“ฝนตกเคลือบสายไฟฟ้า แสงไฟเคลือบความเสียใจ ความไม่ไยดีที่มนุษย์มีให้แก่กันแต่ก็ดันอยู่ด้วยกันแบบนั้นมานานแล้ว ตกจักๆ ไปพร้อมกับแสงสีฟ้าเหลือบปลาย ดับหายเหมือนพลุราคาถูก วรรณกรรมที่เขียนจากกรรม สวนสนุกของนักเขียนผู้ไม่มีอะไรจะพูดนอกเสียจากว่าชีวิตนี้เสียอะไรไปแล้วบ้าง”

— หน้า 103

นี่คือข้อเขียนของคนเหงา หนังสือของคนเหงาที่รอคอยให้ถูกค้นพบว่าเหงา คนเหงาที่นอกจากจะเป็นคนเหงายังเป็นคนที่แอบรักเขาข้างเดียว คนเหงาที่ในบางทีก็มีคนมาแอบรักและชอบให้เขาแอบรัก แต่กลับชอบแสดงออกว่ารังเกียจเดียดฉันท์ความรู้สึกรักๆ เหล่านั้นเสียเหลือเกิน

หญิงสาวนับสิบคนที่ปรากฏตัวในหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ล้วนแล้วแต่ยืนอยู่บนเส้นบางๆ ระหว่างความเกลียดผู้ชายบางจำพวก แต่ก็แซวนิสัยที่ไม่ค่อยดีของตัวเองที่รังเกียจผู้ชายจำพวกนั้น ระหว่างการเป็นผู้หญิงที่ต้องการผู้ชาย แต่ก็สับสนว่าจะรู้สึกยังไงระหว่างรังเกียจเขาหรือรำคาญตัวเอง และระหว่างการแอบรักที่ถูกทำให้โรแมนติกเพราะความรักนั้นเกิดขึ้นจริงไม่ได้ แต่ก็อยากให้เกิดขึ้นจะตาย ช่างหัวความโรแมนติกนั่นเถอะ

I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างบนกลีบดอกปอกเปิก เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มที่สองของ Mind Da Hed ประกอบไปด้วยเรื่องสั้นขนาดสั้นกว่า 20 เรื่องที่จบในตัว ประกอบขึ้นด้วยตัวละครผู้หญิงและผู้ชายที่ส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว ส่วนวัยกลางคนนั้นปรากฏขึ้นในฐานะแม่และญาติผู้ใหญ่ผู้มีอิทธิพลทางความคิดของตัวละครหนุ่มสาวเหล่านั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเหล่านั้นคือเรื่องของความรัก ความสัมพันธ์ การแอบรัก และเงาสะท้อนของตัวตนเมื่อได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ล้วนแล้วแต่เป็นเพศตรงข้ามทั้งสิ้น

“น้าสาวขำเมื่อเธอตีกระโปรงเป็นเด็กๆ เปิดกล้องหน้าขึ้นมาส่องว่าอายไลเนอร์ยังอยู่ดี อีกสองชั่วโมงข้างหน้าเธออาจจะสบตาเขาอยู่ได้ครู่เดียวแล้วก็หลบไปเมื่อความจริงมันจ้องกลับมาแรงเกิน เหมือนมีเลเซอร์จี้ปลายริบบิ้น ปลายตะเข็บเย็บรุ่ยของกระโปรงนอกรีด หางตาเปื้อนอายไลเนอร์ที่ดูก็รู้ว่าพังพอสมควร”

— หน้า 18

หญิงสาวในเรื่องสั้นเหล่านี้มักจะไขว่คว้าหาคำนิยามตัวเองผ่านทางเรื่องเล่า สิ่งของ บทกวี เพลง ภาพยนตร์ รวมถึงแนวคิดทางสังคมการเมืองที่ลอยเคว้งอยู่ในสังคมเมืองในประเทศไทยตอนนี้ วัตถุจำนวนมากถูกใช้อธิบายความเป็นมนุษย์ ความเป็นผู้หญิง และความเป็นผู้ชาย

แต่ในทางกลับกัน วัตถุจำนวนมากนั้นกลับมีสถานะของผู้กระทำ ผู้เขียนใช้บุคลาธิษฐานเรื่อยเปื่อย แต่ในขณะเดียวกันก็แหกกฎ มอบอำนาจให้สิ่งของและสัตว์ทำกริยาต่างๆ ดั่งมนุษย์ จนหนังสือเล่มนี้กลายเป็นโลกที่สิ่งของและสัตว์มีอำนาจในการเดินเรื่องเดินราว และเมื่อประกอบกับภาษาที่ไม่เรียบง่ายและเรียกได้ว่า ‘เยอะ’ จนต้องอ่านทวนประโยคอยู่หลายครั้ง ก็ทำให้งานชิ้นนี้โดดเด่นออกมาจากเรื่องสั้นไทยร่วมสมัยในตลาด ส่วนจะดีไม่ดีหรือชอบไม่ชอบนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง

“แต่เขาก็ควานหามาจนเจอแท่งที่มัน mediocre มากๆ แบบเธอได้ ไม่คลาสสิกแบบแลนเซอร์ แต่อ๊องเอ๋ออยู่ในเหล่า 15-20 บาทแน่นอนว่าไม่ลามี่ นั่นอยู่ในตู้ สำหรับคนลงทุนกับของหนักและต้องซื้อหมึกตระกูลเดียวกันด้วยธนบัตรสีเทาของรัชกาลใหม่”

— หน้า 155

และเหมือนจะยังไม่พอ ผู้เขียนยังใช้คำภาษาอังกฤษฟุ่มเฟือยอย่างยิ่งระดับที่ในทุกสองหน้าจะต้องมีอยู่อย่างน้อยคำหนึ่ง ถึงกระนั้นอาจเรียกได้ว่าความฟุ่มเฟือยนี้แปลกใหม่ เหมือนลิ้มรสความขมที่โคนลิ้น แต่เป็นความขมที่ดี สะท้อนจริตของคนรุ่นใหม่สมัยนี้ที่มักจะใช้สองภาษาสลับกันจนเป็นธรรมชาติในความไม่เป็นธรรมชาติ ผู้เขียนไม่ประนีประนอมกับคนที่ไม่รู้ภาษาที่สองและยืนยันจะใช้มันถึงแม้จะมีคำภาษาไทยที่ไม่แปร่งหูให้ใช้ การเขียนด้วยวิธีแบบนี้น่าสนใจ แต่ใช่ จะชอบหรือไม่ชอบก็อีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้นความท้าทายหนึ่งในการอ่านข้อความที่ยกมารวมถึงแทบทุกบททุกตอนของหนังสือเล่มนี้คือการต้องแปลอังกฤษเป็นไทย แปลไทยเป็นไทย การต้องตีความสองชั้นจึงจะเข้าใจหรืออาจยังไม่เข้าใจอยู่ดี เพราะตัวอักษรของผู้เขียนนั้นภักดีแค่กับเธอ แต่ไม่ใช่ผู้อ่านอีกจำนวนหนึ่งรวมถึงเราด้วย นี่คือสิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ทั้งอ่อนด้อยและแข็งแรง ทั้งน่าหงุดหงิดและน่าหัวร่อ ทั้งน่ารำคาญและน่าพูดถึงในเวลาเดียวกัน

“อ่อ

เธอสร้างเขาขึ้นมาแบบนั้น

อนาโตมีเหมือนโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน

หมอนนิ่มแห่งยุคสมัย ไพเราะจนวรรณยุกต์ตกใจผันตัวไปเป็นพวก Non-existentialist”

— หน้า 123

สำหรับเราแล้ว การสื่อสารยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการเขียนไม่ว่าจะเป็นการเขียนชนิดใด หากเราพูดถึงวรรณกรรม แน่นอนว่าความสวิงสวายและหกคะเมนตีลังกาของภาษาเพื่อเป้าหมายอื่นๆ ก็สำคัญเช่นกัน แต่ก็ยังมิอาจเอาชนะเป้าหมายทางการสื่อสารไปได้ หากในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนดูจะไม่ได้มีเป้าหมายเดียวกันกับเรา เธอดูจะมีเป้าประสงค์ที่จะบันทึกอารมณ์ที่คุ้มคลั่ง พรั่งพรู และฟูมฟายเอาไว้ ก่อนจะแจกจ่ายมันให้กับผู้อ่านมากกว่า

แต่สำหรับคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทางอารมณ์ร่วมกับผู้เขียน อารมณ์ความรู้สึกที่ถูกส่งออกมาอาจถูกวางกองอยู่ตรงนั้นตั้งแต่ตอนที่อ่านจบแต่ละบท อาจเป็นนิสัยของเราเองที่หากจะจดจำอะไรในงานเขียน ก็มักจะจดจำสารัตถะของเรื่องเล่าอย่างที่ได้กล่าวถึงความเหงาและปฏิกิริยาต่อความรักในตอนต้น มากกว่าก้อนอารมณ์ ฉากหลัง หรือสำนวนภาษาที่แปลกแปร่ง

ในตอนแรกนั้น เราตั้งข้อสังเกตว่า ภาษาที่อ่านไม่ใคร่จะรู้เรื่องนั้นอาจเป็นสารัตถะของเรื่องก็ได้ แต่เมื่อคิดทบทวนดู เราคิดว่ามันเป็นเอกลักษณ์ แต่ไม่ใช่สารัตถะ และเอกลักษณ์ที่ว่านั้นก็ใหญ่โตจนอาจกลบสารัตถะของเรื่องเล่าไป และที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญสำหรับเรา แต่เพียงแค่เราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้จดจำมันในระยะยาวเท่านั้นเอง

Tags: