ในวันที่ความในใจของทุกคนส่งถึงคนปลายทางในเวลาแสนสั้น เพียงเคาะแป้นคีย์บอร์ดหรือทัชหน้าจอสมาร์ทโฟนไม่กี่นาที

เวิร์กช็อป ‘Gothic Calligraphy’ หรือ ‘ศิลปะการเขียนอักษรวิจิตร’ ที่ co-living space ในโครงการ Open House ที่ชั้น 6 ของศูนย์การค้า Central Embassy ที่ผู้เรียนต้องสาละวนและจดจ่ออยู่กับการสร้างตัวอักษรนานร่วมสามชั่วโมงด้วยปากกา Fountain Pen หัวตัด เพื่อจะได้หนึ่งคำที่ต้องการสื่อ กลับเต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมวัฒนธรรมการทัชสกรีน

คึกคักราวกับเป็นเรื่องใหม่ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่

ย้อนกลับไปเมื่อหลายพันปีก่อน ศิลปะการเขียนตัวอักษรวิจิตรถูกพัฒนาควบคู่กับอุปกรณ์ขีดเขียน เริ่มตั้งแต่ 8,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวอียิปต์คิดค้นอักษรภาพจากการใช้หินแหลมขีดลงบนแผ่นดินเหนียว เพื่อบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้า

เราหาข้อมูลเพิ่มเติม และพบว่า 5,000 ปีต่อมา หลังจากชาวอียิปต์คิดค้นกระดาษปาปิรุส พวกเขาก็สร้างสรรค์อุปกรณ์จดบันทึกควบคู่กันไป ซึ่งต่อมากลายเป็นต้นแบบในการพัฒนาปากกาต้นกก (Reed Pen)

พอเป็นกระดาษก็พกพาและส่งต่อให้คนอื่นอ่านได้ง่าย การเขียนอักษรวิจิตรจึงถูกใช้ในการเขียนจดหมายสื่อสารกันมากขึ้น

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 6 ปากกาขนนก (Quill Pen) ซึ่งมีความทนทาน แต่พริ้วไหวยืดหยุ่นตามการเคลื่อนไหวของมือ แถมก้านขนนกยังเก็บน้ำหมึกได้ดีสุดๆ ก็เป็นฝ่ายช่วงชิงความนิยม แล้วก็ฮิตติดลมบนสุดๆ ในยุคกลาง (Middle Ages) เรื่อยมาจนถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของการเขียนจดหมายถึงกัน

ปากกาขนนกฮิตตีคู่สูสีมากับปากกาคอแร้ง (Dip Pen) ซึ่งเป็นปากกาโลหะที่มีรอยผ่ากลาง ทำให้ลากเส้นตัวอักษรได้ยาวนานโดยไม่ต้องจุ่มหมึกซ้ำๆ และยกระดับการสร้างสรรค์อักษรวิจิตรด้วยการเปลี่ยนขนาดของหัวปากกา (Nib) ได้ ทำให้ได้ตัวอักษรในรูปแบบที่ต้องการ

การเลือกใช้ปากกาในยุคนี้เป็นอะไรที่สนุกสนาน ดังที่มีอักษรโรมันหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ ชาวตะวันตกจึงเลือกปากกาจากประเภทของงานเขียนเป็นหลัก เช่น หากต้องการเขียนจดหมายทางการ ก็จะเลือกหัวปากกาให้เหมาะกับการเขียนตัวอักษรสไตล์ Rustic Capitals แต่หากต้องการเขียนถึงเพื่อนฝูง คนรัก หรือเพียงแค่ถ่ายทอดความคิดอ่านลงบนกระดาษ ก็จะเลือกใช้หัวปากกาที่เขียนตัวอักษรในสไตล์ Roman Cursive หรือ Half Uncial ส่วนในโลกตะวันออก บรรดานักคิดนักเขียนสนุกกับการเปลี่ยนแปรงพู่กันเพื่อสร้างอักษรภาพมากกว่า

จุ่มไปจุ่มมาอยู่ร่วมพันปี ทั้งโลกตะวันออกและโลกตะวันตก ในที่สุด ลูวิส วอเทอร์แมน (Lewis Waterman) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ก็คิดค้น Fountain Pen ปากกาบรรจุหมึกในตัวได้สำเร็จในปี 1884

ปากกาแบบนี้ไม่ต้องจุ่มหมึกเรื่อยๆ ให้เหนื่อยใจ และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิตปากกานำไปพัฒนาต่อ จนเป็นที่จดจำของคนรักการเขียนและการสร้างสรรค์ตัวอักษรทั่วโลก

ประวัติศาสตร์สนุกๆ ที่ซ่อนอยู่หลังตัวอักษรสวย และปากกา Kaweco Fountain Pen ดีไซน์แปดเหลี่ยมรุ่นเก่าแก่จากเยอรมนี ทำให้ นลิน ดำรงค์กิจการ ผู้ก่อตั้งสมุดบันทึกแบรนด์ Zequenz และผู้นำเข้าปากกา Kaweco ที่หลงรักการจดบันทึกพอๆ กับการอ่าน จับเข่าคุยกับ เชน สุวิกะปกรณ์กุล ผู้บริหารและผู้ดูแล Open House Bookshop by Hardcover ร่วมกันจัดเวิร์กช็อปขนาดอบอุ่นนี้ขึ้น

“เหตุผลหนึ่งคือการนำสัมผัสเก่าแก่ของมนุษย์คืนกลับมาด้วยการเชื่อมโยงความรู้สึกนึกคิด มือ และอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับภาพอักษรที่ตรงกับความนึกคิดเข้าไว้ด้วยกัน เกิดเป็นงานศิลปะที่บอกเล่าตัวตนของผู้สร้างได้อย่างหมดจด” คุณนลินบอกเราอย่างนั้น

​ส่วนคุณเชนมองว่าการเขียนอักษรวิจิตรเป็นงานศิลปะที่เหมาะสมลงตัวทั้งในแง่ยุคสมัยและสถานที่ “เราสองคนค่อนข้างให้ความสำคัญกับการเขียนพอๆ กับการอ่าน ในวันที่เรามี distraction ทุกนาที การทำ calligraphy ทำให้เรา concentrate ตอนเราวางคอนเซปต์ที่นี่ เราต้องการฉลองวัฒนธรรมสิ่งพิมพ์ การเขียนก็ช่วยเติมเต็มการเฉลิมฉลองนั้นให้สมบูรณ์ขึ้น”

 

FACT BOX:

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากชั้นเรียน

เวลาเขียน ใจของเราต้องอยู่ที่ปลายปากกา โลกของเราอยู่ตรงนี้แล้ว ทุกเส้นที่เราลากจะมีความหมาย ถ้าเราอยู่บ้านนั่งวาดรูปไปเรื่อยๆ เราไม่ได้มีสมาธิ มือมันไปเอง แต่การทำงานนี้มันต่างออกไป มันคือการวาดรูปให้กลายเป็นตัวอักษร ดังนั้น ใครที่ลายมือไม่สวยก็อาจเขียน calligraphy ได้ดีก็ได้

Tags: , , , , , , , , , , ,