ความเศร้าหลังการสูญเสียเป็นบทเรียนลัดให้กับคนที่อยู่ข้างหลังได้รู้จักและเข้าใจความไม่แน่นอน  มองโลกอย่างมีสติ และเห็นความเชื่อมโยงของชีวิตต่อชีวิตชัดเจนมากขึ้น

[…] I haven’t started this ‘note before I die’ so that death is feared – I like the fact that we are mostly ignorant to it’s inevitability… Except when I want to talk about it and it is treated like a ‘taboo’ topic that will never happen to any of us.. That’s been a bit tough. I just want people to stop worrying so much about the small, meaningless stresses in life and try to remember that we all have the same fate after it all so do what you can to make your time feel worthy and great, minus the bullshit.

นี่คือส่วนหนึ่งของจดหมายลาที่เขียนขึ้นโดยหญิงสาววัย 27 ปีที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งอย่าง ฮอลลี่ บุชเชอร์ (Holly Butcher) เนื้อความในจดหมาย ว่าด้วยการเตือนให้คนที่ยังอยู่ได้มองเห็นความงามและคุณค่าของการใช้เวลาอยู่ร่วมกับคนที่รักและลงมือทำในสิ่งที่อยากทำ แสดงให้เห็นถึง ‘การจัดการ’ ที่ถูกวางแผนไว้ไม่ให้คนข้างหลังเศร้าเกินไปและตั้งสติเพื่อเดินต่อ

เมื่อความตายคือความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงเวลาหนึ่งที่การแสดงถึงความเศร้ากลายเป็นสิ่งต้องห้าม จนมาถึงในวันนี้ที่การแสดงออกถึงความเสียใจได้เป็นไปในทิศทางเชิงบวกมากขึ้น ทั้งการส่งสารคำปลอบใจผ่านคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กหรือการมีงานศพตามสั่ง ด้วยการความช่วยเหลือจากแพลตฟอร์มออนไลน์

ใจสลาย แต่ต้องไปต่อ

ความเคลื่อนไหวด้านการจัดการความเศร้านั้นถูกพูดถึงอย่างเปิดกว้างมากขึ้น ผ่านการสะท้อนมุมมองที่มีต่อความสูญเสียและความรู้สึกไม่มั่นคงจากผู้ที่ผ่านเหตุการณ์นั้นมาก่อน

เชอรีล แซนด์เบิร์ก (Sheryl Sandberg) ผู้บริหารแผนกการปฏิบัติการ (Chief Operations Officer หรือ COO) แห่งเฟซบุ๊ก คือหนึ่งในผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงคนสำคัญ หลังจากการสูญเสียสามีอย่างกะทันหันในปี 2015

เชอรีลโพสต์สเตตัสถึงความรู้สึกเสียใจที่เกิดขึ้น ถ้อยความเป็นไปอย่างซื่อสัตย์และจริงใจที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เธอได้รับคอมเมนต์เกือบแสนข้อความที่เข้ามาให้กำลังใจ คำปลอบใจกลายเป็นแรงผลักให้เชอรีลเขียนหนังสือร่วมกับเพื่อนผู้เป็นนักจิตวิทยาอย่าง อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ให้ผลลัพธ์เป็น Option B: Facing Adversity, Building Resilience, and Finding Joy หนังสือที่ว่าด้วยความตาย ความโศกเศร้า และการฟื้นฟูสภาพจิตใจหลังการสูญเสียครั้งใหญ่ ขั้นตอนและวิธีการจัดการชีวิตสำหรับคนที่สูญเสีย ช่วยส่งพลังและฟื้นฟู

ทั้งเชอรีลและอดัมร่วมกันท้าทายความคิดเดิมที่เคยมองกันว่าความเศร้าเป็นเรื่องยากต่อการผ่านพ้น แล้วลงมือช่วยเหลือผู้คนจากความโศกเศร้า

อีกตัวอย่างหนึ่งเห็นได้จากภาพยนตร์สารคดี Our Mother: Her life and Legacy ว่าด้วยชีวิตของเจ้าหญิงไดอาน่าที่ถ่ายทอดผ่านการเล่าเรื่องราวของลูกชายสองคนคือ เจ้าชายวิลเลี่ยมและเจ้าชายแฮรี เปิดใจเล่าเรื่องเกี่ยวกับการสูญเสียแม่ผู้เป็นที่รัก ที่ในวันนั้นพวกเขามีอายุเพียง 15 และ 12 ปีเท่านั้น สารคดีเรื่องนี้ไปค้นพบประสบการณ์ส่วนบุคคล และวิธีการที่ทั้งสองคนรับมือกับการสูญเสียท่ามกลางสายตาจับจ้องจากคนทั้งโลก

คลับคนเศร้า แชร์เรื่องเล่าของการสูญเสีย

นอกจากการปรับทัศนคติต่อความเศร้าและการสูญเสียที่มีแนวโน้มไปในเชิงบวกแล้ว การมีแพลตฟอร์มเทคโนโลยีก็ทำให้เกิดรูปแบบใหม่ของกระบวนการรับมือให้ความเศร้าผ่านพ้นไปได้ด้วยการเปิดใจร่วมกันกับคนอื่นๆ

ยกตัวอย่างจาก Creative Healing Collective ก่อตั้งในปี 2016 โดย Meirav Ong และ Ariel Sharon จากการที่พวกเขาสูญเสียแม่ ทำให้สองผู้ก่อตั้งตัดสินใจสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จัดกิจกรรมเวิร์กช็อปเพื่อทำผลงานศิลปะขึ้นมาร่วมกันเพื่อช่วยสร้างมุมมองใหม่ให้กับความเศร้าอันเกิดจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก มีทั้งการวาดภาพด้วยเทคนิคต่างๆ การแสดงเพอร์ฟอร์มานซ์ที่แสดงให้เห็นถึงหนึ่งทางเลือกของวิธีการบำบัดบรรเทาทุกข์ร่วมกันผ่านผลงานศิลปะหลากรูปแบบนั่นเอง

หรือ Loss Letters ก่อตั้งโดย Kiddo Cunningham บริการส่งอีเมลความเศร้ารายสัปดาห์ให้กับสมาชิก เริ่มต้นจากการแชร์ประสบการณ์ของคิดโดเองจากการสูญเสียแม่ ต่อยอดเป็นการสัมภาษณ์จากคนอื่นๆ ที่พร้อมเปิดใจร่วมแชร์เรื่องราว เพื่อเป็นตัวอย่างวิธีการจัดการกับความเศร้าในหลากหลายรูปแบบ

สำหรับ Loss Letters ความเศร้าโศกไม่ได้จำกัดแค่เพียงการตายจากอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเศร้าที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ อย่างเช่นการเสียงาน ความรู้สึกไม่มั่นคง ความสัมพันธ์ที่พังทลาย หรือความรู้สึกเศร้าจากการสูญเสียอิสรภาพ ระดับชั้นของความเศร้าที่ซับซ้อนนี้จึงอาจถูกฟื้นฟูได้จากเรื่องราวที่หลากหลายด้วยเช่นกัน โดยผู้ที่สนใจก็สามารถไปลงทะเบียนในเว็บไซต์เพื่อรับอีเมลได้ในแต่ละสัปดาห์

แน่นอนว่าความเศร้าจากความตายย่อมเป็นประสบการณ์ที่เราทุกคนต้องผ่านพบสักครั้งในชีวิต การเปิดใจยอมรับและแชร์ความรู้สึกผ่านการพูดคุยอย่างจริงใจตรงไปตรงมา จึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่เพียงในโลกออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย แต่หมายรวมถึงโลกจริงที่สามารถช่วยเหลือหรือชี้ทางให้ผู้คนเข้าใจวิธีการรับมือกับโศกเศร้า ในวันที่การสูญเสียเดินมาเคาะประตูบ้านและเราต้องเปิดรับอย่างไม่มีทางเลือก

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

http://www.creativehealingcollective.org/

https://www.lossletters.com/

Tags: , , ,