“ห้วงเวลาแห่งการปฏิวัติที่แท้จริงก็เหมือนเช่นกับความรัก มันเป็นการแตกหักกับโลก และสิ่งต่างๆ ที่ดำเนินไปเช่นปกติ บนชั้นฝุ่นที่ปิดคลุมสิ่งต่างๆ ที่คอยสะกัดกั้นไม่ให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา”

Srečko Horvat

และแล้วความรักก็ปรากฏ

เป็นเวลากว่า 40 ปีมาแล้วที่ Fragments d’un discours amoureux (A Lover’s Discourse: Fragments) ของโรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) ได้รับการตีพิมพ์และได้กลายเป็นหนังสือกึ่งวิชาการขายดีที่ได้รับการแปลและพิมพ์ซ้ำเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผลงานชิ้นนี้แม้มีชื่อว่าเป็นเสี้ยวส่วนของวาทกรรมของคนรัก แต่ผู้ที่ได้อ่านก็พบถึงความเต็มล้น ตราตึง ติดค้าง และสามารถสร้างความแปลกใหม่ไม่คุ้นชินในทุกครั้งที่อ่าน ราวกับว่าหนังสือเล่มนี้ไม่เพียงให้ความสำคัญกับการเสาะสำรวจห้วงเวลาแห่งการก่อตัวของความรัก แต่ยังจำลองภาพแห่งการมีรักผ่านรูปแบบและวิธีการประกอบร้อยเรียงตัวบทที่ผสมผสานวรรณกรรมซึ่งประทับอยู่ในใจของบาร์ตส์อย่าง The Sorrow of Young Wether ของเกอเธ่ (Goethe) หรือ On Love ของสต็องดาล (Stendahl) 

โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) นักสัญศาสตร์-นักเขียนชาวฝรั่งเศส

ทำไมการพบรักจึงมีความสำคัญสำหรับบาร์ตส์ ประการแรก อาจเป็นเพราะการพบรักนั้นเกี่ยวโยงกับสัญญะต่างๆ ที่ผู้มีรักมักจะอ่านและแลเห็นเครื่องหมาย/รหัสต่างๆ จากผู้ที่เขารักอยู่เสมอ จนอาจกล่าวได้ว่า ในห้วงแห่งรักเราต่างเป็นนักสัญศาสตร์ หากทว่าในตัวมันเองแล้ว สัญญะเหล่านี้ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ หรือหลักฐานยืนยัน นั่นแปลว่าผู้ตกอยู่ในห้วงรักย่อมตกอยู่ในความเสี่ยง ความผันผวนไม่แน่นอน และความทุกข์ทรมานใจที่ยังสามารถทำให้นักจิตวิเคราะห์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ยังต้องกล่าวแก่คู่หมั้นของเขาว่า “สิ่งเดียวที่ทำให้ผมทนทุกข์ทรมาน คือการตกอยู่ในสภาพการณ์ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะพิสูจน์ว่าผมรักคุณ” 

ประการถัดมา แม้ความรักจะเป็นประสบการณ์เฉพาะของเราแต่ละคน นับตั้งแต่ความคิดถึง ความหึงหวง ความโหยหา ฯลฯ หากบาร์ตส์ก็คาดหมายและวาดหวังไว้ในทางอุดมคติว่า หนังสือของเขาจะสามารถเป็นปฏิบัติการทางวรรณกรรมให้ “ผู้อ่านและผู้มีรักรวมตัวกัน” หรือเป็นดั่ง “แถลงการณ์ผู้มีรัก” หรือ The Lovers Manifesto ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จ เพราะภายหลังจาก Fragments d’un discours amoureux ตีพิมพ์เพียงไม่นานมันก็กลายเป็นหนังสือที่แทบทุกคนพูดถึงทั้งในแง่ของเนื้อหา และวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่ เซ็กซี่ เย้ายวนใจจนทำให้นิตยสาร Playboy เชิญชวนบาร์ตส์ไปสัมภาษณ์พูดคุยถึงผลงานชิ้นนี้

คงไม่ผิดนักหากจะเรียกว่าเป็นความบังเอิญอันสอดพ้องที่นักสัญศาสตร์อย่างบาร์ตส์และนักปรัชญาผู้โด่งดังอย่างอแล็ง บาดียู (Alain Badiou) จะเล็งเห็นตรงกันเรื่องที่ว่า ความรักเป็นการแตกหักกับชีวิตที่เรามีอยู่ก่อนหน้า 

บาร์ตส์เห็นว่าการเริ่มต้นเรื่องราวความรักของเราคือการขึ้น ‘บทตอนใหม่’ ของชีวิตหรือ ‘ฉากการผจญภัย’ เป็นราคาที่เราจะต้องจ่ายให้แก่โลกใบนี้ ในขณะที่บาดียู ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือขายดีที่สุดของเขา In Praise of Love ไว้ว่า “เราสามารถพูดได้ว่าความรักคือการผจญภัยอันแน่วแน่ ด้านที่เป็นการผจญภัยมีความสำคัญเทียบเท่ากับความแน่วแน่ การเลิกรานับจากอุปสรรคแรก ความไม่ลงรอยอย่างจริงจังครั้งแรก การทุ่มเถียงกันครั้งแรก เป็นเพียงการบิดเบือนความรัก ด้วยรักแท้คือชัยชนะที่จะคงอยู่ต่อไป ซึ่งบางครั้งจำต้องเจ็บปวด เพื่อข้ามพ้นอุปสรรคที่ก่อตัวขึ้นจากกาลเวลา สถานที่ และโลกใบนี้”

การเกิดขึ้นของความรักจึงเป็นปรากฏการณ์อันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง และเต็มไปด้วยความเสี่ยง ไม่แตกต่างจากการผจญภัย

ความรักและความเสี่ยง

เราอาจเคยอ่านหรือเคยได้ยินเรื่องนี้มานับครั้งไม่ถ้วนว่า ในมุมมองของบาดียูนั้นความรักกำลังถูกภัยคุกคาม ดังที่เขาได้เล่าไว้ใน In Praise of Love ว่าเขารู้สึกรำคาญใจกับการพบเห็นโฆษณาเว็บไซต์ที่ติดทั่วไปในกรุงปารีส (เวลานั้น) โปสเตอร์ที่ฉวยใช้ถ้อยคำจากบทละครของมาริโวซ์ (Marivaux) เช่นว่า “มีรักโดยไม่ต้องรอโชคชะตา” “มีความรักโดยไม่ต้องตกหลุมรัก” “มีรักที่สมบูรณ์แบบโดยไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอีกต่อไป!” อย่างผิดที่ผิดทางและไม่เป็นการสมควร เพราะสำหรับบาดียูแล้ว หลักการแบบปลอดภัยไว้ก่อน (safety first) ไม่สามารถใช้ได้กับความรัก ด้วยเพราะแก่นแท้ของความรักคือความเสี่ยงที่ผู้มีรักจะต้องสูญเสีย เสียตัวตน เสียสิ่งที่เรามีทุกอย่างเพื่อคนอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จำต้องเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ทว่าในโลกปัจจุบัน หรือสำหรับผู้ประกอบการเว็บไซต์จัดหาคู่ ความเสี่ยงที่เกิดจากการพบกันโดยบังเอิญ การที่เราแทบไม่รู้จักคนอีกคนมาก่อนกลายเป็นภาพลบของความรักความสัมพันธ์ การเติบโตและแพร่ขยายของทินเดอร์ (Tinder) หรือแอปพลิเคชั่นอื่นๆ ที่สามารถเลือกจับคู่ผ่านฐานะทางชนชั้น การศึกษา รสนิยมทางเพศ และข้อกำหนดเฉพาะอื่นๆ ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นว่า เราไม่ต้องการความรักที่เสี่ยง หรือเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ทว่าเรายังต้องการคนรักที่เหมือน หรือมีบางสิ่งบางอย่างเช่นที่เรามี 

บาดียูได้เปรียบเทียบความรักแบบปลอดภัยไว้ก่อนนี้เข้ากับการสงครามสมัยใหม่ของกองทัพสหรัฐฯ ที่เลือกใช้อาวุธยุทโธปกรณ์โจมตีศัตรูจากระยะไกล ระเบิดอัจฉริยะที่ปราศจากความเสี่ยงเพื่อทำลายข้าศึกในนามของความเป็นโลกยุคใหม่ (ซึ่งแน่นอนว่าพลเรือนหรือกองกำลังที่เป็นศัตรูกับกองทัพสหรัฐฯ ย่อมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความปลอดภัยนี้อย่างแน่นอน) ความปลอดภัยของการสงครามยุคใหม่สอดคล้องกับเหตุผลของรัฐ หรือความเป็นผู้ปกครองที่คอยชี้นำสั่งสอนบุตรหลานให้ระมัดระวัง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่ใช่ความรัก ซ้ำยังทำลายความรักแท้ๆ ให้ปลาสนาการไป

ความรักของบาดียูคืออะไร? ในหนังสือ ทำไมต้องตกหลุมรัก: Alain Badiou ความรัก และ The Lobster ของสรวิศ ชัยนาม ได้อธิบายไว้ว่า บาดียูมองว่า ความรักคือระบบคอมมิวนิสต์แบบจำกัด (minimal communism) เป็นสิ่งที่ทำให้ความรู้สึกของการมีบางอย่างร่วมกันมีความสำคัญเหนือกว่าการเห็นแก่ตัว ซึ่งถ้ามองความสัมพันธ์นี้เป็นปฏิบัติการทางการเมือง ความรักจะทำให้คนสองคนไม่พอใจกับวิถีชีวิตเดิมๆ ก่อนหน้า และต้องการเปลี่ยนผ่านหรือกลายเป็นสิ่งอื่น (becoming)

แน่นอนว่า บาดียูรู้ตัวดีว่าความรักในความเชื่อของเขา เป็นผลสืบเนื่องมาจากขบวนการเคลื่อนไหวในยุคโรแมนติก (Romanticism) ในแง่ที่เชื่อว่า ความรักกับการปฏิวัติเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะการปฏิวัติสร้างบางสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ให้เป็นไปได้ ความเป็นไปได้ดังกล่าวเกิดจากการลงมือเพื่อเปลี่ยนแปลง ซึ่งทั้งหมดวางอยู่บนฐานของความเสี่ยงและความไม่แน่นอน

ความรักกับการปฏิวัติ

ไม่มีความรักใดที่ไม่ผ่านการตกหลุมรัก เหมือนดังเช่นที่นักปรัชญาชาวโครเอเชีย ชเรกโค ฮอร์แวต (Srečko Horvat) ได้กล่าวไว้ การตกหลุมรักก็เป็นเหมือนการเผชิญหน้ากับช่วงเวลาของการปฏิวัติที่เรากำลังเข้ายึดจัตุรัส หรือล้มตายลงหลังจากถูกกระสุนของฝ่ายปราบปรามระดมยิง มันเป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแตกหักและแตกต่างจากห้วงเวลาก่อนหน้า จากสิ่งที่ไม่เคยเกิดในชีวิตประจำวันของคุณ

สิ่งที่เป็นศัตรูสำคัญของความรักจึงเป็นความเคยชิน การปฏิบัติอย่างเป็นนิสัย และดูราวกับเป็นของตาย ดังที่โซเรน เคียร์เคกอร์ด (Søren Kierkegaard) ได้ชี้เตือนเราไว้ใน Work of Love ว่าถ้าเราจะรักษาความรักของเราไว้ เราก็จะต้องรักษาความไม่คุ้นชินเอาไว้ด้วย ความรักจะสูญสลายหายไปเมื่อเราเปลี่ยนเป็นความเคยชิน เราจำเป็นต้องรักษาอาการสะดุดและตกหลุมรักเอาไว้ เสมือนหนึ่งเชื้อไฟแห่งการเปลี่ยนแปลง

โซเรน เคียร์เคกอร์ด (Søren Kierkegaard) นักปรัชญาชาวเดนมาร์ก

แต่ทว่าการตกหลุมรักก็ไม่ใช่ทั้งหมดของความรัก สิ่งที่คนรักต้องการคือความสัมพันธ์ที่สืบเนื่อง ความรักในยุคสมัยแห่งการปฏิวัติด้านสังคมวัฒนธรรมที่เปิดให้เรารักกันอย่างเสรี หรือมีเสรีรัก (free sex)  โดยไร้ข้อผูกมัดใดๆ ได้เป็นข้อพิสูจน์ด้วยตัวมันเองแล้วว่าไม่สามารถธำรงหรือรักษาความรักได้ ความรักเช่นนี้ไม่อาจนับเป็นความรัก อย่างน้อยก็ในมุมมองของบาดียูที่เห็นว่า ความรักเป็นการสร้างที่ต้องประกอบขึ้นจากฉากที่สอง (เรา) ปรากฏ หรือหากความรักเป็นดั่งการปฏิวัติ ความรักแท้ที่เราคาดหมายก็ย่อมจะเป็นการปฏิวัติที่ถาวร

อ้างอิง

  • Roland Barthes, A Lover’s Discourse: Fragments, translated by Richard Howard (New York: Hilland Wang, 2010)
  • Alain Badiou and Nicolas Truong, In Praise of Love, translated by Peter Bush (London: Serpent’s Tail, 2012)
  • Srečko Horvat, Radicality of Love, (London: Polity Press, 2016)
  • สรวิศ ชัยนาม, ทำไมต้องตกหลุมรัก: Alain Badiou ความรัก และ The Lobster (กรุงเทพฯ: Illuminations Editions, 2260)
Tags: