สถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ที่เริ่มระบาดตั้งแต่ปลายปี 2562 ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อมากกว่าหนึ่งพันรายแล้ว ส่งผลกระทบและสร้างความวิตกไปทั่ว ในขณะเดียวกันรัฐก็ได้ออกมาตรการต่างๆ มามากมาย ทั้งปิดห้าง มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม การทำงานอยู่ที่บ้าน ห้ามไม่ใช่ผู้สูงอายุออกจากบ้าน รวมไปพ.ร.ก. ฉุกเฉิน

ซึ่งในขณะนี้ ทุกคนก็เริ่มที่จะหยุดอยู่กับบ้านหรือทำงานที่บ้านกัน ตามคำขวัญที่ว่า ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ ช่วยชาติ’ ว่าแต่สำหรับคนที่ไม่มีบ้านให้อยู่ อย่างคนไร้บ้านล่ะ พวกเขาจะต้องทำอย่างไร ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด- 19 นี้

ในปีที่ผ่านมามูลนิธิอิสรชน ได้ให้ข้อมูลถึงผู้ที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือคนไร้ที่พึ่งที่อยู่ในที่สาธารณะของกรุงเทพฯ ว่ามีจำนวนสูงถึง 4,392 คน เพิ่มขึ้น 363 คน หรือร้อยละ 10 จากปี 2561 โดยพบได้ส่วนมากที่หัวลำโพง สถานีรถไฟบางซื่อ สวนสาธารณะต่างๆ รวมไปถึงในเขตเมืองเก่า อย่างคลองหลอด เสาชิงช้า และในละแวกนั้น 

คนไร้บ้านก็เป็นอีกกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และมาตรการต่างๆ ที่รัฐออกมา โดยไม่รวมพวกเขาอยู่ในนั้นด้วย เรามีโอกาสติดตามมูลนิธิอิสรชน ที่ทำงานช่วยเหลือคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร ไปแจกอาหาร หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือที่ตรอกสาเก ถนนราชดำเนิน พร้อมกับได้พูดคุยกับคนไร้ถึงความวิตกกังวล ความรู้ความเข้าใจและการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากโควิด-19

สาโรช คนไร้บ้านอายุ 60 ปี บอกกับเราว่ารู้เรื่องโรคโควิด-19 จากการที่ได้คุยกับเพื่อนๆ คนไร้บ้านด้วยกัน ที่ผ่านมาก็ไม่เคยใส่หน้ากากหรือใช้เจลล้างมือเลย วันนี้เขาให้มาก็จะลองใส่ดู จริงๆ แล้วไม่กลัวเท่าไรเพราะเชื่อว่าตนแข็งแรง ตลอดชีวิตไม่เคยเจ็บป่วยหนักสักครั้ง และพูดติดตลกว่าหากโควิด-19 มาก็จะหลบลงคลองเหมือนกับเวลาที่อากาศร้อน ก็ลงไปอยู่ในคลองบ่อยๆ

จอห์น คนไร้บ้านวัย 50 ปี บอกว่า โควิด-19 มันมาจากต่างประเทศเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ แต่คิดว่ามันจะไม่มาแถวนี้ เพื่อนๆ ที่รู้จักกันก็ไม่เคยมีใครไปต่างประเทศ สนามมวยก็ไม่ได้เข้าดู ร้านเหล้า สถานบันเทิงเหล่านั้น ตนกับเพื่อนๆ ก็ไม่เคยไป แต่ก็ป้องกันด้วยการใส่หน้ากากมีก็ใส่ ไม่มีก็ไม่ได้ใส่ กินข้าว ดื่มน้ำก็แยกของใช้ของใครของมันตามที่เขาแนะนำกันมา

ในขณะที่พิม คนไร้บ้านอายุ 39 ปี บอกว่าได้ดูข่าวแล้วก็คิดว่ามันน่ากลัว จึงพยายามป้องกันตัวเอง ด้วยการใส่หน้ากากตลอด หยิบจับอะไรแล้วก็พยายามหาทางล้างมือ 

อัจฉรา สรวารี หรือจ๋า เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน บอกกับเราว่าปกติเวลาคนไร้บ้านป่วยเขาก็ไม่ค่อยจะยอมบอกใคร เขารู้ดีถึงความลำบากในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล จึงใช้ความอดทนเป็นเหมือนคุณสมบัติพิเศษในการเอาชีวิตให้รอดจากโรคภัย แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งนี้ไม่เหมือนกับโรคทั่วไปที่ผ่านมา คนที่ติดเชื้อไม่แสดงอาการให้รู้จนกว่าจะป่วย หากสงสัยว่าติดเชื้อหรือตรวจว่าติดเชื้อแล้วต้องรอการรักษาหรือกักตัวเอง เขาอาจจะไม่มีที่กักตัว 14 วัน ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อได้ ส่วนการป้องกัน ทางมูลนิธิก็ให้ข้อมูลในการดูแลตัวเอง จัดหาหน้ากาก เจลล้างมือเท่าที่จะหาได้

เมื่อถามถึงการที่รัฐออกคำสัง ...ฉุกเฉิน ที่จะมีผลในวันที่ 26 มี.ค.นี้ ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง จ๋าบอกว่าถ้า ...ฉุกเฉิน มีการประกาศเคอร์ฟิวด้วย คนไร้บ้านที่หลบไม่ทัน หาที่พักพิงชั่วคราวไม่ได้ก็จะถูกกวาดต้อนเข้าไปยังสถานสงเคราะห์อย่างเร่งรีบ การตรวจคัดกรองอาจไม่ทั่วถึง จึงอาจทำให้มีการระบาดขึ้นในสถานสงเคราะห์ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐจัดหาที่รองรับคนไร้บ้านในช่วงการใช้ ...ฉุกเฉิน ด้วย

และเมื่อถามว่าหลังสถานการณ์ระบาดคลี่คลายลงแนวโน้มจำนวนคนไร้บ้านจะเพิ่มหรือลดลงอย่างไร จ๋าบอกว่าเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะปกติคนไร้บ้านจะเพิ่มขึ้นสิบเปอร์เซ็นต์ในทุกปีอยู่แล้ว ส่วนมากเป็นกลุ่มผู้สูงวัย แต่ในกรณีนี้จะมีผู้ไร้บ้านที่มาจากกลุ่มคนตกงานและป่วยเรื้อรังจากโรคระบาดแล้วครอบครัวไม่สามารถดูแลได้ ยิ่งการระบาดใช้เวลานาน และหากรัฐมีมาตรการรองรับไม่เพียงพอจำนวนผู้ไร้บ้านก็จะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

จากข้อมูลล่าสุดที่กล่าวว่ามีคนไร้บ้านกว่าสี่พันคน และส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร สถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ยิ่งถมทับซ้อนปัญหาที่มีอยู่เดิมของคนไร้บ้านเข้าไปอีก ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไปว่าเราจะสู้ไปด้วยกันเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้นั้น 

ซึ่งไม่แน่ใจเลยว่าภายใต้มาตรการที่ออกมานั้น กลุ่มคนชายขอบอย่างคนไร้บ้าน จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐและสังคมไทยเพื่อผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกันหรือไม่

Tags: , , ,