ย้อนกลับไปเมื่อราว 5-6 ปีที่แล้ว ผู้เขียนเคยเห็นคลิปการบรรยายทางวิชาการบางส่วนของ ยัน นัตเทียร์ (Jan Nattier) นักวิชาการระดับโลกด้านพุทธศาสนศึกษา ในงานเสวนา Translation and Transmission Conference เมื่อปี 2017 ซึ่งถกกันถึงปัญหาที่ว่า ‘พระพุทธเจ้าพูดภาษาอะไร’

หลังจากคลิปสั้นๆ นั้นแชร์ออกไป จึงเกิดความสนใจอย่างแพร่หลายออกไปในวงกว้างเพื่อพยายามตอบคำถามง่ายๆ สั้นๆ นี้ และแน่นอนว่า ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ตกลงไปในกระแสความตื่นตัวนั้น โดยหาอ่านงานทั้งของนัตเทียร์ร่วม 10 ชิ้น (จริงๆ แล้วเพื่อหวังหาคำตอบบางประการตามวัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์ที่กำลังทำอยู่ด้วย) และนักวิชาการด้านพุทธศาสนศึกษาอีกหลายคน ก่อนพบกับคำตอบกลายๆ

กระนั้น ขอออกตัวในย่อหน้านี้เลยว่า คำตอบที่ได้มาจากมุมมองส่วนตัว อย่าถือเอาเป็นเรื่องจริงจังอะไรมากมาย ทว่าผลพลอยได้ที่มากกว่านั้นคือ ช่วยให้มองเห็นภาพโครงข่ายบางอย่างของพุทธศาสนาในอดีต ที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไว้ด้วยกันอย่างน่าสนใจ

ครั้งนี้ขอเขียนเอาบุญเนื่องในโอกาสเข้าพรรษา เกี่ยวกับภาษาบาลีและภาษาโบราณอื่นๆ ผ่านมุมมองและหลักฐานทางโบราณคดี-ประวัติศาสตร์ของโลกพุทธศาสนาในอดีต เพื่อชวนคิดชวนคุยและหาข้อสรุปว่า ‘พระพุทธเจ้าพูดภาษาอะไรกันแน่’ แล้วภาษาบาลีเกี่ยวอะไรกับประเพณีเข้าพรรษา

‘บาลี’ คือพุทธภาษาจริงหรือไม่

บาลี ตามความรับรู้ของคนทั่วไปแปลว่า รักษา และในบริบททางพุทธศาสนาไทยยังขยายความไปถึง ‘พระไตรปิฎก’ ได้ด้วย ทว่าที่น่าสังเกตมากกว่าคือ คำว่า บาลี ไม่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกหรือคัมภีร์อรรถกถาเลย แต่กลับเป็นคำว่า ‘ตันติ’ ที่ใช้ในบริบทแทนคำว่า ภาษา

การศึกษาของ เค อาร์ นอร์มัน (K. R. Norman) นักวิชาการแนวหน้าผู้บุกเบิกการศึกษาภาษาบาลีและวรรณกรรมภาษาบาลี อธิบายว่า คำว่า บาลี เริ่มปรากฏขึ้นในฐานะภาษาราวต้นพุทธศตวรรษที่ 16 ในดินแดนศรีลังกา โดยเป็นความเข้าใจผิดจากวลีในอรรถกถาที่ว่า ‘บาลีภาษา’ (Pali Bhasa) ซึ่งตามบริบทแล้วควรแปลว่า ภาษาของหนังสือ (Language of the Texts) เท่ากับว่า ตามข้อเสนอของนอร์มัน ภาษาบาลีจึงไม่ใช่ภาษาพูด แต่เป็นภาษาเขียนที่มีเพื่อใช้จดข้อความลงไปในหนังสือ หากเป็นเช่นนี้แสดงว่าพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้พูดภาษาบาลีน่ะสิ

ใช่, ทั้งนัตเทียร์และนอร์มันก็พูดตรงกันว่า พุทธองค์ไม่ได้พูดภาษาบาลี เพราะภาษาบาลีพูดไม่ได้!    

คนไทยก็จะแย้งต่อว่า พระพุทธเจ้าพูดภาษามคธ-มคธี ซึ่งก็ต้องเท้าความว่า สิ่งนี้มาจากข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ตามพุทธประวัติ ที่พระพุทธเจ้าทรงดำรงพระชนม์ชีพอย่างนักบวชไปตามเมืองต่างๆ ในแคว้นมคธโบราณ หรือบริเวณรัฐพิหาร-เบงกอลตะวันตกในปัจจุบัน แต่ภาษามคธจะเป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าพูดจริงไหมก็ยากที่จะตอบ เพราะอินเดียสมัยพุทธกาลไม่มีหลักฐานทางเอกสาร จารึก หรือสิ่งร่วมสมัย ที่ระบุภาษาได้นอกจากภาษาหนึ่งที่เรารู้แน่นอนว่ามีอยู่ คือ ‘สันสกฤต’

ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยคุยกับ อสุโตษ มถุร์ (Prof. Ashutosh Mathur) อาจารย์สอนภาษาสันสกฤตที่วิทยาลัยเซนต์สตีเฟน (St. Stephen’s College) มหาวิทยาลัยเดลี (University of Delhi) อาจารย์อธิบายเรื่องนี้ว่า ภาษาสันสกฤตในสมัยนั้นมีหลากหลาย ทั้งสันสกฤตระดับพระเวท (Classical Sanskrit) และสันสกฤตระดับภาษาพูดทั่วไป (Speaking Sanskrit/ Prakrit Languages) ซึ่งคนในสมัยนั้น (น่าจะ) สามารถพูดได้มากกว่า 1 ภาษา และภาษาโบราณเหล่านั้นก็แตกต่างไปจากภาษาที่เรามีในปัจจุบันมาก

แม้แต่ภาษาสันสกฤตที่ปรากฏในวรรณกรรม เช่น ศกุนตลา (Sakuntala) ของกาลิทาส (Kalidasa) เทียบกับรามจริตมานัส (Ramcharitmanas) ของโคสวามีตุลสีทาส (Tulsidas) ก็ต่างกันแล้ว ฉะนั้นหากจะบอกว่า พระพุทธเจ้าพูดภาษามคธก็ดูด่วนสรุปเกินไป เพราะจะเป็นการตัดขาดภาษาจากพลวัตและการพัฒนาของภาษา

หลักฐานหนึ่งซึ่งสะท้อนความหลากหลายทางภาษาของอินเดียโบราณได้เป็นอย่างดี คือ จารึกพระเจ้าอโศก ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ราชวงศ์โมริยะของพระเจ้าอโศกเป็นราชวงศ์แรกที่มีอำนาจครอบคลุมเกือบทั่วทั้งอนุทวีป การกระจายนโยบายของกษัตริย์ออกไปในวงกว้าง เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกัน จึงต้องพึ่งพาการถ่ายทอดเนื้อความที่สอดคล้องไปกับภาษาประจำท้องถิ่นที่พระราชอำนาจไปถึง

เราจึงพบข้อความหลากหลายภาษาที่บันทึกบนเสาพระเจ้าอโศกในพื้นที่ต่างๆ แม้กระทั่งภาษานอกวัฒนธรรมอนุทวีปอย่างภาษากรีก (Greek) หรือภาษาแอราเมอิก (Aramaic) ฉะนั้นมาถึงตรงนี้คงพอจะเห็นภาพว่า พระพุทธเจ้าน่าจะพูดได้หลายภาษา และภาษามคธโบราณก็อาจจะเป็นหนึ่งในนั้น แต่ที่แน่ๆ คือไม่ได้พูดภาษาบาลี

ส่วนการศึกษาด้านภาษาศาสตร์ของนักวิชาการด้านภาษาอินเดียโบราณพบว่า ภาษาบาลีกับภาษามคธตามที่ชาวพุทธเถรวาทเข้าใจกันนั้นต่างกันมากโข เพราะแม้ภาษาบาลีมีลักษณะค่อนข้างผสม คือมีระบบไวยากรณ์คล้ายภาษาสันสกฤตและภาษาโบราณอื่นๆ แต่ภาษาบาลีมีลักษณะคล้ายกับกลุ่มภาษาโบราณทางทิศตะวันตกของอินเดีย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 2 มากกว่าภาษาจากพื้นที่ฝั่งตะวันออก หรือบริเวณที่วัฒนธรรมพุทธศาสนาเจริญอยู่

ตัวเลขพุทธศตวรรษที่ 2 ยังมีความสำคัญ เพราะตรงกับช่วงเวลาของการสังคายนาครั้งที่ 2 อันนำไปสู่การแยกเป็นนิกายต่างๆ ในพุทธศาสนา ตามข้อทักท้วงของคณะวัชชีบุตรว่าด้วยบัญญัติ 10 ประการในพระธรรมวินัย ซึ่งตามคัมภีร์มหาวงศ์และทีปวงศ์ของศรีลังกาบอกว่า นำไปสู่การเกิดเป็นคณะสงฆ์กว่า 10 คณะ

คัมภีร์มหาวงศ์ยังระบุต่อไปว่า เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนานี้ เป็นแรงผลักสำคัญให้เกิดความพยายามในหมู่สงฆ์ในการรักษาพุทธบัญญัติเอาไว้ให้ได้มากที่สุด จึงทำให้ต้องเกิดการบันทึกข้อพระธรรม เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความแตกแยกในหมู่สงฆ์ในขณะนั้น ทำให้นักวิชาการเห็นตรงกันว่า ภาษาบาลีน่าจะเริ่มใช้จริงในราวพุทธศตวรรษที่ 2-3 เป็นต้นมา และเกิดขึ้นครั้งแรกในศรีลังกา

ด้วยเหตุนี้ นัตเทียร์จึงระบุว่า “ภาษาบาลีไม่ใช่ภาษาเดิมแท้ของพุทธศาสนา” เอกสารภาษาบาลีไม่ใช่เอกสารดั้งเดิมที่สุดของพุทธศาสนา และการเติบโตของขนบบาลีน่าจะเป็นเรื่องในศรีลังกามากกว่าอินเดีย เพราะเมื่อเทียบดูแล้วหลักฐานที่เก่าที่สุดที่มีในอินเดีย คือชิ้นส่วนคัมภีร์จากคันธาระ (Gandhara Scrolls) กำหนดอายุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้ราวพุทธศตวรรษที่ 6 ซึ่งเป็นหลักฐานเอกสารที่เก่าที่สุดที่ยังหลงเหลือ และไม่ได้จดบันทึกด้วยภาษาบาลี แต่คำสอนต่างๆ บันทึกด้วยภาษาคันธารีโบราณแทน

ชิ้นส่วนคัมภีร์จากคันธาระ (Gandhara Scrolls) ที่มา: Wikipedia

ที่น่าตื่นเต้นไปว่านั้น (สำหรับผู้เขียน) จารึกภาษาบาลีเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในปัจจุบัน กลับอยู่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ‘จารึกลานทอง’ จากกรุสถูปขิ่นบ๊ะโกง ประเทศเมียนมา และจารึกคาถาเยธมฺมา ในวัฒนธรรมทวารวดี ประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ ปีเตอร์ สกิลลิง (Peter Skilling) และนิโคลัส เรวีร์ (Nicolas Revire) ภาษาบาลีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความไม่เสถียรทางไวยากรณ์ และพบการปะปนของภาษาสันสกฤตอยู่มากในจารึกหลายหลัก ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากเหตุผล 2 ประการ คือ 1. เป็นผลจากการปะปนกันของแหล่งที่มาของพุทธศาสนาในอินเดีย และ 2. ขนบแบบบาลีที่กำลังอยู่ในช่วงขาลงในศรีลังกา เพราะช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 10 ศรีลังกาก็กำลังเดินหน้าเข้าสู่ขนบแบบสันสกฤตมากขึ้นทุกที

จารึกลานทอง ที่มา: ยุทธพร นาคสุข, 2557: 131

จารึกคาถา เย ธมฺมา ที่มา: อธิพัฒน์ ไพบูลย์

ภาษาบาลีเกี่ยวข้องกันอย่างไรกับเข้าพรรษา

‘งดเหล้าเข้าพรรษา’ วลีคุ้นหูของชาวไทย ที่ว่าด้วยการเชิญชวนให้ลดหรืองดการดื่มยาดองของเมา ในช่วง 3 เดือนที่เหล่าพระภิกษุจำอยู่กับวัด ไม่ออกธุดงค์ ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยกันดีของชาวไทยพุทธอีกว่า ทุกช่วงหน้าฝนพระสงฆ์องค์เจ้าจะต้องประจำในที่หนึ่งๆ ไม่ย้ายไปไหน เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงมีพุทธบัญญัติในพระวินัยปิฎก มหาวรรคว่า ให้พระสงฆ์จำอยู่ในสถานที่ช่วงหน้าฝน (พรรษา/ วรรษา แปลว่า ฝน) เพราะมีชาวบ้านมาฟ้องพระพุทธเจ้าว่า สาวกของท่านเดินเหยียบต้นอ่อนของพวกเขา ทำให้พวกเขาเดือดร้อน ว่าแต่แล้วเกี่ยวอะไรกับเรื่องภาษาบาลีและพระพุทธเจ้าพูดภาษาอะไร

จุดเชื่อมโยงสำคัญอยู่ตรงที่พระวินัยปิฎก ที่เราใช้กันในคณะสงฆ์ไทยเป็นแบบศรีลังกา ซึ่งเชื่อกันว่า บันทึกด้วยภาษาบาลีมาแต่เดิม ผู้เขียนจึงเชื่อว่า รูปแบบการเข้าพรรษาในช่วงเดือน 7-9 แบบที่ไทยเราทำน่าจะเป็นขนบแบบศรีลังกา และอาจจะไม่ใช่แบบสมัยพุทธกาล เพราะเมื่อลองสังเกตดูฤดูฝนในเขตอินเดียภาคเหนือ (พื้นที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยใช้ชีวิตอยู่) มีฤดูฝนที่สั้นมาก คือแค่เดือนเดียว บางปีไม่ถึงเดือนด้วยซ้ำ ในทางตรงกันข้ามฤดูฝนในเขตทางตอนใต้ของอินเดียมีความยาวกว่ามาก ระยะเวลา 3 เดือนที่ระบุอยู่ในข้อพระวินัยจึงดูเป็นเรื่องของพวกคณะสงฆ์ทางใต้มากกว่าทางเหนือ และเมื่อลองเทียบเคียงกับศาสนาอื่น เหล่านักบวชไชนะก็หยุดเดินทางในฤดูฝนเช่นกัน ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับเรื่องเล่าในพระวินัยปิฎก แต่นักบวชไชนะหยุดเดินเพียง 8 วัน ด้วยเหตุผลที่จะเทศนาให้กับชาวบ้าน และรับฟังคำถามทางธรรมจากชาวบ้านเป็นหลัก

อีกหลักฐานหนึ่งที่น่าสนใจคือ กลุ่มถ้ำพุทธศาสนารุ่นเก่าก็สร้างอยู่ในพื้นที่รัฐซึ่งค่อนลงมาทางภาคใต้ของอินเดีย ต่างจากโบราณสถานรุ่นเก่าของพุทธศาสนาในเขตอินเดียเหนืออย่างสถูปสาญจี สถูปภารหุต หรือสถูปต่างๆ ในเขตคันธาระ ซึ่งตั้งอยู่กลางแจ้ง ความแตกต่างนี้เป็นไปได้ไหมว่า เมื่อพุทธศาสนาเคลื่อนตัวลงใต้ (เข้าใจว่าเป็นนิกายเถรวาทโดยส่วนใหญ่) ซึ่งเป็นพื้นที่ฝนตกชุกและยาวนาน ทำให้คณะสงฆ์ต้องหาที่กำบังฝนถาวรและเหมาะสมต่อการฝึกฝนสมาธิ พุทธศาสนาในถ้ำจึงตอบโจทย์มากกว่า และพัฒนาการนั้นก็ส่งต่อลงมายังศรีลังกา แม้ว่าโบราณสถานถ้ำให้ศรีลังกามีจำนวนน้อยกว่าในอินเดียมาก แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ การเกิดขึ้นของวิหารขนาดใหญ่ที่มีสังฆาวาสชัดเจนสำหรับให้สงฆ์พำนักได้เป็นเวลานานๆ ฉะนั้นด้วยเหตุผลข้างต้น เข้าพรรษาไทยจึงน่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังสมัยพุทธกาล?

ถ้ำมหากาลี เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ที่มา: อธิพัฒน์ ไพบูลย์

สุดท้ายอย่างที่บอกข้างต้น ข้อเขียนนี้เป็นเพียงข้อสังเกตส่วนตัว ไม่ใช่ความจริงสูงสุด แต่สิ่งหนึ่งที่คิดว่าข้อเขียนนี้ร้องทักขึ้นคือ การอ้างหาความเดิมแท้ในพุทธศาสนาตัดขาดมุมมองของเราให้คับแคบลง ทั้งที่การเกิดขึ้นของภาษาที่เราเชื่อว่าเดิมแท้นั้น มาจากความหลากหลายที่พรั่งพรูในโลกพุทธศาสนาโบราณ และอีกสิ่งที่รู้สึกคือ ศรีลังกาเป็นอีกหนึ่งในดินแดนที่ควรต้องให้ความสนใจและศึกษามากกว่าเดิม โดยหลักฐานหลายชิ้นที่คิดว่ามาจากอินเดีย อาจจะไม่ใช่อีกต่อไป และภาพอดีตที่ขาดหายของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจตกหล่นอยู่ในศรีลังกาก็เป็นได้

 

ที่มาข้อมูล

Childers, Robert Cæsar (1875). A Dictionary of the Pali Language. London: Trübner.

Norman, Kenneth Roy (1983). Pali Literature. Wiesbaden: Otto Harrassowitz.

Revire, Nicolas. (2014). “Glimpses of Buddhist Practices and Rituals in Dvaravati.” In Before Siam: essays in art and archaeology, 240-271. Edited By Revire, Nicolas, and Murphy, Stephen A. Bangkok: River Books.

Skilling, Peter. (1999). “A Buddhist inscription from Go Xoai, southern Vietnam and  notes towards a classification of ye dharma inscriptions.” In 80 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร, 171-187. กรุงเทพ: คณะกรรมการจัดงาน 80 ปีศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร.

_________. (2009). Buddhism and Buddhist literature of South-East Asia:  Selected papers.  Bangkok: Fragile Palm Leaves Foundation, Lumbini International Research Institute.

Sudharmawathei, J.M. (2017). “Foreign Trade Relations in Sri Lanka in The Ancient  Period: With Special Reference to the Period From 6th Century B.C. to 16th Century A.D.” Humanities and Social Sciences Review 7, 2 (January): 191-200.

Nattier, Jan (2017). The Proto-History of Buddhist Translation: From Ganndhari and Pali to Han-Dynasty Chinese access through https://youtu.be/aCCkA12ynLs?si=2DbCNX7j5CGUtypi

Tags: , , ,