เพิ่งอ่านรวมเรื่องสั้น ร้านหนังสือแมวฮกเกี้ยน ของนฤพนธ์ สุดสวาท จบเป็นรอบที่สอง (นับตั้งแต่อ่านครั้งแรกไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา) และเช่นเดิม เราแทบไม่ได้รู้สึกถึงความเป็น ‘ร้านหนังสือ’ หรือ ‘แมวฮกเกี้ยน’ ของนฤพนธ์ หากกลับรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังนั่งมองคลื่นลมหอบน้ำทะเลเข้าหาฝั่งในยามบ่ายแก่ที่พระอาทิตย์ใกล้จะตก คลื่นลมที่ไม่เพียงพัดน้ำทะเล หากยังพัดเรื่องเล่า – เรื่องแล้วเรื่องเล่า – ใหญ่บ้างและเล็กบ้าง – มาเป็นระลอก
คุณอาจตั้งคำถามว่า แล้วเราจะไปหาสาระจากการนั่งมองคลื่นทะเลได้จากไหน แต่เรากลับพบว่าสิ่งนี้ต่างหากล่ะที่เป็นความบันเทิงที่ไม่ควรพลาด และถึงแม้คุณจะนั่งอยู่บนชายหาดที่ห่างไกลจากฟองคลื่น เชื่อสิ เมื่อคุณอ่านหนังสือเล่มนี้จนจบ บางทีคุณอาจพบว่าร่างกายคุณเปียก
ร้านหนังสือแมวฮกเกี้ยนเป็นหนังสือรวม 8 เรื่องสั้น ที่นฤพนธ์เขียนขึ้นระหว่างปี 2557-2559 (ยกเว้นเรื่อง ‘เก็บพื้นที่ให้วีรบุรุษและเหยื่อของเรา’ ที่เรียบเรียงใหม่จากรวมเรื่องสั้นหลายๆ เรื่องที่เขียนระหว่างปี 2554-2556)
นอกจากความรู้สึกคล้ายการนั่งมองคลื่นทะเลเช่นที่กล่าวไป ทั้ง 8 เรื่องสั้นยังมีลักษณะร่วมเดียวกันคือ ‘ความเศร้า’ – ความเศร้าที่ทั้งเกิดจากความไม่สมหวังในรัก ที่เกิดจากความไม่อาจหลีกเลี่ยงชะตากรรม และที่เกิดบนโลกดิสโทเปียเสมือน โลกที่ชีวิตของผู้คนแต่ละคนหาได้เป็นสมบัติของพวกเขาเองไม่
ไม่อาจบอกได้ว่านฤพนธ์จะเศร้าอะไรกันนักกันหนา แต่ถ้าพินิจถึงช่วงเวลาและรายละเอียดเรื่องเล่าที่เขาเขียนกับสภาพสังคมบ้านเมือง (ไม่เฉพาะกับการเมืองไทยหรอกแต่รวมถึงสภาพที่มันเป็นอยู่บนโลกทั้งใบ) เราคิดว่านี่อาจเป็นวิธีการสะท้อนความเศร้าอันสมเหตุสมผลอย่างที่สุดของผู้เขียน
รักล้มในโลกเร้น
แม้ไม่ใช่เรื่องสั้นที่เศร้าที่สุด แต่ ‘ร้านหนังสือแมวฮกเกี้ยน’ กลับเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกของเล่มที่โรแมนติกและเฉียบคมที่สุดเรื่องหนึ่ง
‘ร้านหนังสือฯ’ เล่าเรื่องของชายต่างถิ่นที่พลัดหลงไปพบร้านหนังสือแปลกประหลาดแห่งหนึ่งในย่านเมืองเก่าของภูเก็ต ในร้านมีแมวฮกเกี้ยนที่พูดภาษามนุษย์ได้และมีหญิงสาวปริศนาผู้แต่งตัวด้วยชุดเปอรานากันตลอดเวลาเป็นเจ้าของ ชายหนุ่มผูกพันกับทุกองค์ประกอบในร้านอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะกับสาวเจ้าของร้าน จนเกิดความรัก ก่อนที่ต่อมาเขาจะพบว่ามีแต่เขาคนเดียวในภูเก็ตที่สามารถมองเห็นและเข้าถึงร้านหนังสือแห่งนั้นได้ และก่อนที่ผู้เขียนจะเผยให้เห็นบาดแผลจากอดีตในอีกแง่มุมของตัวละครทั้งสอง…
เรื่องเล่าไม่ได้มีอะไรใหม่ (ออกจะเป็นเรื่องรักแนวทวิภพเชยๆ ด้วยซ้ำ) แต่ผู้เขียนก็สร้างโลกเสมือนหรือโลกที่หลบเร้นจากโลกจริงบนสภาวะกึ่งจริงกึ่งฝันได้อย่างเปี่ยมเสน่ห์ เขียนถึงมันได้อย่างกระชับ ไม่เยิ่นเย้อมากความ ทั้งยังสร้างรายละเอียดปลีกย่อยที่เสริมให้ ‘ร้านหนังสือฯ’ มีพลังเฉพาะตัวดึงให้เราเข้าๆ ออกๆ ระหว่างโลกจริงของตัวละครเอกและโลกเร้นของร้านหนังสือนั้นได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร
แม้คุณจะนั่งอยู่บนชายหาดที่ห่างไกลจากฟองคลื่น เชื่อสิ เมื่อคุณอ่านหนังสือเล่มนี้จนจบ บางทีคุณอาจพบว่าร่างกายคุณเปียก
การตัดสลับฉากอันกระชับรวดเร็วและการสร้างโลกเร้นในความรักร้างของผู้เขียนยังปรากฏอยู่ในเรื่องสั้น ‘พรุ่งนี้จะไปทะเล’ และ ‘ปีนังไม่มีน้ำตา’ โดยเรื่องแรกพูดถึงโลกในอนาคตที่รัฐบาลเวนคืนพื้นที่ธรรมชาติกลับเข้าไปเป็นพื้นที่หวงห้ามของรัฐ และตัวละครได้แต่เฝ้าฝันถึงการได้ไปเห็นทะเลของจริงอีกสักครั้ง ซึ่งแต่ละตัวละครก็ต่างมีวิธีการ ‘บำบัด’ อาการอยากไปทะเลด้วยการสร้างโลกเสมือนของตัวเองที่แตกต่างกัน ‘พรุ่งนี้จะไปทะเล’ ยังฉลาดในการเสียดเย้ยสังคมร่วมสมัย สังคมที่มนุษย์สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม ‘แอพพลิเคชั่นทะเล’ มอบบรรยากาศทดแทนการไปทะเลจริงๆ ได้แล้ว กระนั้นผู้ที่มีอาชีพคนทรงเจ้าก็กลับมีบทบาทต่อความคิดและความเชื่อของผู้คนอยู่… และนี่ยังไม่นับรวมความล้มเหลวของการต่อรองของประชาชนในโลกยุคใหม่กับภาครัฐอีกนะ
‘ปีนังไม่มีน้ำตา’ เล่าเรื่องรักของชายหนุ่มกับหญิงสาวที่พบกันด้วยความบังเอิญบนรถไฟขาล่องใต้ หญิงสาวกำลังจะกระโดดรถไฟฆ่าตัวตาย ชายหนุ่มมาห้ามไว้ ก่อนจะชวนกันนั่งรถต่อไปปีนัง ชายหนุ่มมาปีนังด้วยหวังจะตามหาสมุดบันทึกของพระยามโนปกรณ์ธิติธาดาเพื่อยืนยันสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์บางประการของเขา ขณะที่หญิงสาวตามชายหนุ่มมาเพื่อหวังจะลืมความเศร้าจากความล้มเหลวในชีวิตครอบครัวของตัวเอง และเช่นเคยที่ผู้เขียนค่อยๆ เผยบาดแผลเบื้องหลังของแต่ละตัวละครจากการเล่าตัดสลับทีละน้อยทีละน้อย เรื่องนี้เป็นเรื่องหักมุมที่หักได้อย่างเศร้าเหลือร้าย และเราคิดว่าเป็นเรื่องสั้นที่เล่าเรื่องได้มากที่สุดและที่ดีที่สุดของเล่ม
ชายขอบของดิสโทเปีย
การสร้างโลกเสมือนของผู้เขียนหาได้มีแต่โลกที่ตัวละครสร้างขึ้นเพื่อเยียวยาบาดแผลทางใจของตัวเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างโลกดิสโทเปียที่มีเงื่อนไขเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน แต่ที่น่าสนใจก็คือแทนที่จะเล่าผลกระทบโดยตรงจากเงื่อนไขของโลกดิสโทเปียนั้นๆ ผู้เขียนกลับเลือกเล่าเหตุการณ์บนพื้นที่ชายขอบของโลกแต่ละใบ เช่นในเรื่อง ‘ไปเก็บปลาดาว’ ที่เล่าถึงเกาะกลางทะเลที่มีประชากรอยู่สามคน แต่ละวันทั้งสามต้องทำหน้าที่กำจัดศพที่รัฐบาลส่งลงเรือมาไว้บนเกาะนี้ แทบทุกศพ (ที่ตัวละครเรียกแทนว่า ‘ปลาดาว’) ล้วนเป็นศพของประชาชนที่เห็นแย้งกับภาครัฐและต้องมาลงเอยด้วยการถูกฌาปนกิจที่นี่ (เป็นอีกเรื่องในเล่มที่เราชอบมากๆ ในมิติของความ ‘ทั้งรักทั้งเกลียด’ ในความสัมพันธ์ของตัวละคร รวมทั้งนัยทางการเมืองในเรื่อง)
ส่วน ‘เราอยู่ในประเทศเขตร้อน’ พูดถึงโลกที่ประชากรมีหางและถูกแบ่งแยกชนชั้นจากเฉดสีบนหาง ผู้เขียนเลือกเล่าเหตุการณ์เล็กๆ เหตุการณ์หนึ่งที่ตัวละครผู้ถูกจัดลำดับให้อยู่ส่วนล่างสุดของสังคมพากันอพยพหลบหนีออกจากประเทศนี้ หากก็ต้องพบกับเส้นทางหลบหนีอันยากลำบากจนถึงขึ้นต้องกินเนื้อกันเองเพื่อประทังชีวิต และแม้จะดูเป็นเรื่องสั้นที่ดูเป็นดิสโทเปียจ๋า นฤพนธ์ก็ไม่วายใส่โศกนาฏกรรมแห่งรักของหนุ่มสาวเข้ามาเฉกเดียวกับเรื่องอื่นๆ หากเรื่องนี้ก็กลับเลือดเย็นและหนักหน่วงกว่าตรงที่ผู้เขียนยังขับเน้นความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกชายผู้ต่างพยายามดิ้นรนออกไปให้พ้นจากดินแดนแห่งนี้เข้ามาอีกด้วย
เมื่อใช้เทคนิคการซ้อนพล็อตอย่างพอเหมาะ องค์ประกอบทั้งหมดจึงขับเน้นทัศนียภาพของความรักที่พังทลาย ความสิ้นหวัง และความบอบช้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าออกมาได้อย่างชัดเจน งดงาม
กระนั้นก่อนหน้าจะเล่าความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก นฤพนธ์ก็พาไปสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างพ่อผู้อาภัพและลูกชายผู้เป็นอัมพาตที่ต่างใช้ชีวิตบนเรือนแพ จากเรื่อง ‘พ่อควรมีสิบมือ’ ที่เราอนุมานได้ว่ามีลักษณะร่วมของความเป็นมนุษย์ชายขอบบนโลกดิสโทเปียอยู่ด้วยเช่นกัน ต่างก็ตรงที่เรื่องนี้มีความเป็นสัจนิยมที่ผู้เขียนบรรจงบรรยายเรื่องราวอย่างละเอียดลออ และตั้งใจออกแบบให้เรื่องนี้มีความเป็นเรื่องสั้นเพื่อชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม มันไม่ใช่เรื่องรักใคร่และความล้มเหลวของความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวทั่วไปเหมือนเรื่องอื่นๆ หากการมีอยู่ของเรื่องนี้ก็ช่วยเสริมให้ภาพรวมของเล่มมีมิติที่หลากหลายและกลมกล่อมมากทีเดียว
ความบอบช้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ลักษณะเด่นอีกอย่างที่เราคิดว่าเป็นลายเซ็นของผู้เขียนไปแล้ว คือเทคนิคเรื่องซ้อนเรื่องหรือพล็อตซ้อนพล็อตภายในเรื่องสั้นเรื่องเดียว เทคนิคนี้มาพร้อมกับการตัดสลับเรื่องเก่าเพื่อแทรกเรื่องอีกเรื่องเข้ามาอย่างเรียบลื่น เหมือนคลื่นของน้ำทะเลระลอกใหม่ที่กลืนหายไปรวมกับระลอกก่อนหน้า นฤพนธ์ทำได้ดี แต่บางทีเรากลับพบว่ามันมีปัญหา โดยเฉพาะใน ‘เก็บพื้นที่ให้วีรบุรุษและเหยื่อของเรา’ ซึ่งเล่าพล็อตซ้อนกันถึงห้าพล็อต (จริงๆ ถ้านับรวมพล็อตกลางที่เป็นคนเล่าเรื่องก็ต้องเป็นหก) ความเหลื่อมซ้อนของเรื่องเล่า กอปรกับการจงใจทำลายลำดับก่อนหลังของเหตุการณ์ และการสลับไปสลับมาของผู้เล่าเรื่อง ทำให้การอ่านเรื่องนี้ผ่านไปด้วยความยากลำบาก ทั้งยังสร้างระยะห่างของเรากับความหมายระหว่างบรรทัดที่นฤพนธ์ตั้งใจจะสื่อสารไปอย่างน่าเสียดาย (ทั้งๆ ที่จริงๆ ในหลายซับพล็อตในเรื่องนี้ มีนัยยะและอารมณ์ที่น่าสนใจมากทีเดียว – ซึ่งเราคิดว่าเรื่องนี้น่าจะขยายให้กลายเป็นนิยายขนาดสั้นไปเลยเสียยังดีกว่า)
‘เฝ้ารอคณะละครเร่’ ‘พรุ่งนี้จะไปทะเล’ และ ‘ปีนังไม่มีน้ำตา’ เป็นอีกสามเรื่องที่นฤพนธ์ขยันสร้างซับพล็อต และตัวละครย่อยหลากหลายขึ้นมาเพื่อทั้งช่วยเสริมแกนเรื่อง (และช่วยขยายประเด็นในการบอกเล่าเรื่อง) กระนั้นทั้งสามเรื่องนี้ก็ไม่ชวนให้เรางุนงงสับสนเท่ากับ ‘เก็บพื้นที่ฯ’ ในทางกลับกัน เมื่อใช้เทคนิคการซ้อนพล็อตอย่างพอเหมาะ องค์ประกอบทั้งหมดจึงทำให้นฤพนธ์ค่อยๆ ขับเน้นทัศนียภาพของความรักที่พังทลาย ความสิ้นหวัง และความบอบช้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าออกมาได้อย่างชัดเจน งดงาม และเปิดพื้นที่ให้คนอ่านเข้าไปสัมผัสเลือดเนื้อของเรื่องเล่า – อุปมาเช่นการที่เรานั่งอยู่บนชายฝั่งไกลห่างจากน้ำทะเล แต่จู่ๆ อย่างไม่รู้ตัว เราก็พบว่าแรงลมค่อยๆ พาคลื่นน้ำคืบคลานเข้าใกล้มากขึ้นจนสุดท้ายก็มาถึงฝั่ง และทำให้ร่างกายของเราเปียกปอนเสียแล้ว
เหนือจากทั้งหมดที่เล่ามา การผสานองค์ประกอบสมัยนิยมอย่างความกะพร่องกะแพร่งของความสัมพันธ์สมัยใหม่ เข้ากับโลกดิสโทเปียทางการเมือง สัจนิยมมหัศจรรย์ และความเข้มข้นแบบวรรณกรรมเพื่อชีวิต ทั้งหมดทำให้รวมเรื่องสั้น เล่มนี้เป็นงานที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวและกลายเป็นลายเซ็นที่แจ่มชัดและน่าติดตามในตัวผู้เขียนท่านนี้
ไม่ว่าคุณจะรู้สึกว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนการยืนมองคลื่นทะเลซัดเข้าหาฝั่งแบบเดียวกับเราหรือไม่ หากเราก็ยืนยันว่านี่คือหนังสือรวมเรื่องสั้นที่มีนัยเสียดเย้ยสังคมและความกลวงเปล่าของผู้คนร่วมสมัยอย่างที่นักอ่านไม่ควรพลาด และแม้ในบางบทบางตอน เราอาจเห็นว่ามันเป็นยาขมหรือเป็นขนมที่ยากจะกลืนมันลงไป (ก็นะ คลื่นลมทะเลมันไม่เคยแรงเท่ากันอยู่แล้ว) กระนั้นทั้งหมดทั้งมวล การนั่งลงบนชายหาดเพื่อจับจ้องความกระเพื่อมไหวของทิวทัศน์และรับสัมผัสซึ่งสายลมเย็นยามพระอาทิตย์ใกล้ตก ใครกันจะมองว่ามันเป็นกิจกรรมที่ไม่สนุก
Tags: หนังสือ, รีวิว, เรื่องสั้น, ร้านหนังสือแมวฮกเกี้ยน, นฤพนธ์ สุดสวาท, วรรณกรรมไทย