หง่อหง่อหง่อ งองอหง่อ งู
รีบมาเข้าฝันหนู ถ้างูได้ยินเสียง หล่า หล่า หล่า เลื้อย เลื้อยมาเถอะเพี้ยง
หนูอยากมีคู่เคียง รีบรีบมาเข้าฝัน
รองูเข้าฝัน – ดวงจันทร์ สุวรรณี
สวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกคน จริงๆ ผู้เขียนก็คิดอยู่นานว่าจะเขียนอะไรเกี่ยวกับอินเดียที่ติดกลิ่นโบราณคดี เพื่อต้อนรับปีใหม่ปี 2568 นี้ดี คิดไปคิดมาก็ไม่พ้นว่า ปีนี้เป็นปีนักษัตรมะเส็งหรือปีงู แต่พอนึกมาถึงตรงนี้ เอาตรงๆ ก็ไม่อยากเขียนเท่าไร เพราะมันดูจำเจไปสักนิด พอปีงูทีก็เขียนเรื่องงูที ปีที่แล้วปีมังกรหรืองูใหญ่ก็เขียนเรื่องพญานาคไปแล้ว
แต่ก็นั่นแหละครับ เพราะผู้เขียนไปสะดุดเข้ากับคำว่า ‘รักเราไม่เก่าเลย’ จากเพลงรักเราไม่เก่าเลย ของ กบ ทรงสิทธิ์ พอได้ยินปุ๊บในหัวก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่า ‘เรื่องงู’ ก็ไม่เคยเก่าเลยเหมือนกัน ไม่ต่างอะไรกับเรื่องพญานาค บรรพชนชาวไทยที่ไม่มีวันเก่าเลย เลยอยากขอเล่าเรื่อง ‘โบราณคดีงูในอินเดีย’ เพื่อต้อนรับปีงูที่ได้เปิดฉากขึ้นในวันนี้
หง่อหง่อหง่อ งองอหง่อ งู รีบมาเข้าฝันหนู ถ้างูได้ยินเสียง
การที่ผู้เขียนยกเพลงสุดคลาสสิกของคุณดวงจันทร์มาเปิดหัว จริงๆ ก็มีวัตถุประสงค์เล็กน้อย ไม่ใช่แค่เพลงมันเข้าหรือเพราะเป็นจริตของผู้เขียน แต่เพลงนี้บอกเล่าเรื่องของงูได้อย่างดีในแง่มุมความเชื่อ คือคนไทยเราเชื่อว่า ถ้าฝันเห็นงูจะโชคดี ฝันว่างูรัดจะเจอเนื้อคู่ คนอินเดียก็เช่นกัน คนอินเดียเชื่อว่า งูเป็นสัตว์วิเศษ มีพลังในการบันดาลสุข บรรเทาทุกข์ให้กับคนที่นับถือเหล่างูได้อย่างถูกต้อง
เรื่องหนึ่งที่เด่นมากสำหรับงูอินเดียคือ การบูชาเพื่อขอทรัพย์ในดิน ได้แก่ อัญมณี ทองคำ หรือแม้แต่พืชพันธุ์ เพราะงูอาศัยอยู่ใต้ดิน จึงสัมพันธ์กับพวกแร่ในดินโดยตรง อีกทั้งงูยังเฝ้าทรัพย์ในดินเหล่านั้นด้วย คนอินเดียได้ใช้จินตนาการของพวกเขาเวลาเห็นงูกกไข่ หรือพันรอบพูนดินจอมปลวกมาอธิบายถึงลักษณะของการเฝ้าทรัพย์ที่ว่า
ส่วนเรื่องเกี่ยวกับพืชพันธุ์คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากมาย เมื่องูกินหนูเป็นอาหาร หนูเป็นสัตว์ที่กินพืชพันธุ์ในนาของชาวบ้าน กินข้าวในยุ้งของชาวบ้าน งูกินหนู งูเลยเป็นผู้ปกป้องพืชสวนไร่นาไปด้วย แต่ด้วยความที่งูเป็นสัตว์มีพิษ คนอินเดียจึงบอกต่อไปว่า การบูชางูไม่ควรทำพร่ำเพรื่อ ต้องให้เกียรติ มิฉะนั้นเราจะได้รับผลร้ายจากงูเสียเอง แต่ด้วยความเป็นสัตว์พิษ ในแง่หนึ่งงูก็เป็นสัญลักษณ์ของ ‘การตาย’ และ ‘เกิดใหม่’ ด้วยเช่นกัน พิษงูทำให้ตาย แต่ในขณะเดียวกันงูกลับไม่ตายเพราะพิษตัวเอง ส่วนการเกิดใหม่นั้นนักวิชาการอธิบายว่า มาจากการที่งูลอกคราบของตัวเองเพื่อเติบโต เสมือนกับว่า มันทิ้งร่างเก่าเพื่อไปสู่ร่างใหม่นั่นเอง
ความน่ามหัศจรรย์ของงู สัตว์ไร้ขา ตัวยาว แถมพระเจ้าติดอาวุธชีวภาพมาให้อีกนั้น ไม่ได้ครอบครองพื้นที่ทางจินตนาการของชาวอินเดียเพียงเท่านั้น ในหลายพื้นที่ทั่วโลกงูก็ได้รับการนับถือ ยำเกรงและรังเกียจไปพร้อมๆ กัน บ้างเป็นซาตาน บ้างเป็นอสูรยามรัตติกาล หรือแม้แต่เป็นสัตว์ให้คู่ในความเชื่อคนไทย
ย้อนกลับมาที่อินเดีย คนอินเดียเชื่อว่า งูมีอายุที่ยืนยาวได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ยิ่งงูเหล่านั้นมีอายุมากเท่าไร พลังของพวกมันก็จะยิ่งมากขึ้นไปด้วย และอีกสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นกับงูตัวนั้นด้วยก็คือ ‘นาคมณี’ ซึ่งก็คืออัญมณีชนิดหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นบริเวณหน้าผากของงู (ตามความเชื่อ) โดยอัญมณีประเภทนี้มีพลังคล้ายกับลูกแก้วสารพัดนึก สามารถบันดาลสิ่งต่างๆ ให้กับผู้ขอได้ และที่สำคัญยังป้องกันผู้ที่ครอบครองจากพิษงูได้
ปัจจุบันเรามักจะพบเห็นภาพวาดงูสมัยใหม่ของอินเดีย มีเพชรติดอยู่บนหัวเพื่อเป็นตัวแทนของนาคมณี หรือหากใครมีโอกาสไปเดินทางแหล่งเมืองเก่าของอินเดีย บางครั้งก็จะพบพ่อค้าแม่ขายเอาผลึกอะไรไม่รู้ใสๆ มาวางขาย พร้อมอวดอ้างว่าสิ่งนั้นคือ ‘เพชรหน้าผากงู’
(ที่มาภาพ: https://www.etsy.com/au/listing/1296727352/shivas-snake-large-vintage-style-indian)
‘งู’ เราไม่ใหม่เลย
อย่างที่บอกไป เรื่องงูไม่เคยเก่าเลยจริงๆ ไม่ว่าในสังคมไทยหรืออินเดีย โดยการบูชางูในอนุทวีปมีหลักฐานปรากฏเก่าที่สุดย้อนไปได้ถึงราวสมัยหินใหม่ จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีจิรันทะ (Chirand) รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ได้พบตุ๊กตาดินเผารูปงูกำหนดอายุได้ราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นหลักฐานเกี่ยวกับงูที่เก่าที่สุดในเอเชียใต้
การนับถืองูมาเด่นชัดมากอีกครั้งในยุคพระเวท มีการกล่าวถึงงูในคัมภีร์ฤคเวทไว้ในลักษณะยำเกรง และเหล่างูทั้งหลายอยู่ในสถานะอันพึงเคารพในทุกๆ วันเช่นเดียวกับเทพเจ้าอื่นๆ ส่วนอาถรรพเวทบรรจุคาถาจำนวนมากที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการป้องกันพิษงู จากมุมมองของคัมภีร์พระเวทจะเห็นว่า คนอินเดียในสมัยนั้นมีความยำเกรงและกลัวงูพอสมควรทีเดียว อาจเป็นเพราะงูเป็นสัตว์ที่มีพิษ ทำให้ภาพของงูออกมาในเชิงที่น่ากลัวและเป็นสัตว์ที่นำพามาซึ่งเรื่องโชคร้าย
นักโบราณคดีเสนอว่า งูหรือนาคมีความหมายอื่นแฝงอยู่ โดยคำว่า ‘นาคะ’ ในภาษาสันสกฤตมีความสื่อถึงคนท้องถิ่นด้วย ฉะนั้นการปรากฏงูอยู่ในความเชื่อแบบพราหมณ์อาจสื่อถึงการรวบรวมสัตว์หรือคนท้องถิ่นเข้ามาไว้ในระบบแบบพราหมณ์ หากสังเกตเพิ่มเติมจากหลักฐานตราประทับในวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุจะเห็นว่า ปรากฏการใช้สัตว์เป็นตัวแทนของอะไรบางอย่าง หรืออาจสื่อถึงการนับถือสัตว์ไปด้วย ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ในสมัยต่อมาได้ไหลเข้าสู่ศาสนาพราหมณ์ด้วยในทางเดียวกัน ดังนั้นงูหรือคนพื้นเมืองจะไหลเข้ามาด้วยก็ไม่แปลกนัก
ในวรรณกรรมยุคมหากาพย์ทั้งมหาภารตะและรามายณะ ก็แสดงท่าทีเช่นนั้น โดยวรรณกรรมทั้งสองได้กล่าวถึงลัทธิท้องถิ่นจำนวนมาก เช่น ลัทธิบูชานางทุรคา และลัทธิบูชาพระวสุเทวะ-กฤษณะ ดังนั้นพิจารณาจากข้างต้นจะเห็นว่า หลักฐานที่อาจแสดงตัวตนของงูในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ก็ปรากฏอยู่ในเขตรัฐพิหาร ซึ่งห่างจากศูนย์กลางของวัฒนธรรมพระเวทตอนต้นพอสมควร ทั้งยังเป็นวัฒนธรรมเก่ากว่า ‘งู’ ที่ปรากฏในพระเวท จึงอาจเป็นการรวมกันของความเชื่อก่อนพระเวทกับพระเวท
อีกข้อสังเกตจากตำนานต่างๆ ในศาสนาฮินดูคือ เหล่างูมักอาศัยอยู่ตามป่า ต้นไม้ หรือเมืองบาดาลซึ่งเป็นเมืองต่ำ การที่งูเข้ามาครอบครองพื้นที่เช่นนี้ในเทวตำนานจึงชัดเจนว่า งู (คนท้องถิ่น) ยังคงครอบครองพื้นที่เดิมของเขาอย่างเช่นป่า ซึ่งต่างจากคนในระบบสังคมพระเวทที่อาศัยอยู่ในปราสาทราชวัง ขณะที่ในอินเดียภาคใต้ เทพงูมักจะสถิตอยู่ตามโคนต้นไม้หรือจอมปลวก ลักษณะนี้สะท้อนความเป็นท้องถิ่นของคติการนับถืองูได้อย่างชัดเจนพอสมควร โดยปัจจุบันคติเช่นว่านั้นยังคงดำเนินต่อมาเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากคนอินเดียนิยมปักหินรูปงูเอาไว้ใต้ต้นไม้ขนาดใหญ่ ในเขตที่นาหรือใกล้กับจอมปลวก ซึ่งคตินี้จะเห็นได้ในอินเดียใต้มากกว่าภาคเหนือ อาจสัมพันธ์กับภูมิอากาศชื้นในภาคใต้ที่ทำให้งูชุมกว่า
หินงูกับจอมปลวก
(ที่มาภาพ: Wikipedia)
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจมากสำหรับผู้เขียนคือ วัดพระมันรสาละศรีนาคราช (Mannarasala Sree Nagaraja Temple) ในรัฐเกราละ ซึ่งเป็นเทวาลัยที่มีนาคราชนาม ‘มันรสาละ’ เป็นประธานของวัด ที่น่าสนใจคือ ผู้ที่สามารถปรนนิบัตินาคราชตนนี้ได้จะต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น พราหมณ์ไม่มีสิทธิในการดูแล แต่สามารถประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามจารีตแบบพระเวทเพื่อถวายเทพเจ้าองค์นี้ สิ่งนี้ถือเป็นตัวอย่างและตัวเเทนอย่างดีของจารีตโบราณที่สืบมาในท้องถิ่นอินเดีย กับจารีตแบบพระเวทที่เข้ามาใหม่พร้อมวัฒนธรรมแบบพราหมณ์ ในดินแดนที่ครั้งหนึ่งปกครองด้วยเทพเจ้านอกศาสนาฮินดู
ดังนั้น ‘งู’ จึงเป็นตัวแทนที่น่าสนใจอันสะท้อนถึงอัตลักษณ์บางอย่างของศาสนาแบบอินเดีย คือลักษณะที่ดูดกลืนสิ่งต่างๆ เข้ามาปรับใช้ให้เข้ากับความเป็นตัวเอง ทำให้งูจากสัตว์ไม่มีขาหรือคนพื้นเมืองสามารถเข้าไปปรากฏอยู่ในทุกศาสนาความเชื่อในวัฒนธรรมอินเดีย
พระมันรสาละนาคราชกับผู้ดูแล
(ที่มาภาพ: https://www.keralatourism.holiday/blog/mannarasala-ayilyam-2019/)
สุดท้ายผู้เขียนขอให้ปีงู 2025 นี้เป็นปีที่ดีสำหรับทุกท่านนะครับ ใครมีงู มีคู่อยู่แล้ว ก็ขอให้เอ็นจอยกันมากๆ ส่วนใครยังไม่มีก็ขอให้ฝันเห็นงู ถึงไม่ได้คู่ อย่างน้อยขอให้ได้ทรัพย์ อย่าให้ Unhappy New Year เลยนะครับ
สวัสดีปีงูครับ
ที่มาข้อมูล
Coomaraswamy, Ananda K.; Sister Nivedita (2003). Myths of the Hindus and Buddhists. Kessinger Publishing
Dowson, John (2003). Classical Dictionary of Hindu Mythology and Religion, Geography, History. Kessinger Publishing.
Sharma, Mahesh (2005). Tales from the Puranas. Diamond Pocket Books