อาจฟังดูคลิเช่ไปหน่อย หากจะขอเริ่มต้นบทสนทนาด้วยประโยคที่ว่า “โลกใบนี้ก็เหมือนเหรียญ มันมีสองด้านเสมอ” ทว่าก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประโยคคลิเช่นั้นคือสัจจธรรม

เช่นเดียวกันกับสิ่งที่เขาคนนี้พยายามถ่ายทอดผ่านผลงานภาพถ่าย ยศธร ไตรยศ ช่างภาพอิสระ คือหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Realframe ผู้ที่ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และฝังตัวอยู่ที่นั่นนานกว่า 4 เดือน เพื่อทำความรู้จักกับพื้นที่พิเศษ ที่หากมองในมิติความมั่นคง ที่นั่นคือพื้นที่สีแดง หากแต่เมื่อทลายความเป็นอื่นออก เขากลับมองว่ามันคือสีเทามากกว่า

ยศธร กำลังมีนิทรรศการภาพถ่ายในชื่อ ‘Gray Zones’ จัดแสดงอยู่บริเวณโถงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ นิทรรศการที่เขาออกตัวว่า ต้องการสร้างพื้นที่พูดคุยและสลายมายาคติที่มีต่อ 3 จังหวัดชายแดนใต้

“เวลาเราพูดถึงเรื่องอื่น มันมักมีสองมุมเสมอ มีสีขาว สีดำ ดังนั้นในนิทรรศการครั้งนี้ เราอยากบอกว่าพื้นที่นี้ที่ถูกตราว่าเป็นพื้นที่สีแดง มันมีทั้งขาว ดำ ที่สุดท้ายผสมกันออกมาเป็นสีเทา” เขาเอ่ยถึงความตั้งใจในการลงพื้นที่ คลุกตัวในดินแดนปลายด้ามขวานที่ที่ภาพจำของคนไทยส่วนใหญ่คงมีเพียงระเบิด และความตาย

ยศธรบอกกับเราถึงจุดเริ่มของงานชุดนี้ว่า เดิมทีเขาสนใจซึ่งเป็นช่างภาพที่สนใจงานด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอยู่แล้ว ดังนั้นการลงไปเก็บบันทึกภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดฯ ภาพที่ออกมาจึงไม่ใช่ความสวยงามในเชิงภาพโปรโมทการท่องเที่ยว ซึ่งเขาบอกว่างานลักษณะแบบนั้นมีคนทำเยอะ (ซึ่งก็มีข้อดีในตัวของมัน) เขาเลยอยากจับประเด็นที่ทำงานซ้อนลึกลงไปข้างในอีกชั้นหนึ่ง

“เรารู้สึกว่าประเด็นพวกนี้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่และไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจ เพราะคนมักจะเชื่อจากสิ่งที่รัฐบอก เช่น จับใครได้ ผู้ต้องหาคือใคร และเราจะปักใจเชื่อทันทีว่าคนคนนี้ทำผิดแน่นอน ทั้งๆ ที่เรื่องเดียวกัน หากเกิดในพื้นที่อื่น เราจะตั้งคำถามกับรัฐก่อนเสมอว่า ‘คุณจับแพะหรือเปล่า’ แต่กลับกันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มันไม่มีคำถามลักษณะนี้ขึ้น ซึ่งงานภาพของเรา เราก็อยากให้รู้ว่าแล้วท้ายที่สุดของคนเหล่านั้น ที่ข่าวลงว่าเป็นผู้ต้องหา คนที่ต้องติดคุกไปแล้วต่อมาศาลพิจารณาว่าไม่มีความผิด แต่ตลอดระยะเวลาในกระบวนการพิจารณาคดี เขาไม่เคยมีสิทธิ์ในการได้รับการประกันตัว หรือมีสิทธิ์ในการต่อสู้คดีอย่างที่ควรจะเป็นเลย”  ยศธรอธิบายถึงประเด็นปัญหาที่พาให้เขาออกค้นหาความท่ามกลางพื้นที่สีแดงที่ว่า มันมีอะไรที่มากกว่านั้นไหม

‘โจรใต้’ มายาคติที่ส่งผ่านสื่อกระแสหลัก

ยศธรเล่าย้อนกลับไปถึงก่อนที่เขาจะหันมาสนใจทำประเด็นนี้ว่า เป็นความโชคดีที่ในแวดวงการทำงานของเขา มักมีคนที่มีข้อมูลข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่งผ่านเข้ามาในหูเสมอ เพราะฉะนั้นเขาจะเผื่อเอาไว้ว่าข่าวนั้นไม่น่าจะเป็นแบบนั้นเสียทีเดียว แต่ว่าภาพความรุนแรงที่ถูกนำเสนออยู่ตลอด ทั้งทหารถือปืน ซากปรักหักพังที่เกิดขึ้น เขาเชื่อว่ามันมีมีอยู่จริง แต่สิ่งที่เขาไม่เชื่อตั้งแต่แรกคือ พื้นที่นั้นจะเต็มไปด้วยสิ่งนี้ตลอดเวลา

เขามองว่าปัญหาหลักอย่างหนึ่งคือ เมื่อสื่อกระแสหลักพากันเล่นคำว่า ‘โจรใต้’ ก่อให้เกิดมายาคติที่บดบังความนึกคิดอื่น จนการเผื่อพื้นที่ให้ข้อเท็จจริงอีกชุดของสังคมไทยหายไป ไม่แปลกที่ทุกวันนี้เราจะมองลงไปในพื้นที่ว่า ที่นั่นคือสีแดงตามมิติของหน่วยงานความมั่นคง

“พอเราเอาความเป็นรัฐ ความเป็นชาติเข้าไปใส่ เราจะรู้สึกเห็นด้วยกับความเป็นเขา-เป็นเราไปแล้ว คนนอกพื้นที่รู้สึกว่าพวกเขาไม่ใช่พวกเรา ดังนั้นไม่แปลกที่เราจะเห็นด้วยกับการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยรัฐ ยิ่งพอเราเอาวาทกรรม ‘โจรใต้’ ไปใส่ เราก็ยิ่งเชียร์ให้รัฐจัดการอะไรบางอย่างกับคนกลุ่มนี้ โดยที่เราไม่เคยตั้งคำถามว่าคนนั้นผิดจริงหรือเปล่า”

ความรุนแรงที่ยังคงอยู่

“ที่นี้เมื่อเราเชื่อไปแล้ว ความสนใจของคนในสังคมไปในทิศทางเดียวกันแล้ว เราจะไปโทษสื่ออย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันถูกหล่อหลอมกันมานาน สื่อก็เลยทำข่าวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สมมติว่ามีสื่อไหนมาเสนอว่า “เฮ้ย คนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้กระทำผิดนะ มันมีการสร้างสถานการณ์ของฝ่ายโน้น ฝ่ายนี่ หรือกระทั่งการบอกว่านี่มันไม่ใช่ฝีมือของคนที่คุณจับได้นะ นี่เป็นการจับแพะ” ถ้ามีใครสักคนพูดเรื่องนี้ออกมา จะถูกต่อต้านทันที  เพราะกระแสของคนส่วนใหญ่ปักใจเชื่อไปตั้งแต่แรกแล้วว่าคนคนนั้นคือผู้กระทำผิด”

“เราเลยอยากจะเติมส่วนที่ขาดหายนี้ ไม่ใช่จะบอกว่าความรุนแรงมันเพิ่มขึ้นหรือลดน้อยลง แต่ดูในสถิติมันก็ไม่ได้น้อยลงสักเท่าไหร่น่ะนะ ตลอดสิบปีที่ผ่านมา เพียงแค่ว่าพื้นที่การนำเสนอความรุนแรงตรงนั้นมีเยอะมากพอแล้ว เรารู้สึกว่าอยากนำเสนออีกมุมหนึ่งที่มันอาจไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น แต่ก็ไม่ได้สวยงามขนาดนั้น อยากเสนอความปกติของชีวิตผู้คนที่ก็ยังต้องใช้ชีวิตในพื้นที่เหล่านั้น ชีวิตที่คนภายนอกไม่เคยมองเห็น ซึ่งอาจมีคนภายนอกคิดว่ากิจวัตรประจำวันของคนในพื้นที่คงไม่ต่างจากซ่องโจร มีการประชุมวางแผนก่อการในทุกวันหรือเปล่า ซึ่งความเป็นจริงก็คือชีวิตของคนที่นั่นคือชีวิตของคนปกติ ที่ยังต้องตื่นเช้ามาละหมาด เข้าสวน ทำไร่ ทำนา ทำมาหากิน เลี้ยงชีพกันไป ท่ามกลางพื้นที่ของข่าวความรุนแรง” ยศธรเล่าด้วยน้ำเสียงหนักแน่นขึ้น

เขายังบอกด้วยว่าสิ่งที่น่าความกังวลที่สุดคือ สัดส่วนของพื้นที่ในการนำเสนอความรุนแรง เพราะหากดูในงานที่ถ่ายมา เขาก็ออกตัวยอมรับว่าการนำเสนอภาพอื่นนอกจากความรุนแรงก็ไม่ได้เป็นไอเดียหรือคอนเซปต์อะไรที่ใหม่จากเดิม แถมยังเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายด้วยซ้ำ เพียงแต่ความตั้งใจที่เขาอยากเป็นอีกเสียงที่ส่งต่อและสร้างพื้นที่ให้กับความเป็นส่วนน้อยของผู้คนเหล่านั้น ให้คนส่วนมากตรงนี้ได้เห็น และเข้าใจมากขึ้น

เสียงจากคนในพื้นที่รู้สึกอย่างไร?

“เขาก็โอเค” ยศธรตอบทันทีเมื่อถามถึงกระบวนการเข้าไปในพื้นที่ทั้งในเชิงพื้นที่ทางกายภาพ และพื้นที่ในจิตใจของซับเจกต์ที่เขาเลือกถ่าย

“ส่วนใหญ่เคสที่ไปถ่ายก็เป็นเคสที่เราไกด์กันมาก่อน มีคาแรกเตอร์บางอย่างที่เราเองมั่นใจในระดับหนึ่งว่า เขาไม่ใช่ผู้ก่อการ เราไม่ได้เชื่อเสียทั้งหมดว่า เขาไม่ได้อยู่ในข้อหานั้น หรือไม่ใช่ผู้กระทำ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ประเด็นที่เราอยากพูด ทว่าสิ่งที่เราให้ความสนใจและอยากเรียกร้องคือ ประเด็นความยุติธรรมที่นำมาใช้กับคนเหล่านี้ มันแฟร์กับเขาหรือเปล่า นั่นคือประเด็นที่นิทรรศการเรื่องนี้อยากส่งเสียง ตั้งคำถาม”

ยศธรเล่าถึงปฏิกิริยาเมื่อได้ไปเผชิญหน้ากับซับเจกต์ที่เลือกว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเลยคือถ้าคนคนนั้นไม่ได้ทำจริง ๆ เค้าก็อยากสื่อสารอะไรบางอย่างออกมาอยู่แล้วว่า “กูไม่ได้ทำ แต่ทำไมกระบวนยุติธรรมถึงมาทำกับกูแบบนี้” เค้าอยากเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตัวเขา แต่เอาแค่ให้ได้พูดและมีคนฟังก็ยังไม่ได้เลย ยิ่งไม่ต้องไปนับข้อเรียกร้องต่อสิ่งที่ถูกพรากไปในกระบวนการยุติธรรมเหล่านั้น หลายคนคดีสิ้นสุดไปแล้ว แต่ชีวิตที่พังทลายไปแล้ว กลับไม่มีความยุติธรรมไหนเข้ามาเยียวยา  จึงไม่แปลกที่พวกเขาพร้อมที่จะพูด ส่งเสียงเท่าที่มี เพื่อลุกขึ้นมาต่อสู้ให้กับตัวเอง

“ในแง่การลงพื้นที่ยังไงเราก็ต้องอาศัยคนพื้นถิ่นพาเราลงไปหา ซึ่งทุกครั้งที่เราลงไป มันสัมผัสได้ถึงความจริงใจ และมิตรภาพอะไรบางอย่าง ซึ่งมันต้องใช้เวลา กว่าจะก้าวข้ามกำแพงของคนแปลกหน้า ไม่ใช่ไปเช้าเย็นกลับ ได้รูปแล้วจบ แต่การทำงานลักษณะนี้คือการค่อยๆ ทำความรู้จักในแต่ละเคส ไปนั่งกินข้าวกับเค้า ไปนั่งฟังเค้าปรับทุกข์ หรือแม้กระทั่งไปพบจิตแพทย์พร้อมกับพวกเขา เราก็ไปด้วย ซึ่งลักษณะการทำงานแบบนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละมีวิธีการเฉพาะตัวอย่างไรบ้าง เราว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่าถ้าเราทำแบบนี้แล้วคนอื่นมาทำตามจะได้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน” ยศธรเล่าถึงกระบวนการทำงาน  

“ดังนั้นสำหรับเรา มันไม่ได้ยากในเชิงเทคนิค แต่สิ่งที่ยากคือเวลา ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียว สิ่งเหล่านี้มันใช้เวลาประมาณหนึ่ง ซึ่งเราไม่ได้ก่ากั๋นที่จะลงไปในพื้นที่เลย คือมันก็มีความกลัวในใจ เพียงแต่เราต้องเก็บเอาไว้แล้วเปิดรับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราต่างหาก”

“จริงๆ ก็เหมือนกันกับการทำงานในประเด็นชาติพันธุ์อื่นๆ สำคัญที่สุดเราต้องเคลียร์ให้ชัดว่าเรากำลังทำอะไร ให้คำมั่นสัญญากับตัวซับเจกต์ด้วยว่า งานของเราจะไม่ทำให้พวกเขาเดือดร้อน กระนั้นหากมันจะมีอะไร ก็อยากให้เดินไปด้วยกันในกระบวนการที่เราเรียกร้องอะไรให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งก็หวังว่าภาพถ่ายมันจะเป็นแบบนั้น”

ยศธรบอกกับเราว่า เมื่อเริ่มต้นการทำงานด้วยวิธีการแบบนี้ ทำให้ความกังวลที่ตัวเขาและตัวเคสแบกไว้ค่อยๆ หายไปเอง กล่าวคือต่างคนต่างรู้สึกกันเองว่าไม่มีอะไรต้องมากังวลอีกแล้ว ซึ่งเขามองว่ามันมีกระบวนการทางมนุษยวิทยาที่ถูกนำมาใช้ในงานนี้พอสมควร

ยศธร ไตรยศ

ขณะที่ความคาดหวังในงานชิ้นนี้ในมุมของคนทำงาน ยศธรบอกกับเราเพียงว่า ขอเพียงอย่างน้อยๆ อยากให้คนที่มาดูงานได้เกิดคำถาม ซึ่งอาจไม่ได้เปลี่ยนความคิดแบบ 100% ทว่าอยากให้เผื่อพื้นที่ให้กับการตั้งคำถามกับข่าวสารที่ปรากฎตรงหน้า อย่างน้อยที่สุดคุณอาจใช้มาตรฐานเดียวกันกับการอ่านข่าวในพื้นที่อื่นที่มักตามด้วยคำถามว่าจริงไม่จริง อยากให้กรอบมาตรฐานที่ตัดสินพวกเขาเป็นกรอบเดียวกันที่ตัดสินมุมมองพื้นที่อื่นๆ

“แค่นี้เราก็รู้สึกว่างานของเราประสบความสำเร็จแล้ว” เขากล่าวทิ้งท้าย  

ทั้งนี้นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในปี 2547 เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว รัฐไทยได้มีการประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ในทันที และควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน ขณะเดียวกันมีการใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ โดยเปิดทางให้ทหารสามารถจับผู้ต้องสงสัย และนำขึ้นศาลทหารโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ญาติทราบ ซึ่งแตกต่างไปจากภาวะปกติที่ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ต้องมีหมายจับจากศาลหรือให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้กระทำผิดซึ่งหน้า แต่ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง จากนั้นต้องขออำนาจศาลฝากขัง

ปัจจุบัน (29 พ.ค. 62) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ ทุกอำเภอในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ยกเว้น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.ถึงวันที่ 19 ก.ย. 2562

สำหรับการจัดแสดงงานนิทรรศการภาพถ่าย Gray Zones จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 11-23 มิถุนายนนี้ บริเวณชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย