เมื่อ 2-3 ปีก่อน ขณะกำลังหาข้อมูลสำหรับการกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด ผมก็ได้รู้จักกับสถานที่เก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านในโลกออนไลน์โดยบังเอิญ

มะเขือจาน มะแว้งต้น มะเขือเทศจีบ พริกลืมเผ็ด บวบขม ถั่วเจ้าเนื้อ และพืชผักอีกร้อยกว่ารายชื่อ ทั้งที่คุ้นเคยและอีกมากกว่าที่ไม่เคยรู้จัก ทำให้ผมตั้งใจไว้ว่าเมื่อใดที่เงื่อนไขของชีวิตเอื้ออำนวยให้ลงมือปลูกพืชผัก ผมจะนำเมล็ดพันธุ์จากที่นี่ไปปลูก โดยมีภาพฝันว่าในไร่สวนจะอุดมไปด้วยพืชผักนานาชนิดสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้เก็บหาพืชผลกิ่งใบมาทำเป็นอาหารและแปรรูปเป็นผลิตผลอื่นๆ

ทุกวันนี้ แม้จะยังไม่ได้ลงมือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ความชุ่มชื้นของฤดูฝนก็ทำให้กะเพรา พริก ผักเสี้ยน ดอกบานชื่น และต้นไม้น้อยใหญ่อีกหลายชนิดพากันเบ่งบานเติบโตโดยไม่ต้องลงมือลงแรง

ฤดูฝนปีนี้ เมื่อได้กลับบ้าน ผมจะยืนมองต้นไม้ต้นกล้วยอันเขียวขจี แล้วก็จินตนาการถึงวันที่ได้ลงมือปลูกพืชผักและดูแลผืนดินของบรรพบุรุษอย่างจริงๆ จังๆ

0 0 0

บรรยากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนตั้งแต่เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ และหลังจากถึงที่หมายในจังหวัดสุพรรณบุรีได้ไม่นาน เม็ดฝนก็โปรยปรายลงมา

“ตอนนี้พี่มีเมล็ดพันธุ์ 70 กว่าชนิด ทำเพราะรัก ชอบ พี่เป็นคนชอบเมล็ดพันธุ์ พี่ชอบเรื่องการเกษตร”

นันทา กันตรี เริ่มต้นเรื่องราวของคนเก็บและแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ โดยมีเสียงเปาะแปะของสายฝนเคล้าคลอ

ผมติดต่อขอพูดคุยกับพี่นันทาเพราะความสนใจใคร่รู้ของตัวเองส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคืออยากออกมาสูดอากาศของเรือกสวนไร่นาภายนอกเมืองหลวง ขณะเดียวกัน ชื่อของพืชผักที่ไม่เคยรู้จักก็ชักชวนให้อยากเห็นกิ่งใบและดอกผลของมัน

“พี่เป็นคนกำแพงเพชร แต่ไปโตอยู่ทางใต้ เรียนจบวิทยาศาสตร์ที่หาดใหญ่ แล้วก็ไปเรียนปริญญาโทที่ขอนแก่น พี่ทำงานเอ็นจีโอมาก่อน พอมีครอบครัวก็มาอยู่กับแฟนที่นี่ (สุพรรณบุรี) พอเป็นแม่บ้าน มีลูกสาวหนึ่งคน พี่ก็เลยหาอะไรทำ”

พี่นันทาเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์มา 7-8 ปีแล้ว เธอบอกว่าเป็นคนชอบเก็บ และตื่นเต้นเสมอเมื่อได้เห็นพืชพันธุ์ที่ไม่เคยเห็น “อย่างบวบก็มีบวบสีนั้นสีนี้ มีบวบผลยาวผลสั้น มีบวบลูกกลมๆ มีบวบลูกเหลี่ยมๆ บวบเหมือนกัน แต่ทำไมพันธุ์นี้เมล็ดสีขาว อีกพันธุ์เมล็ดสีดำ พี่จะตื่นเต้นกับอะไรแบบนี้”

นอกจากความตื่นเต้นกับขนาด รูปร่าง และสีสันแปลกใหม่ พี่นันทาบอกว่าการทำงานกับเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านยังนำมาซึ่งความรู้ใหม่ๆ ทั้งในมิติของอาหารการกินและยาสมุนไพร

พี่นันทายกตัวอย่างบวบขมที่ขึ้นเองตามธรรมชาติแถวหัวไร่ปลายนา ด้วยรสขม ทำให้มันไม่เป็นที่สนใจ แต่ด้วยความที่อยากอนุรักษ์สายพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ที่เธอเก็บมาจึงมีผู้นำไปปลูก

“วันหนึ่งมีคนโทร.มาบอกว่า น้อง พี่ขอบคุณมากเลย พี่เอาบวบขมของน้องไปปลูก มีคนเอาไปรักษาไซนัส แล้วหาย แล้วพี่ก็แนะนำเพื่อนอีกคนหนึ่ง แล้วเขาก็หาย เขาเอาใยบวบขมไปซอย แล้วก็สูบเหมือนสูบบุหรี่ มันช่วยรักษาไซนัสได้ หลังจากนั้นก็มีคนโทร.มาบอกว่าอยากได้ลูกบวบขมสด เขาบอกว่าเอาน้ำของลูกบวบขมสดไปหยอดจมูกเพื่อรักษาไซนัสได้”

คุณค่าอีกอย่างหนึ่งที่พี่นันทาค้นพบจากการเก็บเมล็ดพันธุ์ คือสิ่งที่อยู่ในความทรงจำของผู้คน

“พี่ไปออกงานที่เมืองทอง มีลุงคนหนึ่ง อายุ 70 กว่า แกเห็นเมล็ดมะเขือกินใบ แกบอกว่าสมัยก่อน บ้านแกอยู่ใกล้ค่ายทหารญี่ปุ่น สมัยสงครามโลก แกเคยเอาใบมาผัดกิน มันอร่อยมาก แกบอกว่าไม่เห็นมันมานานแล้ว อีกหนหนึ่งคือมีคนมาเจอเมล็ดดอกคอนสวรรค์ซึ่งเป็นดอกไม้พื้นบ้าน เป็นน้องผู้หญิง น้องเขาบอกว่าเห็นแล้วนึกถึงตอนเด็กๆ ที่บ้านคุณตาปลูกไว้เต็มเลย แต่พอโตขึ้นก็ไม่เคยเห็น แล้วน้องเขาก็เอาเมล็ดพันธุ์ไปปลูก”

พี่นันทาบอกว่าเรื่องราวแบบนี้ทำให้เธอรู้ว่านอกจากเรื่องอาหารการกินและยาสมุนไพร เมล็ดพันธุ์ยังทำหน้าที่เก็บบันทึกความทรงจำของผู้คน ซึ่งทำให้เธอยิ่งรู้สึกว่าเมล็ดพันธุ์เป็นสิ่งมีค่า

“เมล็ดพันธุ์เป็นเรื่องใหญ่มาก และเป็นอนาคตของโลก แต่ปัญหาก็คือเมล็ดพันธุ์กลับสูญหายไปอย่างรวดเร็ว ในช่วง 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมามันลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อประมาณ 80 ปีที่แล้ว มีนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันมาช่วยเรารวบรวมพันธุ์ข้าว เขาใช้เวลาช่วงสั้นๆ เก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวใน 35 อำเภอ ได้พันธุ์ข้าวมาแสนกว่าตัวอย่างพันธุ์ แต่ในปัจจุบัน ข้าวที่เราปลูกในพื้นที่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ มีแค่ 5 สายพันธุ์ นี่คือปัญหาในปัจจุบัน”

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) บอกกับผู้ชมหลังจากการฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง SEED: The Untold Story ที่ Warehouse 30 เมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2017

หลังจากพูดคุยกับพี่นันทาได้ไม่กี่วัน เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม มูลนิธิชีววิถีก็ประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่า ‘ด่วน…กรมวิชาการเกษตรฉวยโอกาสในเดือนพระราชพิธีฯ แก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ของไทยให้เป็นไปตามอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งเอื้ออำนวยประโยชน์ให้บรรษัทเมล็ดพันธุ์เพิ่มการผููกขาดพันธุ์พืชและลงโทษเกษตรกรที่เก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ เป็นการทำลายวัฒนธรรมที่สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ในขณะที่การเคลื่อนไหวและแสดงความคิดเห็นเพื่อคัดค้านทำได้จำกัด’

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2017 เว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตรก็เผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช (ฉบับที่…) พ.ศ… เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้ระหว่างวันที่ 6-20 ตุลาคม (ก่อนจะขยายถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน) ซึ่งจากการศึกษาเนื้อหาของร่างกฎหมาย มูลนิธิชีววิถีเห็นว่า ‘มีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิเกษตรกร ขยายการผูกขาดของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ และเปิดทางสะดวกให้โจรสลัดชีวภาพ’

ค่ำวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ชมภาพยนตร์สารคดีเรื่อง SEED: The Untold Story แม้จะเคยรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพฤติกรรมของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการเกษตรมาบ้าง แต่ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ก็ทำให้เข้าใจพฤติกรรมของบริษัทเหล่านี้มากขึ้น รวมทั้งมองเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรไทย ซึ่งเชื่อมโยงกับกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ของกรมวิชาการเกษตร

ปัญหาของร่างกฎหมายฉบับนี้คืออะไร มูลนิธิชีววิถีสรุปไว้ดังนี้

ตัดสิทธิในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปปลูกต่อ

แม้มาตรา 25 จะมีข้อความว่า ‘เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สําหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง เกษตรกรมีสิทธิใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตในพื้นที่ของตนเอง’ แต่ข้อความในวรรคต่อมาที่ระบุว่า ‘เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีอํานาจออกประกาศกําหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจํากัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้’

วิฑูรย์กล่าวว่า “หมายความว่าเมื่อใดก็ตามที่รัฐมนตรีประกาศ สามารถห้ามเกษตรกรไม่ให้เก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อได้ นี่เป็นจุดประสงค์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์มาโดยตลอด และการที่เขาผลักดันกฎหมายโดยไปเอาหลักกฎหมาย UPOV 1991 (อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่) ก็เพื่อวัตถุประสงค์นี้”

หากเกษตรกรนำเมล็ดพันธุ์ที่ขอรับความคุ้มครองไว้แล้วมาปลูก โทษก็คือจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะเดียวกัน ที่มาของกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชซึ่งมีอำนาจในการออกประกาศฯ กฎหมายฉบับเดิมกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน (มีเกษตรกรอย่างน้อย 6 คน) มาจากการเสนอชื่อ/คัดเลือกกันเอง แต่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี

ขยายสิทธิการผูกขาดของบริษัทเมล็ดพันธุ์

  1. ขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืช แต่เดิม พืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้ หลังปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี และพืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้ หลังปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ในเวลาเกินกว่า 2 ปี ให้การคุ้มครอง 12 ปีและ 17 ปี ตามลำดับ มาตรา 31 ของร่างกฎหมายฉบับใหม่ ขยายระยะเวลาเป็น 20 ปี ส่วนไม้เถายืนต้น (เช่น องุ่น) มีระยะเวลา 25 ปี
  2. ขยายการคุ้มครองจาก ให้การคุ้มครองเฉพาะ ‘ส่วนขยายพันธุ์’ ให้รวมไปถึง ‘ผลิตผล’ และ ‘ผลิตภัณฑ์’
  3. ขยายการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ไปยังสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เป็นพันธุ์ที่ได้พันธุกรรมสำคัญมาจากพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง (Essentially Derived Varieties: EDVs) พันธุ์ที่ไม่แสดงความแตกต่างจากพันธุ์พืชใหม่ และพันธุ์ที่ต้องอาศัยพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองในการขยายพันธุ์ทุกครั้ง

เปิดทางสะดวกให้กับโจรสลัดชีวภาพ

ร่างกฎหมายฉบับใหม่เปิดทางให้ผู้นำพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชป่า และพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปไปใช้ประโยชน์ โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือแบ่งปันผลประโยชน์ โดยเปลี่ยนแปลงนิยามของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปว่า ‘พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป’ หมายความว่า พันธุ์พืชที่กำเนิดภายในประเทศ หรือมีอยู่ในประเทศ ซึ่งมีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ ไม่รวมถึงพันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชป่า หรือพันธุ์พืชที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นพันธุ์ที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์

การแก้นิยามดังกล่าวทำให้บริษัทต่างๆ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ใดๆ เมื่อมีการนำเอาสารพันธุกรรมหรือพันธุ์พืชไปใช้ เพียงแค่นำพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป หรือพันธุ์พืชป่า มา ‘ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์’ ก็จะไม่เข้าเงื่อนไขการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์

หากเทียบกับกฎหมายเดิม ผู้ประสงค์จะขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ต้องแสดงที่มาของสารพันธุกรรม แต่ร่างกฎหมายฉบับใหม่ตัดวรรคดังกล่าวออก และระบุใหม่เป็น ‘ข้อมูลหรือเอกสารหรือวัสดุที่จำเป็นแก่การตรวจสอบพันธุ์พืชใหม่ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด’ มูลนิธิชีววิถีระบุว่า การแก้ไขดังกล่าว ‘มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่มีการนำเอาสารพันธุกรรมและพันธุ์พืชพื้นเมืองไปใช้ประโยชน์นั่นเอง’

ข้าวโพดข้าวเหนียวสามสี

อย่างไรก็ตาม หลังจากมูลนิธิชีววิถีเปิดเผยข้อมูลข้างต้น นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ก็ปฏิเสธข้อมูลของมูลนิธิชีววิถี โดยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2017 เว็บไซต์ของรัฐบาลไทยเผยแพร่คำชี้แจงของนายสุวิทย์ สรุปได้ดังนี้

  1. ร่างพระราชบัญญัติไม่ได้ตัดสิทธิของเกษตรกร แต่ปรับปรุงให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น และแก้ไขการจำกัดสิทธิเกษตรกร จากให้ขยายพันธุ์พันธุ์พืชได้ไม่เกินสามเท่าของปริมาณที่ได้มา เป็นเปิดให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณากำหนดได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์และชนิดพืชตามสภาพการทำการเกษตร ดังนั้น เกษตรกรจึงยังคงเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกในฤดูต่อไปในพื้นที่ของตนเองได้โดยไม่มีโทษ
  2. การแก้ไขนิยามพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการตีความขอบเขตของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปให้มีขอบเขตที่ชัดเจน โดยกำหนดเฉพาะในส่วนพันธุ์พืชที่มีแพร่หลาย ไม่มีหลักฐานว่าเป็นพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นสมบัติสาธารณะ เช่น พันธุ์พืชที่มีอยู่พื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งต้องแยกออก ไม่รวมไปถึงพันธุ์ที่บุคคลพัฒนาขึ้นมา และมีหลักฐานชัดเจน ทั้งนี้ หากการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์โดยใช้ฐานพันธุกรรมจากพันธุ์พืชพื้นเมืองดั้งเดิม กฎหมายกำหนดให้ต้องขออนุญาตและทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์อยู่แล้ว
  3. ร่างพระราชบัญญัติไม่ได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช แต่เปลี่ยนแปลงวิธีการที่ได้มา เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นการปรับปรุงเพื่อลดขั้นตอนให้การแต่งตั้งคณะกรรมการทำได้รวดเร็วขึ้นและมีความต่อเนื่อง ทำให้ดำเนินการได้ทันต่อเหตุการณ์ จึงแก้ไขวิธีการคัดเลือกคณะกรรมการจากการคัดเลือกกันเองซึ่งมีปัญหาติดขัดในการส่งรายชื่อและมีความล่าช้า ให้เป็นการแต่งตั้ง โดยยังคงไว้ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเช่นเดิม
  4. กรณีเว็บไซต์กรมวิชาการเกษตรเผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ…. (ฉบับใหม่) และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 โดยเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้จนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2560 เป็นการปิดโอกาสในการเคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชทางเว็บไซต์ ซึ่งเป็นขั้นตอนขั้นต้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นประกอบการเสนอต่อกระทรวงและคณะรัฐมนตรีตามลำดับต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานต้องทำการรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์
  5. องค์ประกอบ คุณสมบัติ และการเสนอชื่อผู้ที่จะสมัครเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิยังคงเหมือนพระราชบัญญัติฉบับปัจจุบัน โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง 12 คน ยังคงมาจากทุกภาคส่วน

ดอกผักโขม

หลังจากนั่งคุยกันพักใหญ่ พี่นันทาก็พาผมไปดูสวนผักของลุงจุกกับป้าแป้ง ซึ่งเป็นกำลังหลักในการเพิ่มจำนวนเมล็ดพันธุ์พืชผักพื้นบ้านให้กับพี่นันทา

จำรัส ชูพรม และ แป้ง บานไม่รู้โรย สองสามีภรรยาวัย 70 กว่าปี คือผู้ที่ช่วยพี่นันทาปลูกพืชผักมากกว่า 30 ชนิด

วันนั้น ลุงจุกกับป้าแป้งยกเมล็ดพันธุ์จากในตู้เย็นออกมาให้ผมดู เมล็ดพันธุ์ถั่ว ข้าวโพด พริก และอื่นๆ อีกหลากหลายสายพันธุ์ถูกเก็บไว้ในกระปุกพลาสติก รอเวลาส่งถึงมือของผู้ที่ต้องการหย่อนมันลงในผืนดินเพื่อปลดปล่อยพลังชีวิตของพืชต้นใหม่ให้หยั่งราก ชูใบ และสร้างเมล็ดพันธุ์รุ่นต่อๆ ไป

สำหรับคนจำนวนหนึ่ง เมล็ดพันธุ์เหล่านี้อาจดูไร้คุณค่าและความหมาย กระทั่งตั้งคำถามกับผู้ที่หวงแหนมันราวกับชีวิต แต่สำหรับคนอีกจำนวนมาก เมล็ดพันธุ์เหล่านี้คือมรดกตกทอดที่มีอายุยาวนานกว่า 12,000 ปีนับตั้งแต่มนุษย์เรียนรู้การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ และมันเป็นทรัพย์สมบัติของเราทุกคน

สำหรับพวกเขา เมล็ดพันธุ์คือพ่อ คือแม่ คือญาติพี่น้อง คือจิตวิญญาณ คือวัฒนธรรมประเพณี คือชีวิต และคือความอยู่รอด

สำหรับบางคน ข้อเท็จจริงที่ว่านับตั้งแต่ปี 1903 เมล็ดพันธุ์ผักถึงร้อยละ 96 สูญหายไปแล้วจากโลกใบนี้อาจไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ แต่สำหรับบางคน นี่คือข้อเท็จจริงที่ทำให้พวกเขาลงมือถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีที่เผยให้เห็นความเชื่อมโยงอันไร้ตัวตนระหว่างอาหารของมนุษย์กับโลกธรรมชาติ ภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้ชมรู้ว่า เสียงของนักเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์ เกษตรกร นักวิทยาศาสตร์ และชนพื้นเมืองนั้นแหบพร่าเพียงใด เมื่อเทียบกับเสียงของบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่แห่งที่ควบคุมการผลิตอาหารสำหรับมนุษย์บนโลก

เมล็ดพันธุ์ 70 กว่าชนิดในมือของ นันทา กันตรี อาจจะเป็นจำนวนไม่น้อยสำหรับผมซึ่งเกิดมาในยุคสมัยที่หลงเหลือพืชผักผลไม้ให้เลือกกินอยู่ไม่กี่ชนิด แต่รู้หรือไม่ว่าในศตวรรษที่ผ่านมา เมล็ดพันธุ์ร้อยละ 94 สูญหายไปแล้วจากโลกใบนี้

มันสูญหายไปพร้อมกับความทรงจำ ภูมิปัญญา สารอาหาร ยารักษาโรค และอาจเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ

แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น นันทา กันตรี ก็จะยังคงทำงานของเธอต่อไป เช่นเดียวกับผู้คนอีกมากมายบนโลกที่ต้องการดูแลรักษาสิ่งมหัศจรรย์อย่าง ‘เมล็ดพันธุ์’ ไว้เป็นมรดกตกทอดสำหรับเราทุกคน

ลุงจุก-จำรัส ชูพรม

Tags: , , , ,