะได้เห็นด้วยไหม ยังไม่รู้ แต่ข้างหน้าเราเห็นแน่นอน เพราะนี่คือการเปลี่ยนแปลง คือไฟต์บังคับ เราเห็นมาหลายประเทศแล้ว ของเรานี่ถือว่าเปลี่ยนแปลงช้า

จริงๆ ความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ปี 2475 แล้ว แต่มันไม่จบ เลยเกิดเหตุการณ์ ปี 2516 ปี 2535 ปี 2553 แต่ผมคิดว่ามีแนวโน้มจะจบภายใน 10 ปีนี้แหละ ด้วยช่วงเวลาที่คำนวณอย่างสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มปฏิรูปการปกครอง เปลี่ยนโฉมหน้าสังคมใหม่ ประมาณปี 2435 บวกอีก 40 ปีก็คือ ปี 2475 มันเปลี่ยนแบบพลิกเลย พอปี 2475 บวกอีก 40 ปี มันมาที่ปี 2516 เพราะฉะนั้นช่วงวิวัฒนาการใหญ่ๆ มันมาตกประมาณ 40-50 ปี จึงเข้าใจว่าช่วง 10 ปีนี้ จะต้องเปลี่ยน

มันไม่ใช่เป็นเรื่องดวงเมืองนะ แต่เป็นระยะความเสื่อมโทรมของสังคมและเป็นระยะของการตั้งครรภ์สังคมใหม่ สังคมเก่าพยายามที่จะไม่ให้คุณออกลูกได้ เด็กจะไม่เกิดสักทีหรือจะทำให้มันแท้งให้ได้ เราก็ต้องดิ้นรนให้เกิด ซึ่งคณะราษฎรชุดนี้จะเปลี่ยนแบบไม่รุนแรง ถ้าสังคมเก่า ระบบเก่า ใช้ความรุนแรงเมื่อไหร่ จะเป็นการสูญเสียทั้งประเทศเลย สังคมไทยจะยอมให้เด็กกางเกงขาสั้นกระโปรงบานตายบนท้องถนนไหม เพราะมันหมายถึงอนาคตข้างหน้าของประเทศชาติ อันนี้จะเป็นการท้าทายครั้งใหญ่ ซึ่งผมคิดว่ามันจะค่อยๆ เปลี่ยนแบบวิวัฒนาการ ค่อยๆ เปลี่ยนทีละมิติ เราก็จะเปลี่ยนความคิดของเรา

อยากจะแนะนำอะไรให้กับคนรุ่นนี้ที่กำลังต่อสู้กันอยู่ไหม

ผมไม่กล้าเตือนและไม่กล้าแนะนำเลย เพราะเขาเก่ง เขากล้าหาญ และมีความสามารถมากกว่าคนรุ่นผม แต่แน่นอนครับ ลำพังนิสิตนักศึกษาคงไม่สามารถเอาชนะการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด ต้องใช้เวลาในการเชื่อมโยงการต่อสู้ให้เข้ากับสังคมอื่น เช่น ตอนนี้มีการพูดถึงมิติเรื่องเงินเยียวยาประชาชน เรื่องคนชราภาพควรจะได้รับ 3,000 บาท การพักหนี้เกษตรกร นี่คือการเชื่อมโยงตนเองกับประชาชน มันหมายถึงการต่อสู้ที่มากไปกว่ามิติทางการเมือง แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน

Fact Box

  • สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ถูกจับกุมในปี 2554 ด้วยข้อหาเผยแพร่บทความ ชื่อ ‘คมความคิด’ เกี่ยวกับเหตุการณ์การเมืองไทยในอดีต โดยพาดพิงถึงตัวละครที่ชื่อว่า ‘หลวงนฤบาล’ กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีสมยศในฐานะบรรณาธิการผู้ยินยอมให้เผยแพร่เนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สมยศถูกจับกุมเพียงไม่กี่วัน หลังจากออกมาเคลื่อนไหวให้ยกเลิก ม.112  
  • ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกเขาเป็นเวลา 10 ปี รวมกับคดีหมิ่นประมาท พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกและสมาชิกคณะก่อการรัฐประหารปี 2549 อีก 1 ปี รวมเป็น 11 ปี ก่อนที่ศาลฎีกาพิพากษาลดโทษเหลือ 7 ปี
Tags: , , , , , ,