นวนิยายเรื่องนี้เริ่มต้นด้วยภาพของชายหนุ่มคนหนึ่ง เขายืนอยู่หน้ากระจกหน้าต่างที่สะท้อนเงาของตัวเอง ภายในบ้านชนบทหลังงามทางตอนใต้ของฝรั่งเศส แต่ตัวเขาไม่ใช่คนฝรั่งเศส ทั้งไม่ใช่ชาวยุโรป เขาเป็นคนอเมริกัน มีนามว่า เดวิด เขาเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาแสวงหาสิ่งใด หรือหนีจากสิ่งใด มีเพียงตัวเขาเองเท่านั้นที่รู้ 

แรกเริ่มเขาใช้ชีวิตอยู่ในปารีส แต่นวนิยายจะค่อยๆ พาเราย้อนกลับไปว่าเหตุใดเขาจึงต้องเดินทางออกจากปารีสมาอยู่ในบ้านหลังนี้ ยืนมองเงาตัวเองในกระจกในเวลารุ่งสางเช่นนี้ พลางพินิจใบหน้า รูปลักษณ์ ตัวตน และนึกย้อนไปถึงความทรงจำต่างๆ 

ห้องของโจวันนี (Giovanni’s Room) นวนิยายชิ้นเอกของ เจมส์ บอลด์วิน (James Baldwin) นักเขียนแอฟริกันอเมริกัน พาเราไปสำรวจการก้าวผ่านช่วงวัยของเด็กหนุ่มที่กำลังกลายเป็นชายหนุ่ม ความสับสน ความเปราะบาง การเติบโต และการแสวงหาอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคล ผู้เขียนใช้อัตลักษณ์ทางเพศที่เลื่อนไหลของเดวิดตัวเอก เป็นกรอบในการตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับผู้คนและสังคม รวมไปถึงการปฏิเสธและยอมรับตัวตนของตัวเอง 

เดวิดเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีพ่อกับป้าเป็นคนดูแล เขาสูญเสียแม่ไปตั้งแต่ยังเล็ก โลกของเขาในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นคือการพยายามดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากอิทธิพลครอบงำของผู้ปกครองทั้งสอง เด็กหนุ่มประกอบสร้างตัวตนขึ้นมาอย่างกระท่อนกระแท่นท่ามกลางกฎเกณฑ์ของสังคมที่ยังไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ เมื่อเดวิดรู้ตัวว่าเขารู้สึกอย่างไรต่อเพื่อนชาย เขาจึงรู้สึกถึงความเป็นอื่น ความแปลกแยกในตัวตน และพยายามกดทับมันไว้ 

เรื่องราวเล่าผ่านน้ำเสียงของผมซึ่งก็คือเดวิด เราจึงสัมผัสความรู้สึกของตัวละครได้โดยตรงในยามที่เขาเจ็บปวดเจียนคลั่งกับความปรารถนาต้องห้ามและพยายามวิ่งหนีมัน ในขณะเดียวกันก็รู้สึกถึงแรงเย้ายวนเกินต้านทานที่คุคั่งอยู่ภายในตัว ความปรารถนาที่เขาไม่เคยต่อสู้เพื่อมัน มากเท่ากับต่อสู้กับมัน

ในเวลาต่อมา เดวิดเดินทางจากอเมริกามายังปารีส เขาได้รู้จักกับ ฌัก เกย์หนุ่มใหญ่กระเป๋าหนัก ฌักพาเดวิดมาเที่ยวที่บาร์เกย์ของ กีโยม เกย์หนุ่มใหญ่อีกคนที่มักจะอุปถัมภ์เลี้ยงดูเด็กหนุ่มด้วยการให้ทำงานที่บาร์ ในบาร์แห่งนั้นเองที่เดวิดได้รู้จักกับ โจวันนี บริกรหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกัน โจวันนีเป็นชายหนุ่มรูปงามจากอิตาลีที่เดินทางมาแสวงโชคในมหานครปารีสเช่นเดียวกับเดวิด

แรกเริ่มโจวันนีกับเดวิดยังไม่รู้สึกถึงแรงปรารถนาที่มีต่อกัน ต่างฝ่ายต่างเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับความรู้สึกเพื่อดึงเกมยืดเวลา ในฉากอันงดงามที่ทั้งคู่ได้พบกันครั้งแรกนี้ บทสนทนาหยั่งเชิงแบบหยิกแกมหยอกถึงความเป็นคนอเมริกันและคนยุโรป ที่แม้จะตอกย้ำภาพลักษณ์และทัศนะตายตัวที่คนจากสองทวีปสองวัฒนธรรมต่างมองกันและกัน แต่ขณะเดียวกัน ทั้งคู่ต่างก็เป็นคนแปลกหน้าของเมืองนี้ จึงเกิดความรู้สึกร่วมที่เกาะเกี่ยวกันได้อย่างไม่ยากเย็น 

จุดที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของนวนิยายเล่มนี้คือ แม้เดวิดและโจวันนีจะรู้สึกได้ถึงความลับและความปรารถนาที่ซุกซ่อนอยู่ทั้งสองฝ่าย แต่การแสดงออกภายนอกของทั้งคู่กลับมีลักษณะที่จงใจตัดขาดตัวเองอย่างชัดเจนจากสังคมชาวเกย์ปารีสอย่างที่ฌักและกีโยมแสดงออก ราวกับว่าทั้งคู่เป็นเพียงชายหนุ่มรูปงามสองคนที่ต้องการแบ่งปันความรู้สึกอันอ่อนโยนและบริสุทธิ์ระหว่างกัน หาใช่เกย์เฒ่าอย่างฌักและกีโยมที่มักจะแสดงท่าทางกะลิ้มกะเหลี่ยอย่างเปิดเผย ซึ่งทำให้เดวิดและโจวันนีรู้สึกอึดอัดที่ต้องตกอยู่ใต้สภาพนั้น

การแสดงออกภายนอกของเดวิดและโจวันนี จึงกลายเป็นการแสดงความเป็นชายมากกว่าจะแสดงความเป็นเกย์นั่นก็เพราะว่าบรรยากาศในสังคมชาวเกย์ปารีสทำให้ทั้งคู่รู้สึกเป็นอื่น และกลายเป็นอำนาจกดทับให้รู้สึกด้อยกว่าเมื่อมันวางอยู่บนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ทั้งความไม่เท่าเทียมกันด้านสถานะทางการเงิน ความเป็นเจ้านายกับลูกน้อง และปัจจัยด้านความเป็นคนต่างชาติที่ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสองอยู่กลายๆ ในแง่นี้ความเป็นชายจึงมีอำนาจต่อรองกับสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะมันคืออุดมการณ์หลักที่ตัดข้ามความแตกต่างด้านสถานะทางสังคมและเชื้อชาติได้ ไม่เพียงเท่านั้น ความเป็นชายยังนำมาซึ่งศักดิ์ศรีบางอย่างที่ตัวละครมอบให้กับตัวเอง ศักดิ์ศรีบางอย่างที่ฌักและกีโยมอาจจะมองข้ามไปเพราะคิดว่าทั้งเดวิดและโจวันนีเป็นเพียงแค่เด็กหนุ่มหิวเงิน จนละเลยที่จะเคารพศักดิ์ศรีของชายหนุ่มทั้งสอง

เมื่อเดวิดและโจวันนีพัฒนาความสัมพันธ์จนสุกงอม เดวิดจึงย้ายมาอยู่ในห้องซอมซ่อรูหนูของโจวันนี ห้องนั้นกลายเป็นรังรักของทั้งคู่ ห้องที่ตัดขาดตัวเองจากความเรื่อเรืองหรูหราของมหานครปารีส ไม่ต่างจากเดวิดและโจวันนี ที่แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของโลกอันหรูหรานั้น แต่พวกเขาก็เป็นเพียงส่วนที่ถูกนับเพื่อไม่จะได้ไม่ถูกนับรวมให้เป็นส่วนเช่นเดียวกับความเป็นเกย์และสังคมชาวเกย์ในปารีสในขณะนั้น ที่แม้จะครึกครื้น แต่ก็ต้องซ่อนตัวเองไว้ภายใต้กรอบของศีลธรรมอันดี 

ในห้องนี้เองที่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เริ่มขึ้นและจบลงในเวลาอันสั้น เมื่อต่างฝ่ายต่างค้นพบในที่สุดว่า ความสัมพันธ์นั้นเป็นไปไม่ได้ในโลกจริง กระทั่งภาพชีวิตที่แต่ละคนวาดไว้ก็ยังแตกต่างกัน เดวิดสารภาพว่าตนเองมีคู่รักที่เป็นผู้หญิงอยู่แล้วชื่อ เฮลลา ซึ่งขณะนี้เธอกำลังเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในสเปน และจะกลับมาหาเขาที่ปารีสในอีกไม่ช้า แต่เขาก็พ่ายแพ้ให้กับความปรารถนาที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน แท้แล้วความสัมพันธ์ระหว่างเขากับโจวันนีจึงไร้ทางออกมาแต่เริ่มต้น

ฉากที่เจ็บปวดอย่างยิ่งคือฉากที่ก่อนหน้านี้โจวันนีหลงเชื่อไปว่าตัวเองจะสามารถสร้างชีวิตกับเดวิดได้จริง ถึงขั้นลงมือตกแต่งปรับปรุงห้อง ทุ่มเทแรงกายทำงานเพื่อสร้างวิมานน้อยๆ ของตัวเองขึ้นมา ในแง่นี้ห้องจึงเปรียบเสมือนตัวตนทางเพศที่แต่ละฝ่ายยอมรับได้ไม่เท่ากัน ในขณะที่โจวันนีหาทางมีชีวิตอยู่ภายในห้องนั้นอย่างดีที่สุด สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเดวิดกลับเป็นการสามารถเข้าออกห้องนั้นได้เป็นครั้งคราว 

ยิ่งไปกว่านั้น ก็อาจกล่าวได้ว่า สำหรับเดวิดแล้วห้องที่แท้จริงสำหรับเขาไม่ใช่ห้องของโจวันนี แต่เป็นตัวโจวันนีเองต่างหากที่มีสถานะเป็นห้องเช่นเดียวกับที่เฮลลา หญิงคนรักของเขา ก็เป็นห้องห้องหนึ่งสำหรับเดวิดเช่นกัน เขาจึงแสวงหาห้องให้ตัวเองอยู่ร่ำไป ห้องที่เขาสามารถเข้าไปซุกตัวรับไออุ่นในนั้นได้ ในขณะที่ตัวเขากลับไม่สามารถเป็นห้องให้ตัวเองได้ อาจเป็นเพราะเขาหวาดกลัวเกินกว่าที่จะไขกุญแจเข้าไปในตัวตนของตัวเอง

นวนิยายใช้อุปมาเรื่องการหนีออกมาและการกลับไปของตัวละครได้อย่างคมคาย การที่เดวิดหนีออกมาจากบ้านที่อเมริกามาที่ปารีส คือการหนีจากอำนาจความเป็นชาย หนีจากครอบครัวและร่มเงาอำนาจของพ่อ การอยู่อย่างคนไร้รากในปารีสจึงมอบอิสระบางอย่างให้กับเขา โดยเฉพาะตัวตนและความปรารถนาทางเพศ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเดวิดกล่าวว่าเขาจะกลับไปที่อเมริกาเพื่อแต่งงานและใช้ชีวิตครอบครัวฉันสามีภรรยากับเฮลลา การกลับไปดังกล่าวจึงคือการกลับไปสู่อุดมการณ์ความเป็นชายและสถาบันครอบครัวที่เขาหนีมันออกมาในตอนแรกอันให้หลักประกันความสุขและความมั่นคงในชีวิตมากกว่า 

เมื่อเดวิดไม่สามารถเป็นห้องอันอบอุ่นให้ตัวเองได้ ห้องเดียวที่เป็นไปได้สำหรับเขาจึงคือห้องขังที่เสมือนตัวตนของเขา เพราะเขาเลือกแล้วที่จะกักขังตัวเองไว้ในห้องนั้น

Fact Box

  • ห้องของโจวันนี (Giovanni’s Room) เจมส์ บอลด์วิน (James Baldwin) เขียน โตมร ศุขปรีชา แปล สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์