“ผู้คนเหล่านี้รักภาพลวงตาเหมือนเช่นที่พวกเขารักตัวเอง”

ซิกมุนด์ ฟรอยด์

ในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรา คงมีสักครั้งหรือหลายครั้งที่เราต้องนั่งอยู่ในตำแหน่งของที่ปรึกษาเรื่องหัวใจ หรือไม่ก็ในทางกลับที่เราเป็นคนขอคำปรึกษาจากเพื่อนฝูงและแม้กระทั่งคนรู้จัก หากปัญหาที่เกิดตามมาก็คือมีไม่น้อยเลยทีเดียวที่การปรับทุกข์ หรือพูดคุยปรึกษาได้สร้างสภาวะผูกพันขึ้นมา และได้ก่อเกิดเป็นความรักความเสน่หาระหว่างกันขึ้น 

หากลงเอยกันได้ทุกฝ่ายก็ย่อมจะเป็นเรื่องดี แต่หากไม่ได้แล้วก็จะกลายเป็นความเจ็บปวดร้าวรานที่ก่อความยุ่งยากในความสัมพันธ์ขึ้นไปทบทวี ซึ่งบทตอนที่เราจะพูดคุยกันต่อไปนี้ก็เป็นเรื่องของปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า Transference หรือ ‘การแทนที่’ ซึ่งกรอบอธิบายด้านจิตวิเคราะห์ชี้ให้เราเห็นว่า ทำไมการพูดคุยให้คำปรึกษาของคนสองคน (ไม่เฉพาะแต่เรื่องรัก อาจเป็นเรื่องหุ้น หวย หรือกระทั่งฟุตบอล) อาจลงเอยด้วยการเกิดความรักขึ้นมา

กฎแห่งการแทนที่

ย้อนกลับไปเมื่อราวหนึ่งทศวรรษก่อน มีนายแพทย์หนุ่มคนหนึ่งทำการบำบัดรักษาคนไข้หญิงที่เป็นอัมพฤกษ์ หมดสติ มีปัญหาเรื่องการพูด และการมองเห็น โดยใช้การสัมภาษณ์พูดคุย แล้วเขาก็พบว่าวิธีการดังกล่าวช่วยให้เธอสามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นเรื่อยๆ นั่นเป็นเหตุให้เขากับเธอต้องพบเจอกันแทบทุกวันที่บ้านของฝ่ายหญิง 

จนภรรยาของนายแพทย์เริ่มพบความไม่ปกติในตัวของสามี เมื่อเธอรู้สึกว่าเขามักจะพูดถึงคนไข้สาวแทบตลอดทุกเวลานาที ชื่นชมเธอในเรื่องต่างๆ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่สลักสำคัญอะไร พูดให้ง่ายเริ่มจะเกิดความริษยาและหึงหวงขึ้นมา 

ฝ่ายสามีเมื่อถูกทักถามก็เริ่มรู้สึกตัวว่าสิ่งที่เขาเป็นและแสดงออกในบ้านไม่ค่อยจะเป็นเรื่องปกติสักเท่าไหร่ เขาจึงตัดสินใจว่าจะกลับไปหาคนไข้สาว เพื่อยุติการรักษา โดยให้เหตุผลว่าผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจและเธออาจไม่จำเป็นต้องพบเขาอีกแล้ว

เรื่องราวก็น่าจะจบลงโดยไม่มีอะไร แต่การณ์กลับไม่เป็นแบบนั้น เมื่อผ่านไปเพียงไม่กี่เดือน คนรับใช้ของคนไข้สาวก็ได้มาตามหมอให้กลับไปตรวจดูอาการโดยด่วน เพราะดูเหมือนเธอมีคล้ายกับคนตั้งครรภ์ที่กำลังน้ำเดินจวนเจียนจะคลอด 

หากเป็นฉากในนวนิยาย หรือแม้กระทั่งข่าวซุบซิบสังคม เราก็คิดว่า นายแพทย์คงจะมีอะไรกับคนไข้เป็นแน่ แต่ความจริงแล้ว หญิงสาวไม่ได้ตั้งครรภ์จริงๆ หากจิตของเธอที่ผูกสัมพันธ์กับนายแพทย์หนุ่มได้ทำให้ร่างกายของเธอเชื่อว่าทั้งป็นคนรักและได้มีลูกด้วยกัน 

หลังจากหมอตรวจพบว่าเธอไม่ได้ตั้งครรภ์ ทว่าอาการนั้นมาจากความเจ็บป่วยทางจิต เขาก็ปฏิเสธที่จะรักษาเธอต่อ และขอให้ครอบครัวของคนไข้สาวส่งเธอไปรักษายังสถานบำบัดแห่งหนึ่งแทน ส่วนนายแพทย์กับภรรยาก็ตีตั๋วเดินทางไปพักร้อนที่อิตาลีโดยทันที

นายแพทย์ชาวออสเตรียคนที่ว่านี้ไม่ได้มีชื่อว่าซิกมุนด์ ฟรอยด์ ทว่ามีชื่อว่า โจเซฟ เบราเออร์ (Josef Breuer) และคนไข้ของเขาก็มีนามว่า อันนา โอ. (Anna O.) หรือชื่อจริง แบร์ธา แพพเพนไฮม์ (Bertha Pappenheim) นักสตรีนิยมชื่อดังชาวยิว-ออสเตรีย ซึ่งต่อมาได้มีบทบาทมากมายในการเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อสิทธิสตรีจนได้มีโฉมหน้าปรากฏบนสแตมป์ 

โจเซฟ เบราเออร์ (Josef Breuer) นายแพทย์ชาวออสเตรีย

อันนา โอ. (Anna O.) หรือชื่อจริง แบร์ธา แพพเพนไฮม์ (Bertha Pappenheim) นักสตรีนิยมชื่อดังชาวยิว-ออสเตรีย

จิตปฏิพัทธ์ที่นำไปสู่จิตวิเคราะห์

การมีจิตปฏิพัทธ์ครั้งนี้ถือเป็นกรณีประวัติศาสตร์ที่เบราเออร์ (ผู้เคยค้นคว้าเรื่องความสมดุลของของเหลวในหูมีผลกับการทรงตัว) กลับไม่ได้มีเวลาหันมาพินิจพิเคราะห์เรื่องราวของตนเองอย่างจริงจัง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม กระบวนการรักษาที่พลิกผันกลายเป็นภาพลวงตาของความรักกลับเป็นสิ่งที่นายแพทย์ฟรอยด์ให้ความสนใจอย่างมาก

เมื่อผนวกรวมกับประสบการณ์ส่วนตัวของฟรอยด์ที่คนไข้หญิงรายหนึ่งที่เขาทำการรักษาด้วยการสะกดจิตได้เข้ามาสวมกอดแล้วจูบอย่างดูดดื่มก็ยิ่งทำให้เขาเข้าใจสภาวะการณ์แทนที่ (Übertragung/Transference) ที่คนไข้ได้เปลี่ยนภาพของหมอที่กำลังตรวจรักษาให้เป็นคนรัก คนที่ตนเองผูกพันอย่างลึกซึ้ง 

ความรักที่เกิดระหว่างการรักษาจึงไม่ใช่ความรักระหว่างคนไข้กับหมอคนนั้น แต่เป็นความรักระหว่างคนไข้กับคนที่หมอเข้าไปแทนที่ ผ่านความห่วงใย เอาใจใส่ และช่วยเหลือ

การค้นพบการแทนที่ หรือ Transference ได้กลายเป็นที่มาของหลักวิชาที่เรียกว่า จิตวิเคราะห์ (Phychoanalysis) ที่ฟรอยด์พยายามหาหนทางในการทำให้นักจิตวิเคราะห์สามารถทำการศึกษา/รักษาผู้ป่วยได้โดยไม่ก่อให้เกิดความรักความผูกพันระหว่างกันขึ้น 

เริ่มตั้งแต่การออกแบบจัดวางตำแหน่งที่นั่งในห้องตรวจ โดยการทำให้ผู้ถูกวิเคราะห์ (analysand) นอนบนโซฟาเบดหันหน้าเข้าหากำแพง ขณะที่นักจิตวิเคราะห์ (analyst) นั่งหันหน้าไปอีกทาง ไม่มีการสบตา หรือเผชิญหน้ากับผู้ถูกวิเคราะห์โดยตรง ทำหน้าเพียงถาม และตอบคำถามด้วยคำถามที่ผู้ถูกวิเคราะห์จะเป็นคนตอบด้วยตัวเอง 

คลีนิคของฟรอยด์ที่ลอนดอน แสดงให้เห็นตำแหน่งที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าระหว่างผู้วิเคราะห์กับผู้ถูกวิเคราะห์

สำหรับฟรอยด์แล้วการแทนที่ระหว่างการพูดคุยระหว่างนักจิตวิเคราะห์และผู้ถูกวิเคราะห์เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การรักษาจำเป็นต้องอาศัยการแทนที่เพื่อเข้าถึงสิ่งที่อยู่ใต้จิตสำนึก สำหรับฟรอยด์ความรักที่เกิดขึ้นสำหรับนักจิตวิเคราะห์คือรักที่ไม่ต้องการรักตอบ (และแน่นอนว่าเป็นเรื่องต้องห้าม) แต่ถึงกระนั้น แม้ว่าจะมีประสบการณ์และผ่านการฝึกฝนที่ดีมากเพียงใด ความรักจากการแทนที่ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ เช่นกรณีของคาร์ล กุสตาฟ ยุง (Carl Gustav Jung) นักจิตวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เป็นทั้งมิตรและศิษย์คนสำคัญของฟรอยด์ที่เคยเพลี่ยงพล้ำและเกิดความผูกพันกับคนไข้ของเขา จนกลายเป็น counter-transference 

ดังนั้นแล้ว คนธรรมดาสามัญทั่วไปเช่นเราก็ย่อมต้องเตรียมใจสำหรับปรากฏการณ์แทนที่ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อยามที่เราเป็นที่ปรึกษาหรือหันหน้าไปปรึกษาใคร 

อ้างอิง:

Bruce Fink, Lacan on Love, (Cambridge: Politiy Press, 2016)

Tags: , ,