ร้านหนังสืออิสระ ถูกกล่าวถึงในวงกว้างจากเทศกาลสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ Thai Independent Booksellers Festival ครั้งที่ 1 ปี 2556 หลังจากที่ผมเปิดร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย 4 ปี

แต่ผมมาตระหนักถึงความหมายของคำว่าอิสระหรือ ‘Independent’ และคำว่า  ‘Independent Bookshop’ จริงๆ ก็ในปีต่อมา ภายหลังการทำรัฐประหารของ คสช. เมื่อพบปรากฏการณ์ 3 อย่างคือ

1 หน้าฟีดบนเฟซบุ๊กเต็มไปด้วยคำว่า No Coup

2 เฟซบุ๊กเพื่อนบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่ม NGOs และนักเขียนสนับสนุนการขัดขวางการเลือกตั้ง  กระแหนะกระแหนเสียดสีดูหมิ่นคนที่ไปเลือกตั้งและแสดงอาการดีใจที่เกิดการยึดอำนาจของกองทัพ  

3 การที่เพื่อนในเฟซบุ๊กส่วนหนึ่งเอาหนังสือของนักเขียนที่สนับสนุนฝ่าย กปปส.และทหารออกมาทิ้ง

นั่นทำให้ผมหันกลับไปมองความจริงบางอย่างซึ่งมันดำรงอยู่มายาวนานแล้ว แต่ที่ผ่านมาเรากลับไม่รู้สึกถึงความผิดปกติอะไรของมัน นั่นคือพื้นที่ในร้านหนังสือ  ในห้องสมุด และปริมาณของหนังสือที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ผลิตออกมา ส่วนใหญ่ถูกยึดครองด้วยผลงานของฝ่ายอนุรักษนิยม นี่ยังไม่พูดถึงว่าพื้นที่รางวัลทางวรรณกรรมในเมืองไทยก็ถูกยึดครองด้วยกลุ่มเดียวกันนี้

จากนั้นผมก็โละหนังสือของนักเขียนฝ่ายดังกล่าวนี้ออกจากชั้นส่งคืนสายส่ง  เล่มที่ซื้อขาดมาก็จำหน่ายจ่ายแจกออกจากร้านโดยเร็ว  แล้วร้านก็เริ่มมีหนังสือเฉพาะทางมากขึ้น นั่นคือวรรณกรรมคลาสสิกต่างประเทศและหนังสือวิชาการของฝ่ายก้าวหน้าไทย (ส่วนวรรณกรรมไทยนั้นต้องเลือกเฟ้นจนมั่นใจจริงๆ)  ซึ่งปกติก็มีพื้นที่น้อยอยู่แล้วในพื้นที่ส่วนใหญ่ของสังคม

สิ่งเดียวที่ผมรู้สึกโล่งใจและดีใจที่สุดคือ  ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมและภรรยาอ่านแต่นิทานหรือวรรณกรรมเยาวชนแปลให้ลูกฟัง  ตอนนั้นผมมีเหตุผลง่ายๆ แค่ว่าหนังสือภาพหรือนิทานเด็กของไทยทำได้ไม่สวยเลยและเนื้อหายังเต็มไปด้วยการสั่งสอน’ (ขนาดผมบวชเรียนมาซึ่งถือว่าอยู่ในโลกของศีลธรรมยังรับไม่ไหว) นั่นเองทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่าวรรณกรรมเยาวชนไทยส่วนใหญ่ก็เต็มไปด้วยลักษณะแบบนี้ ไม่ได้ส่งเสริมความเป็นอิสรชน ตรงกันข้ามมีแต่สนับสนุนความเป็นอนุรัษนิยม  

บางครั้งเราก็ต้องยอมเป็นสัตว์ประหลาดในวงการของเรา ยอมเป็นที่รังเกียจของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งอาจเป็นคนกลุ่มใหญ่  เพื่อจะได้ยืนยันตัวตนและสร้างสิ่งใหม่  เพราะเราเชื่อว่าหนังสือนั้นเลือกคนอ่านของมัน  เช่นเดียวกับที่ร้านหนังสือก็เลือกหรือคัดกรองคนที่จะเดินเข้ามา

ผมดีใจที่สุดที่ฟิลาเดลเฟีย: ร้านหนังสือในสวนดอกไม้ของผม ขายหนังสือที่ได้รางวัลซีไรท์บางเล่มไม่ได้ นั่นเพราะคนที่เข้ามาหาซื้อหนังสือที่นี่ปฏิเสธที่จะซื้อมัน 

พูดได้ว่าร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียของเรามีลูกค้าที่ทำให้ร้านอยู่ได้หรือคนเข้าร้านส่วนใหญ่เป็นฝ่ายก้าวหน้าประชาธิปไตย  มันกลายเป็นจุดหมายที่จะมาพัก  มาพูดคุยกันของนักศึกษานักกิจกรรมมานานแล้ว

แต่ที่ผมอยากพูดถึงในที่นี้  คือการที่ทางร้านได้มีลูกค้าหัวกระทิระดับมัธยมฯ เข้ามาทำกิจกรรมซื้อหนังสือและพูดคุยเรื่องหนังสือที่อ่านเทอมละครั้ง (พวกเขาได้งบฯ จากโครงการมาซื้อหนังสือคนละ 1,000 บาท ซื้อแล้วก็อ่าน อ่านแล้วก็มานำเสนอพูดคุยแลกเปลี่ยนและเขียนลงในเพจกลุ่ม) ตั้งแต่ปี 2558 รุ่นแรกคือเด็กนักเรียน . 4 จำนวน 30 คน พอขึ้นปี 2560 ก็เต็มสามชั้นคือ .4-5-6 ชั้นละ 30 คน รวมเป็น 90 คน/ปี

นั่นหมายความว่าร้านหนังสือของเราทำกิจกรรมความคิดความอ่านกับนักเรียนกลุ่มนี้หลักๆ ปีละ 6 ครั้ง (ไม่นับกิจกรรมย่อยอื่นๆ)

เด็กนักเรียนเหล่านี้มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่สองอย่างตอนเข้ามาร้านครั้งแรกสมัยยังอยู่ .4 เทอมแรกจะดูเงอะๆ งะๆ ทำอะไรไม่เป็น ไม่รู้จะเลือกหนังสืออะไรยกเว้นประเภทฮาวทู ที่ทำอย่างไรให้เรียนเก่งมีความสุขประสบความสำเร็จ ตามประสาเด็กเรียน  แต่พอครั้งต่อมาเมื่อเราคุ้นกันมากขึ้น ทุกอย่างก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป เมื่อถึง .6 ไม่ต้องแนะนำอะไรกันแล้ว

อย่างที่สองคือเด็กนักเรียนเหล่านี้โตมาในโลกโซเชียลที่รุนแรง  ยิ่งเมื่อขึ้นปี 2560 เป็นต้นมา โลกในส่วนนี้ขยายตัวมากขึ้นและเข้มข้นมากขึ้นมาก บวกรวมกับปรากฏการณ์ทางการเมืองสังคมในช่วงสามสี่ปีมานี้ สิ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือประเด็นคำถามประเด็นพูดคุยของพวกเขาและเธอแหลมคมมากขึ้น

ในหน้าเฟซบุ๊กของพวกเขา  เราจะเห็นเรื่องหลักๆ อยู่สองเรื่อง คืองานวิชาการที่พวกเขาเรียน และการแชร์ข่าวสารการเมืองที่มีลักษณะต่อต้านหรือประท้วงรัฐบาลหรือวิจารณ์สลิ่ม ยิ่งคนจบไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ตัวตนเรื่องการเมืองของพวกเขายิ่งชัดเจนมากขึ้น และพวกเขาก็เลือกซื้อหนังสือหนักๆ มากขึ้น  

พวกเขาถามหาหนังสือดีๆ ที่บางทีในร้านก็มี บางทีก็ไม่มี  แต่ดูจากชื่อหนังสือและคนเขียนแล้ว  มันบอกได้ถึงคลาสของคนที่ต้องการอ่านมัน คล้ายกับว่าสิ่งที่เขาสนใจหรือเรื่องที่เขาอยากได้คำอธิบาย  คำตอบที่ละเอียดและลึกๆ มันคือหนังสือที่อยู่ในร้านของเรา

ผมจึงไม่แปลกใจเลยแม้จะรู้สึกทึ่งมากๆ ที่นักศึกษาบางคนซื้อหนังสือของ .ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ไปทุกเล่มด้วยงบฯ ส่วนตัว 

ภายหลังที่ #เยาวชนปลดแอก ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ในวันและคืนที่ 18 กรกฎาคม  ดึกของคืนวันนั้นและเช้าวันต่อมากลุ่มไลน์ต่างๆ และหน้าเฟซบุ๊กของคนที่จังหวัดอุบลราชธานีคึกคักมาก  ผมไม่รู้ว่าต้นตอของข่าวการชุมนุม #ให้มันจบที่รุ่นเรา มาจากไหน แต่ผมได้รับจากเพื่อนในเฟซบุ๊กที่เป็นน้องๆ  นักเรียนและนักศึกษา

วันที่ 19 กรกฎาคม แม้จะล่วงเข้าห้าโมงเย็นแล้ว  แต่แดดยังแรงจัด ผมเดินจากจุดที่จอดรถฝ่าแดดแรงไปยังจุดชุมนุมที่ศาลหลักเมือง จังหวัดอุบลราชธานี  สิ่งที่ผมพบก็คือผมกำลังเดินตามเด็กผู้หญิงสองสามกลุ่ม  ดูแล้วก็น่าจะอยู่ในวัยมัธยมฯ ปลาย

แรกๆ นั้นคนยังไม่มากเท่าไร  แต่เมื่อพระอาทิตย์เริ่มแตะยอดไม้ใหญ่และยอดตึก ตอนนั้นผมยืนอยู่จุดที่สูง  เห็นคนเดินเป็นสายเข้ามาทุกทิศทาง และ 70-80 % เป็นหนุ่มสาวในระดับมัธยมฯ และมหาวิทยาลัย ข้อความไลน์และเฟซบุ๊กของผมเริ่มดังถี่ขึ้น เมื่อกดดูก็พบข้อความประมาณว่า ผมกำลังไปหนูกำลังไปพี่อยู่จุดไหนพี่มาหรือยังผมอยู่นี่หนูอยู่นี่ – – นั่นคือน้องๆ มัธยมฯ และมหาวิทยาลัยส่งข้อความมาถึงผม

อยู่ๆ ฝนก็ตกลงมา และตกหนัก ผู้ชุมนุมไม่ยอมกลับ แต่พากันมาแออัดรวมตัวหลบฝนอยู่ใต้ชายศาลหลักเมือง และตามชายคาซุ้มต่างๆ แถวนั้น  หรือแม้แต่ใต้ร่มของรถเข็นคนขายของ  

น้องที่ไฮด์ปาร์คก็ยังคงทำหน้าที่อย่างมีพลัง– –

ฝนหยุดตกเมื่อฟ้าเริ่มค่ำ  ทุกคนเดินออกมารวมตัวกัน  และคนก็มาชุมนุมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีคนมาชุมนุมที่ไม่ใช่แกนนำขึ้นไฮด์ปาร์ค ซึ่งก็เป็นเด็กมัธยมฯ และมหาวิทยาลัย  พวกเขาพูดดีมีพลัง สิ่งที่ออกมาจากปากสะท้อนว่าพวกเขามีสติปัญญา เสียงของพวกเขา คำของพวกเขา เป็นภาษาของคนรุ่นเดียวกันและตรงเข้าสู่ใจและความรู้สึกของคนรุ่นพวกเขา

ก่อนที่ผมจะกลับออกมา มีน้อง (อดีตนักเรียนซึ่งเพิ่งจบและรอมหาวิทยาลัยเปิดเทอม) ที่เคยมาร้านหลายคนเข้ามาทักทาย จับมือและกอดกัน เรายืนข้างๆ กันในที่ชุมนุม  พูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างออกรส

และครั้งนี้  ผมเป็นฝ่ายฟังพวกเขามากกว่า

ระหว่างทางกลับบ้าน ฟ้ามืดแล้ว ผมนึกถึงร้านหนังสืออิสระที่ยิ่งใหญ่ที่สุดร้านหนึ่งของโลก ที่มีอายุถึง 87 ปี (1920-2007) ที่ชื่อร้านมาจากชื่อเมืองๆ หนึ่งในหนังสือเรื่องแบทแมน’  และเมืองๆ นี้ก็มาจากชื่อของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ ในยุคที่กษัตริย์อังกฤษขูดรีดภาษีเอากับประชาชนอย่างหนัก  ชาวบ้านแห่งนี้ต้องหาทางออกจากวิกฤตินี้ด้วยการประท้วงโดยการทำตัวเป็นคนบ้าทั้งหมู่บ้าน เพื่อกษัตริย์จะไม่ได้เก็บภาษี

ร้านหนังสือกอแธมหรือ ‘Gotham Book Mart’ สำหรับผมแล้ว นี่คือร้านหนังสืออิสระที่สะท้อนความหมายของคำว่า Independent ได้ชัดเจนที่สุดแห่งหนึ่ง ด้วยการฝืนคำสั่งรัฐทุกวิถีทางในการลักลอบขายหนังสือต้องห้ามต่อความมั่นคงและศีลธรรมที่รัฐกำกับทุกรูปแบบ เพราะเห็นว่านั่นเป็นหนังสือที่ดี และประชาชนต้องได้อ่านหนังสือที่ดี

แม้ว่า Gotham Book Mart จะปิดกิจการลงแล้วหรือแม้แต่หมู่บ้าน Gotham ในอังกฤษอันเป็นจุดเริ่มต้นอาจจะสาบสูญไปแล้ว  แต่จิตวิญญาณแห่งความเป็น Independent ที่สองสถานที่เล็กๆ แห่งนี้มีและได้ทำให้ชัดเจนขึ้น  มันยังคงเป็นพลังงานที่ไม่เคยสิ้นสูญ เป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ 

ดั่งนกฟีนิกซ์ที่ไม่เคยตาย เป็นปีศาจที่เที่ยวหลอกหลอนโครงสร้างมืดที่ครอบงำมนุษย์กับสังคมทุกยุคสมัย

Tags: , , ,