ทำไมความรักจึงได้แปรผันเป็นความเกลียด? ทำไมความรักที่ทำให้คนคนหนึ่งเป็นอุดมคติของคนอีกคนหนึ่งถึงกลายเป็นฝันร้ายที่เขา/เธออยากจะลบทิ้งไปเสีย 

บารุค สปิโนซา (Baruch Spinoza) นักปรัชญาและช่างฝนเลนส์ชาวยิวจากศตวรรษที่ 17 ได้อุทิศส่วนหนึ่งของงานชิ้นสำคัญที่ชื่อว่า Ethics เพื่อถกอภิปรายเรื่องนี้ ซึ่งมุมมองของสปิโนซ่าต่อความรักและความเกลียดนั้นถือได้ว่ามีความแปลกล้ำและแตกต่างจากนักปรัชญา-นักทฤษฎีคนอื่นๆ อยู่มาก จนอยากชวนเชิญผู้อ่านไปรู้จักความคิดของเขา แต่ก่อนจะพูดถึงเรื่องนี้ เราอาจต้องเริ่มต้นด้วยข้อเสนอพื้นฐานของสปิโนซากันเสียก่อน

พระเจ้าหรือธรรมชาติ

การจัดให้พระเจ้าและธรรมชาติมีสถานะเดียวกัน เป็น ‘พระเจ้า หรือ ธรรมชาติ’ ต้องนับว่าเป็นการท้าทายกรอบคิดของสังคมเวลานั้นอย่างมาก เพราะก่อนหน้าชื่อของสปิโนซาจะถูกขึ้นบัญชีดำในฐานะของนักคิดนอกรีตเพียงไม่กี่ทศวรรษ จอร์ดาโน บรูโน (Giordano Bruno) นักปรัชญาชาวอิตาลีก็ได้ถูกศาสนจักรตัดสินประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็น

ในข้อหาที่บรูโนเผยแพร่ความคิดขัดกับหลักศาสนา และเป็นพวกสรรพเทวนิยม (Pantheism) ที่เชื่อว่าพระเจ้านั้นสถิตอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ซึ่งถือเป็นการลบหลู่พระเจ้า และเมื่อนำเอาตำราที่บรูโนได้ประพันธ์ไว้เราก็จะพบว่ามีความคล้ายกับสิ่งที่สปิโนซาได้เสนอไว้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

บารุค สปิโนซา (Baruch Spinoza) นักปรัชญาชาวยิวและช่างฝนเลนส์

จอร์ดาโน บรูโน (Giordano Bruno) นักปรัชญาชาวอิตาลี

แน่นอนว่ากรอบอธิบายของสปิโนซาในเรื่องพระเจ้านั้นถูกมองว่าเป็นสรรพเทวนิยมด้วยเช่นกัน แต่สปิโนซ่าและลัทธิสปิโนซ่า (Spinozism) ที่เกิดขึ้นภายหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้วนั้นยังถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกสสารนิยม (Materialist) ไม่เชื่อในระบบศีลธรรม (Immoralist) และเป็นพวกอเทวนิยม (Atheist) อีกด้วย

จริงอยู่ที่มีนักปรัชญาจำนวนหนึ่งได้ประกาศตนเป็นพวกไม่เชื่อในพระเจ้า เช่นเดวิด ฮิวม์ (David Hume) แต่นั่นก็ต้องนับว่าเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 หรือภายหลังจากลัทธิสปิโนซาแพร่กระจายไปสู่แว่นแคว้นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมันที่ก็ทำให้นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่อย่างเฮเกล (Hegel) ถึงกับกล่าวไว้ว่า “ข้อเท็จจริงก็คือ สปิโนซาถูกกำหนดให้เป็นบททดสอบของปรัชญาสมัยใหม่ ที่ทำให้กล่าวได้ว่า ท่านทั้งหลายจะเป็นพวกสปิโนซา หรือไม่ได้เป็นนักปรัชญาเลย” 

แม้สปิโนซาจะโด่งดังในฐานะนักเขียนที่วิพากษ์คำสอนของเหล่าศาสดาพยากรณ์ (prophets) และมีความเกี่ยวพันกับกลุ่มความเคลื่อนไหวทางการเมือง ณ เวลานั้น แต่ผลงานที่นับว่ามีความสำคัญที่สุดกลับเป็นงานหลังมรณกรรม (Posthumous) อย่าง Ethics ที่มิตรสหายนำมาตีพิมพ์ภายหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว พร้อมๆ กับงานอีกชิ้นที่มีชื่อว่า Treatise on the Emendation of the Intellect ซึ่งเป็นงานยุคแรกเริ่มที่สปิโนซาไม่มีโอกาสเขียนจบสมบูรณ์ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า ความคิดของเขาได้แปรเปลี่ยนไปแล้วดังที่ผู้ศึกษางานของสปิโนซาหลายคนได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้

Ethics เป็นงานที่สปิโนซาใช้เวลาเขียนและปรับแก้อยู่เป็นสิบปี และเมื่อมันเสร็จแล้ว สปิโนซากลับตัดสินใจไม่ตีพิมพ์ ด้วยเหตุผลทางการเมืองและความปลอดภัยของตนเอง จนมีบางคนพูดในเชิงสัพยอกว่า ปัญญาชนโดยมากอยากเป็นนักคิดสาธารณะ (Public Thinker) ด้วยกันทั้งสิ้น มีเพียงน้อยคนเท่านั้นที่อยากจะเป็นปัญญาชนเอกชน (Private Thinker) เหมือนสปิโนซา

ฉะนั้นต้นฉบับ Ethics ที่ถูกเก็บรักษาไว้จึงนับว่ามีความสมบูรณ์ครบถ้วนกว่าต้นฉบับชิ้นอื่นๆ เช่น Treatise on the Emendation of the Intellect ที่มีลักษณะเป็นเพียงเค้าโครงความคิด

สิ่งที่น่าแปลกประหลาดใจข้อหนึ่งของ Ethics (หนังสือที่จัดว่ามีความก้าวหน้า ซึ่งส่งอิทธิพลต่อปรัชญาตะวันตกเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน) ได้ให้ความสำคัญกับการเขียนถึง ‘ความรัก’ และ ‘ความเกลียด’ หรือกลับไปหาความคิดในยุคต้นของสปิโนซาวัยหนุ่มใน Short Treatise on God, Man and His Well Being เพื่อปัดฝุ่นและพิจารณาใหม่อีกครั้ง

ต้นฉบับลายมือ Short Treatise on God, Man and His Well Being ที่สปิโนซาเขียนไว้ในวัยหนุ่ม 

เราเป็นในสิ่งที่เรารัก (และเกลียด)

สปิโนซาเห็นว่า ความรักและความเกลียดอาจไม่ใช่สิ่งที่ไร้เหตุผลในตัวเอง แต่ทั้งหมดนั้นสามารถอธิบายได้ผ่านหลักคิดอันเป็นรากฐาน 2 ประการคือ

หนึ่ง จิตสำนึก (consciousness) ที่เป็นเพียงภาพมายาของความคิด หรือเป็นเพียงละครฉากหนึ่งของร่างกาย ในมุมมองของสปิโนซา จิตสำนึกไม่ใช่ตัวกำหนดชี้วัดทุกอย่างที่เป็นตัวเรา หรือไม่เท่ากับ ‘ความคิด’ ที่สำหรับเขาแล้วผูกสัมพันธ์กับร่างกาย (body) และจับต้องได้ (corpereal)

สอง สิ่งที่เข้ามากระทบ (the affects) กับ ‘มนุษย์’ ซึ่งในมุมมองของสปิโนซาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบ และไม่ได้มีเจตจำนงเสรี (free will) เช่นที่เราเข้าใจ 

ถ้าอธิบายด้วยภาษาของปัจจุบัน ความคิดและพฤติกรรมต่างๆ ของคนเรานั้นมาจากผลกระทบต่างๆ ภายนอกทั้งสิ้น การกระทำใดก็ตามที่เราคิดว่า เป็นผู้ไตร่ตรองและตัดสินใจด้วยเจตจำนงของเรา แท้จริงถูกกำกับควบคุมด้วยปัจจัยต่างๆ ซึ่งข้อเสนอนี้ย่อมสร้างปัญหาตามมาอย่างมากมาย อย่างน้อยที่สุดก็คือขอบเขตของการมีอำนาจตัดสินใจของเราแต่ละคน (autonomy) และความรับผิดชอบในการกระทำทั้งหลาย ซึ่งก็ทำให้กล่าวได้ว่า ตัวของสปิโนซาเองนั้นไม่ชื่นชอบในระบอบการปกครองหรือระบบกฎหมายใดเป็นพิเศษ แต่เขายอมรับว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเอื้อให้คนอย่างเขาอยู่ได้มากที่สุด

การมีชีวิตจึงหมายถึงการดิ้นรนที่จะมีอยู่ ซึ่งกล่าวอย่างถึงที่สุด มนุษย์ สัตว์ สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตต่างก็ปรารถนาที่จะคงอยู่

ความปรารถนา (desire) สำหรับสปิโนซาถือเป็นสารัตถะของมนุษย์ แต่ความปรารถนานี้ก็ไม่ได้มาจากความขาด (lack) หรือสิ่งที่เราไม่มีวันเติมเต็มเช่นที่ฌาคส์ ลาก็อง (Jacques Lacan) นักจิตวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศสได้นำเสนอไว้ หากเป็นไปเพื่อการมีอยู่ หรือพูดในภาษาของสปิโนซาคือ “เป็นในสิ่งที่สมบูรณ์กว่า”

ความปรารถนาที่สัมพันธ์กับจิต (Mind) เรียกว่า เจตจำนง (will) ซึ่งไม่เสรี ความปรารถนาที่สัมพันธ์กับร่างกายเรียกว่า ความอยาก (appetite) ซึ่งเป็นสิ่งที่ปกครองมนุษย์ทั้งหลาย

ความรื่นรมย์ (joy) เพิ่มพลังในการดิ้นรนเพื่อมีชีวิตอยู่ ในขณะที่ความทุกข์ตรม (sorrow) ลดพลังนั้น สิ่งที่ดีและสิ่งที่เลวร้ายในกรอบอธิบายของสปิโนซาก็ดำเนินไปบนหลักการของการเพิ่มและลดพลังในการมีชีวิตอยู่

เหตุผลของความรักและความเกลียด

แน่นอนว่า มนุษย์ต่างปรารถนาความรื่นรมย์มากกว่าความทุกข์และเจ็บปวด เรารักในสิ่งที่ทำให้เราเป็นสุข และเกลียดในสิ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์

ความรักและความเกลียดจึงผูกพันเกี่ยวข้องกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอ ซึ่งก็ทำให้พูดได้ว่า ความรักและความเกลียดถึงที่สุดแล้วไม่ใช่สิ่งที่ปราศจากเหตุผล

ความรักและความเกลียดเป็นเหตุผลที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตรอดและสามารถดำรงอยู่ได้ แต่หากถามว่า มนุษย์ทั้งหลายตกอยู่ภายใต้อำนาจของความรักหรือความเกลียดมากกว่ากัน? 

สปิโนซาจะตอบว่า ‘ความเกลียด’ เพราะก็เป็นดังที่เขาได้อธิบายไว้ใน Political Treatise ว่า “โดยพื้นฐานมนุษย์มีความเป็นศัตรูต่อกัน” แต่ถึงกระนั้นสปิโนซาก็ยังมองว่า เราสามารถเอาชนะความเกลียดชังนั้นด้วยความรัก 

ความรักและความเกลียดจึงเป็นความสัมพันธ์ชนิดที่ขาดกันไม่ได้เปรียบเหมือนคู่สามีภรรยา มิตรแท้ และศัตรูถาวร

Tags: