Internet of Thing
เราได้นัดสัมภาษณ์กับ บอม-ฉัตรชัย ตั้งจิตตรง เกี่ยวกับเรื่องการเป็นสตาร์ทอัพ ซึ่งเขาให้ความสำคัญกับไอโอทีในการเริ่มต้นบุกเบิกผลิตภัณฑ์อะไรใหม่ๆ เพื่อใช้อำนวยความสะดวก รักษาความปลอดภัย จนสามารถพัฒนาแบรนด์สตาร์ทอัพของตัวเองได้
“ ไอโอที ( internet of thing ) คือการนำเอาอินเทอร์เน็ต มาใช้กับสิ่งของที่อยู่รอบๆ ตัวเราต่างๆ เช่นรถออโตไดรฟ์ และนำมาใช้ในอุตสาหกรรมหนักหลายๆ เรื่อง อย่างโรงงาน มีเรื่องการใช้เซนเซอร์ต่างๆ บอกเป็นขั้นตอนว่าผ่านตรงนี้แล้วต้องทำอะไรต่อ ผมมองว่า สำหรับภาวะในประเทศไทย โครงสร้างพื้นฐานเราพร้อม เรากำลังจะมี 5G และในขณะเดียวกันเรายังมี narrowband ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในความพอเพียง การใช้งานบางเรื่องที่ไม่ต้องถึง 5G narrowband มันก็เหมือน 2G ที่ในจีนและนิวซีแลนด์มีการนำมาใช้ เช่น การส่งข้อมูลของปศุสัตว์ วัวควาย ว่ามันยังอยู่ในโซนนิ่งที่เขาควบคุมหรือไม่ มันเป็นการส่งข้อมูลบิตไบต์ที่จำนวนไม่เยอะ ว่าสัตว์อยู่ไหน ในนิวซีแลนด์ก็นโยบายรัฐ
เรื่องการใช้บิตไบต์ที่น้อยที่น้อยก็ทำได้เช่น การจดมิเตอร์อะไรต่างๆ ก็ไม่ต้องให้คนมานั่งจด วิ่งผ่านเซิร์ฟเวอร์ก็รู้แล้ว ลดการใช้กำลังคน ซึ่งไม่ต้องใช้ 4G ที่มีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่หมดเร็ว narrowband จะได้ข้อมูลต่อเมื่อเราต้องการ เช่น เซตไว้ว่าทุกกี่วัน การชาร์จแบตเตอรี่ครั้งเดียวอยู่ได้นาน ในตลาดยังไม่มีใครทำ narrowband ที่ติดตามคน ส่วนใหญ่วิ่งอยู่บน 4G 3G ผมว่ายังไม่มีใครทำจริงๆ จังจังในส่วนของผู้บริโภค ใช้ในอุตสาหกรรมหนักมากกว่า ซึ่งในประเทศไทย ผมมองว่า เราทำได้ เน็ตเวิร์คพร้อม เราต้องการการผลักดันที่เยอะกว่านี้ แต่เมื่อมาดูในภาพรวมของต้นทุนอุปกรณ์ ต้องยอมรับก่อนว่า ประเทศไทยยังไม่ทำอุปกรณ์ ความรู้คนก็น้อย มันต้องนำเข้า ต้นทุนก็สูง และมันต้องพัฒนาบุคคลด้านความรู้”
ไอโอที ของไทยเด่นๆ ที่ใช้ตอนนี้ในภาคอุตสาหกรรมมีมาก แต่ในส่วนใช้กับคนยังไม่ค่อยมีเท่าไร ผมยกตัวอย่างกูเกิ้ล ทำไมรู้ก่อนว่า ประเทศเรามีลักษณะประชากรอย่างไร มีคนป่วยเท่าไร มีคนแก่เท่าไร เราอยากมาทำให้รัฐบาลหรือบุคคลเห็นความสำคัญเรื่องข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปใช้ในเรื่องอื่นๆ ได้ ตลาดข้อมูลส่วนบุคคลมันเป็นตลาดที่โตมาก เพราะขนาดกูเกิ้ลก็ยังไปเทคโอเวอร์ Fitbit ซึ่งเป็นนาฬิกาบอกข้อมูลสุขภาพ ต่อไปพวกข้อมูลด้านบริการสุขภาพจะต่อยอดได้เยอะ ทั้งเรื่องยา เรื่องประกันภัย เรื่องการทำธุรกรรม ถ้าเรารู้ว่าสุขภาพคนๆ นี้เป็นอย่างไรมันมีผลต่อการตัดสินใจ เช่นเรื่องการปล่อยกู้ หรือการทำประกันให้เขา หรือกระทั่งข้อมูลอาหารที่เขากิน ถ้าคนออกกำลังกายเยอะๆ บ่อยๆ มันจะทำเป็นแพคเกจเสนอต่อลูกค้าได้ แต่ที่สำคัญ ผมมองว่า มันต้องมีการควบคุมการใช้ข้อมูลให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย เรื่องเทคโนโลยีถ้าเราไม่ทำ ต่างชาติก็ทำอยู่แล้ว”
(บอม-ฉัตรชัย เจ้าของแบรนด์สตาร์ทอัพ นาฬิกาโพโมะ)
นาฬิกาโพโมะ ( POMO )
เพราะสนใจเรื่องการใช้อินเทอร์เนตกับบุคคลมากขึ้น ประกอบกับการมีครอบครัว เมื่อ 3-4 ปีก่อน ฉัตรชัยจึงเริ่มคิดถึงเทคโนโลยีเพื่อครอบครัวอันนี้
“จุดเริ่มต้นที่ทำโพโมะ คือ คำนี้มาจาก pop and mom คือพ่อแม่ เราออกแบบนาฬิกามาให้พ่อแม่ใช้ ไม่ใช่แค่ใช้กับเด็กแต่ใช้กับผู้สูงอายุด้วย คนรุ่นเรามันเหมือนเรียกว่าแซนด์วิช เจเนอเรชั่น คือเด็กก็ต้องดูแล พ่อแม่ก็ต้องดูแล งานก็ต้องทำ ดังนั้นผมกับเพื่อนๆ 3-4 คนหาทางแก้ปัญหาบางอย่างให้เราอุ่นใจว่า ชีวิตมันมีตัวช่วยในการดูแลคนต่างๆ เหล่านี้ ความถนัดผมอยู่ที่ซอฟต์แวร์กับโพรดักส์ดีไซน์ จึงมาทำอย่างนี้ดู ผมเคยพาลูกไปเที่ยว และเคยพลัดหลงกับลูก สิ่งที่เกิดคือความวิตกกังวลมาก เลยคิดว่า ถ้ามีระบบให้เราติดตามลูกได้ และติดต่อลูกได้เมื่อเขาไปใช้ชีวิตประจำวันก็น่าจะดี เลยออกแบบโพโมะรุ่นแรกขึ้นมา”
“แต่เราอยากให้ผลิตภัณฑ์ของคนไทยเป็นที่รู้จักในต่างประเทศด้วย เลยเอาไอเดียของเราไปเสนอบน kickstarter ซึ่งมันเหมือนเป็นแพลทฟอร์มที่ให้นำเสนอไอเดียต่างๆ แล้วถ้าเกิดผู้ใช้งานชอบไอเดียใครก็จะไปสนับสนุนไอเดียคนนั้น ไปช่วยทำพรีออเดอร์หรือทำการบริจาคช่วยก็ได้ ในครั้งนั้นเราเป็นบริษัทไทยที่ได้เงินสนับสนุนเยอะที่สุด คือประมาณ 1 แสนเหรียญสหรัฐ ภายใน 30 วัน ณ ตอนนั้น คือ 3-4 ปีที่แล้ว พอเราได้ต้นทุนมาก็เลยทำ”
“สิ่งที่ต้องคิดมีหลายอย่าง ทั้งเรื่องของจีพีเอส เรื่องแบตเตอรี่ที่ต้องอยู่ได้นาน เรื่องของการใช้งาน เช่นการกันน้ำ และตอนนั้นยังไม่มีการติดต่อกับ operator ( ผู้รับสัมปทานคลื่น ) ที่เป็นของไทยเลย เราก็เลยใช้เวลาเยอะมาก จนพัฒนาออกมาได้มีเครื่องใช้งานหลักๆ คือติดตามตัวเด็กได้ โทรได้ ส่งข้อความได้ สามารถเซตให้พ่อแม่ติดต่อไม่ได้ระหว่างเวลาเรียน หรือเครื่องมือที่เรียกว่า take me home เป็นแผนที่ให้เด็กหลงทางเดินกลับบ้านเองได้หรือเป็นแผนที่ปักหมุดให้พ่อแม่ไปหาในจุดที่เด็กหลงได้ ความที่เราไปเริ่มที่ kickstarter ทำให้ตลาดหลักของเราในช่วงแรกอยู่ที่ต่างประเทศ ลูกค้าที่มาเป็น Backer เรากว่า 80% เป็นคนอเมริกัน และก็อีก 10% เป็นญี่ปุ่น”
“คิดให้พ่อแม่ล่วงหน้าและทำเผื่อตลอด เราคิดตลอดว่า เราไม่อยากให้ซื้อเรือนเดียวแล้วตกยุค เราก็เลยทำระบบให้มีการอัพเดตซอฟต์แวร์ได้เรื่อยๆ อย่างที่เราร่วมมือกับ Amazon เพื่อนำ feature Alexa มาใช้บนนาฬิกา ซึ่งมันประมาณเดียวกับ siri ของแอปเปิล ที่สามารถสนทนาโต้ตอบกับเด็กได้”
เมื่อถามถึงปัญหาการนำนวัตกรรมมาใช้ในโรงเรียนไทย ฉัตรชัยระบุว่า
“ต้องบอกว่า เราถอยจากตลาดเมืองไทยไประดับหนึ่ง เพราะข้อจำกัดในการนำไปใช้งานในโรงเรียน เมื่อตอนนั้นสมาร์ทวอทช์สำหรับเด็ก เป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่และด้วยการที่สมาร์ทวอชท์สามารถทำอะไรได้หลายอย่างมาก ทำให้การที่ยอมรับจากทางโรงเรียนจะเป็นไปได้ยาก ส่วนตัวผมว่าเป็นธรรมชาติที่คนเราจะกลัวในการทดลองใช้สิ่งใหม่ๆ แต่เราต้องค่อยปรับตัวให้ชินกับมันและหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกับโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยการใช้เทคโนโลยีให้ได้ ต้องรู้และเข้าใจว่ามันมีประโยชน์อะไรบ้าง ในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมป้องกันปัญหาที่จะเกิดจากเทคโนโลยีนั้นๆด้วยเช่นกัน”
“คนผลักดันจริงๆ คือผู้ใช้งานซึ่งก็คือคุณครูกับผู้ปกครองคุยกันว่า อันนี้คือสิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดีคืออะไรลิสต์ออกมาแล้วเราแก้ไขปัญหาด้วยกัน ปัจจุบันนี้ผู้ปกครองหลายคนเป็นห่วงมากถึงขนาดแอบเอาใส่กระเป๋าลูก เพื่อแอบฟังเวลาลูกเรียน ซึ่งผมในฐานะที่เป็นคุณพ่อเหมือนกันก็เข้าใจได้ครับ แต่บางอย่างที่ผู้ปกครองอยากใช้งานเราก็ไม่เห็นด้วยนะ อย่างเช่น เขาเสนอให้มีกล้องแอบส่องได้ไหม ซึ่งด้วยเทคโนโลยีเราก็ทำได้นะไม่ยาก แต่เราเลือกที่จะหลีกเลี่ยง เพราะเป็นอันตรายกับเด็กๆคนอื่นซึ่งก็เกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชน”
“สิ่งที่เราจะพัฒนาต่อไปสำหรับเด็ก ในปีต่อๆ ไป มันเป็นเทรนด์เรื่องสุขภาพ เรากำลังจะพัฒนารุ่นใหม่ที่จะเผยแพร่กลางเดือนหน้า ที่สามารถตรวจวัดเรื่องค่าความดันเลือด การเต้นของหัวใจ การเก็บข้อมูลสุขภาพของเด็ก เพื่อให้โพโมะเป็นแพลตฟอร์มที่นอกจากเรื่องความปลอดภัยแล้วยังพัฒนาสุขภาพของเด็ก เช่น เราเอาเรื่องความสูง น้ำหนักมาบวกกับอัตราการเต้นหัวใจ การนอนหลับ ความดันของเด็ก ทำเหมือนคะแนนด้านสุขภาพ ว่าเด็กคนนี้มีข้อมูลสุขภาพอย่างไร ต้องดูแลอะไรพิเศษ แล้วก็จะเพิ่มข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กแต่ละคน เช่นเด็กแพ้อะไรหรือไม่ มีประกันสุขภาพของอะไร เรามองว่าถ้าเกิดอะไรกับเด็ก เวลาเข้าโรงพยาบาลก็จะได้รู้ว่ามีประกันอะไร เพราะบัตรประกันเด็กไม่อยู่กับตัว”
“เรื่องข้อมูลสุขภาพ ซึ่งต่อไปกลายเป็นบิ๊กดาต้า เพื่อทำพวกบริการต่อยอด เรื่องการตลาด เช่น ผมเอาข้อมูลทำข้อเสนอกลับไปว่า เด็กมีสุขภาพอย่างไรก็ทำแพคเกจเกี่ยวกับสุขภาพว่าอยากปรึกษาหมอหรือไม่ หรือมีประกันสุขภาพสำหรับเด็กนะ แต่เมื่อเรามี พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลออกมาแล้ว ต้องคุ้มครองข้อมูลที่เปิดเผยได้ ข้อมูลที่พร้อมจะใส่ในแพลทฟอร์มของเราต้องเป็นเรื่องที่มาจากความยินยอมพร้อมใจทั้งหมด”
หลังจากนำโพโมะสู่ตลาด เสียงตอบรับในต่างประเทศค่อนข้างดีมาก
“ตอนนี้ตลาดใหญ่ของเราตอนนี้คืออเมริกา ประมาณ 60% เม็กซิโกน่าจะ 20-25% ในปี 2563 การผลิตน่าจะประมาณ 3-40,000 ชิ้น ในเม็กซิโกต้องมีการติดตามเพราะเด็กโดนลักพาตัวเยอะ ในเมกซิโกตอนเราไปเผยแพร่ใหม่ๆ ก็มีปัญหาว่าห้ามเด็กใส่ แต่ปรากฏว่ามันมีปัญหาคือเม็กซิโกมีแผ่นดินไหวบ่อย ครั้งหนึ่งเกิดหนักมาก น่าจะ 7 ริคเตอร์ พ่อแม่พยายามติดต่อเด็ก ติดต่อที่โรงเรียนก็ติดต่อไม่ได้ เพราะมันมีคนโทรเข้าไปเยอะ ก็กลายเป็นที่มาว่า ที่เม็กซิโกเราเป็นพาร์ทเนอร์กับ Telcel ซึ่งเป็นผู้บริหารคลื่นรายใหญ่ที่มีเครือข่ายทั้งหมด 15 ประเทศในลาตินอเมริกา เราก็จะทำงานร่วมกับที่นั่น”
เพื่อผู้สูงอายุ
ผลิตภัณฑ์ของโพโมะนั้นมุ่งเน้นเพื่อครอบครัว อย่างที่ฉัตรชัยเปรียบเทียบตัวเองเป็นเจเนอเรชั่นแซนด์วิช ที่ต้องดูแลทั้งลูกและพ่อแม่ที่แก่ชรา ทำให้เขาพัฒนาเป็นริสต์แบนด์สำหรับผู้สูงอายุด้วย และถูกนำมาใช้ในฟลอริดา
“ เรื่องผู้สูงอายุ เป็นโครงการที่เราทำที่ฟลอริดา ใช้สำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ฟลอริด้า 20 แห่ง ในเครือ Grand Villa Senior Living ซึ่ง แต่ละแห่งมีผู้สูงอายุ 60-70 คน เราจะติดตามเรื่องข้อมูลสุขภาพ เรื่องของความปลอดภัย ในกรณีที่ผู้สูงอายุเป็นอัลไซเมอร์ออกไปจากศูนย์ก็ติดตามตัวได้ และมีเครื่องมือในการเรียกติดตามตัวผู้ดูแลฉุกเฉินได้หากเกิดอุบัติเหตุ เช่นเขาเข้าห้องน้ำแล้วลื่นล้ม ก็ให้กดเข้ามาที่มือเลย หรือขอความช่วยเหลือจากคนดูแลก็เรียกมาได้ มี SOS feature ได้ ระบบนี้ยังไม่นำมาใช้ที่เมืองไทย ก็มีคุยกับผู้สนใจอยู่ในเมืองไทย”
“ถ้าเมืองไทยเปิดตัวเป็น hub ของผู้สูงอายุก็สามารถนำไปใช้ได้ เรามีประสบการณ์กับผู้สูงอายุในอเมริกามาแล้ว ให้นึกเปรียบเทียบว่า บ้านพักคนชราในอเมริกาจะอยู่กันเป็นเอกเทศ อยู่เป็นหลังๆ หรืออยู่เป็นห้องๆ แบบคอนโดมีเนียม และมีผู้ดูแล ผมเข้าใจว่า ลักษณะแบบนี้ต่อไปที่เมืองไทยที่พยายามจะทำคือของกรมธนารักษ์ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี หรือที่อื่นๆ อย่างของโรงพยาบาลพญาไทตรงรังสิต ซึ่งท้ายที่สุดก็เจอปัญหาเดียวกันกับที่อเมริกาคือเรื่องบุคลากรหายาก ทำให้ต้นทุนในการให้บริการจะสูง เราก็พยายามเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในส่วนที่มีการจัดการที่ซ้ำๆเดิม อย่างเช่นการตรวจวัดสุขภาพที่ต้องเข้าทุกห้องวันละหลายๆครั้ง คนไหนมีอัตราการไม่สบายหรือโอกาสล้ม ก็กดริสต์แบนด์ขอความช่วยเหลือได้ เรียกว่าเอาไปเป็นตัวช่วยเขามากกว่า เราพยายามเอาสิ่งที่ทำในอเมริกามาใช้ที่เมืองไทย ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงการพูดคุยกับผู้ประกอบการบางรายในประเทศ โดยแพลตฟอร์มเราจะไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการ อย่างเช่น ลูกหลาน ที่มีผู้สูงอายุเข้าไปพักอาศัยในโครงการบ้านพักคนชราก็ติดตามสุขภาพได้ผ่าน Dashboard หรือ Application และสะดวกกว่าที่คนดูแลมาเขียนรายงานให้”
“การส่งเสริมไอโอทีเพื่อใช้งานในส่วนของภาครัฐ ปัจจุบันมันยังน้อย ส่วนใหญ่เอกชนยังต้องวิ่งเองเพื่อทำความเข้าใจกับหลายๆหน่วยงานเสียส่วนใหญ่ ในการให้องค์ความรู้หรือประโยชน์ในการใช้งาน ผมเคยไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานราชการ และเสนอเป็นระบบการเก็บข้อมูลสุขภาพได้ อย่างผู้สูงอายุป่วยติดเตียงลูกหลานไปทำงาน เขาก็ได้รับการรายงานเรื่องผลสุขภาพตลอด หรือผู้สูงอายุที่ยังสุขภาพดี คุณก็ทำเป็นแคมเปญให้เขาออกกำลังกายเยอะ ๆ แล้วเอามาแลกไข่ไก่อะไรพวกนี้ เอาข้อมูลรวมกันเป็นบิ๊กดาต้า แล้วพอดู dashboard ออกมาจะรู้ว่า ผู้สูงอายุอยู่บริเวณไหนของตำบลเยอะที่สุด และคนบริเวณไหนมีการออกกำลังกายเยอะที่สุด ดังนั้น ทางตำบลหรืออำเภอก็สามารถมีข้อมูลเพื่อไปสนับสนุนในการของบประมาณเพื่อพัฒนาเมืองและสร้างสวนสาธารณะในบริเวณนั้น”
ระบบติดตามเพื่อโควิด
ปัญหาที่ส่งผลกระทบทั่วโลกขณะนี้คือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งการที่มนุษย์มีกิจกรรมใกล้ชิดกันไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศทรุดตัวลง โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งสตาร์ทอัพไทยเจ้านี้ พยายามคิดค้นระบบติดตามตัวเพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถเดินต่อไปได้ รับนักท่องเที่ยวได้ตามนโยบาย travel bubble ของประเทศไทย
“เราเตรียมระบบพร้อมแล้ว เราเซ็นเอ็มโอยูความร่วมมือกับบริษัท โฟล คอร์ปอเรชั่น จำกัดที่ ที่ดูแลโครงการ สมาร์ท พอร์ท ที่ท่าเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต เพื่อเตรียมรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา เมื่อทางรัฐบาลอนุมัติ สิ่งที่เราพยายามจะทำคือสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไทยทางเรือ เขาต้องการมาเที่ยวเมืองไทย เรือก็จะไปจอดรอตามน่านน้ำให้รออนุมัติว่า เรือเข้าเมืองไทยได้เมื่อไหร่ ก่อนหน้านี้มีเรือจ่ออยู่ 50-60 ลำ ตอนนี้เขาไปอินโดนีเซีย ไปบาหลีเกือบหมดแล้วเพราะความไม่ชัดเจนเรื่องนโยบาย หลักการคือเขาจะเอาเรือข้ามน่านน้ำมา แล้วทางจังหวัดกับท่าเรือจะส่งทีมแพทย์ขึ้นไปตรวจสุขภาพ เราก็ทำเป็นริสแบนด์ไปให้นักท่องเที่ยวสวม ซึ่งเราจะมีการตรวจจับอุณหภูมิด้วย เราก็จะรู้อุณหภูมิของร่างกายเขาตลอดเวลาว่ามีไข้หรือไม่ แล้วรายงานข้อมูลเข้ามาที่ทีมแพทย์หรือคนที่ได้รับการแต่งตั้งจากจังหวัดให้ดูแลข้อมูล”
“ข้อมูลเหล่านี้ต้องได้รับการปกป้องด้วยมันเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน คือไม่ใช่บอกชื่อว่า คุณคนนี้อุณหภูมิเท่าไร แต่จะบอกว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้รายงานผลมาอย่างไร เราจะไม่บอกว่าคุณคนนี้เป็นใคร หลัง 14 วันที่เขากักตัวเขาจะไปเที่ยวเกาะต่างๆ ได้แล้ว นี่เขาเสียสละมากเลยในการที่จะทอดสมอและอยู่แต่บนเรือ 14 วัน มันเป็นโครงการแรกที่เราจะทำร่วมกับเอกชน ซึ่งเอกชนต้องทำตามนโยบายของรัฐบาลของจังหวัดอยู่แล้ว การควบคุมข้อมูลก็ยังเป็นของราชการแต่ปัญหาคือยังไม่มีความชัดเจนว่า โมเดลนี้โอเคหรือไม่ ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวก็เลยยังไม่กลับมา”
“จริงๆ เรื่องโมเดลนี้เราได้ทำโครงการให้กับหมู่เกาะเคย์แมนในทะเลแคริบเบี้ยน เคย์แมนก็คล้ายๆ กับภูเก็ตคือธุรกิจส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว เมื่อโดนชัตดาวน์ประเทศ รัฐบาลก็จะไม่มีรายได้เนื่องจากโรงแรมปิดหมด ดังนั้น สิ่งที่เราช่วยคือช่วยผู้ประกอบการโรงแรม แต่ประชาชนก็ยังกลัว ทางหมู่เกาะเคย์แมนจึงเสนอโมเดลที่เรียกว่า bubble hotel ผมคุยกับที่เคย์แมนคุย 3 อาทิตย์ เราตกลงกันว่า ถ้านักท่องเที่ยวเดินทางมา ไม่มีไข้อะไร ผ่านด่านปุ๊บโรงแรมมารับ และรับริสต์แบนด์ไปคนละอัน ระหว่างอยู่รีสอร์ทใส่ตลอด ระหว่างกักตัวในโรงแรม แต่อยู่ 14 วันมันก็เบื่อ เราก็เซ็นสัญญาไปกับ 6 โรงแรม หลักการคือคุณอยู่โรงแรมนี้ 5 วันเบื่อแล้ว ก็ย้ายโรงแรมได้แต่ต้องอยู่ในเครือ bubble hotel ที่เซ็นสัญญา พอ 14 วันก็ไปตรวจโควิดอีกรอบ ถ้าไม่มีเชื้อก็ไปไหนก็ได้ ถอดริสต์แบนด์ออกแล้วเอามาคืน”
“ที่เคย์แมนเพิ่งเริ่มใช้วันที่ 1 พ.ย. เป็นเฟสทดลอง เดือนหน้านี้เราต้องส่งไปทั้งหมด 5,000 เครื่อง ไปจนถึงครึ่งปีหน้าประมาณ 2-3 หมื่นเครื่อง แม้ว่าจะมีวัคซีนแล้วก็ต้องทำ ส่วนทางไทยนั้นยังรอความชัดเจนในเรื่องนโยบายอยู่ครับ”
การร่วมงานกับภาครัฐไทย
ในเรื่องการกักกันโควิดนั้น ฉัตรชัยตั้งใจผลักดันให้เริ่มใช้กับบริษัทอ่าวปอ
“จริงๆ เราได้พาร์ทเนอร์ที่ดีจากภาครัฐคือ DEPA หรือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อพัฒนาเรื่องความปลอดภัยจากการท่องเที่ยวทางเรือ อันนี้คือโจทย์แรก ที่ภูเก็ตมันมีทุกเดือนที่มีนักท่องเที่ยวสูญหาย และทุกครั้งจังหวัดใช้งบหลายล้านบาทเพื่อตามหาผู้สูญหาย 1 คน แล้วใช้เวลานาน เราก็เลยเป็นที่มาว่ามันติดตามได้ว่า วันเดียวหรือสองวันก็รู้แล้วว่าอยู่ไหน อย่างล่าสุดมีฝรั่งพายแคนูหายไป ใช้เงินเป็นล้านเอาเฮลิคอปเตอร์ เอาเรือออกไปหากว่าจะเจอเป็นเดือน ต่อไปคุณเช่าแคนูหรือกิจกรรมทางน้ำ ต้องเช่าอุปกรณ์ตามตัวไปด้วย เด็กๆ ว่ายน้ำหรือเล่นกิจกรรมทางชายหาดก็ต้องใส่ ไปเที่ยวเกาะต่างๆ ก็ต้องใส่เพราะเกิดคุณหายไปคนเดือดร้อน อย่างเวลาดำน้ำกลับขึ้นมาในเรือ ก็สังเกตว่ากลับขึ้นเรือมาครบหรือเปล่า คนขึ้นเรือไม่ครบก็จะรู้ทันทีว่า ขึ้นมาครบหรือไม่”
“เรื่องหลักที่เราจะทำต่อไปในปีนี้นอกจากการร่วมมือกับ DEPA เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยท่องเที่ยวทางเรือ ก็คือเรื่องผู้สูงอายุที่เราจะต้องหาแนวร่วม เรื่องของเด็กก็เช่นกันที่ต้องอธิบายให้เห็นถึงความจำเป็น มันเป็นเรื่องหลักที่เราจะต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ การส่งเสริมไอโอทีของภาครัฐ ผมอยากให้มีการผลักดันที่มากกว่านี้ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเพื่อให้โตได้และเกิดการพัฒนาเป็นแพลทฟอร์มที่ช่วยในการเก็บบิ๊กดาต้าได้ และนำบิ๊กดาต้าไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในระดับครัวเรือนและในระดับภาคธุรกิจเพื่อช่วยภาครัฐในการพัฒนาประเทศได้ โดยผมพยายามที่จะลดต้นทุนของแพลทฟอร์มตัวนี้ลงให้มีผู้ประกอบการหรือภาครัฐสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น”
เรื่องการเติบโตของธุรกิจของบริษัทในปีหน้า ฉัตรชัยบอกว่า ยังคงเน้นการขยายขนาดในประเทศอเมริกา เม็กซิโก และไทย ซึ่งจะเปิดตัวรุ่น W4x เป็นสมาร์ทวอทช์ที่ราคาถูกลงสำหรับเด็ก ต่อไปในปีหน้าจะเริ่มเปิดตลาดในยุโรปเพิ่ม โดยจะพยายามที่จะเน้นให้มีการรับรู้ในแบรนด์ว่ามาจากประเทศไทย เพื่อเป็นการช่วยเปิดตลาดให้เทคสตาร์ทอัพจากประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล.
Tags: internet of thing, บอม-ฉัตรชัย, นาฬิกาโพโมะ