บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

เริ่มต้นจากชายผิวสีเดินไปตามถนน โทรคุยกับเพื่อนเรื่องที่อยู่สักแห่งที่หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ มันเป็นชานเมืองที่ดูสงบดี พลันรถคันหนึ่งขับผ่านไป ชะลอดู ตีวงวนกลับมา ชายหนุ่มเห็นท่าไม่ปลอดภัย แต่ไม่ทันการณ์คนในรถทำร้ายเขาจนสลบแล้วลากขึ้นรถไป

เริ่มที่เด็กหญิง Adelaide ตัวน้อยในปี 1986 ดูทีวีพยากรณ์อากาศเรื่องฟ้าฝน โฆษณาโครงการจับมือกันข้ามอเมริกา และโฆษณาเกี่ยวกับชีวิตชายหาด คืนวันเกิดวันนั้น เธอไปเที่ยวกับพ่อแม่ในงานออกร้านริมชายหาด เธอเคยเดินพลัดกับพ่อแม่ในงานออกร้าน เดินลงไปในชายหาด เจอบ้านผีสิงลึกลับ เธอเดินเข้าไปในนั้นโดยลำพังแล้วพบตัวเองอีกคนหนึ่งข้างในนั้น ที่มุ่งหมายจะทำร้ายเธอ

Chris หนุ่มช่างภาพผิวสีกำลังคบอยู่กับสาวผิวขาว สุดสัปดาห์นี้ทั้งคู่กำลังเตรียมตัวเดินทางไปเยี่ยมพ่อแม่ของฝ่ายหญิงที่พ่อเป็นหมอศัลยกรรม แม่เป็นนักจิตวิทยาในบ้านชนบทหรูหราของสาวเจ้า เขาประหม่าอยู่มากทีเดียว  

ครอบครัวชนชั้นกลางผิวสีที่ประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูกสาวลูกชาย กำลังเดินทางไกลไปยังบ้านพักหรูหราใกล้ทะเลซานตาครูซที่ที่คนแม่เคยอาศัยอยู่ในวันหยุดยาว ทุกคนดูมีความสุข เว้นก็แต่คนแม่ที่การกลับไปยังบ้านเก่าและชายหาดทำให้เธอรู้สึกกดดัน

ที่บ้านของคนรัก เขาพบการต้อนรับที่อบอุ่น แม่ของคนรักชวนเขาสนทนาบอกว่าเธอสะกดจิตเขาได้ ให้เขาเลิกบุหรี่ โดยไม่รู้ตัว เธอชวนเขาคุยเรื่องที่ว่า แม่ของเขาตายในคืนที่เขาอยู่บ้านคนเดียว และเขาจมอยู่กับความรู้สึกผิดมาตลอดว่าตนเองเพิกเฉยต่อความตายของแม่

ที่ทะเล หญิงสาวพบว่าความกังวลของเธอเกิดจากการต้องกลับไปคิดถึงคืนนั้นบนชายหาด ไอ้บ้านผีสิงที่เคยเป็นรูปของอินเดียนแดงมันก็ยังอยู่แต่เป็นรูปพ่อมดคนขาวไปแล้ว เธอคิดถึงความช็อคหลังจากพบตัวเองอีกคนหนึ่งที่ทำให้เธอพูดไม่ได้อยู่พักใหญ่ๆ และทำให้พ่อแม่ระหองระแหงกันหลังเหตุการณ์นั้น

หนุ่มช่างภาพพบกับงานเลี้ยงประหลาด พบคนผิวสีที่คุ้นหน้าแต่ทำตัวประหลาดๆ ไร้ชีวิต มีบางอย่างไม่ชอบมาพากล และเขาคิดว่านอกจากมันจะประหลาดแล้วเขาก็อาจถูกคุกคามและตกเป็นเหยื่อ

คืนนั้นมีครอบครัวชุดแดงมาปรากฏตัวขึ้นที่หน้าบ้านของพวกเขา คนพวกนั้นแต่งตัวประหลาดๆ ท่าทางประหลาดๆ ไร้ชีวิต เหมือนคนครึ่งดีครึ่งบ้า พยายามบุกเข้ามาในบ้าน และเธอพบว่าคนพวกนั้นมีหน้าตาเหมือนกันกับครอบครัวของเธอ

และนี่คือฉากต่อฉากของหนังสองเรื่องของ Jordan Peele เริ่มจาก Get Out  ในปี 2017 และ Us ในปี 2019 นี้ ซึ่งแม้ตัวเรื่องของมันจะไม่เหมือนกัน แต่โครงสร้างของหนังทั้งสองเรื่องนี้กลับคล้ายกันอย่างยิ่ง จนน่าสนใจว่าในทางหนึ่ง Us เป็นเหมือนภาคต่อของ Get Out ในขณะเดียวกันก็เป็นเงากระจกของ Get Out  

โดยเห็นได้ชัด Get Out เล่าเรื่องการเหยียดผิวในอเมริกาผ่านทางขนบของหนังสยองขวัญ หากทว่าตัวละครหลักไม่ใช่คนดำยากจนที่โดนกีดกัน กลั่นแกล้ง ทำร้าย หรือเลือกปฏิบัติในแบบเดียวกับหนังที่พูดถึงปัญหาผิวสี เขากลับเป็นคนดำชนชั้นกลางที่มีความสุขดีกับชีวิตมีอภิสิทธิ์แบบเดียวกับชนชั้นกลางอื่นๆ แถมยังมีแฟนเป็นสาวผิวขาวร่ำรวย หากกลิ่นอายของการเหยียดผิวนั้นอวลอยู่ในทุกอณูของอากาศ อยู่ในการขอเรียกตรวจบัตรประชาชนทั้งที่ไม่ได้เป็นคนขับรถของนายตำรวจ หรืออยู่ในท่าทีเล็กๆ น้อยๆ ของผู้คนที่คนรักของเขาออกมาปกป้อง หรือหนักหนาไปในระดับฉากพิสดารชวนเหวอของการจำลองการค้าทาสในอดีตกลับมาอีกครั้ง

หากความยอกย้อนในหนังน่าสนใจยิ่ง ในอดีตการค้าทาสเป็นการ ‘มองคนไม่เป็นคน’ เพราะต้องการแรงงาน แต่ไม่ต้องการร่างกาย กล่าวคือคนดำกลายเป็นทาสเพราะถูกมองว่ามีรูปลักษณ์น่าเกลียดกว่าคนขาว ผิวที่มีสีเข้มกว่า ดวงตาที่โต ปากที่หนาใหญ่ หรืออะไรก็ตามที่อยู่ตรงข้ามกับความงามแบบยุโรปเป็นศูนย์กลาง ในอดีต การค้าทาสเป็นอาการเกลียดตัวกินไข่ของการ ‘ต้องการแรงงานแต่ไม่ต้องการร่างกาย’ ร่างกายที่แตกต่างจึงถูกทำให้มีศักดิ์ต่ำกว่า ลดรูปไปเหมือนสัตว์ หรือวัวควาย  แต่การค้าทาสใน Get Out กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะนี่คือการต้องการ ‘ร่างกาย’ แต่ไม่ต้องการแรงงานหรือชีวิต  ดังนั้น หากการเหยียดผิวจะยืนอยู่บนพื้นฐานของการรังเกียจเรือนร่างของคนดำโดยคนขาว Get Out กลับบอกว่า ความดำได้กลายเป็นแฟชั่น เราต้องการ ‘เรือนร่าง’ อันบึกบึนแข็งแรง ต้องการ ‘แฟชั่น’ ของคนดำมาเป็นประหนึ่งผิวเปลือก เป็นเสื้อผ้าสวมจิตวิญญาณของคนขาว

ดังนั้น คนดำที่ดีคือคนดำที่ตายแล้ว คนดำที่ดีคือคนดำที่มีจริต มีวิธีคิดแบบคนขาวหรือใช้ภาษาแบบคนขาว (เราจึงเห็นการใช้ภาษาของคนดำคนอื่นๆในเรื่องเป็นภาษาที่แสนสุภาพ ภาษาแบบคนขาวซึ่งขัดแย้งกับภาษาที่ช่างภาพหนึ่งโทรคุยกับเพื่อนสนิท) นั่นกลายเป็นหนทางเดียวที่คนดำจะเป็นคนในสายตาของคนขาว ทั้งโดยการสะกดจิต ที่เริ่มจากการชี้ให้เห็นว่าคนดำนั้นด้อยค่าในเชิงปัจเจกจากปมในอดีต เป็นคนที่ไม่เต็มคนไม่สมบูรณ์ ไปจนถึงการสวมร่างแทนตัวทางกายภาพจริงๆ ดังนั้นคนดำที่ไม่ผ่านการคิด (สะกดจิต) แบบคนขาวจึงเป็นคนดำที่ใช่การไม่ได้ คนดำที่ผ่านการเป็นคนขาวทางจิตวิญญาณเป็นคนดำที่สมบูรณ์แบบกว่า การที่คนขาวเข้าสิงร่างคนดำ จึงมีนัยยะสองแง่สองง่ามแบบคำว่า Get Out ซึ่งในตัวมันเอง มีนัยยะเบื้องต้นในการขับไล่คนดำออกไปให้พ้นอาณาเขตของคนขาว แต่ในขณะเดียวกันคำว่า Get Out ยังเป็นคำที่คนดำที่ชั่วครู่ชั่วคราวตระหนักรู้ความเป็นคนดำของตัวเอง ให้ออกไป ให้หนีไปเสียจากที่นี่ และการที่คนดำที่ถูกสะกดจิตอยู่ก่อน เริ่มรู้ตัวในชั่วครู่ชั่วคราวนั้นเอง ก็เปรียบได้กับการกลับมาจาก ‘อุโมงค์’ หรือ The Sunken Place (ที่ที่จมลงไป)

ไคลแมกซ์ของหนังจึงเป็นเรื่องการที่คนดำจะเป็นคนดำ ไม่ใช่เป็นคน เพราะความเป็นคนโดนคนขาวยึดครองความหมายไปแล้ว เขาจึงต้องล้มคนขาวทั้งหมด แต่ก็เหมือนกับที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้ใน I AM NOT YOUR NEGRO ว่า ถ้าคนขาวยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิ่งที่ถูกเขาจะเป็นฮีโร่ แต่ถ้าคนดำทำแบบคนขาวเขาจะเป็นโจร ผู้ก่อการร้าย ฆาตกร และนั่นเป็นชะตากรรมของ Chris ที่หนังไม่ยอมบอกเอาไว้

ใน Us อุโมงค์ (The Sunken Place) จาก Get Out กลับมาอีกครั้งในรูปของอุโมงค์ที่ถูกเล่าในฉากแรกของหนัง อุโมงค์ใต้ดิน ทางรถไฟเก่า ท่อน้ำทิ้ง หรือแม้แต่อุโมงค์ที่ใช้ในการหลบหนีข้ามพรมแดนของคนเม็กซิกัน อุโมงค์ที่ไม่ใช่ที่ที่ผู้คนเพิ่งจมลงไป แต่เป็นที่ที่ผู้คนจมอยู่มาตลอด

เรื่องราวใน Us ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างคนดำและคนขาวอีกต่อไป หากมันคือความขัดแย้งในคนดำด้วยกันเอง

หากว่า Get Out พูดถึงการแยกตัวตนออกจากร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของคนดำหรือความเป็นคนดำ ที่ถูกแยกออกจากจิตวิญญาณผ่านการสะกดจิต หรือการเป็นคนขาวผ่านการศึกษา ภาษา และการครอบงำทางความคิด Us ก็พูดถึงเรื่องเดียวกัน เรื่องของตัวตนของคนดำ และความเป็นคนดำที่ถูกแบ่งออกเป็นสองคือคนดำในโลกแบบชนชั้นกลาง และคนดำในโลกของชนชั้นล่าง ที่ที่ความเป็น ‘ข้างล่าง’ ถูกทำให้เห็นเป็นภาพออกมาจริงๆ

ตัวตนของ Adelaide ตัวเอกใน Us จึงเป็นตัวตนแบบเดียวกับตัวตนของ Chris ที่ผ่านการสะกดจิตแล้ว ผ่านการสวมร่างแล้ว กล่าวให้ถูกคือใดๆ ก็ตามใน Get Out สำเร็จในระดับมหัพภาคเปลี่ยนคนดำให้เป็นคนดำชนชั้นกลางใช้ชีวิตแบบเดียวกับคนขาว ในหนังเรื่องนี้เราพบว่าไม่มีคนดำคนอื่นๆ เลยนอกจากครอบครัวของเธอ ชีวิตของพวกเธอหลุดเดี่ยวอยู่ในสังคมคนขาวอย่างเสมอหน้าจนน่าสะพรึง

ครอบครัวชุดแดงที่โผล่มาจึงทำหน้าที่แบบเดียวกับคนรับใช้ผิวสีใน Get Out เป็นเพียงหุ่นยนต์ เป็นเรือนร่างที่ปราศจากจิตวิญญาณ เป็นสิ่งคุกคามอันน่าสะพรึงกลัว หากใน US นี้ คนชุดแแดงกลับเป็น จิตวิญญาณที่ไร้เรือนร่าง ในแง่ของการอาศัยอยู่ใต้ดิน การไม่ถูกมองเห็นเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นเพียง ‘เงา’ ในโลกคู่ขนานที่มีทุกอย่างเหมือนกัน ใช้ชีวิตแบบเดียวกันกับคนข้างบนแต่ไม่มีอะไรเลย ดุจดังสองด้านของกรรไกรที่เหมือนกัน แต่ไม่อาจประกบเข้าหากันสนิทเพราะสลับซ้ายขวา กรรไกรจึงเป็นเครื่องมือในการฆ่าที่งดงามกว่ามีดเพราะมันคือการประกอบกันไม่ได้แม้จะเหมือนกัน

ชีวิตในโลกอุโมงค์จึงใช้อธิบายเรื่องความเหลื่อมล้ำในโลกเสรีนิยมได้อย่างน่าทึ่ง เพราะนี่คือโลกที่ทุกคนเท่ากันแต่บางคนเท่ากันมากกว่าคนอื่น ทุกคนถูกเปิดโอกาสให้ผ่านประสบการณ์แบบเดียวกัน แต่ความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรไม่เท่ากัน เมื่อ Adelaide ได้เสื้อยืดไมเคิลแจคสัน Red ในโลกข้างล่างได้เสื้อยืดกะโหลกกะลา เมื่อมีครอบครัว เธอได้คลอดในโรงพยาบาล อีกคนได้คลอดตามมีตามเกิด โครงสร้างของรัฐนั้นแสร้งว่าเท่าเทียมกัน แต่โอกาสเข้าถึงโครงสร้างไม่เท่ากัน (ยังไม่ต้องพูดถึงโลกที่สามที่นอกจากการเข้าถึงไม่เท่ากันแล้ว โครงสร้างของสังคมและรัฐยังช่วยกดหัวซ้ำอีกครั้งหนึ่งด้วยเรื่องของบาปกรรม ของชนชั้น ของความเชื่อว่าคนเราไม่เท่ากัน)

เงาจึงคือ ‘เรา’ และ เรา (US) จึงคือ US ที่ไม่มี A มันจะหมายถึงโลกเหลื่อมล้ำที่ไหนก็ได้ในโลก มิตรสหายท่านหนึ่งให้ความเห็นน่าสนใจว่า ผู้คนชุดแดงทำให้นึกถึงเขมรแดง กองทัพประชาชนที่กวาดล้างปัญญาชนขุนนางศักดินาในพนมเปญเพียงชั่วข้ามคืน

แล้วเงาทำอะไร? สิ่งที่เงาทำคือการฆ่า ตามบท Jeramiah 11:11 “เพราะฉะนั้น พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้ว่า นี่แน่ะ เราจะนำเหตุร้ายมาเหนือเขา ซึ่งเขาหนีไม่พ้น ถึงเขาจะร้องทุกข์ต่อเรา เราก็จะไม่ฟังเขา” หากการฆ่าของเงาไม่ใช่การแทนที่ นี่ไม่ใช่ Invasion of Body Snatchers ที่ตัวตนของมนุษย์ต่างดาวแทรกซึมเข้ามา ฆ่าต้นร่างทิ้งและสวมชีวิตของต้นร่าง และไม่ใช่ Get Out ที่ต้นร่างทำหน้าที่เป็นเพียงเปลือกดักแด้ให้ส่วมใส่ แต่มันคือการทำลายล้างอย่างไม่ปราณี การทำลายล้างแบบในไบเบิล และแบบเดียวกับกองทัพประชาชนที่เหลือทนกับการกดขี่ และหลังจากการฆ่า สิ่งที่พวกเขาทำจริงๆ คือการไปจับมือกันเพื่อสร้าง ‘กำแพง’

ความยอกย้อนของกำแพงนี้น่าสนใจมาก กำแพงปรากฏขึ้นในหนังในฐานะโครงการ Hands Across America โครงการที่ทำขึ้นเพื่อต่อสู้กับความยากจนในอเมริกาในยุคแปดศูนย์ ที่ชวนคนออกมาจับมือกันเป็นแถวต่อข้ามประเทศ โครงการสวยหรูที่เป็นเพียงเรื่องสนุกของชนชั้นกระฎุมพีที่ในที่สุดก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาความยากจนถูกแก้ไขหรือแม้แต่ถูกตระหนักรู้แต่อย่างใด การแสร้งว่าตระหนักรู้เพื่อให้ตัวเองสบายใจที่ได้มีส่วนร่วมโดยไม่ต้องลงแรงหรือเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเอง เป็นความช่วยเหลือที่ชนชั้นกลางพึงพอใจ ไม่คุกคาม แบบเดียวกันกับการใช้ถุงผ้าลดโลกร้อนหรือการบริจาคเงินให้องค์กรทางการเมืองแทนการลงไปประท้วง หรือการลงชื่อในแถลงการณ์อยู่กับบ้าน

แต่ในอีกความหมาย ‘กำแพงคน’ ก็กลายเป็นความหมายของการกีดกันผู้อพยพ แรงงาน คนชั้นล่างออกไป เมื่อนึกถึงนโยบายกำแพงชายแดนเม็กซิโกของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มองว่าคนอพยพเป็นปัญหาของสังคมอเมริกา

หาก ‘อุโมงค์’ เป็นทั้ง The Sunken Place เป็นทั้งเครื่องแสดงความเป็นโลกของเราไม่เท่ากันของคนชั้นล่าง และเป็นทั้งท่อลำเลียงคนอพยพข้ามประเทศ ‘กำแพง’ ก็เป็นได้ทั้งความใส่ใจจอมปลอมของคนชั้นกลาง เป็นเครื่องปกป้องประเทศจากการถูกทำลาย และท้ายที่สุด เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อ กักขังผู้คนไว้ภายใน

มองในแง่นี้มันจึงน่าสนใจสุดขีด ที่ Adelaide ไม่ใช่ชนชั้นกลางแบบคนอื่นๆ เธอคือคนข้างล่างที่หนีขึ้นมาข้างบนได้เพราะโชคช่วยหรือเพราะอะไรก็ตาม เธอชุบตัวขึ้นมาได้ (แบบเดียวกับสาวโรงงานได้เป็นผู้พิพากษา หรือเสื่อผื่นหมอนใบกลายเป็นนักธุรกิจ) ในโลกที่สามเธออาจถูกใช้เป็นความหวังหลอกล่อว่าการเลื่อนชนชั้นมีจริง (ต่อให้เธอเป็น super rare case ก็ตาม) แต่ในหนังเธอก็เป็น ‘พวกมัน’ ไม่ใช่ ‘พวกเรา’ แล้วเธอเองก็คิดว่าพวกที่เธอจากมาได้กลายเป็น ‘พวกมัน’ ไปแล้ว การเปลี่ยนข้าง การตระหนักรู้ว่าตัวเองมาจากข้างนอกไม่ใช่ข้างในในตอนท้ายจึงน่าสนใจยิ่ง เพราะเธอไม่ได้เปลี่ยนแปลงความคิด และเธอพร้อมจะหันไปฆ่าฟันผู้คนแบบเดียวกันกับเธอเพื่อดำรงสถานะใหม่ของเธอนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในฉากจบ

ถึงที่สุด Get Out จึงเป็นเรื่องของการตระหนักถึงกำแพงภายนอกและการ ‘หนีไป’ ให้พ้นกำแพง ขณะที่ US (ความหมายในการเป็นผู้ถูกกระทำของ We) เป็นเรื่องของการอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินกับปัญหาชนชั้นที่รอการปะทุแตก และเราคือผู้คนที่ไม่สามารถ ‘หนีไป’ และที่สุดแล้วก็ทั้งใช่และไม่ใช่ ‘พวกเรา’

Tags: , ,