มหาภารตะ มหากาพย์อันยิ่งใหญ่ของอินเดียที่ขับขานเรื่องราวของสงครามระหว่างพี่น้องและผองเพื่อน ท่ามกลางตัวละครมากมายในเรื่องที่จับอาวุธขึ้นต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายบนทุ่งกุรุเกษตร มีตัวละครตัวหนึ่งยืนเด่นในฐานะสารถีของนายธนูผู้กล้า ตัวละครนั้นเป็นที่รู้จัก นับถือ และกราบไหว้โดยคนนับล้านทั่วโลก ถึงตรงนี้ทุกคนคงทราบแล้วว่า ผู้เขียนกำลังกล่าวถึง ‘พระกฤษณะ’ เทพบุรุษรูปงามและสหายร่วมรบของอรชุน

แต่ที่น่าสงสัยอย่างหนึ่งคือ ทำไมภาพของตัวละครดังกล่าวถึงถ่ายทอดออกมามีวรรณะ (ผิว) ‘สีคล้ำ’ แตกต่างจากตัวละครตัวอื่นๆ แล้วความคล้ำดำนี้สะท้อนอะไรที่ลึกลงไปกว่านั้นหรือไม่

ด้วยความสงสัยเล็กๆ นี้ ผู้เขียนจึงอยากชวนให้ผู้อ่านขบคิดกันสนุกๆ ถึงความเป็นมาเป็นไปของพระเป็นเจ้าผู้ได้รับฉายาว่า ‘ผู้มีลีลายิ่ง’ เนื่องในโอกาสวันเกิดพระกฤษณะ (กฤษณะชันมาษฏมี) ประจำปีนี้ที่ตรงกับวันที่ 26 สิงหาคม

ประวัติของกฤษณะใน มหาภารตะ อธิบายว่า จริงๆ แล้วกฤษณะเป็นโอรสของกษัตริย์ แต่มีเหตุจำเป็นต้องไปอาศัยอยู่กับครอบครัวของเลี้ยงวัว ซึ่งเป็นชนชั้นกลางในสังคม ในปุราณะ โดยเฉพาะวิษณุปุราณะและภควตะปุราณะ กฤษณะในวัยเด็กมักแสดงภาพเป็นเด็กชายรูปงามผิวคล้ำ ต่างไปจากเด็กเลี้ยงวัวคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน

กฤษณะน้อยมีความแก่นแก้วอย่างมาก ชอบขโมยเนย ชกต่อยกับพญานาค แกล้งสาวเลี้ยงวัว ทั้งยังต่อสู้กับกับพระยากังและเหล่าลูกน้องที่ถูกส่งมาเพื่อฆ่าเด็กคนนี้ เพราะเคยมีคำทำนายว่า พญากังจะถูกหลานชายฆ่าตาย

แต่เรื่องราวที่สนุกเรื่องหนึ่งก็คือ พระกฤษณะเคยท้าทายพระอินทร์ ราชาแห่งทวยเทพ ทำให้พระอินทร์โกรธมาก บันดาลให้ฝนตกใส่หมู่บ้านนาน 7 วัน 7 คืน ดังนั้นเพื่อช่วยชาวบ้านพร้อมกับแสดงอำนาจเหนือพระอินทร์ พระกฤษณะจึงยกเขาโควรรธณะด้วยนิ้วก้อยของมือซ้าย เพื่อบังฝนให้ชาวบ้านจนพระอินทร์ยอมแพ้ เรื่องราวนี้อาจจะเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า พระกฤษณะคือ ‘วีรบุรุษประจำท้องถิ่น’ ที่มีชัยเหนือชาวอารยัน (แทนด้วยพระอินทร์) ที่เข้าครอบครองได้หรือไม่

เพื่อทำความเข้าใจคำกล่าวข้างต้นนี้ให้มากขึ้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาแยกเป็นส่วนประเด็นหลักๆ คือเรื่องผิวคล้ำและความเป็นวีรบุรุษ

กฤษณะผิวดำ

หากดูที่ชื่อจะพบว่า คำว่า กฤษณะ เป็นคำคุณศัพท์ในภาษาสันสกฤต (Kṛṣṇa) แปลว่า ดำ มืด คล้ำ หรือกาฬ การที่มีชื่อว่าดำและมีผิวกายคล้ำ แสดงให้เห็นลักษณะของคนพื้นเมืองเดิม ซึ่งความคิดชุดนี้สะท้อนแนวคิดบางอย่างตามทฤษฎีการบุกรุกของชาวอารยัน (Aryan Invasion) ตามที่คนอารยันกล่าวถึงสงครามกับคนพื้นเมืองหรือพวกทาสยุ (Dasa/ Dasyu) ซึ่งคนเหล่านี้มีผิวเข้มแตกต่างจากชาวอารยันที่มีผิวขาว อีกทั้งยังเป็นพวกป่าเถื่อน ไม่เคารพบูชาพระเป็นเจ้า และไม่ประกอบยัญพิธี

สิ่งสำคัญที่เป็นตัวแบ่งระหว่างชาวอารยันกับคนพื้นเมืองคือ ‘ระบบวรรณะ’ คำว่า วรรณะ มีความหมายที่ผูกอยู่กับเรื่องผิวพรรณ สี หรือรูปลักษณ์ โดยนักวิชาการด้านอินเดียศึกษาและประวัติศาสตร์อินเดียโบราณหลายคน ทั้งชาวตะวันตกและชาวอินเดียชี้ตรงกันว่า ในสมัยพระเวทแม้จะมีเรื่องของการแบ่งคนออกเป็นกลุ่มๆ แล้ว แต่ยังไม่มีความแน่นอนและตายตัว

อาร์. เอส. ชาร์มา (R. S. Sharma) นักประวัติศาสตร์อินเดีย เสนอว่า สมัยพระเวท (1,000-100 ปีก่อนพุทธกาล) ระบบสังคมขณะนั้นแบ่งตามเครือญาติ เผ่า และเชื้อสาย ทำให้ยังมีความเป็นไปได้อยู่ว่า ระบบวรรณะสร้างขึ้นเพื่อแบ่งคนตามเชื้อสายของตนเอง

ในมหาภารตะยังแสดงถึงวิธีการแบ่งกลุ่มผู้คนตามสีผิวด้วยเช่นกัน โดยครั้งหนึ่งฤษีภฤคุ (Bhṛgu) กล่าวว่า ผู้คนแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม พราหมณ์-ขาว กษัตริยะ-แดง ไวษยะ-เหลือง และศูทระ-ดำ แต่ก็ถูกตั้งคำถามโดยฤษีภารทวชะ (Bharadvaja) ถึงความจำเป็นของการต้องแบ่งคนตามรูปลักษณ์ เพราะสุดท้ายเราทุกคนก็มีเลือดสีเดียวกัน ประเด็นตรงนี้สะท้อนว่า มีความคิดที่เรื่องการแบ่งคนตามสีผิวอยู่จริง แต่ก็มีกระแสต่อต้านอยู่ด้วยในที ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่า ความคล้ำของพระกฤษณะมีร่องรอยบางอย่างของความเป็นคนท้องถิ่นอยู่

อย่างไรก็ดี สีผิวคล้ำไม่ใช่ปัญหาของการกีดกันทางโครงสร้าง อรชุนก็มีฉายาหนึ่งว่า กฤษณะ เทราปตีภรรยาของเหล่าพี่น้องปาณฑพก็มีชื่อหนึ่งว่า กฤษณา ซึ่งก็แปลว่า ดำ เช่นกัน ด้วยความที่นางเกิดจากกองไฟทำให้ผิวถูกคราบเขม่าไฟเกาะตามตัว จนมีผิวสีดำและเข้มกว่าสตรีอื่น แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้พี่น้องปาณฑพจะไม่เลือกนางเป็นภรรยา ด้วยเหตุนี้การแต่งงานระหว่างลูกของท้าวปานฑุผู้มีผิวซีดกับนางเทราปตีผิวคล้ำ อาจจะสะท้อนการขยับของอารยธรรมอารยันเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำคงคา-ยมุนา ตอนกลางของอินเดียภาคเหนือก็ได้

วีรบุรุษกฤษณะ

ข้อคิดว่าด้วยเรื่องของวีรบุรุษในตำนาน พระกฤษณะมีหลักฐานที่เก่าแก่มากพอควร มีการพบเหรียญเงินสมัยอินโด-กรีก (พุทธศตวรรษที่ 3-4) แสดงรูปของเทพบุรุษถือวงล้อ (จักร) และดาบ รูปนี้จึงน่าจะเป็นหนึ่งในรูปของเทพเจ้าที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายไวษณพ (กลุ่มที่นับถือพระวิษณุ) ที่เก่าที่สุดรูปหนึ่งที่พบ

นอกจากนี้จารึกเสาเฮลิโอโดรัส (Heliodorus Pillar) จากมัธยประเทศ รัฐในอินเดียตอนกลาง ซึ่งจารึกด้วยตัวอักษรพราหมี กำหนดอายุได้ในช่วงเวลาเดียวกัน ยังมีการระบุถึงการนับถือศาสนาภควตะ-วาสุเทวะ ซึ่งน่าจะหมายถึงศาสนาโบราณของยาทวะ (Yadava) คนท้องถิ่นเดิมในเมืองมถุรา รัฐอุตรประเทศ (อินเดียภาคเหนือ) เมื่อราว 300 ปีก่อนพุทธกาล ซึ่งนับถือ วาสุเทวะ-กฤษณะวีรบุรุษของพวกตนในฐานะเทพเจ้าสูงสุด

เหรียญเงินสมัยอินโด-กรีก แสดงรูปของเทพบุรุษถือวงล้อ (จักร) และดาบ ที่มา: Wikipedia

จารึกเสาเฮลิโอโดรัส (Heliodorus Pillar) จากมัธยประเทศ ที่มา: Wikipedia

เรื่องราวนี้พบบันทึกอยู่ในงานเขียนของฤษีปาณินิ (Panini) มีอายุราว 300-200 ปีก่อนพุทธกาล โดยระยะต่อมาศาสนาภควตะ-วาสุเทวะได้รวมเข้ากับศาสนาปาญจราตระ (Pancharatra) ศาสนาโบราณอีกศาสนาหนึ่ง ที่เชื่อว่ากำเนิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 2 โดยฤษีนารายานะ (Narayana) โดยพบว่า ในไตตติริยะสัมหิตา (Taittiriya Samhita) ระบุถึงวิธีการทางศาสนานี้ว่า ผู้สำเร็จปาญจราตระ (ความรู้ทั้ง 5) จะกลายเป็นผู้รอบรู้ในด้านวาทศาสตร์ วิธีการให้ได้มาซึ่งความรู้นั้นจำต้องประกอบพิธีกรรม 5 วัน 5 คืน เพื่อบูชาเทพเจ้าผู้จะอวตารลงมาตลอดเวลาดังกล่าว โดยวาสุเทวะ-กฤษณะเป็นเทพประธานที่จะเสด็จมาในวันสุดท้ายของการบูชา

ขณะที่ในมหาภารตะกล่าวว่า สัปตฤษีทั้ง 7 ตนเล่าถึงพิธีกรรมยัชญะต่อเนื่อง 5 วัน 5 คืน หรือปาญจราตระ ซึ่งต้องประกอบตามบัญญัติแห่งพระเวท ในส่วนตรงนี้ชี้ถึงกลิ่นอายแบบพระเวทในระบบศาสนาถิ่น เพราะฤษีนารายนะเป็นฤษีที่มีตัวตนอยู่ในวัฒนธรรมพระเวทมาก่อน ฉะนั้นเมื่อเกิดการรวมตัวกับศาสนาท้องถิ่นซึ่งบูชาวีรบุรุษ เข้ากับศาสนาที่เน้นเรื่องพิธีกรรมที่เป็นระบบ จึงเกิดการดึงโครงสร้างทางพิธีกรรมแบบพระเวทมาใช้ เพื่อประกอบสร้างร่างกายใหม่ให้กับศาสนาดั้งเดิม อีกทั้งลัทธิภควตะ-วาสุเทวะยังมีอีกชื่อคือ ‘ศาสนาวาสุเทวะ-กฤษณะ’ อันมีที่มาจากชื่อเทพเจ้าสูงสุดนั่นเอง 

ร่องรอยดังกล่าวพบเห็นได้ในระบบวิธีคิดของลัทธิไวษณพปัจจุบันคือ พระกฤษณะเป็นหนึ่งในเทพสูงสุดของหลายของสำนักคิดในไวษณพนิกาย ทั้งยังสะท้อนระบบคิดแบบ เอกันติกะธรรมะ (Ekantika-dharma) หมายถึงการนับถือเทพเจ้าหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว ซึ่งพัฒนามาเป็นวิถีแบบวิษณุ-ราม-กฤษณะภักดีที่เห็นได้ในคัมภีร์ภควัทคีตา ทั้งยังเป็นเอกลักษณ์เด่นของศาสนาฮินดูฝ่ายไวษณพที่มักเน้นเรื่องการบูชาเทพเจ้าอย่างสุดหัวใจ ความรักของพระเป็นเจ้า และการเป็นสาวกผู้ภักดี ต่างจากศาสนาฮินดูสาขาอื่น เช่น ไศวนิกายซึ่งเน้นออกบวช หรือศากตะนิกายที่เน้นการน้อมรับความเป็นไปของโลกและการเป็นหนึ่งกับจักรวาล 

เมืองมถุราและทวารกา 

ข้อชวนคิดสุดท้ายคือ ศาสนาภควตะโคจรรอบการบูชาเทพวีรบุรุษวาสุเทวะ-กฤษณะ ฉะนั้นความเก่งกล้าสามารถของพระกฤษณะที่ปรากฏให้เห็นในมหาภารตะ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับนาค พระอินทร์ หรือแม้แต่พระพรหม ตอกย้ำถึงความเป็นผู้กล้าหาญ เหรียญตราสมัยอินโด-กรีกที่แสดงภาพบุรุษถือดาบและจักร ก็จึงยิ่งแสดงให้เห็นมุมมองสำคัญหนึ่งคือ การเป็นนักรบของเทพเจ้าโบราณองค์นี้ ซึ่งเกิดและเติบโตในเมืองมถุรา เมืองที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของกลุ่มผู้นับถือพระกฤษณะ

ขณะเดียวกันหมู่บ้านวริดาวันที่พระกฤษณะไปลี้ภัย ก็ล้วนอยู่ในขอบเขตของเมืองมถุราทั้งสิ้น ซึ่งหากเราย้อนเวลากลับไปในช่วงเวลาที่ศาสนาพระเวทกำลังก่อตัวในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ-สรัสวตี เมืองมถุรานั้นนับว่าอยู่นอกเขตวัฒนธรรมพระเวทมาก่อน

การทำงานทางโบราณคดีพบร่องรอยการอยู่อาศัยในเขตเมืองมถุรา ตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมสินธุเมื่อ 4,500-5,000 ปีมาแล้ว ก่อนเริ่มพบร่องรอยของวัฒนธรรมพระเวท (ภาชนะดินเผาแบบสีเทาเขียนลาย) ในช่วง 200 ปีก่อนพุทธกาล ซึ่งใกล้เคียงกับการค่อยๆ ก่อตัวของระบบศาสนาวาสุเทวะ-กฤษณะ ซึ่งมีการผสมกลิ่นอายท้องถิ่นและระบบระเบียบแบบพระเวท

อีกข้อสังเกตที่อาจช่วยสนับสนุนความเป็นคนพื้นเมืองเดิมของพระกฤษณะคือ ที่ตั้งของเมืองทวารกา เมืองหลวงของสกุลยาทพที่พระกฤษณะสถาปนาขึ้น หลังจากครองราชย์ที่เมืองมถุราแล้ว โดยเมืองทวารกานี้ตั้งอยู่ในเขตตะวันตกของประเทศอินเดีย ติดกับทะเลอาหรับ ซึ่งในปัจจุบันตรงกับบริเวณรัฐคุชราต ทางตะวันตกของอินเดีย เช่นเดียวกับเมืองมถุราที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แถบรัฐอุตรประเทศ ซึ่งทั้งสองพื้นที่นี้เต็มไปด้วยเมืองโบราณในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุจำนวนมาก เช่น เมืองโลทัล (Lothal) เมืองกุนตาสิ (Kuntasi) และเมืองสุรโกตาทะ (Surkotada) การที่พระกฤษณะมีเมืองของพระองค์ในเขตที่อุดมไปด้วยรากฐานของวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเช่นเดียวกับเมืองมถุรา ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันยาวนานของพระกฤษณะกับรากฐานวัฒนธรรมเดิมก่อนหน้าระบบแบบพระเวท

กระบวนการดูดกลืนเทพเจ้าท้องถิ่นให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบพระเวท ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญมากอย่างหนึ่งของศาสนาฮินดูคือ เลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันมากกว่าจะทำลายความเชื่อดั้งเดิม ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระบวนเช่นนี้ย่อมมีการกดทับหรือการกีดกันอยู่ด้วย แต่ในส่วนหนึ่งก็ย่อมดีกว่าการทำลายหรือลบล้างทุกสิ่งที่แตกต่างไปเสียหมด หากศาสนาพระเวทเลือกที่จะทำลายเทพเจ้าท้องถิ่นทั้งหมดให้หายไป คงไว้เพียงแต่เทพเจ้าของตนเท่านั้น ความรุ่มรวยหลายอย่างของศาสนานี้คงจะสูญสิ้นไปหมด และศาสนาฮินดูที่พวกเรารู้จักในปัจจุบันก็คงจะมีแต่พระอินทร์ ราชาแห่งทวยเทพนั่งอยู่บนบัลลังก์เท่านั้น พระกฤษณะ พระศิวะ พระคเณศ หรือแม้แต่เจ้าแม่ทั้งหลาย ก็คงเป็นได้แค่หมอกควันแห่งความหลากหลายทางความเชื่อที่ถูกทำลาย

สำหรับผู้เขียน ไม่ว่าพระกฤษณะเคยเป็นเทพเจ้าท้องถิ่นมาก่อนหรือไม่ แต่ก็สะท้อนถึงใจที่กว้างขวางของคนอินเดียโบราณที่อนุญาตให้เกิดปฏิสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบขึ้น ซึ่งเมื่อหันมาแลมองอินเดียปัจจุบัน การพยายามจำกัดให้ศาสนาฮินดูเหลือเพียงแบบเดียว ต้องนับถือเทพองค์นี้หรือขนบนี้โดยกลุ่มฮินดูนิยมบางกลุ่ม จึงเป็นเสมือนการกำลังบีบคอฆ่าคุณค่าชุดหนึ่ง ซึ่งเคยหลอมรวมชมพูทวีปที่หลากหลายนี้

ที่มาข้อมูล

ผาสุข อินทราวุธ (2522) รูปเคารพในศาสนาฮินดู กรุงเทพฯ: ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

Constance Jones; James D. Ryan (2006). Encyclopedia of Hinduism. Infobase Publishing

Jan Gonda (1977). Medieval Religious Literature in Sanskrit. Harrassowitz.

R. Allchin; George Erdosy (1995). The Archaeology of Early Historic South Asia: The Emergence

Gavin D. Flood (1996). An Introduction to Hinduism. Cambridge University Press.

Sharma, Ram Sharan (1990). Sudras in Ancient India: A Social History of the Lower Order Down to Circa A.D. 600. Motilal Banarsidass Publishers

Upinder Singh (2008). A History of Ancient and Early Medieval India: From the Stone Age to the 12th Century. Pearson Education India.of Cities and States. Cambridge University Press.

Tags: , , , ,