Photo: wikipedia commons

ในชั่วโมงที่วงการเบียร์ไทยมีข่าวสารอัพเดตตลอดเวลา วงการเบียร์โลกก็ไม่เคยหยุดการพัฒนาเช่นเดียวกัน ล่าสุดสำนักข่าว Reuters รายงานเมื่อวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาว่า เบลเยียมได้เสนอต่อองค์การ UNESCO ให้ ‘อุตสาหกรรมเบียร์และวัฒนธรรมการดื่มเบียร์ของประเทศ’ เป็นหนึ่งในมรดกโลก ด้วยเหตุผลเบื้องต้นว่า วัฒนธรรมการทำเบียร์ช่วยส่งเสริม ‘ความเป็นหนึ่งเดียว’ ของประเทศที่มีภาษาราชการถึง 3 ภาษาในประเทศนี้

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าถ้าพูดถึง ‘สไตล์’ เบียร์ที่ได้รับความนิยม ‘เบียร์เบลเยียม’ ถือเป็นหนึ่งในสไตล์ที่คอเบียร์ชาวไทยคุ้นเคย เพราะในช่วงที่เบียร์อิมพอร์ตเริ่มเป็นที่นิยมมากในบ้านเรา เบลเยียมถือเป็นสไตล์เบียร์ลำดับต้นๆ ที่ขายดิบขายดี (โดยเฉพาะยี่ห้อ Hoegaarden) กระทั่งเมื่อเริ่มทำเบียร์ของตัวเอง ‘เบลเยียม’ ก็ถือว่าเป็นสไตล์คลาสสิกอีกหนึ่งสไตล์ที่นักต้มเบียร์หันกลับไปฝึกต้มกันมาก

ความน่าสนใจคือ เรากำลังพูดถึง ‘สไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ’ ไม่ใช่สไตล์ของเบียร์ (เช่น Ale, IPA หรือ Stout) อีกต่อไป จุดนี้จึงเป็นประเด็นที่มีน้ำหนักว่าทำไมการทำเบียร์ของเบลเยียมนั้นถึงไม่ใช่แค่เพียงหนึ่งในประเทศผู้ผลิตเบียร์ หากเป็นการสร้างวัฒนธรรมหนึ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

ถามว่าเบียร์เบลเยียมมีเอกลักษณ์อย่างไร?

ณัทธร วงศ์ภูมิ หรือคุณคิว เจ้าของเพจ Beercyclopedia เคยบอกว่า เบียร์จากเบลเยียมได้รับการยกย่องว่าเต็มไปด้วยนวัตกรรม

“ในขณะที่เบียร์เยอรมันคล้ายกันหมด เพราะกฎหมายเขียนชัดเจนว่าต้องใช้วัตถุดิบได้แค่ 4 อย่าง คือ น้ำ มอลต์ ดอกฮอป และยีสต์ แต่เบลเยียมไม่มีกฎนี้ เบียร์ของเขาจึงค่อนข้างหวือหวา จะใส่ผลไม้หรือช็อกโกแลตก็ใส่ได้เต็มที่ เบียร์เบลเยียมคือคราฟต์เบียร์ยุคเก่า เขาคราฟต์กันมาพันปีแล้ว เพียงแต่ไม่มีคนไปนิยามให้”

Photo: wikipedia commons

เบียร์ของเบลเยียมที่มีชื่อเสียงอย่างมากคือ Trappist Beer ซึ่งคือเบียร์ที่ผลิตกันในโบสถ์โดยนักบวช ยี่ห้อที่พอจะหาจิบในเมืองไทยได้ก็เช่น Chimay หรือ Westmalle

หากมองดูตัวเลขเชิงสถิติจากสมาคมผู้ผลิตเบียร์ของเบลเยียม (Belgian Brewers) ผู้ยื่นคำขอต่อ UNESCO รายงานเพิ่มว่า ประเทศเบลเยียมมีโรงเบียร์มากถึงเกือบ 200 โรง ผลิตเบียร์มากถึง 1,500 ชนิด แม้แต่อาหารประจำชาติของเบลเยียมเองก็มีเบียร์เป็นหนึ่งในนั้น และยังมีพิพิธภัณฑ์เบียร์มากถึง 30 แห่ง

บางส่วนจากใบสมัครกล่าวว่า การต้มเบียร์ในประเทศช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและช่วยให้ประเทศเข้มแข็ง อีกทั้งประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของการต้มเบียร์ในเบลเยียม มีความเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากการผลิตเบียร์ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cutural Heritage) ของยูเนสโก จะดำเนินงานการประชุมในอีกหนึ่งอาทิตย์ข้างหน้านี้ เพื่อตัดสินว่า ‘เบียร์เบลเยียม’ และอีก 36 กิจกรรมอื่น เช่น โยคะจากอินเดีย และหุ่นกระบอกของประเทศเช็ก และสโลวาเกีย จะได้มีชื่อติดหนึ่งในมรดกโลกหรือไม่

หากคำตัดสินผ่านฉลุยคงถือเป็นข่าวที่น่าชื่นใจของวงการเบียร์ทั่วโลกไม่น้อย ระหว่างนี้แฟนเบียร์ชาวไทยสามารถหยิบเบียร์เบลเยียมมาดื่มด่ำระหว่างลุ้นรอฟังข่าว หากมีข่าวสารอะไรคืบหน้า The Momentum จะรายงานอัพเดตให้ทราบทันที

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

 

ที่มา:
– http://mobile.reuters.com/article/idUSKBN13K17E