ในอรรถกถามหาปรินิพพานสูตรเปิดเรื่องถึงช่วงปีสุดท้ายก่อนพระสมณโคดมเสด็จดับขันธ์ด้วยสงครามของพระเจ้าอชาตศัตรูกับเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี เนื้อหาในพระสูตรเล่าว่า พระเจ้าอชาตศัตรูเข้านมัสการพระพุทธเจ้าถามถึงวิธีเอาชนะเหล่ากษัตริย์แห่งลิจฉวี ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเล่าโดยอ้อมเปรียบเหล่ากษัตริย์ประดุจสังฆะอันตั้งมั่นอยู่ได้ด้วยหลักการ 7 อย่างอันมิทำให้แตกแยก (อปริหานิยธรรม 7)

สุดท้ายคำแนะนำชุดนั้นนอกจากจะนำชัยชนะมาสู่พระราชโอรสแห่งมหาราชพิมพิสารแล้ว ยังสะท้อนถึงความไม่มั่นใจในสังฆะของพระองค์เองด้วย เนื่องด้วยในข้อแนะนำทั้ง 7 ข้อ มีจุดมุ่งหมายเดียวคือ ‘สังฆะควรดำรงค์อยู่หนึ่งเดียว’ เช่น ควรจัดประชุมอยู่บ่อยครั้ง, อย่าเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์อันดีแล้ว, พึงเคารพผู้ที่มาก่อนอยู่เป็นนิตย์ พระวจนะนี้ชี้ว่าพระพุทธเจ้าเล็งเห็นถึงความเปราะบางบางประการภายในสังฆะของพระองค์ รวมถึงยังพบร่องรอยในชาดกหลายเรื่องที่มีเนื้อหาพูดถึงการเคารพผู้อาวุโส เช่น เรื่องสี่สหายนก ลิง กระต่าย ช้าง ซึ่งกรณีอย่างพระเทวทัตอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่น่าจะมีผลกับความคิดชุดนั้นของพระโคดม

หากพิจารณาเรื่องเล่าตามมหาปรินิพพานสูตรจะเห็นว่า การเปิดปีสุดท้ายของพระชนม์ชีพด้วยสงคราม เป็นการเล่าแล้วว่า การจบลงของช่วงชีพของพุทธะจะนำมาซึ่งความไม่มั่นคงของโลก (สังคมชมพูทวีป) เนื่องด้วยพุทธะผู้หมุนวงล้อธรรมได้ลาจากโลกแล้ว ล้อธรรมย่อมหยุดลงด้วย การหยุดของล้อพระธรรมคือการหยุดลงของกฎเกณฑ์แห่งจักรวาล (Universal Order) ด้วย สงครามจึงเกิดขึ้นในห้วงที่ผู้ธำรงกฎอ่อนแอ เพื่อป้องกันมิให้ล้อธรรมนั้นหยุดลงหลังจากการดับขันธปรินิพพานแล้ว พุทธองค์จึงทรงให้ยกพระธรรมเป็นที่พึ่งแทนศาสดาผู้มีกายเนื้อ อันอาจสื่อว่า ล้อแห่งธรรมยังคงดำรงอยู่นิรันดร์ ความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นหลังการสิ้นพระชนม์ของพระองค์จะได้ไม่เกิดขึ้น

แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ความมุ่งหมายนั้นไม่เกิดขึ้นหลังการถวายเพลิงพุทธสรีระ เกิดการยกทัพมาชิงพระบรมสารีริกธาตุโดยกษัตริย์แห่ง 7 นคร นี่เป็นสัญญาณชัดเจนในเชิงสัญลักษณ์ว่า ล้อธรรมที่ผดุงความเรียบร้อยของจักรวาลหยุดลงแล้ว การปรินิพพานของพระองค์จึงกลายเป็นเรื่องอันวุ่นวายที่นำมาซึ่งความแตกแยก แต่หากมองอีกนัยหนึ่งก็ยืนยันหลักการของพุทธศาสนาที่ว่า ‘โลกนี้มันวุ่นวายไปด้วยทุกข์ การปรินิพพานเท่านั้นคือสุขอันเที่ยงแท้’

พระบรมสารีริกธาตุ

หลังถวายพระเพลิงพุทธสรีระแล้วเสร็จ พระบรมสารีริกธาตุเมื่อถูกแบ่งออกเป็น 8 กอง ประกอบด้วยนครทั้ง 7 กอง และของโทณพราหมณ์ (พราหมณ์อาจารย์ท่านหนึ่งในสมัยพุทธกาล) อีก 1 กอง ได้นำไปประดิษฐานภายในสถูปหรือเนินดินฝังศพขนาดใหญ่ อ้างอิงตามอรรถกถามหาปรินิพพานสูตรอันพระพุทธองค์ทรงชี้ว่า สรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธสาวก และพระมหาจักรพรรดิ ควรฝังเช่นนี้

ลัทธิบูชาพระธาตุ (เถ้ากระดูก) แน่นอนว่าเป็นผลสืบเนื่องจากคติเก็บกระดูกบรรพชนในผอบที่พบได้ทั่วไปในหลายแหล่งโบราณคดี เช่นแหล่งโบราณคดีอทิฉานัลลูร์ (Adichchanallur) แต่หากคิดต่อไปสงครามแย่งชิงพระธาตุที่ปะทุขึ้นหลังการเสด็จดับขันธ์ปรินิพานขององค์พระศาสดายังสามารถตีความเชิงสัญญะได้ว่า ‘ความสนใจของสาวกของพระองค์ได้เอนออกห่างพระธรรม อันพึงเป็นที่ยึดเหนียวดังที่ปัจฉิมวจนะ’

ทั้งนี้เป็นการยากที่จะระบุหรือชี้ชัดว่า สถูปใดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าเอาไว้ โดยมีสถูปราว 3 องค์ซึ่งได้รับการขุดค้นทางโบราณคดี และพบหลักฐานชี้ว่าอาจจะเป็นสถูปที่ฝั่งพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมณะโคดม ประกอบด้วย 1. สถูปหมายเลข 1 เมืองไวศาลี 2. สถูปหมายเลข 2 จากพีมาราน (Bimaran) ประเทศอัฟกานิสถาน และ 3. สถูปเมืองปิปราห์วา

สถูปหมายเลข 1 เมืองไวศาลี

สถูปหมายเลข 1 เมืองไวศาลี จากการขุดค้นระหว่างปี 1958-1962 โดย สถาบันกาศิประสาท ชยสวาล (K.P. Jayaswal Research Institute) พบผอบหินอ่อนบรรจุเถ้ากระดูกอยู่ภายในองค์สถูปชั้นในสุดซึ่งสร้างขึ้นจากดินเหนียว กำหนดอายุได้ใกล้สมัยพุทธกาลที่สุด คือราวพุทธศตวรรษที่ 1 ความสำคัญอีกประการของสถูปองค์นี้คือ นักโบราณคดีพบการก่อการครอบทับองค์สถูปดินถึง 2 ชั้น ชั้นแรกในสมัยโมริยะ ก่อด้วยอิฐ ชั้นที่สองในสมัยกุษาณะ ก่อด้วยอิฐเช่นกัน สิ่งนี้สะท้อนชัดถึงความสำคัญของสถูปแห่งนี้ และยังชี้ให้เห็นถึงธรรมเนียมการก่อสถูปให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งปรากฏเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน

พระบรมสารีริกธาตุจากปิปราห์วา

หมู่บ้านปิปราห์วา (Piprahwa Village) เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ใกล้กับชายแดนประเทศเนปาลซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนาเนื่องจากเป็นสถานที่ตั้งสถูปที่เคยบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า หมู่บ้านแห่งนี้เชื่อว่าเคยเป็นส่วนหนึ่งของกรุงกบิลพัสดุ์ โดยหมู่บ้านแห่งนี้เชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐาน 1 ใน 8 สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งถูกสร้างขึ้นหลังการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุโดยโทณพราหมณ์ โดยกษัตริย์แห่งศากยะวงศ์ เจ้าผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์

ในราวเดือนมกราคม 1897 วิลเลี่ยม แคลกซ์ตัน เปปเป (William Claxton Peppé) เจ้าของที่ดินชาวอังกฤษ บังเอิญขุดค้นพบโครงสร้างอิฐขนาดใหญ่ในผังสี่เหลี่ยมระหว่างทำการปรับแต่งหน้าดิน ภายในโครงสร้างอิฐดังกล่าวเมื่อขุดตัดลึกลงราว 5.5 เมตร เปปเปและลูกน้องของเขาพบเข้ากับโรงหินซึ่งบรรจุผอบขนาดเล็ก 5 ใบภายในผอบบรรจุเศษกระดูก เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับที่ออกแบบอย่างประณีต

ผอบที่ได้จากการขุดพบโดยบังเอิญของเปปเปปรากฏจารึกตัวอักษรพราหมีแบบก่อนโมริยะ (Pre-Maurya Brahmi) สั้นๆ กำหนดอายุจากตัวอักษรได้ราวพุทธศตวรรษที่ 1 มีความว่า ‘อิยัง สาลีละ นิธาเน พุทธัสสะ ภะคะวาเถ สาขียานัน สุขีถิ พาหะถะนัน สะภะคินี กะถัน สะสุนา เทละถะ’

แปลความได้ว่า ‘ที่บรรจุสารีระธาตุแห่งพุทธะ (สร้างถวาย) โดยตระกูลศากยะ ผู้มีเกียรติงาม กับพระภาดา พร้อมทั้งพระภคินี พระโอรส และพระชายา สร้างขึ้นอุทิศถวาย’

บ้างแปลว่า ‘นี้เป็นสรีระของญาติพี่น้องของสุกิติ (ผู้เป็น) เชื้อของศากยมุนี พร้อมด้วยพี่สาว น้องสาว และลูกๆ ของพวกเขา’

ภาพผอบศิลา คำจารึก และสิ่งของภายใน

ความจริงแท้ (?)

แม้ว่าในช่วงแรกจะมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการแปล แต่นักวิชาการจาก Royal Asiatic Society ซึ่งเป็นนักวิชาการกลุ่มแรกที่เข้าตรวจสอบผอบแห่งปิปราห์วากลับไม่รู้สึกมีข้อโต้แย้งถึงความจริงแท้ของตัวผอบและพระธาตุภายในนั้น ด้วยเหตุผลว่าตัวอักษรพราหมีบนผอบเป็นลักษณะที่พบได้อย่างแพร่หลายในพื้นที่อินเดียภาคเหนือในช่วงเวลาพุทธศตวรรษที่ 1-2 ซึ่งมีความสอดคล้องกับรูปแบบของโครงสร้างอิฐที่พบได้ทั่วไป

อีกทั้งจากการขุดค้นทางโบราณคดีในปี 1970-1971 กรมโบราณคดีอินเดีย (ASI) ขุดลึกลงไปกว่าเมื่อครั้งเปปเป การขุดค้นครั้งนี้พบผอบหินสบู่สองผอบที่บรรจุเศษกระดูกเล็กๆ อยู่ในห้องอิฐดินเผาสองห้อง ขนาดกว้าง 32 นิ้วและลึก 14 นิ้ว พร้อมภาชนะดินเผาประเภท NBP (Northern Black Polished Ware: NBP) ในชั้นดินใต้กับชั้นดินที่พบผอบซึ่งช่วยยืนยันความจริงแท้ของตัวผอบ

อนึ่งภาชนะดินเผาประเภท NBP หรือภาชนะดินเผาสีดำขัดมันเป็นภาชนะดินเผา ซึ่งสามารถกำหนดอายุได้ในช่วงพุทธกาลหรือราว 100 ปีก่อนพุทธกาล โดยภาชนะดินเผาประเภทดังกล่าวได้รับการพิจารณาว่าอาจสัมพันธ์กับบาตรของพระสงฆ์เนื่องจากมีลักษระเป็นถ้วยสีดำขัดจนมัน นักโบราณคดีผู้โด่งดังของอินเดีย บี. บี. ลาล (B. B. Lal) ชี้ว่า ภาชนะดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดว่าสังคมอินเดียได้เข้าสู่ช่วงยุคโลหะ ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่เรียกว่า ‘16 มหาชนบท’ อันเป็นช่วงเวลาร่วมสมัยกับพุทธกาล ฉะนั้นการพบภาชนะดินเผาดังกล่าวใต้ชั้นดินที่พบผอบมีจารึกถึงพระพุทธองค์จึงสอดคล้องกับช่วงเวลา และยืนยันว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีความดั้งเดิมมาแต่สมัยพุทธกาลและก่อนหน้า

เค เอ็ม ศรีวัฒวะ (K. M. Srivastava) หัวหน้าทีมนักโบราณคดีในครั้งนั้นสรุปว่า เจดีย์นี้สร้างขึ้นแบ่งเป็น 3 ระยะ (คล้ายสถูปหมายเลข 1 เมืองไวศาลี) ระยะแรกดำเนินการโดยพวกศากยะหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไม่นาน คงจะเป็นไปตามพระดำรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่าให้ฝังไว้ใต้ดิน ดังปรากฏในอรรถกถามหาปรินิพานสูตรว่า เพื่อให้ผู้สัญจรไปมาได้หยุดพักสักการะและแสดงความเคารพ โดยโครงสร้างอิฐในชั้นแรกสันนิษฐานว่า มีทรงกลมมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 เมตร และสูง 3.6 เมตร

ศรีวัฒวะระบุต่อไปว่า ความสอดคล้องของหลักฐานทางโบราณคดี อายุของตัวอักษร และวันเวลาปรินิพพานของพระพุทธองค์เป็นเครื่องยืนยันว่า ผอบที่ค้นพบนั้นเป็นผอบดั้งเดิมที่ศากยวงศ์แห่งกบิลพัสดุ์สร้างเพื่อบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า แต่สถูปแห่งนี้อาจมิได้เป็นหนึ่งใน 8 สถูปดั้งเดิม ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าซึ่งได้รับจากการแบ่งพระธาตุ ณ เมืองกุสินาราหลังถวายพระเพลิงพุทธสรีระ

สำหรับส่วนที่เปปเปค้นพบเป็นสถูปในระยะที่ 2 ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช (พุทธศตวรรษที่ 3) ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ สร้างด้วยอิฐเผาอย่างดีผสมข้าวและฟาง องค์พระสถูปถูกปรับเป็นผังกลมเช่นเดียวกับสถูปอื่นๆ ที่สร้างขึ้นในระยะใกล้เคียงกัน ทั้งโลงหินที่พบภายในก็แสดงลักษณะเด่นของศิลปะเมาริยะ คือการขัดมันจนวาว ทั้งนี้การขยายขนาดน่าจะขยายออกไปอีกหลายปีหลังจากการสวรรคตของพระเจ้าอโศกมหาราช จนสุดท้ายมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 35 เมตร และสูง 2.04 เมตร และระยะที่ 3 ตรงกับสมัยกุษาณะ (พุทธศตวรรษที่ 6) สถูปถูกขยายขนาดอีกครั้งโดยฐานและองค์ระฆังมีขนาดใหญ่ขึ้นอีกเท่าตัว และมีการสร้างอาคารวิหารรอบองค์สถูปเพิ่มเติม

เสด็จสู่สยามครั้งที่ 1

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อดีตเอกอัครราชทูตสยามประจำฝรั่งเศส เมื่อครั้งทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุในศรีลังกา เสด็จมาถึงเมืองปิปราห์วาไม่นานหลังจากการค้นพบผอบบรรจุพระบรมสารีริกะธาตุโดยเปปเป เมื่อทรงทราบถึงการค้นพบครั้งใหญ่นี้ พระชินวรวงศ์ (ภิกษุพระองค์เจ้าปฤษฎางค์) ทรงแนะนำให้รัฐบาลอังกฤษซึ่งปกครองอินเดียในขณะนั้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในสมัยนั้นที่เป็นพุทธมามกะ ทางการอังกฤษเมื่อทราบพระประสงค์จึงส่งจดหมายทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุแด่พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามตามคำแนะนำ

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ประทับเบื้องกลาง ขณะทรงผนวชเป็นภิกษุชินวรวงศ์เมื่อครั้งเสด็จประเทศพม่า

เมื่อความทราบใต้ฝ่าละอองทุลีพระบาท ทางการสยามตอบรับการทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุจากรัฐบาลอังกฤษ และมอบหมายให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ข้าหลวงมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นผู้ออกไปรับพระบรมสารีริกธาตุในปี 1899 ทว่าพระชินวรวงศ์เกิดความขัดแย้งกับพระยาสุขุมนัยวินิตอย่างรุนแรง เนื่องจากพระองค์บอกกับพระยาสุขุมนัยวินิตว่า ทรงแอบหยิบเอาพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเศียรที่รัฐบาลอังกฤษรวบรวมไว้จากการค้นพบดังกล่าวมาองค์หนึ่ง หากรัฐบาลอังกฤษไม่ยอมทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุ พระองค์ก็จะนำพระบรมสารีริกธาตุส่วนนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเสียเอง

พระยาสุขุมนัยวินิตซึ่งมีความรู้ทางพระพุทธศาสนาและภาษาบาลีเป็นอย่างดี จึงแจ้งแก่พระชินวรวงศ์ว่า พระองค์ต้องอาบัติปาราชิกข้อ ‘อทินนาทานสิกขาบท’ (คือการลักทรัพย์ การถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้) ไปเสียแล้ว จึงขาดจากความเป็นพระภิกษุ ณ นาทีที่กระทำเช่นนั้นแล้ว

เมื่อทางสยามทราบเรื่องพระชินวรวงศ์ต้องอาบัติปาราชิกตามที่พระยาสุขุมนัยวินิตรายงานไปก็เห็นด้วยเช่นนั้น และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ มีโทรเลขไปยังพระชินวรวงศ์ผ่านกงสุลสยามในกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกาว่า พระชินวรวงศ์จะเข้าไปสยามแบบเป็นพระไม่ได้ เพราะต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ซึ่งในเวลานั้นพระชินวรวงศ์มีแผนการจะเสด็จกลับสยามเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ แต่เมื่อทรงได้รับโทรเลขดังกล่าวจึงทรงล้มเลิกแผนการเสด็จกลับ และภายหลังแม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสกรุงโคลัมโบระหว่างทางเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ในปี 1907 แต่พระชินวรวงศ์ก็ไม่ได้รับโอกาสให้เข้าเฝ้าฯ เพราะยังทรงครองเพศสมณะ

เป็นที่น่าเศร้าใจอย่างหนึ่งว่า เรื่องราวของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ผู้ทรงริเริ่มดำริให้เกิดการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุมายังสยาม กลับถูกแทนที่ด้วยชุดเรื่องราวอื่นแทน จนสุดท้ายเรื่องราวของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ถูกลืมเลือนไปจากคนหมู่มาก

 พระบรมสารีริกธาตุที่ขุดค้นพบนี้ในเชิงความเชื่อก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดอย่างหนึ่ง ซึ่งดึงศาสนิกอันเป็นพุทธสาวกเข้าไปใกล้ศาสดาของตนมากขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่งก็เป็นเครื่องยืนยันว่า ‘พระพุทธองค์ทรงเป็นมนุษย์’ และ ‘ทรงมีตัวตนจริงทางประวัติศาสตร์’ ทรงตรวจสอบได้ ทรงจับต้องได้ และที่สำคัญทรงถูกศึกษาได้ สุดท้ายพระบรมสารีริกธาตุที่สยามได้รับมาจากรัฐบาลอังกฤษในครั้งนั้น เป็นองค์ที่ได้จากการขุดค้นโดยนายเปปเป และเมื่อพระบรมสารีริกธาตุเสด็จถึงสยามในปี 1899 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปบรรจุไว้ที่พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

สำหรับผอบที่ค้นพบจากการขุดค้นในปี 1970-1971 โดยกรมโบราณคดีอินเดีย ได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเดลี กรุงนิวเดลี ซึ่งก็คือพระบรมสารีริกธาตุที่เสด็จประทับ ณ กลางท้องสนามหลวงในขณะนี้ พร้อมด้วยพระสาวกธาตุขององค์พระสารีบุตรและพระมหาโมคัลลยานะ ซึ่งขุดค้นได้จากสถูปสาญจี หมายเลข 3 

ดังนั้น หากพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมายังท้องสนามหลวงเสด็จกลับสู่ประเทศอินเดีย ทุกท่านก็ยังคงไปสักการะได้ตลอด ขณะที่สำหรับส่วนที่เหลือไม่ว่าจะเป็นพระธาตุ และเครื่องอุทิศต่างๆ ทางการอังกฤษอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ Indian Museum เมืองกัลกัตตา

Tags: , ,