ผมนั่งเลื่อนเว็บ Interactive เรื่อง Coronavirus cases in Singapore: What we know so far ของสำนักข่าว The Straits Times ขึ้นลงอยู่หลายรอบ ทั้งตื่นเต้นกับข้อมูลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในสิงคโปร์ที่ถูกเรียบเรียงให้เข้าใจง่าย ว่าผู้ป่วยทั้งหมดจัดแบ่งเป็นประเภทอะไรบ้าง ผู้ป่วยรายที่เท่าไรเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยรายอื่นอย่างไร และทั้งประหลาดใจว่าทำไมสำนักข่าวของสิงคโปร์ถึงสามารถจัดทำอินโฟกราฟิกชุดนี้ขึ้นมาได้

ผมเริ่มจากเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ สิ่งที่เห็นเป็นอย่างแรกคือแบนเนอร์เรื่อง “Updates on COVID-19” ด้วยฟอนต์สีขาวขนาดเขื่องบนพื้นหลังภาพโคโรนาไวรัสระดับกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนสีน้ำเงินขนาดใหญ่เต็มจอ กลบข้อมูลข่าวสารอื่นหมด (ต้องเลื่อนลงไปอ่านอีกที) บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ข้อความเล็กๆ ด้านล่าง “Click here for the latest update” ชวนผมกดเข้าไปดูต่อ

ภาพที่ 1 หน้าเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์

การชี้แจงข่าวลือ 

เมื่อเข้ามาในหน้า “Local Situation” ที่พูดถึงสถานการณ์การระบาดในสิงคโปร์ จะพบกับประกาศเตือนสีเขียวที่มีเครื่องหมายตกใจนำหน้าว่าเป็นการชี้แจงข่าวลือ (Clarifications On Misinformation) ยกตัวอย่าง “วันที่ 28 ก.พ. สธ.ตรวจพบการกระจายข่าวบนสังคมออนไลน์ว่ามีพนักงานชาวต่างชาติเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในสิงคโปร์ ซึ่งไม่เป็นความจริง เธอได้รับการตรวจหาเชื้อและผลเป็นลบ โดยจนถึงวันที่ 28 ก.พ. ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในสิงคโปร์” 

ภาพที่ 2 หน้าสถานการณ์การระบาดภายในประเทศ เริ่มต้นจากการชี้แจงข่าวลือก่อน

สรุปจำนวนผู้ป่วย และระดับการตอบโต้การระบาด

ถัดลงมาเป็นรายงานสรุปจำนวนผู้ป่วยในสิงคโปร์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่กำลังรักษา (active cases) และกลุ่มที่สิ้นสุดการรักษาแล้ว ซึ่งกลุ่มแรกจะแบ่งย่อยเป็นอาการคงที่ (stable) และอาการวิกฤต (critical) ส่วนกลุ่มหลังจะแบ่งย่อยเป็นกลับบ้าน (discharged) และเสียชีวิต (death) จะสังเกตว่าเป็นตารางที่มีความเรียบง่าย และใช้สีแดง-เขียวของตัวเลขในการบ่งบอกความรุนแรง

ถัดลงมาอีกเป็นการแจ้งระดับการตอบโต้การระบาด (DORSCON: Disease Outbreak Response System Condition) ซึ่งใช้สีในการบอกระดับสถานการณ์ของการระบาดภายในประเทศ 4 ระดับ ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง โดยในขณะนี้จัดเป็น “สีส้ม” หมายถึงโรคมีความรุนแรง และติดต่อจากคนสู่คนได้ง่าย แต่ยังไม่แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ซึ่งคำนิยามนี้คล้ายกับ “การระบาดระยะที่ 2” ที่ใช้ในประเทศไทย

ภาพที่ 3 ระดับการตอบโต้การระบาดในแต่ละระดับ โดย “สีส้ม” ประชาชนจะต้องปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมโรค ส่วน “สีแดง” ประชาชนจะต้องแยกตัวออกจากสังคม (social distancing) ด้วยการหลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด

กระดานสถานการณ์  

นอกจากการสรุปสถานการณ์ผู้ป่วยในรูปแบบตารางแล้ว ในเว็บไซต์ยังสามารถเลือกติดตามสถานการณ์เป็นหน้ากระดาน (dashboard) ได้ด้วย โดยในรูปที่ 4 จะสามารถเห็น “แนวโน้ม” จำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล (กราฟแท่งสีส้ม) จำนวนผู้ป่วยสะสม (กราฟเส้นสีน้ำเงิน) จำนวนผู้ป่วยกลับบ้านสะสม (สีเขียว) รวมถึงแยกจำนวนผู้ป่วยยืนยัน และจำนวนผู้ป่วยกลับบ้านรายวันให้ด้วย (กราฟแท่งสีน้ำเงิน และสีเขียวตามลำดับ)

อีกทั้งด้านขวามือยังมีรายละเอียดของผู้ป่วย เรียงตามหมายเลขที่ประกาศ ซึ่งสามารถคลิกเลือกอ่านได้ และเชื่อมโยงไปยังข่าวประชาสัมพันธ์ (press release) ฉบับนั้นๆ ได้ แต่สังเกตว่าสิงคโปร์ไม่ได้รายงานจำนวนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวน (PUI: patient under investigation) 

ภาพที่ 4 กระดานติดตามสถานการณ์ภายในประเทศ 

ข่าวประชาสัมพันธ์ และข้อมูลผู้ป่วย

กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ออกข่าวประชาสัมพันธ์ (press release) ทุกวัน โดยจะสังเกตว่ามีการเรียบเรียงเป็นประเด็นทีละข้อ และมีโครงสร้างเหมือนเดิมในแต่ละวัน เริ่มจาก 

  1. รายงานผู้ป่วยรายใหม่ เช่น “วันที่ 3 มี.ค. 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 2 ราย” 

  2. ความเชื่อมโยงระหว่างผู้ป่วยที่ผ่านมา เช่น “ผู้ป่วยจำนวน 6 คนที่ติดเชื้อภายในประเทศ (รายที่ 31, 33, 38, 83, 90 และ 91) รวมถึงรายที่ 8 และ 9 สัมพันธ์กับโบสถ์ The Life Church and Missions Singapore” 

  3. รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ป่วยอย่าง ‘ละเอียด’ เช่น “ผู้ป่วยรายที่ 109 เป็นชายสัญชาติสิงคโปร์วัย 70 ปี ไม่มีประวัติเดินทางไปยังประเทศหรือพื้นที่ที่มีการระบาด ปัจจุบันเขานอนรักษาตัวอยู่ในห้องแยกโรคที่โรงพยาบาล Singapore General Hospital” เท่านี้ยังไม่พอ เขายังให้ประวัติว่าเริ่มมีอาการวันที่ 25 ก.พ. และไปรับการรักษาที่คลินิกในวันที่ 27 และ 28 ก.พ. ต่อมาวันที่ 29 ก.พ. เขาไปตรวจที่ รพ. SGH จึงถูกแยกตัว และผลการตรวจยืนยันโรคโควิด-19 ออกมาในวันที่ 2 มี.ค. ตอนบ่าย 

นับว่าข่าวนี้มี ‘ความทันเวลา’ มาก เพราะประกาศออกมาในวันที่ 3 มี.ค. ซึ่งต่างจากไทยที่ต้องรอการประชุมของคณะผู้เชี่ยวชาญก่อน 2-3 วัน 

นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลด้วยว่า “ก่อนนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เขาไปทำงานที่ Fish Mart Sakuraya (151 West Coast Road) แต่ไม่ได้เสิร์ฟอาหารหรือประกอบอาหาร เขาพักอยู่ที่ Everton Park”

  1. ความคืบหน้าของอาการของผู้ป่วย ว่าผลการรักษาเป็นอย่างไร เช่น “ในผู้ป่วยจำนวน 32 รายที่นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่อาการคงที่หรือดีขึ้น”

  2. ความคืบหน้าของการติดตามผู้สัมผัส ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อสูง เช่น “จนถึงวันที่ 3 มี.ค. สธ. ได้ค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดจำนวน 3,173 คนซึ่งได้รับการกักกันโรค (quarantine) ซึ่งในจำนวนนี้ 336 คนยังอยู่ในระหว่างการกักกันโรค” 

  3. คำแนะนำด้านสุขภาพ สำหรับประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยว

ภาพที่ 5 ข่าวประชาสัมพันธ์ประจำวันที่ 3 มี.ค. 

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างสิงคโปร์กับไทยคือรายละเอียดของผู้ป่วย ตั้งแต่ “หมายเลขผู้ป่วย” ที่ไม่ได้ระบุว่าผู้ป่วยรายที่ … เป็นใคร ทำให้เวลาชี้แจงรายละเอียดกับประชาชนย้อนหลังลำบาก ยกตัวอย่าง “ผู้ป่วยที่เสียชีวิตรายแรกของไทย เป็นผู้ป่วยรายที่ … มีผู้ติดเชื้อจากผู้ป่วยรายนี้ … ราย ได้แก่ ผู้ป่วยรายที่ … และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ป่วยรายที่ …” (ถ้าใครสามารถอ่านข่าวเพื่อมวลชนของสำนักสารนิเทศ แล้วเติมคำในช่องว่างได้ถูกต้อง ผมขอนับถือมาก) ต่างจากของสิงคโปร์ที่สามารถอธิบายความเชื่อมโยงของผู้ป่วยแต่ละรายได้จากหมายเลขประจำตัว ซึ่งสื่อมวลชนก็สามารถนำไปทำอินโฟกราฟิกอธิบายให้กับประชาชนภายในประเทศได้อีกทางหนึ่ง

ภาพที่ 6 อินโฟกราฟิกกลุ่มก้อนผู้ป่วยที่ Grace Assembly of God จากเว็บ Interactive ของสำนักข่าว The Straits Times

ภาพที่ 7 อินโฟกราฟิกกลุ่มก้อนผู้ป่วยที่ Grace Assembly of God  ของสำนักข่าว Channel News Asia

นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเปิดเผยข้อมูล “สถานที่” ทั้งที่อยู่ และที่ทำงานของผู้ป่วยให้ทราบด้วย ทำให้เกิดความ “ตระหนัก” ถึงความเสี่ยงของประชาชนในพื้นที่นั้น ในขณะที่ไทยมองว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล (เหมือนแพทย์รักษาความลับของผู้ป่วย) และถ้าหากแถลงข่าวไปจะทำให้ประชาชนในพื้นที่นั้นเกิดความตื่น “ตระหนก” ยิ่งถ้าผู้ป่วยเกี่ยวข้องกับภาคเอกชนก็จะทำให้เจ้าของธุรกิจได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งในกรณีนี้ผมมองว่าถ้ารายละเอียดของสถานที่มีประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังโรคก็ควรจะแจ้งให้ประชาชนทราบด้วย ถึงแม้ว่าทีมสอบสวนโรคจะลงไปติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดแล้วก็ตาม

ภาพที่ 8 แผนที่ interactive ตำแหน่งผู้ป่วยในสิงคโปร์ 

กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์บอกประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ภายในประเทศอย่างละเอียด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ สื่อมวลชนสามารถนำไปต่อยอดเป็นอินโฟกราฟิกให้ประชาชนเข้าใจง่ายขึ้น โดยที่กระทรวงสาธารณสุขไม่จำเป็นต้องทำอินโฟกราฟิกเองด้วยซ้ำ ที่สำคัญประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล และน่าจะช่วยลดข่าวลือลงได้ เพราะประชาชนสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ซึ่งมีความทันเวลาและมีข้อมูลตอบข้อสงสัยของตน 

Tags: , , ,