Heeramandi ซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ความยาว 10 ตอน กำกับโดย สัญชัย ลีลา ภันสาลี (Sanjay Leela Bhansali) ตีแผ่ชีวิตของเหล่า ‘ตาไวฟ์’ (Tawaif) หญิงสาวนักแสดงในฮีรามันดี (Heera Mandi) ย่านโคมแดงของเมืองลาฮอร์ (Lahore) ในหลากหลายแง่มุมทั้งรัก ชิงชัง ชิงดีชิงเด่น อำนาจ อิทธิพลในหมู่ชนชั้นสูง หรือแม้แต่เอกราชบนผืนผ้าใบแห่งเวลา ที่ย้อมสีสันของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์อินเดีย

ในซีรีส์ดังกล่าวผู้กำกับพาเหล่าตาไวฟ์โลดเต้นไปมาบนเกมการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ด้วยชุด เครื่องประดับ ฉาก และเพลง สมกับเคยฝากผลงานชื่อก้องอย่าง Gangubai Kathiawadi หรือคังคุไบ ที่ชาวไทยรู้จักกันดี 

เมื่อย้อนเวลากลับไปในอดีตไกลกว่าช่วงเวลาที่ซีรีส์นำเสนอ จะพบว่า อินเดียมีร่องรอยหลักฐานของเหล่าหญิงงาม ผู้เฉิดฉายไปด้วยสีสัน ปลอบประโลมโลกอันสาบไปด้วยกลิ่นชายมานานหลายศตวรรษ

คอลัมน์ Indianiceation สัปดาห์นี้ ชวนมองทะลุอดีต ย้อนกลับหาที่มาของ ‘ตาไวฟ์’ คำเรียกเหล่าคณิกาในแดนภารตะ และชีวิตของตาไวฟ์นางหนึ่งที่ก้าวขึ้นเป็นชายาแห่งราชสำนักมุคัล จักรวรรดิที่ร่ำรวยที่สุดจักรวรรดิหนึ่งของอนุทวีป  

จุดเริ่มต้นของคณิกา

ในวรรณกรรมสันสกฤตโบราณที่สืบค้นอายุย้อนกลับไปได้ถึงพุทธศตวรรษที่ 10 อย่าง มฤจฉกฏิกัม (Mrcchakatika) เล่าถึงชีวิตรักของ วสันตเสนา (Vasantasena) หญิงงามเมืองผู้ร่ำรวย ที่ตกหลุมรัก จารุดัตตะ (Charudatta) ชายวรรณะสูงผู้มั่งคั่งด้วยรูปทรัพย์ แต่ขาดแคลนทรัพย์สิน

หากสืบสาวราวเรื่องของหญิงงามเมือง รากเหง้าของคำเรียกอย่าง ‘คณิกา’ ย้อนกลับไปได้ถึงยุคพระเวท (Vedic Period) โดยนิยามกว้างๆ ของคำนี้แปลว่า ‘หญิงผู้ให้ความบันเทิง’ ทว่าหากแปลตามรากศัพท์ คำว่า คณิกา แปลว่า สตรีผู้บุรุษนับเอาไป (มาจาก คณฺ ธาตุ แปลว่า นับหรือคำนวณ) ซึ่งแปลให้ชัดคือตีราคาแล้วนำไป

ว่าแต่นำไปทำอะไร?

หากว่ากันด้วยข้อความในวรรณกรรม คือพาไปให้ความบันเทิง เพราะพวกเธอมักมีความสามารถในการแสดงนาฏกรรมต่างๆ 

ทั้งนี้ การประกอบอาชีพหญิงคณิกาในอดีตไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายอะไรนัก พวกเธอได้รับคำชื่นชมถึงความสามารถ และจากร่องรอยการบรรยายในมฤจฉกฏิกัม วสันตเสนาก็มีชีวิตที่หรูหรา สุขสบายภายในเคหะสถานอันงดงาม พร้อมทั้งยังเป็นที่นับถือของเหล่าบรรดาขุนนางและราชวงศ์ 

ขณะที่ในพุทธศาสนา ภาพของเหล่าหญิงงามมีความซับซ้อนพอควร บ้างก็ว่าเป็นสิ่งอันพึงระแวดระวังโดยเหล่าภิกษุ กระนั้นยังปรากฏว่า มีภิกษุณี 4 รูป คืออัมพปาลีเถรี, อภัยมาตาเถรี, วิมลาเถรี และอัฑฒกาสีเถรี เคยประกอบอาชีพเป็นคณิกา-โสเภณีมาก่อนจะบรรลุอรหัตตผล และเช่นเดียวกับวสันตเสนา พระเถรีทั้ง 4 รูปก่อนจะบวชเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ก็มีฐานะทางสังคมที่ดี เช่น พระอภัยมาตาเถรี ก็เคยเป็นที่ต้องใจพระเจ้าพิมพิสาร และใช้ชีวิตในวังหลวง หรือพระอัมพปาลีเถรี แม้ไม่ทราบภูมิหลังแน่ชัด แต่ก็มีทรัพย์มาก และมีโอรสให้พระเจ้าพิมพิสารองค์หนึ่ง 

ส่วนคำว่า ‘เวศยา’ หรือ ‘แพศยา’ ในภาษาไทยมีที่มาจากรากศัพท์ว่า วิศฺ ในภาษาสันสกฤตแปลว่า เข้าไป ฉะนั้นเมื่อประกอบขึ้นเป็นคำแล้ว เวศยาจึงมีความหมายตามศัพท์ว่า เธอผู้ควรจะเข้าไป ซึ่งคำว่าเข้าในที่นี้มีนัยถึงการสอดใส่ทางเพศเป็นหลัก อีกคำยอดนิยมอย่าง ‘โสเภณี’ เมื่อถอดรากศัพท์ คือ สุภฺธาตุ ในภาษาบาลี แปลว่า งาม เมื่อประกอบคำเป็นเพศหญิงจึงควรแปลว่า ‘หญิงงาม’ แต่คำนี้ตัดมาจากคำเดิมว่า ‘นครโสเภณี’ ซึ่งคำว่า นคร แน่นอนว่าแปลว่า เมือง และเมื่อต่อท้ายด้วยหญิงงาม นครโสเภณีจึงมีความหมายว่า ‘หญิงผู้ยังให้เมืองงาม’ หรือ ‘หญิงผู้ยังเมืองให้งาม’ ซึ่งก็ต้องเน้นย้ำกันตามหลักฐานทางวรรณกรรมว่า คำนี้ไม่ได้มีความหมายในเชิงลบเท่ากับปัจจุบัน  

จากคณิกาสู่ตาไวฟ์

วัฒนธรรมของสาวคณิกาในฐานะผู้ให้ความบันเทิงแก่ชนชั้นสูง ยังคงดำเนินต่อมาเรื่อยๆ ในแวดวงสังคมฮินดูก็มีกลุ่มเทวทาสี ผู้บำเรอ ขับกล่อมเสียงเพลง และเต้นรำถวายความบันเทิงแด่พระเป็นเจ้าตามเทวสถานต่างๆ ขณะที่ในสมัยราชวงศ์มุสลิมขึ้นมามีอำนาจปกครองอนุทวีปเหล่าสาวงามผู้เพรียบพร้อมด้วยความสามารถก็ยังคงรับใช้คนในรั้วในวังอยู่เช่นเดิม เพียงแต่ว่าพวกเธอถูกเรียกขานด้วยชื่อใหม่ในภาษาใหม่ว่า ‘ตาไวฟ์’ (Tawaif) 

คำว่า ตาไวฟ์ มาจากคำภาษาอาหรับว่า ตาวาฟ (Tawaf) ซึ่งแปลว่า วนรอบ เช่น การเดินวนรอบกะอ์บะฮ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมที่เมืองมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย อย่างไรก็ดี การที่คำว่า ตาวาฟแปลงเป็นตาไวฟ์น่าจะมีที่มาจากการเต้นรำไปรอบๆ ในราชสำนัก เวลาที่ต้องแสดงต่อหน้าบรรดาราชวงศ์และขุนนาง

แต่การจะเป็นตาไวฟ์ในราชสำนักอินเดียนั้นไม่ง่าย พวกเธอจะต้องเรียนรู้นาฏศาสตร์หลากหลายแขนง ทั้งการขับร้อง การเต้น การเล่นเครื่องดนตรี การแสดง รวมไปถึงภาษาอูรดู (Urdu) บ้างอาจมีภาษาเปอร์เซีย ซึ่งทั้งสองเป็นภาษาที่ราชสำนักมุคัลใช้ในการสื่อสารกันอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในบทกวีที่พวกเธอต้องขับร้อง ทำให้เหล่าตาไวฟ์ต่างจากเหล่าคณิกาทั่วไป ด้วยหน้าตาอันสะสวย มีความรู้รอบด้านในเชิงภาษาและวรรณกรรม รวมทั้งยังมีความเข้าใจต่อมารยาทในหมู่ชนชั้นสูง พวกเธอจึงถูกยกย่องในฐานะ High Class Courtesan 

ถ้าใครได้ดู Heeramandi จะเห็นว่า เหล่าตัวเอกของเรื่องใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย อยู่ในคฤหาสน์ใหญ่โต มีคนรับใช้ มีรถม้านั่งเวลาจะเดินทางไปไหน มีเครื่องประดับเพชรพลอยล้ำค่ามากมายในครอบครอง แถมยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมงามสังคมของชนชั้นสูงในเมืองลาฮอร์อยู่ตลอดเวลา แม้แต่เหล่าผู้ปกครองอังกฤษในขณะนั้นยังต้องเกรงใจพวกเธอ 

การแสดงของพวกเธอโดยปกติจะเกิดขึ้นตามโอกาสสำคัญ เช่น งานแต่งงาน วันคล้ายวันประสูติขององค์จักรพรรดิ การประสูติขององค์รัชทายาท วัดเกิดของลูกชายคนแรก หรือวันสำคัญทางศาสนาอย่างการฉลองนักบุญ โดยการแสดงส่วนใหญ่มักจะเต้นประกอบการขับร้อง Ghazal (บทเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก) และการขับกลอน Shairi 

ตาไวฟ์ Mehil E Mushaira แสดงต่อหน้าเหล่านาวาบ (Nawab) ในราชสำนักกรุงไฮเดอราบัด (Hyderabad) (ที่มา: Wikipedia)

จริงๆ เหล่าตาไวฟ์มีลำดับชนชั้นภายในของตัวเอง เช่น หัวหน้าของคณะตาไวฟ์ถูกเรียกว่า ‘ฮูซูร์’ (Huzur) ซึ่งแปลว่า นายหญิง/ นายท่าน และที่สำคัญที่สุดคือ เหล่าตาไวฟ์ไม่ขายบริการทางเพศ พวกเธอมีหน้าที่ในการแสดงและให้ความบันเทิงเท่านั้น เหมือนกับเกอิชาในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่มีหน้าที่ให้ความบันเทิงในรูปแบบการขับร้อง การละเล่น แม้สุดท้ายตาไวฟ์บางคนก็ปล่อยให้มันล่วงเลยไปถึงเรื่องบนเตียง ด้วยเหตุนี้เหล่าตาไวฟ์จึงอยู่ในแวดวงสังคมอันมีหน้ามีตา เป็นผู้อนุรักษ์และถ่ายทอดศิลปะชั้นสูงด้านนาฏกรรมในราชสำนัก เป็นครูผู้รู้รอบในศาสตร์การแสดง แต่กระนั้นก็ไม่วายมักถูกมองว่า เป็นหญิงขายเรือนร่างและด้อยกว่าหญิงอื่นอยู่ดี

‘ลาล คุนวาร์’ จากหญิงคณิกาสู่พระชายา

ในบรรดาตาไวฟ์ที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ มีตาไวฟ์คนหนึ่งเปล่งแสงเจิดจ้ากลบรัศมีตาไวฟ์คนอื่นจนหมด ชื่อเมื่อเกิดของเธอคือ ลาล คุนวาร์ (Lal Kunwar) เธอเป็นลูกสาวของขาสุสิยัต ข่าน (Khsusiyat Khan) ไม่มีข้อมูลชัดเจนนักเรื่องครอบครัว แต่ว่ากันว่าพ่อของเธออาจสืบเชื้อสายมาจากนักดนตรีคนสำคัญในราชสำนักพระเจ้าอักบาร์ (Akbar I) โดยลาล คุนวาร์เข้าฝึกฝนศิลปะการแสดงตั้งแต่อายุยังน้อย มีความสามารถโดดเด่นด้านการเต้นและขับร้อง จนสุดท้ายเข้ามาเป็นหนึ่งในตาไวฟ์ของราชสำนักมุคัลได้สำเร็จ ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ฐานะหนึ่งในพระชายาของจักรพรรดิจาฮานดาร์ ชาห์ (Emperor Jahandar Shah) 

ภาพวาด ลาล คุนวาร์ วาดเมื่อศตวรรษที่ 18 (ที่มา: Wikipedia)

ภาพวาดพระจักรพรรดิจาฮานดาร์ ชาห์ วาดเมื่อปี 1712 ปัจจุบันจัดแสดง ณ Victoria and Albert Museum ลอนดอน (ที่มา: Wikipedia)

เล่ากันว่า จักรพรรดิจาฮานดาร์ ชาห์ทรงหลงรักลาล คุนวาร์ ตั้งแต่แรกได้ยินเสียงของเธอ แม้ตนเองจะมีพระราชชายาอยู่แล้วถึง 3 องค์ พระองค์ก็เอาแต่ร้องเรียกให้เธอร้องเพลงอยู่ตลอดเวลาหลายชั่วโมง จนสุดท้ายมีพระราชบัญชาให้ไปรับตัวเธอมายังพระราชวังหลวง ณ Red Fort กรุงเดลี โดยพระองค์สถาปนาเธอขึ้นเป็นพระราชชายาองค์ที่ 4 พร้อมสมญา อิมติอัซ มาฮาล (Imtiaz Mahal) หรือหญิงผู้โดดเด่นกว่าหญิงใดในพระราชวัง ขณะที่พี่ชายของเธอก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น ผู้ว่าการแห่งมุลตัน (Multan) เมืองในเขตประเทศปากีสถาน

จักรพรรดิหลงสาวผู้มีอายุน้อยกว่าตนเองถึงครึ่งหนึ่งอย่างโงหัวไม่ขึ้น เธอบำเรอเครื่องดื่มมึนเมาต่างๆ ให้พระองค์อยู่เสมอ โดยมีครั้งหนึ่งเธอกับพระจักรพรรดิดื่มกันบนรถม้าจนถึงเช้า พระจักรพรรดิถึงขั้นหลับไปบนรถม้า สร้างความตกใจให้กับข้าราชสำนักเป็นอย่างมาก เพราะนึกว่า พระองค์ทรงหนีออกไปนอกเขตพระราชฐาน

ความเมามายในพระราชชายาสุดสวยของพระจักรพรรดิจาฮานดาร์ ชาห์ยังมีอีกมากมาย แทนที่จะออกว่าราชการ เธอมักจะชวนพระจักรพรรดิไปยังหลุมศพของนักบุญองค์ต่างๆ พร้อมทั้งออกพระราชโองการให้จุดประทีบทั่วเมืองลาฮอร์ เนื่องจากเธออยากให้เป็นเช่นนั้น และสุดท้ายก็ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันไปทั่วทั้งเมือง ทั้งยังไม่ยอมให้พระจักรพรรดิเจอลูกชายจากภรรยาอื่น เพราะตนเองไม่สามารถมีรัชทายาทกับจักรพรรดิได้ นอกจากนี้ เธอยังจัดฉากวางยา ฆ่า หรือสั่งให้จับขุนนางฝั่งตรงข้ามตรึงไว้กลางแดดจนขาดใจ

เรขา มิสระ (Lekha Misra) ผู้เขียนหนังสือ Women in Mughal India ชี้ว่า ในรัชสมัยของจักรพรรดิจาฮานดาร์ ชาห์ พระองค์ไม่มีอำนาจมากมายอะไร เป็นเพียงหุ่นเชิดของขุนนาง ฉะนั้นเธอจึงพยายามควบคุมจักรพรรดิเสียเองเพื่อสร้างฐานอำนาจให้กับตนเอง และหวังจะควบคุมการสืบสันตติวงศ์ของจักรพรรดิจาฮานดาร์ ชาห์ แต่ผลกลับตรงกันข้าม การที่เธอทำให้จักรพรรดิอ่อนแอ ติดสุรา ส่งผลเสียโดยตรงต่อภาพลักษณ์ของราชสำนัก สุดท้ายนำไปสู่การยึดอำนาจโดยเจ้าชายฟาร์รุกซิยาร์ (Prince Farrukh Siyar) ผู้เป็นหลาน และสิ้นสุดรัชสมัยของจักรพรรดิจาฮานดาร์ ชาห์ในระยะเวลาเพียง 11 เดือน (29 มีนาคม 1712-11 กุมภาพันธ์ 1713)

แม้สุดท้ายตอนที่ 10 ของ Heeramandi ปิดฉากเหล่าการแสดงของตาไวฟ์ลงอย่างฉ่ำสมเกียรติราชินีแห่งลาฮอร์ แต่วาระสุดท้ายของพระราชินีในชีวิตจริงอย่างลาล คุนวาร์ กลับถูกขังพร้อมพระราชสวามี ก่อนปล่อยให้เข้าไปอาศัยอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน ที่แบ่งไว้สำหรับพระชายาหม้ายของพระจักรพรรดิรัชกาลก่อนๆ โดยเฉพาะ โชคดีที่พระศพของเธอไม่ถูกนำออกประจานอย่างพระราชสวามี และได้ฝังอย่างมีเกียรติในลาลบังคลา (Lal Bangla) สุสานหินทรายแดงปนเหลืองขนาดย่อม ซึ่งเชื่อกันว่าสร้างพระราชทานโดยจักรพรรดิชาห์ อาลัมที่ 2 (Shah Alam II)

กระนั้นก็เหมือนพระเจ้าเล่นตลก เพราะพระจักรพรรดินีผู้เลอโฉม มีสุสานส่วนพระองค์ตั้งอยู่ใจกลางกรุงนิวเดลี (New Delhi) แต่กลับไม่มีใครสามารถเข้าไปชมได้ นอกจากเหล่าผู้ลากมากดีที่เป็นสมาชิก Delhi Golf Club เท่านั้น

หรือนี่จะเป็นชะตาที่เหล่าตาไวฟ์จะต้องพบ แม้จะมีที่อยู่อาศัยหรูหรา รายล้อมด้วยแขกผู้ร่ำรวย แต่กลับไร้อิสระ ไม่ต่างอะไรจากนกในกรงแก้วที่สวยงามเฉิดฉาย แต่ไร้ซึ่งนภากว้างให้โผบิน สุสานลาลบังคลาที่โดดเดี่ยวจึงอาจเหมาะกับราชินีผู้นี้ที่สุดแล้วก็ได้ 

 สุสานลาล บังคลา กรุงนิวเดลี (ที่มา: Wikipedia)

 

ที่มาข้อมูล

บรรจบ บรรณรุจิ. (2539). ภิกษุณี-พุทธสาวิกาครั้งพุทธกาล. กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 

Irvine, William (1971). Later Mughals. New Delhi: Munishram Manoharlal.

Lal, K.S. (1988). The Mughal Harem. New Delhi: Aditya Prakashan.

Misra, Rekha (1967). Women in Mughal India. New Delhi: Munishram Manoharlal.

Monier-Williams (1899) Sanskrit-English Dictionary. Germany: University of Koeln.

Nevile, Pran (1996). Nautch girls of India: Dancers, singers, playmates. Prakriti India.

Smith, R.V. (2019). The lady who left an Emperor enthralled in Delhi, from  https://www.thehindu.com/society/history-and-culture/the-lady-who-left-an-emperor-enthralled-in-delhi/article26766971.ece

Tags: , , , , , , ,