ในวันนี้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มขั้น สังคมไทยมีคนสูงวัย 14 ล้าน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

ตามการคาดการณ์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) ในอีก 15 ปีข้างหน้าประชากรสูงอายุของไทยจะมี 30% ของประชากรทั้งหมด เท่ากับว่า ในกลุ่มคน 10 คนจะเป็นผู้สูงอายุ 3 คน

แต่ในขณะที่สัดส่วนของผู้สูงอายุมีมากขนาดนี้ และกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ คำถามคือ ประเทศไทยมีพื้นที่สาธารณะ (Public Space) ‘เพียงพอ’ และ ‘ดีพอ’ ที่ผู้สูงอายุจะได้ออกมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมนอกบ้านแล้วหรือไม่

เพื่อหาคำตอบ The Momentum ไปพูดคุยกับ ชาตรี ประกิตนนทการ ศาสตราจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่สนใจประเด็นเรื่อง Public Space ของผู้สูงอายุ และเขียนบทความเผยแพร่ลงนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ในหัวข้อ ‘พื้นที่สาธารณะสูงวัย’ 

รวมถึงลงพื้นที่ดูการทำกิจกรรมของเหล่าผู้สูงอายุที่ ‘ศูนย์ผู้สูงอายุสวนลุมพินี’ และกลุ่ม ‘ยังก์ ไหว คลับ (Young Wai Club)’ ห้างพาราไดซ์ พาร์ค พร้อมสำรวจว่า พื้นที่สาธารณะสำหรับผู้สูงอายุควรมีการออกแบบอย่างไร และพื้นที่ที่ดีจะช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตใจของผู้สูงอายุได้อย่างไร

พื้นที่สาธารณะ ‘ของผู้สูงวัย’ ในไทย มีอยู่ไหม

“ในวันนี้หากเราเดินบนท้องถนนแล้วมองไปรอบๆ อาจเห็นผู้สูงอายุน้อยกว่าที่คิด”

เป็นมุมมองของชาตรี โดยเขากล่าวว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยมีการพูดถึง ‘พื้นที่สาธารณะ’ กันมากขึ้น ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนที่พยายามสร้างพื้นที่สาธารณะในเขตการดูแลของตนเองให้คนเข้ามาใช้สอย มีกิจกรรมใหม่ๆ ให้ทำ 

“แต่ถ้าเราสังเกตดูดีๆ จะพบว่า เขาไม่ได้พูดโดยตรงว่าเป็นพื้นที่ของผู้สูงอายุ แต่เป็นประชาชนในภาพรวม จริงๆ เวลาที่เขาพูดถึงพื้นที่สาธารณะ การออกแบบกิจกรรมทั้งหลาย เขาแทบไม่ได้คิดถึงผู้สูงอายุอยู่ในสมการนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่เขาไม่ได้รู้ตัว เขาก็คิดว่าคือคนทุกคน มนุษย์ทุกคนจะสามารถใช้พื้นที่สาธารณะในแบบมาตรฐานเดียวกันได้ทั้งหมด ซึ่งที่จริงมันไม่ใช่”

ในบรรดาพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้สูงอายุที่มีน้อยนิด ชาตรีให้ข้อมูลว่า พื้นที่ 2 แห่งที่น่าสนใจและอาจเป็นต้นแบบในการรวมตัวทำกิจกรรมของผู้สูงอายุ และพัฒนาเรื่องพื้นที่และการออกแบบได้อนาคตคือ สวนลุมพินี (ที่หลายน่าจะรู้จักอยู่แล้ว) และห้างพาราไดซ์ พาร์ค

The Momentum ลงพื้นที่ดูการทำกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุที่สวนลุมพินี พบว่า มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ผู้สูงอายุสวนลุมพินี นำออกกำลังกายในทุกเช้า และจัดกิจกรรมอื่นๆ สำหรับผู้สูงอายุเกือบทุกวัน เช่น กิจกรรมสอนปฐมพยาบาลพื้นฐาน การจัดดอกไม้ การตัดผมให้ผู้สูงอายุฟรี และกิจกรรมร้องเพลง

“ที่นี่ผู้สูงอายุทุกท่านสามารถมาร่วมกิจกรรมได้โดยไม่ต้องเป็นสมาชิก โดยทุกกิจกรรมมีเป้าประสงค์ทางสุขภาพ เช่น การร้องเพลงที่ช่วยผู้สูงอายุในกลุ่มอาการหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke ทั้งการฝึกสมอง ความจำ ฝึกการฟัง การขยับปาก ซึ่งเมื่อปากขยับได้ดี การกลืนอาหารจะดีขึ้น อาการสำลักจะน้อยลง” ชนะใจ จรูญพิพัฒน์กุล พยาบาลวิชาชีพประจำศูนย์ผู้สูงอายุสวนลุมพินี กล่าว

สำหรับห้างพาราไดซ์ พาร์ค บนถนนศรีนครินทร์ เป็นศูนย์รวมของกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ และถือได้ว่าเป็นห้างเพื่อสุขภาพ โดย The Momentum พบว่า หากเข้ามาที่นี่จะได้พบกับคลินิกรักษาพยาบาล และร้านมากมายที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการรวมกลุ่มเต้นรำและจัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มยังก์ ไหว คลับ (Young Wai Club) ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2565 นำโดย บุญประกาย ณ นคร ประธานชมรมวิกปากน้ำ ที่ชักชวนให้คนสูงอายุมาเรียนเต้นทุกวันพฤหัสบดีสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทั้งเต้นลีลาศ เต้นจังหวะแซมบ้า รวมถึงจังหวะบีกิน แทงโก้ รุมบ้า วอลซ์ และปิดท้ายด้วยเปิดฟลอร์เต้นรำยามบ่ายกับเพลงที่ขับร้องโดยชมรมดนตรีวิกปากน้ำ

“พื้นที่ตรงนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยที่เป็นวัยอิสระ เกษียณอายุแล้วจากหลากหลายอาชีพ และมีคนต่างจังหวัดเดินทางมาร่วมเรียนเต้นด้วย ซึ่งเราและทางห้างพาราไดซ์ พาร์คมีความตั้งใจอยากทำให้คนนึกถึงเรื่องการเต้นแล้วนึกถึงพื้นที่ตรงนี้” บุญประกายกล่าว

การออกแบบพื้นที่ที่ต้องคำนึงมากกว่าแค่ ‘เรื่องกายภาพ’

สำหรับผู้สูงอายุที่ร่างกายไม่แข็งแรงเท่าคนหนุ่มสาวแล้ว การจะออกไปใช้เวลาว่างนอกบ้านอาจมี 2 คำถามสำคัญที่ผุดขึ้นมา คำถามแรกคือ ‘ออกไปไหน’ คำถามต่อมาคือ ‘ออกไปอย่างไร’

เพราะด้วยความเสื่อมถอยทางร่างกาย ผู้สูงอายุจำเป็นต้องใช้ชีวิตในพื้นที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเหมาะสม และหากจะมีการสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้สูงอายุ จำเป็นต้องมีการออกแบบตามหลักการออกแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design)

“เราพูดถึงสวนสาธารณะ เราบอกว่ามีที่นั่งพักสำหรับคนสูงวัย แต่ถ้าสมมติคุณไปออกแบบเป็นม้านั่งยาว มันอาจจะยังไม่สำเร็จมาก เพราะมันคือการนั่งเพื่อนั่งพัก แต่ไม่ใช่นั่งคุย เพราะถ้าจะนั่งแบบคุยมันต้องเป็นโต๊ะแบบม้านั่ง มันคือรายละเอียดในงานดีไซน์ซึ่งสัมพันธ์กับกิจกรรม”  ชาตรีกล่าว

ในทัศนะของชาตรีมองว่า การทำพื้นที่ตามหลัก Universal Design ต้องสัมฤทธิผลทั้ง 2 ระดับขั้น ทั้ง ‘มิติทางกายภาพ’ และ ‘มิติทางจิตใจ’

“เวลาพูดถึง Universal Design เรามักนึกถึงการต้องมีลิฟต์หรือทางลาดในพื้นที่ แต่ถ้าคนสูงวัยยังเข้ามาในพื้นที่นี้ไม่ได้เพราะฟุตบาทมันไม่ดี เดินไม่ได้ หรือต้องเดินข้ามสะพานลอยมาล่ะ จุดนี้ก็ต้องตระหนักถึง ต้องผ่านเงื่อนไขนี้ก่อน ต้องไม่ให้เงื่อนไขทางกายภาพมาเป็นอุปสรรค คือผู้ใช้งานต้องเข้าถึงพื้นที่ได้จริงๆ” ชาตรีกล่าว

ด่านถัดมาคือมิติทางด้านจิตใจที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะแม้ผู้สูงอายุเข้าถึงพื้นที่สาธารณะบางแห่งได้ แต่ยังมีความรู้สึกว่าสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ที่ของเรา

“พอพูดถึง Universal Design เรามักมองมิติทางกายภาพ แต่เราไม่ได้คำนึงถึงมิติทางด้านจิตใจ เพราะต่อให้เรามีมิติทางกายภาพครบวงจร เราเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้ แต่สุดท้ายเรารู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นั้น เรานั่งแล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่ที่ของเรา รู้สึกว่าเราแก่เกินไปแล้วสำหรับพื้นที่นั้น นี่คือมิติด้านจิตใจที่สังคมไทยยังไม่ได้ตระหนักถึงนัก”

ชาตรียกตัวอย่างว่า หลายประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียของทวีปยุโรปหรือในประเทศญี่ปุ่น เริ่มทำพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุ โดยคำนึงถึงมิติทางกายภาพไปพร้อมกับมิติด้านจิตใจ

“การออกแบบพื้นที่ต้องคิดถึงมิติทางด้านจิตใจควบคู่ไปกับด้านกายภาพ ยกตัวอย่างคือ ด้านกายภาพ ห้างจัดลิฟต์ให้ขึ้นตรงไปยังโซนที่ผู้สูงอายุอยากไป ไม่ต้องเดินไกล มีทางลาด มีรถเข็น แต่แค่นี้ยังไม่พอ ถ้าตราบใดที่สปีดในห้างยังมีความเร็ว จ่ายเงินเร็ว ตามความเร็วของคนปกติไม่ใช่สำหรับคนแก่ หรือปัญหาห้องน้ำอยู่ไกลเกินไป แต่คนแก่ต้องเข้าห้องน้ำบ่อย หรือที่นั่งน้อยแต่คนแก่ต้องนั่งพักบ้าง พื้นที่แบบนี้จึงทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าไม่เข้ากับเขา แล้วเขาจะคิดว่าไม่ไปดีกว่า เพราะไปก็เป็นภาระคนอื่น คนอื่นรำคาญ พนักงานรำคาญ”

อีกตัวอย่างคือ ห้างสรรพสินค้าในประเทศอังกฤษที่ชาตรีเล่าว่า มีการเปิดโซนสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เป็นโซนที่ทุกอย่างจะช้าลง พนักงานถูกเทรนมาให้บริการอย่างไม่รีบเร่งสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ตอบโจทย์ทางด้านจิตใจ

พื้นที่สาธารณะที่ดีช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดี

ในวันนี้ร่างกายใครหลายคนยังคงแข็งแรง เดินหรือวิ่งได้อย่างคล่องแคล่ว อยากไปไหนก็ไปได้ด้วยตนเอง แต่หากลองจินตนาการภาพตัวเองเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ การออกไปนอกบ้านแต่ละครั้งก็เกิดคำถามว่า ‘จะออกไปอย่างไร’ ถ้าไม่ใช้การพึ่งพาคนในครอบครัว

“คนแก่จริงๆ ก็ไม่ได้อยากพึ่งพาครอบครัวหรือลูกหลาน เพราะเขารู้สึกว่าเขาอยากมีอิสระ ซึ่งงานวิจัยในต่างประเทศชี้ตรงกันว่า เงื่อนไขของความสุขจริงๆ ของคนแก่คือ เชิงกายภาพ แน่นอนคือไม่ป่วย แต่เรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ความรู้สึกที่เขารู้สึกว่าเขาเป็นอิสระ มีอำนาจเหนือร่างกายตัวเอง อิสระในชีวิตที่จะไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น อันนี้คือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่า” ชาตรีกล่าว

เมื่อผู้สูงอายุที่ออกมาข้างนอกบ้านได้ยากอยู่แล้ว และไม่มีพื้นที่สาธารณะใกล้บ้าน นำมาสู่การอยู่แต่ในบ้านที่แทบไม่มีกิจกรรมอะไรให้ทำเพื่อชุบชูจิตวิญญาณ ทำให้เกิดความหดหู่ และอาจตามมาด้วยปัญหาสุขภาพจิตอย่างภาวะซึมเศร้า

“ผมรู้สึกว่า ผมเห็นคนแก่ในพื้นที่สาธารณะน้อยลง เห็นคนแก่ออกจากบ้านน้อยลง ถ้าเทียบกับในอดีต เพราะเขาคงออกมาลำบากทั้งที่ใจอยากจะออก เพราะฉะนั้น Mental Health ปัญหาด้านจิตใจมันจะขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ขนาดเขาดูแลเรื่องกายภาพดีมาก แต่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านจิตใจก็ยังมีอยู่”

เมื่อถามว่า การมีพื้นที่สาธารณะนอกจากช่วยแก้ปัญหาสุขภาพจิตใจของผู้สูงอายุได้แล้ว จะทำให้ภาพรวมของสังคมเป็นอย่างไร ซึ่งชาตรีตอบทิ้งท้ายไว้ว่า

“การใช้ชีวิตสาธารณะนอกบ้านคือ ความสุขด้านหนึ่งแน่ๆ คนก็มีสุขภาพดี มันทำให้เมืองมีชีวิตชีวา เศรษฐกิจก็ดี แต่ในขณะเดียวกันมันต้องมีพื้นที่เฉพาะบางอย่างแยกไป เพราะผู้สูงอายุมีหลายช่วงอายุ มีความชอบ ความสนใจในเรื่องที่ต่างกัน มีวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน นี่มันจะเป็น Niche Market ย่อยมากขึ้น แต่พื้นฐานที่รัฐควรจะจัดการคือพื้นที่สาธารณะ ฟุตบาท ขนส่งสาธารณะให้เป็นองค์รวม”

ในวันนี้เราอาจมองเห็น Public Space สำหรับผู้สูงอายุทั้งในพื้นที่ของเอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้า และในพื้นที่ของรัฐ เช่น ลานกิจกรรมต่างๆ อยู่บ้าง

ภาพที่เราเห็น หากมองผ่านๆ อาจทำให้คิดว่า พื้นที่ที่มีก็น่าจะเพียงพอสำหรับผู้สูงอายุแล้ว เราเห็นพวกเขามาทำกิจกรรมทำงานอดิเรกอย่างมีความสุข โดยอาจลืมพิจารณาว่า บางแห่งเป็นพื้นที่ความสุขตามอัตภาพ ไม่ได้สิ่งอำนวยความสะดวกให้กับร่างกายและส่งเสริมด้านจิตใจอย่างแท้จริง ไม่ได้มีตัวเลือกของพื้นที่กับกิจกรรมให้เลือกทำมากนัก

คำถามถัดไปก็คือ คุณภาพชีวิตที่ผู้สูงอายุในไทยได้รับควรจะมีมากขึ้นกว่านี้หรือไม่ เราจะพอใจกับสภาพเช่นในปัจจุบันจริงๆ หรือ

อ้างอิง

https://www.matichonweekly.com/column/article_821880 

https://www.matichonweekly.com/column/article_820203 

Tags: , , , , , , , , ,