การรักษามะเร็งด้วยที-เซลล์เป็นวิธีการรักษาที่มีอยู่แล้ว พัฒนาการของการบำบัดมะเร็งด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันเป็นหนึ่งในสิ่งที่ก้าวหน้าของสาขาวิชานี้ นักวิจัยมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์เปิดเผยผลการศึกษาที่ถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการหาวิธีรักษามะเร็งแบบใหม่ๆ ในวารสาร Nature Immunology เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2020 ว่า พบเซลล์ภูมิคุ้มกันที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งเกือบทุกประเภท
นักวิจัยกำลังวิเคราะห์เลือกจากคลังเลือดในเวลส์ เพื่อหาเซลล์ภูมิคุ้มกันที่สามารถต่อสู้กับแบคทีเรีย แต่ก็พบกับที-เซลล์ (T-cell) ชนิดใหม่โดยบังเอิญ เซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดใหม่มีตัวรับอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งปฏิบัติการเหมือนกับตะขอเกี่ยวมะเร็งส่วนใหญ่
ที-เซลล์มีตัวรับ (receptors) บนผิวหน้าที่ทำให้มัน ‘เห็น’ ระดับสารเคมี นักวิจัยพบว่า ในห้องทดลอง ที-เซลล์และตัวรับของมันสามารถตรวจพบและทำลายเซลล์มะเร็งหลายชนิดได้ ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งปอด ผิวหนัง เม็ดเลือด ลำไส้ใหญ่ เต้านม กระดูก ต่อมลูกหมาก รังไข่ และปากมดลูก ที่สำคัญก็คือ ทำให้เนื้อเยื่อปกติไม่ถูกสัมผัสอีกด้วย
ปัจจุบันมีการบำบัดด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับมะเร็งบางประเภทโดยเฉพาะอยู่แล้ว แต่มันมีประโยชน์ต่อมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิดเท่านั้น และไม่ทำงานกับเนื้องอกแบบแข็ง ซึ่งเป็นเซลล์มะเร็งส่วนใหญ่ แอนดรูว์ ซีเวลล์ หัวหน้าทีมวิจัยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องที-เซลล์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ กล่าวว่า นี่เป็นการค้นพบโดยบังเอิญที่ไม่มีใครคิดมาก่อน และสามารถยกระดับไปเป็นเซลล์เดียวที่รักษามะเร็งได้ทุกชนิด และข้ามกลุ่มประชากรได้
ตอนนี้เราก็ยังไม่มีข้อมูลว่าเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดนี้หายากหรืออาจจะมีอยู่ในผู้คนจำนวนมาก การค้นพบครั้งนี้ยังอาจนำไปสู่การวางแผนในอนาคตได้ เช่น มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างธนาคารเซลล์ภูมิคุ้มกันที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที
งานวิจัยนี้ยังเป็นผลการศึกษาที่ทดสอบในสัตว์และเซลล์ในห้องทดลองเท่านั้น ซีเวลล์กล่าวว่า การทดลองในผู้ป่วยระยะสุดท้ายอาจจะเริ่มได้ในเดือนพฤศจิกายน ถ้าการรักษารูปแบบใหม่ผ่านการทดสอบเรื่องความปลอดภัย ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า แม้นี่จะเป็นแค่ช่วงเริ่มต้น แต่ก็น่าตื่นเต้นมาก สิ่งที่ยังต้องทำความเข้าใจต่อก็คือ ที-เซลล์รู้จักเซลล์มะเร็งและทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างไร ขณะที่ไม่ตอบสนองต่อเซลล์ที่แข็งแรง
ที่มา:
https://www.bbc.com/news/health-51182451
https://newatlas.com/medical/immune-t-cell-universal-cancer-immunotherapy-cardiff/
ภาพ : Stringer/REUTERS
หมายเหตุ
*มีการแก้ไขพาดหัวเพื่อความถูกต้องชัดเจนของเนื้อหา