เมื่อ 25 ปีที่แล้ว จักรวาลหนัง Sci-Fi อย่าง The Matrix (1999) นำพาสงครามระหว่างปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) กับมนุษย์ผู้ต่อต้าน สู่สายตาชาวโลกท่ามกลางกระแสการตั้งคำถามและความไม่เชื่อใจในอิทธิฤทธิ์ของเหล่า AI
ตามท้องเรื่องของจักรวาล The Matrix มนุษย์ตกอยู่ในโลกสมมติที่เหล่าหุ่นยนต์ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อสร้างอายุเสมือนให้กับมนุษย์ เพราะถ้ามนุษย์ยิ่งอายุยืนยาวขึ้น เหล่าหุ่นยนต์จะสามารถกัดกินพลังงานไฟฟ้าได้นานขึ้น มนุษย์จึงถูกลวงให้ตกอยู่ในจักวาลที่วนเวียนไป มีการเริ่มใหม่วนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อลวงให้มนุษย์ซึ่งเป็นเพียงแค่แหล่งที่มาของพลังงานของเหล่า AI เชื่อว่า พวกเขากำลังดำเนินชีวิตอยู่ในโลกแห่งความจริง
วัฏจักร, การเวียนว่ายตายเกิด และโลกสมมติ องค์ประกอบทางปรัชญาที่ภาพยนตร์นำเสนอเมื่อปี 1999 อาจจะดูแปลกใหม่สำหรับใครหลายคน แต่สำหรับผู้ที่ศึกษาปรัชญาอินเดีย (ฮินดู, พุทธ และไชนะ) มาบ้างกลับรู้สึกว่า เรื่องพวกนี้คือเรื่องธรรมดาที่นักปราชญ์ ฤษี มุนี หรือผู้ทรงชาญในอดีตเคยถ่ายทอดเอาไว้เมื่อกว่าพันปีล่วงมาแล้ว
อุปนิษัท
“อสฺโต มา สัทฺคมยะ
ตมโส มา ชฺโยติรฺคมยะ
มฤตฺโยรฺมามฤตํ คมยะ
โปรดนำทาง (ข้า) จากความไม่จริงสู่ความจริง
โปรดนำทาง (ข้า) จากความมืดสู่ความโชติช่วง
โปรดนำทาง (ข้า) จากความตายสู่ความไม่ตาย”
พฤหทารัณยกะอุปนิษัท (1.3.28.)
อุปนิษัท (Upanishads) แปลว่าเข้ามานั่งใกล้ๆ เป็นชื่อของกลุ่มคัมภีร์ทางอภิปรัชญาของศาสนาฮินดู ว่าด้วยการตรวจสอบ ‘อาตมัน’ หรือตัวตนที่จริงแท้ (Self-realization) ซึ่งเหล่ามหาฤษีถ่ายทอดต่อกันมาผ่านระบบครูสู่ศิษย์ โดยนักวิชาการด้านศาสนาฮินดูกำหนดอายุของพัฒนาการทางปรัชญานี้เกิดขึ้นในช่วงปลายสมัยพระเวท (Late Vedic Period) ราวศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล หรือ 200 ปีก่อนการกำเนิดศาสนาพุทธ
ดังที่กล่าวว่า อุปนิษัทให้ความสำคัญกับการตรวจสอบตัวตนที่จริงแท้ ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับจักรวาล (ปรมาตมัน-ความจริงแท้สูงสุด) ในเชิงหนึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความรู้อันสูงสุดเกินกว่าจินตนาการของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างจำกัด ปรัชญาอุปนิษัทจึงเสนอปฏิสัมพันธ์ทางปรัชญาหลากหลายรูปแบบ ทั้งเอกภาวะ (Monistic), ทวิภาวะ (Dualistic) หรือแม้แต่ สหภาวะ (Pluralistic) อีกทั้งการเข้าถึงความจริงสามารถกระทำได้หลากหลายวิธี ทั้งโยคะ, สมาธิ, รวบรวมความรู้ และพิธีกรรมแบบพระเวท ขณะเดียวกัน ด้วยความซับซ้อนทางระบบความคิด นักปราชญ์ชาวอินเดียแบ่งคัมภีร์อุปนิษัทออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ มหาอุปนิษัท–มุขยอุปนิษัท (Mukhya Upanishads) จำนวน 108 เล่ม อันเป็นอุปนิษัทหลัก และสมัยอุปนิษัท (Smanya Upanishads) หรืออุปนิษัทย่อยจำนวน 24 เล่ม
พฤหทารัณยกะอุปนิษัท
“ในที่นี้ พ่อไม่ใช่พ่อ แม่ไม่ใช่แม่ โลกไม่ใช่โลก พระเจ้าไม่ใช่พระเจ้า และพระเวทไม่ใช่พระเวท
“ในที่นี้ โจรไม่ใช่โจร ฆาตกรไม่ใช่ฆาตกร คนนอกไม่ใช่คนนอก คนนอกศาสนาไม่ใช่คนนอกศาสนา คนสันโดษไม่ใช่คนสันโดษ และนักพรตไม่ใช่นักพรต ความดีและความชั่วก็ไม่ติดตามเขาไป เพราะบัดนี้เขาได้พ้นความโศกเศร้าทั้งสิ้นในใจแล้ว”
พฤหทารัณยกะอุปนิษัท (4.3.20-32.)
ข้อความที่ยกมาข้างต้นมาจากหนึ่งในอุปนิษัทสำคัญอย่าง ‘พฤหทารัณยกะอุปนิษัท’ เนื้อความสะท้อนถึงมุมมองทางความคิดสำคัญหนึ่งของคัมภีร์เล่มนี้ คือในความเป็นจริงแล้วสิ่งต่างๆ ที่เราเห็นล้วนแล้วเป็นสิ่งลวง มืดดำ และไม่จริง โครงสร้างทางสัมคมดังที่เราเห็นจึงไม่ใช่สิ่งจริง แม้แต่พระเวทอันเป็นมหาคัมภีร์ก็ไม่มีอะไรจริงแท้เลย ฉะนั้น เมื่อมองทะลุผ่านเข้าไปสู่เบื้องหลัง จะพบแต่เพียง ‘ภาพลวงตา (มายา)’ เมื่อเข้าใจถึงความแท้จริงเบื้องหลังความลวงนั้น แน่นอนว่า เรา (อาจ) ก้าวเข้าสู่ขอบเขตแห่งความจริงสูงสุดหรือโมกษะ
อ่านมาถึงตรงนี้นึกถึงอะไรไหมครับ?
โลกที่มนุษย์ในจักรวาล The Matrix อาศัยอยู่ คือโลกสมมติที่ถูกสร้างโดยเหล่าปัญญาประดิษฐ์ แต่มนุษย์ในโลกสมมตินั้นไม่รับรู้เลยว่าโลกที่พวกเขาอยู่นั้นคือโลกสมมติ หากพูดให้สอดคล้องกับสิ่งที่อุปนิษัทเสนอ โลกสมมตินั้นเป็นมายา ซึ่งมนุษย์เราวิ่งวนไปมาไม่มีที่สิ้นสุด และทางเดียวที่เราจะหลุดพ้นจากภาพลวงนั้นได้ คือ ‘เมื่อเราเรียนรู้ถึงมายานั้น’
ฤษีอัษฏาวกระ (Ashtavakra แปลว่าผู้ที่มีร่างกายบิดเบี้ยวทั้งแปดจุด) ผู้เป็นคุรุของท้าวชนก พระบิดาของนางสีดา กล่าวขยายความถึงระบบความคิดของพฤหทารัณยกะอุปนิษัท ไว้ในบทสนทนาของท่านกับท้าวชนกในมหากาพย์ทั้งสองของอินเดีย (รามายณะและมหาภารตะ) ว่า
“หากคุณต้องการที่จะเป็นอิสระ จงรู้ว่าคุณคือตัวตน จงมองสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดในฐานะหัวใจของการตระหนักรู้ วางร่างกายของคุณไว้ นั่งอยู่ในความตระหนักรู้ของตนเอง เมื่อนั้นคุณจะมีความสุขทันที ยังคงอยู่ตลอดไป เป็นอิสระตลอดไป”
คำพูดของมหาฤษีท่านนี้เทียบเคียงได้กับข้อความของมอร์เฟียสในภาพยนตร์ The Matrix ถึงยาเม็ดสีฟ้าและแดงที่ว่า “ยาเม็ดสีฟ้านี้หากเธอกลืนมันเข้าไป เรื่องราวทั้งหลายมันจะจบ เธอจะตื่นขึ้นบนเตียง และจะได้เห็นถึงสิ่งที่เธอต้องการ หากเธอกินยาเม็ดสีแดง เธอจะอยู่ในโลกมหัศจรรย์นี้ และฉันจะแสดงให้เธอเห็นถึงความลึกลับนั้น” ฉะนั้น ยาทั้งสองเม็ดที่ภาพยนตร์เสนอ จึงไม่ต่างกับเครื่องมืออันนำไปสู่ความหลุดพ้นจากโลกสมมติ
บทสนทนาของมหาฤษีกับมหาราชาท้าวชนกซึ่งอยู่ในมหากาพย์ทั้งสอง รวบรวมขึ้นเป็นคัมภีร์ชื่อ อัสฏาวกระคีตา (Ashtavakra Gita) ระบุว่า ครั้นเมื่อแรกมหาราช (ท้าวชนก) เห็นร่างกายอันบิดเบี้ยวของฤษี ท่านไม่ได้ใส่ใจจะต้อนรับนักบวชท่านนี้ ทว่าเมื่อมหาฤษีผู้มีร่างกายไม่สมบูรณ์กล่าวว่า “ร่างกายอันสูงใหญ่ของท่านกับเราผู้มีแขนและขาคดงอล้วนเป็นสิ่งสมมติ แท้จริงแล้วร่างทั้งมิได้ต่างกันเลย” หลังจากได้ยินเช่นนั้นท้าวชนกลุกจากบัลลังก์พร้อมทั้งเชิญฤษีผู้นี้ไปนั่ง ณ บัลลังก์นั้นก่อนบทสนทนาต่างๆ จะเริ่มขึ้น
สุดท้ายแล้วท้าวชนก (พูดแบบพุทธศาสนา) ดวงตาเห็นธรรม ปฏิบัติชญานโยคะ (การขัดเกลาความรู้) ตามที่ท่านฤษีแนะนำ ท้าวชนกมองทะลุโลกมายาอันเป็นภาพลวงของความจริงตามที่ฤษีอธิบาย เมื่อมองทะลุความลวงนั้นเข้าไป ท้าวชนกจึงเห็นความจริงเบื้องหลัง และเห็นโลกอีกใบหนึ่ง
น่าสนใจว่า อะไรรออยู่ข้างหลังนั้น? อะไรคือสิ่งที่ท้าวชนกเห็น? หุ่นยนต์, ความว่างเปล่า หรือจริงๆ แล้ว คือโลกอีกใบที่ซ้อนอยู่ เราไม่อาจรู้ได้ กระนั้นหากเชื่อตามคำของทั้งมอร์เฟียส และฤษีอัษฏาวกระ โลกที่เราจะไปถึงหากกินยาเข้าไป สิ่งที่รอเราอยู่ที่ปลายทาง คือ ‘อิสระ’ นั่นเอง
จากความตายสู่ความไม่ตาย
จักรวาลลวงของ The Matrix ถูกเน้นย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเพลง Navras ที่ประกอบภาพยนต์ Tha Matrix ซึ่งนำข้อความส่วนที่เรียกว่า ปวมานะมนตรา (Pavanama Mantra) จากพฤหทารัณยกะอุปนิษัท เป็นบทวิงวอนต่อพระเป็นเจ้าเพื่อให้นำเราไปสู่ความหลุดพ้น หลังรับรู้ความจริงแท้ที่อยู่เบื้องหลังความมืดดำ
เพลงนี้เข้ามาใน The Matrix Revolution (2023) ครั้งแรกตอนที่ นีโอ (Neo) พระเอกของเรื่อง กับสมิท (Smith) ตัวร้าย สู้กันครั้งสุดท้ายเพื่อเดิมพันการยุติสงครามระหว่างจักรกลกับไซออนด้วยชะตากรรมของจักรวาล Matrix (ตามบทที่ถูกวางไว้โดยจักรกล) ซึ่งฉากนี้สำคัญกับเนื้อหาของ The Matrix มาก เพราะเป็นการค่อยๆ คลายปมเรื่องตัวตนแท้จริงของตัวละครสำคัญทั้งสองนี้
ดอน เดวิส (Don Davis) ผู้แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ตั้งชื่อสกอร์นี้ว่า Neodämmerung (The Twilight of Neo) เพราะได้แรงบันดาลใจการประพันธ์ส่วนหนึ่งมาจาก สกอร์ชื่อ Götterdämmerung (The Twilight of God) ซึ่งเป็นหนึ่งในโอเปร่าชื่อ Der Ring des Nibelungen (The Ring of the Nibelung) ของ ริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wager) คีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ชาวเยอรมันแห่งยุคโรแมนติก โดยดัดแปลงมาจากเรื่องราวปกรณัมสงครามสิ้นจักรวาลของชาวไวกิ้งโบราณ ซึ่งเทพเจ้าทั้งหลายห้ำหั่นกันและตายลง เมื่อนั้นจักรวาลจะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง โดยเทพเจ้าแห่งความไม่ตายผู้เกิดใหม่อีกครั้ง
การเวียนตายเวียนเกิดของเทพเจ้าใน The Twilight of God กับมนตร์สันสกฤตบทนี้ก็ช่างเหมาะเจาะที่จะเอามาสวมเข้าไปในบทเพลงแห่งการค้นหาตัวตนนี้ เพราะสุดท้ายแล้วจักรวาลยังต้องดำเนินต่อไป ด้วยการจบชีวิตของพระเอกอย่างนีโอ เพื่อเริ่มจักรวาลใหม่ เพราะนั่นคือจากความตายของผู้หนึ่งนำพาความไม่ตายมาสู่อีกผู้หนึ่ง การเริ่มต้นใหม่ในเชิงหนึ่งก็คือการรักษาสภาพ ‘อมตะ’ เอาไว้ให้คงอยู่ (?)
ทว่าการตื่นขึ้นของพระเอกก็สะท้อนความคิดของนักปราชญ์อินเดียซึ่งแทรกอยู่ในเสียงกระซิบของสกอร์นี้ ที่ชี้ไปยังการตื่นขึ้นจากความมืดมิด การตื่นจากความไม่รู้ เพื่อเผชิญหน้ากับความจริง และเมื่อนั้นความไม่ตายอาจจะรอเราอยู่ที่ปลายทางนั้น
‘จากความตาย สู่ความไม่ตาย’
ที่มาข้อมูล
Archibald Edward Gough (2001), The Philosophy of the Upanishads and Ancient Indian Metaphysics, Routledge
Ashtavakra; Radhakamal Mukherjee (1971 Astavakra Gita (the Song of the Self Supreme): The Classical Text of Atmadvaita by Astavakra. Motilal Banarsidass.
Paul Deussen, Sixty Upanishads of the Veda, Volume 1, Motilal Banarsidass,
Tags: AI, ปัญญาประดิษฐ์, อินเดีย, ฮินดู, The Matrix, Indianiceation, อุปนิษัท