เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่เชื่อมความสัมพันธ์ทางสังคม และอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนาน สำหรับคนส่วนใหญ่ เบียร์เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมมากที่สุดเมื่อเทียบกับเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาหรือสถานที่จัดจำหน่าย

และที่สำคัญเป็นเครื่องดื่มที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการเลือกซื้อ สามารถลองผิดลองถูกได้ ซึ่งเมื่อเทียบกับไวน์แล้ว เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่ไม่ต้องการพิธีรีตองมากนัก และขายดีกว่าไวน์หลายเท่าตัว ในปัจจุบันเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่มียอดขายสูงที่สุด แม้กระทั่งในประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศแห่งไวน์

ในยุคที่รัฐส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป ให้ความเป็นกลางกับทุกศาสนา ไม่สนับสนุนความเชื่อทางศาสนาใดๆ (Secular state) ภาพของพระสงฆ์ (นักบวชฝรั่ง) ที่ผลิตเบียร์ ได้เริ่มเลือนราง เหลือเป็นแค่ฉลากติดอยู่บนสินค้าหรือโฆษณาตามที่ต่างๆ เบียร์ที่ผลิตในสำนักสงฆ์และอารามต่างๆ จึงกลายเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ธรรมดาที่พบได้ตามชั้นวางเครื่องดื่ม ในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเมื่อดูภายนอกแล้วก็ไม่ต่างจากเบียร์โรงงานทั่วๆ ไป เว้นแค่เรื่องราคา

แต่รู้ไหมว่าสงฆ์ (นักบวช) มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเบียร์ ทั้งในอดีต จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งเป็นทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่าย

เบียร์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับคณะสงฆ์มาโดยตลอดในหน้าประวัติศาสตร์ และเป็นผู้บุกเบิกในการก่อตั้งของโรงเบียร์ โรงเบียร์โรงแรกเกิดขึ้นใน Affligem Abbey ในศตวรรษที่ 11 เริ่มแรกนั้นผลิตขึ้นเพื่อการบริโภคภายในเท่านั้น เนื่องจากช่วงยุคกลาง น้ำดื่มไม่สามารถดื่มได้ และแม้ว่าไวน์จะเป็นเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมอย่างมากในยุโรปตั้งแต่สมัยโรมัน รวมทั้งเป็นเครื่องดื่มหลักที่กฎของคณะสงฆ์ใช้อ้างอิง เช่น กฎของนักบุญเบเนดิกต์ (ซึ่งคล้ายๆ กับพระวินัยของพระสงฆ์ในบ้านเรา) ทว่าบางพื้นที่ โดยเฉพาะในทางเหนือของยุโรป ไม่สามารถผลิตไวน์ได้ ด้วยเหตุที่สภาพอากาศไม่เหมาะต่อการปลูกองุ่น เช่น ทางเหนือของประเทศฝรั่งเศส หรือ ประเทศเบลเยี่ยม เป็นต้น นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคณะสงฆ์บางคณะถึงเลือกเบียร์ ซึ่งเป็นของท้องถิ่น แทนไวน์

และเมื่ออยู่ในยุคที่การแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการต่างๆ จำเป็นต้องใช้เงิน สำนักสงฆ์จึงต้องมีรายได้เพื่อการดำรงชีวิตและตอบสนองความจำเป็นพื้นฐาน รายได้หลักของคณะสงฆ์ก็มาจากการขายเบียร์ ซึ่งตามหลักแล้ว ผลิตขึ้นมาสำหรับการบริโภคภายในเพียงอย่างเดียว

เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่ไม่ต้องการพิธีรีตองมากนัก และขายดีกว่าไวน์หลายเท่าตัว

นอกเหนือจากเหตุผลทางการเงินแล้ว การผลิตเบียร์ในหมู่สงฆ์ก็มาจากเหตุผลทางจิตวิญญาณและทางเทววิทยา ในกฎของนักบุญเบเนดิกต์ มีคติพจน์หลัก คือ “Ora et labora” (ออร่า เอ็ท ลาบอร่า) ซึ่งแปลว่า “Pray and work” หรืออาจจะแปลเป็นไทยได้ว่า “สวดมนต์ไป ทำงานไป” คณะสงฆ์ที่ยึดกฎของนักบุญเบเนดิกต์เป็นหลัก เช่น ทราปปิสต์ (Trappist) เป็นต้น เชื่อว่าการทำสมาธิ หรือการพิจารณาชีวิต สามารถทำได้ผ่านกิจกรรม และการทำงานในชีวิตประจำวัน อีกนัยหนึ่ง อาจพูดได้ว่าเรื่องทางโลกและเรื่องทางธรรมมีความเกี่ยวข้องกัน

โรงเบียร์ของสำนักสงฆ์ Saint-Wandrille ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส ที่มาภาพ: Charly TRIBALLEAU / AFP

ในส่วนของเหตุผลทางเทววิทยา การประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงชีพไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตอย่างสงฆ์ ซึ่งมีการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย  มุ่งปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทั้งนี้ตามหลักฐานที่สามารถอ้างอิงได้ ในคัมภีร์ไบเบิลจะเห็นได้ว่าพอล สาวกของเยซู เลี้ยงชีพด้วยการทำเต็นท์ และถ้าพิจารณาสาวกคนอื่นๆ เช่น ปีเตอร์และแอนดริว ซึ่งเป็นชาวประมง ก็จะเห็นได้ว่าการมีอาชีพเป็นเรื่องธรรมดา

เมื่อสำนักสงฆ์มีขนาดใหญ่ขึ้น ปริมาณการผลิตเบียร์ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตเบียร์ที่มากขึ้นได้เปิดช่องทางให้มีการปรับปรุงสูตรและระบบการผลิตเบียร์ในเวลาต่อมา

ในช่วงปี ค.ศ. 800 มีการเติมฮอป (Hop) เพื่อสร้างรสชาติและการเก็บรักษาเบียร์ที่ดีขึ้น ในเวลานั้นได้มีการเติมแต่งรสชาติโดยใช้ส่วนผสมของสมุนไพรนานาชนิดเรียกว่า กรู๊ต (Gruit) อย่างไรก็ดี ฮอปเป็นที่นิยมมากกว่า เนื่องจากการใช้ฮอปช่วยให้ผู้ผลิตเบียร์ไม่ต้องจ่ายภาษีให้กับผู้ปกครองท้องถิ่น  ในขณะที่การใช้กรู๊ตจะต้องซื้อจากผู้ปกครองในท้องถิ่นเท่านั้น โดยผู้ปกครองท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดราคา

ในศตวรรษที่ 14 การค้าระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง ความต้องการของเบียร์ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน การเพิ่มของความต้องการนี้ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาเปิดโรงเบียร์เพื่อการค้า

การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น รวมทั้งการปฏิรูปศาสนาในกลุ่มประเทศเจอร์แมนิก (Germanic) ทำให้เบียร์จากสำนักสงฆ์มีสัดส่วนในตลาดลดลง ทั้งนี้การผลิตเบียร์ในสำนักสงฆ์เกือบทั้งหมดถูกแทนที่โดยผู้ประกอบการทั่วไป ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1789 สงฆ์บางคณะในฝรั่งเศสจำเป็นต้องย้ายไปเบลเยี่ยมเพื่อรักษามรดกในการผลิตเบียร์ ไม่ว่าจะเป็นสูตรหรือเทคนิคการผลิตที่ได้ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นไว้ เพราะเกรงว่ากลุ่มปฏิวัติจะเข้ายึดและทำลายศาสนสถานและอาราม ซึ่งรวมถึงโรงเบียร์ด้วย

อย่างไรก็ดี ด้วยคุณภาพที่เล่าขานของ Abbey beer การผลิตเบียร์ของพระสงฆ์ค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในอีก 100 ปีถัดมา ขณะเดียวกันระหว่างศตวรรษที่ 20 สำนักสงฆ์บางแห่งอนุญาตให้โรงเบียร์ภายนอกสามารถผลิตเบียร์โดยใช้ชื่อของสำนักสงฆ์ ภายใต้ใบอนุญาต

ปัจจุบันเบียร์จากสำนักสงฆ์ หรือ Abbey beer นั้นมีมากมาย เช่น Affligem (อาฟฟลิเจม) Leffe (เลฟฟ์) Grimbergen (กริมแบร์เก้น) หรือ Trappist beer (เบียร์ของคณะสงฆ์ทราปปิสต์)

แต่ Abbey beer บางยี่ห้อ อาจจะไม่มีความสัมพันธ์กับสำนักสงฆ์เลย เป็นแค่เบียร์ที่ผลิตในโรงเบียร์ทั่วไป เราจึงพบเห็นว่าเบียร์บางยี่ห้อติดตราสัญลักษณ์ Bière d’abbaye reconnue (เบียร์ แดบเบย์ เรอคอนนู) ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Recognised abbey beer เพื่อรับรองว่าเบียร์นั้นๆ เป็นเบียร์ที่สำนักสงฆ์ยังมีบทบาทในการตรวจสอบการผลิต คุณภาพและการโฆษณา ถึงแม้ว่าจะมีบริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่เป็นผู้ผลิตโดยตรงก็ตาม

ทั้งนี้สัญลักษณ์ Bière d’abbaye reconnue (เบียร์ แดบเบย์ เรอคอนนู) จะใช้สำหรับ Abbey beer ที่ไม่ใช่ Trappist beer ในขณะที่ Trappist beer จะมีตราสัญลักษณ์รับรองเป็นของตัวเอง เพราะ Trappist beer มีความพิเศษอยู่ตรงที่ว่าเป็นเบียร์ที่ผลิต-หมัก-บ่มอยู่ในโรงเบียร์ของสำนักสงฆ์ และไม่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเข้ามาเกี่ยวข้องในสายพานการผลิต

สำหรับคณะทราปปิสต์ซึ่งยังคงรักษาการผลิตแบบดั้งเดิมจนถึงปัจจุบัน จำเป็นต้องบริหารโรงเบียร์ของตนเหมือนบริษัท โดยมีการจัดการเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรมนุษย์ จ้างลูกจ้างเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการผลิต เนื่องจากพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีอายุมาก ไม่สามารถทำงานหนักได้ รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

ทว่าสิ่งที่ทำให้ (บริษัท) โรงเบียร์สำนักสงฆ์ แตกต่างจากบริษัทโรงเบียร์ทุนนิยมนั้น คือ ค่านิยมทางศาสนาที่จะเป็นตัวกำหนดยุทธศาสตร์ทางการค้า โดยเน้นความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างและมีกำไรเป็นเรื่องรอง รวมทั้งให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของลูกจ้างมากกว่าผลิตภาพ (Productivity) ทั้งนี้แม้ว่าเบียร์จะขาดตลาดก็จะไม่มีการผลิตเพิ่ม หรือในระหว่างช่วงที่พระสงฆ์ปฏิบัติธรรมและไม่พบผู้คนภายนอก การผลิตเบียร์จะหยุดลง เหตุผลที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อคงบรรยากาศของสำนักสงฆ์ไว้ ดังที่สงฆ์ทราปปิสต์จากเวสต์มาลล์ (Westmalle) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของโรงเบียร์เวสต์มาลล์กล่าวว่า “ต้องอย่าลืมว่า เราเป็นสำนักสงฆ์ที่เปิดโรงเบียร์ ไม่ใช่โรงเบียร์ที่มีส่วนหนึ่งเป็นสำนักสงฆ์”

“ต้องอย่าลืมว่า เราเป็นสำนักสงฆ์ที่เปิดโรงเบียร์ ไม่ใช่โรงเบียร์ที่มีส่วนหนึ่งเป็นสำนักสงฆ์”

สำนักสงฆ์ทราปปิสต์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากคนหลายกลุ่มว่าส่งเสริมภาวะการติดสุรา คำวิจารณ์ดังกล่าวมาจากระดับแอลกอฮอล์ในเบียร์ที่ค่อนข้างสูง ซึ่งบางครั้งสูงกว่า 9% ทว่าสำนักสงฆ์ก็ยังคงผลิตเบียร์ต่อไป แต่มีการรณรงค์ให้ผู้ซื้อจำกัดการดื่ม และส่งเสริมโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

บาทหลวงเดินผ่านลังเบียร์ทราปปิสต์ ในโกดังของโรงเบียร์สำนักสงฆ์ Rochefort ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ที่มาภาพ: GEORGES GOBET / AFP

อย่างไรก็ดี วิธีการและมารยาทในการทำธุรกิจของสำนักสงฆ์ดังกล่าวไม่มีเจตนาส่งเสริมภาวะการติดสุรา ยกตัวอย่างเช่น Trappist beer จะไม่มีการจัดโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม เพื่อดึงดูดให้คนซื้อในปริมาณมาก นอกจากนี้ก็ยังไม่มีการทำโฆษณาดึงดูดผู้ดื่มหน้าใหม่ ยกเว้นยี่ห้อ Chimay ซึ่งเป็นเพียง Trappist beer หนึ่งเดียวที่ทำโฆษณา

เมื่อย้อนกลับมาดูประเทศไทย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งชั่วร้าย การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องไม่ดี ผิดศีลธรรม หน่วยงานของรัฐมีนโยบายควบคุมการดื่มโดยใช้มาตรการต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทว่าหากเราพิจารณาบริบท และวัฒนธรรม การห้ามดื่มในวัฒนธรรมตะวันออกบางแห่งอาจเป็นการป้องกันไว้ก่อน เพราะบางครั้ง เมื่อดื่มแล้วก็ไม่สามารถหยุดดื่มได้หรือดื่มจนลืมตัว

ในขณะที่โลกตะวันตก การบริโภคแอลกอฮอล์ได้หล่อหลอมมาผ่านประเพณีและศาสนา จนกลายมาเป็นวัฒนธรรม เช่น Aperitif  และกฎของนักบุญเบเนดิกต์ ที่กำหนดให้สงฆ์ดื่มไวน์และเบียร์แค่วันละครึ่งขวดเท่านั้น

ถึงกระนั้นนับว่าเป็นความโชคดีที่เมืองไทยไม่ได้ห้ามจำหน่ายเบียร์ไปเสียทั้งหมด เราสามารถหาซื้อ Abbey beer หรือ Trappist beer ได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ หรือที่บาร์ต่างๆ

หากมองอย่างนักเศรษฐศาสตร์ การซื้อขายเบียร์ที่ผลิตโดยสำนักสงฆ์เป็นสถานการณ์ที่ win-win ทุกคนได้ประโยชน์ ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ในขณะที่ผู้ผลิต (พระสงฆ์) ได้นำเงินจากการขายไปทำนุบำรุงสำนักสงฆ์และงานกุศล  ผู้บริโภคก็ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ แถมยังได้สนับสนุนสำนักสงฆ์ รวมทั้งกิจกรรมการกุศลที่เกี่ยวข้องกับสำนักสงฆ์

สุดท้ายนี้การดื่ม Abbey beer หรือ Trappist beer ไม่ได้เป็นการดื่มที่เน้นปริมาณ แต่เป็นการดื่มอย่างมีศิลปะ เพื่อรับรู้ถึงรสชาติและกลิ่นที่ซ่อนไว้ ดังนั้นดื่มน้อยๆ แต่พอดี จะดีที่สุด

 

 

ภาพหน้าแรก: บาทหลวง Benoit ดื่มเบียร์อยู่ภายในสำนักสงฆ์ Saint-Wandrille ในประเทศฝรั่งเศส (ที่มาภาพ: Charly TRIBALLEAU / AFP)

อ้างอิง:

Fact Box

ในยุโรป เบียร์เป็นของคู่บ้านคู่เมือง และได้หยั่งลึกลงไปในพิธีกรรมทางศาสนา โดย Roman Ritual (1618) ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับบทบัญญัติในพิธีกรรมของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ได้กำหนด บทสวดสำหรับเสกเบียร์ ! “Benedic, Domine, creaturam istam cerevisiae,.., et praesta…, quicumque ex ea biberint, sanitatem corporis, et animae tutelam percipiant" ซึ่งถอดความได้ว่า “ขอพระองค์โปรดทำให้เบียร์ใหม่นี้จงดลบันดาลให้ผู้ที่ดื่มเบียร์มีสุขภาพที่ดี และปกป้องวิญญาณของผู้ดื่ม”

Tags: , ,