ไม่น่าเชื่อว่าเผลอเพียงแป๊บเดียว ปี 2019 ก็ผ่านพ้นไปแล้วครึ่งหนึ่ง ชวนให้นึกถึงคำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นครึ่งหนึ่งในภาษาอังกฤษ

ด้วยความที่ภาษาอังกฤษมักอาศัยการเติมส่วนเติมหน้าหรือ prefix ต่างๆ ในการสร้างคำเพื่อสื่อความหมายเกี่ยวกับปริมาณหรือจำนวน (เช่น bi- ใน bicycle หรือ tri- ใน triangle) จึงไม่แปลกที่จะมีส่วนเติมหน้าต่างๆ ที่ใช้เพื่อบอกปริมาณกึ่งหนึ่งด้วย

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในภาษาอังกฤษมีส่วนเติมหน้าที่ใช้บอกปริมาณกึ่งหนึ่งหลายตัวพอสมควร

ดังนั้น สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่าส่วนเติมหน้าเหล่านี้ได้แก่อะไรบ้าง มีที่มาจากไหน และไปปรากฏตัว (หรือแฝงตัว) อยู่ในคำไหนบ้าง

Hemi-

Hemi- เป็นส่วนเติมหน้าที่ยืมมาจากภาษากรีก มีความหมายว่า ครึ่งหนึ่ง ในภาษาอังกฤษจะพบคำที่ขึ้นต้นด้วย hemi- ได้พอสมควร โดยเฉพาะศัพท์เชิงวิทยาศาสตร์ คำไหนที่มี hemi- ไปปรากฏก็จะมีความหมายว่า ครึ่งหนึ่ง เช่น hemisphere มาจาก hemi- รวมกับ sphere ที่แปลว่า ทรงกลม หรือ ลูกโลก จึงได้ความหมายว่า ซีกโลก

ส่วนมากแล้ว hemi- มักหมายถึงการแบ่งครึ่งตามแนวดิ่งหรือแนวยาวให้สมมาตรกัน (ยกเว้นคำว่า hemisphere) เช่น คำว่า hemicylinder ก็จะหมายถึง ทรงกรวยที่แบ่งออกเป็นครึ่งหนึ่งในแนวดิ่ง จากปลายแหลมตรงยอดลงมาที่ฐาน (ไม่ใช่แบ่งเป็นท่อนยอดกับท่อนฐาน) หรือ hemiplegia ก็จะหมายถึง อาการอัมพาตซีกซ้ายหรือซีกขวาของร่างกาย (ไม่ใช่แบ่งเป็นท่อนบนและท่อนล่าง)

ทั้งนี้ ส่วนเติมหน้า hemi- ยังซ่อนตัวอย่างแนบเนียนอยู่ในคำว่า migraine หรืออาการปวดหัวข้างเดียวด้วย ชื่ออาการนี้มาจาก hemicrania ในภาษาละติน เกิดจาก hemi- รวมกับ kranion ที่แปลว่า กะโหลก ในภาษากรีก (เป็นที่มาของคำว่า cranium ที่แปลว่า กะโหลก ในภาษาอังกฤษ) รวมความหมายได้ว่า อาการปวดหัวซีกเดียว คำนี้ชาวฝรั่งเศสเป็นคนยืมภาษาละตินมาใช้ พอใช้ไปใช้มา เสียง he พยางค์แรกก็หายไปเหลือแค่ migraine ภาษาอังกฤษจึงยืมรูปนี้มาใช้ ทำให้โรคนี้มีชื่อว่าไมเกรนแบบที่เรารู้จักกัน ไม่ใช่เฮมิเครเนีย (ทั้งนี้ คำนี้อ่านได้ทั้ง ไมเกรน และ มีเกรน)

แต่ในสมัยก่อน ด้วยความที่ชาวบ้านทั่วไปไม่ได้มีความรู้ภาษากรีกละติน รู้แต่ว่าปวดหัวข้างเดียวเรียกไมเกรนและอาการแบบนี้สร้างความทุกข์โศกให้กับชีวิต จึงเข้าใจกันไปว่าคำนี้น่าจะมาจากคำว่า grim ที่แปลว่า เคร่งขรึม เลวร้าย ด้วยเหตุนี้ คนจำนวนไม่น้อยจึงเรียกโรคนี้ว่า megrim ด้วย (แต่ปัจจุบันแทบพบแล้ว)

Semi-

Semi- แปลว่า ครึ่งหนึ่ง เช่นเดียวกับ hemi- แต่มาจากภาษาละติน ส่วนที่หน้าตาดูละม้ายคล้ายคลึงกันมากนั้นก็เป็นเพราะว่า ทั้งสองคำมาจากรากภาษาโปรโตอินโดยูโรเปียนเดียวกัน (ภาษาที่เชื่อกันว่าเป็นภาษาดั้งเดิมก่อนที่จะแตกสายไปเป็นภาษากรีกโบราณ ละติน บาลี สันสกฤต) 

ทั้งนี้ semi- เป็นส่วนเติมหน้าที่พบได้มากกว่า hemi- ใช้ในความหมายว่า ครึ่งหนึ่ง ได้ เช่นในคำว่า semicircle (ครึ่งวงกลม) หรือ semiannual (ทุกครึ่งปี) แต่ทั้งนี้ semi- ไม่จำเป็นต้องใช้กับระยะหรือปริมาณที่ชั่งตวงวัดได้ครึ่งหนึ่งก็ได้ และสามารถนำมาใช้สื่อความหมายที่มีความเป็นนามธรรมกว่านั้นหมายถึง กึ่ง หรือ ค่อนข้าง ตัวอย่างเช่น semiaquatic มาจาก semi- รวมกับ aquatic ที่หมายถึง เกี่ยวข้องกับน้ำ คำนี้ปกติแล้วใช้อธิบายสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำเป็นบางช่วงเวลา เช่น ตัวนาก เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้แปลว่าหากเราจับเวลาตลอดชีวิตของตัวนากแล้วจะอยู่ในน้ำกึ่งหนึ่งพอดี หรืออย่างคำว่า semi-permanent ก็จะแปลว่า เกือบถาวร อาจจะใช้อธิบายสิ่งปลูกสร้างที่จะคงอยู่จนกว่ามีเหตุให้ต้องรื้อถอนเป็นต้น

ส่วนเติมหน้า semi- นี้ ยังไปเป็นส่วนหนึ่งของส่วนเติมหน้า sesqui- ที่แปลว่า หนึ่งกับอีกครึ่ง ด้วย มาจาก semis ที่แปลว่า ครึ่งหนึ่ง รวมกับ que ที่ใช้เติมท้ายหมายถึง และ ในภาษาละติน ได้ความหมายว่า เพิ่มอีกครึ่งหนึ่ง ส่วนเติมหน้า sesqui- นี้ปรากฏในคำเช่น sesquicentennial หมายถึง ครบรอบ 150 ปี หรือ sesquipedalian อันเป็นคุณศัพท์หมายถึง คำที่ยาวหลายพยางค์ มาจาก sesqui- ที่แปลว่าหนึ่งครึ่ง รวมกับ ped ที่แปลว่า เท้า หรือ ความยาวหนึ่งฟุต รวมได้ความหมายว่า คำที่ยาวหนึ่งฟุตครึ่ง นั่นเอง (คำนี้ Horace กวีชาวโรมันคิดขึ้นเพื่อเสียดสีพวกชอบใช้คำยาวๆ แต่ดันมีคนหยิบมาใช้จริงจัง) 

นอกจากนั้น semi ยังใช้เป็นคำโดดเป็นสแลงได้ด้วย หมายถึง อวัยวะเพศชายที่กึ่งแข็งตัว เช่น Look at his pants. I think he’s sporting a semi. ก็คือ ดูกางเกงมันดิ เราว่าน้องชายมันแอบตื่นเบาๆ ว่ะ

Demi-

ส่วนเติมหน้านี้ ไม่ได้มาจากรากภาษาโปรโตอินโดยูโรเปียนเดียวกันกับ hemi- และ semi- แต่ยืมมาจากภาษาฝรั่งเศสอีกที กร่อนมาจากคำว่า dimidius ในภาษาละตินที่แปลว่า ครึ่งหนึ่ง (สร้างมาจาก medius ที่แปลว่า ตรงกลาง (เช่นในคำว่า medium) แล้วเติม dis- ที่หมายถึง แยกออก เข้าไปด้านหน้า)

ส่วนเติมหน้า demi- นี้พบได้ในคำจำนวนไม่มากในภาษาอังกฤษ เช่น demigod หรือพวกกึ่งเทพ อาจมีพ่อแม่ฝ่ายหนึ่งเป็นเทพแต่อีกฝ่ายเป็นมนุษย์ธรรมดา (เช่น Hercules ในปกรณัมโรมัน) อีกคำที่น่าสนใจคือคำว่า demimonde มาจาก demi- รวมกับ monde ที่แปลว่า โลก เป็นชื่อบทละครของนักเขียนบทละครชาวฝรั่งเศสเมื่อเกือบ 200 ปีก่อน ว่าด้วยผู้หญิงที่คบหาสมสู่กับผู้ชายมีเงินไปทั่วและใช้ชีวิตอู้ฟู่ คำนี้จึงถูกนำมาใช้เรียกชนชั้นผู้หญิงที่มีพฤติกรรมแบบนี้

Half-

นอกจากจะใช้เป็นคำโดดๆ ได้แล้ว คำว่า half ยังนำมาประกอบกับคำอื่นเพื่อสื่อใจความว่า ครึ่งหนึ่ง ได้ด้วยเช่น half-truth หมายถึง ความจริงเพียงครึ่งเดียว halfway หมายถึง ครึ่งทาง หรือ half-baked ที่หมายถึง คิดเสร็จเพียงครึ่งๆ กลางๆ 

แต่นอกจากนั้น half- ยังนำมาใช้หมายถึง ครึ่งหนึ่ง ในเชิงสายเลือดได้ด้วย นั่นก็คือใช้เรียกพี่น้องต่างบิดาหรือมารดา เช่น half-brother หรือ half-sister เป็นต้น

 

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/ 

http://mentalfloss.com/article/59521/semi-hemi-demi-whats-difference 

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayers, Donald M. English Words from Latin and Greek Elements. 2nd ed. The University of Arizona Press: Tuscon, 1986. 

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Claiborne, Robert. The Roots of English: A Reader’s Handbook to Word Origins. Random House: New York, 1989.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Hellweg, Paul. The Wordsworth Book of Intriguing Words. Wordsworth Editions: Hertfordshire, 1993.

Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.

Shorter Oxford English Dictionary

Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.

Fact Box

  • อันที่จริง ภาษาอังกฤษเก่ามีส่วนเติมหน้าที่แปลว่า ครึ่งหนึ่ง เป็นของตัวเองด้วย นั่นคือ sam- เป็นญาติกับ hemi- และ semi- ด้วยเพราะมาจากรากภาษาโปรโตอินโดยูโรเปียนเดียวกัน แต่หมดความนิยมและแทบจะสาบสูญไปจากภาษาอังกฤษแล้ว หลงเหลือไว้แต่ในคำว่า sand-blind แปลว่า สายตาฝ้าฟาง มาจาก sam- ที่แปลว่า กึ่งหนึ่ง รวมกับ blind ที่แปลว่า ตาบอด แต่เนื่องจากทรายกับความพร่ามัวดูจะมีความสัมพันธ์กัน คนรุ่นหลังเลยเข้าใจว่า sam- ในพยางค์แรกน่าจะหมายถึง sand จึงออกเสียงและเขียนใหม่ว่า sand-blind
Tags: , , ,