หลายปีก่อน ระหว่างที่นั่งคุยกันในร้านกาแฟหลังมหาวิทยาลัย รุ่นน้องคนหนึ่งซึ่งรู้ว่าผมตามอ่านงานเขียนของฮารูกิ มูราคามิ ถามผมว่าถ้าเขาอยากอ่านหนังสือของมูราคามิบ้าง ควรเริ่มอ่านจากเล่มไหนก่อน ผมไม่แน่ใจนักว่าตอนนั้นหนังสือของเขาแปลเป็นภาษาไทยมาแล้วกี่เล่ม แต่จำได้ว่าเคยเห็นผ่านตาและฟังจากหลายๆ คนว่าควรอ่านเล่มนั้นบ้าง เล่มนี้บ้าง ตามแต่เหตุผลที่ทุกคนคิดว่าดีและยกมาประกอบ ผมตอบรุ่นน้องไปว่าถ้าเอาความเห็นผมเป็นหลัก ผมอยากให้อ่านเรียงเล่ม เริ่มตั้งแต่เล่มแรกที่มูราคามิเขียน ไล่ไปเรื่อยๆ จะได้เห็นว่าเส้นทางการคิดในงานเขียนของเขาเป็นอย่างไร อีกแง่หนึ่งก็เหมือนได้เห็นว่าระยะเวลาที่ผ่านไป เพื่อนของเราคนนี้ ที่เราเลือกทำความรู้จักกับเขา มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างเมื่อผ่านเวลาและประสบการณ์

อย่างไรก็ดี ผมเองก็รู้ดีว่าความเห็นของผมไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน เพราะทั้งผมและรุ่นน้องไม่มีใครรู้ภาษาญี่ปุ่นมากไปกว่าบางคำในหนังวาบหวิว และหนังสือของมูราคามิเองทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ออกมาเรียงเวลาตามภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด สิ่งที่ทำได้คือพยายามเรียงกันไปตามมีตามเกิด ให้คิดเสียว่าช่วงใดช่วงหนึ่งที่ขาดไปก็เหมือนเพื่อนของเราย้ายไปอยู่ที่ห่างไกลติดต่อไม่ได้ ถ้าวันใดวันหนึ่งมีการแปลเล่มที่ตกหล่นออกมา ก็เหมือนมีโอกาสได้เจอกันอีกครั้งและรับรู้เรื่องราวในช่วงที่ขาดหายไป

Haruki Murakami goes to meet Hayao Kawai (ฮารูกิ มูราคามิ ไปพบฮายาโอะ คาวาอิ) เป็นหนึ่งในหนังสือเล่มที่หายไป ไม่เป็นไปตามลำดับเวลาของทั้งโลกภาษาไทยและโลกภาษาอังกฤษ ในโลกของภาษาญี่ปุ่น หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในปี 1996 ส่วนในโลกภาษาอังกฤษตีพิมพ์ในปี 2016 และในโลกภาษาไทยคือปีนี้ ปี 2018 ดังนั้น หนังสือเล่มนี้สำหรับผมแล้วก็เหมือนเรื่องเล่าของเพื่อนคนหนึ่งในช่วงที่หายไปติดต่อไม่ได้นั่นเอง

จากชื่อหนังสือเราคงไม่ต้องสงสัยว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ถ้าจะมีข้อสงสัย ก็คือใครสักคนที่มูราคามิไปพบนี้คือใคร

Hayao Kawai (ฮายาโอะ คาวาอิ) ที่มาภาพ: www.peoples.ru

ชื่อของฮายาโอะ คาวาอิ อาจไม่คุ้นหูนักสำหรับคนที่อยู่ห่างไกลจากเรื่องราวของแวดวงจิตวิทยา (นับผมเข้าไปด้วยนะครับ) แต่ในหมู่ผู้ที่ศึกษาและสนใจจิตวิทยาแล้ว เขาคือชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้คุณวุฒิเป็นนักวิเคราะห์สายจุงเกียน (Jungian Analyst) จาก Jung Institute Switzerland เป็นผู้ก่อตั้ง Japan Association of Sandplay Therapy และ Japanese Society of Certified Clinical Psychologists นอกจากนี้ คาวาอิยังเขียนหนังสือเผยแพร่งานวิชาการด้านจิตวิทยาอีกหลายเล่ม จนสามารถเรียกได้ว่าเขาคือหนึ่งในบุคคลสำคัญของประวัติศาสตร์การศึกษาจิตวิทยาของญี่ปุ่น

ชักน่าสนใจขึ้นแล้วใช่มั้ยครับ เดี๋ยวเรามาดูกันว่า นักเขียนกับนักจิตวิทยาเขาคุยอะไรกัน

เนื้อหาในหนังสือแบ่งโครงสร้างเป็นสามส่วน ได้แก่ บทนำของมูราคามิ บทสนทนาในระหว่างการพบกันสองคืน และบทตามของคาวาอิ ผมจะไม่กล่าวถึงบทนำและบทตามนะครับ เพราะมีเนื้อหาเพียงสั้นๆ แต่ในความสั้นนั้นก็มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย สองส่วนนี้ช่วยทำหน้าที่ “คลี่คลาย” ความเข้มข้นของบทสนทนาได้ดีเลยทีเดียวครับ

 

คืนที่ 1 คนเราเยียวยาอะไรด้วย “เรื่องเล่า”

ในบทสนทนาของคืนแรก มูราคามิและคาวาอิพูดถึงการมองเข้ามาในตัวตนของคนญี่ปุ่นและความเป็นญี่ปุ่นทั้งในแง่ของเชิงปัจเจกและในแง่ของส่วนรวมด้วยประสบการณ์ของคนที่เคยใช้ชีวิตในต่างประเทศ มูราคามิเริ่มต้นการเล่าเรื่องราวว่า ตอนที่เขาอยู่ญี่ปุ่น เขาอยากมีชีวิตแบบปัจเจก อยากหนีห่างไม่เข้าอยู่ร่วมกับกลุ่มหรือองค์กรใด แต่เมื่อไปอเมริกา กลับพบว่าเขาไม่จำเป็นต้องหนีอะไรด้วยวิธีการใช้ชีวิตแบบปัจเจก เพราะผู้คนในอเมริกานั้นใช้ชีวิตแบบปัจเจกกันเป็นพื้นฐานของสังคมอยู่แล้ว นั่นหมายถึงว่าคุณค่าหนึ่งที่มูราคามิยึดถือนั้นไม่มีความหมายอะไรในสถานที่อื่น

จากนั้น ทั้งสองได้ใช้ความแตกต่างระหว่างสองซีกโลกสำรวจไปในสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของชาวตะวันตกและตะวันออกในด้านสภาพจิตใจและการรับมือกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจ การใช้ภาพและคำในการทำจิตบำบัดด้วยกระบะทราย (Sandplay Therapy) โครงสร้างของภาษาและวัฒนธรรมในเชิงของการกำกับซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ และสิ่งที่สำคัญที่สุดหรือเรียกได้ว่าเป็นแกนของการพูดคุยในคืนนี้เลยคือเรื่องของ Commitment (การทุ่มเท) และ Detachment (การไม่แยแส) ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวมูราคามิเอง กับงานเขียน และผู้คนในยุคสมัย

 

คืนที่ 2 “ร่างกาย” และ “จิตใจ” ที่ขุดลงไปในจิตไร้สำนึก

ความต่อเนื่องของบทสนทนาในคืนที่สอง เริ่มต้นขึ้นที่ความสำคัญของร่างกายและจิตใจ มูราคามิได้เสนอขึ้นมาว่า หลังๆ เขาเริ่มหันมาเอาใจใส่สุขภาพมากขึ้น เขาออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพดีขึ้น และพบว่าหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางกายเกิดขึ้น สำนวนภาษาและมุมมองของเรื่องเล่าของเขาก็เปลี่ยนไป จึงทำให้เกิดความสงสัยในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจ จากหัวข้อนี้ ทั้งสองได้พูดคุยไปถึงเรื่องการบำบัดรักษาทางจิตในผู้ป่วย ความแตกต่างของเรื่องเล่าระหว่างผู้ป่วยและคนธรรมดา ในการแสดงออกผ่านเรื่องเล่าบนกระบะทราย ผลงาน และตัวตนของผู้สร้าง

จากหัวข้อของเรื่องเล่าและการบำบัด ทั้งสองได้แลกเปลี่ยนกันเรื่องศาสนากับการบำบัดจิต ส่วนนี้ได้เชื่อมโยงไปถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่น ความรุนแรงที่ว่าด้วยการรับมือ การแสดงออกของผู้คนในสังคม และเหตุการณ์การปล่อยแก๊ซพิษซารินโจมตีสถานีรถไฟใต้ดินในกรุงโตเกียวของลัทธิโอมชินริเกียวในปี 1995 ที่มีผลต่อความคิดในเรื่อง Commitment ของมูราคามิอย่างมาก

 

หลังจบบทสนทนา

ก่อนจะกล่าวถึงความรู้สึกและสิ่งที่ผมคิดกับหนังสือเล่มนี้ ผมขอให้ข้อมูลเบื้องต้นดังนี้ก่อนนะครับว่า บทสนทนาอันเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 1996 ก่อนหน้านั้นได้มีสองเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นกับตัวมูราคามิ เหตุการณ์ในระดับปัจเจกที่เกิดขึ้นกับมูราคามิคือการตีพิมพ์ผลงานชิ้นล่าสุดเรื่อง The Wind-Up Bird Chronicle (บันทึกนกไขลาน) ซึ่งเป็นผลงานชิ้นที่ยาวที่สุดของเขาในขณะนั้น และเหตุการณ์ต่อมาคือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสังคมญี่ปุ่นและสร้างความสั่นไหวต่อความรู้สึกของเขาคือการก่อการร้ายของลัทธิโอมชินริเกียว ในบทสนทนาจะมีสองเรื่องนี้เป็นส่วนสอดแทรกและเป็นดั่งแกนหลักสำคัญในการใช้ค้นหาคำตอบและตั้งคำถามซึ่งกันและกันของทั้งสองคน

ผมใช้เวลาไปกับบทสนทนาเล่มบางราว 150 หน้าถึงสองวัน โดยปกติแล้วเวลาระยะเวลาสองวันจะเป็นระยะเวลาเฉลี่ยในการอ่านหนังสือเล่มหนาเกิน 500 หน้า (ถ้าไม่ต้องทำงานอื่น) และเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าปกติในการอ่านก็คือความเข้มข้นของความหมายที่ทั้งสองใช้เป็นคำตอบในการสื่อสารของกันและกัน

สิ่งที่ผมสัมผัสได้ค่อนข้างชัดจากมูราคามิในบทสนทนา คือเขาอยู่ในสภาวะที่ไม่แน่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นฐานความคิดเดิมต่อสิ่งรอบกาย กล่าวคือ ตัวเขาเองนั้น แรกเริ่มเดิมทีไม่ได้ไม่มีความใส่ใจต่อสังคมญี่ปุ่นนัก คุณค่าที่ประกอบขึ้นมาเป็นโครงสร้างทางสังคมทำให้เขาอึดอัด และเขาเลือกที่จะไม่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ความรู้สึกนี้ถูกถ่ายทอดออกมาในงานเขียนช่วงแรกๆ อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นในเนื้อเรื่องหรือในวิธีการเล่าเรื่องที่มีวิธีคิดแบบตะวันตกแบบไม่สนใจตะวันออก หรือกล่าวให้ชัดยิ่งกว่านั้นก็คือแบบสังคมญี่ปุ่น

ต่อมา หลังจากที่ได้ไปใช้ชีวิตในตะวันตกทั้งในโลกเก่าอย่างยุโรปและโลกใหม่อย่างอเมริกา ประสบการณ์ได้หล่อหลอมและทำให้เขาเกิดความคิดในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของตัวเอง หรือสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นสังคมญี่ปุ่นที่เขาเคยละทิ้งไปอย่างไม่แยแส แต่การจะกลับมาอีกครั้งก็ยังมีปัญหาว่าตัวเขาเองยังไม่รู้ว่าจะจัดวางตัวเองอย่างไรลงในโลกใบเดิมที่ก็เปลี่ยนไปเหมือนอย่างที่เขาเปลี่ยน

ความรู้สึกไม่แน่ใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดนี้ได้ถ่ายทอดออกมาในเรื่องเล่าของบันทึกนกไขลานที่มีประเด็นของความเป็นอื่น ความรุนแรง และความปรารถนาในอำนาจทั้งในโครงสร้างของครอบครัว สังคม และระดับประเทศ

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าคาวาอิเป็นผู้ริเริ่มการบำบัดความเจ็บป่วยทางจิตด้วยกระบะทราย ดังนั้น สิ่งที่เขาเชี่ยวชาญคือการอ่านภาพจากการจัดวางสิ่งของในกระบะเพื่อสืบค้นเรื่องราวในความคิดของผู้ป่วยและให้คำปรึกษา สำหรับเขาแล้ว การตีความจากภาพเป็นกระบวนการสำคัญในการทำความเข้าใจใครสักคน แต่ถึงแม้ว่ามูราคามิจะไม่ได้จัดกระบะทรายให้เขาดู เขาก็มีเครื่องมืออื่นที่สำคัญกว่าในการทำความเข้าใจ นั่นคือ ภาพกับคำจากเรื่องเล่าของมูราคามิ

จากมุมมองของผม เมื่อพิจารณาการตอบคำถามของมูราคามิ ผมคิดว่าคาวาอิปล่อยให้มูราคามิได้แสดงออกมาก เขาทำหน้าที่เพียงเสริม หรือเปิดบทสนทนาให้ความคิดของอีกฝ่ายได้โลดแล่นออกมาอย่างเต็มที่ แต่อาจจะด้วยจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญในการอ่านสื่อเพื่อทำความเข้าใจ บทสนทนาจึงมีการอ้างอิงกลับไปที่เหตุการณ์สำคัญหลายๆ เหตุการณ์ในหนังสือบันทึกนกไขลาน และพยายามใช้เหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนในเรื่องอย่างการ “ลงไปในบ่อ” และการ “ขุดบ่อ” เป็นคำและความหมายสำคัญในการอธิบายปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

การกล่าวถึงเหตุการณ์ในหนังสืออีกเล่มบ่อยๆ นี้เป็นทั้งข้อดีและข้อจำกัดต่อผู้อ่านหนังสือที่เป็นบทสนทนาของทั้งคู่ ผมขอเริ่มที่ข้อจำกัดก่อนละกันนะครับ สำหรับผม ข้อจำกัดที่มีผลต่อผู้อ่านคือ การอ้างถึงหนังสืออีกเล่มบ่อยๆ เป็นการผลักผู้อ่านบางคนที่ไม่เคยอ่านไม่รู้จักหนังสืออีกเล่มออกไปจากการติดตามต่อหนังสือเล่มนี้  เพราะไม่เข้าใจว่าบริบทที่ทั้งสองคนเอ่ยถึงและอ้างถึงนั้นหมายถึงอะไร ข้อจำกัดนี้จริงๆ แล้วไม่เกิดขึ้นในโลกภาษาญี่ปุ่นนะครับ เพราะหนังสือเล่มนี้ออกตามบันทึกนกไขลานมาภายในเวลาไม่นาน

สำหรับข้อดี (ซึ่งดีมากๆ สำหรับผม) คือหนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนบทหนึ่งของ Companion to Haruki Murakami เพราะเป็นหนังสือที่เปรียบเสมือนการสำรวจจิตใจและกระบวนการคลี่คลายสภาวะในการทำงานของเขา เพราะมันเกิดขึ้นในระหว่างที่เขาอยู่ในช่วงของความสับสนระหว่างการปะทะกันในคุณค่าเก่าที่เขายึดถืออย่าง Detachment และ Commitment ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงในการเขียนจะกลายเป็นบทสรุปที่เขาเคยกล่าวถึงผลงานของตัวเองไว้ว่า งานในยุคแรกของเขาเป็นงานที่ว่าด้วยความมืดมนในเชิงปัจเจก แต่ในงานยุคหลังนั้นเป็นงานที่ว่าด้วยความมืดมนที่พบเห็นในสังคมและประวัติศาสตร์

อีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากสำหรับประเทศไทยที่การไปพบจิตแพทย์หรือการทำจิตบำบัดยังถูกผูกติดอยู่กับคำว่าบ้าหรือวิกลจริต หนังสือเล่มนี้คือการจำลองบรรยากาศของการพูดคุยกับนักจิตบำบัดและการอธิบายถึงขั้นตอนในการการรักษาโดยไม่ใช้คำใหญ่หรือคำยาก บทสนทนาในเรื่องได้แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการทำความเข้าใจตัวเองของคนที่อยู่ในภาวะไม่เข้าใจหรืออาจเข้าใจไม่มากพอ ผ่านการซักถามเสนอความคิดเห็น และเป็นการยืนยันว่าการพยายามทำความเข้าใจตัวเองให้ได้ดีที่สุดนั้น

บางทีเราต้องถูกมองเข้ามาในใจด้วยสายตาอื่น

 

บางคำ (Excerpt)

คาวาอิ: ตอนสมัยขบวนการนักศึกษา สิ่งที่ผมแกล้งเยาะนักศึกษาก็คือ ดูเหมือนว่าพวกเขากำลังทำสิ่งใหม่ๆ แต่มันเป็นการกระทำด้วยดีเอ็นเอลักษณะพื้นฐานเก่ามาก วิธีสร้างกลุ่มก็เก่าเหลือเกิน ซึ่งน่าสนใจนะครับ เวลาที่ทุกคนมารวมตัวกัน พอหนีประชุมนิดนึงก็จะถูกว่า มึงนี่ไม่ร่วมมือร่วมใจ ซึ่งก็คือไม่เปิดให้มีอิสรภาพในฐานะปัจเจก ไอ้คนที่คอมมิตติดหนึบกับส่วนรวมเป็นคนน่านับถือ ส่วนพวกคนที่พยายามทำอะไรด้วยความคิดส่วนตัวของตัวเองจะกลายเป็นพวกนอกรีตนอกรอย

แต่เรื่องนี้คนยุโรปหรืออเมริกันที่คอมมิตจะทำในฐานะปัจเจกครับ จะมาก็มา จะไม่มาก็ไม่มาได้

มูราคามิ: แต่สำหรับผม อาจจะฟังดูโอ้อวดมาก แต่ผมคิดว่า การจะทำความเข้าใจนวนิยาย บันทึกนกไขลาน อย่างแท้จริงคงต้องใช้เวลาอีกสักหน่อย

นวนิยายนั้นมีเรื่องที่ได้รับการยอมรับในทันทีและเรื่องที่ต้องใช้เวลา อย่าง แดนฝันปลายขอบฟ้า กว่าจะเป็นที่ยอมรับต้องใช้เวลานานทีเดียว เทียบกันแล้ว แกะรอย แกะดาว เป็นที่ยอมรับได้เร็ว นั่น แทบจะทันที บันทึกนกไขลาน น่าจะเป็นนวนิยายประเภทที่ต้องใช้เวลา

เพราะผมรู้สึกว่า นวนิยายก้าวไกลไปก่อนตัวผม ตอนนี้ผมกำลังไล่ตามภาพในนั้น

Fact Box

  • เนื่องจากฮารูกิ มูราคามิเป็นนักเขียนนวนิยายที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ผลงานของเขาจึงได้รับความสนใจจากทั้งนักวิชาการและบุคคลทั่วไปในการค้นหาความหมาย สำหรับผู้ที่สนใจ ผมมีสารคดีเรื่องหนึ่งอยากลองเสนอให้ดู เพราะเป็นสารคดีที่ออกแบบเก็บบรรยากาศในหนังสือมาได้อย่างเกือบครบถ้วน ลองชมดูได้จากที่นี่นะครับ Haruki MURAKAMI : In SEARCH of this elusive WRITER
  • Sandplay Therapy หรือกระบะทรายบำบัด คือการบำบัดจิตที่คิดค้นริเริ่มโดย Dora Kalff วิธีการหากกล่าวอย่างคร่าวๆ คือการให้ผู้ที่ต้องบำบัดใช้ของเล่นจิ๋วและสิ่งของอื่นๆ วางลงกระบะทรายเพื่อกระตุ้นพลังเยียวยาตัวเองของจิตใจ และการแลกเปลี่ยนกับผู้ให้การบำบัด ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก WHAT IS SAND PLAY THERAPY?
Tags: , , ,