เป็นเรื่องน่าสนใจที่ในช่วงห้าปีที่ผ่านวงการละครเวทีบ้านเรามีความเกี่ยวข้องกับ ยาสมินา เรซา (Yasmina Reza) อย่างต่อเนื่อง
เรซาคือนักเขียนบทละครเวทีชาวฝรั่งเศสชื่อดัง บทของเธอคว้ารางวัลมาแล้วทั้ง Tony Award และ Laurence Olivier Award (เปรียบเทียบง่ายๆ คือออสการ์ของละครเวทีฝั่งอเมริกาและอังกฤษตามลำดับ) ผลงานของเธอโดดเด่นที่ความตลกแบบเสียดสี มักว่าด้วยการชำแหละชนชั้นกลางอย่างแสบสัน แต่งานของเธอก็ไม่ใช่อะไรที่ดูยาก ตัวเรซาเองยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า “มันไม่มีประโยชน์ที่เขียนบทละครที่ (คนดู) ไม่สามารถเข้าถึงได้”
บทละครดังเรื่องแรกๆ ของเรซาคือ Art (1994) เล่าถึงชายสามคนที่เป็นเพื่อนสนิทกัน ทว่ามิตรภาพของพวกเขาต้องสั่นคลอนเมื่อหนึ่งในนั้นซื้อภาพศิลปะแพงระยับมา มันเป็นเพียงภาพวาดสีขาวพร้อมขีดสามขีด นำไปสู่การทุ่มเถียงอย่างรุนแรงถึงการตีค่าความเป็นศิลปะ ซึ่งภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้ดัดแปลง Art เป็นละครภาษาไทยและทำการแสดงไปในปี 2015 (กำกับโดย ศศิธร พานิชนก) หรือเมื่อปีที่แล้ว คณะ Life Theatre ก็นำบทละครเรื่อง Life x 3 (2000) มาแสดง โดยเล่นเป็นภาษาอังกฤษ เนื้อหาละครว่าด้วยคู่สามีภรรยาสองคู่ที่นัดกันรับประทานอาหารเย็น แต่ฝ่ายหนึ่งดันไปบ้านของอีกฝ่ายผิดวัน กลายเป็นความโกลาหลวุ่นวายขนานใหญ่
อย่างไรก็ดี ผลงานของเรซาที่โด่งดังที่สุดคงหนีไม่พ้น God of Carnage (2006) ว่าด้วยพ่อแม่สองคู่ที่มาเจรจายอมความกัน เนื่องด้วยลูกๆ ของทั้งสองฝ่ายทะเลาะกันถึงขั้นเลือดตกยางออก
ชาวไทยหลายคนอาจจะเคยผ่านตา God of Carnage ฉบับภาพยนตร์ในชื่อ Carnage (2011) ที่กำกับโดยโรมัน โปลันสกี ซึ่งแม้จะมีดาราหนังทั้ง เคท วินสเลต, โจดี ฟอสเตอร์, จอห์น ซี. ไรลีย์ และคริสตอฟ วอลซ์ แต่หนังกลับไม่น่าประทับใจเท่าที่ควร เพราะเหมือนยกเอาละครเวทีไปไว้ในจอภาพยนตร์ จนหลายเสียงบอกว่าแบบนี้ทำละครไปเลยจะดีกว่า ซึ่งในบ้านเราเมื่อปี 2013 ก็มีการนำ God of Carnage มาทำเป็นละครภาษาไทยในชื่อ ‘บ้านบึ้ม’ ซึ่งเป็นละครก่อนจบ ของพรรณิภา ถิระพงศ์ นิสิตศิลปการละคร อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อมองกลับมาที่วงการละครเวทีไทย เราจะเห็นว่ามีการนำบทของเรซามาสร้างอยู่หลายครั้ง สาเหตุเบื้องต้นเป็นเพราะละครของเธอ ‘ดัง’ แถมยัง ‘ดี’ ชนิดรางวัลการันตีมากมาย แต่ถามว่าการทำละครจากบทของเธอเป็นเรื่องง่ายหรือไม่ ต้องตอบเลยว่าไม่ แถมยังเป็นเรื่องยากเอาการด้วย บทของเรซามักเล่นกับความตลก ซึ่งความตลกเป็นสิ่งที่กำกับได้ยาก ต้องอาศัยจังหวะที่แม่นยำของทั้งผู้กำกับและนักแสดง แถมยังเต็มไปด้วยบทสนทนาต่อเนื่องยาวเหยียดไปทั้งเรื่อง เรียกได้ว่าถ้านักแสดงไม่ ‘แม่น’ และ ‘แน่’ จริง ก็มีสิทธิตายคาเวทีได้อย่างง่ายดาย
God of Carnage เวอร์ชันล่าสุดที่เราได้ดูกันคราวนี้มีชื่อว่า ‘บุพกาลี’ กำกับโดย ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ ผู้กำกับที่โดดเด่นเรื่องการดัดแปลงบทละครชั้นดีเป็นละครภาษาไทย ไม่ว่าจะ Othello ของเชกสเปียร์ ในชื่อ ‘บุรุษริษยา’ หรือเรื่อง ‘ทัณฑฆาต’ ที่แปลงจาก The Trial ของฟรันซ์ คาฟกา
เมื่อเดินเข้าโรงละครเราเห็นฉากเป็นห้องรับแขกพร้อมกับตัวละคร 4 คน ชายสองหญิงสอง เป็นฉากอันคุ้นชินที่เห็นใน God of Carnage แทบทุกเวอร์ชัน ต่างกันเพียงที่รายละเอียดการตกแต่งห้อง เราสังเกตเห็นภาพศิลปะตามผนัง กองหนังสือว่าด้วยศิลปะและวิชาการกองสูงอยู่ที่พื้น พร้อมด้วยขวดเหล้ามียี่ห้อตามพื้นตามโต๊ะที่เหมือนจะพยายามซ่อนตัว แต่ก็ต้องการให้ผู้มาเยือนสังเกตเห็น
หลังจากละครเริ่มขึ้นไม่นานนัก เราได้รับรู้ข้อมูลว่านี่เป็นบ้านของอุมา (ดวงใจ หิรัญศรี) นักเขียนหญิง และวิษณุ (กมลพัชร พิมสาร) ผู้ประกอบอาชีพเซลส์แมน ความสัมพันธ์ของทั้งสองเต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน ในขณะที่อุมามีออร่าปัญญาชนอยู่เต็มเปี่ยม วิษณุดูจะเป็นพวกไม่ค่อยรู้เรื่องราวอะไรมากนัก แต่เขาก็ดูมีความผ่อนคลายและจริงใจกว่า
ส่วนฝั่งแขกคือ มัทนี (ภัทรสุดา อนุมานราชธน) หญิงสาวแต่งตัวดี ใช้กระเป๋าแบรนด์เนม ทำอาชีพด้านการเงินที่ไม่ได้ระบุแน่ชัด และกฤษณะ (เกรียงไกร ฟูเกษม) ทนายผู้ติดพันกับการคุยโทรศัพท์ด้วยความฉุนเฉียวตลอดเวลา ใช้เวลาเพียงเล็กน้อยผู้ชมก็ทราบได้ว่าทั้งคู่อยู่ร่วมกันด้วยความชิงชังและแทบไม่เหลือความรักต่อกันแล้ว
ในช่วงแรกทั้งสี่คนพยายามวางมาดเจรจาเรื่องความบาดหมางของลูกๆ ด้วยท่าทีที่แสนจะเป็นผู้ดีและใจเย็น แต่บทสนทนาที่ควรจบภายในยี่สิบนาที (หรือที่จริงอาจคุยกันทางโทรศัพท์ได้ด้วยซ้ำ) กลับยาวยืดไม่จบสิ้น เพราะประเด็นที่แสนจะนามธรรม เช่นว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกของคุณสำนึกผิดจริงๆ หรือการที่คุณมาวันนี้คุณมาด้วยความจริงใจหรือเปล่า ฯลฯ
ยิ่งการพูดคุยดำเนินไป บรรยากาศก็ยิ่งดิ่งลงเหวไปทุกที ทั้งสองครอบครัวเริ่มหาเรื่องตำหนิจิกกัดกัน ตั้งแต่เรื่องพอจะมีสาระอย่างอาชีพนักข่าวที่เห็นใจชาวโรฮิงญาของอุมา หรืออาชีพทนายแสนปลิ้นปล้อนของกฤษณะ ลามไปถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างหนังสือศิลปะหายาก ขนมหม้อแกง จนถึงที่ฉีดตูด (!?)
ไม่ต้องใช้การตีความอะไรมากนัก เราก็เข้าใจได้ว่า God of Carnage กำลังพูดถึงความย้อนแย้งทำนองว่าพ่อแม่ที่ควรจะมีวุฒิภาวะกลับแสดงพฤติกรรมแบบเด็กๆ (Childish) ออกมาเสียเอง แถมไอ้การว่าความยืดยาวก็เป็นสิ่งที่ฝั่งพ่อแม่คิดไปเองหรือ ‘คิดแทน’ ลูกทั้งนั้น ระหว่างที่พวกผู้ปกครองกำลังเถียงจะเป็นจะตาย เด็กๆ อาจลืมเรื่องที่เคยทะเลาะกันและกำลังเล่นสนุกอยู่ในสนามเด็กเล่นสักแห่ง
เสน่ห์ของการทุ่มเถียงกันใน God of Carnage คือเป็นการเถียงกันแบบเรียลไทม์ 90 นาที ละครเรื่องนี้เกิดขึ้นในห้องๆ เดียว มีสถานการณ์เดียว ไม่มีการตัดไปยังช่วงเวลา/สถานที่อื่น ดังนั้นดีกรีการเถียงกันจึงทวีความเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ จากการจิก เป็นการแซะ ตามด้วยการขึ้นเสียง และกลายเป็นด่าทอในที่สุด แถมการด่ากันยังมีมิติหลายชั้น เช่นวงแรกเป็นการโต้ตอบกันระหว่างสองครอบครัว แต่อยู่ดีๆ ฝ่ายชาย (วิษณุ+กฤษณะ) กับฝ่ายหญิง (อุมา+มัทนี) ก็รวมทีมกันช่วยกันด่าคนรักของตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องยกความดีให้กับทั้งนักแสดงทั้งสี่ ที่แรงดีไม่มีตกและจังหวะแม่นยำตลอดการแสดงราวชั่วโมงครึ่ง
เช่นนั้นแล้วการดู ‘บุพกาลี’ ก็เหมือนการนั่งมองความพังทลายของคนสี่คน ที่ความศิวิไลซ์หรือความเป็นปัญญาชนที่ห่อหุ้มไว้ในฉากแรกค่อยๆ หลุดออกไปทีละชิ้น จนเนื้อในพบแต่ความป่าเถื่อนและเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ แน่นอนว่าในฐานะผู้ชม การได้ดูความน่าเวทนาของตัวละครเหล่านี้เป็นเรื่องขำขัน อย่างรอบที่ผู้เขียนเข้าชมก็มีแต่เสียงหัวเราะดังสนั่น
ทว่าหากคิดดูให้ดีแล้วอาการฟิวส์ขาดจนเผลอทำให้หน้ากากแห่งความศิวิไลซ์หลุดออกนี้ อาจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่คิด อาจเป็นเพียงการที่มอเตอร์ไซค์มาเฉี่ยวรถเรา หรือใครสักคนจอดรถขวางหน้าบ้าน และเป็นเรื่องน่ากลัวที่เรามักไม่ทันรู้ตัวยามที่แสดงความป่าเถื่อนออกมา
อยากรู้ว่าภาพมันน่าอดสูแค่ไหน ก็ให้นึกถึงการกระทำและคำพูดของ อุมา วิษณุ มัทนี กฤษณะ ในเรื่องนี้ไว้แล้วกัน
ขอบคุณภาพจาก ชุติมา ตาตะนันทน์ (Chutima Tatanan)
Fact Box
บุพกาลี (God of Carnage) แสดงถึงวันที่ 9 เมษายน 2561 (ไม่มีการแสดงในวันอังคารและพุธ) ณ ทองหล่ออาร์ตสเปซ (BTS ทองหล่อ) ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/events/188631958386899/