อีกเพียงไม่กี่วัน เราก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2019 แล้ว นับเป็นช่วงเวลาที่ชวนให้เรามองย้อนทบทวนว่าตลอด 300 กว่าวันที่ผ่านมา เราได้พานพบอะไรบ้าง สูญเสียอะไรบ้าง และเติบโตอย่างไรบ้าง น่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าปี 2018 เป็นที่แสนโหดร้ายและอยากให้จบลงเร็วๆ เพื่อจะได้ก้าวเข้าสู่ปี 2019 เสียที ไม่ก็รู้สึกว่าปี 2018 เป็นปีทองจนไม่อยากให้จบลง เพราะกลัวปี 2019 จะนำความไม่แน่นอนมาสู่ชีวิต

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เราคงเลี่ยงบอกลาปี 2018 และต้อนรับปี 2019 ไม่ได้

สัปดาห์นี้ เราจะไปดูสำนวนในภาษาอังกฤษที่เราอาจนำมาใช้ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ได้

Out with the old, in with the new!

สำนวนนี้แปลตรงตัวได้ทำนองว่าเอาของเดิมออกไป เอาของใหม่เข้ามา เรียกแบบไทยๆ ก็คือ เก่าไป ใหม่มา สำนวนนี้เรามักจะได้ยินบ่อยเป็นพิเศษในช่วงปีใหม่เพราะเป็นช่วงที่หลายคนถือเอาเป็นฤกษ์งามยามดีในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ หน้าที่การงาน ไปจนถึงนิสัยและพฤติกรรมต่างๆ ของตัวเอง

สำนวนที่ใช้ได้กับทั้งสิ่งของที่จับต้องได้จริงๆ เช่น โละปรินเตอร์เก่าเพื่อซื้อเครื่องใหม่ไฉไลมาใช้ สิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างนิสัย หรือแม้แต่สภาวะแวดล้อมรอบตัวเราก็ได้ ตัวอย่างเช่น สมมติว่าขึ้นปีใหม่นี้ เราตัดสินใจจะเลิกกับแฟนที่คบหาดูใจกันมานานเพื่อไปเลื่อนขั้นความสัมพันธ์กับกิ๊กให้ขยับขึ้นมาเป็นแฟน เราก็อาจจะพูดว่า Out with the old, in with the new. ก็ได้

Let bygones be bygones.

คำว่า bygone ในที่นี้หมายถึง What has gone by หรือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว จะใช้เป็นคุณศัพท์ขยายหน้านามเช่น a bygone age (ยุคที่ผ่านพ้นไปแล้ว) ก็ได้ หรือจะใช้เป็นคำนามหมายถึงเรื่องราวที่ผ่านไปแล้วก็ได้เช่นกัน

ดังนั้น สำนวนนี้จึงแปลว่า อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ขอให้ผ่านไป ทำนองว่าอย่าฟื้นฝอยหาตะเข็บ รื้อฟื้นเรื่องราวที่จะทำให้ขุ่นเคืองใจ นับว่าเป็นสำนวนที่อาจจะพอปรับใช้กับช่วงเทศกาลปีใหม่ได้บ้าง หากใครทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนฝูงในช่วงปีที่ผ่านแล้วอยากสิ้นสุดความบาดหมางเพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ในปี 2019 นี้ ก็อาจจะบอกเพื่อนว่า Let bygones be bygones. หมายถึง เรื่องที่ผ่านมาก็ขอให้ผ่านไป

อีกสำนวนที่ใกล้เคียงกันคือ Let sleeping dogs lie. แปลตรงตัวก็คือ ถ้าหมาหลับอยู่ก็ปล่อยมันหลับไป อย่าไปปลุกมันขึ้นมา เมื่อนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยจึงหมายถึง เรื่องราวที่จบไปแล้วก็อย่าไปรื้อฟื้นให้เกิดความบาดหมางใจกัน ให้ปล่อยผ่านไป นั่นเอง

Well begun is half done.

สุภาษิตนี้แปลความหมายตรงตัวได้ว่า เริ่มต้นดีก็เสร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว เทียบได้กับสำนวนที่เราคุ้นหูว่า เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง สุภาษิตนี้ว่ากันว่ามีใช้มาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณและพบในหนังสือ Politics ของอริสโตเติลด้วย

ปกติแล้วเรามักจะได้ยินสุภาษิตนี้เวลาที่คนพูดถึงการเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ เช่น เปิดกิจการใหม่ เริ่มต้นทำโปรเจ็กต์ใหม่ เป็นต้น มีความหมายว่า หากวางรากฐานตอนเริ่มต้นให้ดีแล้ว สิ่งที่เราทำก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จหรือราบรื่นยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น หากเพื่อนของเราอยากหันมาดูแลสุขภาพในปี 2019 และตัดสินใจสมัครยิมเพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย เราก็อาจจะให้กำลังใจเพื่อนด้วยการบอกว่า Well begun is half done. ก็คือ เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่งแล้วจ้ะเพื่อน

Hope for the best, and prepare for the worst.

สำนวนนี้ความหมายค่อนข้างตรงตัว คือ ให้มีความหวังว่าจะเกิดสิ่งดีๆ ขึ้นในอนาคต แต่ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจจะขึ้นไว้ด้วย ทำนองว่าให้มองโลกในแง่ดี แต่ไม่ใช่โลกสวยจนประมาทเผลอเรอคิดไปว่าจะไม่มีเรื่องเหนือความคาดหมายเกิดกับเรา

สำนวนนี้มักใช้เวลาที่เรากำลังรอดูว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น มีคนใกล้ตัวป่วยเป็นมะเร็งแล้วยังไม่รู้ว่าทำคีโมแล้วเซลล์มะเร็งจะหมดไปไหม ปีใหม่ไปสัมภาษณ์งานใหม่มาแล้วกำลังรอลุ้นว่าจะได้งานไหม หรือสารภาพรักกับคนที่แอบชอบไปแล้วยังไม่รู้ว่าเขาจะตอบอย่างไร ในกรณีแบบนี้ เราก็อาจใช้สำนวน Hope for the best, and prepare for the worst. ได้ทั้งสิ้น

Count your blessings

สำนวนนี้แปลตรงๆ ได้ทำนองว่า ให้นับโชคหรือสิ่งดีๆ ในชีวิตตัวเอง เป็นสำนวนที่ใช้เพื่อบอกให้รู้จักพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมี ให้ระลึกว่าแม้ชีวิตจะพบเจอแต่อุปสรรคหรือเรื่องเลวร้ายจนรู้สึกว่าไม่มีอะไรดีๆ เลย แต่หากเราลองนั่งคิดดูดีๆ แล้วก็จะพบว่ายังมีอะไรหลายๆ อย่างที่นับเป็นความโชคดีได้

สำนวนนี้เหมาะกับหลายๆ คนที่รู้สึกว่าปี 2018 เป็นปีชง อะไรๆ ก็เลวร้ายไปเสียหมด อยากให้ปีนี้ผ่านพ้นไปเสียที แต่อันที่จริงหากเรามองดูดีๆ อาจจะพบว่าเรายังมีสิ่งดีๆ ในชีวิตอยู่บ้างก็ได้ เช่น แม้เราจะตกงาน แฟนทิ้ง ถังแตก สุขภาพย่ำแย่ แต่ก็อาจยังโชคดีที่มีครอบครัวที่รักและคอยสนับสนุนเราอยู่เสมอ เป็นต้น เพื่อนเราก็อาจจะบอกว่า I know this year has been tough for you, but don’t forget to count your blessings.

 

 

บรรณานุกรม

  • Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
  • Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • Oxford Advanced Learners’ DictionaryShorter Oxford English Dictionary
  • Speake, Jennifer. Oxford Dictionary of Proverbs. Oxford University Press: Oxford, 2008.
  • Taggart, Caroline. An Apple a Day: Old-fashioned Proverbs and Why They Still Work. Michael O’ Mara Books: London, 2009.
Tags: , ,