เคยสงสัยมานานว่าบ้านไม้หลังเก่าแก่มองเห็นอึมครึมอยู่หลังประตูแน่นหนา ซึ่งปิดร้างอยู่ในซอยหลังโบสถ์พราหมณ์ใกล้เสาชิงช้านั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร ทุกครั้งที่มีโอกาสได้เดินผ่านก็จะอดลอบมองเข้าไปอย่างใคร่รู้ไม่ได้ กระทั่งวันหนึ่งที่ประตูไม้บานนั้นเปิดออก ใต้ต้นมะม่วงอกร่องที่แผ่กิ่งให้ร่มเงาอยู่หน้าบ้านมีโต๊ะเก้าอี้ที่ถูกจับจองโดยผู้มาเยือน เรือนไทยแบบขนมปังขิงปรากฏตัวพร้อมคาเฟ่น่านั่ง ในบรรรยากาศเรื่อยรินราวพาเราย้อนกลับไปเมื่อร้อยปีก่อน
เหนือซุ้มประตูและช่องลมของเรือนหลังนี้ หากสังเกตให้ดีจะมองเห็นว่ามีการสลักตัวอักษรอยู่ในกรอบวงกลม ข.ไข่-ไม้หันอากาศ-น.หนู ซ้อนทับกัน และ ‘ขัน’ คำนี้เองที่บอกถึงที่มาของเรือนหลังนี้
บ้านขนมปังขิงในซอยหลังโบสถ์พราหมณ์ สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2456 โดยอำแดงหน่าย (สกุลเดิมคือ สกุลพราหมณ์) ภรรยาของขุนประเสริฐทะเบียน (ชื่อเล่น-ขัน) เป็นผู้ซื้อที่ดินขนาด 47 ตารางวาผืนนี้จากหลวงบุรีพิทักษ์ และขุนประเสริฐทะเบียนได้สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นเพื่อเป็นที่พักอาศัยของตระกูลอันเป็นครอบครัวใหญ่ แต่ผืนดินที่เหลืออยู่ลดขนาดลงเหลือ 35 ตารางวา เนื่องจากถูกเวนคืนเพื่อสร้างถนนเป็นซอยปัจจุบันไป 12 ตารางวา ทำให้พื้นที่หน้าบ้านถูกตัดร่นลงมาเกือบถึงตัวบ้านอย่างที่เห็น ส่วนมะม่วงอกร่องหน้าบ้านที่มอบความร่มรื่นให้ตัวบ้านเป็นสำคัญ ก็ปลูกโดยนางนอบ บุตรีของอำแดงหน่ายและขุนประเสริฐทะเบียน ว่ากันว่าอายุก็ใกล้เคียงร้อยปี เก่าแก่พอๆ กับตัวบ้าน
บ้านแบบ ‘ขนมปังขิง’ หรือ ‘Ginger Bread House’ เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกซึ่งไทยได้รับอิทธิพลเข้ามาในช่วงรัชกาลที่ 4 เริ่มจากบ้านพักของสถานทูตฝรั่งเศส แพร่หลายมาถึงในวัง วัดวาอาราม พ่อค้า คหบดีชนชั้นกลาง โดยชื่อนั้นมาจากการตกแต่งลายฉลุเหนือประตูและช่องลมที่สวยงามละเอียดอ่อน มีความคล้ายคลึงกับ ‘บ้านขนมปังขิง’ หรือคุกกี้ที่ชาวยุโรปมักจะทำกินกันในเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งมีการตกแต่งลวดลายด้วยน้ำตาลที่อ่อนช้อย มีลักษณะหงิกงอคล้ายแง่งขิง
เมื่ออำแดงหน่ายถึงแก่กรรม บ้านหลังนี้ถูกขายต่อให้หลาน คือท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นทายาทท่านผู้หญิงเนื่องสนิท บุตรีคนที่สองของขุนประเสริฐทะเบียน และด้วยเจตจำนงที่ต้องการอนุรักษ์บ้านหลังนี้เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา การเริ่มต้นบูรณะบ้านที่ทรุดโทรมลงไป จึงเกิดขึ้นครั้งใหญ่ในปีพ.ศ. 2533 ตั้งแต่การยกพื้นให้สูงขึ้นอีก 30 เซนติเมตร เพื่อช่วยระบายความชื้นและรักษาเนื้อไม้ ทำสีและซ่อมแซมจุดที่แตกหัก ส่วนป้ายชื่อ ‘บ้านขนมปังขิง’ ที่เห็นอยู่เหนือประตูรั้วนั้น คุณหมอสิทธิ์ สามีของท่านผู้หญิงเพ็ชรา เป็นคนเขียนและแกะสลักขึ้นเองกับมือ
หลังการบูรณะครั้งแรก บ้านขนมปังขิงยังคงเก็บงำความงามเอาไว้หลังประตู กระทั่งเปลี่ยนมาสู่มือทายาทรุ่น 4 คุณธนัชพร คุณารัตนอังกูร และสามีคือคุณวิรัตน์ มีความคิดว่า หากบ้านหลังนี้ไม่เปิดใช้ ก็มีแต่จะเก่าพังไปตามเวลา การบูรณะจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง เพื่อเปิดบ้านให้เป็นร้านกาแฟกึ่งพิพิธภัณฑ์ ให้คนภายนอกได้เข้ามาพักผ่อนและเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมที่มีร่องรอยและวิถีของผู้คนในอดีตหลงเหลืออยู่ โดยมีคุณเบน-กีรติ คุณารัตนอังกูร หลานชายซึ่งชื่นชอบการทำกาแฟ เป็นผู้ดูแลและสร้างสรรค์เมนูเครื่องดื่มภายในร้าน
โจทย์ใหญ่ของการบูรณะเรือนไม้สักอายุ 106 ปีครั้งนี้ ความยากเริ่มขึ้นตั้งแต่การตัดสินใจว่าจะจัดการกับพื้นผิวของไม้อย่างไร จะทาสีหรือไม่ทาสี จะเคลือบผิวไม้หรือไม่เคลือบ การระดมความคิดร่วมกันระหว่างเจ้าของบ้าน สถาปนิก นักตกแต่งภายใน รวมถึงช่าง เห็นดีในข้อตกลงที่ว่า การทำให้ใหม่นั้นทำง่ายกว่าการทำให้เก่า และความเก่าก็มีคุณค่าและสวยงามอยู่แล้วในตัว เพื่อให้เห็นร่องรอยของความดั้งเดิมที่เก่าไปตามเวลา การปรับปรุงครั้งนี้จึงคงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุด ไม่มีการเคลือบหรือขัดสีเนื้อไม้ บานประตูหน้าต่าง บานพับ บานกระทุ้ง ผนัง ช่องลม ลายฉลุ ยังเป็นของเดิมทั้งสิ้น
ที่น่าทึ่งคือเนื้อไม้ที่เห็นยังคงสภาพสมบูรณ์แม้จะผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน หากจะมีการนำไม้เข้ามาเสริมซ่อมแซมส่วนที่แตกหักก็เป็นส่วนน้อย มีการดันฝ้าเพดานขึ้นเพื่อให้ตัวบ้านโปร่งสบายลดความอึดอัด ติดประตูกระจกที่ชั้นล่าง และปูพื้นกระเบื้องบริเวณนอกบ้าน เรียกได้ว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของบ้านหลังนี้ ยังเป็นของเดิมอยู่ทั้งสิ้น และยินดีให้ผู้มาเยือนได้เข้ามาสัมผัสความงามนั้นอย่างใกล้ชิดทุกซอกมุม
ภายในบ้านมีเครื่องเรือนเก่า เตารีดโบราณ ของตกแต่ง และรูปถ่ายในอดีตของครอบครัวเจ้าบ้านประดับอยู่บนฝาผนังและตามมุมต่างๆ โทรศัพท์แบบมือหมุนที่ติดอยู่บนเสาหน้าเคาน์เตอร์บาร์บริเวณชั้นล่างนั้นเราได้รับคำบอกเล่าว่ายังใช้ได้จริง บานจับประตูแบบโบราณที่เลิกใช้กันไปแล้วที่นี่ยังคงใช้งานได้อยู่
เมื่อขึ้นบันไดไปสู่ชั้นสอง ส่วนแรกที่พบคือชานนั่งเล่นที่ในอดีตคือลานสกา ซึ่งขุนประเสริฐทะเบียนมักจะล้อมวงเล่นสกากับพรรคพวกอยู่บนชานนี้ ตอนนี้ดูน่าเอนหลังสบายบนแหย่งไม้ขนาดใหญ่ที่ลมพัดเย็นสบายในวันอากาศดี ห้องหับในอดีตยังคงแยกสัดส่วนแบบที่เคยเป็น หากแต่ทุกห้องมีชุดรับแขกเพื่อใช้รับรองผู้มาเยือน ร่องรอยของการดันฝ้าเพดานขึ้นยังมีให้เห็นชัดเจน ซึ่งเจ้าของบ้านตั้งใจเก็บรอยนี้ไว้เพื่อให้คนได้เปรียบเทียบและเห็นความแตกต่างหลังการปรับปรุง อีกมุมหนึ่งนั้นคือโต๊ะเครื่องแป้งโบราณที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องใช้ของท่านผู้หญิงเนื่องสนิท ยังคงสภาพสมบูรณ์ของงานไม้ฝีมือช่างในอดีต
เยี่ยมชมบ้านจนอิ่มใจแล้ว เราเลือกที่นั่งกันมุมหนึ่งในร้านเพื่อจิบเครื่องดื่มเย็นๆ เครื่องดื่มซิกเนเจอร์ของร้าน คือกาแฟสามชั้นที่มีชื่อตรงๆ ว่า ไอซ์ซิกเนเจอร์คอฟฟี่ ชั้นล่างเป็นไซรัป ไล่ขึ้นมาเป็นนมและกาแฟตามลำดับ ความพิเศษอยู่ที่ไซรัปและนมซึ่งปรุงขึ้นเองเป็นพิเศษ หากชอบความหอมและรสชาติของมินต์ แนะนำให้ดื่มมินต์มักคิอาโต นมมินต์และฟองกาแฟให้ความละมุนแถมสดชื่น ส่วนคอช็อกโกแลตลองสั่งนูเทลลาช็อกโกแลต ช็อกโกแลตเข้มข้นที่หอมไซรัปนัต แต่ถ้าอยากจะเคลียร์รสนมรสกาแฟออกไปบ้าง ความจัดจ้านของมินต์มะนาวโซดาคือคำตอบ
ที่ร้านมีเบเกอรีให้เลือกสารพัด อย่างเค้กมะพร้าวอ่อน หรือเค้กมะตูมที่ให้รสชาติหอมมันแบบไทย เค้กไมโลคิวบ์ให้รสชาติช็อกโกแลตแบบข้นๆ ที่เข้ากันดีกับชาร้อนสักกา ส่วนเมนูขนมหวานที่ได้รับความนิยมมากของร้านนี้ คือไอศกรีมใบเตยบัวลอย ท็อปหน้ามาด้วยฝอยทอง เสิร์ฟมาในผอบแบบแยกน้ำกะทิเพื่อให้เราราดได้เองตามใจชอบ น่าเสียดายที่เราไปในวันที่ไอศกรีมใบเตยหมด จึงต้องทดแทนด้วยไอศกรีมกะทิไปก่อน นอกจากเมนูนี้ยังมีไอศกรีมกะทิลอดช่อง และไอศกรีมชาไทยเฉาก๊วย ซึ่งเป็นการจับคู่รสชาติที่เข้ากันลงตัวดี
บ้านขนมปังขิงเพิ่งเปิดให้คนแวะเข้าไปดับร้อนและเยี่ยมชมได้เพียงเดือนเศษ แต่ก็กลายเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดผู้คนในย่านเสาชิงช้าไปจนถึงย่านใกล้และคนย่านไกลไปแล้ว ด้วยเสน่ห์ของบ้านเก่าและบรรยากาศร่มรื่น ที่เหมือนตัดขาดตัวเองจากโลกภายนอกได้เพียงก้าวเท้าผ่านประตูบานนั้นเข้าไป
Fact Box
- บ้านขนมปังขิง เลขที่ 47 ซอยหลังโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า พระนคร เปิดให้บริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 11.00-20.00 น. โทร. 09-7229-7021 หรือคลิก www.facebook.com/house2456/