หลังจากที่บรรษัทวาณิชธนกิจชื่อดังอย่างเครดิตสวิส (Credit Suisse) เผยแพร่รายงานความมั่งคั่งโลก (Global Wealth Report) ประจำปี 2018 เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา สื่อหลายรายได้นำรายงานฉบับดังกล่าวมานำเสนอ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา กระทั่งกลายเป็นดราม่าในโซเชียลมีเดีย ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ จึงออกมาแถลงข่าวโต้แย้งว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะหากใช้ดัชนีจีนี (GINI Index) ตามข้อมูลของธนาคารโลกเป็นตัววัดจะพบว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่ในลำดับกลางๆ เท่านั้น (อันดับที่ 40 จาก 67 ประเทศในปี 2558)
ความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีแค่ด้านรายได้
ดัชนีที่ใช้สำหรับวัดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ (และรายจ่าย) ที่มีเพจดังในเฟซบุ๊กและสภาพัฒน์ฯ พูดถึงคือ ดัชนีจีนี (GINI Index) ซึ่งตั้งตามชื่อของ Corrado Gini นักสถิติชาวอิตาเลียน
ดัชนีดังกล่าวสร้างขึ้นจากค่าสัมประสิทธิ์จีนี (GINI Coefficient) ซึ่งจะมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 (ดัชนีจะมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 100) โดยค่าจะเข้าใกล้ 0 หากทุกคนในสังคมมีรายได้เท่าเทียมกัน และเป็น 1 หากมีคนเพียงคนเดียวที่ได้รับรายได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การใช้ดัชนีจีนีนั้นอาจใช้วัดความเหลื่อมล้ำด้านอื่นนอกจากรายได้ (และรายจ่าย) ได้ด้วย เช่น ความมั่งคั่งอันเกิดจากการถือครองทรัพย์สิน ดังที่ปรากฏในรายงาน Global Wealth Report ข้างต้น
ในรายงานของเครดิตสวิสฉบับดังกล่าว ไทยมีค่าดัชนีจีนี ‘ด้านความมั่งคั่ง’ เท่ากับ 90.2 ซึ่งสูงกว่าดัชนีจีนี ‘ด้านรายได้’ ตามข้อมูลของธนาคารโลกซึ่งอยู่ที่ประมาณ 35-40 มาก บางเพจในเฟซบุ้คจึงหยิบยกตัวเลขดังกล่าวมาเปรียบเทียบด้วยความเข้าใจผิด และอ้างว่าตัวเลขดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือ ขณะที่ในการแถลงข่าวของสภาพัฒน์ฯ นั้นก็ยกเฉพาะดัชนีจีนี ‘ด้านรายได้’ มาชี้แจงเช่นกัน ซึ่งคำอธิบายดังกล่าวอาจไม่ตรงประเด็นนัก เนื่องจากรายงาน Global Wealth Report พูดถึงความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง มิได้หมายถึงความเหลื่อมล้ำด้านรายได้แต่อย่างใด
ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งนั้นแตกต่างกัน เนื่องจากความเหลื่อมล้ำด้านแรกนั้นวัดจากการกระจายรายได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านหลังเกิดจากการสะสมทรัพย์สินซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้นตามกาลเวลา
ด้วยเหตุนี้ ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมักสูงกว่าเสมอ และจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นหากรัฐไม่มีมาตรการใดๆ เพื่อชะลอความเหลื่อมล้ำด้านนี้ เช่น ไม่มีการเก็บภาษีที่ดินหรือภาษีมรดก ทั้งนี้ งานศึกษาของ ดวงมณี เลาวกุล (2557) ชี้ว่า ค่าสัมประสิทธิ์จีนีในการถือครองทรัพย์สินของไทยเมื่อปี 2552 อยู่ที่ 0.688 (หรือ 68.8 หากวัดในรูปดัชนีจีนี) ขณะที่ค่าสัมประสิทธิ์จีนีด้านรายได้อยู่ที่ 0.485 (หรือ 48.5 หากวัดในรูปดัชนีจีนี) ซึ่งสะท้อนว่า ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งนั้นเป็นปัญหาที่อาจจะหนักหน่วงยิ่งกว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ การละเลยความสำคัญของความเหลื่อมล้ำด้านนี้ทั้งในโลกโซเชียลมีเดียและในการแถลงข่าวของสภาพัฒน์ฯ จึงสร้างการรับรู้ผิด ๆ แก่สังคม
ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งนั้นเป็นปัญหาที่อาจจะหนักหน่วงยิ่งกว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้
ดัชนีจีนีอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำที่ดีที่สุด
แม้ว่าดัชนีจีนีด้านรายได้ (และรายจ่าย) จะเป็นที่นิยมใช้โดยทั่วไปเมื่อต้องการวัดความเหลื่อมล้ำ แต่หลายคนกลับเห็นว่า ดัชนีจีนีช่วยให้มองเห็นภาพความเหลื่อมล้ำได้ไม่ง่ายนัก เช่น เราอาจทราบว่า หากประเทศมีดัชนีจีนีเท่ากับ 40 ก็จะมีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่าการมีดัชนีจีนีเท่ากับ 50 แต่คำถามคือดัชนีจีนีเท่ากับ 40 แปลว่าอะไรกันแน่
นอกจากนี้ Andy Sumner ผู้อำนวยการสภาวิจัยเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Research Council: ESRC) แห่งสหราชอาณาจักรยังเคยแสดงความเห็นว่า ด้วยวิธีการคำนวณ ทำให้ดัชนีจีนีไม่สามารถสะท้อนความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยในระดับบนสุดกับคนจนในระดับล่างสุดได้ดีนัก ทั้งที่คนทั้งสองกลุ่มดังกล่าวเป็นประเด็นสนใจของการศึกษาวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในระยะหลัง ๆ
การเลือกดูเฉพาะดัชนีจีนีอาจทำให้เราเข้าใจภาพความเหลื่อมล้ำผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง จากข้อมูลในรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยปี 2560 ที่จัดทำโดยสภาพัฒน์ฯ นั้น หากเรานำคนทั้งประเทศ 100 คนมายืนเรียงกันตามลำดับรายได้แล้วจะพบว่า คนที่ยืนอยู่หัวแถว 10 คนแรกมีรายได้รวมกันมากกว่า 35% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ ขณะที่คนจนและคนเกือบจนที่อยู่อีกฝั่งรวมกัน 40 คนมีรายได้รวมกันไม่ถึง 15% เมื่อเปรียบเทียบคนสองกลุ่มนี้จะพบว่ามีรายได้ต่างกันประมาณ 2.5 เท่า ตัวเลขที่เรียกว่า สัดส่วนพัลม่า (Palma Ratio) นี้แทบไม่ดีขึ้นเลยตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาจากรายได้เฉลี่ยต่อเดือนจะพบว่ามีเพียงแค่ 10 คนหัวแถวเท่านั้นที่มีรายได้เกินกว่ารายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP per capita) ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 19,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ 40 คนสุดท้ายนั้นมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 3,400 บาทเท่านั้น
เราอาจเห็นภาพความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ได้อย่างชัดเจนขึ้นเมื่อบอกว่า คน 40 คนนี้หมายถึงเพื่อนร่วมชาติจำนวน 27 ล้านคน
ไม้บรรทัดทางเศรษฐศาสตร์
ข้อโจมตีรายงาน Global Wealth Report ประการหนึ่งคือ ข้อมูลที่ใช้ในการประมาณการความมั่งคั่งในกรณีของไทยนั้นเป็นข้อมูลที่เก่ามาก (ปี 2006) ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาพอสมควร และทำให้ไม่สามารถกล่าวได้ว่า ไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งเป็นอันดับหนึ่งของโลก (ซึ่งรายงานดังกล่าวก็มิได้สรุปเช่นนั้น) อย่างไรก็ดี หากกล่าวตามจริงแล้ว ‘ตัวเลข’ จากไม้บรรทัดทางเศรษฐศาสตร์นั้นมิได้เที่ยงตรงเหมือนตัวเลขจากการชั่งตวงวัดทางวิทยาศาสตร์ เพราะไม่ว่าจะเป็นการวัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ ตลอดจนความเหลื่อมล้ำ ก็ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นภายใต้ข้อสมมติ หรือข้อจำกัดบางประการด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ยกเว้นแม้กระทั่งดัชนีจีนีด้านรายได้
การจัดทำดัชนีจีนีในกรณีของประเทศไทยนั้น ใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างราว 52,000 ครัวเรือนนี้อาจให้ภาพที่ไม่ครบถ้วน และทำให้ความเหลื่อมล้ำตามรายงานนั้นต่ำกว่าความเป็นจริง (ดูตัวอย่างเช่น ข้อสังเกตของสถาบันอนาคตไทยศึกษา) การฉายภาพความเหลื่อมล้ำทางรายได้จึงจำเป็นต้องใช้ข้อมูลอื่น ๆ มาประกอบ เช่น ข้อมูลการเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ งานศึกษาของ Thanasak Jenmana (2018) พบว่า หากนำข้อมูลด้านภาษีเงินได้มาประกอบการคำนวณ ค่าสัมประสิทธิ์จีนีด้านรายได้ของไทยเมื่อปี 2559 จะอยู่ที่ 0.63 (หรือ 63 หากวัดในรูปดัชนีจีนี) ขณะที่งานศึกษาของ ดวงมณี และชญานี (2561) พบว่า หากแบ่งผู้ที่ยื่นแบบภาษีเงินได้ออกเป็น 10 กลุ่ม กลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 10% แรกนั้นมีรายได้เฉลี่ยมากกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด 10% สุดท้ายเกือบ 60 เท่า ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่แท้จริงนั้นอาจสูงกว่าตามรายงานของสภาพัฒน์ฯ มาก
อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ค่อยมีผู้พูดถึงคือ ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลที่ใช้ในรายงาน Global Wealth Report แสดงให้เห็นว่า ไทยไม่มีการเก็บข้อมูลสำหรับใช้ในการทำการศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองทรัพย์สินได้ดีเพียงพอ หรือหากมีการเก็บข้อมูลก็ไม่มีการเปิดเผยอย่างเพียงพอ ทั้งที่ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้นๆ ของประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้น หากสภาพัฒน์ฯ เห็นว่า ข้อมูลของเครดิตสวิสในรายงานฉบับดังกล่าวไม่ได้มาตรฐาน สภาพัฒน์ฯ ในฐานะ ‘หน่วยงานที่ดำเนินการติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยมาอย่างต่อเนื่อง’ ก็ควรหาวิธีการจัดเก็บข้อมูลมาเปรียบเทียบเพื่อนำเสนอต่อสาธารณชน มิใช่เพียงแค่ยกดัชนีจีนีด้านรายได้ขึ้นมาอ้าง และลดทอนความสำคัญของความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งลงไปอย่างน่าเสียดาย
หากสภาพัฒน์ฯ เห็นว่า ข้อมูลของเครดิตสวิสในรายงานฉบับดังกล่าวไม่ได้มาตรฐาน สภาพัฒน์ฯ ในฐานะ ‘หน่วยงานที่ดำเนินการติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยมาอย่างต่อเนื่อง’ ก็ควรหาวิธีการจัดเก็บข้อมูลมาเปรียบเทียบเพื่อนำเสนอต่อสาธารณชน
ความเหลื่อมล้ำที่วัดไม่ได้
ความเหลื่อมล้ำทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางรายได้หรือความมั่งคั่งเป็นความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจซึ่งอาจวัดค่าได้ หรืออย่างน้อยก็พยายามที่จะวัดได้ แต่เราต้องไม่ลืมว่า ไทยยังมีความเหลื่อมล้ำอีกหลายด้านที่อาจจะวัดได้ยากกว่าหรือวัดไม่ได้เลย ตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณะ ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิและโอกาส ตลอดจนกระทั่งความเหลื่อมล้ำทางการเมือง
เป็นเรื่องดีที่สังคมพูดคุยถกเถียงกันเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่คงไม่ดีแน่หากหยุดอยู่แค่ความสบายใจเมื่อได้รู้ว่าไทยไม่ได้ครองแชมป์ความเหลื่อมล้ำ และปลอบใจตัวเองว่าประเทศไหน ๆ ก็มีความเหลื่อมล้ำด้วยกันทั้งนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าคือการทำความเข้าใจประเด็นความเหลื่อมล้ำโดยไม่หลงไปตามดราม่า เพราะการรับรู้ที่ผิด ๆ ย่อมทำให้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่ควรจะเป็น.
Fact Box
ผู้ที่สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ ยังสามารถติดตามประเด็นที่เกี่ยวข้องได้ทางเพจของศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์