The Game I Viet Nam by LE Brothers

นิทรรศการ The Game I Viet Nam by LE Brothers คือนิทรรศการศิลปะสื่อผสมที่ดึงประเด็นเกี่ยวกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมของเวียดนามในยุคหลังสงครามโลก จัดขึ้นโดยสองพี่น้องฝาแฝดศิลปินร่วมสมัยชาวเวียดนาม เล หง็อก ตาน (Le Ngoc Thanh) และ เล ดึก ฮาย (Le Duc Hai) ในนาม เล บราเธอร์ส (LE Brothers)

นิทรรศการเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และ The Momentum ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน Artist Talk ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 เพื่อฟังเรื่องราวที่มาที่ไปของงานแสดงชุดนี้จากปากของศิลปินเอง

เรื่องราวจากความทรงจำวัยเด็ก

จุดหนึ่งที่ทำให้เราสนใจนิทรรศการนี้คือ Subject ของนิทรรศการที่พูดถึง ‘เวียดนามยุคหลังสงครามโลก (หลัง พ.ศ. 2518)’ จริงอยู่ว่าในสื่อต่างประเทศและการรับรู้เกี่ยวกับประเทศเวียดนามของประชากรโลก มักจะวนเวียนอยู่กับ ‘สงครามเวียดนาม’ และบริบทในเรื่องประเทศคอมมิวนิสต์ แต่ในแง่ของภาวะเปลี่ยนผ่านและมุมมองจากปัจเจก เป็นเรื่องที่ประเทศอื่นยังรับรู้น้อยมาก

เช่นเดียวกันกับผู้ชมที่นั่งอยู่ในห้องเสวนา ศิลปินทั้งสองคนตระหนักถึงความรับรู้นี้ และนั่นจึงเป็นที่มาของนิทรรศการในครั้งนี้

หลังจากเวียดนามแยกประเทศออกเป็น เวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ เป็นเวลากว่า 21 ปี ใน พ.ศ. 2518 คือปีที่ทั้งสองส่วนของเวียดนามกลับมารวมกันอีกครั้งในชื่อ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และเป็นปีเดียวกันกับปีเกิดของศิลปินทั้งสอง

เล บราเธอร์ส เล่าให้เราฟังว่า การเปลี่ยนผ่านของประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวมีความแตกต่างจากช่วงสงครามเวียดนามอย่างสิ้นเชิง ทั้งนโยบายของรัฐที่เข้มงวดขึ้น การกดขี่ทางเศรษฐกิจ การปิดรับความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนอย่างเข้มงวด เด็กที่เกิดขึ้นมาในยุคนั้นจึงอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของประเทศที่มีเบื้องหลังเป็นสงครามและความแตกต่างทางความคิดของผู้คน และแน่นอนว่าความจริงเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ประชากรโลกกระแสหลักจะมองหรือตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้เลย

The Game I ผู้ล่า การละเล่น และการแสวงหาสันติภาพ

“แล้วทำไมถึงใช้ชื่อ The Game” บางส่วนในกลุ่มผู้ฟังเกิดคำถาม

คำว่า Game สามารถแปลได้สองความหมายคือ ‘การละเล่น’ แบบที่พวกเราเข้าใจ แต่ในอีกแง่หนึ่งคำนี้ยังหมายถึง ‘การล่า’ ที่เกิดจากการต่อสู้กันของคนอย่างน้อยสองฝ่าย นิทรรศการครั้งนี้จึงนำเสนอออกเป็น 4 ส่วน ภายใต้ความหมายที่ซ้อนทับกันของ ‘Game’

ส่วนแรก ที่เปรียบเสมือนแกนหลักของงาน คือวิดีโออาร์ต 24 ช่อง ความยาวช่องละ 1 ชั่วโมง นำแสดงโดยพี่น้องทั้งสองกับ ‘ปืนไม้’ และการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ในเมืองเว้ (Hue) เมืองที่พวกเขาย้ายมาอาศัยและเติบโตขึ้นมา ซึ่งเป็นเมืองที่ใกล้กับเส้นแบ่งระหว่างเวียดนามเหนือและใต้ในอดีต แสดงภาพจำลองของ ‘Game’

ซึ่งการละเล่นของเด็กที่เติบโตขึ้นมาในยุคนั้นคือ การเอาวัสดุที่ใกล้ตัวมาทำเป็นอาวุธ และสร้างบทบาทสมมติขึ้นมาในบริบทของการต่อสู้ โดยจินตนาการของพวกเขาจะสามารถเป็นผู้กำหนดจุดจบได้เอง ซึ่งต่างจากแวดล้อมที่เขาเติบโตขึ้นมา

ส่วนที่สอง คือภาพถ่าย 24 รูป ที่เกิดจากระหว่างการถ่ายทำวิดีโออาร์ต ทั้ง 24 ช่อง ซึ่งทำหน้าที่เป็นสตอรีบอร์ดสรุปเรื่องราวจากวิดีโอที่แสดง

ประติมากรรมในส่วนที่สาม ประกอบด้วย ประติมากรรมปืนไรเฟิล AR-15 จากอเมริกา และ AK-17 จากสหภาพโซเวียต ซึ่งทำขึ้นเลียนแบบขนาดจริง แต่ใช้วัสดุจากไม้ ทาสีแดง และตกแต่งด้วยลวดลายมังกรสีทอง ซึ่งสองพี่น้องเล่าว่าเป็นลายศิลปะ ที่นักเรียนศิลปะทุกคนต้องเรียนในโรงเรียนศิลปะที่เวียดนาม

ในขณะที่ประติมากรรมอีกชิ้นคือ งานการออกแบบเครื่องแบบทหารที่ทั้งสองพี่น้องได้รวบรวมเครื่องแบบทหารในเวียดนามเหนือและใต้เข้าไว้ด้วยกันในชุดเดียว จนหากมองเพียงผิวเผินจะไม่สามารถบอกได้ทันทีว่ามาจากฝั่งไหน แถมตอกย้ำสัญลักษณ์การร่วมกันของสงครามและเสรีภาพด้วย ทั้งตราประดับรูปนก ดอกไม้ ระเบิด และกระสุนปืน สะท้อนว่าลึกๆ แล้ว เด็กๆ ทุกคนมีจิตสำนึกที่แสวงหาสันติภาพ

ก้าวข้ามความทรงจำ

การก้าวต่อไปคือหนึ่งในสิ่งที่ชาวเวียดนามทุกคนในยุคหลังสงครามโลกจะต้องเผชิญ โดยที่ต่างคนก็จะมีวิธีต่างกันไปเช่นเดียวกับเด็กน้อยวันนั้นที่เขียนบทให้ตัวเองรบชนะในสนามหลังบ้านของตัวเอง

ส่วนที่สี่ ของนิทรรศการคือห้องรวมรวบความทรงจำ หรือ Archive Section ที่ศิลปินจัดวางหลักฐานการบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเวียดนามในยุคนั้น ทั้งหนังสือ วรรณกรรม ที่บ้างไม่เคยได้มีโอกาสเผยแพร่ในประเทศ รวมถึงภาพถ่ายขาวดำของครอบครัว และคนรู้จักของศิลปิน ที่ถ่ายขึ้นช่วงก่อนและหลังสงครามเวียดนาม

“การเรียนรู้ถึงรอยร้าวความแตกแยกและความเจ็บปวดในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน คือ ยาชั้นดีที่จะทำให้คนที่ดำรงอยู่สามารถก้าวต่อไปได้อย่างแข็งแรง” ศิลปินกล่าวสรุปในตอนท้าย

เล บราเธอร์ส ทิ้งท้ายว่า The Game จะเป็นงานสุดท้ายที่ทั้งสองจะดึงประเด็นสังคม การเมืองของเวียดนาม และความทรงจำในวัยเด็กของทั้งสองขึ้นมาพูด หลังจากนั้นพวกเขาจะมุ่งสร้างงานศิลปะร่วมสมัยที่ไม่ดึงประเด็นเรื่องเชื้อชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ใครที่ชอบแนวคิด วิธีการทำงานสไตล์ของสองพี่น้อง ก็ต้องรอติดตามผลงานชิ้นต่อไป เผื่อจะมีภัณฑารักษ์ใจดีหยิบผลงานมาแสดงในบ้านเราอีก ระหว่างนี้สามารถเข้าชมผลงานศิลปะจัดวางของสองพี่น้อง ‘เล บราเธอร์ส์’ ได้ที่ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน จนถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560

นิทรรศการสื่อผสม The Game I Viet Nam by LE Brothers
ศิลปิน: LE Brothers
Time: วันนี้ – 19 กุมภาพันธ์ 2560
Place: หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน, ซอยเกษมสันต์ 2 BTS สนามกีฬาแห่งชาติ

Tags: , , , , , ,