คุณนิยาม ‘ความพิการ’ กันว่าอย่างไร คำนิยามนั้นกำหนดให้คนพิการกลายเป็นภาระของสังคม เป็นคนส่วนน้อย หรือเป็นคนโชคร้ายกันบ้างหรือเปล่า?

หากทุกครั้งที่คนเราจะนิยามสิ่งใด ก็กลับเอาความเป็นตนเองไปสวมทับสิ่งนั้น บ่อยครั้งความเป็นตนเองก็เป็นใหญ่จนเกินไป เช่นที่บางคนนิยาม ‘ความพิการ’ โดยมองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถของคนกับความสอดรับของสภาพแวดล้อม จนลืมไปว่า ต่อให้คนเราจะมีความสามารถมากแค่ไหน แต่หากสภาพแวดล้อมไม่เอื้อให้ใช้ชีวิต คนเหล่านั้นต่างก็ต้องแบกรับข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากสังคม

และเมื่อ ‘ความพิการ’ ในบ้านเราถูกนิยามให้มีความหมายแง่ลบมากกว่าแง่บวก เราอาจต้องคิดก่อนจะมองว่าใครเป็นคนพิการ เพราะส่วนหนึ่งคำนี้มาจาก ‘Disable’ ที่แปลว่าไม่สามารถ แต่ถ้าคนใดคนหนึ่งสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ เพียงแต่วิธีทำของคนคนนั้นต่างไปจากเรา จะถือว่าเขาเป็นคนพิการหรือไม่

เช่นนี้แล้วเราจึงไม่มอง สุดารัตน์ เทียรจักร์ หรือ องุ่น หญิงสาววัย 26 ปี ที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อ 13 ปีก่อน ว่าเป็นคนพิการ เพราะแม้เธอต้องอาศัยวีลแชร์ในการเคลื่อนที่ แต่ก็เดินทางไปถึงเป้าหมายของตนเองได้ไม่ต่างจากคนอื่น

ใน How deep is your dream หนังสือที่เธอเขียน องุ่นเผยเป้าหมายให้เรารู้ว่าเธออยากดำน้ำ เพราะร่างกายซึ่งมีความรู้สึกเพียงช่วงอกกับแขนนั้นชอบฝันว่าตนเองล่องลอยเสมือนว่ายืน เดิน และมองโลกในมุมมองของคนที่ลอยได้ ไม่ใช่มุมมองที่อยู่ต่ำกว่าคนอื่นขณะนั่งวีลแชร์เหมือนอย่างตอนลืมตา รวมถึงความอยากไปทะเล เนื่องจากเธอเกิดในจังหวัดแพร่ซึ่งมีแต่ป่ากับภูเขา

องุ่นทำตามความฝันโดยไม่ลืมความจริงว่า การดำน้ำนั้นต้องอาศัยสุขภาพ  เงิน และเธอพยายามทำทุกอย่างให้ได้มาซึ่งสองนั้นด้วยตนเอง จึงตัดสินใจเข้าร่วม ‘โครงการก้าวออกจากฝัน (แล้ว) สร้างสรรค์ให้เป็นจริง’ โครงการที่ทางเว็บไซต์พันทิป ร่วมกับสิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด จัดขึ้นเพื่อสร้างโอกาสให้กับคนธรรมดาได้บอกเล่าความฝันของตัวเอง และตามไปไขว่คว้าหาฝันนั้น

ถ้าคนใดคนหนึ่งสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ เพียงแต่วิธีทำของคนคนนั้นต่างไปจากเรา จะถือว่าเขาเป็นคนพิการหรือไม่

“ฉันไม่รู้ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร เมื่อเห็นคนพิการนั่งวีลแชร์มาแข่งขันชิงเงินรางวัลเพื่อออกเดินทาง แต่เวลาที่ฉันหันไปหาทุกคนแล้วได้รอยยิ้มและคำชื่นชมจากพี่ๆ นักเดินทางตามฝันคนอื่นๆ กลับมา ก็ทำให้ฉันมั่นใจขึ้นมาว่าฉันไม่ใช่ตัวแถม และไม่ได้มาอยู่ตรงนี้เพราะความสงสาร”

ขณะอ่านหนังสือเล่มนี้ เรารู้สึกเหมือนกำลังเปิดอ่านไดอารีของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่บันทึกความตั้งใจจะไปให้ถึงเป้าหมาย บางตอนเธอทำได้ดี บางตอนเธอก็ทำอะไรไม่ได้เลย หากสิ่งที่มั่นคงอยู่ในทุกตอนคือเธอมีความสุขที่ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเองที่ทำให้เราเผลอยิ้ม และร่วมสนุกไปกับเธอด้วยตลอดเล่ม

เธอผู้ชื่อเหมือนผลไม้คนนี้ยังแนะนำให้เรารู้จักกับครอบครัว นักเขียน นักผลิตสารคดี ครูสอนดำน้ำ และนักกายภาพบำบัด ผ่านภาษา ภาพถ่าย และการมองโลกอันมีเอกลักษณ์ของเธอ

“การได้เจออุปสรรคในสถานที่จริงทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่า อะไรที่ฉันคิดว่าทำได้ จริงๆ แล้วฉันทำได้แค่ไหน และอะไรบ้างที่ฉันยังทำไม่ได้ มันทำให้รู้จักชีวิตและข้อจำกัดของตัวเองมากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฉันอยากจะขยับตัว ออกกำลังกาย และทำกายภาพบำบัดเพื่อพัฒนาตัวเองมากยิ่งขึ้นไป”

แน่นอนว่าการรับบทเป็นคนพิการในบ้านเรานั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย ในเมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมไม่ได้รองรับ ‘ความพิการ’ ที่เป็นอีกหนึ่งความแตกต่าง

ถึงอย่างนั้น การดำเนินชีวิตขององุ่นใน How deep is your dream ก็สง่าสงามด้วยวิธีคิดและหัวใจที่ไม่เคยยอมแพ้ และชวนเราให้ยึดติดกับสภาพร่างกายภายนอกน้อยลง

FACT BOX:

  • How deep is your dream เป็นหนังสือจากสำนักพิมพ์บัน เครือ บจก. บันลือ พับลิเคชั่นส์ พิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2560
  • สุดารัตน์เคยออกหนังสือ พลังที่ซ่อนอยู่ สำนักพิมพ์ KOOB แล้วเมื่อปี 2558
  • ติดตามเธอได้ทาง Facebook/@studioAngun และ Instagram/a_ngun_st
Tags: , , , , , ,