หลายคนอาจคิดว่า อาหารเช้าก็คืออาหารเช้า เป็นกิจกรรมธรรมดาสามัญหนึ่งในสี่ของมนุษย์ คือกิน ขับถ่าย ร่วมรัก และนอนหลับ แต่แท้จริงแล้ว อาหารเช้า (และอาหารมื้ออื่นๆ) มีความซับซ้อนเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของมนุษย์มากกว่าอีกสามกิจกรรมที่เหลือมาก เพราะการ ‘กิน’ เป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาพร้อมกับวิถีชีวิตที่ซับซ้อน

อาหารเช้าคืออาหารมื้อที่น่าจะเรียบง่ายที่สุดแล้ว เพราะคนเราเพิ่งตื่น ยังไม่ได้มีเวลาประดิดประดอยอะไรมากมายนัก แต่พบว่ายิ่งสังคมมีขนาดใหญ่และซับซ้อนเท่าไร อาหารมื้อที่ควรจะง่ายที่สุดนี้เอง ที่กลับซ่อนเงื่อนเสียยิ่งกว่าดูละคร เลือดข้นคนจาง อีก

มหากวีโฮเมอร์ ผู้รจนามหากาพย์อิเลียด (Illiad) และโอดิสซี (Odyssey) อันลือลั่น และถือว่าเป็นวรรณคดีกรีกโบราณชิ้นสำคัญ ว่าด้วยการล้อมเมืองทรอย ตำนานม้าไม้เมืองทรอย และการเดินทางกลับบ้านอันยาวนานของโอดิสซิอุส, พูดถึง ‘อาหารเช้า’ เอาไว้บ่อยครั้งมาก

คำที่โฮเมอร์หมายถึง ‘อาหารเช้า’ คือคำว่า άριστον ถ้าเขียนเป็นภาษาอังกฤษปัจจุบัน ก็คือคำว่า ‘อริสตัน’ (ariston)

คำนี้เป็นคำที่แปลกมากนะครับ เพราะถ้าเราไปหาความหมายของคำคำนี้จากพจนานุกรมทั่วไป เราจะพบว่าส่วนใหญ่บอกว่าเป็นคำที่มีรากมาจากภาษากรีก แปลว่า the best หรือดีที่สุด แต่ที่จริงแล้ว นั่นเป็นความหมายที่ผุดกำเนิดขึ้นในยุคหลัง ก่อนหน้านี้ อริสตันอีกความหมายหนึ่ง นั่นคือหมายถึง – อาหารที่กินกันหลังพระอาทิตย์ขึ้นได้ไม่นานนัก พูดง่ายๆ ก็คือ ‘อาหารเช้า’ นั่นเอง

อริสตัน (ariston) มีอีกความหมายหนึ่ง หมายถึง – อาหารที่กินกันหลังพระอาทิตย์ขึ้นได้ไม่นานนัก พูดง่ายๆ ก็คือ ‘อาหารเช้า’ นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไปดูศัพท์คำว่า aristology ซึ่งหมายถึง ‘ศาสตร์’ แห่งการปรุงอาหารและการกิน (คือเป็นศาสตร์ที่รวมทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์ของการ cooking และ dining เข้าด้วยกัน ตั้งแต่การเตรียมเครื่องปรุง การทำอาหาร ไปจนถึงกิริยามารยาทในการกิน ต่อมาภายหลัง คำว่า gourmet ที่เราคุ้นเคยกันอยู่ทุกวันนี้ ได้เข้ามาแทนที่ aristology ทำให้คำนี้ลดความสำคัญลง) โดยรากศัพท์แล้ว aristology มาจากคำว่า ariston และพบว่าในยุคปัจจุบัน เราใช้คำนี้กับอาหารมื้อกลางวันหรือมื้อค่ำมากกว่ามื้อเช้า จึงชวนให้สงสัยว่า หรือ ariston จะไม่ใช่อาหารเช้า

ในโอดิสซีย์ โฮเมอร์เอ่ยถึงการเตรียมอาหารมื้อ ariston ว่า “ในแสงสลัวราง (ของยามเช้ามืด) โดยหาได้ใส่ใจต่อความลำบากที่ต้องเตรียมอาหารบนลานดินไม่” ฉากนี้เกิดขึ้นเมื่อเทเลมาคุส (Telemachus) ซึ่งเป็นลูกของโอดิสซิอุส กลับมาถึงบ้าน แล้วคนเลี้ยงหมูของที่บ้าน คือยูเมอุส (Eumaeus) เตรียมอาหารเช้าให้เขากิน โดยเป็นเนื้อเย็นที่เหลือมาจากอาหารมื้อค่ำเมื่อวาน

ปกติแล้ว ชาวกรีกจะกินอาหารเช้าแกล้มกับไวน์ที่ผสมน้ำให้เจือจางลง แต่เนื่องจากยูเมอุสเห็นว่าเป็นวาระพิเศษเพราะเทเลมาคุสออกเดินทางไปเป็นเวลานาน เขาจึงผสมไวน์กับน้ำผึ้งแทน โดยเสิร์ฟพร้อมกับตะกร้าใส่ขนมปังที่เพิ่งอบสดใหม่ด้วย

ariston ที่โฮเมอร์เอ่ยถึงตามที่ต่างๆ ทำให้นักประวัติศาสตร์อาหารรู้ว่า ชาวกรีกโบราณนั้นกินอาหารเช้ากันเป็นเรื่องปกติ มหากาพย์อิเลียดบอกว่า อาหารมื้อเช้านั้น คนส่วนใหญ่ที่ใช้แรงงานจำเป็นต้องกินเพื่อเริ่มต้นวัน เป็นการตระเตรียมไม่ให้หมดแรงระหว่างทำงาน โดยเฉพาะคนงานตัดไม้ ดังนั้น อาหารเช้าของชาวกรีกจึงไม่ได้เป็นแค่อาหารเช้าเท่านั้น ทว่ายังมีนัยบ่งบอกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจจะทำงานอีกด้วย คนเรากินอาหารเช้า เพื่อใช้อาหารเช้านั้นเป็นพลังงานมุ่งมั่นทำงาน

ด้วยเหตุนี้ ต่อมาภายหลัง คำว่า ariston จึงเริ่มมี ‘ความหมายแฝง’ เกี่ยวพันไปถึงความมุ่งมั่นประดุจเหล็กกล้า (steely determination) เพื่อจะเอาชนะศัตรูทั้งหลายด้วย จนในที่สุด คำนี้ก็กลายเป็นอุปมาอุปมัย หมายถึงสิ่งที่ ‘ดีที่สุด’ หรือ the best ไป ทำให้พจนานุกรมส่วนใหญ่เก็บคำว่า ariston โดยบอกว่ามีความหมายจากภาษากรีกโบราณ แปลว่า the best

นอกจากนี้ นักประวัติศาสตร์อาหารยังพบว่า เมื่อเวลาผ่านไป ariston ค่อยๆ ถูก ‘เลื่อน’ ออกไปเรื่อยๆ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ชาวกรีกกิน ariston กันสายขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด ariston ก็กลายเป็นอาหารที่กินกันตอนราวๆ เที่ยง ariston จึงกลายเป็นอาหารเที่ยง และต่อมาเมื่อถูกนำไปใช้เป็นศาสตร์ที่ชื่อ aristology จึงหมายถึงอาหารมื้ออื่นที่ไม่ใช่อาหารเช้า

แต่กระนั้น ก็ไม่ได้แปลว่าชาวกรีกจะเลิกกินอาหารเช้า ผู้คนยังกินอาหารเช้ากันอยู่ แต่หลังยุคของโฮเมอร์ ชาวกรีกใช้คำใหม่เพื่อเรียกอาหารเช้า คำนั้นคือ akratisma ซึ่งคืออาหารที่ ‘กินทันทีหลังลุกจากที่นอน’ เป็นคำที่มาแทน ariston

หลังยุคของโฮเมอร์ ชาวกรีกใช้คำใหม่เพื่อเรียกอาหารเช้า คำนั้นคือ akratisma ซึ่งคืออาหารที่ ‘กินทันทีหลังลุกจากที่นอน’ เป็นคำที่มาแทน ariston

คำว่า akratisma มาจากคำว่า akratis ซึ่งหมายถึงไวน์ที่ไม่ได้ผสมน้ำให้เจือจางลงเหมือนไวน์ในยุคของโฮเมอร์ โดย akratisma จะเป็นการกิน ‘เร็วๆ’ จึงไม่ได้อลังการมากมายนักเหมือน ariston สิ่งที่ชาวกรีกหลังยุคโฮเมอร์กินเป็นอาหารเช้า ก็คือขนมปังที่นำไปจุ่มใน akratis หรือไวน์ที่ว่านี้ เป็นการกินเพื่อเพิ่มพลังงานให้ร่างกายก่อนออกไปทำงานใช้แรงงานนั่นเอง อาหารเช้าของชาวกรีกจึงสลับซับซ้อนชวนงงไม่น้อย

แต่ถ้าคุณงงกับอาหารเช้าของชาวกรีก ต้องบอกว่ากับชาวโรมันแล้วยิ่งชวนงงเข้าไปใหญ่

มีบันทึกไว้หลายแห่งว่าชาวโรมันเป็นชนชาติที่กินอาหารวันละสามมื้อเป็นประจำ เหมือนกันกับที่เรากินทุกวันนี้ แต่เวลาของการกินนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้บันทึก โดยอาหารเช้าของชาวโรมันเรียกว่า jentaculum หรือ ientaculum ซึ่งแม้จะกินยามเช้าเหมือนชาวกรีก แต่อาหารของชาวโรมันอลังการกว่ามาก เพราะมีทั้งขนมปัง ชีส มะกอก สลัด ถั่ว องุ่นแห้ง และเนื้อเย็นที่เหลือจากอาหารค่ำคืนก่อนหน้า

ยิ่งถ้าเป็นหมู่ชาวโรมันที่ร่ำรวย อาหารก็จะอลังการกว่านี้อีก อาจมีนม ไข่ ไวน์ โดยไวน์ที่กินนั้นไม่ใช่ไวน์ผสมน้ำเจือจางแบบกรีก ทว่าแต่เป็นไวน์แบบที่ยูเมอุสนำมาเลี้ยงเทเลมาคุสเลยทีเดียว นั่นคือไวน์ผสมน้ำผึ้ง โดยชาวโรมันจะเรียกว่า muslum

muslum นี้ ยังใช้เป็นเครื่องดื่มในงานเฉลิมฉลองด้วย แต่จะหรูหราขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการผสมเครื่องเทศต่างๆ เข้าไปเพิ่ม เช่น หญ้าฝรั่นหรือแซฟฟรอน, แคสเซียที่มีลักษณะคล้ายๆ อบเชย, พริกไทย และอื่นๆ โดยมากมักจะดื่มแกล้มอาหารมื้ออื่นที่ไม่ใช่มื้อเช้า แต่ในบางคราวก็ดื่มกันตอนเช้าด้วย ซึ่งหากมื้อเช้าไหนดื่มไวน์กันแบบหรูหรานี้ ก็จะเรียกมื้อเช้านั้นว่า silatum

หากเป็นมื้อเช้าที่สำคัญจริงๆ ชาวโรมันอาจเสิร์ฟขนมอบแบบเพสตรี้ที่เพิ่งทำสดใหม่เพิ่มเข้าไปอีก มีคำพูดว่า “Surgite: jam vendit peuris jentacula pistor…sonant undeque ucis aves” ซึ่งหมายถึง “ให้ลุกขึ้นได้แล้ว เพราะคนอบขนมปังลุกขึ้นขายอาหารเช้าแล้ว พร้อมกับนกที่ร้องเพลงและแสงที่สว่างเจิดจ้าอยู่รอบตัวเรา” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าร้านขายขนมอบนั้นมีมาตั้งแต่ยุคโรมันโบราณแล้ว

ว่าแต่ว่า แล้วคนยากจน คนชั้นล่าง หรือแม้กระทั่งทาสในยุคโรมันโบราณเขากินอะไรเป็นอาหารเช้าเล่า เพราะที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ดูแล้วน่าจะโอ่อ่าอลังการเกินไปหน่อย

ถ้าว่าเป็นคนชั้นล่างหรือทาส อาหารที่พวกเขากินจะเรียกว่า pulmentum ซึ่งเป็นคล้ายๆ ซุปหรือโจ๊ก รากศัพท์ของคำนี้มาจาก puls ซึ่งในตอนหลังวิวัฒนาการไปเป็น porridge ซึ่งนักบันทึกประวัติศาสตร์อย่างพลินีผู้ชรา (Pliny the Elder) (พลินีมีสองคน คนแรกคือพลินีผู้ชรา เสียชีวิตในเหตุการณ์ภูเขาไฟวิซุเวียสระเบิด เขาเลี้ยงดูหลานชายชื่อเดียวกันคนหนึ่ง หลายชายจึงได้ชื่อว่าพลินีวัยหนุ่ม หรือ Pliny the Younger) บอกว่าอาหารเช้าแบบโจ๊กที่ว่านี้ ทำจากธัญพืชคล้ายข้าวฟ่างที่เรียกว่า millet

“ลุกขึ้นได้แล้ว เพราะคนอบขนมปังลุกขึ้นขายอาหารเช้าแล้ว พร้อมกับนกที่ร้องเพลงและแสงที่สว่างเจิดจ้าอยู่รอบตัวเรา”

อาหารเช้าแบบโจ๊กเละๆ ที่เรียกว่า pulmentum หรือ puls นี้ มีความซับซ้อนอยู่เหมือนกัน เพราะคนโรมันไม่ได้กินเป็นอาหารเช้าอย่างเดียว แต่อาจจะกินเป็นมื้ออื่นได้ด้วย เช่น กินเป็นของว่างระหว่างมื้อ โดยแยกออกจากอาหารเช้าอย่างสิ้นเชิง หรือสำหรับคนร่ำรวย ก็อาจให้ลูกที่ยังเล็กกิน puls ไปก่อน เพราะ puls เป็นอาหารอ่อน กินได้ง่าย และลูกยังไม่โตพอจะกินอาหารเช้าแข็งๆ อย่าง jentaculum ได้ แบบเดียวกับที่คนสมัยนี้ป้อนข้าวโอ๊ตเละๆ ให้ลูกกินนั่นเอง

อาหารเช้ายังเกี่ยวพันกับศึกสงครามอย่างมากด้วย โดยเฉพาะในหมู่ชาวกรีก เพราะกองทัพย่อมเดินด้วยท้อง

ซีโนโฟน (Xenophon) นักเขียนกรีกที่เชี่ยวชาญเรื่องการรบเคยเขียนถึงอาหารเช้าในกองทัพเอาไว้หลายแห่ง โดยอาหารเช้าของซีโนโฟนถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำหรับการรบที่สำคัญ เพราะถ้าทหารไม่ได้กินอาหารเช้า ก็อาจรบแพ้ได้ เขากำหนดไว้เลยว่าทหารหมู่เหล่าไหนควรกินอะไรเมื่อไหร่

อาหารเช้ามื้อโด่งดังที่สุดของชาวกรีก น่าจะเป็นคราวที่ทำศึกใน The Battle of Thermopylae ซึ่งกษัตริย์ลีโอนิดาส (King Leonidas) สั่งทหารให้ทำอาหารเช้าแล้วกินให้หมดเกลี้ยง เพราะคืนนั้นจะต้องไปกินอาหารค่ำกันให้ได้ในเมืองของชาวเปอร์เซีย คือต้องรบให้ชนะ แบบเดียวกับที่พระเจ้าตากสั่งให้ทหารทุบหม้อข้าวของตัวเองให้หมด

จะเห็นได้ว่า อาหารเช้าของชาวกรีกและโรมันนั้นสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง เกี่ยวพันกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ฐานะทางเศรษฐกิจ และเกี่ยวพันกระทั่งกับสงคราม

ความซับซ้อนของอาหารเช้าเป็นเครื่องแสดงให้เรารู้ว่า สังคมกรีกและโรมันโบราณนั้นซับซ้อนขนาดไหน

ไม่แน่ – ได้รู้เรื่องอาหารเช้าของชาวกรีกและโรมันแล้ว หลายคนอาจอยากลองจิบไวน์แกล้มกับอาหารเช้าขึ้นมาก็ได้

ชีวิตยุคใหม่นี้ก็ซับซ้อนเหมือนกันนี่นา!

Tags: , , , ,