*บทความมีเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์*
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 เรื่องราวของอสูรกายใหญ่ยักษ์อย่าง ‘ก็อดซิลล่า’ ถูกนำมาปัดฝุ่นเล่าใหม่อีกครั้งภายใต้การควบคุมของสตูดิโอฮอลลีวูด และถือเป็นหนังเปิดจักรวาลภาพยนตร์ MonsterVerse ของค่าย Legendary ที่นอกจากจะมีก็อดซิลล่าเป็นตัวชูโรงแล้วยังมี ‘คอง’ ที่ก็เพิ่งถูกคืนชีพขึ้นมาเล่าใหม่ในหนังของตัวเองอย่าง Kong: Skull Island (2017) ด้วยเช่นกัน
หนังก็อดซิลล่าภาคใหม่อย่าง Godzilla: King of the Monsters ที่เข้าฉายปีนี้จึงไม่เพียงทำหน้าที่เป็นภาคต่อที่เล่าเหตุการณ์หลัง Godzilla (2014) เท่านั้น หากยังปูทางให้สองยักษ์ใหญ่ที่กล่าวไปข้างต้นได้มาปะทะกันในหนังภาคถัดไปของชุด (ที่กำหนดวันฉายไว้ในปี 2020) ทั้งยังขยับขยายให้คนดูคุ้นเคยกับโลกในจักรวาลหนังกลุ่มนี้…โลกมนุษย์ที่เราคุ้นเคยทว่ายั้วเยี้ยไปด้วยสัตว์ประหลาดไททันตัวยักษ์
เหตุการณ์ในหนังภาคนี้เกิดขึ้น 5 ปีหลังจากที่โลกรับรู้การมีอยู่ของอสูรไททัน โมนาร์คซึ่งเป็นองค์กรศึกษาสัตว์ประหลาดถูกสอบสวนหนัก เพราะแน่นอนว่ารัฐต้องพยายามยื่นมือเข้ามาจัดการกับชุดความรู้ใหม่ว่ามีสัตว์ประหลาดอยู่ร่วมโลก ในขณะที่นักบรรพชีววิทยาตัวท็อปของโมนาร์คอย่าง ดร. เอ็มม่า รัสเซลล์ (เวร่า ฟาร์มิกา) ที่เพิ่งพัฒนาเครื่องส่งคลื่นความถี่เพื่อสื่อสารกับเหล่าไททันสำเร็จไม่นาน ก็ถูกลักพาตัวไปพร้อมกับแมดิสันลูกสาว (มิลลี่ บ็อบบี้ บราวน์) โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายในนามของสิ่งแวดล้อมที่ตั้งใจใช้เครื่องส่งสัญญาณปลุก กิดอร่า อสูรมังกรสามหัวที่ถูกแช่แข็งในแอนตาร์กติกาขึ้นมาต่อกรกับก็อดซิลล่า
นอกจากความสนุกสนานจากการรับชมสัตว์ประหลาดตัวยักษ์ซัดกันจนพินาศทั้งเมือง (ซึ่งว่ากันตามตรง นั่นก็ดูเหมือนจะเป็นหลักใหญ่ใจความที่หนังสนใจ เพราะในหลายช่วงตอนเราอาจพบว่าตรรกะตัวละครถูกเขียนมาอย่างเบาบางเสียเหลือเกิน ราวกับหนังตั้งใจเพียงแค่สร้างสถานการณ์ให้สัตว์ประหลาดได้มาสู้กันหรือทำให้ได้ฉากขายซีจีสวยๆ ยังไงยังงั้น) สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือหนังวางตัวเองไว้ในช่วงเวลาที่มนุษย์ต้องปรับการรับรู้และมุมมองที่ตนมีต่อโลกเสียใหม่ หากการได้เห็นภาพของโลกที่ถูกถ่ายจากดวงจันทร์ทำเอามนุษย์ต้องพรึงเพริดกับความเป็นจริงว่าตนเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วบนดาวเคราะห์ที่ลอยเท้งเต้งกลางอวกาศอันกว้างใหญ่ไพศาล การได้รู้ว่าโลกเต็มไปด้วยสัตว์ประหลาดที่หลับใหลอยู่ใต้พิภพและพร้อมจะตื่นขึ้นมาเหยียบย่ำโลกได้ทุกเมื่อ ย่อมเหวี่ยงโยนมนุษย์ออกจากความเข้าใจเดิมที่พวกเขามีต่อ ‘โลกมนุษย์’ พร้อมด้วยคำถามสำคัญว่าโลกที่มนุษย์คุ้นเคยนั้นใช่หรือว่ามันคือโลกที่มนุษย์เป็นเจ้าของ
ในหนัง เราเห็นบางฝ่ายพยายามอย่างเต็มที่ที่จะเหนี่ยวรั้งความเข้าใจเดิมเอาไว้ พวกเขาจึงประเมินสัตว์ประหลาดโดยยึดอยู่กับความมั่นคงและการจัดการได้-ไม่ได้เท่านั้น ขณะที่อีกฝ่ายเช่น ดร. เซริซาว่า (เคน วาตานาเบ้) กลับเทิดทูนก็อดซิลล่าเป็นเทพ เป็นสิ่งมีชีวิตสูงส่งที่มนุษย์ต้องสยบยอม สิ่งที่ท้าทายกรอบคิดของตัวละครในหนังจึงเป็นการยอมรับให้ได้ว่าราชันย์สัตว์ประหลาดอย่างก็อดซิลล่าต่างหากที่เป็นราชันย์ของโลก เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อำนาจ หาใช่มนุษย์อย่างเราเคยเข้าใจอย่างหยิ่งผยอง
หนังใช้เวลาไม่นานก่อนเฉลยว่าที่จริงแล้ว ดร. รัสเซลล์ นั่นแหละที่เป็นตัวการสำคัญในแผนการของกลุ่มก่อการร้าย ความตั้งใจของเธอคือใช้ความวินาศจากการสู้กันของไททันเพื่อให้โลกหวนคืนสู่สภาพสมดุลไม่ต่างจากป่าใหม่ที่งอกขึ้นมาหลังไฟป่า นั่นก็เพราะโลกเราถูกมนุษย์ทำลายเกินเยียวยา — จากปากคำของเธอในหนัง “โลกของเรากำลังเปลี่ยนไป การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่เราหวาดกลัวได้เริ่มขึ้นแล้ว และเราเองนี่แหละที่เป็นต้นเหตุ เรานี่แหละคือเชื้อโรค”
แน่นอนว่าคำพูดของดังกล่าวไม่เพียงสะท้อนความวิตกกังวลที่ตัวละครมีต่อวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์เป็นต้นตอและอาจนำมาสู่จุดจบของมนุษยชาติเสียเอง หากยังสะท้อนความวิตกกังวลโดยรวมของสังคมนอกหนังที่มีต่อช่วงเวลาปัจจุบันที่ถูกนิยามว่าแอนโธรโพซีน (Anthropocene) —ยุคสมัยที่กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างมีนัยสำคัญจนแทบพลิกโฉมหน้าโลกไปจนไม่เหมือนเดิม— ช่วงเวลาของการพลิกผันเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของโลกกายภาพนี่เอง ที่เรียกร้องให้มนุษย์ปรับเปลี่ยนมุมมองการรับรู้ที่มีต่อโลกเสียใหม่ เพราะการเอาตนเป็นศูนย์กลางไม่คำนึงถึงการดำรงอยู่ของสิ่งอื่นไม่ใช่หรือที่พามนุษย์มาสู่จุดของการทำลายล้างตัวเองเช่นในทุกวันนี้ และนับว่าสนใจไม่น้อยที่ในระยะหลังมานี้มีหนังบล็อกบัสเตอร์ที่สะท้อนความวิตกกังวลในยุคแอนโธรโพซีนออกมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ทั้งหนังเรื่องนี้ไปจนถึงหนังซูเปอร์ฮีโร่อย่าง Avengers: Infinity War (2018) และ Avengers: Endgame (2019)
อย่างไรก็ดี ความวิตกต่อแอนโธรโพซีนที่หยั่งขาเข้ามาในภาพยนตร์กระแสหลักนั้นก็ยังไม่อาจนับได้ว่าเป็นความก้าวหน้าหรือชัยชนะของการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมได้อยู่ดี เพราะหากเราลองดูจากหนังของทั้งสองจักรวาล ตัวละครที่ถูกชูขึ้นมาเป็นปากเสียงให้ ‘โลกธรรมชาติ’ ล้วนถูกมองว่าเป็นตัวร้ายไร้มนุษยธรรม และต่างก็มีอุดมการณ์อันบกพร่องที่ดูเหมือนจะยังคิดมาไม่จบเท่าไหร่ ทั้งการแก้ปัญหาประชากรล้นจักรวาลของธานอส (ที่ในท้ายที่สุดหนังแทบไม่ได้โต้ตอบอะไรกับข้อถกเถียงเพ้อเจ้อสุดโต่งของเขามากไปกว่าชูมนุษยธรรมค้ำจุนจักรวาลแบบขอไปที) หรือแผนล้างบางโลกมนุษย์เพื่อคืนโลกให้สัตว์ประหลาดของ ดร. รัสเซลล์
ขณะที่แอนโธรโพซีนเรียกร้องให้เราปรับเปลี่ยนมุมมอง โดยละทิ้งการมองโลกในฐานะแหล่งทรัพยากรที่มนุษย์จะฉวยใช้แค่ไหนก็ได้ สู่การมองโลกในฐานะระบบที่สิ่งต่างๆ อยู่ร่วมกันเป็นเครือข่ายโดยไม่ใช่แค่มนุษย์เท่านั้นที่ต้องอยู่ให้รอด แต่สิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์รวมไปถึงโลกใบนี้เองก็จำเป็นต้องอยู่รอดด้วยเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วคำถามคือหนังเหล่านี้ให้คำตอบแบบไหนต่อแอนโธรโพซีน
แน่นอน เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการจับก็อดซิลล่ามาเป็นตัวสะท้อนวิกฤติแอนโธรโพซีนนั้นเข้าท่าอยู่ไม่น้อย ในเมื่อแรกเริ่ม ก็อดซิลล่าเองถือกำเนิดขึ้นมาในฐานะภาพสะท้อนถึงผลกระทบที่ญี่ปุ่นได้รับจากการทดลองระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกา ทั้งยังเพิ่งมีบทความของนักวิจัยจาก Dartmouth College ที่บ่งชี้ว่าขนาดตัวของก็อดซิลล่าที่ใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน-ตลอดในหนังทั้ง 35 เรื่องที่มันปรากฏตัวอยู่-นั้นเชื่อมโยงกับความวิตกกังวลรวมหมู่ในสังคมที่พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ยุคทดลองนิวเคลียร์ แต่จริงหรือที่ก็อดซิลล่าคือภาพแทนอันเหมาะเหม็งที่สุดของโลกธรรมชาติในยุคแอนโธรโพซีน การตอบคำถามนี้ได้ต้องดูว่านิยามธรรมชาติแบบไหนที่ก็อดซิลล่าดูเหมือนจะเป็นภาพแทน
การยกให้ก็อดซิลล่าเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นสูงที่มนุษย์บูชา (บางตัวละครถึงขั้นบอกว่ามนุษย์นี่แหละคือสัตว์เลี้ยงของเขา) ชี้ว่า ‘ธรรมชาติ’ ที่หนังพูดถึงมีลักษณะคล้ายกับเทพเจ้าที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย บางครั้งแสดงความเมตตาช่วยเหลือมนุษย์แต่บางคราวก็อาจหันมาทำลายมนุษย์ได้เช่นกัน ธรรมชาติที่หนังพูดถึงจึงเป็นธรรมชาติที่มนุษย์ควรต้องเคารพบูชาเพื่อที่จะได้มีชีวิตรอดพ้นจากภาวะวิกฤติไปได้ พูดอีกอย่างคือเป็นธรรมชาติที่เราต้องสยบยอมต่อมันเพื่อจะอยู่ร่วมกันให้ได้
การมองธรรมชาติในทำนองนี้ชวนให้นึกถึงหนึ่งในแขนงการศึกษาทางมานุษยวิทยานิเวศที่มีชื่อเรียกรวมๆ ว่า Spiritual Ecology [1] เน้นย้ำความสำคัญของการให้ระบบนิเวศเป็นศูนย์กลางและมนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ โดยหันมาพิจารณาคุณค่าเชิงจิตวิญญาณหรือความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติใหม่ หลังจากที่มันถูกลดทอนหรือทำลายลงไปด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และภาวะสมัยใหม่
ก็อดซิลล่าจึงไม่ได้เป็นภาพแทนของธรรมชาติเฉยๆ หากเป็นภาพแทนของธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ มีชีวิต และควรต้องเคารพบูชา การต่อสู้กับแอนโธรโพซีนที่หนังเรื่องนี้ให้คำตอบดูเหมือนจะเป็นการปลุกผีวิญญาณนิยม หรือ animism ที่เราเคยเชื่อว่ามีผีสางนางไม้สิงสถิตย์อยู่ในป่าขึ้นมาใหม่เพื่อต่อกรกับภัยที่เราไม่รู้จะรับมืออย่างไร อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นเรื่องของ ‘สูงสุดคืนสู่สามัญ’ (หนังมีฉากที่ฉายให้เห็นเมืองโบราณใต้น้ำจากอารยธรรมสาบสูญที่บูชาก็อดซิลล่าด้วยแหนะ!) แต่การปรับกรอบกระบวนทัศน์ทำนองนี้เพียงพอแล้วหรือกับสิ่งที่แอนโธรโพซีนเรียกร้อง
การมองธรรมชาติ (หรือสัตว์ประหลาด) ด้วยความเกรงขามนั้นจำเป็นต้องมาพร้อมการรับรู้ว่าตนเป็นส่วนของโลกธรรมชาติที่ไม่อาจทำลาย และนั่นอาจทำให้มนุษย์หันมาหวงแหนและรักษาธรรมชาติ แต่ธรรมชาติในแอนโธรโพซีนนั้นเป็นธรรมชาติที่ถูกฉีกทึ้งขีดแบ่งออกจากมนุษย์ไปจนไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว การซ่อมแซมแก้ไขปัญหาจึงอาจต้องอาศัยกรอบคิดที่มองเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเสียใหม่ รวมไปจนถึงการคิดเรื่องสถานะกระทำการ (agency) ของมนุษย์และสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วยวิธีใหม่ๆ มากกว่าจะย้อนกลับไปใช้มุมมองแบบเดิม
เพราะแน่นอนว่าหากมนุษย์คงความสำคัญถึงขนาดมอบความศักดิ์สิทธิ์คืนให้ก็อดซิลล่าได้ การริบเอาสถานะราชันย์สัตว์ประหลาดไปจากมันย่อมไม่น่ายากเกินความสามารถมนุษย์เช่นกัน ท้ายที่สุดแล้วมนุษย์ในหนังก็เพียงเปลี่ยนปัญหาของการมีมนุษย์อยู่บนสุดของลำดับขั้นอำนาจด้วยการที่ส่งคืนตำแหน่งบนสุดให้กับธรรมชาติไปเสียดื้อๆ โลกที่ถูกมองใหม่ในหนังจึงยังคงเป็นโลกใบเดิมซึ่งคือโลกแห่งลำดับขั้นอำนาจ เพียงแต่ผู้เล่นในขั้นต่างๆ ถูกโยกย้ายสลับลำดับใหม่เท่านั้นเอง
มันจึงยังไม่ใช่โลกที่ถูกมองใหม่ด้วยการเปลี่ยนระนาบของมุมมองและการเปลี่ยนผู้มอง จากสายตามนุษย์ที่จับจ้องไปยังมนุษย์ด้วยกันเอง กลายไปเป็นสายตามนุษย์ที่จับจ้องขึ้นไปยังสัตว์ประหลาด เราคงยังต้องจินตนาการกันต่อไปว่าสายตาที่มองมนุษย์กับสัตว์ประหลาดเท่าๆ กันจะสร้างโลกแบบไหน หรือที่อาจน่าสนใจกว่านั้นคือสายตาที่สัตว์ประหลาดมองมนุษย์ล่ะจะสร้างโลกอย่างไรขึ้นมา
ถึงอย่างไรเราก็ยังดูจะไปไม่พ้นจากการคิดโดยวางมนุษย์ไว้ตรงจุดศูนย์กลางได้จริงๆ เสียที ว่าไหมล่ะ?
อ้างอิง:
[1] จากหนังสือ Spiritual Ecology: A Quiet Revolution (2012) ของ Leslie E. Sponsel