ทำไมผู้คนในโซเชียลเน็ตเวิร์กจำนวนไม่น้อยถึงรู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว นักสังคมวิทยาอย่างซิกมุนด์ บาวมันน์ (Zigmunt Bauman) อธิบายไว้ว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่เพียงไม่ใช่สังคม หรือมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันเช่นที่เราเข้าใจ แต่ถ้ากล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วมันคือหลุมพรางที่ทำให้คนทั้งหลายเชื่อว่าสามารถสร้างความผูกพันระหว่างกันได้

ในท่ามกลางโซเชียลเน็ตเวิร์กเราหลายคนจึงยังคงรู้สึกว่าขาดความข้องเกี่ยว แม้เราจะมี ‘เพื่อน’ นับร้อยนับพันในนั้นที่มองเห็น หรือมีปฏิสัมพันธ์กับเราในรูปคำอวยพร แสดงความยินดี และแม้แต่การแสดงความเสียใจ

บทความตอนนี้จึงขอชวนผู้อ่านมาพิจารณาขั้วความสัมพันธ์ระหว่างความโดดเดี่ยวกับการเป็นมนุษย์ในโลกสมัยใหม่ รวมถึงความโดดเดี่ยวกับความรักที่เราหลายคนเล็งเห็นตรงกันว่าเป็นหนทางในการเยียวยาแก้ไข 

ค่าที่แปรผันของความโดดเดี่ยว

ความโดดเดี่ยว ความเหงา และความแปลกแยก กลายเป็นคำที่ถูกใช้ทดแทนกันในโลกของภาษาไทย หากในภาษาตะวันตกนั้นมีความพยายามจะจำแนกแยกแยะความแตกต่างของการอยู่ลำพัง เช่น Loneliness ที่เป็นทั้งสภาวะและความรู้สึกที่เราตัดขาดจากผู้คนและความสัมพันธ์รอบข้าง ไม่มีใคร ทั้งที่เราอาจจะไม่ได้อยู่เพียงลำพัง จนก่อตัวเป็นความอ้างว้าง ความเหงาที่เกาะกุมจิตใจอย่างอธิบายไม่ได้ หรือเป็นความรู้สึก ดังที่พอล ทิลลิค (Paul Tillich) อธิบายไว้ใน Theology of Culture (1959) ว่าเป็นความว่างเปล่าที่แผ่ขยายออกไปจากความแปลกแยกทั้งกับตัวตนภายในและโลกที่อยู่รอบข้าง หรือโดยเฉพาะที่ฮันนาห์ อาเรนดท์ (Hannah Arendt) ได้อธิบายไว้ใน The Origins  of Totalitarianism (1951) ในบทท้ายๆ ว่า ความโดดเดี่ยวนี้เป็นผลมาจากระบบการเมืองที่ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และทำให้ผู้คนมีสภาพเล็กลงกว่าปัจเจก ในขณะที่การถือสันโดษ หรือ Solitude นั้นไม่ทำให้เราเดียวดาย ไม่รู้สึกว่าขาดอะไร 

ด้วยเหตุนี้ การถือสันโดษ หรือภาวะที่เรียกว่า Solitude จึงเป็นสิ่งที่นักเขียน-กวีทั้งหลายมองเห็นเป็นภาวะอันจำเป็นของการสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการเขียนเช่นที่โมริส บล็องต์โชต์ (Maurice Blanchot) เสนอไว้ใน The Space of Literature (1948) ว่าเขาต้องการความสันโดษที่ไม่ใช่อารมณ์ความวิตกใดๆ ทว่าในโลกละตินอเมริกา หรือโดยเฉพาะภาษาสเปน คำว่า soledad นั้นกลับเป็นถ้อยคำที่มีลักษณะครอบคลุมทั้งบวกลบ ดังที่ปรากฏให้เห็นในข้อเขียนชิ้นสำคัญของออคตาบิโอ ปัซ (Octavio Paz) ที่ชื่อว่า The Labyrinth of Solitude หรือ El laberinto de la soledad (1950) ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมสำคัญของศตวรรษที่ 20 

ในวงกตแห่งความโดดเดี่ยว

The Labyrinth of Solitude ได้รับการยกย่องจากฮาโรล์ด บลูม (Harold Bloom) นักวรรณคดีศึกษาชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ให้เป็นหนึ่งในร้อยของงานชิ้นสำคัญของศตวรรษที่ 20 และแน่นอนว่าความคิดหลักในหนังสือรวมความเรียงเล่มนี้ให้อิทธิพลต่อ One Hundred Years of Solitude (1967) ทั้งทางตรงและอ้อมดังต่อกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel Garcia Márquez)

ออคตาบิโอ ปัซ (Octavio Paz) นักเขียนชาวเม็กซิกันเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 1990

ในภาพกว้าง The Labyrinth of Solitude เชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความโดดเดี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติพันธ์ุของละตินอเมริกา การเป็นอาณานิคมรวมถึงเหตุการณ์ร่วมสมัยเช่น สงครามโลกที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป ผ่านสายตาและประสบการณ์ของปัซ โดยมีบทความชิ้นสำคัญ The Dialectics of Solitude เป็นบทสรุปส่งท้าย โดยปัซได้เสนอความคิดที่มีลักษณะสัจบท (axiom) เอาไว้ว่า 

“ความโดดเดี่ยว-ความรู้สึกและความรู้ที่ว่าเราอยู่เพียงลำพังและแปลกแยกจากโลกและตัวเราเอง… หากคนทั้งหลายจะมีบางห้วงขณะที่ชีวิตทำให้พวกเขารู้สึกว่าอยู่คนเดียว การมีชีวิตอยู่คือการตัดขาดออกมาจากสิ่งที่เราเคยเป็นเพื่อไปสู่คนที่เรากำลังจะเป็นในอนาคตอันเป็นปริศนา ความโดดเดี่ยวจึงเป็นข้อเท็จจริงพื้นฐานของมนุษย์ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่รู้ว่าตนเองอยู่เพียงลำพัง และมีมนุษย์เพียงเท่านั้นที่ออกเสาะหาคนอื่นๆ”

ปัซเห็นว่า มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่หาญกล้าปฏิเสธธรรมชาติ และนั้นทำให้เราเสาะแสวงหาตัวเราในตัวคนอื่นๆ เราโหยหาและต้องการการสื่อสารกับคนอื่น การตระหนักถึงตัวเราเองในแง่นี้จึงเป็นการตระหนักถึงความขาดผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน 

ความโดดเดี่ยวจึงมีมาพร้อมกับเราแต่ละคนตั้งแต่กำเนิด เช่นเดียวกับความปรารถนาที่จะเสาะแสวงหาคนอื่นๆ ก็เป็นภาวะที่ต้องดำเนินไปคล้ายไม่มีวันจบสิ้น นั่นทำให้ความรักกลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญสำหรับคนจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบและเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ดังกล่าวนี้ 

ความรักกับเสรีภาพ

ดังที่เราทราบว่า The Labyrinth of Solitude ได้ส่งทอดความคิดต่อนักอ่านและนักเขียนจำนวนมากในทศวรรษต่อๆ มา แต่งานชิ้นนี้เองก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบมนุษยนิยม (Humanism) ของฌ็อง-ปอล ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) ในกรอบอธิบายเกี่ยวความรักกับเพศหญิง ซึ่งเราไม่ควรลืมว่างานของปัซชิ้นนี้เขียนขึ้นในท่ามกลางบรรยากาศความคิดในช่วงทศวรรษที่ 50-60 ที่ปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existentialism) แพร่หลาย จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ปัซจะมองเห็นมนุษย์ (เพศชาย ผู้กุมอำนาจในการเผยแพร่ความคิดในขณะนั้น) เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญสูงสุด ผู้หญิงเป็นเพศที่ถูกกดขี่ อาชีพโสเภณีเป็นภาพล้อเลียนของความรักที่แท้จริง ฯลฯ ซึ่งเมื่ออ่านผ่านมุมมองปัจจุบันก็อาจจะพบว่ามีความ sexist อยู่ไม่น้อย แต่ถึงกระนั้นก็ตามข้อเสนอเกี่ยวกับความรักของเขาก็นับว่ามีความน่าสนใจ หรือเป็นทฤษฎีที่ไม่ตกสมัยไป เมื่อเขาเห็นว่า ความรักเป็นสิ่งที่ถูกคุกคามจากภัยรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นกรอบคิดทางด้านศีลธรรม ชนชั้น กฎหมาย เชื้อชาติ และแม้แต่ฐานคติต่างๆ ของตัวคนที่มีความรักเอง

ภาพหนังสือ The Labyrinth of Solitude ฉบับภาษาสเปนของปัซ

ผู้หญิง (ในกรอบคิดของปัซที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากเดอ โบวัวร์) เป็นได้ทุกอย่าง เทพี นางฟ้า ปีศาจ หรือแม่มด ยกเว้นก็แต่ตัวของเธอเอง เธอเป็นในสิ่งที่ผู้ชายกำหนดให้เป็น

ความรักก็เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ใช่ธรรมชาติ มันมีความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างและทำลายลงในทุกวัน หรือถ้ากล่าวอย่างถึงที่สุด ความรักก็คือทางเลือก เป็นตัวแทนของสิ่งที่เราเรียกว่า เสรีภาพ เพียงแต่มันเกิดขึ้นในสังคมที่เป็นเสรีภาพนี้ไม่อาจเป็นไปได้

ดังที่ปัซได้ยกเอาข้อความในหนังสือ Mad Love (1937) ของอ็องเดร เบรอตง (André Breton) มากล่าวไว้ว่า “เพื่อแสดงให้เห็นว่ารักนั้นเป็นจริง มันจำเป็นต้องแหกทุกกฎที่โลกใบนี้มี”

หากมองว่า ภาพของผู้หญิงคือสิ่งที่ถูกกักขังไว้ในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ความรักที่มีความหมายเทียบเท่ากับเสรีภาพก็คือการปลดปล่อยผู้หญิงออกมาจากกรงขังนั้น เหมือนดังคำกล่าวที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ ว่า ความรักเปลี่ยนแปลงเธอ มันเปลี่ยนเธอให้เป็นอีกคนหนึ่ง ความรักก็สามารถเปลี่ยนแปลงผู้หญิงได้ และหากเธอกล้าที่จะรัก นั่นก็แปลว่าเธอจะต้องกล้าที่จะเป็นตัวเธอเอง และทำลายภาพลักษณ์ที่สังคมกักขังเธอไว้

ถ้าความโดดเดี่ยวเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ ความรักเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นและกลับกลายเป็นกรงขังเราไว้ การปลดปล่อยก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

อ้างอิง

Hall, Linda B. “Labyrinthine Solitude: The Impact of Garcia Marquez.” Southwest Review, vol. 58, no. 3, 1973, pp. 253–263.

Paz, Octavio. “Dialectic of Solitude.” Labyrinth of Solitude, translated by Kemp, Lysander, (New York: Grove Press, 1961).

Tags: , ,