เช่นเดียวกับทุกสิ่งบนโลกที่ไม่อาจต้านทานการเปลี่ยนแปลงได้ 

ความหมายของคำศัพท์ในภาษาก็ย่อมผันแปรได้ตามกาลเวลาเช่นกัน แต่ทั้งนี้ ระดับความผันแปรนี้เกิดขึ้นไม่เท่ากันกับศัพท์ทุกคำ บางคำอาจเปลี่ยนไปน้อยมากจนทำให้เห็นความเชื่อมโยงกับต้นกำเนิดของคำได้ไม่ยาก แต่บางคำก็อาจเปลี่ยนไปมากจนแทบไม่เหลือเค้าความเกี่ยวข้องกับต้นตอเดิมเลย เหมือนคนที่ศัลยกรรมยกเครื่องหน้าใหม่หมดจนกลับไปที่งานเลี้ยงรุ่นแล้วไม่มีใครจำได้

การเปลี่ยนแปลงแบบหลังนี่แหละที่อาจจะมีตัวเลข อาหาร หรือแม้แต่อวัยวะเพศซ่อนอยู่ในคำโดยที่เราไม่รู้ตัว 

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่า มีคำศัพท์อะไรบ้างที่มีหินแฝงตัวอยู่อย่างแนบเนียน

Calculator

คำว่า calculator นี้ ภาษาอังกฤษหยิบยืมมาจากภาษาละตินอีกที ในภาษาต้นทางหมายถึง นักคำนวณ นักคณิตศาสตร์ แรกเริ่มเดิมทีภาษาอังกฤษก็ยืมมาใช้ในความหมายนี้ แต่ต่อมาวิทยาการก้าวหน้าขึ้น เริ่มมีการประดิษฐ์อุปกรณ์ที่คิดคำนวณเลขได้ คำนี้จึงถูกเอามาใช้เรียกสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้และกลายมาหมายถึง เครื่องคิดเลข

คำว่า calculator นี้มาจากคำกริยา calculare แปลว่า คำนวณ อีกทอด แต่หากสืบสาวกลับไปอีก จะพบว่าคำนี้มาจากคำว่า calculus หมายถึง การคิด การนับ (เป็นที่มาของชื่อวิชา แคลคูลัส ที่เป็นแขนงหนึ่งของวิชาคณิตศาสตร์ด้วย)

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ความหมายดั้งเดิมของคำว่า calculus ในภาษาละติน คือ ก้อนกรวด เพราะมาจากคำว่า calx ที่แปลว่า หินปูน อีกทอด

ที่หินมาเกี่ยวกับการนับและคิดคำนวณได้ก็เพราะเวลาที่คนสมัยก่อนต้องคิดคำนวณตัวเลขมากๆ ที่คิดในใจหรือนับนิ้วไม่ไหว ก็จะอาศัยลูกคิด ซึ่งใช้ก้อนหินในการช่วยนับจำนวนนั่นเอง 

ด้วยเหตุนี้ ก้อนหินจึงมาเกี่ยวโยงกับการนับคำนวณและเป็นที่มาของเครื่องคิดเลขและวิชาแคลคูลัสนั่นเอง

ทั้งนี้ ใครที่เป็นหมออาจจะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างคำว่า calculus กับหินได้เร็วกว่าคนอื่น เพราะในแวดวงแพทย์มักใช้คำนี้ในความหมายที่โยงกับหินมากกว่าการคำนวณ เช่น หากไม่เรียกนิ่วว่า stone ก็อาจจะใช้คำทางการ คือ calculus (เช่น renal calculus คือ นิ่วไต และ gall bladder calculus คือ นิ่วในถุงน้ำดี) หรือในทางทันตกรรม calculus ก็ไม่ได้หมายถึงการคำนวณแต่อย่างใด แต่หมายถึง หินน้ำลาย หรือที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อ หินปูน นั่นเอง

อันที่จริงแล้ว คำว่า calx ในภาษาละตินที่แปลว่า หินปูน นี้ ยังเป็นที่มาของชื่อธาตุ calcium ด้วย เพราะธาตุนี้เป็นองค์ประกอบของหินปูน (CaCO3)  อีกทั้งยังเป็นที่มาของคำว่า chalk หรือ ชอล์ก แบบที่ใช้เขียนกระดานดำ เพราะชอล์กเขียนกระดานทำมาจากหินชอล์ก ซึ่งเป็นหินปูนรูปหนึ่งที่มีลักษณะร่วนนั่นเอง (ทั้งนี้ ตัว l ในคำว่า chalk เป็น silent letter และไม่ออกเสียง) 

Scruple

คำนี้โดยปกติแล้วหมายถึง ความรู้สึกละอายเมื่อทำสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรลงไป หากเป็นทางพุทธศาสนาก็น่าจะเทียบได้กับ หิริโอตตัปปะ เช่น a man without scruples ก็คือ คนที่ไม่มีหิริโอตตัปปะ ทำความเลวได้โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ

คำว่า scruple นี้ มาจากคำว่า scrupulus ในภาษาละติน มีความหมายเชิงเปรียบว่า ความละอายต่อการทำเรื่องผิดบาป แบบเดียวกับในภาษาอังกฤษ แต่ที่น่าสนใจก็คือ ความหมายนัยตรงของคำว่า scrupulus นี้แปลว่า กรวดหินแหลมคม

แล้วกรวดหินแหลมคมมาเกี่ยวกับความรู้สึกผิดได้อย่างไร

ที่ทั้งสองสิ่งนี้มาเกี่ยวกันได้ก็เพราะนักปรัชญาสมัยก่อนเปรียบเทียบความรู้สึกตะขิดตะขวงร้อนรุ่มใจเมื่อทำความผิดกับก้อนกรวดในรองเท้าที่บาดฝ่าเท้าทุกก้าวที่เราเดินนั่นเอง

ทั้งนี้ คำว่า scrupulus นี้ยังเป็นที่มาของคำว่า unscrupulous เป็นคุณศัพท์หมายถึง ไร้ซึ่งความละอายต่อการทำบาป เช่น นักธุรกิจที่ไม่กลัวที่จะใช้วิธีสกปรกในการทำลายคู่แข่งหรือยัดเงินใต้โต๊ะเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจตนเอง แบบนี้เราก็อาจบอกว่าเป็น an unscrupulous businessperson

Parsley

พาร์สลีย์เป็นสมุนไพรที่มักใช้แต่งกลิ่นหรือแต่งจานอาหารตะวันตก แม้ดูหน้าตาเผินๆ แล้วก็ไม่น่าจะมีส่วนไหนเกี่ยวข้องกับหินได้เลย แต่หากเจาะลึกที่มาของชื่อแล้ว จะพบว่ามีหินเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย

ก่อนอื่นเราต้องย้อนกลับไปสมัยกรีกโบราณ ด้วยความที่พาร์สลีย์และเซเลอรีมีใบลักษณะคล้ายกัน แถมยังมีกลิ่นหอมใช้เป็นสมุนไพรได้ทั้งคู่ คนในสมัยนั้นจึงมีคำคำหนึ่งที่ใช้เรียกสมุนไพรทั้งสองชนิดนี้ได้ นั่นคือคำว่า selinon 

แต่ทั้งนี้ คนสมัยนั้นก็รู้แหละว่าสมุนไพรสองชนิดนี้ไม่เหมือนกัน อย่างน้อยๆ ที่สุดเลยก็คือขึ้นกันคนละแหล่ง ปกติแล้วเซเลอรีป่าที่ชาวกรีกยุคนั้นใช้มักโตตามหนองบึง ก็เลยเรียกว่า heleioselinon (heleios ในภาษากรีก แปลว่า เกี่ยวกับหนองบึง) ส่วนพาร์สลีย์นี้มักงอกตามหิน ก็เลยเรียกว่า petroselinon มาจาก selinon แต่เติม petro- ที่แปลว่า หิน เข้าไปด้านหน้า (อ่านเพิ่มเติมว่า petro- เกี่ยวอะไรกับชื่อ Peter)

คำว่า petroselinon ในภาษากรีกนี้ ภาษาละตินรับมาอีกทอดเป็นคำว่า petrosilinum ไปๆ มาๆ ภาษาอังกฤษก็ยืมเข้ามาเป็นคำว่า petersilie แต่ในขณะเดียวกัน ฝรั่งเศสก็ยืมคำนี้ไปเช่นกัน แต่ด้วยภาษาฝรั่งเศสชอบละเสียงนู่นนี่ ตัวหนังสือจึงหล่นหายไปเป็นกอง เหลือแค่ peresil ซึ่งภาษาอังกฤษก็ยืมเข้ามาด้วยเช่นกัน ท้ายที่สุด คำว่า petersilie ที่ภาษาอังกฤษยืมมาจากละตินไว้ก่อนอยู่แล้ว และคำว่า peresil ที่ยืมมาจากฝรั่งเศสก็รวมร่างเข้าด้วยกันเป็น percely และกลายมาเป็น parsley อย่างในปัจจุบัน (อะไรจะซับซ้อนขนาดนี้!)

ทั้งนี้ทั้งนั้น คำว่า selinon ในภาษากรีกโบราณที่พูดถึงไปข้างต้น ท้ายที่สุดแล้วความหมายก็แคบลงจนหมายถึงแค่ เซเลอรี และเป็นที่มาของคำว่า celery ในภาษาอังกฤษนั่นเอง

Tungsten

ทังสเตนเป็นโลหะเงาสีเงินอมขาว เป็นหนึ่งในโลหะที่แข็งที่สุด นิยมผสมในเหล็กกล้าเพื่อใช้ทำหัวสว่านหรือใบเลื่อย ในสมัยสงครามโลกมีการนำไปใส่ในหัวขีปนาวุธเพื่อยิงทะลุเกราะรถถัง

ธาตุนี้ค้นพบโดยนักเคมีชาวสวีเดนชื่อ Karl Wilhelm Scheele ด้วยเหตุนี้นักเคมีคนนี้ก็เลยตั้งชื่อธาตุเป็นภาษาสวีดิชว่า tungsten มาจากคำว่า tung แปลว่า หนัก และ sten แปลว่า หิน รวมได้ความหมายว่า หินหนัก ซึ่งคำว่า sten นี้ ก็เป็นญาติกับคำว่า stone ในภาษาอังกฤษนั่นเอง

 

 

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/ 

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayers, Donald M. English Words from Latin and Greek Elements. 2nd ed. The University of Arizona Press: Tuscon, 1986. 

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Denning, Keith, Brett Kessier, William R. Leben. English Vocabulary Elements. OUP: Oxford, 2007.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Hardy Gavin, and Laurence Totelin. Ancient Botany. Routledge: New York, 2015.

Hellweg, Paul. The Wordsworth Book of Intriguing Words. Wordsworth Editions: Hertfordshire, 1993.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

Kean, Sam. The Disappearing Spoon: And Other True Tales of Madness, Love, and the History of the World from the Periodic Table of the Elements. Little, Brown, and Company: New York, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Fact Box

  • อันที่จริง คำว่า psephology ซึ่งแปลว่า วิทยาการเลือกตั้ง ก็มีหินเป็นส่วนประกอบด้วย อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ 
Tags: , ,