“ผมลืมตา ผมเห็นหมึกยักษ์จอมโลภ เขมือบทุ่งนาและแม่น้ำตึกรามบ้านช่อง และผู้คน มันเอาดวงตาของผมไป แต่ผมยังเห็นทุกอย่าง บัดนี้ ผมตาสว่างแล้ว”
นี่คือ ประโยคเปิดเรื่อง มันเป็นเรื่องของนก คนขายลอตเตอรี่ตาบอดที่ตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่ง เฝ้าฟังมหาสมุทรแห่งเสียงต่างๆ ของเมืองกรุงเทพ ตื่นขึ้นเพื่อออกไปขายลอตเตอรี่ชุดสุดท้ายก่อนที่จะไปจากเมืองนี้ แล้วเรื่องก็พาเราย้อนไปในห้วงคำนึงของนก กลับไปยังปีพุทธศักราช 2525 ปีแรกที่นกเดินทางจากหมู่บ้านชนบทมาหางานทำในโรงงานที่กรุงเทพ ถูกหลอกลวงระหกระเหิน ทดลองใช้ชีวิตรูปแบบต่างๆ ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เขาเริ่มมีกิน มีเก็บ ร่วงหล่นพ่ายแพ้ พบรัก แต่งงาน ทำงานหนัก ติดยา สูญเสียคนที่เป็นที่รัก ฟื้นตื่นอีกครั้งท่ามกลางสภาพทางสังคมการเมืองที่เปลี่ยนแปลงแล้วเปลี่ยนแปลงเล่า
นับจากปฏิวัติปี 2528 ข้ามผ่านพฤษภาทมิฬปี 2535 วิกฤติต้มยำกุ้ง การชนะเลือกตั้งของทักษิณ ชินวัตร สึนามิ การชุมนุมของพันธมิตร รัฐประหารปี 2549 การชุมนุมเสื้อแดง ไปสู่การล้อมฆ่าสังหารหมู่ในปี 2553
หนึ่งในแนวทางที่เป็นที่นิยมในการเล่าเรื่องการเมืองคือการเล่าชีวิตเนิ่นยาวของผู้คนโดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของปัจเจกที่คลอไปกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศ ผลกระทบของเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่มีต่อคนเล็กคนน้อยที่ไม่ได้เป็นคนที่เปลี่ยนแปลงโลกใดๆ หากถูกโลกเปลี่ยนแปลง ทำลายล้างครั้งแล้วครั้งเล่า และนี่คือวิธีการที่เรื่องราวดำเนินไป ในแบบเดียวกับหนังอย่าง Forrest Gump หรือ Farewell my Concubine
ตาสว่าง เป็นกราฟิกโนเวลที่เล่าเรื่องการเมืองไทยอย่างเข้มข้น เล่าความทุกข์ยากของคนยากคนจน คนเล็กคนน้อย เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายของสงครามเย็น ไปจรดการสังหารหมู่กลางเมือง แม้จะเล่าเรื่องไทยหากมันถูกเขียนขึ้นโดยนักเขียน นักวิชาการชาวอิตาเลียน Claudio Sopreanzetti คนที่เราอาจเคยได้ยินชื่อเขาในฐานะเจ้าของวิทยานิพนธ์อันแหลมคมเกี่ยวกับ มอเตอร์ไซค์รับจ้างกับสังคมไทยที่ได้มอบคำอธิบายอันน่าตื่นตาเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของกรุงเทพในสายตา และความสำคัญของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในฐานะผู้เชื่อมต่อเมืองเข้าด้วยกัน และยังเชื่อมต่อชนบทเข้ากับเมือง ลามเลยไปถึงความเป็นเสื้อแดงของเขาเหล่านั้น
ตาสว่าง กอปรขึ้นจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล จากการสัมภาษณ์ผู้คนจำนวนมาก กินเวลายาวนานร่วมสิบปี ยุบย่อลงเป็นชีวิตของคนคนหนึ่งที่บรรจุความขื่นขม คลั่งแค้น ความทุกข์ยาก และการต่อสู้่ และพ่ายแพ้กินเวลาร่วมครึ่งชีวิต
ในทางหนึ่ง ตาสว่าง ทำให้นึกถึง ‘วรรณกรรมเพื่อชีวิต’ หนึ่งในวรรณกรรมที่ดูเหมือนจะถูกยกย่องในฐานะวรรณกรรมก้าวหน้า วรรณกรรมที่มีเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม วรรณกรรมเพื่อชีวิตอาจสืบย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2492 จากแนวคิดศิลปะเพื่อชีวิต ที่นำเสนอโดย อัศนี พลจันทร์ โดยยึดหลักการว่ากวีต้องอยู่เคียงข้างประชาชนและวรรณคดีต้องนำเสนอความเป็นจริงแห่งชีวิตและสังคม
วรรณกรรมเพื่อชีวิตอยู่คู่กับการต่อต้าน จากยุคสมัยนักหนังสือพิมพ์ของศรีบูรพา อิศรา อมันตกุล ก่อนจะเฟื่องฟูในฐานะอาวุธของการเผยแพร่อุดมการณ์การเมืองในยุคเดือนตุลาปี 2516 จนจบสิ้นด้วยการสังหารหมู่ในอีกสามปีต่อมา นักเขียนหลายคนหนีเข้าป่าไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พ่ายแพ้ ก่อนกลับออกจากป่าหลังนโยบาย 66/23 และดำเนินต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น วรรณกรรมเพื่อชีวิตเป็นภาพแทนของวรรณกรรมก้าวหน้า ที่พยายามจะสะท้อนภาพชีวิตผู้คน อภิปรายอุดมการณ์ทางการเมืองแบบฝ่ายซ้ายที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสังคม โดยกลั่นขึ้นมาจากชีวิตจริงๆ มากกว่าจะนึกๆ ฝันๆ เอา
อย่างไรก็ดีในเวลาต่อมาวรรณกรรมเพื่อชีวิตค่อยๆ อ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ เมื่อย้อนกลับไปพินิจพิเคราะห์ หลายต่อหลายครั้งวรรณกรรมเพื่อชีวิตกวัดแกว่งไปมาอยู่ระหว่างการพยายามส่งเสียงที่ไม่ได้ยินของคนยากจนคนเล็กคนน้อยที่ถูกกดขี่ ทำลาย กับการพูดแทน เทศนาธรรมใส่ผู้คน ลดทอนปัญหาอันซับซ้อนให้กลายเป็นเพียงเรื่องของคนที่ถูกทำลายโดยทุนนิยม นายทุน หรือนักการเมืองชั่วร้าย วรรณกรรมเพื่อชีวิต โดยเชื่องช้า กลายเป็นการเทศนาในสิ่งที่ตนไม่เชื่อ และพยายามทำให้เชื่อว่าสิ่งที่ตนพูดนั้นเป็นทิพย์ หลุดลอยออกจากพื้นเพของตัวละครอันหมายถึงผู้อ่านที่เป็นคนชั้นล่าง และกลายเป็นเพียงบทสนทนากันเองของชนชั้นกลาง ยอดพิมพ์ที่ลดลง จำนวนการสนทนาที่ลดลง ผู้อ่านที่ลดลง จนในที่สุดวรรณกรรรมเพื่อชีวิตมีบทสนทนาในสังคมน่้อยลงไปทุกที
ตัวละครแบบนกในปี 2525 เหมาะเจาะลงตัวกับการเป็นตัวละครของวรรณกรรมเพื่อชีวิตอย่างยิ่ง คนยากจนอพยพจากชนบท มาเป็นแรงงานในเมือง แรงงานชั้นล่างในดงสลัม ถูกหักหลังซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยคนรู้จัก พเนจรหมอนหมิ่นไป ถูกเมืองกลืนกิน
นกในบทที่สองยังคงเป็นตัวละครที่ดีของวรรณกรรมเพื่อชีวิต เด็กหนุ่มที่กลับหวนคืนไปยังบ้านเกิด พบรักกับสาวชาวบ้าน เรียนรู้ชีวิตเงียบสงบ ท่ามกลางความพลิกผันของการเมือง
นกในบทที่สามลาจากลูกเมียมาเป็นแรงงานก่อสร้างบนเกาะพงัน ทำงานหนักจนต้องพึ่งพายาเสพติดในบทนี้นี่เอง นกเป็นตัวละครที่เหมาะเจาะที่สุดสำหรับวรรณกรรมเพื่อชีวิต คนโง่จนเจ็บที่ซ้ำเติมตนเองโดยความไม่รู้ ถูกชะตากรรมโบยตีซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ช่วงเวลาเดียวกันนั้นวรรณกรรมเพื่อชีวิตอ่อนแรงลงไปมากกว่าเดิมแล้วในการชี้นำสังคม
จนกระทั่งนกในบทที่สี่ ในช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองของนายกทักษิณ ชินวัตรนี่เอง ที่นกเลิกตกเป็นเหยื่อของทุนนิยมและนักการเมือง นก ไก่ ลูกชายของพวกเขาไปจนถึงหงส์เพื่อนสนิท กลายเป็นส่วนหนึ่งของความตื่นตัวทางการเมือง พวกเขาเริ่มลืมตาอ้าปาก เข้าใจในสิทธิ์และเสียงของตัวเอง นกในสองบทสุดท้ายคือช่วงเวลาของทักษิณ และช่วงความโกลาหลของขบวนการเสื้อแดงที่เติบโตขึ้นมาจากคนจนเมือง แรงงานไร้่ชื่อในกรุงเทพ และชาวบ้านยากจนห่างไกลในภาคเหนือและภาคอีสาน นี่คือช่วงที่ตัวละครเลิกเป็นตัวละคร และกลายเป็นผู้เล่าเรื่องของตัวเองด้วยตัวเอง ผ่านทางการเรียกร้องสิทธิ์ การชุมนุม ดนตรี ศิลปะ เรื่องเล่าของตนเอง
นี่คือช่วงเวลาที่วรรณกรรมเพื่อชีวิตยังคงติดหล่มอยู่กับคนยากจนที่เป็นเหยื่อ มันง่ายกว่าที่จะวาดภาพตัวละครที่เป็นเหยื่อ เราไม่อาจเหมารวมทุกๆ เรื่องราว ทุกๆ การเขียน แต่ช่วยไม่ได้เลยที่นักเขียน นักดนตรี ศิลปินที่โดยตลอดมาประกาศเคียงข้างประชาชนผู้ทนทุกข์ ร้องเพลงประท้วง เขียนหนังสือแสดงความเห็นอกเห็นใจคนทุกข์คนยาก กลับมองว่าตัวละครของเขาที่เลิกพูดผ่านปากของเขากลายเป็นอะไรอย่างเช่นตัวโง่งมที่โดนนักการเมืองหลอก หรือพวกบ้านนอกไร้อารยะที่มาชุมนุมยืดเยื้อกลางเมือง หรือเป็นพวกไม่รักชาติบ่อนทำลายความสงบของบ้านเมือง
นกที่เปลี่ยนจากหนุ่มบ้านนอกยากจนเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่พอมีพอกิน เริ่มต่อสู้เพื่อตนเอง ตาสว่างครั้งแรกหลังการโดนปล้นชัยชนะจากการเลือกตั้ง ลูกชายของเขากำลังโตเป็นวัยรุ่น เด็กวัยรุ่นที่เกิดในเมือง และไม่ได้เป็นคนเซื่องที่จะโดนหลอกลวงอีกต่อไป ไม่ใช่ตัวละครอีกต่อไป เช่นกัน นกตาสว่างครั้งที่สองหลังจากเหตุสังหารหมู่ในการชุมนุม แต่ในครั้งนี้เขาไม่ได้ตื่นรู้ในแบบเดียวกับทีวรรณกรรมเพื่อชีวิตพยายามพร่ำสอน ว่านักการเมืองมันเลว ความตื่นรู้ของเขาคือในตาที่มืดบอด สิ่งที่สว่างไสวคืออำนาจของเขาเป็นของเขาเองและการไม่ยอมจำนนของเขา
เรื่องทั้งหมดถูกเล่าผ่านกราฟิกโนเวลภาพร่างของ นก หงส์ ไก่ ตัวละครหลักที่ล้วนแต่มีปีกแต่ไม่อาจบินไปพ้นจากแผ่นดินข้นแค้นนองเลือดไม่ว่าจะพยายามขนาดไหน ภาพของ ตาสว่าง จัดวางอย่างงดงาม ตัดเฉือนเอาชิ้นส่วนของกรุงเทพ มาทาบทับอย่างไม่แนบสนิทกับใบหน้าของตัวละครที่ไม่ได้สวยหล่อ หากกร้านเซียวและป่วยไข้ แต่ละบทถูกแบ่งด้วยโทนสีที่แตกต่างกันไป สีเหลืองเรืองไฟแรงเทียนในบทแรก เขียวตองแบบท้องทุ่งในบทที่สอง สีนีออนม่วงชมพูของหมู่เกาะในบทที่สาม สีเขียวเรืองของความหวังในบทที่สี่ และส้มแดงของเลือดและไฟในบทสุดท้าย แสงไฟของเมืองฉาบลงบนสีเปล่าเปลือยของตัวละคร ท่ามกลางทัศนียภาพอันแออัดตัดพาดข้ามกรอบภาพแต่ละภาพ
แม้หนึ่งในสามของหนังสือจะทำหน้าที่เป็นเกร็ดบันทึกประวัติศาสตร์มากพอๆ กับการเล่าเรื่อง และน่าเสียดายอยู่ไม่น้อยที่ในการแปลผู้แปลเลือกภาษาไทยกลางแนมลาวเป็นคำๆ มันอาจจะไม่ใช่เรื่องผิด แต่คิดว่าหากบทสนทนาทั้งหมดแปลแบบ ‘ปากลาว’ มันน่าจะทรงพลังมากขึ้นมากทีเดียว
อย่างไรก็ดี ส่วนที่ทรงพลังที่สุดในงานชิ้นนี้ไม่ใช่สิ่งที่พูดได้ แต่คือสิ่งที่พูดไม่ได้ ตลอดทั้งเล่ม บางข้อความถูกขีดฆ่าออกอย่างจงใจ และเดาได่้ว่าเป็นการขีดฆ่าเฉพาะฉบับที่ขายในประเทศไทย แถบสีดำมืดสนิทกลางหน้ากระดาษสีขาวกลับสว่างจ้า ไม่ต่างกับอาการตาสว่างของชายตาบอด กำแพงที่ปรากฏตัวขึ้นตรงหน้า
ตาสว่าง จบลงหลังจากการจบสิ้นของการชุมนุมเสื้อแดงไม่นานนัก จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของคนชั้นล่าง ตาสว่าง จบลงโดยการเมืองบทใหม่ในระยะเวลาสิบปีหลังมานี้ยังไม่ได้เริ่มขึ้น การถูกทำลายล้างความหวังจากคนที่นกเชื่อมั่น ดูเป็นตอนจบที่เพื่อชีวิตมากๆ น่าเสียดายและน่ายินดีที่เรื่องจบลงตรงนี้ เพราะหลังจากนกปลดแอกตัวเองจากการเป็นเพียงตัวละครแบบสาธกนิยายของการถูกกดขี่ของคนเมือง มีเรื่องราวอีกมากมายเกิดขึ้น มีการรัฐประหาร มีการไม่ชำระประวัติศาสตร์มีการเลือกตั้งและมีพลังแบบใหม่ๆ เข้ามาในสนามพลังที่จะเปลี่ยนทัศนียภาพของวรรณกรรมเพื่อชีวิตไปตลอดกาล ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ แต่พลังใหม่ๆ เหล่านั้น เกิดขึ้นมาจากความพ่ายแพ้ของนก และเพื่อนร่วมชะตากรรมของเขาจำนวนมากที่ถูกทำให้ลืม แต่ไม่ถูกลืม เพราะผู้คนได้ลืมตาขึ้นสู้แสงจ้าแล้วตอนนี้
Fact Box
ตาสว่าง แปลจาก Il Re di Bangkok
เขียน: Claudio Sopranzetti, Sara Fabbri, Chiara Natalucci
แปล: นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ
สำนักพิมพ์: อ่านอิตาลี