เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนสุดของทวีปอเมริกาใต้ ประเทศที่มีประชากรราว 32 ล้านคนนี้มีชื่อปรากฏในหน้าข่าวถี่ขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั้งจากความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการเสียชีวิตของอดีตประธานาธิบดีอูโก้ ชาเวซ และจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง
เงินเฟ้อขั้นรุนแรงคืออะไร?
คนส่วนใหญ่คงคุ้นเคยกับเงินเฟ้อดีอยู่แล้ว เงินเฟ้อเป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราสามารถดูการเปลี่ยนแปลงระดับราคาหรือเงินเฟ้อได้จากดัชนีราคาผู้บริโภค
ตัวอย่างกรณีของไทยเช่น ในปี 2535 ดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ที่ประมาณ 50 ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 100 นั่นหมายความว่า สินค้าและบริการโดยทั่วไปแพงขึ้นสองเท่าในระยะเวลา 25 ปี (เช่น ราคาก๋วยเตี๋ยวเพิ่มขึ้นจาก 20 บาทเป็น 40 บาท) ขณะที่เงินเฟ้อขั้นรุนแรง (hyperinflation) ดังเช่นกรณีของเวเนซุเอลานั้น ระดับราคาสินค้าจะเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่ามาก กล่าวคือ ระดับราคาสินค้าในเวเนซุเอลานั้นเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวโดยใช้เวลาเพียงแค่สองสัปดาห์เศษเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังห่างไกลกับเงินเฟ้อขั้นรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ระดับราคาสินค้าในฮังการีเคยเพิ่มสูงขึ้นสองเท่าในระยะเวลา 15 ชั่วโมง (เช่น เราซื้อข้าวราดแกงด้วยราคา 40 บาทตอนหกโมงเย็น แต่ต้องใช้เงิน 80 บาทเพื่อซื้อข้าวราดแกงแบบเดิมตอนเก้าโมงเช้า) แน่นอนว่าเรื่องเลวร้ายไม่ได้จบลงแค่นั้น เพราะสภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นยาวนานราวหนึ่งปีตั้งแต่ช่วงกลางปี ค.ศ.1945 ถึงกลางปี ค.ศ.1946 ราคาข้าวของที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมโหฬารนี้ทำให้ฮังการีต้องพิมพ์ธนบัตรที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ธนบัตรใหญ่ที่สุดคือ 1,000 เพ็นโก (pengo) กลายเป็น 10^20 เพ็นโก (เลข 1 ตามด้วยเลข 0 จำนวน 20 ตัว) และลงเอยด้วยการสร้างเงินสกุลใหม่ขึ้นมาใช้ทดแทนในที่สุด
เกิดอะไรขึ้นที่เวเนซุเอลา?
กลับมาที่เวเนซุเอลา ภาวะเงินเฟ้อในเวเนซุเอลานั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว ก่อนที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศจะพุ่งขึ้นจนเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในปี ค.ศ. 2014 และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเงินเฟ้อขั้นรุนแรงซึ่งดูไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ
นักเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ประมาณการว่า ในช่วงกลางปี ค.ศ. 2015 นั้น อัตราเงินเฟ้อในเวเนซุเอลาสูงเทียบเท่าอัตราเงินเฟ้อราว 800% ต่อปี (ราคาสินค้าแพงขึ้นแปดเท่าในหนึ่งปี) ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2017 อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3,500% ต่อปี ส่วนตัวเลขประมาณการล่าสุดตอนสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น อัตราเงินเฟ้อสูงเกินกว่า 30,000% ต่อปี ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF มองโลกในแง่ร้ายกว่านั้นมาก โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งถึง 1,000,000% เมื่อถึงสิ้นปีนี้
ภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงส่งผลกระทบต่อประชาชนเวเนซุเอลาอย่างไม่ต้องสงสัย ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงสวนทางกันกับอำนาจการซื้อของผู้คน ค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละเดือนเพียงพอที่จะซื้ออาหารแค่ 1 ใน 10 ของอาหารที่จำเป็นสำหรับคนแค่คนเดียวเท่านั้น ขณะที่ร้านค้าบางแห่งถึงกับเลิกติดป้ายราคาสินค้าเนื่องจากราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงสวนทางกับอำนาจการซื้อ ค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละเดือนเพียงพอที่จะซื้ออาหารแค่ 1 ใน 10 ของอาหารที่จำเป็นสำหรับคนคนเดียว
เมื่อเกิดความไม่แน่นอนว่าราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นมากเพียงใด ผลที่ตามมาคือการกักตุนสินค้าหลายชนิด และกลายเป็นการขาดแคลนข้าวของจำเป็นในที่สุด โดยเฉพาะสินค้าที่มีการควบคุมราคา เช่น นม เนื้อสัตว์ กาแฟ ข้าว รวมถึงยารักษาโรค ประชาชนที่รอซื้อสินค้าเหล่านี้อาจต้องกลับบ้านมือเปล่าแม้จะต่อคิวนานหลายชั่วโมง ชาวเวเนซุเอลาหลายคนยังคงอดทนต่อไป แต่อีกหลายคนทนไม่ไหว จากตัวเลขของสหประชาชาตินั้น ตั้งแต่ ค.ศ. 2014 เป็นต้นมามีชาวเวเนซุเอลาราวสองล้านคนที่ต้องอพยพหนีภัยเศรษฐกิจไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น โคลอมเบียและชิลี
ช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นยังแพงขึ้นไม่หยุด ตัวอย่างเช่น ราคากระดาษทิชชูหนึ่งม้วนในกรุงการากัสเท่ากับ 2.6 ล้านโบลิวาร์ (strong bolívar) ซึ่งต้องใช้ธนบัตรหนักราว 2.6 กิโลกรัมในการซื้อขาย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร จึงออกนโยบาย “สูตรยาเทวดา” เริ่มจากการสั่งหยุดราชการเพื่อประกาศใช้เงินโบลิวาร์สกุลใหม่ (sovereign bolívar) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 2018 โดยการตัดเลข “0” ออกจากเงินสกุลเดิมห้าตัว และผูกค่าเงินไว้กับเงินเปโตร (เงินคริปโตของรัฐบาลที่หนุนหลังโดยน้ำมันสำรอง) ตามมาด้วยการเปลี่ยนนโยบายการอุดหนุนราคาน้ำมัน และเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมากกว่า 30 เท่า
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์กลับไม่สู้ดีนัก เพราะในวันแรกหลังจากประกาศใช้เงินสกุลใหม่ ประชาชนกลับถอนเงินจากตู้ ATM ได้เพียงแค่คนละ 10 โบลิวาร์ (ประมาณ 6 บาท) เท่านั้น นอกจากนี้ สื่อในโลกตะวันตกส่วนใหญ่ยังคงไม่เชื่อว่า เมนูนโยบายดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรงของเวเนซุเอลาได้ เพราะสาเหตุหลักคือ ไม่มีใครเชื่อมั่นในรัฐบาลของประธานาธิบดีมาดูโรต่างหาก
อะไรคือสาเหตุหลักของปัญหา?
เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก เศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับน้ำมันเป็นสำคัญ เพราะจีดีพีราวหนึ่งในสาม ครึ่งหนึ่งของรายรับรัฐบาล และ 90% ของการส่งออกล้วนมาจากน้ำมัน
ที่ผ่านมารัฐบาลชาเวซได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่สูงอย่างต่อเนื่อง และใช้จ่ายเงินไปกับแผนงานด้านสังคมต่างๆ อย่างมหาศาล อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 2014 เมื่อราคาน้ำมันตกลงฮวบฮาบ ฝันร้ายก็เริ่มต้นขึ้น รายได้จากน้ำมันที่ลดลงหมายถึงรายรับที่น้อยลง และหมายถึงการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศสำหรับการนำเข้าสินค้าจำเป็น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจึงลดลงจากประมาณสามหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือเพียงหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลาไม่กี่ปี ขณะที่หนี้ต่างประเทศก็พอกพูนจนสูงกว่าเงินทุนสำรองเกินกว่าสิบเท่าตัว
ความสามารถในการบริหารจัดการปัญหาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีมาดูโรตกอยู่ภายใต้เครื่องหมายคำถาม ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบาย โดยเฉพาะการควบคุมราคาสินค้าและอัตราแลกเปลี่ยน ยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก นอกจากนี้ ภาคการผลิตที่มีรัฐวิสาหกิจดำเนินการแทนภาคเอกชนก็ไร้ประสิทธิภาพ รวมถึงแขนขาหลักอย่าง PDVSA ซึ่งเป็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่อยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ถูกยึดคืนมาเป็นของรัฐในปี ค.ศ. 2007 ทางออกจากวิกฤตเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาจึงมืดมนเต็มที
เงินเฟ้อในประเทศไทย
ตรงกันข้ามกับเวเนซุเอลา อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำมาตลอด ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีปีใดเลยที่อัตราเงินเฟ้อแตะตัวเลขสองหลัก (ครั้งสุดท้ายที่อัตราเงินเฟ้อของไทยขึ้นเกิน 10% คือช่วงวิกฤติน้ำมันครั้งที่ 2 ในปี 2524) ขณะที่ในช่วง 10 ปีหลังสุดนั้น อัตราเงินเฟ้อสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 5% เศษเท่านั้น และในบางปี อัตราเงินเฟ้อถึงขั้นติดลบด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำมากไปก็ไม่ใช่เรื่องดีเช่นกัน โดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนา เพราะอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไปนั้นอาจสะท้อนว่า อุปสงค์ภายในประเทศไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งแสดงความเห็นว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงินมาโดยตลอด และมีแนวโน้มกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ช้าลง อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไปเช่นนี้เพิ่มโอกาสที่จะเกิดภาวะเงินฝืดในระยะยาว และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงและยืดเยื้อได้
ไทยอาจ “โชคดี” ที่ไม่เคยมีเงินเฟ้อขั้นรุนแรงแบบเวเนซุเอลา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่มีอะไรที่เราควรกังวล.
Tags: เงินเฟ้อ, เวเนซุเอลา, เงินเฟ้อขั้นรุนแรง, hyperinflation, Venezuela, วิกฤตเศรษฐกิจ