เหตุแผ่นดินไหวที่นิวซีแลนด์ขนาด 7.8 แมกนิจูด เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน 2559 ทำให้เกิดเหตุอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายร้อยครั้ง ซึ่งรวมถึงแผ่นดินไหวอีกครั้งขนาด 6.3 แมกนิจูดด้วย เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน โดยจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ใกล้เมืองท่องเที่ยวไคคูรา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองไครสต์เชิร์ช

แผ่นดินไหวครั้งนี้ถูกคาดการณ์ว่า จะเกิดเหตุอาฟเตอร์ช็อกไปอีก 2-3 เดือนข้างหน้า และมีความรุนแรงกว่าครั้งที่แล้วในปี 2554 อย่างไรก็ตามแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ได้สร้างความเสียหายเท่าครั้งที่แล้ว ที่คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 185 คน เพียงแต่อาคารบ้านเรือนและระบบสาธารณูปโภคเกิดความเสียหายกว่าแผ่นดินไหวครั้งก่อน

Photo: Handout, Reuters/profile

ทางการนิวซีแลนด์เร่งอพยพคนออกจากพื้นที่

ล่าสุดทางการนิวซีแลนด์ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์และเรือเร่งอพยพนักท่องเที่ยวหลายร้อยคนออกจากเมืองไคคูรา ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดังในเกาะทางตอนใต้ของนิวซีแลนด์ หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูด เมื่อเที่ยงคืนของวันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน 2559

การลำเลียงน้ำและอาหารไปยังพื้นที่เสียหายในเมืองไคคูราเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในตอนนี้ ซึ่งคาดการณ์ว่ามีนักท่องเที่ยวกว่า 1,200 คน ติดอยู่ในพื้นที่เป็นเวลา 2-3 วันแล้ว ขณะนี้บ้านเรือนไม่มีไฟฟ้าและการสื่อสารถูกตัดขาด ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าไปในพื้นที่ เพราะถนนและทางรถไฟถูกตัดขาด ทั้งนี้ความรุนแรงของแผ่นดินไหวทำให้ทางการนิวซีแลนด์เตือนให้ประชาชนในเมืองไครสต์เชิร์ชสำรองอาหารและสิ่งของจำเป็นไว้ล่วงหน้า

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่อยู่ในสภาวะเดียวกัน คืออดนอน และเศร้าโศกกับการเสียชีวิตหรือการสูญหายของสมาชิกในครอบครัว อย่างไรก็ตาม ชาวนิวซีแลนด์มีความคุ้นเคยกับเหตุประสบภัยธรรมชาติ ทำให้ทุกคนพร้อมช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามยากลำบากและแบ่งปันที่อยู่อาศัยให้กับคนที่บ้านเรือนเสียหาย

สถานที่ดูวาฬในเมืองไคคูราของนิวซีแลนด์ อยู่ห่างจากเมืองไครสต์เชิร์ช 150 กิโลเมตร และเป็นสถานท่องเที่ยวสำคัญของนิวซีแลนด์ ขณะนี้ถูกตัดขาด เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้เช่นกัน

ความเสียหายหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูด

แผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนี้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ทำลายพื้นที่ไร่สวน และตึกสูงในย่านธุรกิจในเมืองเวลลิงตัน ที่ตั้งอยู่บนเกาะเหนือ อย่างสำนักงานสถิติของนิวซีแลนด์ ที่เป็นสถานที่เก็บข้อมูลด้านเศรษฐกิจของประเทศนั้นเสียหายทั้งหมด ขณะนี้ทางการสั่งให้ประชาชนทำงานที่บ้าน

จอห์น คีย์ (John Key) นายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ ได้เดินทางไปที่เมืองไคคูรา และกล่าวว่า แผ่นดินถล่มกว่า 80,000-100,000 ครั้งที่มีสาเหตุมาจากแผ่นดินไหวนั้นร้ายแรงมาก เบื้องต้นคาดการณ์ว่าค่าเสียหายจะมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Photo: Reuters Photographer, Reuters/profile

นิวซีแลนด์แผ่นดินบริเวณวงแหวนแห่งไฟ

บริเวณวงแหวนแห่งไฟคือพื้นที่ที่ครอบคลุมภูเขาไฟที่ยังมีพลังอยู่กว่า 452 ลูก และตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีความยาวกว่า 40,000 กิโลเมตร และมีลักษณะเป็นแนวโค้งแบบเกือกม้า โดยแนวของวงแหวนเริ่มจากอเมริกาใต้ทางชายฝั่งของเมริกาเหนือข้ามช่องแคบเบริง (Bering Strait) จนมาถึงญี่ปุ่นและลงมาใต้สุดที่นิวซีแลนด์

แผ่นเปลือกโลกบริเวณนี้จะมีลักษณะคล้ายกับจิ๊กซอว์ที่แผ่นเปลือกโลกยังคงเคลื่อนไหว จึงทำให้บางครั้งแผ่นเปลือกโลกบริเวณนี้ยังชนกัน (Convergent Boundaries) ดึงออกจากกัน (Divergent Boundaries) หรือเสียดสีกัน (Transform Boundaries)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มาร์ก ควิกลีย์ (Mark Quigley) แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นอธิบายว่า “แผ่นเปลือกโลกบริเวณวงแหวนแห่งไฟนั้นมีอายุนาน และมีความเย็น เพราะอยู่บริเวณมหาสมุทร ดังนั้นแผ่นเปลือกโลกบริเวณนี้จะหนักและหนาแน่น ซึ่งพอเปลือกโลกบริเวณนี้ไปชนกับแผ่นเปลือกโลกอื่น แผ่นเปลือกโลกที่หนักกว่าจึงมีโอกาสที่จะจมและละลาย กลายเป็นหินหลอมละลายที่ร้อนมากใต้ผิวโลก และปะทุเป็นภูเขาไฟ”

Photo: GILLES ADT, Reuters/profile

ภูเขาไฟที่ยังมีพลังกว่า 75% อยู่บริเวณวงแหวนแห่งไฟ ทั้งภูเขาไฟในคาบสมุทรคัมชัตคา (Kamchatka Peninsula) ในรัสเซีย ภูเขาไฟรัวเปฮู (Ruapehu) ในนิวซีแลนด์ ภูเขาไฟกรากะตัว (Krakatoa) ในอินโดนีเซีย ภูเขาไฟฟูจิในญี่ปุ่น และภูเขาไฟโปโปคาเตเปตล์ (Popocatépetl) ในเม็กซิโก ซึ่งเป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่อันตรายที่สุดที่ตั้งอยู่บริเวณวงแหวนแห่งไฟ

แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดที่ผ่านมาล้วนเกิดขึ้นบริเวณวงแหวนแห่งไฟ ทั้งแผ่นดินไหวขนาด 9.5 แมกนิจูด ที่ชิลี และที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 อีกทั้ง 90% ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นบริเวณวงแหวนแห่งไฟ

อ้างอิง:
     – BBC
– Reuters
– http://nationalgeographic.org/encyclopedia/ring-fire/