ชายชราผมสีดอกเลา ใบหน้ายับย่น แววตาเล็กหยี สวมเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงสแล็กสีกรมท่า พาร่างผอมเกร็งเดินลงบันไดศาลอาญา สภาพอิดโรยไร้เรี่ยวแรง มีคนคอยประคับประคองไม่ห่างกาย ในมือของเขายังถือยาดมพม่าอยู่ด้วยซ้ำ

ชายผู้นี้คือ บัณฑิต อานียา วัย 80 ปี ผู้ที่เพิ่งพ้น ‘มลทิน’ หลังจากศาลตัดสินยกฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ในสายตาคนทั่วไป บัณฑิตอาจเป็นคนแก่ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีร้ายแรง แต่สำหรับผู้รักประชาธิปไตยและติดตามข่าวการเมืองมาตลอด ชื่อของ บัณฑิต อานียา คือนักเขียนและนักแปลอิสระ ผู้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย เชื่อในเรื่องความเสมอภาค และมองว่าคนเท่ากัน

‘บัณฑิต อานียา’ เดิมชื่อ จือเซง แซ่โค้ว เกิด พ.ศ. 2484 เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว พออายุ 6 ขวบ ก็ย้ายมาอยู่เมืองไทย ที่จังหวัดนครราชสีมา เขาเติบโตในครอบครัวยากจนที่มีพ่อชอบทำร้ายทุบตี เรียนจบแค่ ป.4 ก่อนตัดสินใจหนีออกจากบ้านไปบวชสามเณร ช่วงนั้นเองที่เขาศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะตำราภาษาอังกฤษ ฝึกฝนจนสามารถแปลหนังสือได้ ก่อนจะสึกออกมาแล้วเลือกดำเนินชีวิตด้วยการเป็นนักเขียน แม้ผลงานหนังสือหลายสิบเล่มของเขาจะขายไม่ค่อยดีนัก

ด้วยความเป็นตัวของตัวเอง รักอิสระ ชอบคิดนอกกรอบ กล้าสวนกระแส ไม่ยี่หระต่อกฎเกณฑ์ประเพณีคร่ำครึ ถึงขั้นเคยถูกกลั่นแกล้งจับส่งโรงพยาบาลบ้า แต่บัณฑิตก็ยังใช้ชีวิตอย่างทระนง ยังคงคิด เชื่อ และเขียนหนังสือออกมาอย่างสม่ำเสมอ เขาไม่นิยมคบค้าสมาคมกับใคร ไม่เคยสนใจเกียรติยศรางวัลใดๆ ทั้งสิ้น ขณะเดียวกันก็ชอบเข้าร่วมวงเสวนาวิชาการและชุมนุมทางการเมือง แน่นอนว่า บัณฑิตเลือกอยู่ข้างคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ

ตลอดชีวิตของบัณฑิต เขาถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหมิ่นเบื้องสูงมาแล้วหลายครั้ง

ครั้งแรก ปี 2518 บัณฑิตเล่าว่าเคยถูกดำเนินคดีหมิ่นเบื้องสูง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม แต่ได้รับการปล่อยตัว 

ครั้งที่สอง ปี 2547 บัณฑิตถูกฟ้องร้องคดีหมิ่นเบื้องสูง โดย พล.ต.อ. วาสนา เพิ่มลาภ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในขณะนั้น หลังแสดงความคิดเห็นและขายเอกสารที่มีเนื้อหา ‘ล่อแหลม’ ในสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ‘กฎหมายพรรคการเมือง: โอกาสและข้อจำกัดในการส่งเสริมและพัฒนาพรรคการเมือง’ บัณฑิตถูกจับกุมและส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำ 98 วันก่อนได้รับการประกันตัว ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 4 ปี แต่เนื่องจากมีอายุมากและมีประวัติป่วยเป็นโรคจิตเภท จึงให้รอการลงโทษ 3 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีความผิดและยังคงมีสติสมบูรณ์ จึงกลับคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ แต่บัณฑิตได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดีในขั้นฎีกา ท้ายที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาตามศาลชั้นต้น ให้จำคุก 4 ปี รอลงอาญา 3 ปี และรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 2 ปี

ครั้งที่สาม ปี 2557 บัณฑิตได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ภายในงานเสวนาของพรรคนวัตกรรมไทย ก่อนถูกแจ้งความดำเนินคดีในมาตรา 112 ต่อมาศาลพิจารณาว่าเป็นเพียงประโยคที่ยังพูดไม่จบและไม่ชัดแจ้งเพียงพอว่าเป็นการหมิ่นเบื้องสูง จึงพิพากษายกฟ้อง

ครั้งที่สี่ ปี 2559 บัณฑิตถูกจับกุมอีกครั้ง จากการแสดงความคิดเห็นในวงเสวนาวิชาการชื่อ ‘รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?’ จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เขาถูกกล่าวหาว่าพูดประโยค ‘หมิ่นเหม่’ เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ก่อนได้รับการประกันตัวมาสู้คดี สุดท้ายศาลสั่งยกฟ้อง

บัณฑิตต่อสู้คดีมาตรา 112 มานานนับสิบปี ระหว่างนั้นเขาล้มป่วยเป็นโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ จนถูกตัดไตออกข้างหนึ่งและเฉือนกระเพาะปัสสาวะทิ้ง ปัจจุบันยังต้องแขวนถุงปัสสาวะติดตัวไปไหนมาไหน ทำให้เกิดคำถามอย่างกว้างขวางจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับบทลงโทษของมาตรา 112 ว่า สมควรแล้วหรือที่จะนำเอาคนแก่อย่างเขาไปจำคุกด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้

ท่ามกลางการไล่ฟ้องดำเนินคดีหมิ่นสถาบันฯ ระลอกใหม่ ข้อมูลจากสำนักข่าวประชาไทระบุว่า จนถึงวันที่ 22 มกราคม 2564 มีผู้ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 รวมทั้งสิ้น 55 รายแล้ว ในจำนวนนี้มี 22 คดี ถูกแจ้งความดำเนินคดีโดยประชาชนด้วยกันเอง ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า โทษจำคุกในคดีมาตรา 112 ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 86 ปี และปัจจุบัน ยังคงมีผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังในเรือนจำเหตุจากคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 6 ราย นอกจากนี้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้มีอายุน้อยที่สุดเพียง 16 ปีเท่านั้น 

26 มกราคมที่ผ่านมา ทันทีที่ได้เห็น บัณฑิต อานียา เดินลงมาจากบันไดศาลอาญาหลังถูกยกฟ้อง ทำให้ผมเกิดความรู้สึกขึ้นในใจ 2 ประการ

ความรู้สึกประการแรกคือ หดหู่ใจ เมื่อเห็นคนแก่วัยไม้ใกล้ฝั่ง สารพัดโรครุมเร้า จะเดินยังไม่ไหวต้องเดินทางมาขึ้นศาลด้วยรถพยาบาล ต้องมีคนช่วยพยุง ยิ่งทราบจากข่าวในภายหลังว่าระหว่างนั่งฟังคำไต่สวน บัณฑิตเกิดอาการหน้ามืด ความดันโลหิตพุ่งสูงถึง 190 เพราะเครียดวิตกกังวล ยิ่งรู้สึกสลดหดหู่เข้าไปอีก กลัวแกจะตายคาห้องพิจารณาคดี

ความรู้สึกประการที่สองคือ โล่งใจ เมื่อคนธรรมดาๆ คนหนึ่งกล้าลุกขึ้นตั้งคำถามกับเรื่องต้องห้าม กล้าพูดความจริงที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่กล้าแม้แต่จะกระซิบ กล้าวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างตรงไปตรงมา จนตกเป็นจำเลยในคดีที่ว่ากันว่า ‘เลวร้ายที่สุด’ วันนี้เขาได้รับอิสรภาพอีกครั้ง

ภาพของชายชราวัย 80 ที่ต้องแบกสังขารขึ้นศาลเพื่อต่อสู้คดี อันเป็นผลมาจากการพูดความจริง สะท้อนให้เห็นถึงความบิดเบี้ยว ชวนตั้งคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงความชอบธรรมของสถาบัน ‘ยุติธรรม’ ไทย

อีกด้านหนึ่ง รอยยิ้มบนใบหน้าอ่อนล้าของเขา หลังถูกตัดสินยกฟ้อง เปรียบดั่งแสงสว่างในความมืดมิด เป็นความหวังเจิดจ้าท่ามกลางสังคมที่สิ้นหวัง เป็นกำลังใจ เป็นชัยชนะเล็กๆ ที่เกิดขึ้นบนเส้นทางการต่อสู้อันยากลำบากและแสนยาวไกลของเสรีชน

Tags: , , , , ,