“อ้างอิงจากประวัติศาสตร์ เมื่อ 2,500 ปีก่อน เคยมีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง คือบ้านกำปง ‘สะดูม’ ที่มีตำแหน่งอยู่บริเวณทะเลสาบเดดซี (Dead Sea) ในประเทศจอร์แดนที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ พื้นที่บริเวณนี้ไม่ได้เป็นหลุมทะเลสาบขนาดใหญ่อย่างทุกวันนี้ แต่เนื่องจากคนในหมู่บ้านนั้นมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ พระผู้เป็นเจ้าจึงมีคำสั่งให้ลงโทษ ด้วยการล้มภูเขาขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างประเทศจอร์แดนและอิสราเอลใส่
“เช่นเดียวกับในเดือนมีนาคม 2565 เพียง 1 สัปดาห์หลังจากที่มีการผ่านร่างฯ วาระที่ 1 ก็เกิดภัยพิบัติขึ้นในประเทศไทย สืบเนื่องจากผู้ชายอยู่กินกับผู้ชาย นั่นคือโรคฝีดาษลิง หากมีการผ่านสมรสเท่าเทียมในวาระนี้ ผมกลัวว่าพระเจ้าจะลงโทษอีกรอบหนึ่ง”
อับดุลอายี สาแม็ง ส.ส.ยะลา หนึ่งในตัวแทนพรรคประชาชาติ กล่าวอภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการโหวตรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ เมื่อวานนี้ (21 ธันวาคม 2566)
สุดท้ายได้ข้อสรุปในการโหวต คือรับหลักการทั้ง 4 ร่าง ได้แก่ ร่างของคณะรัฐมนตรี ร่างของพรรคก้าวไกล ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ และร่างของภาคประชาชน ด้วยจำนวนโหวตรับหลักการ 369 เสียง และไม่รับหลักการ 10 เสียง โดยผู้ที่ ‘ไม่รับหลักการ’ ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.ที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะ ส.ส.จากพรรคประชาชาติ
‘นครแห่งคนบาป’ ตามความเชื่อของกลุ่มศาสนาอับราฮัม
นบี ‘ลูฏ’ (หรือ ‘โลท’ เมื่อออกเสียงตามที่บันทึกในคัมภีร์พันธสัญญาเดิมในคริสต์ศาสนา) ถือเป็นหนึ่งในผู้เผยพระวจนะคนสำคัญของกลุ่มศาสนาอับราฮัม ได้แก่ คริสต์ อิสลาม และยูดาย โดยคัมภีร์อัลกุรอานอ้างอิงถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘กลุ่มชนของลูฏ’ บ่อยครั้ง แสดงให้เห็นความสำคัญของเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเขา ซึ่งนั่นก็สะท้อนให้เห็นผ่านอิทธิพลที่ข้อคัมภีร์เกี่ยวกับนบีลูฏ มีต่อหลักปฏิบัติและคำสอนของชาวมุสลิม
ลูฏถูกมอบหมายให้ไปเผยแพร่พระวจนะยังสองเมืองที่มีชื่อว่า สะดูมและอะมูเราะฮ์ (โซดอมและกาโมราห์) ซึ่งมีชาวเมืองที่ไม่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ทั้งยังก่อบาป กระทำสิ่งชั่วร้ายน่าบัดสี ปล้นสะดมคนเดินทางที่ผ่านเข้ามาในเมือง และที่สำคัญที่สุด คือกระทำอนาจารต่อพวกเขาเหล่านั้น โดยไม่หวั่นเกรงว่าจะผิดบาปและไม่หวั่นไหวต่อคำเตือนของผู้ใดทั้งสิ้น โดยเฉพาะนบีลูฏที่ถูกเยาะเย้ยและขู่ว่าจะขับออกจากเมือง
เหตุการณ์น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับรักร่วมเพศในคัมภีร์ที่มักถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอ คือเหตุการณ์เดียวกันกับที่ ส.ส.อับดุลอายีเล่าในสภาฯ คือมลาอิกะฮ์ (เทพบริวารหรือทูตสวรรค์) จำนวน 3 องค์จำแลงกายเป็นชายรูปงามลงมาเยี่ยมเยียนที่บ้านนบีลูฏ ชาวเมืองเมื่อเห็นว่ามีแขกผู้งดงามมาเยี่ยมเยียน จึงขอให้นบีมอบแขกของตนให้พวกเขาได้ร่วมเสพสังวาส
นบีได้ยินดังนั้นก็เป็นทุกข์มาก ด้วยกลัวว่าพวกเขาจะถูกลงโทษด้วยไฟพิโรธของอัลลอฮ์ จึงเสนอลูกสาวของตนเองให้แทน ในฐานะทางเลือกที่ถูกต้องตามหลักศาสนาและสะอาดบริสุทธิ์กว่า แต่ชาวเมืองกลับไม่ลดละและยืนยันว่า ต้องการแขกชายรูปงามเหล่านั้นมากกว่า
ภายหลัง มลาอิกะฮ์เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของพวกเขาต่อนบีลูฏ ก่อนแนะนำให้นบีลูฏรีบหนีออกจากเมืองในตอนกลางคืน โดยห้ามหันหลังกลับมามองเป็นอันขาด เขาหนีไปตามคำแนะนำ พร้อมสมาชิกในครอบครัวและกลุ่มผู้ศรัทธาจำนวนหนึ่ง
เมื่อรุ่งเช้ามาถึง อัลลอฮ์ก็พิพากษาชาวเมืองสะดูมและอามูเราะห์ โดยการกลับผืนแผ่นดินจากข้างบนลงข้างล่าง ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง และมีก้อนหินที่ลุกไหม้ไปด้วยไฟตกลงมาราวกับห่าฝน
แน่นอนว่าคัมภีร์พันธสัญญาเดิมในคริสต์ศาสนาและคัมภีร์โทราห์ของศาสนายูดายก็เล่าเรื่องราวที่ใกล้เคียงกัน และทั้งสามศาสนาก็ตีความเรื่องราวนี้ไปในทิศทางเดียวกัน คือชาวเมืองสะดูมถูกพระผู้เป็นเจ้าลงโทษเพราะมีพฤติกรรมเสพสังวาสระหว่างเพศเดียวกัน
การตีความเรื่องราวของ ‘สะดูม’ นอกบรรทัดฐานรักต่างเพศ
ความแตกต่างประการหนึ่งของนบีลูฏในอัลกุรอาน และโลทในคัมภีร์พันธสัญญาเดิม คือคำสอนที่เขากล่าวกับชาวเมืองสะดูม
“ท่านทั้งหลายจะประกอบสิ่งชั่วช้าน่ารังเกียจ ซึ่งไม่มีคนใดในหมู่ประชาชาติทั้งหลายได้ประกอบมันมาก่อนพวกท่านกระนั้นหรือ แท้จริงพวกท่านจะสมสู่เพศชายด้วยตัณหาราคะอื่นจากเพศหญิง” – ซูเราะห์ 7:80-84
คำพูดของลูฏระบุชัดเจนว่า เพศชายไม่ควรสมสู่กับเพศอื่นใดนอกจากเพศหญิงด้วยตัณหาราคะ ต่างจากโลทในไบเบิลที่ไม่ได้กล่าวประณามชัดเจนในระดับเดียวกัน การที่เราจะสามารถตีความเรื่องราวของเมืองสะดูมเสียใหม่ ด้วยมุมมองนอกบรรทัดฐานรักต่างเพศที่ปราศจากอคติ จึงดูจะทำได้ยากกว่ามากหากเทียบกับการตีความไบเบิลใหม่
อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการสมัยใหม่มากมายที่พยายามจะลองตีความเรื่องราวนี้อีกครั้ง หนึ่งในนั้นคือ สก็อตต์ สิราจ อัล ฮัก คูเกิล (Scott Siraj al-Haqq Kugle) ชาวอเมริกันเชื้อสายมุสลิม ที่เขียนบทวิเคราะห์ประเด็นรักร่วมเพศในศาสนาอิสลามความยาวพอจะตีพิมพ์เป็นหนังสือ
คูเกิลเชื่อว่า หลักการที่สำคัญที่สุดของอัลกุรอาน คือการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเคียงข้างผู้ถูกกดขี่ โดยเขาตีความเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มชนของลูฏว่า ชาวเมืองไม่ได้ถูกลงโทษเพียงเพราะมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ แต่เป็นเพราะความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้น และความพยายามที่จะปฏิเสธพระวจนะของอัลลอฮ์ ความพยายามที่จะขืนใจแขกของลูฏ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะพวกเขา ‘ผิดเพศ’ แต่เป็นเพราะพวกเขาอยากกระทำการอะไรบางอย่าง เพื่อดูหมิ่นเหยียดหยามและไม่ยอมรับว่าลูฏเป็น ‘นบีผู้เผยพระวจนะของอัลลอฮ์’ ต่างหาก
นอกจากนี้ หากเราพิจารณาประวัติศาสตร์อันยาวนานของอิสลาม แม้จะไม่เคยมีบันทึกหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขา ‘โอบรับ’ ผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกัน หากย้อนไปในยุคก่อนสมัยใหม่ ก็ไม่เคยมีการบัญญัติกฎหมายลงโทษผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างร้ายแรงเช่นเดียวกัน
จนกระทั่งชาติมหาอำนาจในยุโรปเริ่มเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็เริ่มมีการนำกฎหมายลงโทษรักร่วมเพศอย่างรุนแรงเข้ามาบังคับใช้ในตะวันออกกลาง ประกอบกับการก้าวสู่อำนาจของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่มองว่า Gay Rights Movement เป็นสิ่งที่สื่อถึงอิทธิพลของชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกา
อ้างอิง
https://www.bbc.com/thai/international-58697688
https://www.economist.com/open-future/2018/06/06/how-homosexuality-became-a-crime-in-the-middle-east
Tags: History, อิสลาม, สมรสเท่าเทียม, สะดูม