เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 เกิดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับการตัดงบกระทรวงสาธารณสุข โดยมีรายงานข่าวว่า มีการตัดงบฯ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแบ่งเป็น งบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2,400 ล้านบาท และงบประมาณกระทรวงสาธาณสุข 1,200 ล้านบาท รวม 3,600 ล้านบาท เพื่อนำไปเข้างบประมาณกลางต่อสู้การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่
โดยปกติแล้ว งบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แบ่งเป็น 2 ส่วนง่ายๆ คือ ส่วนหนึ่งจะถูกจ่ายเป็นเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข และที่เหลือจะส่งผ่านสาธารณสุขจังหวัด ถัวเฉลี่ยให้โรงพยาบาลในเขตตามจำนวนหัวประชากรที่โรงพยาบาลรับผิดชอบ โดยในปี 2563 สามารถคิดเป็นหัวละ 3,600 บาท
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สร้างความสับสนว่าสรุปแล้ว ตัดไม่ตัดงบฯ หรืออย่างไร สามารถแบ่งเส้นเรื่องเป็น 3 ประเด็นได้ดังนี้
เส้นเรื่องแรก เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบข้อเสนอของสำนักงบประมาณ ที่จะตัดงบประมาณจากหลายกระทรวงเพื่อโอนเป็นงบสำหรับปัญหาโควิด-19 ใน พ.ร.ก. โอนงบประมาณ ซึ่งรวมถึงจากกระทรวงสาธาณสุขรวม 3,600 ล้านบาท
เส้นเรื่องต่อมา วันที่ 22 เมษายน รัฐมนตรีกระทรวงสาธาณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล และกรวงทรวงสาธารณสุขเอง ให้สัมภาษณ์ด้วยท่าทางแปลกใจเหมือนกันว่าจะมีการตัดงบฯ ส่วนนี้จริงหรือ ซึ่งในเวลาต่อได้มีการยืนยันจากทั้งทาง นายกฯ และ รมต.สาธารณสุขว่า ไม่มีการตัดงบฯ จากกองทุนเด็ดขาด
ในประเด็นเส้นเรื่องที่สองนี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า จากปฏิกริยาของ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งให้สัมภาษณ์ว่าไม่ทราบเรื่องการตัดงบประมาณฯ ในส่วนนี้มาก่อน มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนว่าระดับรัฐมนตรีกระทรวง จะไม่ทราบเรื่องนี้ ในเมื่อมติดังกล่าว มีการกล่าวว่ามาจากที่ประชุมครม. นอกจากนี้บุคลากรของ สปสช. ยังได้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่าไม่ทราบว่าจะมีการตัดงบฯ ในส่วนนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากกว่า การตัดสินใจตัดงบฯ ส่วนนี้ มาจากใคร หรือหน่วยใด ประเด็นนี้จึงไปปรากฏในมติครม. จนเกิดเป็นข่าวครึกโครมขึ้นมาได้
และเส้นเรื่องสุดท้าย ภาคประชาสังคม โดยกลุ่มคนรักสุขภาพได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายกฯ มีใจความว่า การตัดงบหลักประกันสุขภาพทำให้เกิดความกังวลขึ้นว่าจะส่งผลกระทบต่อสิทธิในการรักษาพยาบาลของประชาชน และการตัดงบประมาณส่งผลกระทบหลายด้าน และอาจทำให้เกิดความสับสนในการเบิกจ่ายงบประมาณต่อไป จึงเสนอให้ทบทวนการตัดงบ 3,600 ล้านของกระทรวงสาธารณสุข และให้มีการเปิดเผยรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณอย่างโปร่งใส
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้จะมีข่าวว่าการตัดงบฯ ในส่วนนี้ เห็นชอบด้วยมติครม. แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การพิจารณาตัดงบฯ จะมีผลอย่างเป็นทางการและสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ พระราชบัญญัติโอนงบประมาณฉบับนี้ผ่านรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว เพราะถึงแม้คณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบร่างดังกล่าวแล้ว แต่ยังต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ รวมถึงต้องยื่นให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในวาระ 1 วันที่ 28 พฤษภาคมนี้ ก่อนดำเนินการในลำดับต่อไป
ตัด-โยก-โปก-แปะ
หลังจาก ผู้อำนวยการโรงพยาลจะนะ จังหวัดสงขลา นายแพทย์สุภัทร สุวรรณกิจ ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า โควิด-19 ทำให้โรงพยาบาลทั่วประเทศต้องรับภาระด้านค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปรับปรุงสถานที่ อาทิ กั้นห้องหรือตั้งจุดคัดกรอง ค่าตอบแทนเพิ่มของบุคลากรสาธารณสุข หรือการสนับสนุนงบแก่โรงพยาบาส่วนตำบล นพ.สุภัทร ชี้ต่อไปว่า เงินที่ใช้บริหารตอนนี้ เป็นเงินที่ได้รับจาก สปสช. อยู่แล้ว
และขณะนี้ ยังไม่มีโรงพยาบาลใดที่ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรัฐบาลในงบประมาณเพิ่มเติมเรื่องโควิด-19 เลย ได้รับก็เพียงอุปกรณ์ป้องกันที่นำมาบริจาค ดังนั้น จึงตั้งคำถามว่า เหตุใด ถึงมียังตัดสินใจตัดงบประมาณสำหรับโรงพยาบาลเพิ่มอีก ในสถานการณ์แบบนี้
โดยในประเด็นนี้ ปลัดกระทรวงสาธาณสุข นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ได้ตอบผ่านรายการ ‘ถามตรงๆ’ ของจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายนไปแล้วว่า สืบเนื่องจากปัญหาโรคโควิด-19 ทำให้ต้องมีการเพิ่มข้าราชการสาธารณสุข โดยจะเปลี่ยนพนักงานสาธารณสุขที่ทำงานอยู่แล้ว ให้กลายเป็นข้าราชการจำนวน 45,684 อัตรา และเมื่อลูกจ้างถูกบรรจุเข้าเป็นข้าราชการแล้ว ผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนค่าจ้างเงินเดือน จะกลายเป็นสำนักงบประมาณกลาง
เท่ากับว่าโรงพยาบาลไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อีกต่อไปแล้ว จึงมีการดึงเงินส่วนนี้จากโรงพยาบาลกลับไป ซึ่งเงินในส่วนที่โรงพยาบาลจะต้องนำมาจ่ายพนักงานสาธารณสุขแต่เดิมนั้น เป็นเงินส่วนหนึ่งจากงบประมาณก้อนใหญ่ (190,366 ล้านบาท) ของ สปสช. ที่จะให้แก่โรงพยาบาล
แต่คำถามที่ประชาชนหรือฝั่งคนรักประกันสุขภาพถามไว้ก็คือ จำนวน 2,400 ล้านบาทที่มีข่าวว่าจะตัดนั้น เป็นจำนวนที่เท่ากับจำนวนเงินที่โรงพยาบาลไม่ต้องจ่ายค่าอัตราจ้างพนักงานสาธารณสุขที่ที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการแล้วใช่หรือไม่ ซึ่งยังไม่มีการเปิดเเผยข้อมูลในส่วนนี้
อีกประเด็นหนึ่งคือ การตัดงบฯ ในส่วนของสปสช. จำนวน 2,400 ล้านบาท ตามที่เป็นข่าวนั้น จะทำให้คุณภาพการรักษาพยาบาลแย่ลงหรือไม่ ในประเด็นนี้ นพ.สุขุม ยืนยันผ่านรายการ เวิร์ค พ้อยท์ ทูเดย์ ว่าประชาชนยังจะได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลเหมือนเดิม เพราะปกติแล้วการรักษาพยาบาลด้วยสิทธิหลักประกันสุขภาพจะเป็นการรักษาก่อนเบิกทีหลัง และไม่จำเป็นต้องห่วงว่างบประมาณจะไม่พอ เพราะรัฐบาลได้อัดฉีดเงินเพิ่มเติมเข้าสู่กองทุนส่วนกลางเพื่อสู้โควิด-19 และถ้าหากโรงพยาบาลไหนประสบปัญหาด้านค่าใช้จ่าย ก็ยังสามารถมาเบิกที่กองทุนกลางได้ ซึ่งการเบิกงบประมาณเพิ่มจากงบประมาณส่วนกลางเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
และได้อธิบายเพิ่มเติม ในประเด็นที่ นพ.สุภัทร กล่าวถึงงบประมาณกลางว่า ตอนนี้งบช่วยเหลือเพิ่มเติมได้รออยู่ที่สาธารณสุขจังหวัดแล้ว แต่ที่โรงพยาบาลจะนะยังไม่ได้รับ เป็นเพราะต้องดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 6 คน จึงไม่มีเวลาทำการเบิก
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้น่าสนใจว่ายังมีโรงพยาบาลที่มีกรณีคล้ายกับโรงพยาบาลจะนะอีกหรือไม่ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุที่ยังไม่มีเวลาไปเบิก หรือขอเบิกแล้วไม่ได้ ตลอดจนไม่ได้รับข้อมูลว่างบประมาณได้ลงมาให้เบิกแล้วก็ตาม
และเหตุใดจึงต้องเปลี่ยนระบบใหม่ให้ไปขอเบิกจ่ายจากก้อนเงินอัดฉีดเพิ่มเติม ในขณะที่หากไม่ตัดงบประมาณฯ ก้อนเดิม ทุกอย่างก็ยังคงจะทำงานได้ตามปกติ โดยไม่มีขั้นตอนหรือรายละเอียดเพิ่มขึ้นมาให้วุ่นวาย
ความเห็นจากมุมคนรักหลักประกันสุขภาพ
อีกด้านหนึ่ง นิมิตร์ เทียนอุดม จากกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ บอกกับเราว่า รัฐบาลไม่ควรดึงงบประมาณส่วนนี้กลับไปแม้สักบาท และควรหามาเพิ่มเสียด้วยซ้ำ โดยอาจหาจากแหล่งอื่นเพิ่ม เช่นใช้เงินจากงบฯ กลาง หรือกู้เพิ่มเติม โดยเขาชี้ว่าหากเกิดการดึงงบกลับไปจริง ปัญหาจะเกิดขึ้นทันทีในรายละเอียด หรือในภาษาฝรั่งพูดว่า Devil’s in details.
ปัญหาข้อแรก การดึงงบประมาณ 2,400 ล้านบาทกลับไป สามารถได้แน่ใจอย่างไรว่าจะไม่กระทบกับการให้บริการของโรงพยาบาล และแน่ใจได้อย่างไรว่าเงินที่ดึงกลับจากแต่ละโรงพยาบาลเหมาะสมจริง เพราะแต่ละโรงพยาบาลมีพนักงานและค่าใช้จ่ายที่ไม่เท่ากัน
และเมื่อดึงงบประมาณกลับไปแล้ว จะสามารถยืนยันได้ไหมว่างบประมาณบัตรทองยังตกอยู่ที่ประมาณ 3,600 บาทต่อคน เพราะเงินจำนวนนี้สำคัญสำหรับการรักษาในระบบบัตรทอง โดยเฉพาะสิทธิพิเศษอื่นๆ ที่เพิ่งมีเพิ่มเข้ามา อาทิ การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ หรือการตรวจมะเร็งลำไส้ เป็นต้น
ปัญหาอีกประการคือ การเพิ่มอัตรากำลังพลของกระทรวงสาธารณสุข แบ่งออกเป็น 3 ระยะ (ไม่รวมส่วนนักศึกษาที่เพิ่งจบในปี 2563) ระยะแรก ภายในเดือนพฤษภาคม 25,051 อัตรา ระยะที่สอง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 5,616 อัตรา และระยะที่สาม ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 7,438 อัตรา นิมิตร์จึงมองว่าไม่จำเป็นต้องดึงงบกลับไปทีเดียวทั้งหมด แต่ให้ค่อยๆ เป็นค่อยไป และมีหลักการที่ชัดเจนกว่านี้
อย่างไรก็ดี มาถึงจุดนี้มีข้อเสนอให้มีการตรวจสอบ ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ ทั้งจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ รวมถึงจาก 6 พรรคฝ่ายค้าน ที่เรียกร้องให้มีการเปิดสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเสียงของ ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 246 คน ขณะที่พรรคฝ่ายค้านขณะนี้มีเสียงรวมกัน 213 เสียง
ยังต้องคอยดูกันต่อไปว่าประเด็นปัญหาการตัดงบฯ กระทรวงสาธารณสุข จะลงเอยอย่างไร มากไปกว่านั้น ประเด็นปัญหาความขัดแย้งที่เลยเถิดและบานปลายนี้ เกิดมาจากอะไร แล้วทำไมถึงเกิดขึ้น มันสะท้อนให้เห็นการทำงานหรือการมองปัญหาสาธารณสุขในบ้านเราอย่างไรบ้าง หรือเรื่องนี้จะกลายเป็นมหากาพย์เรื่องยาวของสาธารณสุขอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีชะตาของคนไทย 49 ล้านคนเป็นเดิมพัน
อ้างอิง:
https://www.posttoday.com/social/local/621665
https://www.bbc.com/thai/52393003
https://www.thairath.co.th/news/society/1829589
https://siamrath.co.th/n/149579
REUTERS/Athit Perawongmetha
Tags: โควิด-19, กระทรวงสาธารณสุข, อนุทิน ชาญวีระกูล, สุขุม กาญจนพิมาย, นิมิตร์ เทียนอุดม, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ไวรัสโคโรนา